ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯชี้โควิดฯ BA.4-5 ติดง่าย แต่รักษาหาย เว้นไม่ฉีดวัคซีน-กลุ่ม 608-มติ ครม. ลดภาษีดีเซล 5 บาท อีก 2 เดือน

นายกฯชี้โควิดฯ BA.4-5 ติดง่าย แต่รักษาหาย เว้นไม่ฉีดวัคซีน-กลุ่ม 608-มติ ครม. ลดภาษีดีเซล 5 บาท อีก 2 เดือน

12 กรกฎาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯยันฐานะการคลังมั่นคง-ครึ่งปีหลังรายได้ท่องเที่ยวแนวโน้มดี-ชี้โควิดฯ BA.4-5 ติดง่าย แต่รักษาหาย ยกเว้นไม่ฉีดวัคซีน-กลุ่ม 608-สั่งจัดกิจกรรมโชว์ผลงานรัฐบาล ก่อนประชุม ครม. ทุกครั้ง-มติ ครม. ลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตรอีก 2 เดือน-จัดสัมมนา-งานแสดงสินค้า หักภาษี 2 เท่า-ตั้ง “โอภาส” ปลัด สธ.- “ณัฐพล” ปลัดอุตฯ

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน อีกทั้งยังมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

ยันฐานะการคลังมั่นคง-ครึ่งปีหลังรายได้ท่องเที่ยวแนวโน้มดี

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุม ครม. มีเรื่องพิจารณาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การอนุมัติข้อเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานรากปี 2565 การอนุมัติงบกลางมากกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากโรคระบาด 3 กรณี การอนุมัติการจัดสรรงบประมาณจากงบกลางในการปรับปรุงซ่อมแซมในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ประสบภัยธรรมชาติ การเห็นชอบหลักการร่างยกเว้นภาษี เพื่อสนับสนุนการอบรมสัมมนา การจัดนิทรรศการ และแสดงสินค้าภายในประเทศ การเห็นชอบพ.รบ.ปรับปรุงการอำนวยความสะดวกให้มีความทันสมัย รวมถึงเห็นชอบให้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 และ 1 ตามลำดับ เหลือเพียงร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการบางส่วนของรัฐบาลที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ ท่ามกลางสภาวะที่ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง ผมเองเชื่อว่าเราสามารถเดินไปข้างหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง จากสถานะทางการคลังที่มีเสถียรภาพและมีความมั่นคง จากโอกาสใหม่ๆ ในการเจรจากับต่างประเทศ ตลอดจนรายได้ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ แต่ต้องระมัดระวังโควิด-19 ด้วย”

ขอบคุณ จนท.ทำงานช่วงวันหยุดยาว

พลเอก ประยุทธ์ ยังกล่าวขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และทหารชายแดนสำหรับการปฏิบัติงานช่วงวันหยุดยาวประจำเดือนกรกฎาคม 2565 ว่า “ขอให้ดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทยที่มีแผนจะท่องเที่ยว หรือ กลับภูมิลำเนาให้ใช้รถใช้ถนนโดยไม่ประมาท เดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพ รักษาสุขภาพตนเอง ขอให้ทุกคนมีความสุขช่วงวันหยุดยาว”

ชี้โควิดฯ BA.4-5 ติดง่าย แต่รักษาหาย ยกเว้นไม่ฉีดวัคซีน-กลุ่ม 608

พลเอก ประยุทธ์ ตอบผู้สื่อข่าวในประเด็นสถิติการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ว่า ถึงแม้สายพันธุ์ใหม่จะติดง่ายและแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น แต่ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน ก็จะมีความเสี่ยงลดลงมาก

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “สถิติการติดเชื้อโควิด-19 มีสองส่วน มีส่วนที่ขึ้นทะเบียนวันละ 2 ถึง 3 พันคน กับส่วนที่ติดเชื้อจากการตรวจ ATK ซึ่งส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะรักษาตัวที่บ้าน ให้ยาอะไรไปก็หาย ข้อสำคัญคือขอให้ไปดูตัวเลขผู้เสียชีวิต ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ไม่มีนัยยะสำคัญ แสดงว่าเราสามารถควบคุมได้ และส่วนใหญ่เป็นคนไม่ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบ มีโรคประจำตัว 608 และให้ไปดูสถิติการครองเตียง ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐจะมีการส่งต่อ แต่โรงพยาบาลเอกชนบางทีรับโรคอื่นมาจนเต็ม แต่วันนี้สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยน เราได้เตรียมการไว้พร้อม ถ้าไม่พอก็ตั้งโรงพยาบาลสนามใหม่ได้”

สั่งจัดกิจกรรมโชว์ผลงานรัฐบาลก่อนประชุม ครม. ทุกครั้ง

ด้านดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและคำปรารภของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ตั้งใจให้มีกิจกรรมนำเสนอผลงานของภาครัฐ และเอกชนก่อนการประชุม ครม. ทุกสัปดาห์ โดยวันนี้มีการนำเสนอส่วนของสมาคมภัตตาคารไทยร่วมกับผู้ประกอบการ และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า 5 มิติ

“สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนแนวทางของรัฐบาล เน้นแนวทางช่วยกันทำงาน ถือเป็นกลยุทธ์การทำงานของรัฐบาล พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครู หนี้ตำรวจให้มีการนำเสนอความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาของรัฐบาลด้วย” ดร.ธนกรกล่าว

โต้ฝ่ายค้านเลือกตั้งซ่อมลำปาง-ไม่เกี่ยวรัฐบาลคะแนนนิยมตก

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565 นายกฯ ขอให้รัฐมนตรีจัดสรรเวลาให้ครบถ้วน เน้นการชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ รับทราบและเข้าใจ และเชื่อว่าการอภิปรายในครั้งนี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย

นอกจากนี้ ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า “ผมฝากเรื่องหนึ่งที่พรรคฝ่ายค้านออกมาพูดเรื่องการเลือกตั้งซ่อมที่ลำปางว่ากระแสรัฐบาลแย่ลง จริงๆ แล้วไม่เกี่ยว มันเป็นการแข่งขันระหว่างสองพรรค ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง ตรงนี้อยากทำความเข้าใจกับฝ่ายค้านด้วย”

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม ครม.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตรอีก 2 เดือน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันและรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ ประมาณลิตรละ 5 บาท ต่อไปอีก 2 เดือน รายละเอียด ดังนี้

    1. น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 1.440 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 6.440 บาท

    2. น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 1.440 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 6.440 บาท

    3. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ไม่เกินร้อยละ 4 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 1.440 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 6.440 บาท

    4. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 4 แต่ไม่เกินร้อยละ 7 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 1.340 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.990 บาท

    5. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 7 แต่ไม่เกินร้อยละ 9 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 1.330 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.930 บาท

    6. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 9 แต่ไม่เกินร้อยละ 14 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 1.300 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.800 บาท

    7. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 14 แต่ไม่เกินร้อยละ 19 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 1.230 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.480 บาท

    8. น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่เกินร้อยละ 19 แต่ไม่เกินร้อยละ 24 มีอัตราภาษีตามปริมาณในอัตราลิตรละ 1.153 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราตามปริมาณลิตรละ 5.153 บาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปรับลดภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ตามมาตรการภาษีในระยะสั้นที่ผ่านมาว่า จะมีผลจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจนกระทบค่าครองชีพของประชาชนในระดับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูประเทศและการตัดสินใจลงทุน จึงได้มีมาตรการลดอัตราภาษีดังกล่าวต่อไปอีก 2 เดือน โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาท/เดือน คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท

จัดสัมมนา-งานแสดงสินค้า หักภาษี 2 เท่า

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ 2 ฉบับ โดยเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ จัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้าภายในประเทศ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่า ของที่จ่ายจริง ตั้งแต่ วันที่ 15 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2565

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎฯ ทั้ง 2 ฉบับ ดังนี้

    1) ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาในพื้นที่อื่นๆ สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สนับสนุนห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว และสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าภายในประเทศด้วย
    2) ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับที่ใช้จ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ หรือ การแสดงสินค้าภายในประเทศ โดยต้องมีหนังสือรับรองจากผู้จัดว่าได้เข้าร่วมงานจริง สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่ วันที่ 15 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2565

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่เคยเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่า จะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จาก 2 ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว รวมแล้วประมาณ 7,750 ราย โดยรัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล เพียง 455 ล้านบาท แต่สามารถช่วยเอกชนลดค่าใช้จ่ายทางภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินได้ถึง 2,275 ล้านบาท

อนุมัติงบฯ 1,188 ล้าน เยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก “อหิวาต์หมู”

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลาง กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า วงเงิน 753.05 ล้านบาท สำหรับค่าชดใช้ราคาสุกร และค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย และจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปีสกิน จำนวน 6.3 ล้านโดส และค่าจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ในการฉีดวัคซีน จำนวน 231.95 ล้านบาท และเยียวยาเกษตรกรกรณีโค-กระบือป่วยตายด้วยโรคลัมปีสกิน ตั้งแต่มีนาคม 2564 – 30 เมษายน 2565 จำนวน 203.10 ล้านบาท

โดยที่ประชุม ครม. อนุมัติ กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับค่าชดใช้ราคาสุกรและค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย วงเงิน 753.05 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายที่ยังคงค้างชำระ ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 ในพื้นที่ 45 จังหวัด เพิ่มเติมที่ตกค้าง 165 ราย รวมเกษตรกร 2,655 ราย เป็นเงิน 231.34 ล้านบาท
  • จำนวนสุกรที่ตกค้าง 5,009 ตัว รวม 65,076 ตัว คิดเป็นเงิน 18.61 ล้านบาท
  • ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตามแผนลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ในปี งบประมาณ 65 ร้อยละ 3 ของฟาร์ม ของจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย-รายเล็ก ซึ่งมีประมาณ 100,000 ราย คิดเป็น จำนวนเกษตรกร 3,000 ราย จำนวน สุกร 60,000 ตัว จำนวนเงิน 402.30 ล้านบาท
  • ค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย (อาหารสัตว์) จำนวงเงิน 100.80 ล้านบาท
  • 2. กรณีโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ วงเงินรวม 435.05 จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย

  • จัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน จำนวน 6.3 ล้านโดส และค่าวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ในการฉีดวัคซีน จำนวนเงิน 231.95 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกรณีโค-กระบือ ป่วยตายด้วยโรคลัมปีสกิน ตั้งแต่เดือน มี.ค.64 – 30 เม.ย.65 สำหรับเกษตรกรจำนวน 9,789 ราย จำนวนโค กระบือรวม 11,422 ตัว จำนวนเงิน 203.10 ล้านบาท
  • ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้มีการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีมีโค-กระบือป่วยตายจากโรคลัมปีสกินแล้วตามระเบียบกระทรวงการคลัง เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือเยียวยาแล้วจำนวน 52,170 รายวงเงิน 1,212.72 ล้านบาท ที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ทั้งระยะก่อนเผชิญเหตุระยะเผชิญเหตุ และหลังเผชิญเหตุ ประกอบด้วย 8 มาตรการ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของฟาร์ม การเฝ้าระวังโรค การพัฒนาการตรวจวินิจฉัย การจัดการฟื้นฟูเกษตรกร เป็นต้น

    แจงความคืบหน้าฟื้นฟู “การบินไทย” คาดออกจากแผนฯปี’67

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการ ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คาดจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในปี 2567
    คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

      1. การหารายได้จากการขนส่ง บกท. มีรายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 มีส่วนแบ่งจำนวนผู้โดยสารคิดเป็นร้อยละ 33 ของจำนวนผู้โดยสารของทุกสายการบิน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของปี 2562 โดย บกท. มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 12,654 คนต่อวัน และผู้โดยสารของสายการบินไทยสมายล์สูงกว่า 12,000 คนต่อวันรวมทั้ง ยังมีรายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ทั้งในส่วนของการขนส่งในเที่ยวบินโดยสารตามตารางบินและเที่ยวบินเช่าเหมาลำในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 2,057 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44
      2. การปรับลดขนาดองค์กรและต้นทุนบุคลากร ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลดลงจาก 29,400 ล้านบาทต่อปี เหลือ 7,920 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนที่ลดลงประมาณร้อยละ 73
      3. การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน และปรับลดต้นทุนอากาศยาน โดยปรับลดจำนวนแบบอากาศยานในฝูงบินจาก 9 แบบ เป็น 4 แบบ ลดต้นทุนด้านอากาศยานลง 8,500 ล้านบาทต่อปี
      4. จำหน่ายอากาศยานที่ไม่อยู่ในแผนปฏิบัติการบินของ บกท. ประกอบด้วย อากาศยานแบบโบอิ้ง 737-400 จำนวน 11 ลำ อากาศยานแบบแอร์บัส 340 – 500 จำนวน 1 ลำ แบบแอร์บัส 340 -600 อีก 4 ลำ และมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างรอการจำหน่ายจำนวน 18 ลำ
      5. การปรับลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งส่งผลให้สามารถลดต้นทุนลง 4,500 ล้านบาทต่อปี
      6. การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินรอง ตั้งแต่เข้าสู่ กระบวนการฟื้นฟูกิจการรวมจำนวน 9,258 ล้านบาท ทั้งนี้ บกท. ยังมีทรัพย์สินรองที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจำหน่าย ได้แก่ เครื่องบินฝึกจำลองที่ไม่อยู่ในแผนดำเนินงาน อสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ยังมีการหาประโยชน์โดยการให้เช่าพื้นที่สำนักงานใหญ่ ในนส่วนที่ไม่ได้ใช้งานสำหรับการให้บุคคลภายนอกเช่า
      7. การติดตามหนี้สินที่เกินกำหนดชำระจากลูกหนี้หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กองบินตำรวจ กองทัพอากาศ เป็นต้น

