ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
ในการผลักดัน “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ให้เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ยังมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ต้องรายงาน เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของกระบวนการนี้ได้แบบครบถ้วนทุกมิติ นั่นคือความเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ และกองทัพพม่า ในพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวระเบียงเศรษฐกิจเส้นนี้
โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลังจาก ‘เติ้ง ซีจุน’ ทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเซีย กระทรวงการต่างประเทศจีน คนใหม่ ได้เริ่มกระบวนการ “ไกล่เกลี่ย” ความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่ม ตั้งแต่ปลายปี 2565 และตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนาม FPNCC ได้ประชุมกันที่ป๋างซาง เมืองหลวงของพื้นที่พิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม 2566 และมีมติรับรองการเข้ามามีบทบาทของจีนในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง
FPNCC ย่อมาจาก Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee ประกอบด้วยกองกำลังชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม นำโดยกองทัพสหรัฐว้า(UWSA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดในเมียนมา
สมาชิกอีก 6 กลุ่ม ได้แก่ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ(SSPP/SSA) กองทัพเมืองลา(NDAA) กองทัพอาระกัน(AA) กองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) กองทัพตะอั้ง(TNLA) และกองทัพโกก้าง(MNDAA)

ปัจจุบัน สมาชิก FPNCC 3 กลุ่ม คือ กองทัพว้า กองทัพรัฐฉานเหนือ และกองทัพเมืองลา ได้เข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพกับสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) เมียนมา ตามคำเชิญของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC
ส่วนกองทัพอาระกัน แม้ไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการนี้ แต่ได้ตกลงหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการกับกองทัพพม่าไปแล้ว
คงเหลือสมาชิกอีก 3 กลุ่ม คือ กองทัพคะฉิ่น กองทัพตะอั้ง และกองทัพโกก้าง ที่ยังทำสงครามอยู่กับกองทัพพม่า
พื้นที่สู้รบของ 3 กลุ่มนี้ คาบเกี่ยวกับแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา โดยเฉพาะในภาคเหนือของรัฐฉาน ตั้งแต่หน้าด่านชายแดนหมู่เจ้ และชิงส่วยเหอ ไล่ลงไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 3 จนถึงเมืองปินอูลวิน ภาคมัณฑะเลย์
……
วันที่ 4 เมษายน 2566 สำนักข่าว Shan News รายงานว่า ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา ในภาคเหนือของรัฐฉาน มีความเคลื่อนไหวทางการทหารที่น่าจับตาเกิดขึ้น เมื่อกองทัพสหรัฐว้าได้เคลื่อนกำลังพลจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ข้ามมายังฝั่งตะวันตก และยังคงเคลื่อนพลต่อขึ้นไปทางทิศเหนือ เข้าไปในพื้นที่ชั้นในของรัฐฉาน ผ่านเมืองหนองแหลง เมืองหนองผา เมืองต้างย่าน และนำกำลังไปตั้งมั่นไว้ในพื้นที่ตำบลเมืองหยอ อำเภอล่าเสี้ยว จังหวัดล่าเสี้ยว โดยไม่ได้บอกเหตุผลของการเคลื่อนกำลังพลข้ามแม่น้ำสาละวินมาในครั้งนี้(ดูแผนที่ประกอบ)

ชาวบ้านเมืองหยอให้สัมภาษณ์กับ Shan News ว่า เท่าที่ประเมินด้วยสายตาเบื้องต้น ทหารว้าที่ข้ามฝั่งมาอยู่ในเมืองหยอ มีไม่น้อยกว่า 300 นาย
เมืองหยอ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองล่าเสี้ยว ห่างจากตัวเมืองล่าเสี้ยว 32 ไมล์ หรือประมาณ 52 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่ม กองกำลังบางกลุ่มได้ปักหลักตั้งฐานที่มั่นไว้รอบๆเมืองหยอ เช่น กองทัพโกก้าง กองทัพตะอั้ง กองทัพรัฐฉานเหนือ ซึ่งล้วนเป็นสมาชิก FPNCC
ชาวบ้านเมืองหยอบอกว่า เมื่อเริ่มมีข่าวว่าทหารว้าเคลื่อนพลมาถึงเมืองหนองแหลง เมืองหนองผา ผ่านเมืองต้างย่าน ใกล้ถึงตัวเมืองหยอแล้ว ปรากฏว่าทหารโกก้างกับทหารตะอั้ง ที่มีฐานอยู่ในเมืองหยอ ต่างถอนกำลังทั้งหมดออกไปจากตัวเมือง เพื่อหลีกทางให้กับทหารว้า
ส่วนทหารกองทัพรัฐฉานเหนือยังคงปักหลักตั้งมั่นอยู่ มิได้ถอนกำลังออกไปเหมือนกลุ่มอื่น
Shan News ได้สอบถามไปยัง อู ญีราน หัวหน้าสำนักงานกองทัพสหรัฐว้า ประจำกรุงล่าเสี้ยว ในฐานะโฆษกของกองทัพว้า อู ญีรานตอบเพียงสั้นๆว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่จะตรวจสอบให้
วันที่ 7 เมษายน 2566 สำนักข่าว Tai Freedom รายงานว่า ทหารกองทัพตะอั้งที่ถอนตัวออกจากเมืองหยอ ได้เคลื่อนกำลังข้ามไปอยู่ยังเมืองน้ำตู้ จังหวัดจ๊อกแม ห่างจากตัวเมืองล่าเสี้ยวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร กำลังพลส่วนหนึ่งถูกทหารพม่าซุ่มโจมตี ขณะกำลังเคลื่อนทัพ…
กองทัพสหรัฐว้า กองทัพรัฐฉานเหนือ และกองทัพเมืองลา เคยอยู่ร่วมกันภายใต้ร่มเงาของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า(CPB) ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน แต่ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แยกตัวออกมาเป็นกองกำลังติดอาวุธอิสระ เมื่อปี 2532
สำหรับกองทัพว้า นับแต่แยกตัวออกจาก CPB และเซ็นสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2532 พื้นที่เคลื่อนไหวของทหารว้า จำกัดอยู่เฉพาะแนวชายแดนรัฐฉาน-จีน และรัฐฉาน-ไทย ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินมาตลอด ไม่ได้ข้ามมาเคลื่อนไหวทางฝั่งตะวันตก หรือเข้ามายังพื้นที่ชั้นในของรัฐฉาน
การเคลื่อนกำลังพลข้ามมายังฝั่งตะวันตกของกองทัพว้าที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 จึงมีนัยสำคัญ!

เมืองหยอที่กองทัพว้าเข้าไปตั้งฐานที่มั่นไว้นั้น อยู่ในตำแหน่งที่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปถึงเมืองแสนหวี จุดบรรจบของถนนสาย 34 กับทางหลวงหมายเลข 3 ที่เป็นเส้นทางหลักของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ได้สะดวก
ทางหลวงหมายเลข 3(ล่าเสี้ยว-มัณฑะเลย์) มาจากด่านชายแดนหมู่เจ้ ประตูการค้าอันดับ 1 ของจีนและเมียนมา ส่วนถนนสาย 34 มาจากด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ประตูการค้าที่สำคัญรองลงมาเป็นลำดับที่ 2
สินค้าที่จีนส่งเข้ามาขายในเมียนมา, สินค้าหรือผลผลิตการเกษตรที่เมียนมาส่งเข้าไปขายในจีน รวมถึงสินค้าจากประเทศที่ 3 ที่จีนใช้เมียนมาเป็นทางผ่าน เพื่อส่งออกหรือนำเข้าผ่านระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ล้วนแต่ต้องลำเลียงผ่านทางถนนสาย 34 หรือทางหลวงหมายเลข 3 ทั้งสิ้น
จากเมืองแสนหวีลงไป ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาใช้ทางหลวงหมายเลข 3 เป็นเส้นทางหลัก ผ่านเมืองล่าเสี้ยว สีป้อ จ๊อกแม หนองเขียว ข้ามหุบเขาก๊กเทคไปยังเมืองปินอูลวิน ในภาคมัณฑะเลย์
ตลอดเส้นทางจากชายแดนหมู่เจ้และชิงส่วยเหอ ลงไปถึงปินอูลวิน เป็นพื้นที่อ่อนไหว มีการสู้รบและความเคลื่อนไหวของกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่ม โดยเฉพาะกองทัพคะฉิ่น กองทัพตะอั้ง และกองทัพโกก้าง
“จีน”ให้ความสำคัญกับเส้นทางช่วงนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเคยได้รับประสบการณ์มาแล้วจากสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562
……
วันที่ 15 สิงหาคม 2562 กองทัพคะฉิ่น กองทัพตะอั้ง กองทัพโกก้าง และกองทัพอาระกัน ซึ่งจับมือเคลื่อนไหวร่วมกันในนาม “พันธมิตรภาคเหนือ” ได้เปิดปฏิบัติการสะเทือนขวัญไปทั่วภาคเหนือของรัฐฉาน
เริ่มจากการการโจมตีโรงเรียนนายร้อยเทคนิค(DSA) ของกองทัพพม่า ที่เมืองปินอูลวิน ภาคมัณฑะเลย์ ด้วยอาวุธหนัก มีทหารพม่าจำนวนมากเสียชีวิต
วันเดียวกัน ยังได้วางระเบิดสะพานก๊กตวิน ในหุบเขาก๊กเทค จนเสียหายใช้การไม่ได้
สะพานก๊กตวินอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3 บริเวณพื้นที่ล่างสุดของหุบเขาก๊กเทค หุบเขาที่ลึกกว่า 600 เมตร ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม รัฐฉาน กับเมืองปินอูลวิน ภาคมัณฑะเลย์
หุบเขาก๊กเทคเป็นคอขวดที่มักสร้างอุปสรรคให้แก่การค้าระหว่างเมียนมาและจีน รถบรรทุกสินค้าที่ 2 ประเทศซื้อขายกัน ทุกคันต้องขนส่งผ่านถนนแคบๆ 2 เลน ในหุบเขาก๊กเทค โดยมีสะพานก๊กตวินเป็นจุดเชื่อม
บ่อยครั้งที่ก่อนหน้านั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือมีรถเสียอยู่บนถนนในหุบเขาก๊กเทคแม้เพียงคันเดียว เคยทำให้การจราจรบนถนนสายนี้ต้องเป็นอัมพาตยาวถึง 2 หรือ 3 วัน
การที่พันธมิตรภาคเหนือระเบิดสะพานก๊กตวินจนเสียหาย ส่งผลโดยตรงให้การขนส่งสินค้าระหว่างจีนและเมียนมาต้องหยุดชะงักลงไปโดยทันที…
จากเหตุการณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นที่เมืองปินอูลวินและหุบเขาก๊กเทค การสู้รบระหว่างพันธมิตรภาคเหนือกับกองทัพพม่าได้แพร่ลามขึ้นไปถึงเมืองล่าเสี้ยว และหมู่เจ้ มีการปิดล้อมเมืองก๊ตขาย เมืองสำคัญบนทางหลวงหมายเลข 3 ที่เป็นทางผ่านจากเมืองแสนหวีขึ้นไปยังหน้าด่านหมู่เจ้ ชาวบ้านก๊ตขายต้องติดค้างอยู่ในเมือง ขาดน้ำ ขาดอาหารอยู่เป็นสัปดาห์ เพราะรถทุกชนิดไม่สามารถผ่านเข้าไปในพื้นที่เมืองก๊ตขาย

ยิ่งไปกว่านั้น วันที่ 17 สิงหาคม 2562 พันธมิตรภาคเหนือได้วางระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำสาละวิน ในเมืองกุ๋นโหลง บนเส้นทางจากเมืองแสนหวีไปยังหน้าด่านชิงส่วยเหอ สะพานได้รับความเสียหายจนต้องถูกปิด ห้ามรถทุกชนิดผ่าน
ช่วงนั้น สื่อในเมียนมาและรัฐฉาน เสนอข่าวในทำนองเดียวกันว่า ปฏิบัติการของพันธมิตรภาคเหนือครั้งนั้น ได้ทำให้จีนไม่พอใจ จนถึงขั้น “ลมออกหู”!
วันที่ 27 สิงหาคม 2562 อู จ่อตินส่วย รัฐมนตรีกระทรวงสำนักที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในรัฐบาลของพรรค NLD เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าพบกับหวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนในขณะนั้น
ข่าวที่ถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวซินหัว ไม่ได้ให้รายละเอียดการพบกันครั้งนี้มากนัก บอกเพียงว่า หัวข้อที่มีการพูดคุยกัน คือ สถานการณ์สู้รบบริเวณชายแดนเมียนมา-จีน ในภาคเหนือของรัฐฉาน และสถานการณ์ในรัฐยะไข่

ในเนื้อข่าว หวังอี้ ได้ยืนยันว่าจีนสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในเมียนมาอย่างเต็มที่ และหวังว่าสถานการณ์ในภาคเหนือของรัฐฉาน จะสามารถยุติลงได้บนโต๊ะเจรจา ด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน
วันที่ 30 สิงหาคม 2562 หนังสือพิมพ์ The Myanmar Times รายงานว่า เมื่อย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับพันธมิตรภาคเหนือ ได้ส่งผลต่อการค้าระหว่างจีนและเมียนมา อย่างชัดเจน
ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 มูลค่าการค้า ณ ศูนย์ขนถ่ายสินค้าหลักไมล์ 105 เมืองหมู่เจ้ จากก่อนหน้านั้นที่เคยมีการซื้อขายกันเฉลี่ยวันละ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ลดลงมาเหลือเพียงวันละ 7 แสนดอลลาร์
รถบรรทุกสินค้าจากจีนที่ส่งเข้าไปขายในเมียนมา ทุกคันต้องติดค้างอยู่ที่ตำบลน้ำผักกา เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 3 ถูกปิดตั้งแต่ช่วงน้ำผักกาลงไปถึงเมืองก๊ตขาย
ส่วนผลิตผลการเกษตรที่เมียนมาส่งเข้าไปขายในจีน ทั้งหมดเน่าเสียคารถบรรทุก จนต้องโยนทิ้งข้างทาง เพราะรถทุกคันต้องจอดค้างไว้ริมถนนก่อนถึงเมืองก๊ตขาย ไม่สามารถลำเลียงขึ้นไปถึงหน้าด่านหมู่เจ้(ดูแผนที่ประกอบ)

ส่วนการค้าที่ด่านชายแดนชิงส่วยเหอ ได้หยุดชะงักไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม หลังจากสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองกุ๋นโหลงถูกระเบิด
ก่อนหน้ามีการสู้รบเกิดขึ้น การค้าจีน-เมียนมาที่ด่านชิงส่วยเหอ มีมูลค่าเฉลี่ยวันละ 3 ล้านดอลลาร์ ได้ลดวูบลงมาเหลือ 5 แสนดอลลาร์ ในวันที่ 15 สิงหาคม ถัดมาวันที่ 16 สิงหาคม ลงมาเหลือเพียง 3 แสนดอลลาร์ และนับจากวันที่ 17 สิงหาคมจนไปถึงสิ้นเดือน ตัวเลขการค้าที่นี่เป็นศูนย์!
……

วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ศูนย์สันติภาพและปรองดองแห่งชาติ(NRPC) ของรัฐบาลพรรค NLD ได้จัดการประชุมครั้งแรกกับตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือ ที่เมืองเชียงตุง โดยมีตัวแทนระดับรองผู้นำกองทัพคะฉิ่น กองทัพตะอั้ง กองทัพโกก้าง และกองทัพอาระกัน เข้าร่วม
อู ส่อเท โฆษกรัฐบาลเมียนมา บอกว่าที่ประชุมได้ถกกันถึงการสู้รบที่กำลังดำเนินอยู่ในเมืองก๊ตขาย และอีกหลายจุดในภาคเหนือของรัฐฉาน ซึ่งทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต มีการปิดถนน สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องการให้ยุติการสู้รบที่กำลังดำเนินอยู่โดยทันที
มีการพูดคุยถึงการจัดวางกำลังของกองทัพพม่าเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการปะทะ พร้อมยืนยันว่าทางออกของสถานการณ์นี้ ยึดการเจรจาเป็นหลัก
วันที่ 13 กันยายน 2562 ซุน กั๋วเสียง ทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเชียของจีนในขณะนั้น ได้เข้าพบอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ที่กรุงเนปิดอ
วันที่ 17 กันยายน 2562 NRPC จัดประชุมอีกครั้งกับตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือ ที่เมืองเชียงตุงเช่นเดิม มีการพูดเรื่องการเซ็นสัญญาหยุดยิงระหว่างพันธมิตรภาคเหนือกับกองทัพพม่า กระบวนการสื่อสาร และการสร้างความใว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
ก่อนเริ่มประชุมในตอนเช้าวันที่ 17 กันยายน สื่อหลายแห่งในรัฐฉานและเมียนมา มีการถ่ายทอดสดผ่านเครือข่ายออนไลน์ของตน โชว์บรรยากาศด้านหน้าโรงแรมอเมซซิ่ง เชียงตุง เห็นภาพตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือที่เดินทางโดยรถยนต์มาจากเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา
ในคณะของตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ชาวจีนซึ่งขณะนั้นสื่อไม่ได้ระบุชื่อว่าเป็นใคร บอกเพียงว่าเป็นผู้ประสานงานการประชุมครั้งนี้ ร่วมเดินทางมาด้วย และเมื่อประชุมเสร็จ ทั้งหมดก็เดินทางกลับไปยังเมืองลาโดยทางรถยนต์
เขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา มีพื้นที่ติดกับตำบลเมืองฮาย เขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ของจีน
รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ได้ตกลงร่วมกันว่า จะจัดให้มีการประชุมกันอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้กำหนดสถานที่ วัน และเวลา ที่แน่นอน
แต่การประชุมครั้งที่ 3 ยังไม่ทันได้ถูกจัดขึ้น เดือนธันวาคม 2562 ก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นในจีน ที่เมืองอู่ฮั่น จนจีนต้องปิดประเทศ ต่อมาเดือนมีนาคม 2563 ก็พบการระบาดในเมียนมา
กระบวนการเจรจาสันติภาพ หาหนทางยุติการสู้รบระหว่างพันธมิตรภาคเหนือกับกองทัพพม่า ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ในภาคเหนือของรัฐฉาน จึงหยุดชะงักไปโดยปริยาย
ช่วงการระบาดของโควิด-19 กระทรวงก่อสร้าง เมียนมา ได้เร่งแก้ปัญหาคอขวดในหุบเขาก๊กเทค โดยการสร้างสะพานก๊กตวินขึ้นใหม่แทนสะพานเดิมที่ถูกระเบิดจนพัง
สะพานก๊กตวินใหม่ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 210 ฟุต กว้าง 24 ฟุต รับน้ำหนักรถได้สูงสุด 60 ตัน ใช้งบประมาณก่อสร้าง 874 ล้านจั๊ต หรือประมาณ 38 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนช่วงนั้น เริ่มก่อสร้างเดือนกันยายน 2562 สร้างเสร็จปลายเดือนสิงหาคม 2563

มีพิธีเปิดใช้ สะพานก๊กตวินแห่งใหม่ อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 มี ดร.ลินทุต มุขมนตรีรัฐฉานขณะนั้น เป็นประธาน
หลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย นำกำลังออกมาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD สถานการณ์ระหว่างกองทัพพม่ากับพันธมิตรภาคเหนือ ก็กลับเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง
พื้นที่สู้รบยังคงเป็นตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ช่วงเลยจากหน้าด่านชายแดนหมู่เจ้และชิงส่วยเหอ ไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 3 จนถึงเมืองหนองเขียว ก่อนเข้าสู่หุบเขาก๊กเทคเพื่อข้ามไปยังเมืองปินอูลวิน
เพียงแต่สมาชิกพันธมิตรภาคเหนือที่ยังคงรบกับกองทัพพม่าช่วงนี้ เหลืออยู่ 3 กลุ่ม คือ กองทัพคะฉิ่น กองทัพตะอั้ง และกองทัพโกก้าง
กระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งกลับมาเดินหน้าใหม่ หลังจากเติ้ง ซีจุน เข้ารับตำแหน่งทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเชียต่อจาก ซุน กั๋วเสียง และเชิญตัวแทนสมาชิก FPNCC 7 กลุ่ม ไปประชุมกันที่นครคุนหมิง เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2565
……
FPNCC เกิดขึ้นจากการประชุมตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่เมืองป๋างซาง เมื่อวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2558 ทั้ง 10 กลุ่ม เป็นกองกำลังชาติพันธุ์ที่ไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) ที่รัฐบาลเมียนมา สมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง จัดขึ้นที่กรุงเนปิดอ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ปีเดียวกัน
รัฐบาลจีนสนับสนุนให้กองทัพว้าเป็นตัวตั้งตัวตี เปิดเมืองหลวงป๋างซาง เชื้อเชิญตัวแทนกองกำลังทั้ง 10 กลุ่ม ได้ไปประชุมกัน ทำให้ต่อมา ภาพของกองทัพว้าจึงเป็นเหมือนแกนนำของ FPNCC
ระหว่างที่กองกำลังพันธมิตรภาคเหนือ เปิดศึกสู้รบกับกองทัพพม่าในช่วงปลายปี 2562 กองทัพว้าวางตัว “เฉย” ไม่แสดงออกหรือเคลื่อนไหวใด ๆ ในทำนองที่สนับสนุนหรือคัดค้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
กองทัพว้าเริ่มเข้ามามีบทบาทในกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเมียนมา ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 เมื่อเปิดเมืองป๋างซางเป็นพื้นที่ให้ ดร.โญทูนอ่อง รองผู้นำสหสันนิบาตแห่งอาระกัน(United League of Arakan : ULA) ในฐานะตัวแทนกองทัพอาระกัน ได้ประชุมร่วมกับ พล.ท.หย่าปญิ ตัวแทนกองทัพพม่า ซึ่งผลที่ตามมา คือกองทัพอาระกันตกลงหยุดยิงอย่างไม่เป็นทางการกับกองทัพพม่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564
ความสงบสุขได้กลับคืนมายังรัฐยะไข่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากก่อนหน้านั้น 2 ปี ที่นี่เต็มไปด้วยการสู้รบ ประชาชนหลายหมื่นคนต้องกลายเป็นผู้ไร้บ้าน
บทบาทของกองทัพว้าเงียบไป หลังต้องเผชิญกับการระบาดหนักของโควิด-19 ถึง 2 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2565
เมื่อการระบาดของโรคคลี่คลายลง บทบาทของกองทัพว้า ในกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง จึงค่อยๆปรากฏออกมาอย่างเต็มตัว

วันที่ 17 เมษายน 2566 กองทัพว้าได้จัดพิธีสวนสนามเนื่องในโอกาสครบรอบ 34 ปี การหยุดยิงกับกองทัพพม่า ซึ่งกองทัพว้าเรียกวันนี้ว่าเป็น “วันสันติภาพ”
พิธีสวนสนามจัดขึ้น 2 แห่ง โดยกองบัญชาการกองทัพว้าภาคเหนือ จัดสวนสนามที่เมืองป้อก ทางใต้ของเมืองป๋างซาง ซึ่งพื้นที่รับผิดชอบของกองพลที่ 468 ส่วนกองทัพว้าภาคใต้ จัดสวนสนามภายในฐานบัญชาการกองพลน้อยที่ 772 เขตทหาร 171 ในตำบลเมืองจ๊อต อำเภอเมืองโต๋น จังหวัดเมืองสาต ตรงข้ามกับตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
เป่าโหย่วเสียง ผู้บัญชาการกองทัพว้า และประธานพรรคสหรัฐว้า ได้ปรากฏตัวในพิธีสวนสนามครั้งนี้ด้วย ถือเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในรอบไม่ต่ำกว่า 2 ปีของเขา
อย่างไรก็ตาม การจัดสวนสนามของกองทัพว้าปีนี้ ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนที่เคยจัดครั้งก่อนหน้า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 ที่กองทัพว้าขนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่เกือบทั้งหมดมาแสดงแสนยานุภาพ จนสร้างความตื่นตะลึงเมื่อภาพการสวนสนามถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่างๆ
ในวันครบรอบ 34 การหยุดยิงระหว่างกองทัพว้าและกองทัพพม่า(17 เม.ย.2566) แนวร่วมปลดปล่อยแห่งรัฐปะหล่อง(Palaung State Liberation Front : PSLF) องค์กรการเมืองของกองทัพตะอั้ง ได้ส่งสาส์นไปถึงกองทัพว้า สาส์นดังกล่าวเขียนขึ้นเป็น 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาพม่าและภาษาจีน มีเนื้อหาโดยสรุปว่า…
“กองทัพตะอั้งพร้อมให้ความร่วมมือและจะปฏิบัติตามแนวทางที่ผู้นำกองทัพว้าและพรรคสหรัฐว้าได้กำหนดไว้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองในโอกาสครบรอบ 34 ปี วันสันติภาพ พร้อมกันนี้ ยังเห็นด้วยกับจุดยืนที่ผู้นำว้าได้ประกาศไว้เมื่อปี 2565 ว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในเมียนมา ต้องใช้วิธีเจรจา มิใช่แก้ด้วยการใช้กำลังทหาร”
