เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “คณะกรรมการ EEC” ได้มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. รถไฟสายนี้เป็นสายอนาคตสำหรับภาคตะวันออกและมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง
การพัฒนา EEC เป็นการสร้างพื้นที่ต่อขยายของเมืองให้กับกรุงเทพฯ รถไฟความเร็วสูงเส้นนี้มีความสำคัญ 4 ด้าน คือ
1) รถไฟความเร็วสูงสายนี้เชื่อมโยง 3 สนามบิน จะเป็นการยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ให้ทำงานควบคู่กับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผู้โดยสารเกินความจุแล้ว 17 ล้านคนต่อปี
-
– ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง สนามบินอู่ตะเภาสามารถเชื่อมกับกรุงเทพฯได้ใน 45 นาทีเทียบกับ 2-3 ชั่วโมงโดยรถยนต์
– ในอนาคต ผู้โดยสารสามารถลงเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา แล้วขึ้นรถไฟความเร็วสูงเข้ากรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว (ใช้เวลาใกล้เคียงกับ สนามบินนาริตะเข้ากรุงโตเกียว)
2) รถไฟความเร็วสูงเป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนา จากกรุงเทพฯ เชื่อมฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยจะมีสถานีรถไฟ 5 สถานี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา) ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนาบริเวณสถานีให้เป็นพื้นที่พัฒนาเชื่อมโยงกับชุมชนชนเก่าแล้ว ประชาชนตลอดเส้นทาง สามารถมาใช้บริการโดยนำรถยนต์ไปจอดที่สถานีเหล่านี้ได้ ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทางมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้รถติดมากและประเทศได้ประโยชน์จากการลดการใช้น้ำมันและลดความแออัดบนถนน
3) รถไฟความเร็วสูงที่ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมงนี้ เป็นช่วงแรกของการเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาไปสู่ระยอง จันทบุรี และตราดในอนาคตอันใกล้
-
3.1) คาดว่าใช้เวลาเดินทางจาก กรุงเทพฯ-ระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ-จันทบุรี 100 นาที และกรุงเทพฯ-ตราด 120 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม และจะทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงแทนการเดินทางโดยรถยนต์
3.2) มีการศึกษาว่าถ้ารถไฟความเร็วสูง ลดความเร็วลงเหลือ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต้นทุนการก่อสร้างจะลดลงไม่มาก (ประมาณร้อยละ 5) แต่จะใช้เวลาเดินทางจาก กรุงเทพฯ-ตราด นานถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งอาจไม่สามารถทำให้มีการใช้สนามบินอู่ตะเภาอย่างเต็มประสิทธิภาพ และประชาชนก็จะได้ประโยชน์ไม่เต็มที่
3.3) นอกจากนั้น ในปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง มีการพัฒนาความเร็วมากขึ้นเป็น 300 -350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในต้นทุนที่ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งมาตรฐาน 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลายเป็นมาตรฐานความเร็วต่ำสุดในปัจจุบัน
3.4) การกำหนดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด เป็นระยะที่สอง เป็นเพราะเส้นทางรถไฟไประยองที่ศึกษาไว้ วิ่งเข้าไปในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งเป็นเขตควบคุมสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องมีการศึกษาสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีพิเศษและใช้เวลานาน ซึ่งจะทำให้โครงการทั้งหมดล่าช้า
3.5) ระยะทางจากกรุงเทพฯ-สนามบินอู่ตะเภา (ประมาณ 200 กิโลเมตร) และกรุงเทพฯ-ตราด (ประมาณ 320 กิโลเมตร) นั้น “สั้นเกินไป” ที่จะเชื่อมโยงโดยมีสายการบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปอู่ตะเภาหรือตราด รวมทั้งจำนวนผู้โดยสารกระจายในหลายจังหวัด ดังนั้น เส้นทางคมนาคมเชื่อมกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา และกรุงเทพฯ-ตราดที่เหมาะที่สุดคือการใช้รถไฟความเร็วสูง
4) ผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดทั้งโครงการประมาณ 700,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) โดยแบ่งเป็น 50 ปีแรก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) จึงถือว่าเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนผลตอบแทนดังกล่าวมาจาก
-
– มูลค่าเพิ่มการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์
– ลดการใช้น้ำมัน ลดเวลาการเดินทาง ลดมลพิษสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์
– ผลตอบแทนทางจากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง
– การจ้างงานและการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศไทย
– รัฐจะจัดเก็บภาษีต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น
เมื่อครบ 50 ปีแล้ว ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนสิ้นอายุของโครงการอีกอย่างน้อย 300,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน)
2. สาระสำคัญโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
โครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร ดังนี้
1) รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กิโลเมตร (อยู่ในแผนเดิมที่จะมีการก่อสร้าง ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
2) รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กิโลเมตร (ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
3) รถไฟความเร็วสูง สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร (ปรับจากแผนเดิมของรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
4) พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร
-
– สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟใต้ดิน
– สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี ที่จอด และอู่ซ่อม เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติของการลงทุนรถไฟ และรถไฟความเร็วสูงทุกแห่งทั่วโลก
– ผู้ลงทุนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน จะขาดทุนทางการเงินเสมอ เพราะเก็บค่าโดยสารได้ไม่คุ้มเงินลงทุน แต่ประเทศจะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากเกินคุ้ม (ดังกล่าวข้างต้น)
– เช่นเดียวกับในหลายประเทศในอนาคตรัฐบาลอาจมีรายได้เพิ่มหากจัดเก็บภาษีพิเศษจากธุรกิจบริเวณสถานีและตลอดเส้นทางที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม (windfall benefits) จากการที่รัฐบาลจัดให้มีรถไฟความเร็วสูงสายนี้
3. การดำเนินโครงการ: ร่วมทุนกับเอกชน เพื่อลดค่าใช้งบประมาณภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพโดยเอกชน
การจัดการลงทุนโครงการนี้เป็นไปตามหลักการการจัดเงินการลงทุนของประเทศดังนี้
1) งบประมาณแผ่นดิน ที่ได้มาจากภาษีอากร ควรใช้เพื่อการพัฒนาด้านสังคม เช่น การศึกษา การสาธารณสุข และดูแลความมั่นคงเป็นหลัก โครงการที่พอมีรายได้บ้างควรหลีกเลี่ยงการใช้เงินงบประมาณ แต่หันไปใช้เงินของเอกชนซึ่งมีเป็นจำนวนมากมาพัฒนาประเทศ
2) เงินกู้ต่างประเทศไม่สมควรนำมาใช้ กับโครงการลงทุนที่มีรายได้ไม่มาก ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้
-
– จะทำให้เกิดภาระหนี้สาธารณะ การกู้เงินควรใช้กับโครงการสำคัญที่ไม่มีรายได้ หรือรายได้น้อยแต่จำเป็นมาก เช่น ถนน รถไฟทางคู่
– กรณีกู้เงินจากต่างประเทศแม้ดอกเบี้ยต่ำ มักมีข้อกำหนดให้ใช้บริษัทต่างชาติจากประเทศเจ้าของเงิน บางครั้งทำให้ต้นทุนโดยรวมสูงและกลับกลายเป็นว่าเงินกู้ถูกถ่ายเทกลับประเทศเจ้าของเงินไม่เหลือหมุนเวียนภายในเศรษฐกิจของประเทศไทย
– กรณีกู้เงินจากต่างประเทศ รัฐบาลต้องรับความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งหากกู้ระยะยาวก็เสี่ยงนาน และเคยมีกรณีที่เมื่อรวมความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ดอกเบี้ยไม่ถูกอย่างที่คิด
– กรณีกู้เงินต่างประเทศ และหน่วยงานรัฐบาลดำเนินการเอง มีความเสี่ยงที่โครงการ จะสำเร็จล่าช้ากว่ากำหนด
3) รูปแบบการลงทุนแบบร่วมลงทุนกับเอกชน ภาคเอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและความล่าช้าของโครงการ ดังนั้น เพื่อลดภาระงบประมาณรัฐบาลในระยะสั้น รัฐบาลจึงไม่ต้องการลงทุนเอง แต่ให้เป็นการร่วมทุนกับเอกชน ซึ่งจะเป็นการดึงทรัพยากรทางการเงินของเอกชน มาใช้ประโยชน์กับประเทศ
4. ที่ดินมักกะสัน: แก้ปัญหาเดิม เสริมให้เป็นสถานีหลัก จ่ายค่าเช่าตามราคาตลาด
กรณีที่ดินมักกะสัน เหตุผลหนึ่งที่ต้องพัฒนาเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงสายนี้ เป็นแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมคือสถานีไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า และต้องจัดที่จอดรถ รวมทั้งปรับการจราจรใหม่ทั้งหมด ผู้รับไปพัฒนาต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้การรถไฟตามราคาตลาด และให้รัฐมีส่วนร่วมรับกำไร เมื่อโครงการมีกำไร (revenue sharing)
5. ที่ดินศรีราชา: พัฒนาสถานีและโรงซ่อม เอกชนจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ รฟท.
รฟท. มีพื้นที่บริเวณศรีราชาประมาณ 100 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์พื้นที่เพียง 75 ไร่ เพื่อปรับปรุงเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง และอู่ซ่อมรถจักรของการรถไฟ ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 25 ไร่ จึงกำหนดให้เอกชนนำไปพัฒนา และจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟตามราคาตลาด
6. รวมแอร์พอร์ตลิงก์: เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนเรื้อรังของแอร์พอร์ตลิงก์ โดยให้เอกชนซื้อกิจการ
กรณีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ปัจจุบันการดำเนินงานขาดทุนสะสมประมาณ 1,785 ล้านบาท โดยปี 2560 ขาดทุนประมาณ 280 ล้านบาท และเป็นหนี้จากการก่อสร้างประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท เมื่อต้องทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงนำโครงการแอร์พอร์ตลิงก์มารวมและแก้ปัญหาการขาดทุนทีเดียว ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะต้องซื้อกิจการในมูลค่าที่เหมาะสม และการรถไฟจะสามารถนำไปลดหนี้ได้
-
– ในปัจจุบันของแอร์พอร์ตลิงก์ประสบปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร เนื่องจากมีขบวนรถน้อย จึงต้องวิ่งในเวลาที่ห่างกัน ทั้งๆ เวลาของรางมีพอ (ปัจจุบัน ผู้โดยสารต้องรอประมาณ 15 นาทีต่อขบวน ในเวลาเร่งด่วน) และเมื่อขาดทุนจึงทำให้สถานการณ์การเงินไม่ดี และไม่สามารถลงทุนเพิ่มขบวนรถได้มาก
– การเปลี่ยนระบบเป็นรถไฟความเร็วสูงในครั้งนี้จะยังคงมีรถไฟจอดที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ทุกสถานีเหมือนเดิม แต่จะมีขบวนรถวิ่งรับผู้โดยสารมากขึ้น (ประมาณ 10 นาทีต่อขบวน ทั้งนอกชั่วโมงเร่งด่วนและชั่วโมงเร่งด่วน)
– สำหรับรถด่วนเชื่อม 3 สนามบินที่จอดน้อยสถานี ไม่จำเป็นต้องมีบ่อย (ทุก 30 นาทีต่อขบวนทั้งนอกชั่วโมงเร่งด่วนและชั่วโมงเร่งด่วน จากกรุงเทพฯ ถึงสถานีอู่ตะเภา และจะมีขบวนรถในชั่วโมงเร่งด่วนแทรกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังสถานีศรีราชา ทุก 20 นาที) จำนวนรางที่มีอยู่จึงเพียงพอ แต่ใช้เวลาของรางอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับแก้ปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์เดิม
– นอกจากนั้น ในอนาคตรัฐบาลได้เตรียมรถไฟสายสีแดง (Missing Link) ขึ้นเพิ่มเติมจากบางซื่อถึงหัวหมาก ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณปี 2564
โดยสรุปโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้ผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงก์ได้รับประโยชน์และความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะจะมีขบวนรถไฟมากขึ้นลดความแออัดในปัจจุบัน และสถานีมักกะสันจะถูกพัฒนาให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
7. การประมูล: เป็นรูปแบบ net cost: ใครเสนอผลประโยนช์สูงสุดเป็นผู้ชนะการประมูล
การประมูลจะเป็นรูปแบบ net cost เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู คือ ใครยื่นเสนอผลตอบแทนสูงสุดให้รัฐ จะเป็นผู้ชนะการประมูล เอกชนแต่ละรายจะคำนวนผลตอบแทนสูงสุดที่จะหาได้ ตามความสามารถของแต่ละรายในการควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง การบริหารระบบการก่อสร้าง การจัดหาขบวนรถไฟ การหารายได้จากการวิ่งรถไฟ การหารายได้จากการบริหารอสังหาริมทรัพย์ (หลังจากจ่ายค่าเช่าที่ดินตามที่กำหนด) และนำเสนอผลประโยชน์สูงสุดมาเข้าประมูลในการนี้เอกชนที่มีคุณภาพดี มีความสามารถในการบริหารต้นทุนและหารายได้เก่งจะเป็นผู้ชนะ
-
– รัฐบาลจะได้ประโยชน์สูงสุด และจ่ายงบประมาณสนับสนุนต่ำสุด
– ประเทศไทยได้ผู้ที่เหมาะสมที่สุด ได้ประโยชน์จากการพัฒนาเต็มที่
8. อายุโครงการ 50 ปี: เพื่อให้รัฐบาลใช้งบประมาณน้อยที่สุด
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสีชมพู มีมูลค่าโครงการละประมาณ 50,000 ล้านบาท มีระยะโครงการ 30 ปี ในขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้มีมูลค่าโครงการประมาณ 200,000 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าให้เวลาโครงการน้อยก็จะขาดทุนมาก เพราะกำไรของโครงการจะอยู่ในช่วงปีหลังๆ ของโครงการ ถ้าลดเวลาเหลือ 30 ปี รัฐบาลอาจต้องจ่ายเงินสนับสนุนเพิ่มและไม่คุ้ม ความเหมาะสมของโครงการ จึงอยู่ที่ 50 ปี เมื่อครบ 50 ปี รัฐบาลจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด รวมรถไฟความเร็วสูง สถานี และอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท
9. จะมีการดูแล การใช้วิศวกรไทย การใช้ชิ้นส่วนของประเทศไทยให้มากที่สุด
เนื่องจากบุคลากรไทยที่สามารถทำงานที่เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงได้ มีจำนวนน้อย จึงเป็นบุคลากรที่โครงการมีความต้องการสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานแอร์พอร์ตลิงก์เดิม ดังนั้น บุคคลเหล่านี้จะได้เข้าร่วมในโครงการทันที นอกจากนั้น ตามข้อกำหนดการส่งเสริมการลงทุน กำหนดให้ผู้ลงทุนต้องมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรไทยและเยาวชนให้เข้ามาทำงานในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในอนาคต โดยจะให้เข้าร่วมการพัฒนาหลักสูตรในสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC
10. การกำกับโครงการในอนาคต: มีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการดำเนินโครงการ และค่าโดยสาร
ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 โดยคณะกรรมการกำกับ ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐิจพิเศษภาคตะวันออก ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนเอกชนคู่สัญญา และผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย
11. อัตราค่าโดยสาร
-
– ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสันถึงพัทยา ประมาณ 270 บาท
– ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสันถึงสนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 330 บาท