    โดย บกท. มีเงินสดสุทธิ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ทำให้ในขณะนี้ บกท. ยังไม่มีความจำเป็น ต้องจัดหาสินเชื่อใหม่ตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการที่ 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บกท. ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และคาดว่าจะมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขในเดือนกันยายน 2565

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อาจทำให้ บกท. สามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนดภายในปี 2567 หรือ ต้นปี 2568 โดย ขึ้นอยู่กับการปรับแผนฟื้นฟูที่มีสาระสำคัญ คือ การแปลงหนี้เป็นทุน และนับตั้งแต่การเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ทำให้การประกอบของ บกท. ดีขึ้นตามลำดับ สามารถทำการบินในเส้นทางต่างๆ ทำให้มีรายได้และสภาพคล่องมากขึ้น สามารถลดวงเงินกู้ตามแผนจากเดิมที่ตั้งไว้ประมาณ 5 หมื่นล้าน โดยจะกู้จริงไม่เกิน 1.25 หมื่นล้าน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจปกติ ขณะเดียวกันผู้ที่ซื้อตั๋วโดยสารค้างไว้ ยังไม่ได้เดินทาง ก็สามารถใช้สิทธิบินตามตั๋วได้ รวมทั้งการสะสมไมล์ Royal Orchid Plus สะสมไมล์ ยังสามารถแลกเป็นตั๋วเครื่องบินตามสิทธิ์เช่นเดิม

    ไฟเขียว กฟภ.กู้ใน ปท. 1.08 หมื่นล้าน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศ กรอบวงเงินรวม 10,863 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2565 จำนวน 5 แผนงาน โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นรายปีจนกว่าจะดำเนินงานแล้วเสร็จ ทั้งนี้ วงเงินลงทุนภาพรวมในแผนงานระยะยาวรวม 15,628.15 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ในประเทศ จำนวน 10,863 ล้านบาท และเงินรายได้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 4,765.15 ล้านบาท

    สำหรับการลงทุนในแผนระยะยาวใหม่ ปี 2565 นี้ เป็นการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ประกอบด้วย 5 แผนงาน ดังนี้

      1.แผนงานสนับสนุนการดำเนินงานระยะที่ 5 เป็นการจัดหาสิ่งสนับสนุนในการดำเนินงาน เช่น ที่ดิน อาคาร ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ในการก่อสร้างและบำรุงรักษา ระบบไฟฟ้า ให้เพียงพอกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น
      2.แผนงานจัดหา พัฒนา ติดตั้ง และดูแลบำรุงรักษา ระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กรและระบบสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า เป็นการปรับเปลี่ยนจากการใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป เป็นการจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเอง โดยสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น
      3.แผนงานระยะยาวงานปรับปรุงระบบป้องกันและควบคุมในสถานีไฟฟ้า เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการส่งผ่านกำลังไฟอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงระบบป้องกันและควบคุมในสถานีไฟฟ้าจำนวน 40 สถานี เพื่อลดผลกระทบจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน
      4.แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นการพัฒนาระบบสื่อสารของ กฟภ. ให้มีช่องสัญญาณเพียงพอต่อการใช้งาน มีความรวดเร็วและทันสมัยมากยิ่งขึ้น เช่น พัฒนาโครงข่าย IP Access Network การขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร เป็นต้น
      5.แผนงาน Big Data Platform เป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูล โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบงานให้เป็นแพลตฟอร์มขององค์กร เพื่อใช้วิเคราะห์เชิงลึก

    จ้างต่างด้าวทำงานใน รง.สับปะรด 1 ปี แก้แรงงานขาด

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กล่าวคือ สถานการณ์สับปะรดโรงงาน ปี 2565 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 1.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 2.68 โดยยอดการส่งออกปี 2565 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2565 จำนวน 140,019 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 8.05

    สำหรับแนวทางการบริหารจัดการสับปะรด ปี 2565 ขับเคลื่อนโดยกลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด และคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด บริหารจัดการ Demand และ Supply ภายในจังหวัด ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมสับปะรดนั้น กำหนดให้มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวระยะสั้น (เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) คราวละไม่เกิน 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในหลายด้าน อาทิ 1) จัดหาแหล่งเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกสับปะรดกับกรมส่งเสริมการเกษตรและทำข้อตกลงซื้อขายกับโรงงาน 2) สนับสนุนการร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสับปะรดล้นตลาด

    ลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง “ธนาคารที่ดิน” เหลือ 0.01%

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนและให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เหมาะสม โดยมีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ดำเนินงานผ่าน 2 โครงการ คือ โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และโครงการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งวันนี้ ครม. มีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) มีสาระสำคัญ เป็นการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากอัตราร้อยละ 2 และร้อยละ 1 เหลืออัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2568

    ทั้งนี้ การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามภารกิจของสถาบันบริหารจัดการ ธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ในปีงบประมาณ 2565 -2568 คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณหลายหมื่นล้านบาท แต่จะเป็นโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนและการทำนิติกรรมของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืนแก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล

    ดร.รัชดากล่าวต่อว่า บจธ. จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 เพื่อทำหน้าที่กระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยมีเป้าประสงค์ช่วยให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างทั่วถึง และรัฐสามารถนำที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์มาบริหารจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สามารถกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและผู้ยากจนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมรวมเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ สามารถแก้ปัญหาที่ดินของเกษตรกรที่หลุดการจำนองและการฝากขายได้กว่า 3,000 ไร่ รวมถึงสนับสนุนให้ชุมชนจัดการที่ดินร่วมกันทั้งที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยในรูปแบบโฉนดชุมชนด้วย

    อนุมัติเงินกู้ 1,973 ล้าน สร้างความเข้มแข็ง ศก.ฐานราก 29 จว.

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยได้อนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 ครั้งที่ 3 รวม 29 จังหวัด จำนวน 1,138 โครงการ กรอบวงเงินรวม 1,973 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มอาชีพ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19

    ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย กลุ่มประชาชน 1,510,685 คน, เกษตรกร 478,926 คน, กลุ่มผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 9,789 ราย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 2 กลุ่ม, กลุ่มด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างและปรับปรุงถนน 406 เส้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ฝาย ท่อระบายน้ำ ผนังป้องกันตลิ่ง ไม่น้อยกว่า 791 แห่ง

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ยังได้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบโครงการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 29 จังหวัด เป็นหน่วยรับผิดชอบโครงการและดำเนินการจัดทำแผนความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือนเพื่อให้ สบน. สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงต่อไป และให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการดำเนินการข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้

      1) กรณีโครงการก่อสร้าง ปรับปรุงหรือซ่อมแซมถนนหรือผิวทาง ให้หน่วยงานดำเนินการตรวจสอบ กำกับ ดูแลและควบคุมคุณภาพในการก่อสร้างหรือปรับปรุง รวมทั้งการวางแผนก่อสร้างควรพิจารณารายละเอียดการก่อสร้างให้มีความรอบคอบ
      2) กรณีโครงการเกี่ยวกับการขุดลอกหรือพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบน้ำบาดาล ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการวางแผนการดำเนินงานอย่ารอบคอบ ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา และ
      3) กรณีโครงการเกี่ยวกับการผลิตน้ำประปา ให้หน่วยรับงบประมาณและหน่วยดำเนินการ ให้ความสำคัญกับการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินโครงการ และการบำรุงรักษาภายหลังโครงการแล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุระสงค์ตลอดอายุการใช้งาน และดูและไม่ให้มีโครงการที่ซ้ำซ้อนกับบริการของการกรประปาส่วนภูมิภาค

