ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ดูวันไปสมัคร “รวมไทยสร้างชาติ”- มติ ครม. ประเมิน พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 100 โครงการ ศก.หมุน 3 ล้านล้าน

นายกฯ ดูวันไปสมัคร “รวมไทยสร้างชาติ”- มติ ครม. ประเมิน พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 100 โครงการ ศก.หมุน 3 ล้านล้าน

3 มกราคม 2023


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • นายกฯ พร้อมรับนักท่องเที่ยวจีน มั่นใจ สธ. คุมโควิดฯ “เกรดเอ”
  • ดูวันไปสมัครสมาชิก “พรรครวมไทยสร้างชาติ”
  • ชี้ “รวมไทยสร้างชาติ” ได้ ส.ส. เกิน 25 คนหรือไม่ อยู่ที่ ปชช.
  • ยันไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมืองกับ “บิ๊กป้อม” ย้ำความสัมพันธ์ยังเหมือนเดิม
  • มติ ครม. ประเมิน พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 100 โครงการ สร้างมูลค่า ศก. 3 ล้านล้าน
  • ผ่าน 7 แนวทาง แก้ปัญหา PM 2.5
  • ชู 4 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนแผนพัฒนาท่องเที่ยวฯ ฉบับที่ 3
  • เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอกประยุทธ์ มอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวทักทายผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล พร้อมอวยพรให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ช่วยกันนำพารัฐบาลขับเคลื่อนบ้านเมือง

    เล็งปรับโครงสร้าง ศก. เพิ่มรายได้ ปชช.

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวอีกว่า มีปัญหาหลายอย่างต้องเร่งรัดในการแก้ไข โดยเฉพาะโครงสร้างต่างๆ ไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่รวมถึงโครงสร้างการทำงาน กลไก กฎหมายต่างๆ รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด เพื่อผลประโยชน์กลับมาสู่ประชาชนและประเทศชาติ

    “ต้องมองสองอย่าง ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศก็ต้องมีรายได้สูงขึ้น ถ้าสองอย่างไม่สมดุลกันก็มีปัญหา การดูแลประชาชนมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มสิบล้านคนขึ้นไป ก็ต้องดูว่าจะหารายได้จากไหน ต้องหาวิธีการ ไม่ว่าจะเป็น เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร หลายอย่างทำได้ หลายอย่างติดขัด อยู่ที่ความร่วมมือ ต้องช่วยกันถึงจะไปกันได้” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    สั่งค้นหาลูกเรือหลวงสุโขทัยจนกว่าจะเจอ

    ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าในการติดตามกำลังพลของเรือหลวงสุโขทัยที่สูญหายอีก 5 ราย นายกรัฐมนตรี ตอบว่า “ก็รู้อยู่ เขารายงานทุกวัน ก็ได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเจอ หรือการสอบสวนตามขั้นตอนต่างๆ ก็ทำอยู่ ขอให้ฟัง หลายอย่างไม่ใช่อย่างที่แพร่ในโซเชียล เราก็ไม่อยากไปตอบโต้นักหรอก รอให้ผลการสอบสวนออกมา”

    พร้อมรับนักท่องเที่ยวจีน มั่นใจ สธ.คุมโควิดฯ “เกรดเอ”

    พลเอกประยุทธ์ ตอบเรื่องมาตรการการรับมือหลังจากที่ประเทศจีนจะเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม 2566 ว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการว่าทำอย่างไรให้ไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งคณะแพทย์มีมาตรการอยู่แล้ว โดยสิ่งที่รัฐบาลอยากให้ระมัดระวังคือการป้องกันตัวเองตามหลัก Universal Prevention

    “วันนี้หลายประเทศก็เตรียมรับมืออยู่แล้ว บางอย่างอาจจะเหมือนกันหรือไม่เหมือน แต่ละประเทศมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน ลักษณะนโยบายไม่เท่าเทียมกัน ของเราอยู่ในเกรดเอ ต้องเชื่อมั่นในส่วนนี้ ท่องเที่ยวเป็นรายได้ของเรา เห็นไหมว่าช่วงปีใหม่นักท่องเที่ยวเยอะมาก” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ไม่ขัดข้อง ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายทั่วไป

    คำถามว่า รัฐบาลพร้อมชี้แจงเวทีอภิปรายทั่วไปไหมเพราะฝ่ายค้านยื่นญัตติมา พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “จะบอกว่าไม่พร้อมได้ไงล่ะ ในเมื่อเขามีมติ ก็พร้อมตลอด แต่จะฟังกันหรือเปล่าเท่านั้น”

    ส่วนเรื่องวัน พลเอกประยุทธ์บอก “ไม่ทราบ เป็นเรื่องของสภาฯ วิปรัฐบาลต้องชี้แจงกันไปว่าตรงไหนเหมาะสม ต้องดูว่าหลายเรื่องมันเหมาะสมกับตอนนี้หรือเปล่า บ้านเมืองก็มีปัญหาเยอะพออยู่แล้ว”

