ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > แนวคิดนโยบายเศรษฐกิจ ‘เพื่อไทย’ 4 ปี GDP โต 5% – ย้ำเน้นวินัยการคลัง

แนวคิดนโยบายเศรษฐกิจ ‘เพื่อไทย’ 4 ปี GDP โต 5% – ย้ำเน้นวินัยการคลัง

14 เมษายน 2023


พรรคเพื่อไทยประเมินจุดอ่อน โชว์จุดแข็ง 10 นโยบายเศรษฐกิจ ฉุดเศรษฐกิจประเทศโต 5% ในปี 2570 มั่นใจทุกนโยบายทำได้จริง ไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส. เขต 6 จังหวัด เชียงใหม่

พรรคเพื่อไทยประกาศฟื้น GDP โต 5% ในปี 2570 ด้วย 10 นโยบายเศรษฐกิจ เปิดเบื้องหลังวิธีคิดนโยบายกับนาย ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ รองหัวหน้าพรรค อดีต ส.ส. เขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำของพรรคเพื่อไทย

‘จุลพันธ์’ บอกว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการคิดนโยบาย เน้นการคิดแบบภาพรวมของนโยบายครบทุกมิติ โดยทุกนโยบายจะมีการประเมินวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ และที่มาที่ไปของงบประมาณ ทำให้ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา พรรคเริ่มจัดทำนโยบายพรรค โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็นชุดต่างๆ ประมาณ 10 ชุด เพื่อจัดทำข้อมูลนโยบายด้านต่างๆ เพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ ที่มี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ “หมอมิ้ง” เป็นประธาน โดยสรุปออกมาเป็น มี 14 ด้าน 68 ประเด็นนโยบาย

การจัดทำนโยบายด้านเศรษฐกิจอยู่บนหลักการ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส โดยจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% ภายใต้แคมเปญรณรงค์การเลือกตั้ง “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน”

ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงเชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจพรรคสามารถฟื้นประเทศให้ GDP โตได้ 5% ซึ่ง ‘จุลพันธ์’ บอกว่า ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมาตลอด ด้วยขนาดเศรษฐกิจและทรัพยากรที่มีในประเทศสามารถแข่งขันในตลาดโลก และทำให้ GDP โตได้มากกว่านี้ แต่ที่ผ่านมาพบว่าอัตราการเติบโตของประเทศอยู่ที่ประมาณ 2% ขณะที่ประเทศที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย สามารถฟื้นเศรษฐกิจถึง 7-8%

นอกจากนี้เขายังเห็นว่า หลังโควิด-19 วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำมาก พอเริ่มพ้นวิกฤติแล้วเศรษฐกิจควรจะรีบาวด์กลับขึ้นมา ทุกประเทศสามารถโตข้ามได้หมด แต่ไทยยังมีปัญหา นั่นหมายถึงการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่สามารถก้าวข้ามหลังเหตุการณ์โควิดได้

“ผมนั่งดูการบริหาร 4 ปี เราไม่ได้ไปไหนเลย ย้อนกลับไปต้นปี 2562 อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ขณะที่การเติบโตเศรษฐกิจลดลง แน่นอนว่าคนไทยจนลงหมด ขณะที่มาดูคนที่รวยที่สุดกลุ่มหนึ่งรวยขึ้นมาประมาณ 3 เท่าจาก 3 แสนล้านเป็น 1 ล้านล้าน นั่นจึงเป็นปัญหาบริหารจัดการที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น”

ท่องเที่ยว 120 ล้านคน รายได้ 3 ล้านล้านในปี 2570

‘จุลพันธ์’ มองว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยต้องมีการเติบโตให้มากกว่าเดิม ซึ่งหากมองกลไกต่างๆ ในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศ เริ่มจากการท่องเที่ยว ซึ่งทุกพรรคเห็นว่าเป็น quick win ที่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่กลไกการทำงานในการส่งเสริมเรื่องนี้ไม่ดีพอ ทั้งในเรื่องความสะดวก ค่าเหยียบแผ่นดิน ให้คนต่างชาติมารอ มาออที่สนามบิน 3 ชั่วโมงครึ่ง จนเป็นผลลบต่อการท่องเที่ยว สิ่งที่เพื่อไทยจะทำเบื้องต้นคืออำนวยความสะดวกการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว

เราสามารถดึงเม็ดเงินท่องเที่ยวจากการสร้างประเพณีไทยเป็นเทศกาลระดับโลก เช่น สงกรานต์ ลอยกระทงผลักดันให้คนต่างชาติรู้จักพร้อมไปกับการสร้างเทศกาลใหม่ๆ เช่น ผีตาโขน เพื่อนำมากระตุ้นการท่องเที่ยว

‘จุลพันธ์’ บอกว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา เราต้องดูมูลค่าต่อหัวคือการสร้างจุดแข็งของเราคือการสร้างให้ไทยเป็น health and wellness แต่ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังมีไม่เพียงพอ ต้องผลิตเพิ่ม

“เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างบุคลากรทางการแพทย์ เพราะขณะนี้ทั่วโลกบุคลากรด้านนี้น่าจะขาดอยู่ประมาณ 3-4 ล้านคน เราจะผลิตบุคลากรเหล่านี้เพื่อรองรับการเติบโตได้อย่างไร ซึ่งเพื่อไทยเตรียมแผนในด้านนี้ไปพร้อมกับการพัฒนาระบบวีซ่าประเภทต่างๆ เช่น การทำวีซ่าเพื่อความสะดวกขึ้น”

ในปี 2570 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยจำนวนมาก 120 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้น เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับกับตลาดที่กำลังจะเติบโตในระยะยาว เพราะฉะนั้น เรื่องของสนามบิน ต้องเพิ่มและขยายสนามบินให้มีสนามบินแห่งที่สองสำหรับเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ หรือสร้างสนามบินที่เป็นนานาชาติมากขึ้น

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส. เขต 6 จังหวัด เชียงใหม่

ใช้เทคโนโลยีการเกษตรลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต

ส่วนการสร้างรายได้จากภาคการเกษตร ‘จุลพันธ์’ มองว่า เราจะเพิ่มรายได้สุทธิของภาคเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 3 เท่าภายใน 4 ปี โดยที่ผ่านมา เราเห็นว่ากลไกการส่งเสริมภาคเกษตรมีปัญหา เพราะภาคเกษตรมีคนอยู่ประมาณ 40% ของประเทศ แต่สร้างเม็ดเงินให้ GDP แค่ 8% มันเป็นภาพ productive ต่ำที่สุด

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการเพิ่มผลผลิตของภาคเกษตรต่อไร่น้อย ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น

“ภาคเกษตรของเราเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้น้อย ขณะที่เวียดนามเขาสามารถทำตัวเลขได้ 5 พันบาทต่อไร่ แต่เราอยู่ประมาณ 1-2 พันบาทต่อไร่ ซึ่งถามว่าเกิดจากอะไร เกิดจากการที่เราไม่ได้เพิ่มเทคโนโลยีการผลิตเข้าไปเลย เราไม่ได้ใส่นวัตกรรมลงไป และกลไกการผลิตเหมือนเดิม ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาในรอบ 20 ปีคือการขยายพื้นที่การเกษตร การไปถางที่ใหม่”

ภาคเกษตรของเราต้องมีนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตัวเลขต้นทุนการผลิตสูง ส่วนหนึ่งมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาปุ๋ยสูงขึ้น

พรรคเพื่อไทยจะสร้างกลไกใหม่ เจรจากับต่างประเทศมากขึ้นในเรื่องการสร้างตลาดสินค้าภาคเกษตร ทำเอฟทีเอ เอ็มโอยู แลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อดึงเอาแม่ปุ๋ยกลับเข้ามาในประเทศไทย เพื่อทำให้ราคาเหมาะสม ไปกระจายให้กับหน่วยงานต่างๆ

ส่วนในเรื่องของราคาสินค้าเกษตร ‘จุลพันธ์’ บอกว่า ในอดีตที่ผ่านมาเรามีจำนำหรือประกันราคาเข้ามาใช้ ซึ่งวิธีการจำนำเราเคยทำมาแล้ว มีความสำเร็จเพราะเงินถึงมือเกษตรกร ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าขาดทุน เพราะนโยบายสาธารณะไม่มีการขาดทุน เนื่องจากเป็นนโยบายซึ่งให้ประโยชน์กับพี่น้องประชาชน

ส่วนเรื่องประกันรายได้ที่ผ่านมาก็มีช่องโหว่ มีพืชหลัก 5-6 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นไปตามยถากรรม นอกจากนี้ กลไกประกันรายได้ รัฐบอกว่าจะเติมเงินให้และจะเติมส่วนต่างให้ 3 บาท พอเอาข้าวไปขายโรงสี โรงสีกดทันที 3 บาท เพราะรู้ว่ารัฐเติมให้ สุดท้ายเงินที่รัฐช่วยเติมให้แทนที่จะไปตกกับเกษตรกร แต่เจ้าของโรงสี เอกชน พ่อค้าขายปุ๋ย ได้ประโยชน์