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ยังได้อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติขยายเวลาโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหอผู้ป่วยและห้องผ่าตัด รองรับและบรรเทาภัยจากโรคติดเชื้อโควิด-19 จากเดิมสิ้นสุดโครงการเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นเดือนสิงหาคม 2565 และปรับลดกรอบวงเงินโครงการ จากเดิม 31.90 ล้านบาท เป็น 28.45 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมทรัพยากรน้ำขยายเวลาโครงการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร จากสิ้นสุดโครงการเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นเดือนพฤศจิกายน 2565 รวมทั้งขยายเวลาโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จากสิ้นสุดโครงการเดือนกันยายน 2564 เป็นเดือนกันยายน 2565

    นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการโดยเปลี่ยนแปลงการจัดหาครุภัณฑ์สำหรับสกัดสมุนไพรของโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจงหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สกลนคร จากการใช้ “กระบวนการสกัดน้ำมันจากสมุนไพร” เป็น “การทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง” ทั้งนี้ตามที่ รมว.การอุดมศึกษาฯ ได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว

    จัดงบกลาง 395 ล้าน ซ่อมโรงเรียนที่ประสบภัยธรรมชาติ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างอื่นให้กับโรงเรียนที่ประสบภัยธรรมชาติ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรอบวงเงิน 395 ล้านบาท จำนวน 1,071 รายการ ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานครและอีก 67 จังหวัด

    ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ประสบภัยธรรมชาติจำนวนมาก มีทั้งอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นไม่มีความพร้อมในการใช้งาน และเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในการใช้สถานที่สำหรับจัดการเรียนการสอน และสร้างความกังวลใจให้กับผู้ปกครองและประชาชนโดยรอบที่ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน และหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการ

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สพฐ.ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณงบกลางมาดำเนินการ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างอื่นให้กับโรงเรียนที่ประสบภัยธรรมชาติให้กลับสู่สภาพปกติอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเตรียมความพร้อมทางด้านอาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถานศึกษา รองรับการเปิดภาคเรียน รวมทั้งเพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มรูปแบบ

    กำหนดโควตาต่างด้าวขออยู่ไทย ปี’65 ไม่เกิน 100 คน ไร้สัญชาติ 50 คน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งจะเป็นการกำหนดจำนวนคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของแต่ละประเทศที่จะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปีประจำปี 2565 ประเทศละไม่เกิน 100 คนต่อปี และไม่เกิน 50 คนต่อปีสำหรับคนไร้สัญชาติ

    ทั้งนี้เพื่อให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสามารถยื่นคำขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป เป็นการส่งเสริมให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศไทย เป็นการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุน รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวมีความมั่นคงและอบอุ่น ซึ่งการให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแก่คนต่างด้าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ปัจจุบันการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของชาวต่างชาตินับได้ว่ามีความสำคัญต่อสังคมไทย โดยมีเหตุผลที่ต้องการเข้ามามีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยหลายประการ เช่น เข้ามาเพื่อทำงาน เพื่อการลงทุน เพื่ออยู่กับครอบครัว คู่สมรส หรือบุตรที่อยู่ในประเทศไทย การสนับสนุนให้ชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจหรือลงทุนในประเทศไทยเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ

    แก้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ตามข้อเสนอธนาคารโลก

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการในการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 และแผนการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อเสนอการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ

    สำหรับสาระสำคัญและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามแนวทางของธนาคารโลก ใน 3 ด้าน ได้แก่

      1.การบริการที่รวดเร็วขึ้น (Faster) เช่น การปรับเปลี่ยนการพิจารณาอนุญาตโดยคณะกรรมการเป็นหัวหน้าหน่วยงานคาดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนงานที่มีการพิจารณาโดยคณะกรรมการจาก 604 งาน เหลือเพียง 43 งาน จะทำให้สามารถลดเวลาการพิจารณาได้เฉลี่ย 22 วันทำการต่องานบริการ ส่วนการนำระบบการอนุญาตหลัก (Super License) มาใช้ในการอนุญาต จะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้เร็วขึ้น เช่น การขออนุญาตของธุรกิจค้าปลีกจากเดิมที่ต้องติดต่อไม่น้อยกว่า 13 หน่วยงาน ใช้เวลา 284 วันทำการ เหลือเพียงติดต่อ 1 ช่องทาง ใช้เวลา 185 วันทำการ และกิจการสปา จากเดิมที่ต้องติดต่อไม่น้อยกว่า 9 หน่วยงานใช้เวลา 120 วันทำการ เหลือเพียงติดต่อ 1 ช่องทาง ใช้เวลา 96 วันทำการ
      2. การบริการที่ง่ายขึ้น (Easier) เช่น การให้ทดลองประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวก่อนได้รับใบอนุญาต คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้จำนวน 19 กิจการ ในกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กิจการขายอาหารสัตว์ กิจการสปา การขยายจำนวนใบอนุญาตที่สามารถดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาต จากปัจจุบันดำเนินการได้ 31 ใบอนุญาต เพิ่มเป็น 154 ใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ ใบอนุญาตค้าโบราณวัตถุ จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้จำนวน 890,315 ราย ภาครัฐได้รับค่าธรรมเนียมเร็วขึ้นไม่น้อยกว่า 253 ล้านบาทต่อปี และการขยายอายุใบอนุญาตเป็นไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่มีอายุใบอนุญาต คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 19 ใบอนุญาต ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การออกใบอนุญาตขายปุ๋ย จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกไม่ต้องไปติดต่อราชการเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตทุกปีประมาณ 764,850 ราย และลดภาระค่าใช้จ่ายรวมของประชาชนในการติดต่อราชการประมาณ 590 ล้านบาทต่อปี และ
      3.การบริการที่ถูกลง (Cheaper) เช่น การปรับเปลี่ยนระบบการอนุญาตเป็นการจดแจ้งเพื่อลดระยะเวลาในการขออนุญาตในกิจการที่ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนได้ 11 ใบอนุญาต และปรับเปลี่ยนจากจดแจ้งเป็นจดแจ้งออนไลน์ได้ 72 งานบริการ จาก 336 งานบริการ ผู้รับบริการประมาณ 15.85 ล้านรายต่อปี จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายรวมของประชาชนในการติดต่อราชการประมาณ 1,585 ล้านบาทต่อปี และการกำหนดให้เมื่อใบอนุญาตชำรุด สูญหาย ไม่ต้องแจ้งความ คาดว่าจะช่วยลดจำนวนการแจ้งความลงได้ 66,000 ใบแจ้งความต่อปี ทำให้สามารถลดค่าเดินทางรวมของประชาชนประมาณ 6.6 ล้านบาทต่อปี

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ หรือประชาชน ได้รับความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกลง โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ซึ่งตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 34 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอย่างน้อยทุก 5 ปี ประกอบกับปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการพัฒนาการให้บริการของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

    จัดทำเหรียญเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการจัดทำเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

    ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงเป็นแม่ของแผ่นดิน มีพระคุณอันประเสริฐยิ่งของราษฎร ทรงเป็นศูนย์รวมของราษฎรทั้งแผ่นดินและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรและความอุดมสมบูรณ์แก่แผนดินตลอดมา ตลอดจนการส่งเสริมศิลปาชีพในงานหัตถศิลป์หลากหลายแขนงก่อให้เกิดการทำนุบำรุง สืบทอดงานศิลปะอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องจนศิลปะไทยอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชาติสร้างชื่อเสียงไปยังนานาประเทศ และเป็นการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จะดำเนินการจัดทำเหรียญชนิดบุรุษ และสตรี จำนวนไม่เกิน 300,000 เหรียญ โดยลักษณะเหรียญจะเป็นเหรียญกลม ส่วนผสมเงินร้อยละ 92.5 และทองแดงร้อยละ 7.5 เส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนักเหรียญ 23 กรัม

    สำหรับลวดลายนั้น ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงกุณฑลเพชร ทรงฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงผ้าทรงสะพักประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เฉวียงพระอังสา ทรงสายสร้อยมหาจักรี ดาราจักรี และสายสะพายจักรี พระอังสาเบื้องซ้ายประดับดวงตราปฐมจุลจอมเกล้าและเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่9 ชั้นที่1 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่าง มีข้อความว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