    ดูวันลงสมัครสมาชิก “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

    ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นทางการเมือง หลังจากมีกระแสว่านายกรัฐมนตรีจะไปสมัครสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติว่าได้มีการกำหนดวันหรือไม่ โดยพลเอกประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “ดูวันที่เหมาะสม”

    ถามต่อว่าการไปสมาชิกพรรคฯ จะรับตำแหน่งอะไรด้วยไหม พลเอกประยุทธ์ ตอบทันทีว่า “ยังไม่ได้พูดอะไรทั้งสิ้น อย่าไปพูดอย่างนั้นสิ ใครออกไปพูดก็ไม่รู้” ผู้สื่อข่าว ถามต่อว่าไปเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรคฯหรือไม่ จากนั้นพลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “ผมยังไม่ได้ตัดสินใจอะไรเลยสักอย่าง ผมเพียงแต่ไปสมัครสมาชิกพรรคก่อนแค่นั้นแหละ จะได้ไม่มีปัญหามากนัก”

    ชี้ “รวมไทยสร้างชาติ” ได้ ส.ส.เกิน 25 คนหรือไม่ อยู่ที่ ปชช.

    นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.มากกว่า 25 คนหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ผมจะมั่นใจได้ยังไง ก็ต้องถามประชาชน คนเลือกไม่ใช่ฉันเอง ฉันจะประเมินตัวเองไม่ได้ ต้องให้ประชาชนเป็นคนประเมิน เพราะทุกอย่างเป็นการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย ก็ว่ากันไป ใครจะได้หรือไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของประชาชนตัดสินใจ ไม่ใช่เราจะไปกำหนดไปคาดหวัง ไม่ได้หรอก”

    ย้ำความสัมพันธ์ “บิ๊กป้อม” ยังเหมือนเดิม

    อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวการแยกทางทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้ผู้สื่อข่าวถามเป็นนัยว่าไม่ได้มีปัญหากันใช่หรือไม่ เพราะยังสวัสดีปีใหม่กันเหมือนเดิม พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “เหมือนเดิม ไม่ได้มีปัญหาอะไร เสาร์อาทิตย์ผมก็ไปคุยกับท่าน ไม่ใช่ทะเลาะกัน ไม่เคยทะเลาะกัน ทะเลาะกันไม่ได้อยู่แล้ว เสาร์อาทิตย์ผมก็ไปคุยกับท่าน นั่งกันเป็นชั่วโมง กระเซ้าเย้าแหย่กันเหมือนเดิม ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น”

    ถามต่อว่า ในทางการเมืองมีความเห็นต่างใช่ไหม พลเอกประยุทธ์ บอกว่า “ถ้าถามเอง ก็ตอบเองได้อยู่แล้ว”

    ยันไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางการเมืองกับ “บิ๊กป้อม”

    คำถามสุดท้าย นายกรัฐมนตรี จะเหวงๆ หรือไม่ที่วันนี้ไม่มีลุงป้อมเดินคู่ในทางการเมือง พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ใจมันถึงใจกันอยู่แล้ว เรื่องอื่นก็คือเรื่องอื่น การเมืองก็ว่ากันไป ผมก็เรียนท่านไปแล้วว่าเราไม่ใช่คู่ขัดแย้งกัน การเมืองต้องไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม เพราะเราทำเพื่อประเทศไทย ไม่ใช่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เราทำเพื่อคนไทยใช่ไหม อะไรต่างๆ ที่มันไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้งสู่การเลือกตั้ง ผมไม่อยากให้ทำ อันตราย”

    “บิ๊กป้อม” นำ ครม. อวยพรปีใหม่นายกฯ

    ด้านนายอนุชา รายงานว่า ก่อนการเริ่มประชุม ครม. วันนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของคณะรัฐมนตรี กล่าวอวยพรปีใหม่ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล โดยกล่าวว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ทุ่มเท ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรค ทั้งโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ แต่สามารถนำพาประเทศข้ามพ้นปัญหาต่างๆ ด้วยความไม่ย่อท้อ ความก้าวหน้าของประเทศ และความผาสุกของประชาชน

    นายอนุชา รายงานคำกล่าวของพลเอกประวิตรว่า “ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี อาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ได้โปรดประทานพรให้นายกรัฐมนตรี มีสุขภาพแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง ฟันฝ่าอุปสรรคนำพาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน”

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ พลเอกประวิตร และรองนายกรัฐมนตรี ทุกคน รัฐมนตรีทุกคน และทุกส่วนราชการที่มีน้ำใจไมตรีที่มอบให้นายกรัฐมนตรี และครอบครัว ทั้งนี้ถือว่าทุกท่านใน ครม. ต่างเป็นผู้ทำหน้าที่พาประเทศเดินไปข้างหน้าท่ามกลางความท้าทายทั้งจากโควิดและเศรษฐกิจ สามารถฝ่าฟันจนประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในนานาชาติด้วย

