นายกฯยังไม่ตอบ “ยุบสภา – ครม.นัดสุดท้าย” “อนุทิน” แจงถอนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้ไม่จบรัฐบาลชุดนี้ ก็ชุดหน้า ปัดตอบ “สุริยะ – สมศักดิ์” ลาออก – ให้ไปถามเจ้าตัว มติ ครม.เข็นสลากเลข 3 หลัก สู้หวยใต้ดิน เพิ่มค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล เพิ่มค่าตอบแทนผู้บริหาร – สมาชิก อบต. เริ่ม 1 ต.ค.นี้ กำหนดวงเงินชดเชย 4 แบงก์รัฐ ลดหนี้เกษตรกร 15,481 ล้าน
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ
พลเอกประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า วันนี้ ครม. มีเรื่องประชุมกว่า 60 เรื่อง สำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยหลายเรื่องต้องมีการหาแนวทางในการแก้ปัญหา จากนั้น พลเอกประยุทธ์ พูดต่อกับนักข่าวว่า “มีอะไรจะถามไหม”
ปัดตอบถอนวาระรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันวันนี้ไม่ได้พิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามวันนี้มีการพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนเข้าบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรีหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบสั้นๆว่า “ไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ วันนี้ไม่มีการพิจารณา”
ถามต่อว่า กระทรวงคมนาคมขอถอนวาระออกไปหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่มีการพิจารณา ไม่มีเรื่องเข้ามาพิจารณา โอเคน่ะ”
“อนุทิน” แจงถอนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้ไม่จบรัฐบาลชุดนี้ ก็ชุดหน้า
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นวาระจร เนื่องจากมีรัฐมนตรีหลายท่านวิตกกังวลต่อกรณีที่กระทรวงการคลัง , สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีความเห็นว่า “ควรจะรอให้ศาลมีคำพิพากษาทุกอย่างให้ชัดเจนก่อน” นายอธิรัฐจึงถอนเรื่องออกจากวาระการพิจารณาของที่ประชุม ครม.
ถามว่าจะมีการเสนอเรื่องนี้ให้ ครม.รักษาการพิจารณาเห็นชอบได้หรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า “ไม่สามารถเสนอได้แล้ว ตามรัฐธรรมนูญมาตราไหนผมจำไม่ได้ ซึ่งกำหนดเอาไว้ว่า ครม.รักษาการไม่สามารถอนุมัติเรื่องที่ยังไม่ผูกพันได้ หากยังไม่บรรจุ ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ ถ้าสัปดาห์หน้าไม่เข้า ครม. ก็ไม่ต้องเข้าแล้ว หรือ ถ้าสัปดาห์หน้ามีการยุบสภาก่อน เรื่องนี้ก็อยู่ในกระบวนการประมูลอยู่ ต้องรอเสนอ ครม.ชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็มให้ความเห็นชอบก่อนถึงจะลงนามในสัญญาได้ โครงการนี้ถ้ายังไม่ลงนามในสัญญา ก็เริ่มก่อสร้างไม่ได้”
ถามว่า ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาให้เอกชนยืนราคาไปแล้วจะต้องมีการประมูลใหม่หรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า “ก็ต้องประมูลใหม่ หากไม่มีการยืนราคาต่อไป เพราะปกติเมื่อยืนราคาไปแล้ว แต่กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น หน่วยงานก็มีสิทธิทำหนังสือไปขอผู้เข้าการประกวดราคาขยายเวลาการยืนราคาออกไปอีก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน ก็แล้วแต่ ถ้าขยายให้ ก็เดินต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ขยาย ก็มารับหลักประกันการประมูลคืนเท่านั้นเอง อย่าไปซีเรียส ไม่จบในรัฐบาลนี้ ก็ต้องจบในรัฐบาลหน้า”
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมี 2 ตอน คือ ด้านตะวันออก กับด้านตะวันตก ซีกตะวันออกสร้างเรียบร้อยมาครึ่งหนึ่งแล้ว เหลือแต่ซีกตะวันตก ยังไงก็ต้องสร้าง ถ้าจะไม่ให้โครงการนี้สะดุด ก็ต้องเปิดประมูลใหม่ ก็แล้วแต่ ถ้า ครม.ชุดนี้พิจารณาไม่ทัน ก็ขึ้นอยู่กับ ครม.ชุดต่อไปว่าจะดำเนินการต่อไป หรือ จะล้มประมูลแล้วเปิดประมูลใหม่ เป็นเรื่องอนาคต ไม่เกี่ยวกับ ครม.ชุดนี้แล้ว”
ยังไม่ตอบ “ยุบสภา – ครม. นัดสุดท้าย”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ขอความชัดเจนในเรื่องการยุบสภา และการประชุม ครม.ในวันนี้เป็นครั้งสุดท้ายใช่หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “เขาห้ามประชุมครม.หรือ เขาห้ามประชุมครม.ต่อหรือ”
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว บอกว่า “ประชุมได้ แต่หากยุบสภา ครม.จะไม่มีอำนาจเต็ม” ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “คิดว่านายกรัฐมนตรี ไม่ทราบ หรือ ถ้าทราบ ก็จบ”
ปัดตอบ “สุริยะ – สมศักดิ์” ลาออก – ให้ไปถามเจ้าตัว
ถามถึงความชัดเจนกรณีมีข่าวว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีในวันที่ 16 มีนาคมนี้ เพื่อย้ายไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย โดยพลเอกประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “ให้ไปถามเจ้าตัวเอา”
บูรณาการทุกหน่วย แก้ PM 2.5
ด้านนายอนุชา รายงานข้อสั่งการเรื่องสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กทม. ตลอดจนกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ทุกระดับได้บูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหา PM2.5 และยกระดับในเชิงปฏิบัติการให้เข้มข้น ทั้งเรื่องการปรับแผน เพิ่มการตรวจและสกัดรถควันดำ เข้มงวดการก่อสร้าง ตรวจโรงงาน บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มข้น ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และลดการเผาในที่โล่งทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น พืชผลทางการเกษตร วัชพืช ขยะ และให้ตรวจดูแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ
นายอนุชา กล่าวต่อว่า เมื่อดูจากรายงานของ GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ) และข้อมูลจากดาวเทียมจะเห็นว่า ประเทศไทย-ประเทศเพื่อนบ้านมีจุดความร้อนพอสมควร ส่งผลถึงประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนต่างๆ
“นอกเหนือจากความร่วมมือของประชาชนในประเทศแล้ว นายกรัฐมนตรี ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนผ่านกลไกระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายอนุชา กล่าว
นายอนุชา ให้ข้อมูล ในช่วงนี้รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่สำคัญ 3 ส่วน คือ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ต่างๆ (2) การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมลพิษ และ (3) แผนป้องกันต่างๆ ภายใต้แผนเฉพาะกิจที่ได้บูรณาการและดำเนินการผ่านหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดที่ที่ครม. เห็นชอบในการเป็น Single Command เพื่อลดการเผาอย่างเด็ดขาดในช่วงวิกฤติ
มติ ครม. มีดังนี้
เข็นสลากเลข 3 หลัก สู้หวยใต้ดิน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักการการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำปี 2565 ได้แก่ สลากฯ 6 หลัก (Lottery 6: L6) และสลากฯ ตัวเลข 3 หลัก (Numbers 3: N3) หวังเพิ่มช่องทางจำหน่ายสลากฯ ในรูปแบบดิจิทัล จากการจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่าย เพิ่มทางเลือกในการซื้อสลากแบบถูกกฎหมายมากขึ้น โดยผู้ซื้อสามารถเลือกตัวเลข ได้ตามความต้องการ ช่วยลดการเสี่ยงโชคนอกระบบและผิดกฎหมายให้ลดน้อยลง
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้จัดทำแผนวิสาหกิจประจำปี 2564 – 2570 ซึ่งกำหนดเป้าหมายระยะสั้นให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ โดย ในประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อ 28 เมษายน 2565 เห็นชอบ การกำหนดประเภทและรูปแบบสลากฯ ประจำปี 2565 ได้แก่ สลากฯ L6 และสลากฯ N3 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รูปแบบสลากฯ ได้แก่
- สลากฯ 6 หลัก (Lottery 6: L6) ประกอบด้วยตั้งแต่ 000000 – 999999 จำหน่ายออกเป็นชุด ชุดละ 1 ล้าน ฉบับ/รายการ โดยเป็นการกำหนดหมายเลขไว้ล่วงหน้า (มีหมายเลขจำกัด) ไม่สามารถเลือกเลขซ้ำกันได้ในแต่ละชุด โดยจำหน่ายทั้งแบบใบ และแบบดิจิทัล (เป็นรูปแบบเดียวกับที่ สนง.สลากฯ ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน)
- สลากฯ ตัวเลข 3 หลัก (Numbers 3: N3) ประกอบด้วยหมายเลข 3 หลัก ตั้งแต่ 000 – 999 ไม่มีการกำหนดหมายเลขไว้ในระบบ ผู้ซื้อสามารถเลือกตัวเลขได้ ตามความต้องการ ซึ่งทุก ๆ การซื้อ 1 รายการ จะได้ หมายเลขรางวัลพิเศษ 1 หมายเลข (เป็นรูปแบบใหม่ที่ สนง.สลากฯ ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อน) ทั้งนี้ จำหน่ายเฉพาะแบบดิจิทัล
2. การจ่ายเงินรางวัลนั้น เงินรางวัลคิดเป็นร้อยละ 60 ของยอดการจำหน่ายสลากในแต่ละงวด โดยกำหนดสัดส่วนในการจัดสรรเงินรางวัลประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- สลาก L6 มีเงินรางวัล 9 ประเภท คือ รางวัลที่ 1 (1 รางวัล) รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 (2 รางวัล) รางวัลที่ 2 (5 รางวัล) รางวัลที่ 3 (10 รางวัล) รางวัลที่ 4 (50 รางวัล) รางวัลที่ 5 (100 รางวัล) รางวัลเลขหน้า 3 ตัว (2,000 รางวัล) รางวัลเลขท้าย 3 ตัว (2,000 รางวัล) รางวัลเลขท้าย 2 ตัว (10,000 รางวัล) (ไม่สมทบเงินรางวัล กรณีที่งวดใดไม่มีผู้ถูกรางวัล ให้นำเงินรางวัล ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน)
- สลาก N3 มีเงินรางวัล 4 ประเภท ได้แก่ รางวัล 3 ตรง (ถูกทุกหมายเลขและทุกตำแหน่ง) ร้อยละ 30 รางวัล 3 สลับหลัก (ถูกทุกหมายเลขแต่สลับตำแหน่ง) ร้อยละ 30 รางวัล 2 ตรง ถูกทุกหมายเลขและทุกตำแหน่ง ร้อยละ 39 และรางวัลพิเศษ (ตรงกับรางวัลพิเศษ) ร้อยละ 1
นอกจากนี้ จะมีการสบทบเงินรางวัล กรณีที่งวดใด ไม่มีผู้ถูกรางวัล จะนำเงินรางวัลในงวดนั้นไปสมทบ เพื่อจ่ายเป็น เงินรางวัลในงวดถัดไปอีก 1 งวด และหากไม่มีผู้ถูกรางวัลอีกให้นำเงิน รางวัลส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
กระทรวงการคลัง แจ้งว่า การกำหนดประเภทสลากฯ ทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว เชื่อได้ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากฯ เกินราคาได้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสลากฯ ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมีการกำหนดราคาซื้อ – ขายจากระบบการจำหน่ายได้เอง และการจำหน่ายสลากฯ N3 ผู้ซื้อสามารถเลือกตัวเลขได้ตามความต้องการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการซื้อสลากฯ แบบถูกกฎหมายมากขึ้น ช่วยให้การเสี่ยงโชคนอกระบบและผิดกฎหมายลดน้อยลง นอกจากนี้ การจำหน่ายสลากฯ ทั้ง 2 รูปแบบจะช่วยให้ สนง.สลากฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้นด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุมครม. ให้พิจารณาดำเนินการด้วยความรัดกุม รอบคอบและเหมาะสม โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขายที่เป็นผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ นอกจากนี้ ให้พิจารณาข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยขายสลากแบบดิจิทัลด้วย รวมทั้งดูแลกลุ่มผู้ขายสลากฯ แบบใบ ที่อาจมีรายได้ลดลงจากการถูกปรับลดจำนวนสลากฯ เนื่องจากมีการขายสลากฯ แบบดิจิทัลควบคู่กัน เป็นต้น
กำหนดวงเงินชดเชย 4 แบงก์รัฐ ลดหนี้เกษตรกร 15,481 ล้าน
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. ) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายชดเชยให้กับธนาคารทั้ง 4 แห่ง เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายตามโครงการฯ 50,621 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 15,481.657 ล้านบาท กรณีเกษตรกรมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถชำระหนี้ได้ และได้ขอให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้แทน ให้กองทุนฟื้นฟูฯ เสนอขอรับการจัดสรรงบฯ เพื่อชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการชำระหนี้ตามสัญญา
ในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวที่รัฐจะต้องรับภาระในการจัดสรรชดเชยให้กับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ เงินต้นครึ่งหลัง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยของเงินต้นเดิม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,481.657 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 – 2580 ให้กับธนาคารที่เกษตรกรทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ จำแนกตามข้อมูลของแต่ละธนาคารได้ ดังนี้
- ธ.ก.ส. จำนวนลูกหนี้ 47,973 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 7,340.176 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6,718.949 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 14,059,125 ล้านบาท
- ธ.ออมสิน จำนวนลูกหนี้ 552 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 81.184 ล้านบาท ดอกเบี้ย 173.385 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 254.569 ล้านบาท
- ธอส. จำนวนลูกหนี้ 2,008 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 153.207 ล้านบาท ดอกเบี้ย 478.649 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 631.856 ล้านบาท
- ธพว. จำนวนลูกหนี้ 88 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 146.861 ล้านบาท ดอกเบี้ย 389.246 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 536.107 ล้านบาท
- รวมจำนวนลูกหนี้ทั้งสิ้น 50,621 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 7,721.428 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7,760.229 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 15,481.657 ล้านบาท
กรณีการขอเงินชดเชยให้กับธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ กระทรวงการคลัง และ ธนาคารทั้ง 4 แห่ง หารือเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันให้ได้ขอยุติและนำเสนอขออนุมัติงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่เป็นหนี้เกินกว่าจำนวนมูลหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนการชำระหนี้ ที่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ไว้กับธนาคารเจ้าหนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังย้ำให้ถึงความสำคัญในการกำกับดูในการดำเนินโครงการ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึง โปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งมีมาตรการดูแล เพื่อสร้างวินัยด้านการเงินให้กับเกษตรกร เพื่อป้องกันปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต
ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท ถึง 20 ก.ค.นี้
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม – 20 กรกฎาคม 2566 บรรเทาความเดือดร้อน ลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ยังคงผันผวน
กระทรวงการคลัง ประเมินผลกระทบต่อรายได้ของรัฐและผลกระโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งระยะเวลาการดำเนินการในครั้งนี้ ประมาณ 2 เดือน จึงคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในครั้งนี้ ช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศซึ่งเป็นต้นทุนในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหรือในระดับที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ พิจารณาแล้ว ภาพรวมในระบบเศรษฐกิจทุกมิติ จะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง
เพิ่มส่วนลดก๊าซหุงต้ม “บัตรคนจน” คนละ 20 บาท 3 เดือน
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 20 บาท/คน/3 เดือน ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2566 สำหรับผู้ใช้สิทธิ 7.5 ล้านราย รวมเงิน 150 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โครงการยกระดับ ความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ โดยปรับเพิ่มความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จากเดิม 80 บาท/คน/3 เดือน เพิ่มอีก 20 บาท/คน/3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/คน/3 เดือน ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคา LPG ที่อยู่ในระดับสูงและลดภาระค่าครองชีพสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยคาดว่าผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐกลุ่มใหม่จะเริ่มใช้สิทธิได้ใน วันที่ 1 เมษายน 2566 นี้
เพิ่มค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ รายละเอียด ดังนี้
(1) การปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบปรับฐาน สรุปได้ ดังนี้
- กำนัน อัตรากำลังคน 7,036 อัตราเงินตอบแทน 12,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 2,000 บาท/เดือน)
- ผู้ใหญ่บ้าน อัตรากำลังคน 67,673 อัตราเงินตอบแทน 10,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 2,000 บาท/เดือน)
- แพทย์ประจำตำบล อัตรากำลังคน 7,036 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
- สารวัตรกำนัน อัตรากำลังคน 14,072 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง อัตรากำลังคน 149,418 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
- ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ อัตรากำลังคน 46,181 อัตราเงินตอบแทน 6,000 บาท/เดือน (เงินที่ปรับเพิ่มจำนวน 1,000 บาท/เดือน)
(2) ปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบขั้นวิ่ง เดิมจากขั้นละ 200 บาทต่อปี ปรับเพิ่มเป็นขั้นละ 300 บาทต่อปี และในกรณีที่ได้ 2 ขั้น จะปรับจาก 400 บาทต่อปี เป็น 600 บาทต่อปี ดังนี้
- กำนัน แบบขั้นวิ่งใหม่ 29.13 บาท/เดือน ผู้ใหญ่บ้าน 280.15 บาท/เดือน แพทย์ประจำตำบล 29.13 บาท/เดือน สารวัตรกำนัน 58.26 บาท/เดือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง 618.59 บาท/เดือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ 191.19 บาท/เดือน
รวมงบประมาณ จากการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แบบปรับฐาน จำนวน 4,393.50 ล้านบาทต่อปี และแบบขั้นวิ่ง จำนวน 402.15 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 4,795.65 ล้านบาทต่อปี และให้กระทรวงมหาดไทยเสนอรายละเอียดของการปรับเพิ่มค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เป็นคำของบประมาณปี 2567 เพิ่มเติม และรายละเอียดประกอบ แผนงานบุคลากรภาครัฐ รายการค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ รายการค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน งบรายจ่ายอื่น รายการค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ วงเงิน 4,795.65 ล้านบาท โดยให้กระทรวงมหาดไทย ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. (25 ตุลาคม 65) เรื่อง แนวทางการจัดทำงบประมาณ และปฏิทินงบประมาณปี 2567
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า อัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ไม่มีการปรับปรุง ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพสูงขึ้น และหลายหน่วยงานได้ปรับอัตราเงินเดือน หรือเงินตอบแทนไปแล้ว ดังนั้น การปรับปรุงอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งในครั้งนี้ จึงเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ และให้สอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจ สังคม ค่าครองชีพ และทัดเทียมกับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ รวมทั้งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เดียวกัน
เพิ่มค่าตอบแทนผู้บริหาร – สมาชิก อบต. เริ่ม 1 ต.ค.นี้
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักการร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยให้จ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราค่าตอบแทนใหม่ต้ังแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดช่วงอัตราเงินค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับ รายได้ของ อบต. ซึ่งปัจจุบันมี 5,300 แห่ง แบ่งออกเป็น 6 ช่วง ดังนี้
-
1) รายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 25,800 บาท/เดือน รอง นายก อบต. รวม 15,480 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. และรองประธานสภา อบต. 10,880 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 7,080 บาท/เดือน
2) รายได้เกิน 10 – 25 ล้านบาท (3,562 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 35,600 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 21,180 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,180 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 12,420 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. 9,660 บาท/เดือน
3) รายได้เกิน 25 – 50 ล้านบาท (525 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 40,800 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 24,840 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 15,840 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 12,960 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 10,080 บาท/เดือน
4) รายได้เกิน 50 – 100 ล้านบาท (166 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 46,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 28,500 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 16,500 บาท/เดือน และรองประธานสภา อบต. 13,500 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 10,500 บาท/เดือน
5) รายได้เกิน 100 – 300 ล้านบาท (30 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 63,000 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 38,220 บาท/เดือน ประธานสภา อบต. 24,720 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 20,250 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 15,750 บาท/เดือน
6) รายได้เกิน 300 ล้านบาท (8 แห่ง) อัตราค่าตอบแทนของนายก อบต. รวม 75,530 บาท/เดือน รองนายก อบต. รวม 45,540 บาท/เดือนประธานสภา อบต. 30,540 บาท/เดือนและรองประธานสภา อบต. 24,990 บาท/เดือน สมาชิกสภา เลขานุการนายก อบต. และ เลขานุการสภา อบต. 19,440 บาท/เดือน
ทั้งนี้ เงินค่าตอบแทนที่ปรับเพิ่มในครั้งนี้ มีอัตราเดียวกับบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทนของเทศบาล ซึ่งการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนจะใช้งบประมาณจากรายได้ของอบต. จากเดิม 9,522.05 ล้านบาท เป็น 13,774.69 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากเงินค่าตอบแทนปัจจุบัน 4,252 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.66 เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาล และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของผู้บริหาร และสมาชิกสภา อบต. หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับเงินค่าตอบแทนมานานกว่า 11 ปีคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับฟังความคิดเห็นซึ่งปรากฏว่า ร้อยละ 92.20 เห็นด้วยกับการให้มีการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้กับ ผู้บริหารและสมาชิกสภา อบต.
เห็นชอบกรอบวงเงินงบฯปี’67 วงเงิน 3.35 ล้านล้าน
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้านบาท จำแนกตามรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้
-
1. วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,350,000.0 ล้าน แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ (2,490,860.5 ล้านบาท) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง (33,759.1 ล้านบาท) รายจ่ายลงทุน (717,199.6 ล้านบาท) รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 117,250.0 ล้านบาท วงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุล (593,000.0 ล้านบาท) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (19,421,600 ล้านบาท)
-
2. งบประมาณดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องกำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 -งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 93,000 ล้านบาท – งบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ (เฉพาะเงินต้น) วงเงิน 117,250 ล้านบาท รายจ่ายผูกพันข้ามปีงบประมาณ (รายการผูกพันใหม่) วงเงิน 333,674.3 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน วงเงิน 717,199.6 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน ไม่น้อยกว่าวงเงินขาดดุลงบประมาณประจำปีนั้น 717,199.6 ล้านบาท
-
3. งบประมาณ จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ได้แก่ งบกลาง 601,745.0 ล้านบาท (ร้อยละ 17.96) รายจ่ายของหน่วยรัฐงบประมาณ 1,148,298.1 ล้านบาท (ร้อยละ 34.28) รายจ่ายบูรณาการ 210,249.0 ล้านบาท (ร้อยละ 6.28) รายจ่ายบุคลากร 790,029.5 ล้านบาท (ร้อยละ 23.58) ทุนหมุนเวียน 229,112.3 ล้านบาท (ร้อยละ 6.84) ชำระหนี้ภาครัฐ 336,807.0 ล้านบาท (ร้อยละ 10.05) และชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท (ร้อยละ 1.01)
-
4. งบประมาณ จำแนกตามกระทรวง ได้แก่ งบกลาง (11 รายการ) 601,745.0 ล้านบาท 2. สำนักนายกรัฐมนตรี 35,423.3 ล้านบาท 3. กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท 4. กระทรวงการคลัง 313,822.0 ล้านบาท 5. กระทรวงการต่างประเทศ 7,555.9 ล้านบาท 6. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,764.7 ล้านบาท 7. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 25,261.4 ล้านบาท 8. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 127,669.8 ล้านบาท 9. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 117,142.9 ล้านบาท 10. กระทรวงคมนาคม 183,950.0 ล้านบาท 11. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8,639.9 ล้านบาท 12. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 31,977.4 ล้านบาท 13. กระทรวงพลังงาน 3,026.7 ล้านบาท 14. กระทรวงพาณิชย์ 6,680.9 ล้านบาท 15. กระทรวงมหาดไทย 351,985.3 ล้านบาท 16. กระทรวงยุติธรรม 26,048.0 ล้านบาท 17. กระทรวงแรงงาน 61,841.1 ล้านบาท 18. กระทรวงวัฒนธรรม 7,004.6 ล้านบาท 19. กระทรวงศึกษาธิการ 330,512.3 ล้านบาท 20. กระทรวงสาธารณสุข 170,369.2 ล้านบาท 21. กระทรวงอุตสาหกรรม 4,645.0 ล้านบาท 22. ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฯ 128,444.2 ล้านบาท 23. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 22,628.4 ล้านบาท 24. รัฐวิสาหกิจ 149,382.7 ล้านบาท 25. หน่วยงานของรัฐสภา 7,499.3 ล้านบาท 26. หน่วยงานของศาล 24,914.6 ล้านบาท 27. หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 23,054.4 ล้านบาท 28. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 93,647.6 ล้านบาท 29. หน่วยงานอื่นของรัฐ 583.2 ล้านบาท 30. สภากาชาดไทย 8,867.5 ล้านบาท 31. ส่วนราชการในพระองค์ 8,478.4 ล้านบาท 32. ทุนหมุนเวียน 229,112.3 ล้านบาท 33. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท
-
5. งบประมาณ จำแนกตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่ มั่นคง 391,495.8 ล้านบาท (11.69%) , แข่งขัน 374,547.5 ล้านบาท (11.18%) , ทรัพยากรมนุษย์ 565,073.8 ล้านบาท (16.87%) , ความเสมอภาคทางสังคม 821,736.7 ล้านบาท (24.53%) , สิ่งแวดล้อม 129,870.9 ล้านบาท (3.88%) , พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 603,209.3 ล้านบาท (18.00%) , รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 464,066.0 ล้านบาท (13.85%)
-
6. งบประมาณ แผนงานบูรณาการ รวมทั้งสิ้น 210,249.0 ล้านบาท
-
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ความมั่นคง ( แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และ ป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด) วงเงิน 10,854.3 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาคมนาคมและโลจิสติกส์ การพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคต การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ) 137,796.0 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (รองรับสังคมสูงวัย พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก) 2,514.5 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 5 สิ่งแวดล้อม (การบริหารจัดการน้ำ) 55,123.2 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการภาครัฐ (ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รัฐบาลดิจิทัล) 3,961.0 ล้านบาท
7. งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีงบประมาณจัดสรร รวมทั้งสิ้น 801,092.10 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.06 ของรายได้สุทธิรัฐบาลปี 2567 จำนวน 2,757,000 บาท งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้านบาท ยังเชื่อมโยงแผนแม่บท 23 ประเด็น (แผนย่อย 85 ประเด็น) วงเงิน 1,521,757 ล้านบาท แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ใน 13 หมุดหมาย วงเงิน 1,121,375 ล้านบาท และ โครงการสำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้งหมด 1,026 โครงการ
สำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า งบประมาณ 295,085 ล้านบาท รวมทั้งหมด 434 หน่วยงาน จำนวน 268 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 295,085 ล้านบาท ใน 5 มิติความขัดสน ตามหลักการแก้ไขปัญหาคนยากจนตาม TPMAP ได้แก่ มิติด้านรายได้ 177,147 ล้านบาท มิติด้านการศึกษา 19,703 ล้านบาท มิติด้านสุขภาพ 87,965 ล้านบาท มิติด้านความเป็นอยู่ 7,086 ล้านบาท มิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ 3,184 ล้านบาท รวมทั้งยังแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านสภาพแวดล้อม มิติด้านการศึกษา มิติด้านความมั่นคงทางการเงิน
ทั้งนี้ ยังมีรายการสำคัญที่เสนอตั้งงบประมาณ 2567 ได้แก่
โอกาสนี้ คณะรัฐมนตรีได้มติเห็นชอบการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี มติคณะรัฐมนตรี ที่ให้รายจ่ายลงทุนที่จะขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณทุกรายการต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นของรายจ่ายลงทุนนั้น ๆ โดยไม่รวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด และเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว สำนักงบประมาณจะนำเสนอการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อไป
เห็นชอบโคล้านครอบครัว 5,000 ล้าน
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักการโครงการโคล้านครอบครัว วงเงิน 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐจะชดเชยต้นทุนการเงินให้สถาบันการเงิน (ธ.ก.ส.) อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ภายในวงเงิน 600 ล้านบาท โดยในปีแรกให้ใช้งบประมาณจากโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ระยะที่ 3 จำนวน 350 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการเงินให้กับสถาบันการเงิน ภายในวงเงิน 200 ล้านบาทและงบบริหารโครงการ ภายในวงเงิน 150 ล้านบาท และให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยต้นทุนการเงินให้สถาบันการเงินในปีที่ 2-4 ภายในวงเงิน 400 ล้านบาท รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการโคล้านครอบครัว จะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้านและชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ที่สำคัญคือมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามเจตนารมย์ของกองทุน ฯ ด้วย
ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ผู้ประกอบการชายแดนใต้
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการลงทุนและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
การปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ คือ
-
1.คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ ปรับปรุงโดยขยายกลุ่มผู้ขอสินเชื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้รายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อโครงการมาแล้วเกิน 5 ปี สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมที่ผู้ขอสินเชื่อโครงการนี้ จะต้องไม่เคยได้รับสินเชื่อโครงการ หรือได้รับสินเชื่อโครงการมาแล้วไม่เกิน 5 ปี
-
2.วงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท ปรับปรุงโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1)วงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้รายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อของโครงการมาแล้วเกิน 5 ปี ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และมีต้องการขอรับสินเชื่อโครงการต่อเนื่อง 2)วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อของโครงการมาก่อน ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อ โดยให้ความสำคัญกับผู้กู้รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อมาก่อนเป็นลำดับแรก
-
3.วงเงินกู้และขยายระยะเวลาชำระเงินกู้ 3.1 ผู้กู้รายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อโครงการแล้ว แบ่งเป็น (1)ผู้ที่เคยได้รับวงเงินกู้เกิน 20 ล้านบาท กู้ได้สูงสุดไม่เกินวงเงินที่เคยได้รับ โดยต้องชำระเงินกู้ให้คงเหลือไม่เกิน 50 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และชำระเงินกู้ให้คงเหลือไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หลังจากนั้น ต้องชำระเงินกู้ส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 (2)ผู้ที่เคยได้รับวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 จากเดิมที่กำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 30 มิถุนายน 2568 3.2ผู้กู้รายใหม่ ให้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 โดยให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมกับผู้ประกอบการจัดทำแผนการชำระหนี้และกำหนดหลักเกณฑ์การชำระคืนสินเชื่อ
-
4.ขยายระยะเวลาเบิกจ่ายสินเชื่อของธนาคารออมสินให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2567 จากเดิมภายใน 30 มิถุนายน 2566
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการในพื้นที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน รัฐบาลจึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการให้ครอบคลุมผู้ประกอบการมากขึ้นและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
เคาะราคาอ้อยขั้นต้นฯ ปี 2565/66 ตันละ 1,080 บาท
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ทั้ง 9 เขต โดยคำนวณราคาอ้อยเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้
-
1.ราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 1,080 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. (หรือเท่ากับร้อยละ 91.79 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,110.66 บาทต่อตันอ้อย) และกำหนดอัตราขึ้นลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 64.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
2.ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/2566 เท่ากับ 462.86 บาทต่อตันอ้อย
ประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2565/66 วงเงิน 716 ล้าน
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติ เห็นชอบหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2565/2566 วงเงิน 716.10 ล้านบาท และมาตรการคู่ขนาน ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2565/2566 วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2565/2566 นี้ ยังคงยึดหลักการและเงื่อนไขเดิม โดยประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ความชื้น ร้อยละ 14.5 ในราคา 8.5 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและแจ้งเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 – 31 พฤษภาคม 2566 ส่วนระยะเวลาโครงการ เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 30 เมษายน 2567 และมีระยะเวลาการจ่ายเงิน รวม 12 งวด ตั้งแต่ 20 พฤศจิกายน 2565 – 31 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – มีนาคม 2566 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูง 11 – 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาประกัน 8.5 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย 5 งวด ตามช่วงเวลาดังกล่าว
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2565/2566 วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร โดยปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 ต่อปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือร้อยละ 3 ต่อปี รัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ มีระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 12 เดือน ส่วนระยะเวลาของโครงการ เริ่มตั้งแต่วันที่ ครม. อนุมัติ – 30 มิถุนายน 2567 ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ ครม. อนุมัติ – 31 พฤษภาคม 2566
ไฟเขียว กฟผ.ลงทุน “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” เขื่อนอุบลรัตน์ 863 ล้าน
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาแนวทางและต่อยอดพัฒนาสู่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เพื่อเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงแดดและช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานน้า รวมทั้งเป็นการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดและภูมิภาคที่สูงขึ้น และยังช่วยลดการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยที่เป็นการใช้พื้นที่ของ กฟผ. โดยเฉพาะพื้นที่อ่างเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1 ที่ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสันเขื่อนอุบลรัตน์ ต.อุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พื้นที่ประมาณ 250 ไร่ (10 ไร่/เมกะวัตต์) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.32 ของพื้นที่ผิวน้ำ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
-
1. ระยะเวลาและแผนการดำเนินโครงการฯ 1 ปี โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในปี 2566
-
2. ข้อมูลด้านเทคนิค อาทิ 1.มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 24 เมกะวัตต์ และมีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 31.2 เมกะวัตต์พีค โดยติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (c-Si) สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 44.98 ล้านหน่วยต่อปี [อัตราการเดินเครื่อง (Plant Capacity Factor) ร้อยละ 18.10] 2.ติดตั้งระบบ BESS ขนาดกำลังจ่ายไฟฟ้าประมาณ 6 เมกะวัตต์ ขนาดพิกัด 3 เมกะวัตต์ชั่วโมง โดยเชื่อมโยงเข้าระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงเขื่อนอุบลรัตน์ 115 กิโลโวลต์ และ 3.ติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ร่วมกับระบบการพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) เพื่อบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่เดิม โดยจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันแทนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และนำมวลน้ำมาผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่าหรือช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน
-
3. แหล่งเงินทุน คือ รายได้ของ กฟผ. ร้อยละ 40 และ แหล่งเงินทุนอื่น ๆ ร้อยละ 60 จากธนาคาร/สถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนในประเทศและต่างประเทศ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร/สถาบันเพื่อการนำเข้า-ส่งออก ภายใต้งบประมาณ 863.4 ล้านบาท
“โครงการนี้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) และอีกทั้งนโยบายพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและผลักดันสนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเพราะตระหนักถึงการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทย ลดภาวะพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อให้คนไทยได้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างมีเสถียรภาพและมีราคาที่เหมาะสม อีกทั้งยังสนองนโยบาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญนอกจากจะทำให้ประชาชนใน จ. ขอนแก่นและในภูมิภาคอีสานมีไฟฟ้าใช้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าก็จะได้รับประโยชน์ต่างๆ ด้วย เช่น มีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน” นางสาวทิพานัน กล่าว
รับทราบข้อเสนอ ปปช. ป้องผูกขาดการแข่งขัน หนุนสินค้าขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรม
นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการผูกขาดทางการแข่งขันอันเนื่องมาจากนโยบายการสนับสนุนสินค้าที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ และมีมติให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงบประมาณเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเฝ้าระวังการผูกขาดทางการแข่งขันอันเนื่องมาจากนโยบาย กฎหมาย หรือระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ การสนับสนุนสินค้าที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย และมีข้อเสนอ 2 ข้อ ดังนี้
-
1. สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย โดยพิจารณากำหนดแนวทางป้องกันไม่ให้สินค้าในบัญชีนวัตกรรมเกิดการผูกขาดหรือมีประเด็นความเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์สาหรับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ
-
2. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทบทวนการกำหนดสัดส่วนการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศและเป็นกิจการของคนไทยไว้ในหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยให้ชัดเจน โดยควรกำหนดให้มีการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศและเป็นกิจการของคนไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานวิจัย พัฒนาและนำนวัตกรรมไทยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ภายในประเทศและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยภายในประเทศสามารถผลิตสินค้าแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน และทบทวนกระบวนการรับขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยในกลุ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมประเภทที่มีการซื้อหรือนำเข้าวัสดุบางส่วนจากต่างประเทศเพื่อประกอบเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย จะต้องมีการตรวจสอบวัสดุที่นำเข้าเหล่านั้นด้วยว่าได้คุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือไม่ ก่อนที่จะพัฒนาหรือประกอบเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย และถ้าบางชิ้นส่วนเป็นวัสดุที่ผลิตได้ในประเทศและเป็นกิจการของคนไทยให้ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศและเป็นกิจการของคนไทยเป็นหลักก่อน
“ด้วยข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้เร่งพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลประโยชน์เป็นรูปธรรมกับประเทศชาติ ประชาชน โปร่งใส สุจริต เป็นธรรมตรวจสอบได้ จึงนำมาซึ่งข้อเสนอนแนะของคณะกรรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเฝ้าระวังการผูกขาดทางการแข่งขันอันเนื่องมาจากนโยบาย กฎหมาย หรือระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ ในการสนับสนุนสินค้าที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย โดยที่ประชุม ครม.จึงมีมติรับทราบข้อเสนอแนะและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีดังกล่าว” นางสาวทิพานัน กล่าว
เว้นภาษีลงทุนตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR)) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาเห็นว่า การออกและเสนอขาย DR จะเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนในตลาดทุนไทยให้มีความหลากหลาย โดยจะช่วยให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน จึงเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง และยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การเป็นจุดเชื่อมโยงทางภูมิภาคของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมทั้งส่งผลเชิงบวกแก่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะหากไม่มีช่องทางให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านการถือ DR นักลงทุนรายย่อยอาจเลือกซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านนายหน้า (Broker) ในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้รัฐสูญเสียโอกาสทางภาษี
ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. คำนิยาม “ผู้ออกและเสนอขายตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ” (ผู้ออกและเสนอขาย DR) หมายความว่า ผู้ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
2. คำนิยาม “เงินเทียบเท่าเงินปันผล” หมายความว่า เงินที่ผู้ออกและเสนอขาย DR จ่ายให้แก่ผู้ถือ DR และได้จ่ายจากเงินดังต่อไปนี้ 1. เงินปันผล หรือ เงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินปันผลที่ผู้ออก และเสนอขาย DR ได้รับจากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศ 2. เงินได้จากการขายหุ้นปันผลที่ผู้ออกและเสนอขาย DR ได้จากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศในส่วนที่เกินและไม่เกินกว่ามูลค่าของหุ้นปันผลนั้น
3. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นผู้ออกและเสนอขาย DR สำหรับเงินได้ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยจะต้องไม่นำเงินได้ดังกล่าวที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ถือ DR มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (เงินเทียบเท่าเงินปันผล)
4. การลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือ DR กรณีที่ผู้ออกและเสนอขาย DR จ่ายปันผลหรือเงินเทียบเท่าเงินปันผลให้ผู้ถือ DR และออก DR เพิ่มให้ผู้ถือ DR เนื่องจากได้รับหุ้นปันผลจากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศ
-
4.1 สำหรับเงินได้ที่ผู้ถือ DR ได้รับจากผู้ออกและเสนอขาย DR ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 ของเงินได้ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเหลือ ร้อยละ 10 ของเงินได้ (โดยมีสิทธิไม่นำเงินได้ไปรวมคำนวนภาษีเงินได้ปลายปี)
4.2 สำหรับเงินได้ที่ผู้ถือ DR ได้รับจากผู้ออกและเสนอขาย DR ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ เมื่อผู้ถือ DR ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้นั้น (โดยมีสิทธิไม่นำเงินได้ไปรวมคานวนภาษีเงินได้ปลายปี
5. การลดหรือยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือ DR ใช้กับบุคคลธรรมดาเท่านั้น และไม่ใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
แจงความคืบหน้าพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน
นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบรับทราบรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ.2546 และมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการและพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าเสนอขอทบทวนแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่านในส่วนของพื้นที่เมืองเก่าน่านต่อไป
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านได้มีมติเห็นชอบโครงการการบูรณะปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าเพื่อเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ซึ่งต่อมาคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าได้มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เห็นชอบในหลักการการขอเปลี่ยนแปลงแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่านโดยให้ปรับปรุงอาคารศาลากลางดังกล่าวเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก พร้อมกับให้จังหวัดน่านจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่านฉบับใหม่ โดยทบทวนแผนแม่บทฉบับเดิมในภาพรวม และการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณต่าง ๆ ในเมืองเก่าให้เหมาะสม โดยจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
“จากฐานข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2565 มี 36 เมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่เมืองเก่า ได้แก่ น่าน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร ลพบุรี พิมาย นครศรีธรรมราช สงขลา แพร่ เพชรบุรี จันทบุรี ปัตตานี เชียงราย สุพรรณบุรี ระยอง บุรีรัมย์ ตะกั่วป่า พะเยา ตาก นครราชสีมา สกลนคร สตูล ราชบุรี สุรินทร์ ภูเก็ต ระนอง แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ยะลา นราธิวาส ร้อยเอ็ด อุทัยธานี ตรัง ฉะเชิงเทรา โดยพื้นที่ดังกล่าวจะมีแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้พื้นที่เมืองเก่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญทางวัฒนธรรมของประเทศไทย” นางสาวทิพานัน กล่าว
อนุมัติพื้นที่ 3 ตำบล อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ออกจากป่าไม้ถาวร 53,726 ไร่
นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 เรื่อง การจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดขอนแก่น (เฉพาะแห่ง) และผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเสนอ
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า กรณีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 เรื่อง การจำแนกประเภทที่ดินจังหวัดขอนแก่น (เฉพาะแห่ง) นั้น ในวันนี้จึงมีการทบทวน มติ ครม.ดังกล่าว ดังนี้ คือ เรื่องการจำแนกประเภทที่ดินออกจากป่าไม้ถาวร คือ 1. อนุมัติให้จำแนกพื้นที่ที่ราษฎร 3 ตำบล ใน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ 53,726 ไร่ ออกจากป่าไม้ถาวร เพื่อให้ราษฎรทำกิน หรือ ใช้ประโยชน์อย่างอื่น (เป็นไปตามข้อเสนอเดิมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และ 2. กรณีการจำแนกพื้นที่ที่กันออกจากการกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตที่เพิกถอน ให้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ได้จำแนกออกจากป่าไม้ถาวร โดยใช้เป็นหลักการครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า สำหรับกรณีการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี (กรณีเร่งด่วน) ครม.มีมติเห็นชอบตามแนวทางการแก้ปัญหาตามมติคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/66 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ให้ดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อน กับเขตปฏิรูปที่ดินให้ยึดเส้นแนวเขตของ ส.ป.ก. และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินรับเรื่องไปพิจารณากรณีพื้นที่นอกแนวเขตที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ ว่าควรใช้แนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมอย่างไร และมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/66 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ให้ดำเนินการดังนี้
-
1. แนวทางการใช้เส้นการสำรวจแนวเขต ปี 2543 ในการปรับปรุงแผนที่ One Map พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ ส.ป.ก. จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ของจุดที่ไม่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเร่งรัดดำเนินการสำรวจเพื่อจัดทำแนวกันชน (Buffer Zone) ที่ชัดเจน เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่มรดกโลก และสภาพพื้นที่ป่าไม้ ภายหลังจาก ครม. เห็นชอบ
-
2. กำหนดแนวทางการคุ้มครองการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย และการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาของศาลแต่อย่างใด
-
3. ในการดำเนินงานในพื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินตามแนวทาง คทช. โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และระเบียบ สำหรับพื้นที่ผนวกเพิ่มเป็นอุทยานประมาณ 110,000 ไร่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
-
4. การดำเนินงานของภาครัฐในการประกาศหวงห้ามเขตที่ดินของรัฐ ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการดำเนินการของภาครัฐ และหากประชาชนอยู่ในที่ดินของรัฐ ก็ควรเร่งรัดให้เกิดการพิสูจน์สิทธิตามมาตรการที่ คทช. กำหนด และให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 41 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ในประเด็นที่ระบุว่า รัฐจะไม่นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย และป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. ไปดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพิ่มเติมด้วย
“โดยที่ประชุม ครม. ยังได้มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการปรับปรุงแผนที่ One Map ทั้ง 2 กรณี อย่างรอบคอบ รวมทั้งให้ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง ครบถ้วน ต่อไปด้วย” นางสาวทิพานัน กล่าว
ผ่านแผนปฏิบัติงานตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ฉบับที่ 2
นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกต่อไป
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยการลด และ/หรือ เลิกการผลิต การใช้ และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ยาก มีคุณสมบัติเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ ตกค้างยาวนาน สามารถสะสมในสิ่งมีชีวิต ห่วงโซ่อาหาร และสิ่งแวดล้อมได้มาก และสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในสิ่งแวดล้อม โดยอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นมา
ร่างแผนจัดการระดับชาติฯ ฉบับที่ 2 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
-
1. วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแผนหลักของประเทศในการจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานให้ครอบคลุมสาร POPs ชนิดใหม่ 19 รายการ ให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ
-
2. เป้าหมาย เพื่อลด และ/หรือ เลิกการผลิต การใช้ และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
-
3. ประเภทสารเคมีที่ต้องได้รับการติดตาม ควบคุม ตามแผนจัดการระดับชาติฯ ฉบับที่ 2 ได้แก่ สาร POPs ชนิดใหม่ 19 รายการ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เช่น สารไดโคฟอล (Dicofol) 2.สารเคมีอุตสาหกรรม เช่น สารพีฟอสเอฟ (PFOS) ที่ใช้ในการดับเพลิงและเคลือบกระทะ และ 3.สารเคมีที่ปลดปล่อยโดยไม่จงใจ เช่น สารเคมีที่เกิดจากการเผาขยะ การเผาในที่โล่ง กระบวนการผลิตโลหะ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีสารเคมีที่อยู่ภายใต้แผนจัดการระดับชาติฯ ฉบับแรกอีก 2 สารที่ยังคงต้องติดตาม ควบคุมการใช้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สารไดออกซิน/ฟิวแรน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่ปลดปล่อยโดยไม่จงใจที่เกิดจาก การเผาขยะ และการเผาในที่โล่งเป็นส่วนใหญ่
-
4. แผนปฏิบัติการ (Action Plans) ภายใต้แผนจัดการระดับชาติฯ ฉบับที่ 2 ประกอบด้วย 16 แผนกิจกรรม ที่จะดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2566-2570 โดยได้กำหนดเป้าหมาย กิจกรรม ตัวชี้วัด หน่วยงานดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ งบฯ และแหล่งเงิน ซึ่งมีหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุน 37 หน่วยงานร่วมดำเนินการ
“ตัวอย่างกิจกรรมที่สำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการฯ เช่น 1. การออกประกาศควบคุมสาร POPs ชนิดใหม่ให้เป็นวัตถุอันตราย ภายใต้ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และการพิจารณายกระดับการควบคุมและ/หรือกาหนดเงื่อนไขจำกัดการใช้สาร POPs ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาตภายใต้อนุสัญญาฯ 2. การปรับปรุงกฎระเบียบให้มีการรายงานข้อมูลการใช้สารพีฟอส (PFOS) รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีในการกำจัดซากเคมีภัณฑ์ที่มีสาร PFOS 3.ศึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับลดและจัดการสารเคมีที่ปลดปล่อยโดยไม่จงใจ เช่น ไดออกซินและฟิวแรน จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ และ 4.ออกมาตรการจูงใจให้ผู้บริโภคและภาคเอกชนหันมาสนับสนุนสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดการเผาในที่โล่งและ/หรือมาตรการทางการเงินแก่เกษตรกร” นางสาวทิพานัน กล่าว
ไฟเขียว “โครงการงบ Big Rock” ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการเปิดโครงข่ายขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต (โครงการงบ Big Rock) ตามหลักการโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ เพื่อให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายไปให้บริการปลายทาง (Last Mile Access) ยังทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการใช้โครงข่ายดังกล่าวให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า การเปิดโครงข่ายของโครงการงบ Big Rock ภายใต้หลักเกณฑ์การให้บริการโครงข่ายเน็ตประชารัฐแบบเปิด (Open Access Network) ได้ดำเนินการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 40,976 พอร์ต โดยที่ 3,342 พอร์ตสำหรับโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสุขศาลาพระราชทานเป้าหมาย 1,671 แห่ง แห่งละ 1-2 พอร์ต และ 8,573 พอร์ตเปิดดำเนินการสารองเพื่อสาธารณะประโยชน์ และ 29,061 พอร์ตได้เปิดให้เชื่อมต่อไปยังครัวเรือนปลายทาง (Last mile) สำหรับเปิดให้เป็นโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network)
“ที่ประชุม ครม. ยังมีมติรับทราบการโอนทรัพย์สินภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐและโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (โครงการงบ Big Rock) ให้กับ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ตามมติคณะกรรมการดิจิทัลฯ ในคราวการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา” นางสาวทิพานัน กล่าว
สร้างทางพิเศษฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา 24,000 ล้าน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 14 มี.ค. 66 ได้อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กม. เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางของประชาชนระหว่างจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย สถานศึกษาและนันทนาการของภาครัฐทั้งที่เปิดบริการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยโครงการฯ มีมูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท แยกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิที่ดิน 3,726.81 ล้านบาท ส่วนนี้จะใช้จ่ายจากงบประมาณรัฐบาล และค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน 20,333.23 ล้านบาท กทพ. จะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท และออกพันธบัตรในกรอบวงเงิน 5,960 ล้านบาท
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า โครงการฯ จะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร(ไป-กลับ) ระยะทาง 16.21 กม. มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
การก่อสร้างโครงการจะมีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 3 แห่ง ได้แก่ 1)ทางแยกต่างระดับจตุโชติ 2)ทางขึ้นลงจตุโชติ1และหทัยราษฎร์ 1 3)ทางขึ้น-ลง หทัยราษฎร์ 2 และ 4)ทางขึ้น-ลง ถนนลำลูกกา มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 3 ด่าน คือ ด่านจตุโชติ ด่านหทัยราษฎร์ และด่านลำลูกกา
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กทพ. จะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้าง 5 ปี ระหว่าง 2566-70 มีแผนงาน ดังนี้ เดือนมี.ค.- ก.ย. 66 เสนอร่าง พรฎ.เพื่อจัดกรรมสิทธิที่ดิน คัดเลือกผู้ควบคุมงานก่อสร้างและคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการ ระหว่าง ตุลาคม66-ก.ย. 68 ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ และระหว่าง ก.ย.67-ส.ค. 70 ก่อสร้างโครงการ
สำหรับการดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโครงการฯ ที่ใช้งบประมาณ 3,726.81 ล้านบาทนั้น คำนวณตามราคาประเมิน ณ ปี 2564 ประกอบด้วย พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน 471 ไร่ 99 ตารางวา อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบ 134 หลัง
ไฟเขียว บจม.โทรคมนาคมฯ ลุย 4G/5G คลื่น 700 MHz
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) ดำเนินโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) มีกรอบวงเงินตามโครงการทั้งสิ้น 61,628 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 14 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดบริการได้ภายในปี 2566 เป็นต้นไป ตามโครงการนี้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จะนำคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ได้จากการประมูลมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยี 4G/5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถพัฒนาบริการใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของตลาด รองรับผู้ใช้บริการรายเดิมบนคลื่น 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ที่สิทธิการใช้คลื่นของ บมจ.โทรคมนาคมกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 สิงหาคม 2568 รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายใหม่ๆ ตามแผนการตลาด และเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งส่วนของลูกค้ารายย่อย 3.6 ล้านราย เช่นลูกค้าเดิมที่ใช้บริการอยู่ 2 ล้านรายและกลุ่มนักท่องเที่ยวขาเข้า 2-4 แสนซิมต่อปี กลุ่มลูกค้า IoT Connectivity และ New devices ลูกค้าองค์กรภาครัฐ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าทดแทนโทรศัพท์พื้นฐาน จำนวน 9 แสนเลขหมาย
สำหรับกรอบวงเงินดำเนินการ 61,628 ล้านบาท นั้น แยกเป็น ค่าใช้จ่ายในการลงทุน 30,602 ล้านบาท เช่น ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz 20,584 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดหาโครงข่ายร่วมกับพันธมิตร 9,300 ล้าบาท และอุปกรณ์โครงข่าย 718 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 31,026 ล้านบาท เช่น ค่าดำเนินการโครงข่าย Network Cost 29,236 ล้านบาท ค่าบุคลากร 1,615 ล้านบาท และ ค่าดำเนินการอื่นๆ 175 ล้านบาท
สำหรับโครงการนี้ นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อ บมจ.โทรคมนาคม ให้สามารถสร้างรายได้และพลิกฟื้นธุรกิจในสถานการณ์ที่การแข่งขันสูงได้แล้ว ยังมีผลบวกต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมคือ ผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ในการช่วยลดต้นทุน ของอุตสาหกรรมในภาพรวม เกิดการแข่งขันในตลาดเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้รับบริการนอกเหนือจากผู้ให้บริการหลัก 3 ราย
อนุมัติฉีดวัคซีนโควิดฯให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ – รายได้ส่งคลัง
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้(คกง.) ภายใต้ พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ให้กรมควบคุมโรคเปลี่ยนแปลงรายละเอียด ซึ่งเป็นสาระสำคัญของโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยจำนวน 60 ล้านโดส (AstraZeneca) ปี พ.ศ. 2565 โดยการปรับลดราคาวัคซีนตามโครงการเหลือ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ส่งผลให้วงเงินตามโครงการลดลงเหลือ 18,382.46 ล้านบาท (เดิม 18,639.10 ล้านบาท) และปรับเพิ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มเป้าหมายตามโครงการด้วย
รวมถึงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการจัดหาวัคซีนโควิด – 19 สำหรับประชากรในประเทศไทยจำนวน 30 ล้านโดส (Pfizer) ปี พ.ศ. 2565 โดยปรับเพิ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มเป้าหมายตามโครงการ และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการจากสิ้นสุด ธันวาคม 2565 เป็น กันยายน 2566
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานดำเนินทั้ง 2 โครงการ นำส่งรายได้จากการให้บริการวัคซีนแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เฉพาะส่วนของค่าวัคซีนโควิด – 19 เป็นรายได้แผ่นดินภายใต้ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาช่วยชำระคืนเงินกู้ ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณในการชำระหนี้ของภาครัฐได้ต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งบริการจัดการวัคซีนให้เกิดการใช้ประโยชน์คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
จัดงบฯ 514 ล้าน ให้ อว.ส่งเสริม Star up ภายใต้แนวคิด BCG
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 514.22 ล้านบาท ให้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินโครงการฟื้นฟู เตรียมความพร้อม และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) กลุ่มอาชีพในชุมชน หลังสถานการณ์โควิด19 ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ การสร้างต้นแบบสตาร์ทอัพ และพัฒนาฐานข้อมูลเศรษฐกิจชุมชนของกลุ่มสตาร์ทอัพในเขตจังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
-
1) กิจกรรมาจัดทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจชุมชนและระบบบริหารจัดการโครงการผ่านแอพพลิเคชั่น แพลตฟอร์มของกลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มอาชีพในชุมชน ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน
2) กิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรและอบรมพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับสตาร์ทอัพ และกลุ่มอาชีพในชุมชนได้ โดยจัดทำหลักสูตรการพัฒนาทักษะตามกลุ่มสตาร์ทอัพและกลุ่มอาชีพชุมชน 12 หลักสูตร จัดอบรมทักษะ ให้ความรู้การจัดการผลผลิตเพื่อกระจายสินค้าทั้งในรูปแบบกลุ่มสหกรณ์ ร้านค้าและตลาดออนไลน์
3) กิจกรรประเมินความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน และถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการ และจัดเวทีคืนข้อมูลสะท้อนผลการดำเนินโครงการกลับไปยังกลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มอาชีพในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน
ก่อหนี้ผูกพัน 867 ล้าน จัดงาน “Expo 2025 Osaka Kansai”
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2566-69 สำหรับดำเนินโครงการจัดแสดงนิทรรศการในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 867.88 ล้านบาท
ทั้งนี้ ครม. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ได้เคยอนุมัติให้ประเทศไทยเข้าร่วมงาน Expo 2025 Osaka Kansai ซึ่งงานจะมีการจัดแสดงระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2568 โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นเจ้าภาพหลักในการเข้าร่วมงาน และ ครม. วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ได้เห็นชอบกรอบแผนดำเนินงาน และกรอบงบประมาณการจัดงานในวงเงิน 973.48 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายการบริหารและเตรียมงาน 105.60 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดนิทรรศการจำนวน 867.88 ล้านบาท
สำหรับความจำเป็นในการขออนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีครั้งนี้ เนื่องจากตามแผนการเข้าร่วมงานมีกำหนดการรับมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในการจัด Expo ในเดือนเมษายน 2566 ดำเนินการจัดเตรียมสถานที่สร้างอาคารจัดนิทรรศการ ตั้งแต่ พฤษภาคม 2566- ตุลาคม 2567 โดยการดำเนินการจะต้องมีการเสนอแผนการก่อสร้างให้กับประเทศญี่ปุ่นทราบ ซึ่งการออกแบบและการวางแผนก่อสร้างต้องดำเนินการโดยผู้รับจ้าง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงต้องได้รับงบประมาณและได้รับการอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณก่อน จึงจะดำเนินการสรรหาผู้รับจ้างในเดือนเมษายน 66 นี้ได้
ผ่านแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 1,747 โครงการ 41,903 ล้านบาท
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566-70 ฉบับทบทวน ซึ่งได้มีการนำเสนอข้อมูลสำคัญด้านต่างๆ เพื่อประกอบการวิเคราะห์ กำหนดประเด็นการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกับศักยภาพ ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่เหมาะสมและเป็นไปได้ และให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปรับปรุงแผนที่เกี่ยวข้องต่อไป
พร้อมกับอนุมัติแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,747 โครงการ วงเงินรวม 41,903.46 ล้านบาท โดยเมื่อจำแนกตามประเภทโครงการ พบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ร้อยละ 57) รองลงมาเป็นโรงการด้านการท่องเที่ยว (ร้อยละ 16) ด้านการเกษตร(ร้อยละ9) ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ (ร้อยละ5) ด้านสังคม คุณภาพชีวิตและความมั่นคง(ร้อยละ 5) ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ร้อยละ4) ด้านการค้าการลงทุนและสินค้า OTOP (ร้อยละ3) และอื่นๆ (ร้อยละ1)
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติราชการฯ แยกเป็น 1)โครงการของจังหวัด 76 จังหวัด 1,545 โครงการ วงเงิน 31,290.47 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย โครงการที่มีความสำคัญลำดับแรก เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์จังหวัด มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัด 1,169 โครงการ วงเงิน 20,662.52 ล้านบาท และโครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นรองลงมา 376 โครงการ วงเงิน 10,627.95 ล้านบาท
2) โครงการและงบประมาณกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด ทั้งโครงการและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดตามความต้องการของพื้นที่ และเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาในลักษณะคลัสเตอร์ รวม 202 โครงการ งบประมาณ 10,612.99 ล้านบาท แยกเป็นโครงการที่มีความสำคัญลำดับแรกฯ 177 โครงการ วงเงิน 8,651.99 ล้านบาท และโครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นรองลงมา 25 โครงการ วงเงิน 1,961 ล้านบาท
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติข้อเสนอโครงการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ.2566-70 รวม 364 โครงการ วงเงิน 787,765.03 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นโครงการที่สอดคล้องและมีการกระจายประโยชน์ในระดับภาคสูง 88 โครงการ วงเงิน 101,711.41 ล้านบาท และโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค 276 โครงการ วงเงิน 686,053.62 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายภูมิภาคแล้วภาคเหนือ 105 โครงการ 223,656 ล้านบาท, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 โครงการ วงเงิน 348,487.93 ล้านบาท, ภาคกลาง 129 โครงการ วงเงิน 1,386.53 ล้านบาท, ภาคตะวันออก 31 โครงการ วงเงิน 86,424.11 ล้านบาท ภาคใต้ 57 โครงการ วงเงิน 124,733.6 ล้านบาท และภาคใต้ชายแดน 31 โครงการ วงเงิน 3,076.6 ล้านบาท
ผ่านมาตรการตรึงกำลังคนภาครัฐ 2566-70 คุมค่าใช้จ่าย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ. 2566-70 ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอ และให้องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลส่วนราชการในกำกับของฝ่ายบริหารและหน่วยงานของรัฐ นำหลักการและแนวทางมาตรการฉบับนี้ไปใช้เพื่อให้การกำกับควบคุมขนาดกำลังคนและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐล่าสุดนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากมาตรการปี 2562-65 เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรประเทศยังคงสูงขึ้น สัดส่วนคำของบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ทดแทนกำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางหน่วยงานไม่ดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐอย่างเคร่งครัด จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วนในการตรึงอัตรากำลังคนภาครัฐไว้ระยะหนึ่ง เพื่อควบคุมกำลังคนและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐให้เกิดความเหมาะสม
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐฯ จะครอบคลุมบุคลากร ประกอบด้วย ข้าราชการ(ไม่รวมข้าราชการทหาร) พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการจัดสรรอัตราว่างจากผลของการเกษียณอายุ ในกรณีข้าราชการพลเรือน ช่วงปี 2566-67 ให้ตรึงอัตรากำลังไม่เพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม โดยชะลอการทดแทนอัตราว่างการผลการเกษียณอายุด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ จากนั้นปี 68-70 ให้จัดสรรอัตราตามขนาดของส่วนราชการต่อไป และเพิ่มเงื่อนไขว่าไม่ควรมีตำแหน่งว่างเกินร้อยละ 5 ของกรอบอัตราข้าราชการทั้งหมด
กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกลุ่มบุคลากรตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนไม่มีการตรึงอัตรากำลัง แต่ได้ปรับเงื่อนไขหรือเพิ่มการพิจารณาจัดสรรอัตราที่ว่าง แต่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) กำหนดเป็นประเภทวิชากรและตำแหน่งประเภททั่วไปให้ดำเนินการเดียวกับข้าราชการพลเรือน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้าราชการตำรวจ การจัดสรรอัตราว่างยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขปี 2562-65 แต่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ตรึงอัตรากำลังโดยบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่เพิ่มอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม
ส่วนการบริหารกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการนั้น ปีงบประมาณ 2566-67 ให้ชะลอการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยอัตรากำลังพนักงานราชการ รวมถึงปรับปรุงกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ทดแทนอัตราจากผลการเกษียณอายุรอบที่6 (พ.ศ.2568-71) ส่วนการกำหนดตำแหน่งและระยะเวลาการจ้างยังคงเดิมคือ 4 ปี
นอกจากนี้ ตามมาตรการฯ ยังได้ปรับปรุงแนวทางการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ด้วยการเพิ่มกลไกการพิจารณาจัดสรรอัตราข้าราชการใหม่ โดยให้มีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองประกอบด้วย สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กรมบัญชีกลางและผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็นต่อข้อเสนอขอจัดสรรกำลังตั้งใหม่ เพื่อให้สามารถควบคุมการเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการและงบประมาณด้านบุคลากรของประเทศได้ในระยะยาว
ลุ้นไทยเข้ารอบชิงเจ้าภาพจัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก- IMF ปี’69
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการดำเนินการเกี่ยวกับที่ประเทศไทยแสดงความสนใจในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ปี 2569
กระทรวงการคลังรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าธนาคารโลกของประเทศไทย ได้ส่งหนังสือไปยังธนาคารโลกว่าประเทศไทยในฐานะสมาชิกของธนาคารโลกและIMF มีความสนใจจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมประจำปีผู้ว่าการธนาคารโลกและIMF ในปี 2569 และได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศไทยด้วย
สำหรับการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ เป็น 1 ใน 2 ประชุมสำคัญของธนาคารโลกและ IMF คือ Spring Meeting ที่จัดขึ้นทุกเดือนเมษายนของทุกปีที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. สหรัฐฯ และการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ทุก 3 ปี โดยหมุนเวียนให้ประเทศสมาชิกเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ โดยประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุดเมื่อปี 2534 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุด ประเทศไทยได้ผ่านการพิจารณาความเหมาะสมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีสภาผู้ว่าธนาคารโลกฯ ปี 2569 โดยคณะทำงานของธนาคารโลกและ IMF ได้เดินทางมาสำรวจสถานที่จัดประชุม โรงแรมที่พัก ระบบคมนาคม และความพร้อมของไทยเมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา และได้รับคัดเลือกให้ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่มีความเหมาะสมร่วมกับกาตาร์จากก่อนหน้านี้ที่มีประเทศผ่านขั้นตอนการพิจารณาความเหมาะสมในครั้งแรก 5 ประเทศ
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม Spring Meeting ที่สหรัฐฯ ในวันที่ 14 เมษายน 2566 จะมีการสรุปผลการคัดเลือกประเทศที่จะได้เป็นเจ้าภาพต่อคณะกรรมการบริหารกลุ่มออกเสียงของธนาคารโลกและ IMF และมีการลงนาม บันทึกความเข้าใจในการเป็นเจ้าภาพในช่วงการประชุมประจำปีผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ในเดือน ตุลาคม 2566 ณ ราชอาณาจักรโมร็อกโกต่อไป
กระทรวงการคลังแจ้งว่า หากประเทศไทยได้รับเลือก กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ ปี 2569 พร้อมขออนุมัติวงเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการ และอนุมัติการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป ซึ่งการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยนี้จะเป็นการแสดงบทบาทของไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และแสดงศักยภาพ ความพร้อมของไทยในการจัดประชุมระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของธนาคารโลกและ IMF มาตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2492 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดำรงตำแหน่งผู้ว่าธนาคารโลกของประเทศไทย และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ IMF ของประเทศไทย เพื่อเป็นผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมหรือภารกิจต่างๆ ของทั้ง 2 องค์กร ที่เกี่ยวข้องและเกิดประโยชน์กับประเทศไทย
ตั้ง “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ประธานบอร์ดสถาบันวิจัยดาราศาสตร์
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิชาการศุลกากรทรงคุณวุฒิ) กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายประวีณ ทับแสง นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลมหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลอุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นางสาวกรนภา ชัยวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม (ผู้ตรวจราชการกรมระดับสูง) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสหกรณ์ (นักวิชาการสหกรณ์ทรงคุณวุฒิ) กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
-
1. นายนรวีร์ พุ่มจันทร์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2565
2. นางสาวภัทรวีร์ สร้อยสังวาลย์ ผู้อำนวยการสำนัก [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิทยาศาสตร์การแพทย์) ระดับสูง] สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (มาตรฐานห้องปฏิบัติการ) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2565
3. นางสาวปิยะดา หวังรุ่งทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านบักเตรีลำไส้ (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ) กลุ่มแบคทีเรียวิทยาทางการแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (จุลชีววิทยา) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
5. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ชุดใหม่ จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
-
1. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
2. นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
6. การแต่งตั้งข้าราชการเมือง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
7. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายบุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
8. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จำนวน 8 คน ดังนี้
-
1. นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ
2. นายจักรชัย บุญยะวัตร ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
3. นางเนาวรัตน์ บำรุงจิตต์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
4. นายพิชัย สนแจ้ง ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5. นายพิเศษ จียาศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
6. นายรัตติกร ยิ้มนิรัญ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
7. นายวิทยา อมรกิจบำรุง ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
8. นายสรนิต ศิลธรรม ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
9. แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา ดังนี้
-
1. นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ ประธานกรรมการ
2. นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการ
3. นายมนต์ชัย รุ้งทองผ่องอำไพ กรรมการ
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ กรรมการ
5. นายพิงค์พันธุ์ ฟุ้งพิพัฒน์ กรรมการ
6. นายสุรเดช สมิเปรม (ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) กรรมการ
7. นางบุษกร ปราบณศักดิ์ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) กรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
10. แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยมีจำนวนเกินกว่าสิบเอ็ดคน แต่ไม่เกินสิบห้าคนตามความในมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ดังนี้
-
1. นายกวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ ประธานกรรมการ
2. นายเผ่าภัค ศิริสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง)
3. นายปวิช พรหมทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง)
4. นางสาวอรอนงค์ อารินวงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง)
5. นายพิเชษฐ ยอดใชย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง)
6. นายศิริพันธุ์ ตรีไตรรัตนกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง)
7. นายวีรวัฒน์ ยมจินดา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยางซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า)
8. นายสำเริง แสงภู่วงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยางซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุตสาหกรรมยาง)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
11. การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการผังเมืองแทนตำแหน่งที่ว่าง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล เป็นกรรมการในคณะกรรมการผังเมืองในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตรกรรม แทนกรรมการผังเมืองที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
12. การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 จำนวน 14 คน เนื่องจากกรรมการเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ดังนี้
-
1. นายนิยม สองแก้ว ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล
2. นางสาววรวรรณ พลิคามิน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล
3. นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล
4. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล
5. นางสาวศุภานัน ปลอดเหตุ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง
6. นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง
7. นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง
8. นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง
9. นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง
10. นายกัมปนาท ศรีพนมวรรณ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง
11. นายสมชาย มูฮัมหมัด ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง
12. นายอ่อนสี โมฆรัตน์ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง
13. นายไพโรจน์ วิจิตร ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง
14. นายวีรสุข แก้วบุญปัน ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง
ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในครั้งต่อ ๆ ไป ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)
13. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
14. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ดังนี้
-
1. ศาสตราจารย์พรทิพภา เล็กเจริญสุข
2. ศาสตราจารย์ยง ภู่วรวรรณ
3. นายสมชัย จิตสุชน
4. นายวิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร
5. นายศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์
6. ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
7. ศาสตราจารย์กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
8. รองศาสตราจารย์ประสบศรี อึ้งถาวร
9. รองศาสตราจารย์ศักรินทร์ ภูมิรัตน
10. ศาสตราจารย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2566 เป็นต้นไป
15. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ชุดใหม่ ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 14 มีนาคม 2566 เพิ่มเติม