    ส่วนด้านหลัง กลางเหรียญมีอักษรพระนามาภิไธย “ส.ก.” อยู่ภายใต้พระมหามงกุฎ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “เฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕”

    บริเวณขอบนอกเหรียญ ด้านหน้าเบื้องบนมีอักษรพระนามาภิไธย “ส.ก.” อยู่ภายใต้พระมหามงกุฎ ด้านหลังขอบนอกเหรียญมีห่วงสำหรับบุรุษใช้ห้อยกับแพรแถบ กว้าง 32 มิลลิเมตร สำหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบดังกล่าว แต่ผูกเป็นรูปแมลงปอ

    สำหรับความหมายของผ้าแพรแถบซึ่งมีความกว้าง 32 มิลลิเมตรนั้น พื้นแพรแถบสีฟ้าอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ มีริ้วสีขาว หมายถึงน้ำพระราชหฤทัยอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่แผ่ไพศาลไปยังพสกนิกร และมีริ้วสีน้ำเงิน หมายถึงสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรมธนารักษ์ จะเริ่มจำหน่ายจ่ายแจกแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้าและประชาชนทั่วไปตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก พ.ศ. 2548 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำหรับราคาเหรียญนั้น ทั้งชนิดบุรุษและสตรี จำหน่ายในราคา 1,600 บาท

    ตั้ง “โอภาส” ปลัด สธ.- “ณัฐพล” ปลัดอุตฯ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้ง นางเพชรรัตน์ เสรีพันธ์พานิช ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายโอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้ง นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ รับโอน พลตำรวจตรี เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้าราชการดังกล่าวได้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหารจากสำนักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอนแล้ว

    5. การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมปศุสัตว์ (ครั้งที่ 1) (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ต่อไปอีก (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ทั้งนี้ นายสรวิศ ธานีโต จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2565

    6. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอการแต่งตั้ง นางสาวสมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

    7. การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา จำนวน 28 รูป/คน ดังนี้

      1. นายบุญเลี้ยง ไขษรศักดิ์ กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน
      2. นายนุชากร มาศฉมาดล กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
      3. ศาสตราจารย์เกียรติคุณอมร ลีลารัศมี กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพ
      4. พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) กรรมการที่เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นผู้แทนคณะสงฆ์
      5. พระธรรมวิสุทธาจารย์ (แสวง ธมฺเมสโก) กรรมการที่เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นผู้แทนคณะสงฆ์
      6. นายสมัย เจริญช่าง กรรมการที่เป็นผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
      7. นายชัชวัสส์ เศรษฐี กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่น
      8. นางสาวกรองทอง บุญประคอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษา)
      9. ศาสตราจารย์บังอร เสรีรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษา)
      10. นายบุญรักษ์ ยอดเพชร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษา)
      11. นายอำนาจ วิชยานุวัติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษา)
      12. ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย)
      13. นายอดุลย์ พิมพ์ทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย)
      14. รองศาสตราจารย์สุริยเดว ทรีปาตี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญา)
      15. นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการกีฬา กิจการเยาวชน ลูกเสือ ยุวกาชาด และเนตรนารี)
      16. นายสุรศักดิ์ มุกประดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการกีฬา กิจการเยาวชน ลูกเสือ ยุวกาชาด และเนตรนารี)
      17. นายเหมพงศ์ ทวีกาญจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการกีฬา กิจการเยาวชน ลูกเสือ ยุวกาชาด และเนตรนารี)
      18. นางปัทมา วีระวานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา และการวัดและประเมินผลการศึกษา)
      19. รองศาสตราจารย์ดนุวัศ สาคริก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ธุรกิจและการบริการ)
      20. นายสกล กิตติ์นิธิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านพัฒนาสังคมและสิทธิมนุษยชน)
      21. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประมา ศาสตระรุจิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร)
      22. ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร)
      23. ศาสตราจารย์อภิชาติ จิตต์เจริญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร)
      24. นางสาวนิรมล เมธีสุวกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านสื่อสารมวลชน)
      25. นายคมสัน โพธิ์คง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการเมืองการปกครอง)
      26. นายชาติชาย เกตุพรหม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม)
      27. นายวิริยะ รามสมภพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต)
      28. นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เพิ่มเติม

    ป้ายคำ :