    “ในปี 2566 รัฐบาลจะเน้นทำงานเดินหน้าแก้ปัญหาประเทศและประชาชน อวยพรให้ทุกท่านในคณะรัฐมนตรีทำงานให้สำเร็จและเข้าใจซึ่งกันและกัน มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง” นายอนุชา กล่าว

    ขอบคุณทุกหน่วยปฏิบัติหน้าที่ช่วงวันหยุดปีใหม่

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกกระทรวงและทุกส่วนราชการที่ได้ร่วมกันจัดโครงการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ในฐานะรัฐบาลจะพยายามดูแลประชาชนอย่างเต็มที่และต่อเนื่องต่อไป

    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังขอบคุณข้าราชการ พลเรือน ทหาร ทุกหน่วยงาน อาสาสมัครที่ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลาวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ช่วยกันแก้ไขปัญหาส่วนต่างๆ และเป็นปัจจัยหนึ่งในการลดการเกิดอุบัติเหตุของประชาชน

    ติงสนามบินสุวรรณภูมิปล่อยผู้โดยสารยื่นรอรถบัส

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือรองรับผู้โดยสาร ทั้งไทยและต่างชาติในด่านตรวจคนเข้าเมืองจุดต่างๆ โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งทราบว่ายังมีการรอคอย หลังจากเครื่องบินมาถึงสนามบินแล้ว บางส่วนยังไม่ได้เข้าประตู หรือ “Gate” ยังคงไปจอดที่ลาน และรอรถบัสไปรับผู้โดยสารเข้าเทอมินอล ซึ่งอยากให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงเบื้องต้นว่า จะมีการดำเนินการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รองรับผู้โดยสารในปี 2566 และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลภาคพื้นดิน ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสะดวกสบายมากขึ้น

    สั่งทุกหน่วยเร่งดำเนินคดี กำจัดคนไม่ดีออกจากบ้านเมือง

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ขอกำชับเรื่องการดำเนินคดีต่างๆ โดยขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตามข้อมูล พยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะสาวไปถึงใคร ที่ไหน อย่างไร ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน

    ทั้งนี้ หลายคดีที่ปรากฏอยู่ในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณข้าราชการ และประชาชนที่นำข้อมูลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนสามารถนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้

    “นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าทุกหน่วยงานมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ฉะนั้นการจะพัฒนาบ้านเมือง ต้องกำจัดส่วนไม่ดีออกไป ซึ่งเป็นหลักการทำงานของนายกรัฐมนตรี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา” นายอนุชา กล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ, และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ประเมินผล พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 100 โครงการ สร้างมูลค่า ศก. 2.9 ล้านล้าน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (3 มกราคม 2566) รับทราบการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท) ครั้งที่ 2 ใช้จ่ายเงินกู้ ตามพระราชกำหนด รอบ 6 เดือน (กรกฎาคม -ธันวาคม 65) โดยการประเมินผลจะสุ่มตัวอย่างโครงการ/แผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 100 โครงการ กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติรวม 898,092.12 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายรวม 877,766.71 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.73 ของกรอบวงเงินตามที่ คณะรัฐมนตรีอนุมัติ (ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2565) โดยทั้ง 100 โครงการ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก สร้างมูลค่าผล กระทบต่อเศรษฐกิจ 2,916,074.47 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ 562,869.84 ล้านบาท เกิดความคุ้มค่า 3.55 เท่า โดยมีผลการประเมินระดับแผนงาน ดังนี้

    แผนงานที่ 1 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด- 19 การประเมินผลจำนวน 26 โครงการ กรอบวงเงินรวม 55,086.52 ล้านบาท เบิกจ่ายรวม 51,046.76 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.66 ของกรอบวงเงิน มีผลการประเมินอยู่ในระดับดี เช่น โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของ อสม.ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด – 19 ในชุมชน และโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด – 19 สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทยเพิ่มเติม 35 ล้านโดส ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 63,559.74 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐจากการจัดเก็บภาษี จำนวน 12,267.03 ล้านบาท เกิดความคุ้มค่าหรือมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ 4.65 เท่า และผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ คือ เพิ่มความสามารถด้านระบบสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส โควิด – 19 เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส โควิด – 19 เป็นต้น

    แผนงานที่ 2 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับ ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การประเมินผลจำนวน 17 โครงการ กรอบวงเงินรวม 669,688.03 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 667,393.81 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.65 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการประเมินอยู่ในระดับดี เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 2,156,189.28 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐจากการจัดเก็บภาษี จำนวน 416,212 ล้านบาท เกิดความคุ้มค่าหรือมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ 3.23 เท่า สำหรับผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ คือ เพิ่มความสามารถในการรักษาสภาพคล่อง ชะลอการเกิดหนี้เสียของภาคธุรกิจ รักษาการจ้างงานของภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจและสังคมรักษา/ชดเชยรายได้ให้กับประชาชนและเกษตรกร บรรเทาภาระค่าใช้ใช้จ่ายสาธารณูปโภค (ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า) และชะลอการเกิดหนี้เสียและการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครอบครัว อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะ เช่น ควรเพิ่มบทลงโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ และการมีระบบ ฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์และการปรับปรุงฐานข้อมูลให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน

    แผนงานที่ 3 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับ ผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีผลการประเมินอยู่ในระดับดี เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และโครงการคนละครึ่ง ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 696,325.45 ล้านบาท มีรายได้ที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุดจากการจัดเก็บภาษี จำนวน 134,390.81 ล้านบาท เกิดความคุ้มค่าหรือมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ 3.55 เท่า สำหรับผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ คือ ลดการว่างงาน การเลิกจ้างงาน สร้างงาน สร้างอาชีพ ประชาชนได้รับการฝึกอบรมด้านเกษตร ด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกิดแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และมีการพัฒนาแหล่งน้ำกักเก็บน้ำและระบบชลประทาน รวมทั้งเกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ใช้วิเคราะห์เชิงลึกเพื่อออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยมีข้อเสนอแนะ เช่น ควรพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก และให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยี และการปกป้องข้อมูลของประชาชน เป็นต้น

    ผ่าน 7 แนวทาง แก้ปัญหา PM 2.5

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ สาระสำคัญดังนี้

      1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วัน ทุกพื้นที่ เช่น บูรณาการข้อมูลสำหรับการสื่อสารในช่วงวิกฤต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือ และโต้ตอบ Fake News อย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ และเน้นการสื่อสาร ผ่านสื่อใหม่มากขึ้น เช่น Tiktok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน

      2. ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มงวด ในการควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า เตรียมความพร้อมกำลังพล บุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม ด้วยการบูรณาการความร่วมมือภาคเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต และบำรุงดูแลรักษาเครื่องยนต์รถที่ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงาน อุตสาหกรรมที่ใช้หม้อน้ำและโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง

      3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร [ชิงเก็บ ลดเผา และระบบบริการการเผาในที่โล่ง] เช่น จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาหรือมีการเผาซ้ำซาก และส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอซัง ฟางข้าว และใบอ้อยไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าเพื่อลดการเผา

      4. กำกับ ดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการ และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติการเชิงรุก เพิ่มการลงพื้นที่ควบคุมและลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จัดให้มีแพลตฟอร์ม ศูนย์รวมข้อมูลหรือช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

      5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนา ระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ เพื่อเป็นข้อมูลคาดการณ์ การเคลื่อนที่หรือการลุกลามของไฟในการเข้าระงับเหตุ และสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่าของ อปท. ที่ได้รับการถ่ายโอน ภารกิจการป้องกันและควบคุมไฟป่า รวมถึงสำรวจและตรวจสอบความครบถ้วน สมบูรณ์ของเครื่องมือดังกล่าว เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการปฏิบัติการป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟ

      6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ Roadmap และกำหนด เป้าหมายการลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน และยกระดับความร่วมมือในกรอบ คณะกรรมการชายแดนและจังหวัดคู่ขนาน เพื่อกำกับควบคุมแหล่งกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะการเผา

      7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนและดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง สร้างความเข้าใจ กับประชาชน เปิดโอกาสและสร้างช่องทางให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะหน่วยงาน ท้องถิ่น ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และจัดให้มีช่องทางรายงานผล การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่องทางสำหรับ ร้องทุกข์ เพื่อแจ้งเหตุการณ์เกิดไฟป่าหรือการเผาในที่โล่ง

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนเฉพาะกิจฯ ปี 2566 นี้มาจากการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ปี 2565 โดยปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกระดับความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการต่างๆ เน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านสื่อใหม่มากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองด้วย สิ่งสำคัญที่สุดที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุม คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้แผนเฉพาะกิจนี้ ปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

    เห็นชอบความร่วมมือด้านการศึกษา “อาเซียน – รัสเซีย”

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน – รัสเซีย พ.ศ.2565-2569 (ASEAN – Russian Federation Plan of Action on Education 2022 – 2026) แผนปฏิบัติการนี้ จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานด้านการศึกษาอาเซียน – รัสเซีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย โดยมีกลไกการดำเนินกิจกรรมผ่านคณะทำงานด้านการศึกษาอาเซียน – รัสเซีย ซึ่งจะมีการจัดประชุมคณะทำงานครั้งต่อไปในปี 2567 โดยไทยเป็นประธานร่วมกับรัสเซีย

    แผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน – รัสเซีย พ.ศ.2565 – 2569 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน ตรวจสอบ และประเมินกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย โดยจะขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

      1. เสริมสร้างและพัฒนากิจกรรมร่วมทางการศึกษา อาทิ 1) แบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีในการเสริมสร้างศักยภาพในระดับสากล 2) สนับสนุนเครือข่ายระหว่างโรงเรียนประถมและมัธยม สถาบันอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เป็นต้น

      2. เสริมสร้าง พัฒนา และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และภาควิชาการ อาทิ 1)ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนและนักวิชาการในการประชุมเชิงปฏิบัติการและงานสัมมนาต่างๆ 2) เสริมสร้างศักยภาพในการทำวิจัยให้แก่นักวิจัยผ่านโครงการและเครือข่ายอาเซียน – รัสเซีย เป็นต้น

      3. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน อาทิ 1) จัดตั้งพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างองค์กรด้านการศึกษาและภาคธุรกิจ 2) พัฒนาผลลัพธ์จากการศึกษา และการฝึกอบรมให้ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น

      4. สร้างเครือข่ายทางการศึกษาเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ 1) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนครู ผู้ช่วย นักเรียน ผู้นำโรงเรียนหรือผู้บริหาร รวมถึงอุปกรณ์การจัดการเรียนการสอนและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 2) พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูล และความร่วมมือระหว่างองค์การด้านการศึกษา เป็นต้น

      5. เสริมสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างอาเซียน – รัสเซีย อาทิ 1) เสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียน – รัสเซียในหัวข้อที่มีความสนใจร่วมกัน 2) ขยายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากแผนปฏิบัติการฉบับนี้ คือ 1)นักเรียนและเยาวชนไทยจะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมและทักษะในการใช้ชีวิต 2)เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ระหว่างกัน และ 3)ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและรัสเซีย

    มอบของขวัญปีใหม่ให้ ปชช.ในจังหวัดชายแดนใต้

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบของขวัญปีใหม่ 2566 ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้

    ด้านการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ประกอบด้วย 1. สนับสนุนอาหาร วิตามินเสริม และบริการทางสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มสุขภาวะของประชาชน จำนวน 46,819 คน 2. สนับสนุนอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตามโครงการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้อง เพื่อร่วมสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,875 แห่ง รวม 171,324 คน 3. ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษาอาหรับ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษและภาษาตุรเครีย แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับการประกอบอาชีพในอนาคต และการเตรียมภาษาให้กับนักศึกษาและผู้ที่ประสงค์จะไปศึกษาและทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกมุสลิมไม่น้อยกว่า 40,000 คน 4. แก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนที่ยั่งยืน 5 ด้าน (ฐานข้อมูล TPMAP) ไม่น้อยกว่า 1,200 ครัวเรือน

    ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 1. สนับสนุนงบประมาณแก่ผู้นำท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของหมู่บ้าน-ชุมชน ทุกหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานให้แก่องค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 200 องค์กร 3. จัดตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา เทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

    ด้านการผลักดันจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ “มหานครแห่งอาหารและบริการฮาลาล สู่ ตลาดโลก” ประกอบด้วp 1. การเพิ่มจำนวนฐานแม่วัวพันธุ์พื้นเมือง รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ตัว 2. การเพิ่มจำนวนฐานแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์แพะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 ตัว 3. ขับเคลื่อนเมืองปูทะเลโลกแบบครบวงจร เพิ่มจำนวนลูกปูเพาะพันธุ์ได้เองในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 1 ล้านตัว ครัวเรือน/กลุ่มอาชีพ มากกว่า 100 กลุ่ม และการท่องเที่ยวชุมชน 10 ขมชน 4. เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ พืชพลังงานและผลไม้รองรับการพัฒนาภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ด้านสุดท้าย คือ การเสริมสร้างพหุสังคมที่เข้มแข็ง ประกอบด้วย 1. การจัดวิ่งตามภูมิศาสตร์ “Amazean Jungle Trail Edition” 2. ปฏิทินประเพณีวัฒนธรรม 12 เดือน และ 3. การซ่อมแชมและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดที่มีอายุเกิน 100 ปี โบราณสถาน ศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์ เพื่อการเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยว

    ชื่นชมผลงานรัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ. 152 ฉบับ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาร่างกฎหมาย รวม 152 ฉบับ (ข้อมูล ณ 28 ธันวาคม 2565) ซึ่งเป็นการยืนยันเจนตนารมณ์ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการใช้กฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูประบบราชการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัย สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในทุกมิติ สำหรับร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักกการแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีจำนวน 23 ฉบับ ร่างพระราชบัญญัติที่สำงานคณะกรรมการกฤษีกาตรวจพิจารณาแล้ว จำนวน 26 ฉบับ ร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 ฉบับ ร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา จำนวน 30 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว 5 ฉบับ และประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว 67 ฉบับ ส่วนพระราชบัญญัติที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ จำนวน 7 ฉบับ มีรายละเอียด ดังนี้

    ร่างพระราชบัญญัติที่ ครม. มติอนุมัติหลักกการแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 23 ฉบับ อาทิ 1. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. 2. ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. 3. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง) 4. พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. 5. ร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. 6. ร่างพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 7. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. …. 8. ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …..

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติที่สำงานคณะกรรมการกฤษีกาตรวจพิจารณาแล้ว จำนวน 26 ฉบับ อาทิ 1. ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. ….. 2. ร่างพระราชบัญญัติกำหนดกรอบและเป้าหมายการจัดทำบริการสาธารณะและการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ….. 3. ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. ….. 4. ร่างพระราชบัญญัติการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล พ.ศ. ….. ส่วนร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย พ.ศ. ….

    สำหรับร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา จำนวน 30 ฉบับ แบ่งเป็น ร่างพระราชบัญญัติตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ รวม 3 ฉบับ คือ 1. ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….. 2. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….. 3. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติตามหมวดอื่นๆ อาทิ 1. พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อกำหนดกลไกให้ผู้กู้ยืมเงินสามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ ขยายโอกาสการเข้าถึงเงินกู้ยืม และปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุน) 2. ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ….. 3. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับกฎหมายคู่ชีวิต) 4. ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. …. 5. พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. ….

    ร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว มีจำนวน 72 ฉบับ ซึ่งอยู่ระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯ 5 ฉบับ อาทิ 1. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 2. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 3. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ส่วนร่างพระราชบัญญัติที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 67 ฉบับ อาทิ 1. พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 2. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ 2564 (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก แก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ) 3. พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ฉบับที่ 2 พ.ศ 2564 4. พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นพ.ศ. 2565 5. พระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 6. พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. 2565 7. พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 8. พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ยังมีกฎหมายใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ (ข้อมูล ณ 28 ธันวาคม 2565) รวม 7 ฉบับ อาทิ 1. พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ 2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 10 มกราคม 2566 2. พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงพ.ศ 2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 23 มกราคม 2566 3. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 และ 4. พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 22 มิถุนายน 2566

    เว้นค่าธรรมเนียมใบแทนขึ้นทะเบียน-บัตรประกันสังคม 2 ปี

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม และใบแทนบัตรประกันสังคม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการและการประกอบธุรกิจ โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเท่าที่จำเป็นที่ไม่เป็นการสร้างภาระให้กับภาครัฐและประชาชน

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 2 มกราคม 2563 ให้ทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการโดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ในกรณีค่าธรรมเนียมใบคำขอและใบแทน หากรายได้ที่ได้รับจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่าต้นทุนของภาครัฐในการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้หน่วยงานพิจารณายกเลิกค่าธรรมเนียม หรืออัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า 100 บาท หรือรายได้จัดเก็บ ไม่เกิน 500,000 บาทต่อใบอนุญาตให้พิจารณายกเลิกค่าธรรมเนียม โดยให้มีการทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมทุก 5 ปี เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และให้พิจารณาแนวทางการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมหรืออาจยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ จึงเสนอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและใบแทนบัตรประกันสังคม

    “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งลดภาระค่าธรรมเนียมให้ประชาชนและลดภาระให้กับนายจ้างและผู้ประกันตน จึงเห็นชอบร่างกฎกระทรวงนี้เพื่อให้เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคมฉบับละ 50 บาท และค่าธรรมเนียมใบแทนบัตรประกันสังคมฉบับละ 10 บาท เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567” นางสาวทิพานัน กล่าว

    เห็นชอบแผนพัฒนากีฬาฯ ฉบับที่ 7

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติเสนอ อนุมัติร่างแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566-2570) ที่สอดคล้องกับแผนต่างๆ อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งแผนดังกล่าวมีฐานะเป็นแผนระดับที่ 3 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทาแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อให้การกีฬาเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้ไทยมีทิศทางการพัฒนาการกีฬาอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดสาระสำคัญของแผนสรุปได้ ดังนี้

    1. วิสัยทัศน์ “กีฬาพัฒนาคน สังคม และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทย” และพันธกิจ คือ การกีฬาเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม และเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

    2. เป้าประสงค์และตัวชี้วัดหลัก คือ

      2.1 ประชาชนทุกกลุ่ม (เด็ก เยาวชน และประชาชน) มีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570
      2.2 นักกีฬาผู้แทนของไทยประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ โดยอยู่ในอับดับ 6 ในระดับเอเชียในรายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ กีฬาเอเชียนเกมส์ และกีฬาเอเชียนพาราเกมส์ภายในปี 2570
      2.3 บุคลากรด้านการกีฬาทั่วประเทศได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี
      2.4 อุตสาหกรรมการกีฬามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬานั้น แผนการดำเนินการจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดย 1. มีจำนวนและมูลค่ารายได้ของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการกีฬามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี 2. มูลค่าการส่งออกทางการกีฬาโดยรวมมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี 3. มูลค่าทางเศรษฐกิจในการจัดการแข่งขันกีฬาในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี 4. มีมาตรการด้านการเงินและ/หรือภาษีเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา 5. พัฒนาเมืองกีฬาให้สำเร็จและยั่งยืนอย่างน้อยปีละ 1 แห่ง 6. มีการจัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศด้านการกีฬา (Gross Domestic Sport Product: GDSP) และการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return On Investment: SROI) ที่เกี่ยวข้องภายในปี 2566 และ 7. การลงทุนจากภาครัฐและ/หรือภาคเอกชนในการค้นคว้าและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมการกีฬามีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่าอัตราการเจริญเติบโตของมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในภาพรวมของประเทศในแต่ละปี

    “ในที่ประชุมมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ให้พิจารณาให้ความสำคัญกับการฝึกสมรรถภาพทางกายให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัยเพื่อสร้างความแข็งแรง และสมบูรณ์ทางร่างกาย และการเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกทักษะกีฬาขั้นพื้นฐาน และการฝึกเพื่อพัฒนาสมรรถภาพ และขีดความสามารถให้ได้ระดับสูงสุดต่อไป และสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาการกีฬาและการจัดหมวดหมู่ประเภทกีฬาที่ไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ต่ออายุใบอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยา

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ…. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

    โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ จะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา เพื่อรองรับการสิ้นอายุใบสำคัญฯ เช่น ระยะเวลาการยื่นคำขอต่ออายุที่ผู้รับใบสำคัญฯ ต้องยื่นคำขอต่ออายุภายใน 1 ปี ก่อนวันที่ใบสำคัญฯ จะสิ้นอายุ กำหนดเอกสารหลักฐานในการยื่น ขั้นตอนและการดำเนินการของผู้อนุญาต และการให้ดำเนินการยื่นคำขอต่ออายุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เป็นต้น

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า เดิมนั้น ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาจะมีอายุตราบเท่าที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นผู้ผลิต หรือนำ หรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร หากไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี ให้ทะเบียนตำรับยานั้นเป็นอันยกเลิก แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขอายุใบสำคัญฯ โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้สิ้นอายุเมื่อครบ 7 ปี นับแต่วันที่ออกใบสำคัญฯ ส่วนใบสำคัญฯ ที่ออกให้ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ให้ทยอยสิ้นอายุ ดังนี้ 1) ที่ออกก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2540 ให้สิ้นอายุเมื่อครบ 5 ปี 2) ที่ออกระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2540 – 31 ธ.ค. 2550 ให้สิ้นอายุเมื่อครบ 7 ปี และ 3) ที่ออกระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2551 – ถึงวันที่ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2562 ใช้บังคับ ให้สิ้นอายุเมื่อครบ 9 ปี

    จากผลของข้อกฎหมายดังกล่าว ทำให้มีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาทยอยสิ้นอายุ เริ่มจากปี 2567 จะมีการสิ้นอายุ 4,135 ทะเบียนตำรับยา ปี 2569 มีจำนวน 4,875 ทะเบียนตำรับยา และปี 2571 มีจำนวน 6,626 ทะเบียนตำรับยา ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอต่ออายุ ตามร่างกฎกระทรวงนี้จึงเป็นมาตรการควบคุมและดูแลยาที่จะนำไปใช้แก่มนุษย์หรือสัตว์ให้มีคุณภาพและปลอดภัย อันจะเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนผู้ใช้ยา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าด้านยา รวมทั้งทำให้เกิดการปรับปรุงทะเบียนยาให้มีความทันสมัยตามหลักวิชาการอยู่เสมอ

    ชู 4 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนแผนพัฒนาท่องเที่ยวฯ ฉบับที่ 3

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบและประกาศใช้แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-70) หรือแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่ 3 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงานเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ ระดับพื้นที่ และท้องถิ่นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

    ทั้งนี้ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวฉบับที่ 3 จะเป็นกรอบการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ซึ่งจะมีทั้งมิติการพัฒนา และการแก้ไข ฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความปกติถัดไป (Next Normal) แผนมีระยะเวลา 5 ปี มีวิสัยทัศน์ตามแผนคือ “การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว เติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม” (Rebuilding High Value Tourism Industry with Resilience, Sustainability and Inclusive Growth)

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า แผนพัฒนาการท่องเที่ยว ฉบับที่ 3 มีเป้าหมายหลัก คือ การท่องเที่ยวไทยต้องมีความเข้มแข็งและสมดุล ยกระดับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นและมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวคุณค่าสูง และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป้าหมายรอง คือ การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพสูงทุกกลุ่ม ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว มีความพร้อมในการรับมือและจัดการความเสี่ยงทุกรูปแบบเสมอ

    มีตัวชี้วัดสำคัญในระยะ 5 ปี เช่น สัดส่วนจีดีพีด้านการท่องเที่ยวต่อจีดีพีประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25, จำนวนธุรกิจบริการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย และอาเซียนเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย, ระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ต่ำกว่า 10 วัน และค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี , ระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่ต่ำกว่า 3 วัน และค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 ต่อปี, สัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางครั้งแรก(First Visit) และกลุ่มเดินทางซ้ำ (Revisit) เป็น 40:60 และอันดับการดำเนินงานภาพรวมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) อยู่ใน 35 อันดับแรก

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการท่องเที่ยวฉบับที่ 3 เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย และบรรลุตัวชี้วัดข้างต้น จะดำเนินการผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

    ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย (Resilient Tourism) ตัวอย่างการดำเนินกลยุทธ์ เช่น กระจายรายได้และความเจริญทางการท่องเที่ยวทั่วถึงทุกพื้นที่ ลดการรั่วไหลในภาคการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพที่มุ่งเน้นสร้างความสมดุลทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานการท่องเที่ยว มีตัวชี้วัดสำคัญคือ อัตราการเติบโตของรายได้ของการท่องเที่ยว 12 สาขา เท่ากับ ร้อยละ 4.5 ในปี 2570, จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับการยกระดับมูลค่าของสินค้า/บริการ 12,500 รายในปี 2570

    ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาปัจจัยพื้นฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพสูง(Quality Tourism) ตัวอย่างการดำเนินการตามกลยุทธ์ เช่น พัฒนาความปลอดภัย สุขอนามัยและมาตรฐานการท่องเที่ยวตลอดเส้นทางเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและสารสนเทศ สนับสนุนการใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเพื่อกำหนดนโยบายระดับประเทศและการวางแผนของผู้ประกอบการ มีตัวชี้วัดสำคัญ เช่น คะแนนความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว7 ด้านเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ใช้บริการฐานข้อมูลศูนย์กลางข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ในปี 2570 อัตราการเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง

    ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว(Tourism Experience) ตัวอย่างการดำเนินการตามกลยุทธ์ เช่น ส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูงที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ส่งเสริมการตลาดเชิงรุก เน้นกลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ มีตัวชี้วัดสำคัญ เช่น ระดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 0.05 คะแนนต่อปี อัตราการเติบโตของรายได้และรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงในไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในแต่ละปี อันดับ Global Wellness Travel อยู่ในอันดับ 1 ใน 5 ภายในปี 2570

    ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) ตัวอย่างการดำเนินการตามกลยุทธ์ เช่น ส่งเสริมความสมบูรณ์แก่สิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อยอดทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วยการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการนักท่องเที่ยว มีตัวชี้วัดสำคัญ เช่น ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างขยะลดลงร้อยละ 2 ต่อปี จำนวนแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจบริการท่องเที่ยวได้รับมาตรฐานความยั่วยืนในระดับสากล(GSTC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในปี 2570 มูลค่าการลงทุนและสัดส่วนสะสมทุนถาวรเพื่อการท่องเที่ยวในมิติวัฒนธรรมต่อมูลค่าการสะสมทุนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี ในปี 2570

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนแผนนั้นจะมีการขับเคลื่อนผ่าน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ผ่านคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.), ระดับพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยว คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ และคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และระดับท้องถิ่น ผ่าน กลุ่ม/องค์กร หรือเครือข่ายองค์กร เช่นวิสาหกิจชุมชน

    ส่วนการติดตามและประเมินผลตามแผนนั้น ประกอบด้วยการประเมินผลรายปี ในส่วนของการดำเนินการตามเป้าหมายและตัวชี้วัดหลัก, รายยุทธศาสตร์ และรายโครงการ รวมถึงการประเมินผลในแต่ละระยะแบ่งเป็น ระยะที่1 สำหรับการดำเนินการตามแผนในปีที่ 1-2 (2566-67) และระยะที่2 สำหรับการดำเนินการตามแผนในปีที่ 3-5 (2568-70)

    ตั้ง “จาตุรนต์ ภักดีวานิช” ขึ้นอธิบดีกรมการท่องเที่ยว

    นางสาวไตรศุลี กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ (สำนักงาน ก.พ.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นางสาวอลินี ธนะวัฒน์สัจจะเสรี ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ) สำนักงาน ก.พ. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565

      2. นางสาววราภรณ์ ตั้งตระกูล ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ) สำนักงาน ก.พ. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2565

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้ง นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการท่องเที่ยว เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์) ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 3 มกราคม 2566 เพิ่มเติม