‘จุลพันธ์’ บอกว่า เพื่อไทยยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้กลไกในเรื่องราคาอย่างไรในขณะนี้ แต่เราไม่ได้ใช้เรื่องของจำนำหรือประกันราคา จะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อสามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของตลาด หรือการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าการเคลื่อนไหวในเรื่องราคาไปอยู่ที่ไหนแล้ว จนสามารถแก้ไขปัญหาได้ คือการจัดสรรกำไรอย่างเป็นธรรม

สอง คือ การสร้างคุณค่าเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น เรารู้ว่าสินค้ามาจากบ้านนี้ ตำบลนี้ จังหวัดนี้ เราจะสร้างมูลค่าได้อย่างไร เราจะรู้ว่าผลิตเท่าไหร่ ใครผลิต ราคาเท่าไหร่ เงินไหลไปที่ไหน เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยประเมินวิเคราะห์ในตรงนี้

“มันจะไม่มีอีกแล้วว่า ไทยเป็นแชมป์ขายข้าว รัฐบาลดีใจเป็นแชมป์ขายข้าวโลก แต่เกษตรกรยังจนเหมือนเดิมไม่เคยได้กำไรมากขึ้น คนได้กำไร กลายเป็นโรงสี ผู้ส่งออก การจัดสรรโครงสร้างกำไร ต้องจัดสรรเพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องเดือดร้อน”

พักหนี้ เอสเอ็มอี 1 ปี

ภาคอุตสาหกรรม พรรคเพื่อไทยเห็นปัญหาของเอสเอ็มอี ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 รัฐไม่ได้มีกลไกเข้าช่วยเหลือ เช่น ในต่างประเทศใช้วิธีการอุดหนุนเงินเพื่อให้เกิดการจ้างงานต่อ แต่ไทยไม่ได้ทำตรงนั้น ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากต้องปิดตัวลง เลิกจ้าง พนักงานเหล่านั้นกลับไปภาคเกษตร แต่พอฟื้นเศรษฐกิจ เอสเอ็มอีจำนวนมากไม่สามารถหาพนักงานได้ ทำให้มีปัญหาเช่นกัน

‘จุลพันธ์’ มองว่า เรื่องแรกคือต้องชวยพักหนี้ให้เอสเอ็มอี 1 ปี พักหนี้ภาคเกษตร 3 ปี เพื่อให้เขาสามารถตั้งตัวได้ นอกจากนี้ ต้องนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้าไปช่วยพัฒนาเอสเอ็มอีไทยมากขึ้น

ขยายสนามบิน สร้างรถไฟความเร็วสูง

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงคมนาคม รถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อไทยเคยเสนอโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านสุดท้ายล้มไป ทำให้เราเสียต้นทุนของประเทศ หนึ่ง คือ จากเวลาที่สูญเสียเอาคืนมาไม่ได้ 10 ปีที่ผ่านมา สอง คือ ต้นทุนในเรื่องราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากรถไฟฟ้าเส้นเดียวกันระยะเวลาผ่านไปราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่า

‘จุลพันธ์’ บอกว่า นอกจากเราเสียเวลาทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ขณะนี้ลาวสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเสร็จแล้ว และกำลังจะสร้างอีกเส้นหนึ่ง ดังนั้น การที่ไทยจะสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมกับลาว อำนาจการต่อรองก็น้อยลงไปเพราะเราไม่ใช่สถานีสุดท้ายแล้ว รวมไปถึงการต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงลาว อาจจะต้องปรับเชื่อมหัวรถจักรเพื่อให้เชื่อมต่อกันได้ ยังคงเป็นประเด็น ซึ่งมีแนวโน้มว่าเราจะต้องเปลี่ยนตามเทคโนโลยีของลาว

สร้างเขตธุรกิจใหม่ : New Business Zone

การสร้างเขตธุรกิจใหม่ เป็นอีกหนึ่งนยบายของพรรคเพื่อไทย ที่เห็นว่าการกระจายความเจริญ ออกไปสู่หัวเมืองต่างๆ น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้ โดยเฉพาะเมื่อเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แออัดมากขึ้น

‘จุลพันธ์’ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพึ่งกรุงเทพฯ มาก เป็นทฤษฎีเสาเดียว โดยกรุงเทพฯ ทำหน้าที่ในการแผ่ร่มเงาไปทั่วประเทศ อยู่ไกลก็ร้อนอยู่ใกล้ก็ดีหน่อย เพราะฉะนั้น วันนี้เรามองว่าต้องมีเสาหลักเพิ่มขึ้น คือ เขตเศรษฐกิจใหม่ อย่างน้อย 4 จุด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา หาดใหญ่ โดยทั้ง 4 จุดจะเป็นเสาหลักที่อยู่ตามภูมิภาคและค้ำจุนเสาหลักให้โตขึ้น

วิธีการคือออกกฎหมายเพื่อมารองรับ เปิดระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถทำเศรษฐกิจในพื้นที่ของตัวเองได้ ส่วนปัญหาที่ดินทำกิน เรื่องการท่องเที่ยว เลิกคิดเรื่องเมืองหลัก เมืองรอง ต้องยกระดับภูมิภาคที่ทุกคนต้องสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นมาได้

นโยบาย 1 ซอฟต์พาวเวอร์ 1 ครอบครัว

นอกจากนี้ จะสร้างรายได้จากซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้คนไทยสามารถดึงศักยภาพที่สร้างสรรค์ของตัวเองออกมา โดยจะส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ในทักษะด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี ส่วนนี้จะมีการสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่งรองรับ และยังจะสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินปริญญาตรี เริ่มที่ 25,000 บาทในปี 2570 โดยมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศสามารถสร้าง GDP โต 5%

“ที่ผ่านมาปรับค่าแรงใหญ่ที่สุดสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จาก 220 บาทเป็น 300 บาท ตอนนั้นเราใช้กลไกภาษีและสิทธิประโยชน์เข้าไปช่วยให้ภาคเอกชนไม่หนักเกินไป แต่ผ่านมา 10 ปีค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปสูงมาก แรงงานขั้นต่ำมีชีวิตไม่ได้เลย ไม่มีเงินออมสร้างครอบครัว เราเชื่อว่าเราจะสร้างการเจริญเติบโต 5% เราจะสามารถเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ดูแลภาคแรงงานถึงวันละ 600 บาทเป็นอย่างน้อย เช่นเดียวกับปริญญาตรี 25,000 ต่อเดือน

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยมีการนำเทคโนโลยีการเงินมาใช้เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล พร้อมเติมเงินให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปได้ใช้ซื้อของในชีวิตประจำวันได้จากร้านค้าในชุมชนรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยเงินที่จะเติมให้ในกระเป๋าเงินดิจิทัลมีมูลค่าถึง ‘10,000 บาท’ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ สร้างความเจริญเติบโตให้เศรษฐกิจไทย และลดช่องว่างรายได้ โดยจะได้รายได้กลับคืนมาในรูปแบบของภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

บริหารงบประมาณสมดุลในปี 2570

สิ่งที่ ‘จุลพันธ์’ เห็นว่าจะต้องทำในช่วง 4 ปีหากเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล คือ การบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณ เนื่องจากใช่วง 8 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาจำนวนมาก

หนี้สาธารณะที่มีจำนวนสูงมาก จะเป็นภาระกดทับในการบริหารจัดการภาครัฐในอนาคต โดยในอดีตสมัยรัฐบาทักษิณบริหาร 4 ปี ลดหนี้สาธารณะ ขาดดุล และงบประมาณสมดุลใน 2 ปี และไม่มีกู้เลย ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หนี้สาธารณะสูงในปีแรกแต่จากนั้นค่อยๆ ลดลง

“การบริหารจัดการของเพื่อไทยจึงเน้นเรื่องของวินัยทางการเงินการคลัง เพราะเรามองว่าเป็นระเบิดเวลา บางคนบอกว่ายังไม่มีปัญหาเพราะว่ายังไม่ชนเพดานยังกู้ได้อีก แต่ความจริงคือ ที่ผ่านมามีการขยับเพิ่มเพดานทางการเงิน แต่ไม่มีวินัยทางการเงินการคลัง”

เพื่อไทยเข้ามาบริหารจะแก้ปัญหาโดยการรดน้ำที่ราก คือให้ประชาชนเข้มแข็งมีเม็ดเงินไปถึง กระตุ้นเศรษฐกิจให้โต ขณะที่การบริหารจัดการภาครัฐมุ่งสู่การทำงบประมาณสมดุล ลดภาระหนี้สาธารณะให้กับประเทศ ส่วนหนี้นอกระบบเรามีกลไกแก้ไข เช่น ภาคเกษตรกร เราจะใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ราคา เป็นกลไกเข้าไปช่วยเหลือ

‘จุลพันธ์’ ทิ้งท้ายว่า นโยบายกับพรรคเพื่อไทยถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ผ่านมาพรรคเราชนะการเลือกตั้งมาทุกครั้งจากนโยบาย เพราะคนเชื่อว่าเลือกเพื่อไทยแล้วทำได้จริง ถ้าวันไหนที่พรรคเพื่อไทยเลิกหลักคิด ไม่ผลักดันนโยบาย แค่ลืมๆ วันนั้นคงไม่มีพรรคเพื่อไทย ดังนั้นจึงเป็นที่มา คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน