ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > EEC “องค์กรต้นแบบ”แห่งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

EEC “องค์กรต้นแบบ”แห่งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

4 กุมภาพันธ์ 2021


“หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนงานโครงสร้างพื้นฐานของ EEC คือ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจในปัญหาของแต่หน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติ รวมทั้งหาวิธีการแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะ ส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นี่คือวิธีการทำงานของ EEC”

ปัญหาของเมืองไทยในเรื่องของการขับเคลื่อนงานทางด้านเศรษฐกิจ หรือ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ในอดีตที่ผ่านมามักจะมีปัญหาเรื่องการทำงานที่ขาดการบูรณาการ คือ ต่างคน ต่างทำ แยกกันทำเป็นรายกระทรวง ไล่เรียงลงมากันจนถึงระดับล่าง กระทั่งหน่วยงานในพื้นที่ต่างจังหวัด ก็แยกกันทำเป็นส่วน ๆ ยกตัวอย่าง การจัดทำผังเมืองก็ต้องทำเป็นผังเมืองแต่ละจังหวัด การพัฒนาภาคการเกษตรขึ้นอยู่กับเกษตรแต่ละจังหวัด ขณะที่กลไกการทำงานทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ไม่ได้มาร่วมมือกันทำงานให้เป็นชิ้นเดียวกัน ทำให้บ่อยครั้งโครงการสำคัญไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมาย

จากบทเรียนในอดีตนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ “EEC” ให้เป็นองค์กรต้นแบบแห่งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. ให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้าว่า “จริง ๆแล้ว EEC ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา , ชลบุรี และระยอง) กับส่วนกลาง ช่วงแรกผมก็พยายามบอกส่วนราชการในพื้นที่ว่าเราไม่ควรทำงานเป็นชิ้น แต่ควรทำงานร่วมกัน พัฒนาให้เป็นในรูปแบบ Theme ทำให้การทำงานในช่วงแรกประสบกับความยากลำบากอยู่บ้าง กว่าจะปรับแนวความคิดให้ไปในทิศทางเดียวกันก็ต้องทะเลาะกับหลายหน่วยงาน แต่ท้ายที่สุด ส่วนราชการในพื้นที่ก็เห็นพ้องต้องกันถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ”

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า การทำงานช่วงแรก ๆผมก็เชิญหน่วยงานในพื้นที่ 3 จังหวัดมาหารือ พร้อมกับสอบถามความเห็นของผู้บริหารหรือตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาร่วมประชุม สอบถามความต้องการของแต่ละพื้นที่ ควรพัฒนาเรื่องอะไร อย่างเช่น เมืองพัทยาก็นำเสนอแผนการพัฒนาท่องเที่ยวในอนาคต แผนพัฒนาแหล่งน้ำรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต 10 โครงการ บางพื้นที่ก็นำเสนอแผนพัฒนาด้านการตลาด หรือ โลจิสติกส์ เป็นต้น

หลังจากที่ทราบความต้องการ หรือ แผนการพัฒนาของหน่วยงานในพื้นที่ทุกแห่งแล้ว เราก็เชิญชวนหน่วยงานในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน โดยรวบรวมแผนการพัฒนาการของทุกหน่วยงานในเขตพื้นที่ EEC มาจัดทำเป็นแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ 3 จังหวัด เสนอส่วนกลางเพื่อขอรับการจัดสรรงบบูรณาการ นี่คือ หน้าที่หลักของ EEC ในฐานะผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ 3 จังหวัดกับรัฐบาล

EEC จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ โดยมีเป้าหมาย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้สามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง(Middle Income Trap) ที่ผ่านมามีสถาบันวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งทำการศึกษาเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกันมามากพอสมควร ต่อมาในสมัยรัฐบาล คสช.ได้มอบหมายให้ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี , นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตั้งเป็นคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ โดยพยายามขยายบทบาทให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขึ้นมาทำหน้าที่คล้าย ๆกับ EEC ในปัจจุบัน แต่ก็ติดข้อจำกัดเรื่องความพร้อมของบุคลากร จึงดึงคนใน กนอ.ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในเรื่องการลงทุนมาทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่มีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีต CEO ปตท. และผม (ดร.คณิศ) ช่วยกันศึกษาการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC ควรจะมีโครงการลงทุนอะไรบ้าง ช่วยกัน “Setup” ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมีดร.วิษณุ ,นายมีชัย และดร.บวรศักดิ์ ทีมนี้จะช่วยกันออกแบบและยกร่างกฎหมาย EEC เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

สำหรับโครงสร้างองค์กรของ EEC ด้านบนสุดมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรี 14 กระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒน์ ฯ เลขาธิการ BOI ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และเลขาธิการ สกพอ.เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่กำหนดนโนบาย ยุทธศาสตร์ แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค การใช้ประโยชน์ของที่ดิน ผังเมือง รวมไปถึงการอนุมัติแผน โครงการ และงบประมาณ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561

โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ทำหน้าที่ธุรการ คอยกำกับดูแล เร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งรายงานความคืบหน้า พร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งตัวองค์กร EEC มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบ ฯ โดยรูปแบบองค์กรจะคล้าย ๆกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงาน กลต.

ยกตัวอย่าง ช่วงที่เราจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ EEC ช่วงนี้เราใช้วิธีจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาช่วยจัดทำแผน ร่วมกับของเรา เมื่อเสร็จจากการจัดทำแผน ไม่มีงานทำแล้ว เราก็โยกคนกลุ่มนี้มาทำงานโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงนี้เราเริ่มเปิดรับพนักงานใหม่ พร้อมจ้างที่ปรึกษาโครงการเข้ามาช่วยทำงาน คัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ตอนนี้งานสรรหาเอกชนเข้าร่วมทุนเสร็จไปเกือบหมดแล้ว เราก็โยกพนักงานกลุ่มนี้ไปลุยงานโปรเจ็กต่อ กระจายลงตามพื้นที่ หรือ ออกไปประจำอยู่ที่หน้างาน เหลือพนักงานอยู่ในออฟฟิศจำนวนหนึ่งคอยทำหน้าที่ธุรการ และก็มีการจ้างสถาปนิก และวิศวะ เข้ามาช่วยดูงานก่อสร้าง

“ภารกิจของเราจะมูฟไปตามกาลเวลา เราไม่ได้ใช้พนักงานทำอยู่เรื่องเดียว ตั้งแต่วันแรกไปจนถึงวันสุดท้าย แบบม้วนเดียวจบ ภารกิจหน้าที่ของเราจะเคลื่อนไปตามความก้าวหน้าของงาน”

EEC เป็นองค์กรสมัยใหม่ที่มีองค์ความรู้มากมาย ถามว่ามีจังหวัด หรือ พื้นที่อื่น ๆ เข้ามาติดต่อขอความรู้บ้างหรือไม่ ดร.คณิศ ตอบว่า ตอนนี้ ก็พยายามกระจายองค์ความรู้ของเราออกไป เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่อื่น ๆ อย่างเมื่อเร็ว ๆนี้ ก็มีคณะผู้บริหารของเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เข้ามาหารือกับผู้บริหารของ EEC ถามเราว่าในช่วง 2-3 ปี EEC สามารถขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ได้อย่างไร

ดร.คณิศ กล่าวว่า งานส่วนใหญ่ของ EEC เป็นงานทางด้านประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ผ่านมาก็มีปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ปัจจัยที่ทำให้ EEC สามารถขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้สำเร็จลุล่วงได้นั้น หัวใจสำคัญอยู่ตรงที่เรื่องของการทำความเข้าใจในปัญหาพื้นฐานของหน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติ หรือ หน่วยงานเจ้าของโครงการ จะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ สัก 3 – 4 ตัวอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการส่งมอบที่ดิน เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ในอดีตมีหลายโครงการมีปัญหาเกิดความล่าช้า บางโครงการเป็นคดีความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับรัฐบาล โครงการที่มีปัญหาส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเรื่องการส่งมอบที่ดินให้เอกชนไม่ได้ตามที่กำหนดในสัญญา อย่างเช่น โครงการโฮปเวลล์ , ดอนเมืองโทลเวย์ แม้กระทั่งโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาที่ล่าช้า ก็ติดปัญหาเรื่องการส่งมอบที่ดิน หลังจากที่มีลงนามในสัญญาลงนามร่วมทุนกับเอกชนแล้ว ตามขั้นตอนหน่วยงานเจ้าของโครงการก็จะต้องส่งมอบที่ดิน เพื่อให้เอกชนไปกู้เงินจากธนาคารนำเงินมาลงทุนก่อสร้าง ถ้าส่งมอบที่ดินไม่ได้ เงินกู้ก็ไม่ได้ การลงทุนก็ล่าช้า

ตัวอย่างแรก กรณีมีสายไฟฟ้าวางคล่อมอยู่บนรางรถไฟ ก่อนจะตอกเสาเข็มลงตอหม้อ เพื่อยกเสาก่อสร้างรางรถไฟ ถ้าไม่ย้ายสายไฟไปที่อื่น ก็ต้องเอาสายไปมุดลงใต้ดิน ขณะที่กฎหมายของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เขียนเอาไว้ว่า “ทรัพย์สินอะไรก็ตาม ที่อยู่บนที่ดินของ รฟท. ต้องให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินมารื้อออกไปเอง” เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ คือ เอกชนผู้รับสัมปทาน ต้องไปเจรจากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ให้มารื้อ หรือ ย้ายสายไฟฟ้าออก หากเจรจาแล้ว กฟภ.บอกว่าไม่มีงบฯ ก็ไม่รู้จะได้ย้ายสายไฟให้ได้เมื่อไหร่

ถามผู้บริหารของ รฟท.สามารถไปเจรจากับ กฟภ.ได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ตามขั้นตอนของทางการ รฟท.ต้องทำเรื่องเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อทำหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทย ให้มีคำสั่ง หรือ จัดงบฯ ให้ กฟภ.ดำเนินการย้ายสายไฟออกจากพื้นที่ของ รฟท. แต่ถ้า กฟภ.ไม่ตกลง รฟท.ก็ไปบังคับ กฟภ.ไม่ได้

“นี่คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน คือ พยายามทำความเข้าใจในปัญหาพื้นฐานของหน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติ”

หลังจากที่เราเห็นปัญหาในทางปฏิบัติทั้งหมดแล้ว EEC ก็รวบรวมปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ทำเป็นหนังสือส่งถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ขอให้มาเป็นประธานคณะทำงานในการแก้ปัญหาการย้ายเสาไฟฟ้าออกจากพื้นที่ รฟท. รวมทั้งทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย ช่วยกันเคลียร์ข้อมูลให้ชัดเจนว่าจะต้องย้ายเสาไฟฟ้ากี่เส้น ใช้งบประมาณเท่าไหร่ และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้เมื่อไหร่ จากนั้น EEC ก็รวบรวมข้อมูล พร้อมข้อเสนอแนะ ส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ประชุม ร่วมกับรัฐมนตรีอีก 14 กระทรวง พิจารณาอนุมัติแนวทางแก้ไข

กฟภ.บอกว่าไม่มีงบประมาณ เราให้สำนักงบฯจัดงบประมาณให้เสร็จเรียบร้อย ส่วนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. ส่วน ปตท.บอกว่าไม่มีปัญหา มีงบฯ จะให้ย้ายเมื่อไหร่ ก็บอกมา

ดังนั้น ในเรื่องของการส่งมอบที่พื้นที่เพื่อใช้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับสัมปทานได้ก่อนเลย คือ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (สถานีพญาไทย-สุวรรณภูมิ) ส่วนพื้นที่ตั้งแต่สถานีสุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา รวมระยะทาง 170 กิโลเมตร ตอนนี้ก็เริ่มเวนคืนได้ไปบางส่วนแล้ว คาดว่าจะเคลียร์เรื่องเวนคืนที่ดินได้ทั้งหมดภายในปี 2563 และส่งมอบให้ผู้รับสัมปทานในปี2564 จากนั้นแบงก์ก็จะเริ่มปล่อยกู้และลงมือก่อสร้างได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนงาน

ตัวอย่างที่ 2 เรื่องการขอใช้พื้นที่ของกองทัพเรือ เพื่อนำมาก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อันนี้เป็นเรื่อง Sensitive มากสำหรับกองทัพเรือ คือ ที่ดินผืนนี้เป็นที่ดินประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ ที่ผ่านมาก็มีหลายรัฐบาลก็พยายามขอคืนที่ดินแปลงนี้จากกองทัพเรือ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ

แต่พอมาถึงยุคของ EEC ผมก็มาทำความเข้าใจและรับทราบปัญหาพื้นฐานของกองทัพเรือ ดังนั้น ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินแห่งภาคตะวันออก ผมมอบให้กองทัพเรือเป็นเจ้าภาพ ส่วน EEC จะทำหน้าที่คอยให้การสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการ และเทคนิคต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดหางบประมาณมาสนับสนุนโครงการด้วย เราเสนอให้ใช้วิธีการเช่าพื้นที่ โดยที่ดินทั้งหมดยังคงเป็นของกองทัพเรือเหมือนเดิม ส่วนค่าเช่าที่ดินที่ได้รับจากเอกชน เรายกให้กองทัพเรือ แต่ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ คือ EEC ได้พื้นที่บริเวณนี้ นำมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเดิมให้กลายเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ” เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง งานจึงขับเคลื่อนมาได้จนถึงทุกวันนี้

ตัวอย่างที่ 3 เรื่องการจัดทำผังเมือง เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ของที่ดินในพื้นที่ EEC ปัญหาคือ พื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภาคาบเกี่ยว 2 จังหวัด (ชลบุรี-ระยอง) จะออกแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่กันอย่างไร ผมจึงทำหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง ขอให้มาช่วยวางผังเมือง 3 จังหวัด ก็เห็นปัญหาอุปสรรคหลายประการ อาทิ เจ้าหน้าที่ผังเมืองบอกว่าไม่เคยวางผังรวม 3 จังหวัด เคยวางแต่ผังจังหวัด , ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และขาดฐานข้อมูลหรือเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้วิเคราะห์การขยายตัวของเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดในอีก 20 ปีข้างหน้า เมืองจะขยายตัวไปในทิศทางใด

พอทราบปัญหา เราไปว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยสร้างฐานข้อมูลวิเคราะห์การขยายตัวของเมืองในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เมืองพัทยาจะขยายตัวไปในทิศทางใด เมืองใหม่ หรือ Smart City ควรตั้งอยู่บริเวณไหน ส่วนประเด็นที่ว่าไม่มีกฎหมายรองรับ เราก็ให้มาใช้กฎหมายของ EEC ไปจนกว่ากฎหมายผังเมืองใหม่จะมีผลบังคับใช้ รวมทั้งจัดหางบบูรณาการมาสนับสนุนให้ด้วย จนในที่สุดก็สามารถประกาศผัง EEC ได้สำเร็จ

จริง ๆ EEC ไม่ได้เป็นคนวางผังเมือง 3 จังหวัด แต่เราเข้าไปช่วยสนับสนุนให้กรมโยธาธิการ ฯวางผัง 3 จังหวัด จัดหางบประมาณและทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ ซึ่งในอนาคตเจ้าหน้าที่ผังเมืองก็จะมีประสบการณ์และเทตโนโลยีสามารถไปวางผังเมืองรวมให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆได้ต่อไป

นี่คือกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนของ EEC

“หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนงานโครงสร้างพื้นฐานของ EEC คือ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจในปัญหาของแต่หน่วยงานที่มีทำที่ปฏิบัติ รวมทั้งหาวิธีการแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะ ส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นี่คือวิธีการทำงานของ EEC”

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า “สำหรับงบอุดหนุน หรืองบประมาณ ที่สำนักงาน สกพอ.ได้รับจัดสรรจากสำนักงบฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ปีละประมาณ 400-500 ล้านบาท ถือว่าไม่มากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่น ๆ แต่ สกพอ. ร่วมกับ 19 หน่วยงาน สามารถจัดทำงบบูรณาการมาลงในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้ปีละ 20,000 – 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเม็ดเงินลงทุนในส่วนของภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (PPP) และการลงทุนผ่าน BOI หากรวมงบบูรณาการและงบลงทุนของของภาคเอกชนที่ลงนามในสัญญาผูกพันเอาไว้แล้วจะคิดเป็นวงเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

หลักก็คือ EEC ไปชวนหน่วยงานต่าง ๆ มาทำงานร่วมกับเรา เราก็ต้องมีงบ ฯ ให้เขาทำงาน ขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามควบคุมการใช้จ่ายงบฯให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงานด้วย ยกตัวอย่าง เรื่องการยกระดับการศึกษาผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หรือที่เรียกว่า “Demand Driven” หากไม่ควบคุมให้ดี เมื่อได้งบประมาณไปแล้ว ก็ทำเหมือนเดิม วิธีการควบคุม คือ การจัดงบบูรณาการผ่านหลายหน่วยงาน ไม่ใช่ต่างคน ต่างทำ ทุกหน่วยงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต้องทำอย่างเดียวกัน เดินไปพร้อม ๆกัน โดย EEC ตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี ต้องผลิตบุคลากรตามความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งในระดับอาชีวะ และปริญญาตรี-โท-เอกให้ได้ 475,674 คน

“ช่วงแรก ๆ ก็ลำบากหน่อย สำหรับการปรับจูนแนวความคิดให้ไปในทิศทางเดียวกัน ต้องอดทน แต่พอทุกหน่วยงานเริ่มมองเห็นประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ ก้าวที่ 2 มันก็จะเดินหน้าต่อไปได้ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ภารกิจของ EEC ในช่วงที่ผ่านมา ถามว่ามันใหม่หรือไม่ ก็ต้องถือว่ามิติใหม่สำหรับการบริหารองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ”