ThaiPublica > คนในข่าว > “ดร.เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ เปลือยจุดเปราะบางไทย ชี้ ESG ทางออกที่จำเป็น(แต่ไม่พอ)

“ดร.เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ เปลือยจุดเปราะบางไทย ชี้ ESG ทางออกที่จำเป็น(แต่ไม่พอ)

8 กันยายน 2021


ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเล่าภาพรวมของ “อาการ” ที่เศรษฐกิจไทยกำลังเจออันเป็นผลของการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลตา ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 5 เดือนและรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างมาก

ในระยะสั้นแน่นอนว่า การออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ แต่ในระยะยาว ทางออกจากวิกฤติของประเทศไทยคืออะไร และจะทำอย่างไร สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้สนทนากับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะฉายภาพ สถานการณ์โลกปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งสถานการณ์ของประเทศไทยแล้ว ยังได้คำตอบว่า “ความยั่งยืน” หรือ ESG คือคำตอบและทางออกจากวิกฤติของของประเทศไทยแม้ไม่พอ

ไทยพับลิก้า: มองสถานการณ์โลกปัจจุบันและอนาคตอย่างไร

ดร.เศรษฐพุฒิได้ฉายภาพสถานการณ์โลกในขณะนี้และแนวโน้มในอนาคตว่า สถานการณ์ตอนนี้ชัดเจนว่าปัญหาหลายอย่างเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขแบบทั้งโลก ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าไทยจะต้องทำอะไร และไทยแก้ไขเฉพาะในระดับประเทศอย่างเดียวไม่พอ ปัญหาแรกที่เห็นได้ชัดคือ การระบาดของไวรัสโควิด ไม่มีประเทศไหนที่จะแยกตัวเองออกมาได้ แม้แต่นิวซีแลนด์ที่เป็นเกาะห่างไกลยังมีคนติดเชื้อโควิดจำนวนมากทั้งที่มีประชากรน้อย ดังนั้น เป็นปัญหาที่แต่ละประเทศแก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ในระดับโลก

นอกจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังมีปัญหาระยะยาว ซึ่งไทยเองยังปรับตัวไม่ดีนัก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change

“ปัญหาโควิดก็น่าห่วง แต่ระหว่างโควิดกับ climate change ผมกลัว climate change มากกว่าเยอะ เพราะโควิดยังมีวัคซีนและสักวันก็จะมียารักษา” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิชี้ไปที่รายงานล่าสุด IPPC โดยเฉพาะบทสรุปสำหรับผู้ทำนโยบาย ที่มีความยาว 40 หน้า แสดงให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาหนักขึ้น ด้วยการใช้คำที่ชัดและแรง

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เดิมรายงานในลักษณะนี้จะไม่เขียนด้วยการใช้ภาษา คำ หรือ ศัพท์ที่ชัดและแรงขนาดนี้ การที่รายงานเขียนด้วยคำที่ชัดอย่างนี้ก็สะท้อนว่า สภาพความจริงหนักกว่านี้และหนักมากๆ โดยศัพท์ที่ใช้ เช่น “change irreversible เปลี่ยนไม่ได้” หรือ “เรื่องนี้ เถียงไม่ได้ unequitable” และตอนที่พูดถึงฉากทัศน์หรือ scenario ที่วาดออกมา 5 scenario มีการแยกออกมาว่า ฉากทัศน์นี้ “likely” “very likely” “virtually certain”

“สมัยก่อนนักวิทยาศาสตร์จะพูดสไตล์นักวิทยาศาสตร์ ว่ามีอย่างนี้ แต่อาจจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้น แต่ตอนนี้ออกมาชัด ซึ่งผมมองว่าแสดงว่าหนักมาก และ scenario ที่ออกมาก็หนัก ขนาด scenario แบบกลางๆ ยังหนักเลย อุณหภูมิขึ้น 1.5- 2 องศาเซลเซียส และมีอื่นๆ ตามมา น้ำทะเลสูงขึ้น เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว หรือ extreme weather events” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิมองว่า ปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขปัญหาระดับโลกน่าจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและความเป็นผู้นำโลก (global leadership) เปลี่ยนไปมาก โดยองค์กรที่เดิมเคยมีบทบาทมากในการจัดหาสินค้าสาธารณะของโลก (global public goods) และมีบทบาทด้านการค้ากลับมีบทบาทน้อยลงมาก เช่นเดียวกับองค์กรที่ตั้งขึ้นมาดูแล เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) องค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่บทบาทน้อยลง รวมทั้งสถาบันระดับโลก (global institution) ที่เคยมีบทบาทในการดูแล คนก็ให้น้ำหนักน้อยลง

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า แม้แต่ภายในสหรัฐฯ เอง ถึงจะมีการเปลี่ยนขั้วการเมือง มีการเปลี่ยนนโยบาย แต่อย่างหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือนโยบายที่มีต่อจีน

“เดิมมีอเมริกาเป็นผู้นำโลก แต่ตอนนี้มีความชัดเจนว่าบทบาทของอเมริกามีการถ่วงอำนาจกับจีน โอกาสที่จะมีความขัดแย้งสูงขึ้น น่าเสียดายที่ต้องมีทั้งสองฝ่ายเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ เรื่องโควิดก็ชัด เพราะทั้งสองเป็นที่ผลิตวัคซีน แทนที่จะร่วมมือกัน ทำให้สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศน่าเป็นห่วงต่อปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขแบบทั้งโลก เพราะจะยาก” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ไทยพับลิก้า: ประเทศไทยจะอยู่อย่างไรในบริบทโลก สิ่งที่จะกระทบได้แก่อะไร

บริบทของโลกที่จะมีผลกระทบต่อไทยที่เห็นชัดคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change เนื่องจากหลายประเทศได้ออกมาตรการเพื่อแก้ไขภาวะโลกร้อน

โดย ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า “ผมว่า หนึ่ง หนัก สอง มาเร็วกว่าที่คิด บ้านเรายังไม่ตระหนักเรื่องนี้ มีการตระหนักน้อย แต่ไทยจะได้รับผลกระทบเยอะมาก”

ดร.เศรษฐพุฒิอ้างถึงข้อมูลจากการจัดอันดับผลกระทบจาก climate change ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ที่อันดับ 9 ของประเทศที่จะที่ได้รับกระทบมากที่สุด โดยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจาก climate change จะมีผลต่อภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

ไทยเป็นประเทศที่พึ่งการเกษตรและการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก แม้ภาคเกษตรมีสัดส่วนในรายได้ประชาชาติหรือ GDP ไม่มากแต่มีการจ้างงานแรงงานจำนวนมากและเป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน ส่วนภาคท่องเที่ยว มีการจ้างงานมากและสร้างรายได้ให้กับประเทศค่อนข้างสูง เมื่อการท่องเที่ยวชายฝั่ง ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพน้ำทะเลที่เป็นกรดมากขึ้น จึงส่งผลต่อการท่องเที่ยวโดยรวม

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า จาก scenario ตามรายงานที่วาดออกมา climate change ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 1.5- 2 องศาเซลเซียส และ extreme weather events จะเกิดบ่อยขึ้น ท่วม แล้ง เกิดถี่ขึ้น จากเดิมที่แล้ง 1 ครั้งต่อปี จะเพิ่มเป็น 2 ครั้งกว่า บาง scenario เกิด 5 ครั้งกว่า ซึ่งไทยอาจจะไม่ถี่แบบนั้น แต่ไทยตอนน้ำท่วมก็โดนหนักสุด แม้จะบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง แต่ละครั้งก็มีผลกระทบหนัก ส่วนภัยแล้งไทยก็ประสบอยู่แล้ว

“ทุกคนรู้ว่าจะเกิดแต่ไม่นึกว่าจะเกิดเร็วขนาดนี้ รวมทั้งผมด้วยไม่นึกว่าจะเร็วขนาดนี้ เร็วไม่ใช่ในแง่ผลต่อสิ่งแวดล้อม แต่เร็วในแง่มาตรการของประเทศอื่นที่จะกระทบเรา ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ ยุโรป ที่มี European Green Deal (แผนการลดโลกร้อนสำหรับอนาคต 30 ปีข้างหน้า) มีการกำหนดมาตรฐาน มาตรการต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น Fit for 55 Package ข้อเสนอชุดนโยบายด้านกฎหมายพลังงานและสภาพภูมิอากาศ ที่เพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจากเดิมที่ตั้งเป้าจะปล่อยลดลง 40% ในปี 2030 ก็เพิ่มเป็น 55% จากระดับในปี 1990” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมาตรการ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon border Adjustment Mechanism — CBAM) ที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เพราะจะมีผลบังคับใช้ปี 2023 ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็ว หรือมาตรการด้านการบิน ข้อตกลงสหภาพยุโรปเพื่อการบินที่ยั่งยืน (EU Pact for Sustainable Aviation) ที่จะส่งผลต่อราคาตั๋วเครื่องบิน ซึ่งก็จะมีผลกระทบไทยเร็วขึ้นเช่นกัน

“มาตรการ CBAM จะกระทบการส่งออกไปยุโรปมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเคมี ทั้ง 3 ภาคอุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนรวมกัน 50% ของการส่งออกโดยรวมของไทย” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ไทยพับลิก้า: สิ่งที่รุมเร้าไทยมีเพียงปัญหาจากภายนอกเท่านั้นหรือมีตัวแปรอื่นด้วย

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ไทยเองก็มีข้อจำกัดภายใน และวิกฤติรอบนี้ได้เปลือยสังคมไทยได้ชัดเจนมากว่า “ประเทศไทยเปราะบาง” เนื่องมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการขาดกลไกบริหารความเสี่ยงระดับประเทศ

“วิกฤติรอบนี้เปลือยเราจริงๆ ในจุดที่เราปราะบาง ต่างจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอรที่เราไม่ค่อยรู้สึก แม้จีดีพีลดลง แต่คนทั่วไปอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเลวร้าย รอบนี้เราโดนตรง เพราะกระทบการท่องเที่ยวที่เราพึ่งพาเยอะ และการท่องเที่ยวที่มาจากต่างชาติกระทบเราในภาคบริการ เนื่องจากเศรษฐกิจเรามีภาคบริการเยอะมาก” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า อีกจุดเปราะบางหนึ่งที่ไทยต่างจากประเทศอื่นคือ ไทยเป็นเศรษฐกิจที่โครงสร้างแรงงานที่ไม่เป็นทางการค่อนข้างมาก โดยมีสัดส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรและสัดส่วนการจ้างงานของอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับแท็กซี่ ในระดับสูง เป็นตลาดแรงงานที่เป็นแรงงานรายวัน มีรายได้เป็นรายวันสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาและมีรายได้ต่อหัวในระดับที่ใกล้เคียงกัน

โดยทั่วไปแล้วเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาและจีดีพีต่อหัวสูง ภาคการจ้างงาน กำลังแรงงาน (labour force) จะอยู่ในระบบมากกว่านี้

“ข้อมูลนี้ทำให้เราเห็นว่า เมื่อประสบกับภาวะที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิด คนที่มีรายได้รายวันจากการทำงาน เมื่อไม่ได้ทำงานก็ไม่มีเงิน อาชีพอิสระได้รับผลกระทบหนัก เทียบกับแล้ววิกฤติรอบนี้ลำบากมาก คนที่มีอาชีพหาเช้ากินค่ำ ทำงานอิสระไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ อันนี้คือความเปราะบางอันแรกของเราที่เปลือยออกมา” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

วิกฤติโควิดยังได้เปลือยประเทศในจุดที่สอง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เมื่อมีหนี้สูง แต่รายได้กลับลดลง ครัวเรือนก็ลำบาก ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตจากรายจ่ายแต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น มีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่าย จากการการใช้จ่ายที่มาจากหนี้ เมื่อรายได้ไม่มีก็ลำบาก

“โควิดเปลือยความอ่อนแอนี้ชัดเจน เรื่องพวกนี้พอดูออกและพูดกันมาพอสมควร” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า อีกมุมเปลือยหนึ่งซึ่งไทยยังขาดและไม่ค่อยมีการพูดถึง แต่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งโควิดชี้ให้เห็นว่า ไทยขาดกลไกการบริหารความเสี่ยงที่ดีระดับประเทศ “เรื่องบริหารความเสี่ยง ไทยยังไม่ค่อยมี”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เท่าที่เห็นจากบริษัทโดยทั่วไป โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อดูแลและจัดการกับความเสี่ยงของบริษัท ด้วยการมีมาตรการตรวจจับความเสี่ยง มีการติดตามตรวจสอบ และวัดผลความเสี่ยง เช่น ในกรณีที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นจะมีผลกระทบแค่ไหน อย่างไร และน่ากังวลแค่ไหน รวมทั้งจะจัดการอย่างไร ซึ่งเป็นพื้นฐานหลัก มีการจัดทำไว้ในแผน เน้นจุดที่สำคัญคือการจัดการ วิธีบริหาร

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า “เมื่อเราดูตามบริษัทเราก็ทราบดี ว่ามีการเน้นการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีฝ่ายบริหารเป็นแถวหน้า มีฝ่ายบริหารความเสี่ยงเป็นชั้นที่สอง ตามมาด้วยฝ่ายตรวจสอบ ซึ่ง…

“ในแง่กลไกในการจัดการของประเทศของภาครัฐ การนำตัวนี้มาใช้ประยุกต์ใช้บ้างก็ไม่เลว อย่างน้อยคนที่เป็นหน่วยงานในแถวหน้าก็มองเห็นว่าแผนบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างไร และได้คิดเผื่อไว้แล้วหรือยัง”

สำหรับ ธปท. ได้เตรียมการในบริบทที่มีความเข้าใจและรู้จักดีคือ ความเสี่ยงด้านการเงิน ซึ่งได้เห็นว่ามีกลไกที่จะขับเคลื่อนแม้มีข้อจำกัด โดย 3 กลุ่มหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลได้แก่ ธปท., ก.ล.ต, คปภ., สสค. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกันประเมินภาพรวม โอกาสที่จะเกิดช่องว่างระหว่างตลาดเงินตลาดทุน เป็นการประเมินภาพรวมความเสี่ยง แต่ยังเป็นมิติตลาดการเงินเป็นหลัก

“วิกฤติรอบนี้สื่อว่าเราน่าจะมีการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ กลไกตรงนี้น่าจะมี ซึ่งจะช่วยอีกเยอะ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศก็ยังไม่คลี่คลาย และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ สถานการณ์จะคงในลักษณะนี้อีกนาน และ ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวมาที่ระดับก่อนโควิดในไตรมาสหนึ่งปี 2566

“การระบาดไม่จบ สิ่งที่จะให้จบคือ ต้องมีการรักษา วัคซีนมีความจำเป็นในระหว่างนี้ แต่ตัวที่จะช่วยให้จบและเปลี่ยนได้ คือ ต้องมีการรักษาที่ประมีสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกว่าเป็นโรคประจำถิ่นแล้วออกมาใช้ชีวิตปกติได้ เพราะหากเป็นโรค ก็จะมีวิธีการรักษาและเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อมีวิธีการรักษา โอกาสที่จะเสียชีวิตก็น้อยลง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ไทยพับลิก้า: แล้วไทยจะผลักดันตัวเองได้ขนาดไหน

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า “เราต้องปรับตัวไม่มีทางเลือก ถามว่าปรับได้ไหมและมีโอกาสไหมผมว่ามี ตัวอย่าง ภาคเกษตรเจอข้อจำกัดต่างๆ แต่เคลื่อนไปในทิศทางยั่งยืน มูลค่าที่เราจะได้จากการขายแบบอินทรีย์ซึ่งมีความเฉพาะตัว มีเครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตรวจสอบย้อนกลับได้ มีเรื่องราวที่ดี มูลค่าที่จะขายได้สูงขึ้นมาก เช่น ข้าว และกาแฟไทย กาแฟไทยช่วงหลังดีขึ้นมาก จากที่เคยปลูกพันธุ์แบบถูกๆ รสชาติไม่ดีนัก แต่ช่วงหลังๆ มีรายย่อยปลูกมากขึ้น รสชาติดีขึ้นและขายได้ราคา ได้มูลค่า และสอดคล้องกับแนวโน้มที่นี้คนมีความกังวลต่อการกินการบริโภคมากขึ้น”

ส่วนด้านท่องเที่ยวก็เช่นกัน ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ช่วงนี้การที่จะขยายจำนวนนักท่องเที่ยวให้กลับไปเท่าเดิม 40 ล้านคน ทำได้ยาก ที่ผ่านมาไทยเน้นการท่องเที่ยวทะเล จึงต้องเน้นการใช้จ่ายต่อหัวให้มากขึ้น และต้องเน้นไลฟไสตล์ให้มากขึ้น ทั้งร้านอาหาร ชอปปิง เพราะการใช้จ่ายต่อหัวประเภทนี้จะสูงกว่า อีกทั้งเป็นการสื่อสารออกไปว่าไทยมีศักยภาพ

เดิมการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยต่อวัน ประมาณ 6 พันบาทเศษ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปสิงคโปร์ใช้จ่ายประมาณ 9 พันบาทต่อวัน มากกว่าไทยครึ่งหนึ่ง แม้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาของจะแพงกว่า แต่ส่วนหนึ่งก็จากความดึงดูดด้านอื่น

“ที่สำคัญไม่ว่าจะทำอะไรรัฐต้องไม่เป็นอุปสรรค ในแนวคิดคือถ้าทำไม่ได้อย่าทิ้งภาระให้เอกชน แต่สนับสนุนในหลักการ ที่สำคัญที่สุด หนึ่ง รัฐต้องไม่เป็นอุปสรรค กฎระเบียบอะไรที่มีมากต้องจัดการก่อน สอง ต้องช่วย facilitate อำนวยความสะดวก”

ในภาพรวมเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกวันนี้มาจาก การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และหลายด้านซึ่งไม่ใช่เรื่องที่รัฐนำ หลายอย่างมาจากการลงทุนของต่างประเทศ ที่ส่งผลให้เกิดคลัสเตอร์

“แนวทางก็คือให้เอกชนหาทางออก ดูโซลูชัน ดูว่าอะไรที่จะเกิด เมื่อพิสูจน์แล้วว่าได้ผล รัฐก็ช่วย facilitate จัดระเบียบ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิยกตัวอย่าง เพื่อสะท้อนสิ่งที่รัฐคิด ซึ่งเป็นการคิดแบบราชการมองไม่ทะลุ คือ ปัญหาการขนส่งคนในกรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า บริการที่คนใช้มากคือรถตู้กับวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมาจากความจำเป็นและมีความต้องการ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเดินหน้าไปได้ในเชิงพาณิชย์ รัฐก็ควรจะจัดระเบียบ เมื่อเทียบกับสิ่งที่รัฐคิด เช่น ป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ที่กลายเป็นอนุสาวรีย์ ไม่มีคนใช้ ไม่ได้ผล อีกทั้งช่วงหลังมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเช่น Grab, Uber

“รัฐต้องเล่นบท facilitate อย่าให้เป็นอุปสรรค อะไรเกิดขึ้นแล้วก็เข้าไปช่วยสนับสนุน แต่การคิดเองอาจจะไม่ตกผลึก ของที่ควรทำควรนำ คือ ของที่ยังไงเอกชนก็ไม่ทำ เช่น อะไรที่เป็นแนว public goods เช่น สาธารณสุข ควบคุมโรค ซึ่งโดยธรรมชาติเอกชนทำไม่ได้ หรือสิ่งแวดล้อมก็ชัดเจน ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างเดียวก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะว่ากลไกตลาดไม่ให้ผลตอบแทน ไม่มีแรงจูงใจทางการเงิน ที่จะดูแลเรื่องเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องมีกลไกภาครัฐเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นภาษีหรืออะไรที่จะมาหนุน ตรงนี้ชัดเจนว่ารัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การแก้ปัญหาในระหว่างนี้หลายเรื่องต้องยอมรับว่าเป็นการซื้อเวลาแต่มีความจำเป็น โดยเฉพาะการช่วยเหลือจากภาครัฐในการสร้างรายได้ แต่ในระยะยาวประเทศต้องหาเครื่องยนต์ใหม่ในการสร้างรายได้ สร้างการจ้างงาน แม้ยังมองไม่ชัดเจนในขณะนี้จะเป็นอะไร

“สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้ก็คือ โลกหลังจากนี้ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าก่อน ดังนั้น ของที่จะเกิดใหม่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม S-curve หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือ green ขึ้น ทั้งของใหม่ที่ green เลยหรือของเก่ามาทำให้ green ขึ้น เพราะแนวทางเก่า ของเก่า ทั้งในแง่ผลผลิตและการสร้างงานมีแต่จะลดลง สิ่งที่จะตอบโจทย์ข้างหน้า ก็ต้องเป็นเรื่องที่ green ขึ้น เพราะจะเป็นโอกาส แต่จะเป็นอะไรก็ยังบอกไม่ได้ แต่ถ้าถามผม ก็อาจจะเป็นเรื่องเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในบางมุมไทยอาจมีความเปราะบางในแง่โครงสร้างเศรษฐกิจ แต่อีกมุมหนึ่งมีโอกาส จากความต้องการของกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่ง ที่ยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เพื่อประสบการณ์ที่ดีจากการซื้อสินค้าและใช้บริการ หรือเพื่อคุณค่า มากกว่าการจ่ายเงินเพียงเพื่อซื้อสินค้า นอกจากนี้ในอนาคตมีแนวโน้มที่ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกจะสูงขึ้น ความมั่งคั่งกระจุกตัวมากขึ้น และจะมีผลให้ความมั่งคั่งแบบชนชั้นกลาง (mass middle class) ที่เคยเติบโตมากในอดีต จะน้อยลงในอนาคต

“คนที่มีเงินในระดับเศรษฐี คนที่รวยมากไม่ได้ต้องการที่จะซื้อสินค้าหลายชิ้น เช่น ซื้อรถหลายคัน แต่จะซื้อประสบการณ์ ซื้อคุณค่ามากกว่า ดังนั้น ประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ซึ่งด้านนี้ไทยปรับตัวได้ ทำให้ดีก็สามารถยกระดับได้ อีกด้านหนึ่งคือ อาหาร ไทยเก่งเรื่องอาหาร ถ้าหากเราทำได้ดี มีโอกาสที่เราจะเป็นสินค้าที่เหนือมาตรฐาน คนก็พร้อมที่จะจ่ายเพื่อประสบการณ์และคุณค่าทางใจ และยังทำให้เรามีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งของคนที่เต็มใจจะจ่าย”

