แรมโบ้บ้านสวน
ไม่ใช่แค่ 14 พฤษภาคมที่จะสำคัญกับประเทศไทย เพราะ 21 มิถุนายน 2566 จะเป็นอีกวันหนึ่งสำหรับประวัติศาสตร์ไทยเพราะเป็นวันตัดสินว่าไทยจะได้เป็นเจ้าภาพงานเอ็กซโประดับโลกเป็นครั้งแรกหรือไม่
มีคนไม่มากที่จะทราบว่าการที่ประเทศไทยไปเข้ารอบชิงกับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศที่ชำนาญมากอย่างสเปนในขณะนี้ มีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเรื่องความมั่นคงทางสาธารณสุข ซึ่งถูกพัฒนาต่อเนื่องเป็น Phuket Sandbox ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก และต่อยอดมาเป็นงานมหกรรมเอ๊กซโปที่มุ่งเน้นเรื่อง wellbeing
งานเอ็กซโปอาจจะนำชื่อเสียง รายได้จำนวนมากมาสู่ประเทศไทยแต่ไม่มีกลไกใด ๆ ที่จะเชื่อได้ว่าประชาชนทั่วไปจะได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งในปี 2561 ทำรายได้มากกว่า 3 ล้านล้านบาท
แต่รัฐไม่เคยพูดถึงประโยชน์ของประชาชน ไม่พูดถึงเงินลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวก ไม่พูดถึงทรัพยากรเสื่อมโทรม ไม่พูดถึงผลกระทบที่เกิดกับชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว
ฉะนั้นการท่องเที่ยวก็เป็นเพียงอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ด้วยพื้นฐานของตลาดทุนเสรี ที่นักลงทุนเข้าถีงทรัพยากรได้ง่ายและเร็วกว่า กุมธุรกิจได้มากกว่า
ในเวลาที่เกาะสมุย เกาะล้าน ไฟฟ้า ประปาไม่พอใช้ จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ตรงกันข้ามกับชุมชนห่างไกลที่มีปัญหาเดียวกัน แต่กลับถูกละเลย
การพัฒนาประเทศที่มองเห็นแต่ภาพใหญ่ จึงทำให้หลายประเทศ และประเทศไทยด้วย ที่สร้างความเจริญเติบโตไปขยายความเหลื่อมล้ำ จนวันหนึ่ง พัฒนามาเป็นความแตกแยกในสังคมจนยากจะย้อนกลับ
เวลาพูดถึงเศรษฐกิจ เราดูจีดีพี จีพีพี ดูการส่งออก การนำเข้า ตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่เมื่อหันมาดูเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราดูดัชนีจีนี แล้วก็เห็นคล้ายกัน คือคนรวยสุดกับคนจนสุดห่างกัน 20 กว่าเท่าและมีแนวโน้มที่จะถ่างมากขึ้น
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราจะมองเศรษฐกิจมวลรวมอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองหรือไร้ปัญญาที่จะสร้างความเติบโตและหมุมในพื้นที่ที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของ ชุมชนได้ประโยชนฺสูงสุด
การพัฒนาที่มองแต่ภาพใหญ่จึงไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดคนมั่งคั่งกลุ่มน้อย บนความทุกข์ของคนส่วนใหญ่ แล้วรัฐก็เลือกที่จะพยุงสถานการณ์ด้วยการแจกเงิน
แต่นอกจากเรื่องเอ็กซโปแล้ว ยังมีรถไฟความเร็วสูงจากจีนผ่านไทยไปสิงคโปร์ ที่เราไม่ได้ถามตัวเองว่าการลงทุนโครงการใหญ่ ๆ แบบนี้จะสร้างประโยชน์สูงสุดและกระจายไปสู่ชาวบ้านอย่างไร
ในทางตรงกันข้าม ทางรถไฟสายนี้ได้แปลงเมืองยากจนอย่างสิบสองปันนาของจีนให้เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าชายแดนทางบกกับอาเซียน รองรับสินค้าจากไทย ลาว เขมร เวียดนาม เพราะมีแนวคิดตั้งแต่เริ่มต้นว่ารถไฟจะสร้างอะไรได้บ้าง มีอะไรต้องทำเพื่อจะไปถึงเป้าหมาย
การพัฒนาเชิงพื้นที่ area-based development ยังเป็นสิ่งใหม่ที่เสนอแนวคิดในการพัฒนาโดยมุ่งแก้ปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่
เป็นแนวทางแบบฟังเสียงคน จากล่างขึ้นบน ซึ่งถ้าประสานเข้ากับวัฒนธรรมแบบบนลงล่างได้ ก็จะช่วยดันการพัฒนาของไทยได้อย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบันมีการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่เกิดจากงานวิจัยของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ สร้างต้นแบบที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาอย่างมากมาย โดยความร่วมมือกันของสถาบันการศึกษา ชุมชน และภาคีในพื้นที่ ไม่มุ่งต้องใช้ทุน แต่ต้องมีความรู้ มีความตั้งใจ และทำจริง
หนึ่งในนั้นช่วยให้เกิด Phuket Sandbox นำมาสู่การเตรียมจัดงานเอ็กซโป
ในช่วงนี้ชาวไทยกำลังถูกมอมเมาด้วยการโฆษณาชวนเชื่อที่เรียกกันว่า “ดีเบต” มีการเกทับกันเหมือนกำลังเปียแชร์
มีใครบ้างไหมที่เข้าใจความเป็นไปของสังคม อธิบายได้ชัดว่าชาวบ้านจะพ้นทุกข์ได้อย่างยั่งยืน
แทนที่จะเป็นเหยื่อรอความช่วยเหลือไปวัน ๆ