ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > นายกฯเคาะ-ชง ครม.แก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

นายกฯเคาะ-ชง ครม.แก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

1 มีนาคม 2023


เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2566 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายกฯเคาะชง ครม.แก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมทุนโครงการ “แอร์พอร์ตเรลลิงก์” ให้กับ รฟท. 10,671 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสอีก 1,060 ล้านบาท ยันไม่ขัดต่อกฎหมาย – รัฐไม่เสียประโยชน์ – รฟท.ได้เงินครบ – ไม่ต้องแบกรับภาระขาดทุน

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ “EEC” ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุม กพอ.ในวันนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการขับเคลื่อนโครงการ EEC ว่า เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลในการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยที่ผ่านมาการพัฒนาโครงการภายใต้ EEC ยังมีปัญหาติดขัดอยู่บ้างทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามเป้าหมายในบางกิจกรรม ซึ่งปัญหาหลายอย่างไม่ได้อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล เช่น ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้การพิจารณาประเด็นหลัก ๆ ของที่ประชุมวันนี้ จะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ถือเป็นโครงการหลักที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของ EEC ในภาพรวม จึงขอให้กรรมการทุกคนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ รวมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนร่วมมือกันดำเนินการต่าง ๆ อย่างสุดความสามารถ ควบคู่กับการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งคนในพื้นที่และในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการพัฒนา EEC เป็นการพัฒนาในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งหากเกิดปัญหาในการดำเนินการทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน โดยในกระบวนการหาทางออกของภาครัฐ ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา การพัฒนาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ควบคู่กับการพิจารณาเรื่องผลประโยชน์ให้กับภาคเอกชนอย่างเหมาะสม โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเจ้าของโครงการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ ชี้แจงด้วยหลักการและเหตุผลเป็นในแนวทางเดียวกัน

สำหรับที่ประชุม กพอ.วันนี้ได้มีการพิจารณา และเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้ ที่ประชุม กพอ. มีมติเห็นชอบหลักการเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย กรณีเกิดผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้งจากสถานการณ์โควิด -19 ปัญหาความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจำนวนยอดผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) ที่ลดลงอย่างมากในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทุกฝ่ายได้พยายามหาแนวทางร่วมกันแก้ไขอย่างรอบคอบ บนหลักการไม่ขัดต่อกฎหมาย อยู่บนความร่วมมือรัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน ซึ่งหลักการบรรเทาผลกระทบที่สำคัญ โดยเสนอการปรับสัญญาตามขั้นตอนของกฎหมาย ประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท. ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท. อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมทั้งเอกชนยังรับภาระหนี้ตามเดิม ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ที่รัฐไม่เสียประโยชน์ สร้างความเป็นธรรม และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร พร้อมช่วยให้บริการ ARL เกิดความต่อเนื่อง ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น รฟท.ไม่ต้องรับภาระขาดทุน และได้รับดอกเบี้ยชดเชยค่าเสียโอกาสครบถ้วน ภาคเอกชนสามารถแก้ปัญหาการเงิน รับสิทธิ์เดินรถ ARL พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้ดีขึ้นได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กพอ.จะนำเสนอให้ ครม.เพื่อทราบ พร้อมมอบหมาย บอร์ด รฟท. พิจารณาการเสนอขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ขณะนี้ รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 160 กม. และพื้นที่บริเวณมักกะสัน (TOD) จำนวน 140 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที โดยคาดว่าการก่อสร้างและทดสอบระบบ พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570 เมื่อโครงการ ฯ แล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา และจะสามารถเชื่อมโยงการเดินทางแบบไร้รอยต่อ เชื่อมกรุงเทพฯ สู่พื้นที่อีอีซี ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ เพิ่มรายได้การท่องเที่ยว สร้างประโยชน์ตรงถึงชุมชน เกิดการจ้างงานภาคธุรกิจ ไม่น้อยกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี ภาคแรงงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 16,000 อัตรา ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกสู่ประเทศไทย

นอกจากนี้ กพอ. ได้รับทราบถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างสนามบินให้เอกชนแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง และ กพอ.ได้มอบหมายกองทัพเรือเริ่มขั้นตอนจ้างผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 เพื่อให้เงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน คาดว่าเดือนเมษายน 2566 สกพอ. สามารถแจ้งให้เริ่มนับระยะเวลาพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออกได้

  • ซีพีชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เสนอ 117,227 ล้านบาท – ต่ำกว่าบีทีเอส 52,707 ล้านบาท
  • “บอร์ด EEC” ไฟเขียว “รถไฟความเร็วสูง” เชื่อม 3 สนามบินวงเงิน 2 แสนล้าน
  • “คณิศ แสงสุพรรณ” 4 ปี EEC เดินหน้า หรือถอยหลัง!!