ThaiPublica > คนในข่าว > “เอกนิติ” ขับเคลื่อน ‘สรรพสามิต’ รับเทรนด์โลก สร้างมาตรฐานภาษี ESG ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโตยั่งยืน

“เอกนิติ” ขับเคลื่อน ‘สรรพสามิต’ รับเทรนด์โลก สร้างมาตรฐานภาษี ESG ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโตยั่งยืน

31 พฤษภาคม 2023


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต

ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับภาวะความไม่ยั่งยืน ภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลันในหลากหลายมิติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ทั้งโลกมุ่งสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าในวาระ SDGs 17 ข้อของ UNDP, วาระโมเดลเศรษฐกิจ BCG (bio-circular-green economy)ตามฉันทามติขับเคลื่อน Bangkok Goals on BCG Model ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting: AELM) ปี 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และแนวทางปฏิบัติตามกรอบ ESG (environment, social, governnance) เหล่านี้ล้วนเป็นวาระที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือและเดินหน้าลงมือทำอย่างจริงจัง

สำหรับหน่วยงานราชการอย่างกรมสรรพสามิต ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษี ได้ปรับบทบาทใหม่ที่มุ่ง ESG เป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ โดยมองว่ามาตรการภาษีสามารถเป็นเครื่องมือในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ประกาศแผนยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิต ที่นอกเหนือจากภารกิจในการจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาลแล้ว ยังมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบ ESG โดยใช้มาตรการภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สนับสนุนและส่งเสริมการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยตั้งเป้าหมายยกระดับกรมสรรพสามิต เป็น “กรม ESG” รวมทั้งเร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ไปประกาศไว้ต่อที่ประชุม COP26 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.เอกนิติ กล่าวถึงการทำแผนยุทธศาสตร์แนวใหม่ของกรมสรรพสามิตว่า “ช่วงที่เข้ารับตำแหน่งในช่วง 2-3 เดือนแรก ได้รับความร่วมมือและคำแนะนำจากข้าราชการของกรมสรรพสามิตเป็นอย่างดี โดยเดินทางไปตรวจเยี่ยมทุกหน่วยงานภายในกรมสรรพสามิต รวมทั้งเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่จังหวัดสงขลา ทำให้ได้รับข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ มากมาย เพื่อนำมาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับผู้บริหารของกรม ซึ่งการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ได้ใช้กระบวนการทำยุทธศาสตร์แนวใหม่ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบดังต่อไปนี้”

    1. วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต ว่าจะส่งผลกระทบต่อกรมสรรพสามิตอย่างไร
    2. สำรวจความคิดเห็นของผู้เสียภาษี หรือลูกค้าของกรม ซึ่งข้อนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตลงไปคุยกับลูกค้า เพื่อสำรวจมุมมองความคิดเห็นต่อกรมสรรพสามิต
    3. สำรวจความคิดเห็นข้าราชการในกรมสรรพสามิตว่าอยากทำอะไร หรือต้องการให้ผู้บริหารกรมสรรพสามิตทำอะไร

ดร.เอกนิติอยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรมา 4 ปี ก่อนโยกย้ายตามวาระมารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ภาพของกรมสรรพสามิตเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นกรมจัดเก็บรายได้จาก “ภาษีบาป” เหล้า เบียร์ ยาสูบ และภาษีอื่นๆ เช่น น้ำมัน รถยนต์ กำลังปรับเปลี่ยนมาเป็น ‘กรม ESG’ แห่งแรกของหน่วยราชการไทย โดยประกาศยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยภาษีสรรพสามิตที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG)

ดร.เอกนิติตั้งโจทย์ว่า “ทำไมต้องมีกรมสรรพสามิต ถ้าไม่มีกรมสรรพสามิตแล้วจะเป็นอย่างไร”