สินค้าแบบดั้งเดิม อย่างอิเล็กทรอนิกส์ มีอัตรากำไรไม่สูงนัก และในอนาคตคงเติบโตได้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการขายของแบบเสริมสร้างประสบการณ์ เพียงแต่ไทยต้องต้องปรับตัว สร้างศักภาพใหม่ บริการบางอย่างของไทยทำได้ดี สามารถทำให้ถึงระดับสากลได้ เช่น โรงพยาบาล ที่ไทยมีความสามารถมากกว่าการผลิตสินค้าเพื่อขายแข่งขัน

นอกจากนี้ ภาคเอกชนของไทยมีความสามารถมากขึ้น หลังจากวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมา เอกชนไทยมีความสามารถกว่าเดิมมาก ในปี 2540 ธุรกิจส่วนใหญ่เป็นแบบครอบครัวการกำกับดูแลกิจการ (corporate governance — CG) ไม่ค่อยมีและไม่โปรงใส แต่ปัจจุบันเอกชนไทยใส่ใจเรื่องนี้จริงจัง มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้นมาก

“เอกชนไทยไม่แพ้ใครในอาเซียน แม้แต่สิงคโปร์ จึงอยากเห็นเอกชนออกแรงช่วยมากกว่านี้อีก แน่นอนว่าเอกชนหลายรายได้รับผลกระทบจากโควิด แต่คนที่โดนเยอะคือธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดใหญ่ยังแข็งแกร่ง ก็อยากจะออกให้มาช่วย จะหวังว่าให้รัฐทำเองหมดคงไม่ได้ เพราะโดยศักยภาพกระสุน ความสามารถในการจัดการยังน้อยกว่าภาคเอกชน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ไทยพับลิก้า: การยึดหลัก ESG จะช่วยให้ก้าวข้ามวิกฤติและปัญหาเหล่านี้ได้ไหม ช่วยแก้ปัญหาเพียงพอไหม

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เมื่อแยกองค์ประกอบ ESG ออกมาจะเห็นว่าในด้าน E (environment) สิ่งแวดล้อมนั้น climate change เป็นความท้าทายและปัญหาที่จะเกิดขึ้น และคนส่วนใหญ่ก็มองไปในทิศทางเดียวกัน ส่วน S (social) สังคม ปัญหากว้างและหลากหลาย มีความแตกต่างกันสำหรับแต่ละคน และหากนำ S ไปเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ขอบเขตก็จะยิ่งกว้างออกไปอีก และตัวสุดท้าย G (governance) การกำกับดูแลกิจการที่ดี เทียบกับอย่างอื่นนับว่าไทยมีความก้าวหน้า

“สำหรับผม ให้น้ำหนักกับ E สิ่งแวดล้อมเพราะเราตามไม่ทัน behind the curve” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ถ้ายึด ESG เป็นกรอบในการแก้ไขปัญหา ก็อยู่ที่ว่าจะทำตามหลักการนี้เข้มข้นแค่ไหน และจะเลือกอะไร

“ESG จำเป็น แต่ไม่พอ ส่วนใหญ่มักคิดว่า ESG เป็นเรื่องของบริษัท ธนาคารต้องทำ หน่วยงานกำกับดูแลต้องทำ แต่หากไม่มีกรอบนโยบายจากภาครัฐ อย่างอื่นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องไปด้วยกันหมด และรัฐต้องไม่ออกข้อบังคับเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงกลไกการปฏิบัติ แต่สิ่งที่จะทำให้ การขับเคลื่อน ESG ได้ผลและมีประสิทธิภาพจริงอยู่ที่ความชัดเจนและแนวการดำเนินการ”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การขับเคลื่อน ESG รัฐบาลต้องกำหนดความหมายของ ESG ให้ชัดเจน หรือนำหลักเกณฑ์มาบังคับใช้โดยไม่แยกแยะ และอย่าปล่อยให้เป็นไปตามกลกไกตลาดอย่างเดียว เช่น การปล่อยให้บริษัททำกิจกรรมเพื่อสังคม (corporate social responsibility) แล้วหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคม เป็นไปไม่ได้ ต้องมีรัฐเข้าเกี่ยวข้อง

แม้ปัจจุบันผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมไปในทางที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะเป็นจุดเปลี่ยนได้ ต้องมีกลไกตลาดเข้ามาช่วย

ไทยพับลิก้า: บทบาทของ ธปท. ในเรื่องความยั่งยืนเป็นอย่างไร

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ธปท. ได้นำเสนอแผนงานต่อคณะกรรมการ โดยในแผนนอกจากจะมีเรื่องเฉพาะหน้าในการแก้ไขหนี้และเรื่องภายในแล้ว ก็มีเรื่องระยะยาวสองเรื่องสำคัญคือ หนึ่ง การพัฒนาระบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยในแง่การที่จะเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาสิ่งใหม่ขึ้น

“บทบาทของภาครัฐรวมทั้ง ธปท. ต้องเอื้อในการสร้างระบบนิเวศให้ของใหม่เกิดขึ้น โดยที่เราอาจจะไม่รู้ว่าของใหม่คืออะไร เพราะเอกชนรู้ดีกว่าเรา แต่เราคิดว่าดิจิทัลจะช่วยให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีโอกาสที่จะเกิดของใหม่ออกมาและจะเชื่อมโยงกับความยั่งยืน ที่มาดูว่าของเก่า ไปแบบเดิมไม่ได้ ต้องมีของใหม่มาทดแทน แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อาจจะเป็น S-curve หรือไม่ใช่ก็ได้ แต่เราต้องสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยให้ของที่โตได้ มีโอกาสเกิดและเติบโตได้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

เรื่องที่สองที่ ธปท. ให้ความสำคัญคือ ความยั่งยืน ซึ่งใน ESG ได้ให้น้ำหนักกับ E หรือสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ยกเว้น S ที่เกี่ยวกับหนี้ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้าและแก้วิกฤติ แต่ E เป็นหนึ่งในแผนของ ธปท. ที่จะเดินไปข้างหน้า

“ระหว่าง ESG ตอนนี้ให้น้ำหนักกับ E เยอะสุด เพราะ G เราทำไประดับหนึ่งมีความก้าวหน้า แต่ E เรายังตามหลังมาก ส่วน S กว้างมาก ถ้าเอา S แบบ SDGs ในแง่ความเสี่ยง โอกาสที่จะเกิดและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ก็ห่วงเป็นพิเศษเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ S สำหรับเรามีนัยมาก เพราะเรามีเรื่องเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำที่ต้องใส่ใจ แต่ต้องคงเลือกในมุมที่สอดคล้องกับแบงก์ชาติ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. มีการออก responsible lending guideline แต่ในแผนงานใหม่สิ่งที่สำคัญของการก้าวต่อในเรื่องความยั่งยืน คือ การมีแนวทางที่จะสร้างระบบนิเวศที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจปรับไปในทางที่ยั่งยืนขึ้น ซึ่งองค์ประกอบสำคัญแรกที่ขาดไม่ได้ คือ การเปิดเผยข้อมูล disclosure หากไม่มีข้อมูล ก็ไม่สามารถดำเนินการด้านอื่นได้ เช่น การกำหนดให้ธนาคารต้องดำรงเงินกองทุนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งธนาคารจะต้องมีข้อมูลจากลูกหนี้ในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อน ดังนั้นถ้าไม่มีข้อมูลแนวนโยบายที่จะออกมาเป็นข้อบังคับก็จะไม่เกิดขึ้น

องค์ประกอบสำคัญที่สอง ที่จำเป็นต้องผลักดันคือ การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน (taxonomy) เป็นการกำหนดชัดเจนว่า อะไรคือ green อะไรที่ green ไม่มากนัก และหวังว่ามาตรฐานนี้จะอิงกับมาตรฐานอาเซียน เป็น regional standards taxonomy

“เรื่องนี้สำคัญ เป็นตัวอย่างไม่เฉพาะระดับประเทศ แต่มีนัยต่อโลก เพราะมีการพูดกันมากว่า climate change นี้เราจะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในระดับโลก จะถูกตัดสินใจในเอเชีย ซึ่งก็เป็นจริง เพราะเห็นภาพชัดเจนว่ายุโรปกำลังดำเนินการอย่างแข็งขัน ส่วนอเมริกาคงทำแต่ช้ากวายุโรป แต่ตัวที่จะตัดสินว่าหยุดหรือไปต่อ คือ เอเชีย หลักๆ คือ จีนกับอินเดีย ส่วนอาเซียนแม้ขนาดเล็กแต่ก็ต้องมีส่วนร่วม”

“เรื่องนี้เป็นเรื่องเรามีบทบาทเยอะ เราอาเซียนและเอเชีย และไม่ควรปล่อยให้แค่ทำตามยุโรป เพราะโจทย์เขากับเราต่างกัน ยุโรปเป็นประเทศที่พัฒนาไปเรียบร้อยแล้ว ของเราเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนผ่าน กำลังจะเปลี่ยนโฉม เรื่องพวกนี้จะแค่ไปเอาของเขามาไม่ได้ ต้องคิดให้เหมาะกับบริบทของเรา” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิย้ำว่า โจทย์ที่สำคัญ คือ การสร้างระบบนิเวศเรื่องความยั่งยืนให้ได้ โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ disclosure กับ taxonomy ให้สอดคล้องกัน โดยระบบนิเวศทั้งหมดจะสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้กับตลาดกับเอกชน เนื่องจากการแก้ไขปัญหา climate change ปล่อยตามกลไกตลาดไม่ได้ กลไกตลาดโดยตัวเองไม่มีทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะไม่มีแรงจูงใจ

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญต่อระดับความอยู่รอดของมนุษยชาติคือ climate change แต่การพัฒนาในขณะนี้มุ่งไปทางการพัฒนาเทคโนโลยี เนื่องจากมีผลตอบแทนตามกลไกตลาด ขณะที่ผลตอบแทนในการช่วยคิดช่วยหาทางแก้ปัญหาให้โลกรอดไม่ค่อยมี จึงสะท้อนว่าถ้าปล่อยไปตามกลไกตลาดก็จะไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ในทางกลับกัน ถ้าไม่นำกลไกตลาดมาใช้ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหา เพราะกลไกตลาดจะสร้างแรงจูงใจได้

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า…

“ถ้าเราจะแก้ปัญหา climate change โดยไม่ดึงพลังของตลาดมาสร้างแรงจูงใจก็ไม่ได้ จะเน้นการออกกฎห้าม ไม่พอ ไม่ได้ ต้องสร้างแรงจูงใจให้ตลาดหาทางออก และเป็นคำตอบว่าทำไมการบริหารจัดการเชิงระบบนิเวศจำเป็น ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะใช้ประโยชน์จากการสานพลังของเอกชน ประชาชนให้ไปในทางที่ถูก และบทบาทของหน่วยงานภาครัฐรวมทั้ง ธปท. ต้องเป็นแบบนี้ สร้างระบบนิวเศที่จะช่วยแก้และไม่สร้างปัญหา”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า จนขณะนี้หลายหน่วยงานและคนส่วนใหญ่ยังนึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ยุโรปจะเป็นแรงกดดัน จะมาเร็วกว่าที่คาด ธปท. จะพยายามนำเสนอข้อมูลและความเคลื่อนไหว เพราะมีข้อได้เปรียบ ที่เป็นองค์กรที่มองไกลได้ง่ายกว่าหน่ยงานอื่น แม้ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับขอบเขตหน้าที่ แต่ ธปท. มองว่าเป็นเรื่องจำเป็นและจะกระทบเสถียรภาพทางการเงิน หากไม่ทำอะไร

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ธนาคารกลางประเทศอื่นก็เริ่มหันมาในแนวทางนี้ โดยแบงก์ชาติอังกฤษใส่เรื่องความยั่งยืนลงในขอบเขตหน้าที่เลยว่า environmental sustainability เป็นหนึ่งในงานที่ต้องผลักดันให้เกิด ส่วนญี่ปุ่นที่อนุรักษนิยมมาก แบงก์ชาติญี่ปุ่นยังออก green policy package สะท้อนว่าแนวคิดแบงก์ชาติทั่วโลกเปลี่ยน สำหรับ ธปท. เองอาจจะให้มุมมองมากขึ้น

“สำหรับ ธปท. เราก็ทำในบริบทของเรา แต่เรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ การวิเคราะห์ วิจัยต่างๆ ต้องทำร่วมกัน เพราะคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ใน ธปท. ไม่ค่อยมี ในประเทศก็มีน้อย ต้องร่วมกัน ธปท. ถนัดในการวิเคราะห์ผลต่อเศรษฐกิจก็ใช้ทักษะที่มีมาสนับสนุนและมีส่วนร่วม แต่การประเมินฉากทัศน์สภาพภูมิอากาศ ธปท. ไม่มีความเชี่ยวชาญ ต้องมีส่วนร่วมจากหน่วยงานอื่น รวมทั้งเอกชน ที่จำเป็นที่สุด ซึ่งหากนำความเชี่ยวชาญของแต่ละที่มาร่วมกันก็จะมีทางออก” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว