ThaiPublica > คอลัมน์ > เด็กเกิดน้อยกว่าตาย ทำเศรษฐกิจ สังคม เสี่ยง

เด็กเกิดน้อยกว่าตาย ทำเศรษฐกิจ สังคม เสี่ยง

14 มีนาคม 2023


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

เด็กเกิดน้อยกลายเป็นวาระแห่งโลกไปแล้ว และคาดว่าผลจากสัดส่วนประชากรที่เปลี่ยนไป จะส่งผลต่อประเทศต่างๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยของเรา

สัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อรายงานว่า สำนักงานสถิติเกาหลีแจ้งว่า ปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่ทั้งสิ้น 249,000 คน ลดลงร้อยละ 4.4 จากปี 2564 ที่มีเด็กเกิดใหม่น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ อัตราการเจริญพันธุ์ของสตรีเกาหลีใต้ในปี 2565 อยู่ที่ 0.78 ต่ำที่สุดนับตั้งแต่สำนักงานฯ เริ่มเก็บบันทึกข้อมูลในปี 2513 และเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้วที่อัตราเจริญพันธุ์ไม่ถึง 1 คน ทั้งที่ควรจะไม่ต่ำกว่า 2.1 เพื่อรักษาจำนวนประชากรไว้ทรงตัวที่ 52 ล้านคนในปัจจุบัน

ก่อนหน้านั้นมีรายงานว่า จำนวนประชากรจีนในปี 2565 ปรับตัวลดลงเหลือ 1,411 ล้านคนโดยประมาณ ถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี ก่อนหน้านี้สื่อรายงานว่า จีนอาจเสียตำแหน่งแชมป์ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกให้แก่อินเดีย โดยบีบีซีเคยรายก่อนหน้านี้ว่า เมื่อปี 2563 อัตราการเจริญพันธุ์ หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงทั่วโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.7 คนในปี 2643 และเมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศตกลงต่ำกว่าประมาณ 2.1 จำนวนประชากรจะเริ่มหดตัวลง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะปรับตัวถึงจุดสูงสุดที่ราว 9,700 ล้านคนในปี 2607 ก่อนจะปรับตัวลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2643 ในที่สุด

รายงานยังระบุด้วยว่า ประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอัตราการเจริญพันธุ์ปรับลดลงจนประชากรอาจจะปรับลดลงมากถึง 50% ในปี 2643 มีมากถึง 23 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไทย, สเปน, อิตาลี, เกาหลีใต้ และอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งโต๊ะแถลงเรื่องอัตราการเกิดที่ลดลง หมอโอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ และโฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยกประเด็นปัญหาเด็กเกิดน้อยขึ้นมากล่าวตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่เด็กเกิดน้อยมาจากหลายปัจจัย เช่น คนรุ่นใหม่ที่ยังโสด มองว่าการมีบุตรทำให้เสียโอกาสในการทำงานและท่องเที่ยว หรือกรณีคู่แต่งงาน ที่ชะลอหรือตัดสินใจไม่มีบุตร อาจมีเหตุผลเดียวกับคนโสด หรือประสบปัญหามีบุตรยาก และยังไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว รวมถึงสภาพสังคมปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยด้านความปลอดภัย

หมอโอฬาริกระบุว่า ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรของไทยในอนาคต ส่งผลให้สัดส่วนผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน (กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 15 = 59 ปี) เพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรในวัยทำงานต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งเลี้ยงตัวเองและพร้อมดูแลผู้สูงอายุ ผลที่ตามมาคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้องพึ่งแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียยงพอกับงบประมาณในการบริหารประเทศ รวมไปถึงกองทุนสวัสดิการต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปด้วย

งานแถลงข่าวเดียวกันนั้น สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถือโอกาสกระตุ้นคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ให้เร่งนำเสนอกฎหมาย ตลอดจนแนวนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายใหญ่ สำหรับนำไปเสนอพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองออกนโยบายและขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม

กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและตาย ตื่นตัวกับปัญหาเด็กเกิดน้อยมาหลายปีแล้ว หลังอัตราเกิดของเด็กไทยลดลงต่อเนื่องในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา โดยอัตราเกิดปี 2555 อยู่ที่ 800,000 คนโดยประมาณ ปี 2560 เหลือ 700,000 คน และ ปี 2565 ที่ผ่านมาลดลงเหลือ 500,000 คน ตามข้อมูลสำนักสถิติแห่งชาติ อัตราการเกิดที่ลดลงต่อเนื่อง นำไปสู่ปรากฏการณ์ เกิดน้อยกว่าตายครั้งแรกในปี 2564 ที่ประเทศไทยมีการตายมากกว่าเกิด 19,080 คน สวนทางกับปี 2563 ที่เกิดมากกว่าตาย 85,930 คน

ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้อยู่บ้าง เช่น ปี 2561 ให้ผู้มีบุตรตามกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 ขึ้นไปสามารถนำมาหักลดหย่อนเพิ่มได้อีก 30,000 บาทต่อปี จากเดิมที่ให้อยู่แล้วในอัตราเดียวกัน หรือปี 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันออกมาตรการเพื่ออุดหนุนการมีลูกออกมาจำนวนมาก ตัวอย่าง เช่น กรมอนามัย มอบสิทธิตรวจดาวน์ซินโดรมหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มอายุและทุกการตั้งครรภ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อุดหนุนเด็กแรกเกิดเดือนละ 600 บาทต่อคนนาน 6 ปี ฯลฯ

จากการสำรวจนโยบายพรรคการเมืองตามเสาไฟฟ้าในเมืองหลวงในช่วงนี้ ยังไม่พบพรรคใดนำปัญหาเด็กเกิดน้อยกว่าตายมาแปรเป็นนโยบาย ทุกพรรคระดมชูประชานิยมเป็นจุดขายทั้งสิ้น บำนาญสามพันบาท เงินเดือนสองหมื่นห้า พักหนี้ เลิกแบล็กลิสต์ บัตรสวัสดิการสามร้อย สวัสดิการพลัสพันบาท ประกันราคา ลดราคาน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบายที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพการคลังของประเทศทั้งสิ้น

นักวิชาการเคยออกมาประเมินว่า หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ ภายในปี 2643 ไทยจะมีประชากรราว 46 ล้านคน ลดจาก 65 ล้านคนในปัจจุบัน จำนวนประชากรที่หายไปจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตามเช่นที่เคยเกิดในญี่ปุ่น และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจะเติมความเครียดให้กับผู้คนในระดับที่ยากคาดเดา