“คำตอบที่ได้คือ กรมสรรพสามิตเป็นกรมจัดเก็บรายได้ และคนมักคิดว่าเป็นภาษีเหล้าและยาสูบ ที่ผ่านมา กรมเก็บรายได้ 6 แสนล้านบาท เป็นลำดับ 2 รองจากกรมสรรพากรที่เก็บได้ปีละ 2 ล้านล้านบาท แต่พอโลกเปลี่ยนไป กรมสรรพสามิตบทบาทไม่ได้มีแค่เรื่องรายได้อย่างเดียว เพราะมาตรการภาษีส่งผลหลายอย่าง สินค้าที่กรมสรรพสามิตเก็บภาษี เป็นสินค้าที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้”

ด้วยทิศทางของโลกจากนี้ไป จะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสังคมมากขึ้น ถ้าดูจากต้นตอภาษีสรรพสามิต คือภาษีบาป อะไรที่บาป อะไรที่ไม่ดี อะไรทำลายสิ่งแวดล้อม ภาษีสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเทรนด์ใหญ่ของสรรพสามิตทั่วโลก ด้านสังคมก็เป็นภาษีความหวาน ความเค็ม ส่วนภาษีคาร์บอน CBAM (carbon border adjustment mechanism) ที่ยุโรปเริ่มเก็บกันแล้ว เชื่อว่าระยะยาวจะเป็นไปในทิศทางนั้น ซึ่งประเทศไทยเราจะถูกบีบจากมาตรฐานต่างๆ ท้ายสุดก็ไปสู่มาตรฐานเดียวกัน”

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า หลังจากรับรับฟังความคิดเห็น ทั้งจากคนในกรมสรรพสามิต จากลูกค้า ทำให้ได้เป้าประสงค์ของการมีอยู่ของกรมสรรพสามิต ที่ไม่ได้มีอยู่เพียงเพื่อจัดเก็บรายได้แบบเดิมๆ แต่เป้าประสงค์ใหม่ของกรมสรรพสามิต คือ กรมจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยใช้ “ภาษี” ซึ่งภาษีสรรพสามิตที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล หรือ ESG และสร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

เดินหน้ากลยุทธ์ EASe

เนื่องจากสรรพสามิตเก็บภาษีจากสินค้าและบริการเฉพาะอย่าง และสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือ ไปพร้อมกับเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยกฎหมายสรรพสามิตที่มีการแก้ไขก่อนหน้านี้ ให้อำนาจกรมในการกำหนดว่าสินค้าใดสามารถเก็บภาษีได้ สินค้าใดจะเพิ่มหรือลดภาษี ด้วยการออกกฎกระทรวงและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ ทำให้มีอำนาจในการประกาศว่า สินค้าอะไรที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมจะลดภาษี อะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็จะเก็บภาษีเพิ่ม และภายใต้ยุทธศาสตร์ข้างต้น กรมได้กำหนดกลยุทธ์ EASe ที่แปลว่า “ง่าย” ออกมาเพื่อทำอะไรที่ให้ง่ายต่อผู้เสียภาษี พนักงาน เจ้าหน้าที่กรม ทำงานง่าย

เริ่มจาก E: ESG/BCG พัฒนามาตรการภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม โดยยึดหลักธรรมาภิบาล จะมีการยกระดับสินค้า สินค้าใดที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมจะทำก่อน อะไรทำลายสิ่งแวดล้อมก็เก็บภาษีก่อน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ รถอีวี ก่อนหน้านี้ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่เปลี่ยนการเก็บภาษีตามกระบอกสูบ 1500 ซีซี 1300 ซีซี มาเก็บภาษีสรรพสามิตตามการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าปล่อยคาร์บอนฯ เยอะ ก็เก็บภาษีสูง ปล่อยน้อยก็เก็บภาษีต่ำ

ต่อมาก็มีภาษีรถยนต์ประเภทใหม่ คือ อีวี มีการลดภาษีรถอีวี เหลือ 2% รวมถึงให้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายคัน ส่งผลให้งานมอเตอร์โชว์ที่จัดล่าสุด รถอีวีบูมมาก มียอดจองถึง 4 หมื่นคัน แต่กรมสรรพสามิตก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกต่าง ๆ การจัดหางบประมาณมาชดเชย ที่ตอนนี้ได้มา 3 พันล้านบาท สามารถชดเชยได้ 2 หมื่นคัน แต่มียอดจองเข้ามา 4 หมื่นคัน ทำให้ต้องของบเพิ่ม นี่แค่ยอดปีแรก และเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน

“นี่คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต ซึ่งไม่ใช่แค่การจัดเก็บรายได้ แต่เสียรายได้ด้วยซ้ำ แต่ช่วยขับเคลื่อนโลกในด้านสิ่งแวดล้อม ให้มาใช้รถอีวี หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าไฟแพง จากค่าแก๊สราคาสูงขึ้นมาก 200-300% รวมถึงก๊าซในอ่าวไทย เป็นที่มาด้วยการลดภาษีน้ำมันดีเซลเหลือ 0% ที่ใช้ในการปั่นไฟแทนก๊าซธรรมชาติ โดยจะลดถึงสิ้นปี 2566 ภาษีน้ำมันดีเซลที่ลดไป 5 บาท เท่ากับรายได้หายไป 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปีที่รายได้หายไป แต่ก็ช่วยเรื่องค่าครองชีพ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

สำหรับระยะต่อไปที่ต้องศึกษาต่อเนื่องคือแบตเตอรี่ ไม่ใช่เฉพาะแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แต่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟประเภทอื่น เช่น โซลาร์รูฟ กังหันลม ซึ่งโครงสร้างภาษีสรรพสามิต มีการเก็บภาษีแบตเตอรี่ 8% เท่ากันหมด ถ้าดูเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ก็ต้องดูว่าอะไรที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมควรจะลดภาษี อย่างแบตเตอรี่ที่รีไซเคิลได้ จะลดภาษีให้ หรือแบตเตอรี่ที่เก็บพลังงานได้มาก ยิ่งประสิทธิภาพดี คุณภาพดี มีระบบรีไซเคิล จะลดภาษีให้ มีการศึกษาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ

ต่อมา คือ พลาสติกชีวภาพ ที่ผลิตจาก bio ethylene กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกเพราะย่อยสลายได้ และต้นน้ำในการผลิตคือ อ้อย น้ำตาล มันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรในไทยจะได้ประโยชน์ ได้มีการคุยกับสมาคมอ้อย สมาคมมันสำปะหลัง ใกล้จบแล้ว ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิด BCG ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

“ตอนนี้กระบวนการใกล้เสร็จแล้ว รู้วิธีการว่าจะทำอะไร จะกำหนดประเภทอย่างไร โดยจะไม่เก็บภาษี bio ethylene และจะทำให้ bio ethylene สามารถฉีดเข้าโรงงานพลาสติก ทำพลาสติกชีวภาพได้เลย นอกจากนี้ ยังศึกษาเรื่องน้ำมันเจ็ท ที่เรียกว่า SAF (sustainable aviation fuel หรือ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน) เป็น bio เหมือนกัน และกำลังจะมีการกำหนดเป็นมาตรฐานโลก ขณะที่สิงคโปร์เริ่มศึกษาเรื่องการเน้นใช้ SAF แล้ว”

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต

ขณะเดียวกัน กรมสรรพามิตกำลังศึกษาเรื่องภาษีคาร์บอน ‘carbon tax’ เพราะเป็นมาตรฐานสากล ที่สหภาพยุโรปเริ่มเก็บแล้ว คือ CBAM จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมปีนี้ และจะเริ่มเก็บจริงในอีก 3 ปีข้างหน้า นี่เป็นมาตรฐานสากลที่เริ่มเข้ามา กรมสรรพสามิตก็ต้องศึกษา carbon tax ของไทย เพราะสินค้าไทยไม่ถูกเก็บภาษีที่นี่ ก็ต้องถูกเก็บที่ยุโรปอยู่ดี และจะได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย เป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจไทยแข่งขันได้ ในขณะที่ไทยก็เสียรายได้ โดยจากการดูงานเรื่อง CBAM ที่ประเทศสิงคโปร์ เขาศึกษาเรื่องนี้มา 8 ปี และเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนฯแล้ว

“ตอนไปสิงคโปร์ ขอดูงานเรื่องนี้เขาดีใจมาก จัดให้ผมได้ร่วมพูดคุยกับคนจากหน่วยงานต่างๆ 6-7 คน มีทั้งจากสำนักงานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency หรือ NEA) ที่คล้าย ๆ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย เจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่บอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ มีจากกระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต โดยเขาให้หลักว่า อย่าเพิ่งเก็บภาษีจนกว่าจะวางหลักการได้ชัด และต้องเป็นมาตรฐาน นี่เป็นสิ่งแรกที่เขาเตือน และกรมสรรพสามิตต้องไม่ใช่คนเก็บภาษีเอง ที่สิงคโปร์เขาให้ NEA เป็นคนเก็บ โดยสิงคโปร์เตรียมการเรื่องนี้มา 8 ปี เริ่มจากการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้ได้ก่อน เป็นการวัดจากกระบวนการผลิต แล้วเก็บภาษีบนกระบวนการผลิต ต้องสร้างระบบ certified สิงคโปร์เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนฯแล้ว อัตรา 54 ดอลลาร์ต่อการปล่อย 1 คาร์บอน โดยใช้มาตรฐานเดียวกับยุโรป เขาแนะว่า ถ้าวัดไม่ได้ ก็อย่าเก็บภาษี ผมมาคิดแล้ว ท้ายที่สุดไม่ใช่กรมสรรพสามิตที่จะเป็นหน่วยงานที่วัด ต้องเป็นกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยใช้มาตรฐานเดียวกันหมด ซึ่งต้องไปคุยกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก.”

สำหรับด้านสังคม เช่น การขึ้นภาษีความหวานในน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ทำให้เครื่องดื่มเหล่านี้ลดความหวานลง ช่วยเรื่องสุขภาพ เพราะคนไทยเป็นเบาหวานกันมาก ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูง มีตัวเลขว่า หลังจากเก็บภาษีความหวาน คนไทยลดการบริโภคน้ำตาลลงมากเกือบ 20% ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป ต่อไปก็จะเป็นภาษีความเค็มที่ต้องคุยกับแพทย์ด้วย นี่คือความตั้งใจของกระทรวงสรรพสามิต

สำหรับเรื่องธรรมาภิบาล กรมสรรพสามิตกำลังเตรียมโครงการสรรพสามิตเพื่อคุณธรรม เหมือนกับที่ทำกรมสรรพากรคุณธรรม กรุงไทยคุณธรรม การบินไทยคุณธรรม ที่สรรพสามิตก็กำลังจะทำสรรพสามิตคุณธรรม เน้นเรื่องธรรมาภิบาล โดยปลูกฝังเรื่องธรรมาภิบาลให้คนสรรพสามิต

“สรุป คือ พอมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจนว่ากรมสรรพสามิตยุคใหม่ไม่เกี่ยวกับรายได้เท่านั้น แต่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม เป็น E ตัวแรก คือการยกระดับสินค้าและบริการที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บ เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

ต่อมา A หรือ agile แนวคิดในการปรับปรุงกระบวนการให้ทำงานได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แนวทางเดิมๆ กว่าจะออกอะไรใหม่ ๆ ใช้เวลานาน แนวทางใหม่จะมุ่งเป็น agile new way of work ทำให้คล่องตัว เร็ว โดยเป็นการยกระดับคนภายใน ซึ่งมี 2 โครงการ ที่ดำเนินการไปแล้ว คือ โครงการโรงเรียนสรรพสามิตออนไลน์ สอนเรื่อง agile สอนวิธีทำ design thinking สอน new skill เอาเอกชนมาร่วมโครงการเพื่อให้คนสรรพสามิตปรับตัวได้เร็ว จากการที่โลกเปลี่ยนเร็ว

อีกโครงการ คือ นวัตกรรมภายใน จากเคยทำที่กรมสรรพากร จนได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นมาแล้ว ที่กรมสรรพสามิตก็จะให้นำความรู้ที่ได้จากการทำงานในกรมสรรพสามิต มาทำให้เกิดนวัตกรรม แล้วนำมาประกวดเพื่อพัฒนานวัตกรรมภายในกรม

เรื่องนวัตกรรมไม่ใช่คิดสร้างอะไรใหม่ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นวิธีทำงานแบบใหม่ โครงการนี้เพื่อสร้าง innovation culture เป็นการยกระดับคนภายในกรม

ถัดมา S หรือ standard จากการรับฟังความเห็นจากลูกค้ากรม พบว่า สรรพสามิตแต่ละพื้นที่มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน จึงจะทำมาตรฐานขึ้นมา โดยนำดิจิทัลมาจับให้หมด ล่าสุดที่ทำ คือ มาตรฐานการคืนภาษี เช่น ภาษีน้ำมัน ที่พบว่ากระบวนการคืนภาษีมีหลายขั้นตอนล่าช้า ใช้เอกสารจำนวนมาก ได้นำ digital transformation มาทำให้เกิดมาตรฐาน อย่างโครงการ data analytics ทำศูนย์ปราบปรามออนไลน์ เช่น เหล้าปลอม เหล้าเถื่อน บุหรี่ปลอม บุหรี่เถื่อน ที่ขณะนี้อยู่บนออนไลน์หมด คนขายสินค้าเถื่อนเหล่านี้ไม่ต้องสต็อกสินค้าเหมือนในอดีต กรมสรรพสามิตจึงทำศูนย์นี้ขึ้น แล้วเอาทีม data analytics มาจับ ทำให้ทีมปราบปราม ทำงานได้ตรงเป้ามากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกฎหมาย จะทำเรื่อง regulatory guillotine กฎหมายใดที่เป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการ ก็จะตัดทิ้ง เพราะกรมสรรพสามิตมีกฎระเบียบมากมาย

“รวมทั้งมาตรฐาน ESG ซึ่งเป็นโครงการภายใน เช่น เรื่อง environment จะเน้นทำ BCG เช่น การแยกขยะ การรีไซเคิล กำลังวางมาตรฐานว่าจะแยกขยะกันอย่างไร เพราะไปบอกคนอื่นให้ทำ ESG แต่ในกรมไม่ทำ ก็อายเขา กรมต้องเป็นต้นแบบ มีการเชิญคนภายนอกมาแบ่งปันข้อมูลกัน ทำแล้วก็ต้องวัดได้ด้วย เช่น มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ ทำแล้วช่วยลดได้แค่ไหน เป็นต้น”

e : end to end service

สุดท้าย E หรือ end-to-end service การให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จากเดิมที่ลูกค้าเข้าหาสรรพสามิต ต้องติดต่อหลายแผนก โดยทำ customer journey เพื่อนำลูกค้าไปส่วนต่างๆ และลูกค้าแต่ละรายเกี่ยวข้องอะไรกับกรมบ้าง ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่ลงทะเบียนอย่างไร เสียภาษีอย่างไร คืนภาษีอย่างไร อยู่ตรงไหน มีปัญหาฟ้องร้องอะไรกับกรม ตั้งแต่ต้นจนจบแบบไร้รอยต่อ เช่น ลูกค้าจะเปิดร้านอาหารหลายที่ สมมติต้องการขายสุราในร้านอาหารที่เปิดหลายจังหวัด ปกติต้องไปติดต่อทีละจังหวัดเพื่อขอใบอนุญาต แต่จากนี้จะคิดแบบให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง นอกจากโครงการนี้ ยังมีโครงการ paperless ลดการใช้กระดาษ เพื่อให้การทำงานไร้รอยต่อ

“ลูกค้าของกรมฯ มี 6 กลุ่มใหญ่ที่เป็นแหล่งรายได้ 95% ประกอบด้วย 1. กลุ่มน้ำมัน 2. รถยนต์ 3. เหล้า 4. เบียร์ 5. ยาสูบ 6. เครื่องดื่ม ที่เหลือเป็นอาบอบนวด สนามม้า สนามกอล์ฟ การมี end-to-end service ขึ้น กระบวนการขั้นตอนการทำงาน คือ จะรับฟังความคิดเห็นก่อน โดยขณะนี้มี 6 ทีมเข้าไปคุยกับ 6 กลุ่มนี้ เป็น listening tour ซึ่งเป็นประโยชน์มาก เพราะเป็นการนั่งรับฟังความเห็นของเขา ใน 6 กลุ่มนี้ รับฟังอย่าง user experience จริงๆ ฟังว่าเขาบ่นอะไรเราบ้าง อย่างเรื่องภาษีบุหรี่ จะมีทั้งลูกค้าไทย ลูกค้าจากต่างประเทศ ลูกค้าไทยเรื่องบุหรี่ อย่างโรงงานยาสูบก็โทษว่า กรมสรรพสามิตขึ้นภาษีทำให้เขาเจ๊ง จริงหรือเปล่าไม่รู้ หรือขึ้นกับประสิทธิภาพเขาเอง ก็ต้องมานั่งคุยกัน”

ดร.เอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางกรมก็จะมีการวิเคราะห์ มีการดูตัวเลขด้วยว่า เกิดจากอะไร เกิดจากภาษี หรือจากประสิทธิภาพ ต้นทุนสู้ไม่ได้ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลจริงว่าอะไรดีที่สุด ขณะนี้มีการขึ้นภาษียาสูบมา 4 ปี สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าหลังจากขึ้นภาษี คนสูบบุหรี่ลดลงไปมาก จาก 13 ล้านราย เหลือ 9.9 ล้านราย แต่อาจจะมีบุหรี่ไฟฟ้าที่คนสูบกันมากขึ้น หรือบุหรี่นอกระบบ ที่ต้องใช้ data analytic ในการปราบปรามออนไลน์มาแก้ โดยมีข้อมูลว่าของเถื่อนอยู่ที่ไหนแล้วจะทำ KPI การปราบปรามเป็นรายจังหวัด นี่คือการจัดลำดับการทำงานของกรม”

ส่วนบุหรี่ไฟฟ้า ที่นิยมในคนรุ่นใหม่ จากข้อมูลที่คุยกับแพทย์พบว่า กฎหมายไทยมีหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายศุลกากรห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า กฎหมายกระทรวงพาณิชย์ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคห้ามสูบ ส่วนสรรพสามิตเวลาจับคนขาย กรมปรับไม่ได้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีในพิกัด การนำบุหรี่ไฟฟ้ามาอยู่ในพิกัด ก็พบว่าถูกต่อต้านโดยกระทรวงสาธารณสุข ว่ากรมสรรพสามิตจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคนละเรื่อง คนที่จะบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายหรือไม่ ห้ามขายหรือไม่ห้ามขาย ไม่ใช่อธิบดีกรมสรรพสามิต การนำบุหรี่ไฟฟ้ามาอยู่ในพิกัด จะช่วยด้วยซ้ำ ทำให้ช่วยปราบปรามของผิดกฎหมายได้

“แต่การนำมาไว้ในพิกัดจะทำให้ถูกกฎหมายหรือเปล่า เป็นคนละเรื่อง เพราะไม่เกี่ยวกับกฎหมายสรรพสามิต แต่เป็นกฎหมายสาธารณสุข กฎหมายศุลกากร กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้อธิบายกลุ่มสาธารณสุขฟังแล้วว่า สรรพสามิตมาช่วยเสริม สามารถเสนอ ครม. ออกเป็นกฎกระทรวง แต่ต้องรอรัฐบาลใหม่ เป็นแผนที่กรมสรรพสามิตศึกษาอยู่ ในหมวด E เรื่องสิ่งแวดล้อม”

อย่างไรก็ตาม ดร.เอกนิติ กล่าวว่า แม้กรมสรรพสามิตจะเป็นกรมแรกที่ประกาศทำ ESG แต่เนื่องจาก ESG เป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่คุ้นเคย จึงต้องพูดซ้ำๆ เพราะถ้าไม่พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก คนก็จะไม่เข้าใจ เรื่อง ESG เป็นเรื่องอนาคต คนอาจจะยังไม่ตระหนัก และไทยมีคำมั่นสัญญาเรื่องการลดคาร์บอนในปี 2050 ด้วย หน่วยราชการต้องทำ ถ้าไม่ทำ ใครจะทำ ส่วนภาคเอกชน ก็ทำเฉพาะกลุ่มใหญ่ๆ

“เรื่องนี้ไม่ทำ ไม่ได้ และเชื่อว่าต่อไปไม่มีทางเลือก พอโลกมันเปลี่ยนก็ต้องปรับ กรมสรรพสามิตจึงประกาศจะเป็นกรมแรกที่ทำเรื่อง ESG บทบาทของกรมก็ต้องเปลี่ยน สมัยก่อนพูดกรมสรรพสามิต จะจัดเก็บรายได้เท่าไหร่ เหล้า บุหรี่ เป็นอย่างไร เมื่อไหร่จะปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ใช่หรือไม่ แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยน บทบาทต้องเปลี่ยน”

พร้อมเล่าต่อว่า “ผมใช้บทเรียนสมัยเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ตอนแรกคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ ผมก็พยายามพูด พูดบ่อยๆ แล้วทำให้เห็น มาที่นี่จึงใช้นโยบายว่า EASe เพราะคนสรรพากรตอนนั้นบอกว่า มาอีกแล้ว ทำอะไรใหม่ โครงการใหม่ มาที่นี่ผมเลยกลับด้าน ทำให้เห็นก่อนว่า ทุกคนจะได้ประโยชน์ ไม่ต้องรอปีที่ 4 การทำงานจะง่ายขึ้น อย่างเรื่องการคืนภาษี ผมเชิญลูกค้ามาหมด design thinking ก่อน ว่าแต่ละรายเข้าใจกันอย่างไร ทางลูกค้าบอกว่า สรรพสามิตไม่เข้าใจ เขารอสภาพคล่องอยู่ ก็แชร์เรื่องให้ฟัง ฝั่งข้าราชการบอก ถ้าถูก สตง. สอบ ผมก็ผิด ทำให้เข้าใจว่า ทำไมต้องขอเอกสารจำนวนมาก พอเข้าใจกัน ก็ง่ายขึ้น จากนั้นเราก็จะบอกเรื่องว่าจะเอาดิจิทัลมาตอบโจทย์อย่างไร เป็นต้น”

ดร.เอกนิติ กล่าวด้วยว่า “การเปลี่ยนบทบาทกรมสรรพสามิต ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวคิดของคนสรรพสามิต ซึ่งเชื่อว่าทำได้ เพราะครั้งที่เป็นอธิบดีกรมสรรพากรที่มีข้าราชการ 2 หมื่นกว่าคนก็ทำมาแล้ว ปัจจุบันคนยื่นเสียภาษีของสรรพากรทำได้ง่ายขึ้นมาก เมื่อมาเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ทีมสตาร์ทอัปมาช่วยเยอะ เอา data analytic มาใช้ ทำให้แยกกลุ่มเสี่ยง กลุ่มไม่เสี่ยง ได้เร็วขึ้น และสรรพสามิตมีคน 6 พันคน สามารถทำโรงเรียนสรรพสามิตออนไลน์ สอน design thinking สอน agile มีการอบรมผู้บริหาร บางคนพร้อมเปลี่ยน บางคนยังไม่พร้อมเปลี่ยน ก็ต้องให้โอกาสทุกคน การสร้างมาตรฐานใหม่ อาจจะไม่ได้ 100% และต้องใช้เวลา”

ดร.เอกนิติ ย้ำว่า “EASe จะเลือกทำ ที่มีผลจริงๆ จะเห็นการปฏิรูปชัดเจนในปีหน้า ขณะเดียวกัน ด้านการจัดเก็บรายได้ ในฐานะกรมจัดเก็บ ปีนี้ได้เป้าจัดเก็บ 5.67 แสนล้านบาท เป้านี้ไม่รวมการลดภาษีรถอีวีเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 1 แสนล้านบาท แต่กรมก็ต้องทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องรายได้อย่างเดียว”