ASEAN Roundup ประจำวันที่ 23-30 กรกฎาคม 2565
กัมพูชาเปิดตัว Cambodia My 2nd Home ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมมีการเปิดตัวโครงการ Cambodia My 2nd Home (CM2H) ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมโดยกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชาเพื่อให้ชาวต่างชาติที่เป็นนักลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและสถานที่พักผ่อนสามารถพำนักอยู่ในกัมพูชาด้วยวีซ่าพิเศษอายุ 10 ปี และผู้ที่ได้รับ CM2H สามารถยื่นขอหนังสือเดินทางกัมพูชาได้หลังจาก 5 ปีที่นับว่าเป็นช่องทางเดียวในการยื่นขอหนังสือเดินทางกัมพูชาโครงการ CM2H เปิดกว้างสำหรับทุกประเทศที่กัมพูชายอมรับโดยมีข้อกำหนดด้านการลงทุนและการเงินบางประการ ผู้ที่ยื่นขอและได้รับอนุญาตสามารถเดินทางเข้าหรือออกกัมพูชาโดยไม่มีข้อจำกัด
Khmer Home Charity Association เป็นผู้ดำเนินโครงการ CM2H โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย แต่เพียงผู้เดียว มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
โครงการมุ่งเน้นไปหลายด้าน รวมถึงการขจัดบริษัทตัวกลางที่ไม่ได้รับอนุญาต การฟื้นฟูการพัฒนาเศรษฐกิจ และการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชา
ผู้ยื่นขอเข้าโครงการ CM2H จะได้ประโยชน์จากมาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยและทำธุรกิจ ซึ่งรวมถึงวีซ่าเข้าและออกโดยไม่มีข้อจำกัดระยะเวลา 10 ปี
รวมทั้งจะได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิก Khmer Home Charity Association ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยพร้อมการได้รับการประกันชีวิตในประเทศและการรักษาพยาบาลแบบวีไอพี ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ นอกจากนี้ หลังจากครบ 5 ปี จะมีสิทธิ์ยื่นขอหนังสือเดินทางกัมพูชาและได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
กัมพูชามีการพัฒนาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ 1990 โดย GDP เติบโต ต่อปีเฉลี่ย 7% ในขณะที่ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 138 เท่า
ในปี 2019 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่า 3.49 พันล้านดอลลาร์ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 115% เป็น 7.59 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ติดอันดับสูงที่สุดในโลก โดยจีน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และสหรัฐอเมริกาติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่น่าลงทุนในกัมพูชาในปี 2020 และกัมพูชายังมีมาตรการทางเศรษฐกิจอีกมากเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามามากขึ้น
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของหลายประเทศประสบปัญหาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 กัมพูชายังคงสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ดี
ธนาคารต่างประเทศและแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่หลายแห่งต่างเห็นถึงข้อได้เปรียบในการเข้ามาดำเนินธุรกิจในกัมพูชา โดยเฉพาะในช่วงสองปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการเงินมีการไหลเข้ากรุงพนมเปญจำนวนมาก
นอกจากนี้มีหลายเหตุผลที่ทำให้กัมพูชาเป็นสถานที่ที่น่าอยู่และน่าอยู่รวมทั้งทำงาน ได้แก่สถาบันการศึกษาชั้นนำและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการดูแลสุขภาพที่ได้มาตรฐานระดับสากล ตลอดจนมีโรงเรียนเอกชนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในหลายแห่ง และโรงเรียนนานาชาติอันดับต้นๆ
สำหรับมหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่ Royal University of Phnom Penh ในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีสถาบันที่มีชื่อเสียงมากมายจากประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักรและสิงคโปร์
ภาคการแพทย์ของกัมพูชายังมีมาตรฐานการดูแลระดับสากลและอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของรัฐบาล
ตามรายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก(WHO) ปัจจุบันมีโรงพยาบาลของรัฐประมาณ 1,400 แห่งและโรงพยาบาลเอกชน 5,500 แห่งในกัมพูชา รวมถึงโรงพยาบาลพนมเปญรอยัลที่มีชื่อเสียงและโรงพยาบาลซันไชน์ของญี่ปุ่น
การเปิดตัว Cambodia My 2nd Home เป็นการนำเสนอโฉมหน้าใหม่ของความสำเร็จในกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ และเปิดโอกาสอย่างมาก
กัมพูชาดึงการลงทุน 3 พันล้านดอลลาร์ครึ่งปีแรก
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาดึง การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรได้ถึง 3 พันล้านดอลลาร์ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อแนวโน้มการเติบโตของประเทศสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา(Council for the Development of Cambodia ) รายงานการลงทุนว่ามี 98 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวม 2.99 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนของปีนี้ เพิ่มขึ้น 29 ล้านดอลลาร์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
โครงการลงทุนจากในประเทศมีมูลค่าการลงทุนรวม 1.59 พันล้านดอลลาร์คิดเป็น 53.23% ของการลงทุนทั้งหมด ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศจากประเทศจีนมีมูลค่า 1.29 พันล้านดอลลาร์คิดเป็น 43.02%
การลงทุนจากต่างประเทศอื่น ๆ ในราชอาณาจักรในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ ไทย ซามัว หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ หมู่เกาะเคย์แมน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของทั้งโครงการลงทุนและมูลค่าสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อรัฐบาลกัมพูชา หลังจากที่กลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอีกครั้งหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น
นายเฮงมองว่า การเติบโตของภาคการลงทุนมาจากความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงทางสังคม โดยเฉพาะการควบคุมโรคโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จด้วยจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนสูง
“การกลับมาของกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้มาลงทุนในประเทศ”
“กัมพูชาจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น เพราะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมองเห็นศักยภาพของสิทธิพิเศษทางการค้าที่ประเทศมี เช่น RCEP, FTA ระหว่างกัมพูชา-จีน, FTA ระหว่างกัมพูชา-เกาหลี และการใช้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่”
ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีนี้
นายเฮง กล่าวว่า เงื่อนไขทางการค้าใหม่ๆภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่รัฐบาลได้วางแผนที่จะจัดทำร่วมกับประเทศคู่ค้าจะช่วยกระตุ้นการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ และการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกัมพูชาไปยังตลาดที่กว้างขึ้น
โครงการลงทุนมุ่งเน้นไปที่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร การผลิต การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน
การเติบโตของการลงทุนสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ นายซก เจนดา โสพา เลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา กล่าว
“การเพิ่มขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาจากการดำเนินการของรัฐบาล ซึ่งควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ ด้วยการใช้วัคซีนเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทำให้กัมพูชาสามารถกลับมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วนได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ”
เฮง ซกกุง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานที่เพียงพอมีส่วนสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในกัมพูชา
“รัฐบาลได้สร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งที่ดีขึ้น เพิ่มพลังงานให้เพียงพอและน้ำสะอาดเพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่การผลิต สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนลงทุนในกัมพูชา”
กัมพูชาจะเริ่มใช้ประกันภัยรถภาคบังคับ
กัมพูชาจะเริ่มใช้ประกันภัยรถภาคบังคับกับรถยนต์ทุกประเภทในเร็วๆนี้ เพื่อผู้ประสบภัยจากการจราจรได้รับการชดเชยจากอุบัติเหตุ
การใช้ประกันภัยภาคบังคับสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ทำให้กัมพูชาเป็นประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่มีนโยบายดังกล่าว
นายรส สิลวา ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน และรองประธานสำนักงานกำกับดูแลสถาบันการการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ยืนยันระหว่างการร่วมงานวันประกันภัย 2022
“รัฐบาลจะเริ่มใช้การประกันภัยรถยนต์ส่วนบุคคลภาคบังคับ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการประกันภัยและเจ้าของรถต่อสังคมผ่านการประกันภัยชดเชยให้ผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุได้รับการชดเชย”
การใช้การประกันภัยรถยนต์ส่วนบุคคล จะช่วยให้ภาคการประกันภัยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการประกันภัยนี้จะช่วยให้ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ได้รับการรักษาพยาบาลและชดเชยทางการเงิน และระบบประกันรถยนต์ส่วนบุคคลภาคบังคับนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างและขยายระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม
ปัจจุบันตลาดประกันภัยของกัมพูชามีสินทรัพย์รวมประมาณ 851 ล้านดอลลาร์ เงินกองทุนผู้ถือหุ้นประมาณ 369 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานเต็มเวลาเกือบ 4,000 ตำแหน่ง และงานพาร์ท-ไทม์มากกว่า 10,000 ตำแหน่ง
อุตสาหกรรมประกันภัยของกัมพูชามีพัฒนาการที่โดดเด่นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี
ปัจจุบันกัมพูชามีบริษัทประกันทั่วไป 18 แห่ง บริษัทประกันชีวิต 14 แห่ง บริษัทประกันภัยขนาดเล็ก 7 แห่ง และบริษัทประกันภัยต่อ 1 แห่ง รวมทั้ง 18 แห่ง นายหน้าประกันภัย ตัวแทนองค์กร 34 แห่ง และผู้เจรจาตกลงค่าสินไหมทดแทน(loss adjuster) 2 ราย
เวียดนามหนึ่งในประเทศเติบโตเร็วที่สุดปี 2030
เวียดนามจะเป็นหนึ่งใน ประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในทศวรรษหน้าจากการประเมินการเติบโตรอบใหม่ใน The Atlas of Economic Complexityนักวิจัยจาก Growth Lab แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คาดการณ์ว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในปี 2030
การวิจัยพบว่า ประเทศที่กระจายการผลิตไปสู่ภาคส่วนที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น เวียดนามและจีน เป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตเร็วที่สุดในทศวรรษหน้า
นักวิจัยคาดการณ์ว่า เมื่อผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 หมดไป การเติบโตในระยะยาวจะเริ่มต้นขึ้นในเอเชีย ยุโรปตะวันออก และแอฟริกาตะวันออก
นักวิจัยของ Growth Lab ยังได้ รายงานการจัดอันดับประเทศรอบใหม่ภายใต้ดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ (Economic Complexity Index:ECI) ซึ่งประเมินจากความหลากหลายและความซับซ้อนของความสามารถในการผลิตที่ฝังอยู่ในการส่งออกของแต่ละประเทศ
แม้จะมีการหยุดชะงักทางการค้าจากการระบาดใหญ่ แต่การจัดอันดับความซับซ้อนทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังคงมีเสถียรภาพ โดยพบว่า ประเทศที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในโลกยังไม่เปลี่ยนแปลงโดยมีญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สาธารณรัฐเกาหลี และสิงคโปร์อยู่ในอันดับต้นๆ
ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในการยกระดับความซับซ้อน ได้แก่ เวียดนาม (51) กัมพูชา (72) ลาว (89) และเอธิโอเปีย (97)
หลายประเทศในเอเชียที่มีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจช่วยการขับเคลื่อนการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในทศวรรษหน้า นำโดยจีน กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ส่วนในแอฟริกาตะวันออก คาดว่าเศรษฐกิจหลายแห่งจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะขับเคลื่อนโดยการเติบโตของประชากรมากกว่าความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงยูกันดา แทนซาเนีย และโมซัมบิก
เมื่อประเมินจากรายได้ต่อหัวประชากร ยุโรปตะวันออกมีศักยภาพในการเติบโตที่แข็งแกร่งที่จะก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในด้านความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ โดยที่จอร์เจีย ลิทัวเนีย เบลารุส อาร์เมเนีย ลัตเวีย บอสเนีย โรมาเนีย และแอลเบเนีย ล้วนจัดอยู่ใน 15 อันดับแรกของเศรษฐกิจที่เติบโตสูงเมื่อเทียบรายได้ต่อหัวประชากร
ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ MoU dual listing กับตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์หรือ SGX Group และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ประกาศความร่วมมือในหลายด้านรวมถึงการจดทะเบียนพร้อมกันทั้งสองตลาด (dual listing)SGX Group ตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของเอเชีย และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Intercontinental Exchange, Inc. ผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านข้อมูล เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานตลาด ได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่เพื่อร่วมมือในด้าน dual listing ของทั้งสองตลาดและทำงานร่วมกันในด้านสำคัญอื่นๆ ที่เน้นตลาดทุน
ความร่วมมือนี้แสดงถึงความคิดริเริ่มที่สำคัญของทั้งสองตลาด โดย Loh Boon Chye ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SGX Group และ Lynn Martin ประธานบริษัท NYSE เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ
ความร่วมมือของทั้งสองตลาดมุ่งเน้นในด้าน
Loh Boon Chye ซีอีโอของ SGX Group กล่าวว่า “ข้อตกลงนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสนใจร่วมกันของ SGX Group และ NYSE ในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่มากขึ้นระหว่างสองตลาด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกันมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเงินทุนและการพัฒนาโซลูชั่นการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของผู้เล่นในตลาดและนักลงทุน”
Lynn Martin ประธานของ NYSE กล่าวว่า “การร่วมมือระหว่าง NYSE และ SGX Group นี้สร้างการเชื่อมต่อใหม่ที่สำคัญระหว่างภูมิภาคที่น่าตื่นเต้นที่สุดในโลกสองแห่งและตลาดหลักทรัพย์สองแห่งที่มีนวัตกรรมมากที่สุด ข้อตกลงของเราจะทำให้ผู้ออกหลักทรัพย์เข้าถึงโอกาสมากขึ้น รวมทั้งผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในด้านที่มีความต้องการสูง เช่น ESG”
Dual listings ระหว่าง SGX Group และ NYSE จะมีประโยชน์ต่อผู้ออกหลักทรัพย์ โดยช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนในตลาดสำคัญ ๆ นอกภูมิภาคของตน ข้อตกลงดังกล่าวยังอนุญาตให้ทั้งอสงตลาดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนและกลุ่มนักลงทุน และประสานการดำเนินการเพื่อการปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนแบบ Dual listings
ตลาดหุ้นสิงคโปร์-อินเดียเริ่มซื้อขายตราสารอนุพันธ์ข้ามแดน
ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์(Singapore Exchange Ltd.:SGX Group) ตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติ(National Stock Exchange of India Ltd.:NSE)ประกาศเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมว่า NSE IFSC-SGX Connectพร้อมให้สถาบันระดับโลกซื้อขายตราสารอนุพันธ์อ้างอิงของ Nifty(ดัชนีของ บริษัท 50 อันดับแรกที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติ (NSE) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงนักลงทุนทั่วโลกเข้ากับอินเดีย
NSE IFSC-SGX Connect เปิดตัวอย่างเป็นทางการโดยนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย นเรนทรา โมดี พร้อมด้วยตัวแทนคณะรัฐมนตรี และนาย Loh Boon Chye ซีอีโอของ SGX Group
NSE IFSC-SGX Connect เป็นนวัตกรรมสำหรับนักลงทุนต่างชาติในการมีส่วนร่วมการเติบโตของอินเดีย ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานการซื้อขายที่เป็นเอกลักษณ์ของ SGX Group ใน Gujarat International Finance Tech City หรือ GIFT(หนึ่งในสี่แผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของอินเดีย ในรัฐคุชราต) นักลงทุนในอินเดียและทั่วโลกสามารถซื้อขายสัญญา Nifty ที่จดทะเบียนใน NSE IFSC ได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพด้วยมาตรฐานการจัดการความเสี่ยงและการหักบัญชีระดับโลก นักลงทุนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลตลาด NSE IFSC แบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย
NSE IFSC-SGX Connect ช่วยให้คำสั่งซื้อจากสมาชิกของ SGX Group ถูกส่งไปยัง NSE IFSC สำหรับการซื้อขายและดำเนินการ ด้วยการหักบัญชีและการชำระบัญชีผ่าน NSE IFSC Clearing Corporation Ltd. และ Derivatives Clearing ของ SGX Group ในฐานะคู่สัญญาส่วนกลาง
สำหรับสมาชิกที่เริ่มให้บริการแล้วและจะจะทะยอยให้บริการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าได้แก่ Deutsche Bank AG,Morgan Stanley Asia (Singapore) Securities Pte Ltd.,OCBC Securities Private Limited,Orient Futures International (Singapore) Pte. Ltd., Phillip Nova Pte. Ltd.,StoneX Financial Pte. Ltd.,UBS AG
Loh Boon Chye ซีอีโอของ SGX Group กล่าวว่า “การเปิดตัว Connect เป็นก้าวที่สำคัญสำหรับ SGX Group และ NSE และทำให้ก้าวไปอีกขั้นในการเพิ่มสภาพคล่องในประเทศและต่างประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์ Nifty ให้มากขึ้น และมั่นใจว่า NSE IFSC-SGX Connect จะเป็นแพลตฟอร์มหลักที่เชื่อมต่อโลกกับอินเดีย ให้นักลงทุนทั่วโลกเข้าถึงตลาดทุนของอินเดียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”
Ashishkumar Chauhan ซีอีโอของ NSE กล่าวว่า ” NSE IFSC-SGX Connect จะเพิ่มสภาพคล่องสำหรับผลิตภัณฑ์ Nifty ใน NSE IFSC และจะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึง GIFT City สำหรับผู้เล่นจากตลาดทั่วโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมระบบนิเวศของตลาดทุน IFSC และเป็นก้าวสำคัญในการทำให้ GIFT City เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกด้านธุรกรรมตลาดทุน”
NSE IFSC-SGX Connectคล้ายกับการเชื่อมต่อระหว่างฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถซื้อขายหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอินเดียในท้องถิ่น แทนการซื้อขายผ่านการแลกเปลี่ยนในสิงคโปร์เท่านั้นซึ่งได้อนุญาตก่อนหน้านี้