ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup จีนยังคงครองอันดับหนึ่ง FDI ในกัมพูชา

ASEAN Roundup จีนยังคงครองอันดับหนึ่ง FDI ในกัมพูชา

28 พฤษภาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 21-28 พฤษภาคม 2566

  • จีนยังคงครองอันดับหนึ่ง FDI ในกัมพูชา
  • โรงงานในกัมพูชาเพิ่มขึ้นทะลุ 1,300 แห่ง
  • สินค้าหรูจ่อเข้าลงทุนในเวียดนาม
  • EIU ให้เวียดนามเลื่อนขั้นทีเดียว 12 อันดับหลังสภาพแวดล้อมทางธุรกิจดีขึ้น
  • นายกฯเวียดนามสั่งเร่งขจัดอุปสรรคดึงต่างชาติลงทุน
  • เวียดนามเตรียมลดส่งออกข้าวเหลือ 4 ล้านตันภายในปี 2573
  • อาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของเวียดนาม
  • ลาวเตรียมงานปีท่องเที่ยวลาวหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • นักลงทุนรายย่อยในสิงคโปร์ลงทุนในหุ้นบลูชิปไทยได้ตั้งแต่ 30 พ.ค.
  • จีนยังคงครองอันดับหนึ่ง FDI ในกัมพูชา

    ที่มาภาพ: https://asiatimes.com/tag/china-investment-in-cambodia/
    จีนยังคงเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI อันดับหนึ่งในกัมพูชาในช่วง 4 เดือนแรกของปี โดยมีสัดส่วน 73.5% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด จากการเปิดเผยของนายเจีย วุฑธี(Chea Vuthy) เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการลงทุน

    ด้วยมูลค่าลงทุนที่สูงเป็นอันดับหนึ่งจึงมองได้ว่าเป็นตัวบ่งชี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจีน และที่สำคัญกว่านั้น เป็นก้าวสำคัญสู่การ
    กระจายการส่งออก

    นายวุฑธี รองเลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (Council for the Development of Cambodia-CDC) ได้เปิดเผยสถิติที่เกี่ยวข้องส่วนหนึ่งใน การประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจกัมพูชา-จีน Cambodia-China Business Leaders’ Summit เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม

    CDC ได้อนุมัติโครงการลงทุน 65 โครงการระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน โดยมีทุนชำระแล้วทั้งสิ้น 588 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนมีสัดส่วนประมาณ 60% หรือคิดเป็น 73.5% ของหุ้น FDI

    ในปี 2565 ที่ผ่านมา CDC ได้อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 186 โครงการและการขยายโครงการที่มีทุนชำระแล้วมูลค่ารวม 4 พันล้านดอลลาร์ โดยจีนมีสัดส่วน 42% ซึ่งคิดเป็น 90.5% ของหุ้น FDI

    “ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า FDI โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองกัมพูชา ผ่านทางการไหลเข้าของเงินลงทุน การกระจายการส่งออกและการเติบโต การเพิ่มรายได้ของรัฐ เทคโนโลยี การถ่ายทอด การพัฒนาทักษะ การจัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรม การเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจในท้องถิ่น และการส่งเสริมความเชื่อมโยง ตลอดจนการบูรณาการเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก

    “เมื่อพิจารณาจากความร่วมมือดังกล่าวข้างต้นและบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นของกัมพูชา กระแสของการลงทุนโดยตรงจากจีนตอกย้ำความมั่นใจอย่างสูงที่นักลงทุนจีนมีต่อกัมพูชา” นายวุฑธี กล่าว

    ในงานเดียวกัน นายกุ้ย หานเฟิง(Gui Hanfeng) ประธาน Global Economic Development Forum (GEDF) ย้ำว่า กัมพูชาและจีนมีความเกื้อกูลทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งสองประเทศได้สร้างฐานที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การเกษตร การผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน

    กัมพูชามีศักยภาพอย่างมากที่จะเติบโตและพัฒนาในหลากหลายด้าน นายกุ้ยกล่าว โดยระบุว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดจะได้เรียนรู้ แบ่งปัน และมองหาวิธีที่จะผสานเข้ากับการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชาได้ดียิ่งขึ้น

    ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาช้านาน เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด และมีความเป็นพี่น้องร่วมกัน นายกุ้ยกล่าว

    “เราอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย จีนและกัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในแง่ของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ และพวกเขาได้สร้างความก้าวหน้าที่สำคัญ … [นั่น] ได้ส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน และมิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองมากขึ้น” นายกุ้ยกล่าว

    นายกุ้ยยืนยันว่า GEDF พร้อมที่จะใช้สถานะและข้อได้เปรียบที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแง่ของการเชื่อมโยงทรัพยากรทั่วโลก และยกระดับความร่วมมือกับรัฐบาลและภาคธุรกิจของกัมพูชา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรม การค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนข้อมูลตลาด แพลตฟอร์มการลงทุน การพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ และการแนะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ​​ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา

    น่ายวุฑธีกล่าวถึงข้อได้เปรียบโดยเปรียบเทียบบางด้านของกัมพูชาในการดึงดูดนักลงทุน รวมถึงจุดแข็งทำเลที่ตั้ง มีความสงบอย่างมาก กำลังแรงงานที่แข่งขันได้ ทรัพยากรมากมายสำหรับการแปรรูปเพื่อการส่งออก ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และสิทธิพิเศษทางการค้าในการเข้าถึงอาเซียน จีน ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และตลาดหลักอื่นๆ

    โรงงานในกัมพูชาเพิ่มขึ้นทะลุ 1,300 แห่ง

    ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501297669/number-of-factories-in-cambodia-grows-from-64-in-1997-to-1326-in-2023-says-prime-minister-hun-sen/

    นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เปิดเยว่า จำนวนโรงงานในกัมพูชาเพิ่มขึ้นจาก 64 แห่งในปี 2540 เป็น 1,326 แห่งในปี 2566

    นายกรัฐมนตรีฮุน เซนกล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชามีโรงงาน 1,326 แห่ง มีกำลังแรงงานมากกว่า 840,000 คนทั่วประเทศ ระหว่างการพบปะกับคนงานและพนักงานเกือบ 20,000 คนในเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญของ Royal Group เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม

    นายกรัฐมนตรีให้ข้อมูลว่าในปี 2540 กัมพูชามีโรงงานเพียง 64 แห่งและคนงานประมาณ 80,000 คน โดยมีมูลค่าการส่งออก 270 ล้านดอลลาร์ ในเวลานั้น คนงานได้รับค่าจ้างเพียง 40 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 200 เหรียญสหรัฐ

    นายกฮุน เซน กล่าวว่า “ปัจจุบัน จำนวนโรงงานทั้งหมดในภาคสิ่งทอเพิ่มขึ้นเป็น 1,326 แห่ง โดยมีคนงาน 840,000 คน “โดยรวมแล้วภายในปี 2566 โรงงานและกิจการรทั้งหมดมี 17,000 แห่ง และมีพนักงานทั้งหมด 1.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นในประเทศของเรา”

    นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาการส่งออกของกัมพูชามีขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันปริมาณการส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้นและตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นทุกปี

    สินค้าหรูจ่อเข้าลงทุนในเวียดนาม

    Trang Tien Plaza ห้างสินค้าแบรนด์หรูแห่งแรกและแห่งเดียวในเวียดนาม ที่มาภาพ:https://trangtienplaza.net/

    รายได้ในตลาดสินค้าหรูในเวียดนามจะมีมูลค่า 957.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และเติบโตปีละ 3.23% ในช่วงปี 2566-2571 จากรายงานของ Statista ซึ่งเป็นพอร์ทัลสถิติสำหรับข้อมูลตลาด

    ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเป็นแรงจูงใจให้แบรนด์ต่างๆ หันมาลงทุนในเวียดนาม แบรนด์หรูอย่าง Dior, Louis Vuitton, Tiffany และ Berluti ได้เปิดร้านในฮานอย ที่มีจำนวนแบรนด์ไม่มากนัก แต่ความต้องการเพิ่มขึ้น Statista รายงาน

