ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามส่งออกข้าวอนาคตสดใสจาก FTA กัมพูชางดสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง 10 ปี

ASEAN Roundup เวียดนามส่งออกข้าวอนาคตสดใสจาก FTA กัมพูชางดสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง 10 ปี

21 มีนาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 15-21 มีนาคม 2563

  • เลื่อนประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งที่ 36 หนีไวรัส
  • เวียดนามส่งออกข้าวอนาคตสดใสจาก FTA
  • สิงคโปร์แชมป์ค่าครองชีพสูงสุดสำหรับผู้บริหารต่างชาติ
  • กัมพูชาเล็งฟื้นสนามบินพระตะบอง
  • กัมพูชางดสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง 10 ปี
  • เลื่อนประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งที่ 36 หนีไวรัส

    การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ในกรุงเทพ
    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/4029

    การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 (36th ASEAN Summit and related meeting) ซึ่งมีผู้นำจากนานาชาติข้าร่วมด้วยนั้นได้เลื่อนออกไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 6-9 เมษายน 2563 เป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทรวงต่างประเทศเวียดนามแถลงเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

    เวียดนามทำหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

    กระทรวงต่างประเทศเวียดนามเปิดเผยว่า นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้แจ้งผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเรียบร้อยแล้ว

    การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 กำหนดจัดขึ้นที่เวียดนาม แต่ได้ยกเลิกหลังจาก เวียดนามประกาศเมื่อวันที่ 17 มีนาคมว่าจะให้ชาวต่างชาติจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปและอาเซียนที่เดินทางเข้าประเทศกักตัว 14 วัน และระงับการออกวีซ่าให้กับชาวต่างชาติทุกประเทศไว้ชั่วคราว

    เวียดนามส่งออกข้าวอนาคตสดใสจาก FTA

    ที่มาภาพ: https://vietnamnet.vn/en/business/what-are-the-prospects-for-rice-exports-in-2020-624429.html

    การส่งออกข้าวของเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่า และมีโอกาสมากขึ้น จากการทำข้อตกลงการค้าเสรี free trade agreements (FTAs) หลายฉบับ ซึ่งจะเริ่มมีผลใช้แล้ว ขณะเดียวกันความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยความมั่นคงด้านอาหารหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก

    ใน 2 เดือนแรกของปี 2563 นี้ เวียดนามส่งออกข้าวราว 900,000 ตันมูลค่ารวม 410 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 27% ในด้านปริมาณส่วนราคาเพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดเผยของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท หรือ Ministry of Agriculture and Rural Development (MARD)

    ราคาส่งออกเฉลี่ยเดือนมกราคมอยู่ที่ 478 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยที่ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่มีสัดส่วนถึง 31% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ขณะเดียวกันตลาดโมซัมบิกและแองโกล่าขยายมากขึ้น

    ฟาน ซวน ฉี ผู้บริหารของ Vietnam Northern Food Corporation เปิดเผยว่า หลังจากพ้นรุษจีนในปลายเดือนมกราคม ตลาดข่าวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ราคาทั้งส่งออกและราคาที่จำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 30 – 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพ

    โดยทั่วไปแลเวราคาข้าวมักจะขยับตัวรายไตรมาสหรือรายปี แต่ล่าสุดเปลี่ยนทุกสัปดาห์ในเดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำหรือ Mekong Delta ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรแหล่งใหญ่ของประเทศเพิ่งเก็บเกี่ยวในฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ

    สัญญานบวกเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเวียดนามมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าว 6.7 ล้านตันในมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

    การที่ราคาข้าวดีขึ้นในทุกช่องทางจำหน่าย เป็นผลจากการที่เวียดนามเปิดตลาดส่งออกข้าวเร็ว ธุรกิจได้ทำสัญญาขายปริมาณมากไปแล้วก็ต้องดำเนินการจัดหาข้าวมาส่งมอบ นอกจากนี้จีนซึ่งเคยครองตลาดอัฟริกาด้วยปริมาณ 3 ล้านตันต่อปี ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นโอกาสของข้าวเวียดนามในตลาดนี้

    ด้านความต้องการที่สูงของฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ก็เป็นอีกปัจจัยหนุนให้ราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่วนต่างราคาขายของเวียดนามกับไทยแคบลงและนำหน้าเมียนมากับอินเดียที่เป็นคู่แข่ง

    สำนักงานพัฒนาเกษตรแปรรูปและตลาด เปิดเผยว่า ความต้องการข้าวไทยทรงตัวเพราะภาวะภัยแล้งของไทยทำให้วิตกว่าจะกระทบต่อผลผลิต

    ราคาส่งออกข้าวเวียดนามมีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอรก เพราะยังต่ำกว่าผู้ผลิตรายอื่น อีกทั้งผู้บริโภคทั่วโลกซื้อข้าวมากขึ้น ขณะที่จีนไม่ได้เพิ่มการส่งออกด้วยเหตุผลความมั่นคงด้านอาหารเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

    การส่งออกข้าวของเวียดนามยังได้รับผลดีส่วนหนึ่งจากการปรับโครงสร้างภาคเกษตร ซึ่งผลต่อเนื่องให้ตลาดส่งออกมีการปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป บวกกับความสามารถในการแข่งขันของข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้น ในทุกองค์ประกอบของห่วงโซ่ทั้งการผลิต ปริมาณ การแปรรูปและการขนส่งที่ดีขึ้น

    อย่างไรก็ตามภาคเกตรรวมทั้งธุรกิจต้องติดตามตลาดใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลง และบรรลุเป้าหมายทั้งความมั่นคงด้านอาหารและเป้าหมายการส่งออก

    กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบน้อยต่อการส่งออกข้าวของเวียดนาม และมีโอกาสในการส่งออกไปอัฟริกาตะวันออก นอกจากนี้บริษัทส่งออกควรเร่งใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามได้ทำไว้กับสหภาพยุโรป ซึ่งใกล้จะเริ่มมีผลใช้แล้ว

    สิงคโปร์แชมป์ค่าครองชีพสูงสุดสำหรับผู้บริหารต่างชาติ

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/recreation-leisure/viewpoints/merlion-park/

    สิงคโปร์ยังครองตำแหน่งผู้นำด้านการเป็นประเทศที่ค่าครองชีพสูงสุดที่สุดสำหรับผู้บริหารบริษัทต่างชาติ ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 จากการสำรวจค่าครองชีพทั่วโลกของ(Economist Intelligence Unit:EIU) ประจำปี 2020

    ปีนี้สิงคโปร์มีค่าครองชีพสูงกว่านิวยอร์ก 2% ซึ่งเป็นเมืองที่ใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบ และมีค่าครองชีพสูงระดับเดียวกับโอซาก้า ในปีก่อนสิงคโปร์มีค่าครองชีพสูงกว่านิวยอร์ก 7% และสูงกว่าโอซาก้า 6%

    “แม้ปีนี้สิงคโปร์ได้รับแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและค่าเงินแข็งค่า แต่ก็ถูกถ่วงด้วยราคาสินค้าประเภทอื่นที่ลดลง เช่น ราคาอาหารในรภัตตาคาร และของใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ต” นายไซมน แบปติสต์ หัวหน้าเศรษฐกรระดับโลกของ EIU กล่าว

    ในปีนี้ราคาเฉลี่ยของขนมปังหนึ่งก้อนที่มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัมลดลงมาที่ 3.35 ดอลลาร์สหรัฐฯจาก 3.40 ดอลลาร์สหรัฐฯในปีก่อน ราคาเฉลี่ยของเบียร์ 1 ขวดลดลงมาที่ 2.25 ดอลลาร์สหรัฐฯจาก 2.37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนชุดสูท 2 ชิ้นของผู้ชาย และราคาค่าตัดผมผู้หญิงยังคงมีราคาเฉลี่ยเท่าเดิมคือ 1,167.14 ดอลลาร์สหรัฐฯและ 96.01 ดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ

    ในระดับโลกผลสำรวจพบว่าค่าครองชีพลดลง 4% โดยเฉลี่ยทั้ง 133 ประเทศที่มีการสำรวจ ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบต่อค่าเงินจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ความไม่แน่นอน และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมทั้งการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ

    ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคเช่น เทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย เงินยูโรและเงินหยวนของจีน ส่งผลให้เมืองที่ใช้เงินสกุลดังกล่าวมีค่าค่องชีพลดลงเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ในปีก่อนเงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าครองชีพจึงถูกกว่าเมืองในสหรัฐ

    ผลสำรวจยังพบว่าเอเชียหากมองทั้งทวีปมีค่าครองชีพแตกต่างกัน แม้อันดับสูงๆจะมาจากเมืองที่เป็นศูนย์กลางต่างๆของเอเชีย แต่เอเชียมีสัดส่วนมากในเมืองที่มีค่าครองชีพแพงต่ำสุดถึง 10% ของการจัดอันดับ โดยที่มีเมืองจากอินเดียและปากีสถานถึง 4 เมืองในกลุ่มนี้

    แม้ประชากรจะเพิ่มขึ้นเร็วและเศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็ว แต่เอเชียใต้ยังคงมีค่าครองชีพต่ำ เป็นผลจากค่าจ้างต่ำและมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูง จึงเป็นข้อจำกัดของการใช้จ่ายของครัวเรือนประกอบกับค้าปลีกมีการแข่งขันสูง ทำให้ราคาไม่สามารถปรับขึ้นได้

    การสำรวจค่าครองชีพมีขึ้นปีละ 2 ครั้งโดยสำรวจราคาสินค้าบริหารมากกว่า 400 ชิ้นจาก 160 ผลิตภัณฑ์ จากการเก็บตัวอย่างจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านที่ขายในราคาทั่วไปและร้านขายสินค้าเฉพาะที่มีราคาแพง

    กัมพูชาเล็งฟื้นสนามบินพระตะบอง


    สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมที่จะพัฒนาสนามบินพระตะบองขึ้นมาใหม่ ในเร็วๆนี้หลังจากที่ทิ้งร้างไว้นาน

    สมเด็จฮุนเซนกล่าวในการเปิดงานเทศกาลแข่งเรือครั้งที่ 6 ที่พระตะบอง พร้อมกับขอให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลอย่าให้มีการสร้างตึกสูงรอบๆสนามบิน เพราะจะมีผลกระทบต่อแผนการพัฒนาเป็นศูนย์สนามบินในอนาคต และสั่งให้ทำการศึกษาเพราะเชื่อว่ามีความต้องการบินเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ต้องมีการใช้ยานยนต์ทุกประเภทมากขึ้น

    นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ทั้ง สนามบิน รถไฟ ถนน ระบบน้ำสะอาด ไฟฟ้า โรงแรมและรีสอร์ตให้มีความเชื่อมโยงกัน

    สนามบินพระตะบองเปิดใช้งานครั้งแรกปี 1968 และเคยเป็นสนามบินที่การจราจรคับคั่งมากที่สุด แต่ได้หยุดใช้ในปี 1975 เมื่อเขมรแดงครองอำนาจ จากนั้นได้กลับมาเปิดใช้งานอีกครั้งสำหรับเครื่องบินพลเรือนจนถึงปลายทศวรรษ 1990s แต่ก็ไม่ได้ใช้เต็มที่

    สนามบินพระตะบองออกนอกเมืองไป 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 128.68 เฮกตาร์ ความยาวรันเวย์เกิน 1,600 เมตรเล็กน้อย

    กระทรวงท่องเที่ยวมองว่าพระตะบองยังมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

    “เมื่อถนนสาย 5 สร้างเสร็จ ก็จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากที่อื่นมห้มาพระตะบองมากขึ้น และหากสนามบินกลับมาเปิดใช้ใหม่ ก็จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและดึงนักท่องเที่ยว” ผู้ประกอบการเกสตเฮ้าส์รายหนึ่งให้ความเห็น

    กัมพูชางดสร้างเขื่อน 10 ปี

    เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 จังหวัดสตึงแตรง กัมพูชา ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50703680/ministry-no-new-dams-in-the-next-10-years/

    กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานยืนยันในวันที่ 19 มีนาคม 2563 ว่า ใน แผนแม่บทฉบับใหม่สำหรับปี 2563-2573 ไม่มีการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้ากระแสน้ำขึ้นใหม่ในแม่น้ำโขง

    ปลัดกระทรวงกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน นายวิกเตอร์ โจนา กล่าวว่า การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของผลการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment:EIA) ล่าสุดที่เพิ่งสรุปในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดของผลการศึกษา

    นายวิกเตอร์กล่าวว่า รัฐบาลได้ทบทวนนโยบายการพัฒนาพลังงานพร้อมกับพิจารณาความเป็นไปได้ของแนวทางอื่น เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานแสงอาทิตย์

    “แผนแม่บทที่ใช้ปี 2563-2573 ไม่ได้มีเรื่องการสร้างเขื่อนไฟฟ้ากระแสน้ำเลยสักแห่งเดียว เพื่อให้การพัฒนายั่งยืนในระยะยา เราได้ประเมินอย่างรอบคอบและถ้วนถี่ ที่จะจำกัดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม” นายวิกเตอร์กล่าว

    ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแผนที่จะสร้างเขื่อน 2 แห่งที่ อำเภอสมโบร์ จังหวัดเกราะแจ และจังหวัดสตึงแตรง แต่ได้รับเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย รวมทั้งกลุ่มชาวประมงท้องถิ่น กลุ่มเอ็นจีโอและนักสิ่งแวดล้อม

    เมื่อถามว่าการระงับไม่สร้างเขื่อนนี้เป็นแผนชั่วคราวหรือไม่ นายวิกเตอร์ตอบว่า การพัฒนาในอนาคตขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

    กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(World Wildlife Fund :WWF) ออกมาชื่นชมการตัดสินใจของรัฐบาล ที่ได้ยกเลิกการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำและพิจารณาพลังงานทางเลือกอื่นแทน