ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว

ASEAN Roundup สิงคโปร์เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว

10 มกราคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-9 มกราคม 2564

  • สิงคโปร์เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว
  • เวียดนามกำหนดแผนงานด้านการลงทุน 13 ด้าน
  • เวียดนามเพิ่มตรวจสอบบริษัท FDI ถ่ายโอนกำไร
  • โฮจิมินห์สั่งจำกัดตึกสูงให้อยู๋เฉพาะในเขตเมืองด้านใน
  • กัมพูชาเร่งจัดทำร่างกฎหมายสิ่งปฏิกูลน้ำเสีย
  • สิงคโปร์เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว

    ที่มาภาพ: https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/singapore-ranks-2nd-in-asia-18th-worldwide-for-ease-of-doing-business-report

    สิงคโปร์อาจ ผ่อนคลายข้อจำกัดให้กับนักเดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกหรือ World Economic Forum (WEF) ใกล้เข้ามาทุกขณะ

    สิงคโปร์ประกาศว่า จะพิจารณาผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางให้กับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 รวมถึงผู้ที่วางแผนจะเดินเข้ามาสิงคโปร์เพื่อเข้าร่วมการประชุม WEF ในเดือนพฤษภาคม

    สิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สั่งห้ามการเดินทางท่องเที่ยวเนื่องจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ และมีข้อตกลงการเดินทางเฉพาะนักธุรกิจและการเดินทางอย่างเป็นทางการกับบางประเทศ ส่วนผู้ที่พักอาศัยในสิงคโปร์ที่เดินทางกลับประเทศต้องกักตัวอยู่ในโรงแรมที่กำหนดหรือที่บ้านเป็นเวลานานถึง 2 สัปดาห์

    “หากมีข้อมูลชัดเจนว่าความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสามารถลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ (โดยวัคซีน) เราจะพิจารณาผ่อนคลายข้อกำหนดให้อยู่กับบ้าน สำหรับนักเดินทางที่ได้รับวัคซีน” ลอว์เรนซ์ หว่อง ประธานคณะทำงานด้านสถานการณ์การระบาดของไวรัส ชี้แจงในรัฐสภา

    สิงคโปร์ได้ควบคุมการติดเชื้อในประเทศได้แล้ว กลายเป็นหนึ่งในประเทศแรกในเอเชียที่เริ่มดำเนินโครงการฉีดวัคซีนแห่งชาติ

    กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ผลการสำรวจของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าประชาชนเกือบ 60% เต็มใจที่จะรับการฉีดวัคซีน แต่บางคนแสดงความลังเลเนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำในการติดเชื้อในสิงคโปร์ และกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีนที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

    นายหว่องกล่าวว่า จะทบทวนสอบข้อจำกัด สำหรับนักเดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อการประชุม WEF ซึ่งมักจะดึงดูดนักการเมือง นักธุรกิจและคนดังหลายพันคนจากทั่วโลก

    การชุมนุมประจำปีปกติจัดขึ้นที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ปีนี้ย้ายสถานที่เนื่องจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสในยุโรป

    เวียดนามกำหนดแผนงานด้านการลงทุน 13 ด้าน

    นายเจิ่น กว๊อก เฟือง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการวางแผนและลงทุน เวียดนาม ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/planning-investment-sector-sets-tasks-for-2021/194463.vnp
    กระทรวงการวางแผนและลงทุนได้ จัดทำแผนงานสำหรับปี 2021 ไว้ 13 ด้านโดยให้ความสำคัญกับมาตรการการสนับสนุนแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใน 2021-2025, การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการปรับรูปแบบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

    รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการวางแผนและลงทุน เจิ่น กว๊อก เฟือง ปิดเผยว่า กระทรวงฯจะจะเสนอร่างนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคต่างๆ ให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

    ในขณะเดียวกันจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบายการคลังและการเงิน รวมทั้งนโยบายด้านอื่นๆเพื่อส่งเสริมอุปสงค์โดยรวมลดความยุ่งยากให้กับภาคการผลิตและธุรกิจ ส่งเสริมการเติบโต การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ควบคุมเงินเฟ้อ และรักษาความสมดุลในด้านหลักๆ

    นอกจากนี้ยังได้ย้ำว่า จะมีการดำเนินการแผนการลงทุนระยะกลาง ปี 2021-25 ทันทีที่ได้รับการอนุมัติ ขณะเดียวกระทรวงจะทำการระดมทุนและใช้ทรัพยากรจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และมุ่งไปที่การใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจให้เต็มที่

    กระทรวงการวางแผนและลงทุน เตรียมเสนอมาตรการใหม่ในการเร่งรัดการปรับโครงสร้างภาคการบริการขนส่ง เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อีกทั้งจะเสริมสร้างความแข็งแก่ร่งในการเชื่อมโยงข้อมูล การปรับเปลี่ยนไปใช้เอกสารอิเล็กทรอนิคส์ ลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิคส์ การประชุมออนไลน์ และการเร่งรัดกระบวนการร่างอนุมัติแผนการสำหรับการวางแผนพัฒนาระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ระดับเมืองและชนบทในช่วงปี2021-2023 อีกด้วย

    พร้อมๆ กันนี้จะสนับสนุนการปรับโฉมภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนที่สำคัญอื่นๆ และอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ๆ ควบคู่ไปกับขยายความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสนับสนุนธุรกิจในภาคเอกชน

    นายเจิ่น กว๊อก เฟือง ยังเน้นว่า กระทรวงฯจะสนับสนุนการปฏิรูปรูปแบบการบริหารและกลไกการให้บริการแบบครบวงจรในที่เดียว เพื่อปรับปรุงคุณภาพของการบริการให้ดียิ่งขึ้น

    เวียดนามเพิ่มตรวจสอบบริษัท FDI ถ่ายโอนกำไร

    นิคมอุตสาหกรรม ทังลอง ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/companies/japan-s-sumitomo-to-expand-two-industrial-parks-in-vietnam-3988508.html

    กระทรวงการคลังของเวียดนามเปิดเผยว่า จำนวนของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น แต่ว่าจำนวนบริษัทที่รายงานผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน และผลประกอบการของบริษัทต่างชาตินั้นยังไม่มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากรัฐบาล

    จากรายงานที่จัดทำโดยใช้ข้อมูลงบการเงินในปี 2019 พบว่า จำนวนบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้นจากปี 2018 รายงานยังระบุว่ารายได้ของบริษัทเหล่านี้สูงถึง 7.18 พันล้านล้านด่อง (ประมาณ 312.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วจำนวน 720 ล้านล้านด่อง มีสินทรัพย์รวม 7.7 พันล้านล้านด่อง มากกว่าปีก่อนหน้า 981 ล้านล้านด่อง มีกำไรก่อนภาษี 387 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้น 29 ล้านล้านด่อง และกำไรสุทธิ 324.4 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้น 19.5 ล้านล้านด่อง

    เมื่อเทียบกับปี 2018 รายได้เพิ่มขึ้น 11.2% สินทรัพย์รวมเพื่มขึ้น 14.5% กำไรก่อนภาษีเพิ่มขึ้น 8.2% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 6.4%

    รายงานของกระทรวงการคลังชี้ว่า บริษัท 9,494 แห่งหรือ 45% ของการลงทุนจากต่างชาติสามารถทำกำไรได้ในปี 2019 ขณะที่บริษัทที่เหลือ 12,455 แห่งกลับประสบภาวะขาดทุนมากถึง 131 พันล้านล้านด่อง

    รายงานแสดงให้เห็นว่า รายได้ของปี 2019 มีจำนวน 846.8 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้น 12.7% จากปี 2018 แต่ผลกำไรกลับลดลง ในช่วงปลายปี 2019 บริษัทต่างชาติทั้งหมด 14,822 แห่งมียอดขาดทุนรวมกันมากกว่า 520.7 ล้านล้านด่องตามงบการเงิน โดยมีการประเมินว่าการใช้สินทรัพย์และเงินลงทุนของบริษัทต่างชาติมีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่ำ โดยมีหลายบริษัทที่ยังไม่ได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่

    รายงานของกระทรวงการคลังยังกล่าวระบุว่า “เป้าหมายการทำกำไรของบางอุตสาหกรรมยังคงติดลบ การใช้จ่ายเงินลงทุนไม่สอดคล้องกับสิ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ จำนวนบริษัทต่างชาติที่ทำกำไรได้มีสัดส่วนที่ลดลง ขณะที่มีบริษัทจำนวนมากมีผลขาดทุนสูงและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี”

    ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้ชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ของการถ่ายโอนกำไรของกลุ่มบริษัทและการหลีกเลี่ยงภาษี ในบริษัทต่างชาติบางแห่งโดยระบุว่า“บริษัทๆมักรายงานผลขาดทุน และขาดทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ยังขยายการผลิต และธุรกิจกับรายได้ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี”

    ก่อนหน้านี้งานวิจัยกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในเวียดนาม ของสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์และนโยบายแห่งเวียดนาม (Vietnam Institute for Economics and Policy Research :VEPR) ระบุว่า การสูญเสียภาษีประจำปีจากบริษัทต่างชาติสูงถึง 8 ล้านล้านด่องหรือ 4-4.5% ของรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล

    เหงียน ฮวง หวัญ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า วิธีการทั่วไปในการถ่ายโอนกำไรของกลุ่มบริษัทและการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัท FDI คือ การแจ้งราคาสินค้ากับวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายการบริหาร งานด้านเทคนิคและบริการกฎหมายภายในกลุ่มในระดับสูง

    การถ่ายโอนกำไรของกลุ่มบริษัทยังทำได้โดยการกู้ยืมจาก บริษัทแม่หรือ บริษัทในเครือที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อให้สามารถโอนผลกำไรไปต่างประเทศได้

    เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงการคลังระบุว่า จะสั่งมอบแนวนโยบายให้กรมสรรพากรและหน่วยงานภาษีท้องถิ่น เสริมสร้างการตรวจสอบบริษัทที่เข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีสัญญาณว่าจะมีการถ่ายโอนกำไร

    กรมสรรพากรระบุว่า กฎหมายฉบับที่ 132/2020 ที่บัญญัติการควบคุมการบริหารภาษีสำหรับองค์กรที่มีธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคมปีที่แล้ว จะเป็นมาตรการที่เข้มแข็งในแก้ไข้ปัญหาการถ่ายโอนกำไรในเวียดนาม

    ข้อมูลจากกรมสรรพากร พบว่า ในบรรดาบริษัทประมาณ 16,500 แห่งที่มีความสัมพันธ์กันนั้น มีบริษัทกว่า 8,000 แห่งมีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง และเป็นบริาัทต่างชาติในสัดส่วนกว่า 83%

    เหงียน ทันห์ ตุง ผู้อำนวยการ บริษัท กฎหมาย ICC กล่าวว่า “กฎหมายฉบับที่ 132 ได้เพิ่มบทบัญญัติสำหรับ บริษัทข้ามชาติในการรายงานผลกำไรระหว่างประเทศ” เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกับแนวปฏิบัติสากล

    ปัจจุบันการยื่นงบกำไรข้ามแดนโดย บริษัทแม่มาจากข้อตกลงของสมาชิก (Base Erosion and Profit Shifting:BEPS) และกฎหมายฉบับที่ 132 มีข้อบังคับโดยละเอียดในกรณีที่ผู้เสียภาษีกับ บริษัทแม่ในต่างประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยต้องจัดทำรายงานผลกำไรระหว่างประเทศต่อหน่วยงานด้านภาษี

    “เวียดนามควรศึกษาและนำมาตรการต่อต้านการหลีกเลี่ยงและหลีกเลี่ยงภาษีที่ใช้ในประเทศอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น การเพิ่มค่าปรับและเพิ่มคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ภาษีเพื่อจัดการกับปัญหานี้”

    ในประะเด็นนี้ เล ดัง ซแวง นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า “กระทรวงการคลังจำเป็นต้องตรวจสอบและเผยแพร่กรณีตัวอย่างของการถ่ายโอนกำไรต่อสาธารณะ” และกล่าวเสริมว่า“ เวียดนามจำเป็นต้องดึงดูด FDI แต่ไม่จำเป็นต้องยอมเสียไปทุกอย่าง หรือปิดตาไม่มองความผิดพลาดของบริษัท FDI บางแห่ง”

    หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานเฉพาะด้านของประเทศที่ บริษัท FDI ตั้งอยู่ เพื่อตรวจสอบและทำให้ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงชัดเจน

    โฮจิมินห์สั่งจำกัดตึกสูงให้อยู๋เฉพาะในเขตเมืองด้านใน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/news/hcmc-to-limit-skyscrapers-in-inner-districts-4217666.html
    เทศบาลนครโฮจิมินห์ประกาศ ไม่อนุญาตให้มีการสร้างตึกสูงใน 7 เขตของเมือง หากไม่มีแผนทางเทคนิคและโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม (Social infrastructure) ที่เหมาะสม

    แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 10 ปี (2020-30)ของนครโฮจิมินห์ จำกัดให้มีการสร้างตึกสูงอยู่แค่เฉพาะในเขต 1, 3, 4, 5, 6, 11 และเขตฟูญวน

    เขตที่ 1 และ 3 เป็นเขตใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ส่วนเขตที่เหลือนั้นพบว่ามีจำนวนประชากรลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

    สำนักงานก่อสร้างของเทศบาลรายงานว่า การตัดสินใจจำกัดจำนวนตึกสูงในเขตทั้ง 7 มาจากความต้องการสร้างโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ เขตกลับไม่สอดคล้องกันกับความต้องการ อีกทั้งในปัจจุบัน เขตดังกล่าวแทบไม่เหลือพื้นที่เพียงพอสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคใหม่ๆ ในอนาคต

    ผู้บริหาร คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้มาเป็นเวลาหลายปี และพบว่า ตึกสูงเหล่านี้มักเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รวมทั้ง โครงการคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า หรืออาคารสำนักงานไว้ด้วยกัน ทำให้คนมารวมตัวกันในเขตด้านในของเมืองมากขึ้น และส่งผลให้การจราจรหนาแน่น

    ตัวอย่าง พื้นที่ยาวประมาณ 2 กิโลเมตรตรงบริเวณถนนเบน วาน ด็อง ในเขต 4 ติดกับเขต 1 จะมีการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าสูง และสำนักงานออฟฟิศให้เช่าสูง 12 ชั้น รวมพื้นที่หลายหมื่นตารางกิโลเมตร ในอีก 5 ปีข้างหน้า

    ข้อมูลจากทางการแสดงให้เห็นว่า นครโฮจิมินห์คาดว่าจะมีจำนวนประชากร 10.1 ล้านคนภายในปี 2025 ซึ่งความต้องการที่อยู่อาศัยก็จะเพิ่มขึ้นตามไปที่ประมาณ 81 ล้านตารางเมตร และประมาณ 68 ล้านตารางเมตรในอีก 5 ปีต่อไป

    กัมพูชาเร่งจัดทำร่างกฎหมายสิ่งปฏิกูลน้ำเสีย

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/national/ministry-review-bill-sewage-wastewater

    กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กำลังดำเนินการเพื่อเร่งจัดทำร่าง กฎหมายเกี่ยวกับน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล

    กระทรวงคาดว่า ร่างกฎหมายนี้จะช่วยป้องกันการระบายน้ำเสียโดยไม่ได้รับอนุญาต และปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียในประเทศพร้อมกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งปฏิกูลอย่างมีนัยสำคัญ

    เมื่อวันที่ 6 มกราคม เขม โบเรย์ ปลัดกระทรวงและรองหัวหน้าคณะทำงานของกระทรวงเป็นประธานการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมาย โดยกล่าวว่า ที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับมาตรา 30 ของร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขและกำหนดถ้อยคำให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการตีความที่ผิดในระหว่างการดำเนินการ

    “เราต้องการให้มีการประชุมเพื่อทบทวนร่างกฎหมายมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากกรกระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในต้นปีนี้ทีมของเรากำลังดำเนินการตรวจสอบร่างกฎหมายต่อไป”

    นอกจากนี้ยังสั่งให้คณะทำงานปรับขั้นตอนการประชุมเพื่อเร่งการจัดทำกฎหมาย

    ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกกระทรวง พัล จันดารากล่าวว่า กัมพูชาจำเป็นต้องมีกฎหมายนี้เพื่อดำเนินการจัดการน้ำเสียอย่างถูกต้องเนื่องจากการไม่มีการจัดการน้ำเสียมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ เนื่องจากประเทศกำลังมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นในภาคการก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน

    จันดารากล่าวว่า กระทรวงหวังว่า จะมีการมีส่วนร่วมจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง ทนายความและภาคประชาสังคมมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ากฎหมายนี้มีผลบังคับใช้

    “ขั้นตอนปัจจุบัน เรากำลังทำงานภายในคณะทำงานของกระทรวง และจะยังคงมีการประชุมเพื่อรับข้อมูลจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง ร่างกฎหมายนี้จะต้องมีความชัดเจนโดยกำหนดมาตรฐานที่ยอมรับได้ [สำหรับการจัดการน้ำเสีย] ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ได้นำมาใช้ [เพื่อสร้างความแน่นอนด้านกฎระเบียบสำหรับนักลงทุนและนักพัฒนา]

    “ประเทศของเรามีหน่วยงานทั่วไปในการจัดการปัญหาเหล่านี้ แต่เรายังไม่มีกฎหมายสักฉบับ ”

    เหม อุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวชื่นชมการจัดตั้งกฎหมายนี้ ที่การพิจารณาค้างคามานาน

    ปัจจุบันระบบจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลที่กัมพูชายังคงใช้อยู่นั้น เป็นสิ่งที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมฝรั่งเศส และมีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นที่น่ากังวล เมื่อปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการจัดการระบบน้ำเสียหรือสิ่งปฏิกูล อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น หากน้ำเสียไหลลงสู่ทะเลสาบหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คน

    “ เช่นเดียวกับในพนมเปญเราจะเห็นว่าทุกครั้งที่น้ำท่วม น้ำจะไหลช้าลงซึ่งอาจบ่งบอกได้ว่ามีตะกอนสิ่งปฏิกูล รัฐบาลควรพิจารณาร่างกฎหมายให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดเพื่อที่จะได้เริ่มบังคับใช้โดยเร็วที่สุด”

    อุดมหวังว่า เมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ เจ้าหน้าที่จะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในการจัดการระบบเหล่านี้จากบนลงล่าง และกำหนดว่ากระทรวงหรือหน่วยงานใดที่มีอำนาจสูงสุดในกรรับผิดชอบจัดการปัญหานี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในระบบราชการ