ประสาท มีแต้ม
“ภายในปี 2030 ถ้าผลิตไฟฟ้าทั้งหมดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ กังหันลมและแบตเตอรี่ ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะไม่เกิน 1 บาทต่อหน่วย ไฟฟ้าที่ได้จะเพียงพอกับความต้องการไฟฟ้าทั้งหมด 100% และหากลงทุนเพิ่มอีก 20% จะได้พลังงานเพิ่มขึ้น 200-300% จะกลายเป็น “Super Power” โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน และอื่นๆเลย”
ช่วงนี้สังคมไทยกำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องค่าไฟฟ้าแพงกันอย่างเซ็งแซ่เพราะว่ามี 2 ปัจจัยมาบรรจบกันพอดี คือหนึ่ง เพราะค่าไฟฟ้ามันแพงจริงๆเป็นประวัติกาล และ สองเพราะกำลังมีการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ละพรรคต่างก็เสนอนโยบายลดค่าไฟฟ้ากันต่างๆ นานา ในทัศนะของผมแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิงหากยังคงรักษาระบบการวางนโยบายและการผลิตแบบเดิม ๆ
ผมจะไม่ขอวิจารณ์ในประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ แต่จะยกเอาผลงานวิจัยชิ้นสำคัญของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford สหรัฐอเมริกามาเล่าสู่กันฟัง ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะไม่เคยได้ยินมาก่อนและคิดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ และไม่ใช่แค่ของแนวคิดที่อยากให้รับรู้กันเท่านั้น แต่อย่างที่ผมนำมาเป็นชื่อบทความว่า โรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและที่นักการเมืองอนุมัติให้สร้างใหม่ในอนาคตแบบทิ้งทวน จำนวนรวมกันในอนาคตอันใกล้กว่า 7 หมื่นเมกะวัตต์นั้น จะกลายเป็นสุสานหรือขยะกองโต
หัวหน้าทีมนักวิจัยที่ผมกล่าวถึงนี้เคยได้รับเชิญให้มาบรรยายในเมืองไทย ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2559 หัวข้อบรรยายคือ “ทำไมพลังงานและการขนส่งในปัจจุบันจะล้าสมัยภายในปี 2030” นักวิจัยผู้นี้ชื่อ Tony Seba
หลังการบรรยาย หนังสือพิมพ์ The Nation (16 พ.ค.2559) สรุปว่า “เวลาของคุณหมดลงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจาก Stanford บอกกับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม”
คุณ Tony Seba มีชื่อเสียงระดับโลกจากหนังสือที่เขาแต่งเมื่อปี 2014 และต่อมาเขาได้จัดตั้งทีมวิจัยที่ชื่อ “Rethink X” โดยผลงานวิจัยที่ผมกล่าวถึงนี้ได้ตีพิมพ์ในปี 2020
เนื่องจากผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้จากอินเทอร์เนตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผมจึงขอนำมาเสนอดังภาพ เผื่อว่าท่านที่สนใจสามารถนำมาศึกษาเพิ่มเติมกันได้
ผลงานวิจัยสรุปว่า ภายในปี 2030 พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจาก 3 เทคโนโลยีคือ โซลาร์เซลล์ กังหันลม และแบตเตอรี่ จะสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทั้ง 100% ของความต้องการ ไฟฟ้าดังกล่าวมีความต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน โดยที่ต้นทุนในการผลิตจะไม่เกิน 3 เซ็นต์ หรือไม่เกิน 1 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
ผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลแสงแดดและลมในหลายรัฐของประเทศหลายพันชุด แล้วคำนวณออกมาเป็นพลังงานไฟฟ้าตลอดทั้งปีหรือ 8,760 ชั่วโมง เมื่อนำมาวิเคราะห์แล้วพบว่า ต้องใช้แบตเตอรี่มาเก็บไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้และนำไฟฟ้าออกมาใช้ในช่วงที่ไม่พอใช้ จึงทำให้มีไฟฟ้าพอกับความต้องการตลอดเวลา ตลอดไป
ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลราคาโซลาร์เซลล์ กังหันลมและแบตเตอรี่ย้อนหลัง 10 ปี คือ 2010 จนถึง 2020 แล้วพยากรณ์ไปในอีก 10 ปีข้างหน้าจนถึง 2030 แนวคิดที่ใช้ในการพยากรณ์ไม่ใช่แบบเชิงเส้นที่นักพยากรณ์ส่วนใหญ่นิยมใช้ แต่ทีมวิจัยชุดนี้ใช้แนวคิด “S-Curve” (เส้นโค้งตัวอักษร S) ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าถูกลงอย่างรวดเร็วแค่ 1 บาทต่อหน่วยภายในปี 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้าเท่านั้น
ถามว่าทำไมราคาพลังงานไฟฟ้าจึงถูกลงขนาดนี้
เหตุผลสำคัญเพราะว่าเทคโนโลยีซึ่งโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นระบบเผาไหม้ภายใน (ใช้ความรู้ฟิสิกส์แบบดั้งเดิม) โดยใช้เชื้อเพลิงไปทำให้เกิดความร้อน เกิดไอน้ำและใช้แรงดันไอน้ำไปหมุนชิ้นส่วนอื่นๆ กว่าจะเกิดไฟฟ้าได้ต้องสูญเสียเชื้อเพลิงไปเป็นความร้อน(ไม่ใช่ไฟฟ้า) ถึง 62% จึงมีเหลือเป็นไฟฟ้าเพียง 38% เท่านั้น และกว่าที่ไฟฟ้าจะมาถึงบ้านเราก็สูญเสียพลังงานไปอีกไม่น้อย แต่เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์(ใช้ความรู้ฟิสิกส์ยุคใหม่) สามารถเกิดไฟฟ้าได้ทันทีที่แสงอาทิตย์กระทบกับแผ่นโซลาร์ที่อยู่บนหลังคาบ้านเราเอง รถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นเดียวกันพลังงานที่สูญเสียไปเป็นความร้อนมากถึง 80% ที่เหลือใช้กับการเคลื่อนที่เพียง 20% เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆ เช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนามาบนฐานของวิชาฟิสิกส์ยุคใหม่ ทั้งวัสดุศาสตร์ สารกึ่งตัวนำ รวมทั้งขนาดทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใช้มาก ยิ่งมีราคาถูกลง เป็นต้น
ผมเองเป็นนักคณิตศาสตร์ และสนใจการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ แม้ผมไม่ทราบในรายละเอียดมากนัก แต่ผมเข้าใจในแนวคิดของเขาและเชื่อว่าเป็นไปได้จริง ๆครับ
ผู้วิจัยได้คำนวณต้นทุนที่จะต้องใช้เพื่อให้ได้ “100% SWB” (100% โซลาร์ ลม และแบตเตอรี่) พบว่าใช้งบในการลงทุนประมาณ 1% ของจีดีพีของสหรัฐอเมริกาติดต่อกัน 10 ปี
เราอาจจะยังไม่เข้าใจว่างบประมาณ 1% ของจีดีพีนั้นมากหรือน้อยกันแน่ แต่ข้อมูลของกระทรวงพลังงานของประเทศไทยเราเองพบว่า ในปี 2564 และ 2565 ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานขั้นสุดท้ายของคนไทยคิดเป็น 12.2% และ 14.6% ของจีดีพี ตามลำดับ ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบต่อไปว่า “การตอบสนองความต้องการไฟฟ้า 100% ด้วย SWB นั้นแค่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น” แต่ถ้าลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเพียง 20% ของที่ลงทุนในแต่ละปี จะได้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงขั้นที่เรียกว่า “Super Power” โดยที่ไฟฟ้าที่ได้มานอกจากจะเพียงพอสำหรับการใช้ไฟฟ้าในปกติแล้ว แต่ยังเพียงพอสำหรับกิจกรรมสำคัญอีก 5 ด้าน คือ
-
1) การขนส่งทั้งหมดทั้งประเทศ
2) การบำบัดน้ำเสียและการทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด
3) เพียงพอสำหรับการทำน้ำอุ่น
4) เพียงพอสำหรับการรีไซเคิลขยะพลาสติก
5) เพียงพอสำหรับการถลุงเหล็กและการทำเหมือง Bit Coin ด้วย ผมมีภาพมาแถมด้วยครับ
พูดกันชัดๆก็คือ หมดยุคพลังงานฟอสซิลแล้ว
ยังจำไหมครับ ครั้งหนึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยพูดว่า “พลังงานแสงอาทิตย์มีน้อย ไม่เสถียร และมีราคาแพง” ผลงานวิจัยของกลุ่มนี้สามารถหักล้างคำพูดดังกล่าวได้ทั้ง 3 ประเด็น
ผมเองไม่ได้ศึกษาผลงานวิจัยชิ้นนี้เพียงชิ้นเดียว แล้วนำมาเผยแพร่ต่อโดยไม่กลั่นกรอง แต่ผมได้ศึกษาผลงานเชิงแนวคิดและผลงานมีงานวิจัยของหลายแหล่ง เช่น มหาวิทยาลัย Oxford ที่บอกว่า “ถ้าโลกเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลไปใช้พลังงานหมุนเวียนจะประหยัดเงินของโลกได้ 12 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐภายในปี 2050” (เขียนโดย Jonah Fisher, BBC Environment Correspondent, 12 กันยายน 2022) หรือประมาณ 13% ของจีดีพีของโลก ผลวิจัยนี้เป็นไปในทำนองเดียวกับกลุ่ม Rethink X
นอกจากนี้ จากหนังสือการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 3 (The Third Industrial Revolution) โดย Jeremy Rifkin (พิมพ์ปี 2011) ได้ระบุว่า นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา โลกได้มีระบบ Internet ทำให้เราสามารถส่งข้อมูลข่าวสาร ภาพถ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนและซื้อขายระหว่างกันได้ ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่วิทยุ โทรทัศน์เหมือนสมัยก่อน พร้อมๆกันนี้โลกก็มี “Energy Internet” เพื่อให้เราสามารถส่งพลังงานไฟฟ้าไปแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ เหมือนกับที่เราแลกข้อมูลกันนั่นแหละ
ผู้บริโภคที่เคยต้องซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตัวเองและส่งขายในระบบ “Energy Internet” ได้ ผู้บริโภคที่เคยควักประเป๋าจ่ายอย่างเดียว(Consumer) ก็กลายเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ขาย(Prosumer)ในคนเดียวกัน นั่นคือ มีเงินไหลเข้ามาสู่กระเป๋าตนเองได้ด้วย ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ลดลง รวมทั้งความเหลื่อมระหว่างประเทศก็ลดลงด้วย เพราะทุกประเทศต่างก็มีแสงอาทิตย์และสายลมเป็นของตนเอง ตรงกันข้ามกับน้ำมัน ก๊าซและถ่านหินกระจุกตัวอยู่ในบางประเทศเพียง 1 ใน 4 ของโลกเท่านั้น ที่เหลือ 3 ใน 4 ต้องเป็นผู้ซื้ออย่างเดียว
ผมเองมีบทเรียนตรงที่อยากจะเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง คือเมื่อกลางปี 2516 ภาควิชาที่ผมทำงานด้วยเป็นภาควิชาใหม่ได้สั่งซื้อเครื่องคิดเลขทั้งแบบกลไกที่ใช้มือหมุน(ถ้าต้องคูณเลขใดด้วย 23 ก็ต้องหมุน 23 รอบ) ซื้อเครื่องคิดเลขไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะที่ใช้หลอดสุญญากาศ ผมจำได้ดีว่าบางเครื่องราคาสูง 3 หมื่นบาท (ในขณะที่เงินเดือนผมตอนนั้น 1,320 บาท) แต่พอถึงปลายปี อาสาสมัครจากประเทศเยอรมนีได้ซื้อเครื่องคิดเลขแบบพกพาราคาเพียง 8,500 บาท มีประสิทธิภาพสูงกว่าด้วย หลังจากนั้นไม่นานเครื่องคิดเลขที่ผมซื้อก็ถูกเก็บเข้าตู้เหล็กจนถึงทุกวันนี้
กลับมาที่โรงไฟฟ้าของประเทศไทย นับถึงสิ้นปี 2565 เรามีกำลังผลิตตามสัญญาประมาณ 5.3 หมื่นเมกะวัตต์ คาดว่าในปี พ.ศ. 2573(ตามแผนพีดีพี 2018) เราจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 7 หมื่นเมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนประมาณ 3 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ 100% SWB มีต้นทุนเพียง 1 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
ผมเชื่อว่าอีกไม่นานโรงไฟฟ้าจำนวนกว่า 7 หมื่นเมกะวัตต์ในประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทที่คนไทยเป็นผู้จ่าย(ด้วยสัญญาค่าความพร้อมจ่ายที่รัฐบาลกำหนด) ก็จะเป็นกองขยะเหมือนกับที่ผมเคยเจอมาแล้วเมื่อ 50 ปีก่อน จึงขอเตือนมาด้วยความห่วงใยครับ