    Hoang Dieu Trang ผู้จัดการอาวุโสของ Savills Vietnam ในกรุงฮานอยกล่าวว่า เมืองหลวงกำลังจะมีโรงแรมหรูเข้ามาเช่น Four Seasons, Fairmont, Waldorf Astoria หรือ Ritz Carton ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดศูนย์การค้าหรูหราแห่งใหม่ในเมือง ดังนั้น ดึงดูดแบรนด์ระดับไฮเอนด์จำนวนมากเข้ามาในตลาดที่มีศักยภาพ

    Nick Bradstreet หัวหน้าฝ่ายค้าปลีกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Savills กล่าวว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่โดดเด่นสำหรับแบรนด์หรูเช่นเดียวกับ สิงคโปร์และไทย

    เศรษฐกิจของเวียดนามคาดการณ์ว่าจะเติบโต 6.3% ในปี 2566 แม้จะมีสถานการณ์ที่ยากลำบากทั่วโลก จากรายงานของธนาคารโลก

    ภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติปี 2564-2573 เวียดนามตั้งเป้าการเติบโตของ GDP เฉลี่ยต่อปีไว้ที่ 7% และภายในปี 2593 GDP ต่อหัว ณ ราคาปัจจุบันจะสูงถึงประมาณ 27,000 –32,000 เหรียญสหรัฐ

    ข้อมูลจากสำนักงานสถิติทั่วไปแสดงให้เห็นว่าการบริโภคในประเทศฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยรายได้รวมของประเทศจากการขายปลีกสินค้าและบริการในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 26.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

    EIU ให้เวียดนามเลื่อนขั้นทีเดียว 12 อันดับหลังสภาพแวดล้อมทางธุรกิจดีขึ้น

    โรงงานซัมซุงในจังหวัดท้ายเงวียน ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-shows-significant-improvement-in-business-environment-eiu-4609041.html

    เวียดนามพุ่งขึ้น 12 อันดับในการจัดอันดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจล่าสุดของ Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งวัดความน่าสนใจในการทำธุรกิจใน 82 ประเทศด้วยตัวชี้วัดที่สำคัญ 91 รายการ

    รายงานย้ำว่าเวียดนาม รวมทั้งไทยและอินเดีย ถือเป็นประเทศในเอเชียที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในแง่ของการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

    ไทยพุ่งขึ้น 10 อันดับ และอินเดีย 6 อันดับ ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์ก็อยู่ในอันดับที่หนึ่ง

    ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment-FDI) ไหลเข้าเวียดนามเกือบ 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินทุนใหม่เพิ่มขึ้นหลังจากลดลงเล็กน้อยในช่วง 3 เดือนแรก

    จากข้อมูลของหน่วยงานการลงทุนต่างประเทศของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน (Foreign Investment Agency-FIA) มีโครงการใหม่ 750 โครงการที่ได้รับใบอนุญาตลงทุน มูลค่ากว่า 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 65.2% และ 11.1% ต่อปีตามลำดับ

    นอกจากนี้มี 386 โครงการที่ได้เพิ่มทุนรวมมูลค่า 1.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณเพิ่มขึ้น 19.5% และมูลค่าลดลง 68.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว การเติบโตแม้ว่าจะลดลง แต่ก็สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบรรยากาศทางธุรกิจของเวียดนามและการตัดสินใจขยายโครงการที่มีอยู่

    ในช่วง 4 เดือน นักลงทุนต่างชาติทำธุรกรรม 1,044 รายการสำหรับการเพิ่มทุนและการซื้อหุ้น โดยทุนที่เพิ่มขึ้นมีมูลค่าเกิน 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 70.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยลงทุนใน 18 ภาคเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ในภาคการแปรรูปและการผลิต ด้วยเงินกว่า 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 57.8% ของการลงทุนทั้งหมด

    จำนวนประเทศและเขตปกครองที่ลงทุนในเวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวน 77 ประเทศ สิงคโปร์เป็นผู้นำด้วยการอัดเงินเกือบ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐเข้าสู่ตลาด ตามมาด้วยญี่ปุ่นเกือบ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจีน 752 ล้านเหรียญสหรัฐ

    นายกฯเวียดนามสั่งเร่งขจัดอุปสรรคดึงต่างชาติลงทุน

    คนงานในโรงงานฟอร์ดที่จังหวัดหายเซือง ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/pm-orders-enhancement-of-foreign-investment-attraction-efficiency-post125771.html

    นายกรัฐมนตรีเวียดนามนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ได้ลงนามในคำสั่งชี้แจงภารกิจและแนวทางแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในรอบใหม่

    ภายใต้เอกสารดังกล่าว รัฐมนตรีและหัวหน้าหน่วยงานระดับรัฐมนตรี หน่วยงานรัฐบาลและประธานคณะกรรมการประชาชนของเมือง และจังหวัดที่บริหารงานโดยส่วนกลางจะต้องดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายในทันทีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

    โดยขอให้เตรียมเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยสำหรับการดึงดูดการลงทุน และกิจกรรมทางธุรกิจ ด้วยการวางแผนสำหรับช่วงปี 2564-2573 ให้เสร็จสิ้นโดยทันที และวางวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 กระทรวงการวางแผนและการลงทุนได้รับการมอบหมายให้รายงานความเป็นไปได้ของการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการลงทุนที่มุ่งหวังผล(Law on Adventure Investment) ควบคู่กับการพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับวิสาหกิจเวียดนามที่สามารถเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในบางด้านโดยเฉพาะได้

    กระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และกิจการสังคม ได้รับคำสั่งให้ออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้กับแรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนต่างชาติและส่งเสริมให้จ้างแรงงานในท้องถิ่น

    กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีหน้าที่เสนอข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเสริมและปรับการตัดสินใจเกี่ยวกับระเบียบนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่ใช้แล้วด้วยขั้นตอนที่ง่ายภายในเดือนมิถุนายน พร้อมวางนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี

    กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารได้รับมอบหมายให้เสนอนโยบายนำร่องและมาตรการที่ก้าวล้ำ เพื่อดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกมายังเวียดนาม ขณะที่กระทรวงการคลังถูกขอให้ทบทวนระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีเพื่อแยกแยะและยุติปัญหา และวางโรดแมปไปสู่การใช้อัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลก(lobal minimum tax rate)และเสนอต่อสมัชชาแห่งชาติสมัยที่ 6

    นอกจากนี้กระทรวงการคลังผ่านช่องทางทางการทูตและภายนอก ได้รับคำสั่งให้เสริมสร้างการส่งเสริมการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนาม และแนวทางของรัฐบาลเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการกระจายโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรรายใหญ่

    ในคำสั่ง นายกรัฐมนตรียังได้ชี้แจงงานเฉพาะเจาะจงไปยังกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมทั้งสั่งการให้ท้องถิ่นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านวิชาการและสังคมนอกเขตอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมแปรรูปการส่งออก และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค พร้อมลดความซับซ้อนของขั้นตอนเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการลงทุน

    นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเสริมสร้างการกำกับดูแลและตรวจสอบการทำงาน

    เวียดนามเตรียมลดส่งออกข้าวเหลือ 4 ล้านตันภายในปี 2573

    เรือขนข้าวในจังหวัดอานซาง ที่มาภาพ:https://tuoitrenews.vn/news/business/20230527/vietnam-to-cut-annual-rice-exports-by-44-to-4-mln-tonnes-by-2030/73393.html#gallery

    เวียดนามตั้งเป้าที่จะลดการส่งออกข้าวลงจาก 7.1 ล้านตันในปีที่แล้วหรือ 44% เหลือ 4 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573 รัฐบาลระบุในเอกสารที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การส่งออกข้าว

    เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและไทย

    การเตรียมการนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ส่งเสริมการส่งออกข้าวคุณภาพสูง สร้างความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ ปกป้องสิ่งแวดล้อม และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ตามเอกสารของรัฐบาล ลงวันที่ 26 พฤษภาคม

    รายได้จากการส่งออกข้าวจะลดลงเหลือ 2.62 พันล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2573 ลดลงจาก 3.45 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 เอกสารระบุ

    “แม้ว่าพื้นที่ทำนาของเวียดนามจะลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และเกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นและเลี้ยงกุ้ง แต่ยุทธศาสตร์นี้ดูเหมือนจะแข็งกร้าวเกินไป” ผู้ค้าข้าวในนครโฮจิมินห์กล่าวเมื่อวันเสาร์(27 พ.ค.)

    ผู้ค้าข้าวกล่าวว่า ชาวนาข้าวส่วนหนึ่งในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกำลังเปลี่ยนพื้นที่นาบางส่วนไปเป็นสวนผลไม้ ปลูกมะม่วง ส้มโอ ขนุน และทุเรียน แต่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาข้าว

    แนวโน้มการเพาะเลี้ยงกุ้งเกิดขึ้นในพื้นที่มานานหลายปี เนื่องจากน้ำทะเลสูงขึ้นซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ความเค็มเพิ่มขึ้นอย่างมากในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

    เวียดนามจะกระจายตลาดส่งออกข้าวเพื่อลดการพึ่งพาจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดๆก็ตาม เอกสารของรัฐบาลระบุ ฟิลิปปินส์เป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามมาช้านาน โดยคิดเป็น 45% ของการขนส่งในปีที่แล้ว

    นายกรัฐมนตรีนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนามกล่าวกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ของฟิลิปปินส์ในการประชุมระดับภูมิภาคที่อินโดนีเซียในเดือนนี้ว่า เวียดนามยินดีที่จะจัดหาข้าวให้กับฟิลิปปินส์ในระยะยาวในราคาที่เหมาะสม

    ภายในปี 2568 การส่งออกข้าวของเวียดนาม 60% จะถูกส่งไปยังตลาดเอเชีย 22% ไปยังแอฟริกา 7% ไปยังสหรัฐอเมริกา 4% ไปยังตะวันออกกลาง และ 3% ไปยังยุโรป เอกสารระบุ

    รัฐบาลระบุว่า เวียดนามจะมุ่งเน้นการผลิตข้าวหอมและข้าวเหนียวคุณภาพสูง ในขณะที่ลดการผลิตข้าวคุณภาพต่ำลงเหลือ 15% ของผลผลิตทั้งหมดภายในปี 2568 และเหลือ 10% ภายในปี 2573

    “ผมไม่แน่ใจว่ายุทธศาสตร์นี้จะเกิดขึ้นได้จริงไม่ เนื่องจากการผลิตข้าวขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน ไม่ใช่การตัดสินใจของรัฐบาล” ผู้ค้าข้าวอีกรายในจังหวัดอานซางในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกล่าว

    การส่งออกข้าวจากเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 40.7% จากปีก่อนหน้าเป็น 2.9 ล้านตัน จากข้อมูลของกรมศุลกากร

    อาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/asean-remains-important-export-market-of-vietnam/253601.vnp

    กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ยังคงเป็นตลาดที่สำคัญของเวียดนาม โดยมีรายได้จากการส่งออกสูงถึง 10.85 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งคิดเป็น 10% ของการส่งออกรวมของประเทศ

    ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน การส่งออกของเวียดนามไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนลดลง 4.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับรายได้การส่งออกโดยรวมของประเทศที่ลดลง 13% ในช่วงเวลาดังกล่าว

    ในบรรดา 24 ตลาดส่งออกที่มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ มี 6 ประเทศเป็นสมาชิกอาเซียน

    ขณะเดียวกัน การนำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 13.360 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 13.4% ของการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม ลดลง 17.6% เมื่อเทียบปีต่อปี ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 2.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

    ประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการค้าระหว่างกันมีมูลค่าถึง 6.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเวียดนามที่มีรายได้จากการส่งออกมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์เสริม เครื่องจักร อุปกรณ์และอะไหล่ ยานพาหนะขนส่ง น้ำมันดิบ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

    ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 1.73 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบปีต่อปี และอินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย

    ลาวเตรียมงานปีท่องเที่ยวลาวหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

    ที่มาภาพ: https://www.tourismlaos.org/welcome/legendary-landmarks/

    คณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐทำงานร่วมกับบริษัททัวร์และธุรกิจบริการ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปีการท่องเที่ยวลาวปี 2567 (Visit Laos Year 2024) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ

    ในการประชุมประจำเดือนพฤษภาคม คณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดการหารือกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและระดมแนวคิดและกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในช่วงปีการท่องเที่ยวลาวปี 2567

    การประชุมซึ่งมีนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้สั่งการให้มีการดำเนินการเพื่อจัดการกับอุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักและรายได้หลักที่เป็นเงินตราต่างประเทศของลาว

    ในปี 2562 และก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าลาวเพิ่มขึ้น 14.4% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.79 ล้านคน

    รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 934 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเกือบ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในภาคการท่องเที่ยวและการบริการ มีแรงงานประมาณ 54,000 คนหรือประมาณ 1.4% ของแรงงานทั้งหมด โดยมากกว่า 60% เป็นผู้หญิง

    รัฐบาลคาดหวังว่า Visit Laos Year 2024 จะเป็นแรงกระตุ้นครั้งใหญ่ในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาด และหนุนเศรษฐกิจที่เปราะบางของลาวท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก

    อธิบดีกรมการตลาดการท่องเที่ยว กระทรวงข่าวสาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว นายคม ดวงจันทา กล่าวกับหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะมีการประชาสัมพันธ์ Visit Laos Year 2024 ในวงกว้างมากกว่าแคมเปญการท่องเที่ยวที่ผ่านมา

    นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ที่ประชุม ครม.ได้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐดูแลการจัดเก็บรายได้ของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้รัฐบาลมีเงินสำหรับใช้จ่ายได้

    คณะรัฐมนตรีย้ำว่า ต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันในการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศ หลังจากให้คำมั่นว่าลาวจะไม่เข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้

    ท่ามกลางเงินกีบที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท (ซึ่งเป็นสกุลเงินต่างประเทศที่ยอมรับกันทั่วไปในลาว) ที่ประชุมได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหามาตรการในการบริหารจัดการและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมทบทวนคำสั่งนายกรัฐมนตรีเรื่อง การจัดการเงินตราต่างประเทศอย่างเหมาะสม คาดว่าคำสั่งฉบับแก้ไขจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้

    ที่ประชุมยังรับรองร่างยุทธศาสตร์เกี่ยวกับแร่ในช่วงปี 2564-2573 และวิสัยทัศน์ว่าด้วยแร่จนถึงปี 2578

    นักลงทุนรายย่อยในสิงคโปร์ลงทุนในหุ้นบลูชิปไทยได้ตั้งแต่ 30 พ.ค.

    ที่มาภาพ: https://www.sgxgroup.com/
    ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมนี้ นักลงทุนรายย่อยในสิงคโปร์สามารถซื้อและขายหุ้นของบริษัทบลูชิปไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ได้แล้ว

    การซื้อขายหุ้นบลูชิปของไทยสามารถทำได้ง่ายๆ แบบเดียวกับที่ซื้อและขายหุ้นสิงคโปร์ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX)

    SGX ประกาศเมื่อวันอังคาร(23 พ.ค.) ว่าจะเปิดตัว Singapore Depository Receipts (SDR)หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ภายใต้การเชื่อมโยง DR กับตลท. ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกในอาเซียนเกี่ยวกับตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศและเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความเชื่อมโยงของตลาดหุ้น

    SDR เป็นตราสารสิทธิเช่นเดียวกับ American Depositary Receipts ในสหรัฐอเมริกา เป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์อ้างอิงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งสำหรับ SDR แล้วคือตลาดหลักทรัพย์ไทย

    Serene Cai หัวหน้าฝ่ายซื้อขายหลักทรัพย์ของ SGX Group กล่าวว่า SDR แต่ละรายการออกให้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าหนึ่ง SDR แสดงถึงหนึ่งหุ้นของบริษัทไทย

    SDR จะซื้อขายบนกระดานโดยมีหน่วยการซื้อขายมาตรฐานหนึ่งหน่วยการซื้อขายเท่ากับ 100 หลักทรัพย์ นักลงทุนที่ซื้อหนึ่งล็อตก็คือซื้อ 100 SDR

    SDR จะซื้อขายใน SGX ในช่วงเวลาซื้อขายท้องถิ่น การซื้อขายและการจ่ายเงินสดทั้งหมดจะเป็นสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ SDRs จะเก็บรักษาไว้ที่บัญชีของนักลงทุนที่มีกับ Central Depository

    Michael Syn กรรมการผู้จัดการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายตราสารทุนของ SGX Group กล่าวว่า SDR ชุดแรกเชื่อมโยงกับบริษัทไทย 3 แห่ง ซึ่งอิงกับการเปิดประเทศและพลังงานประกอบด้วยบริษัทท่าอากาศยานไทย ผู้ให้บริการสนามบินรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย บริษัทซีพี ออลล์ ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ 7-Eleven และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจดทะเบียนแห่งเดียวในประเทศไทย

    เมื่อรวมกันแล้ว ทั้งสามบริษัทนี้มีสัดส่วน 18% ของดัชนี SET50 ซึ่งเป็นดัชนีตลาดหุ้นขนาดใหญ่ที่อิงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น 50 อันดับแรกในตลาดหลักทรัพย์ไทย

    นักลงทุนไทยจะสามารถเข้าถึงบริษัทสิงคโปร์ผ่าน DR ที่จดทะเบียนในประเทศไทย

    “เราจะนำบริษัทสิงคโปร์บางส่วนมาที่ประเทศไทย เรากำลังตรวจสอบกับตลาดหุ้นไทยว่า หุ้นอะไรที่นักลงทุนต้องการซื้อ? สนใจต้องการธนาคารของเราหรือไม่? สนใจทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือไม่”

    SGX กล่าวว่าการเชื่อมโยงกับประเทศไทยก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนี SET50 ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ดัชนีนี้ส่วนใหญ่มาจากภาคการผลิต พลังงาน และผู้บริโภค ซึ่งต่างจากสิงคโปร์ที่มีน้ำหนักที่ภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ จึงเกิ้อกูลกัน

    หน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์และไทย ทั้งธนาคารกลางของสิงคโปร์และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหุ้นของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาของ SDRs และการดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงระหว่างสองตลาด ดังนั้นการเชื่อมโยง มีโครงสร้างในลักษณะที่สมเหตุสมผลและมีการจัดการอย่างเป็นทางการ

    SGX ตั้งใจที่จะขยายความร่วมมือไปยังตลาดหลักทรัพย์อื่นๆอีกด้วย “เราต้องทำทีละตลาด ผมคิดว่าตลาดที่เกี่ยวข้องชัดเจนคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย หลังจากนั้นอาจจะเป็นฟิลิปปินส์และเวียดนาม”

    Loh Boon Chye ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SGX Group กล่าวว่า ด้วยการเชื่อมโยงที่มากขึ้นระหว่างสิงคโปร์และไทย นักลงทุนสามารถขยายขอบเขตการลงทุนและมีส่วนร่วมในศักยภาพการเติบโตของอาเซียน และกล่าวอีกว่า SDRs จะสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดทุนของอาเซียนมากขึ้นและเป็นตัวกระตุ้นเพื่อจุดประกายความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค

    ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า การเชื่อมโยงช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงตลาดหนึ่งไปยังอีกตลาดหนึ่งได้โดยตรงในสกุลเงินท้องถิ่น และการทำงานร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของตลท.ที่จะเพิ่มการเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน

    โครงการ Depository Receipt (DR) Linkage ของตลาดหลักทรัพย์ไทยและสิงคโปร์ ได้ริเริ่มขึ้นในปี 2564 เพื่อยกระดับการเชื่อมโยงตลาดทุนข้ามพรมแดน เป็นการอำนวยความสะดวกให้ SET และ SGX สามารถนำตราสารแสดงสิทธิในการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depository Receipt: DR) ซึ่งอ้างอิงหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศหนึ่ง มาออกเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ของอีกประเทศหนึ่งได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนข้ามพรมแดนสำหรับผู้ลงทุนของทั้งสองประเทศ