ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเผยใกล้ยุบสภา – สัปดาห์หน้ามีวาระพิจารณาหลายเรื่อง – มติ ครม.เพิ่มเบี้ย “อสม.-อสส.” เป็น 2,000 บาท

นายกฯเผยใกล้ยุบสภา – สัปดาห์หน้ามีวาระพิจารณาหลายเรื่อง – มติ ครม.เพิ่มเบี้ย “อสม.-อสส.” เป็น 2,000 บาท

8 มีนาคม 2023


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
  • นายกฯเผยยุบสภาใกล้เข้ามาทุกที หารือพรรคร่วมแล้ว
  • ชี้ ครม.สัปดาห์หน้ามีวาระพิจารณาหลายเรื่อง
  • ลงพื้นที่ไม่ห่วงมือเจ็บ หมอเตือนระวังติดเชื้อ
  • มติ ครม.เพิ่มเบี้ย “อสม. – อสส.” เป็น 2,000 บาท/เดือน
  • ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์-เรือไฟฟ้า
  • จัดงบฯ 3,191 ล้าน ลดค่าไฟบ้านไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน
  • ยกเว้นภาษีเงินได้ “บริษัท – หจก.” รับเงินอุดหนุนซื้อรถ EV
  • ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.ให้อำนาจ ธปท.กำกับ-ตรวจสอบลีสซิ่ง
  • ออกสลากการกุศล 3 โครงการ 921 ล้าน
  • เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    เผยโค้งสุดท้าย ครม.พิจารณาวาระเร่งด่วนกว่า 40 เรื่อง

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีวาระพิจารณากว่า 40 เรื่อง หลายเรื่องจำเป็นจะต้องเร่งรัดเข้า ครม. เพราะเป็นช่วงปลายของรัฐบาล และเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ฉะนั้นอะไรที่ดูแลได้ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ก็จะดูแลให้

    พลเอกประยุทธ์ เสริมว่า เรื่องที่ตนให้ดูแลเร่งด่วนก็คือเรื่องการสร้างฝายในอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ตนได้ไปมาเอง และจากที่รายงานเข้ามาและในพื้นที่ ก็ได้ขอมา จึงได้อนุมัติ ซึ่งเป็นประมาณปี 2567 เพราะถ้าทิ้งไว้นาน ก็เดือดร้อน ที่อนุมัติไม่ได้เพื่ออะไรทั้งสิ้น แต่เพื่อเป็นไปตามความต้องการของประชาชน

    นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องเร่งด่วนคือ โครงการคมนาคม ทั้งสะพานและถนน ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีขอมาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งได้อนุมัติไปแล้ว แต่งบฯไม่พอ เพราะถูกตัดไป

    “วันนี้ต้องทำให้เสร็จ จึงอนุมัติงบฯไปเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน แต่ต้องเข้าใจว่างบประมาณเรามีจำกัด เพราะช่วงปลายรัฐบาล งบประมาณที่ได้มาทั้งหมด ก็ดูแลประชาชน อีกหลายอย่าง และวันนี้ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งหลังยุบสภาฯไปแล้ว ก็ต้องรักษาการ ต้องมีเงินไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจำกัดมากพอสมควรในการแก้ปัญหา จึงต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ลงพื้นที่ไม่ห่วงมือเจ็บ หมอเตือนระวังติดเชื้อ

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการ และมีเหตุการณ์ดาบสักการะฯ หล่นใส่แขนจน ทำให้มืออักเสบ และเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล จนแพทย์สั่งให้งดการลงพื้นที่ โดย พลเอกประยุทธ์ บอกว่า “ก็ไม่เป็นไร อย่างนี้ก็ไปได้ วันนี้ก็ประชุมทั้งวันไม่เห็นเป็นอะไร ส่วนกรณีที่แพทย์สั่งห้ามลงพื้นที่นั้น ก็เดี๋ยวก็ปรับ บางทีก็ต้องดูว่าเหมาะสมหรือเปล่า เพราะนายกรัฐมนตรี เป็นแผลอยู่ ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดอยู่”

    “ไม่ได้หมายความว่าใครไม่สะอาดนะ เพียงแต่ในพื้นที่ ก็ธรรมดา ต้องมีฝุ่น อาจจะไปจับนู่นจับนี่บ้าง ต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะหมอก็เตือนไว้ เรื่องการติดเชื้อ ก็น่าจะใช้เวลาสัก 2 สัปดาห์ เพราะมีรอยเย็บด้วย เคยโดนเย็บไหม” พลเอกประยุทธ์ ย้อนถามผู้สื่อข่าว

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “นอนหลับบ้าง ไม่หลับบ้าง ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล ไม่เคยนอนโรงพยาบาลแบบนี้ เท่าที่จำได้ไม่เคยนอนโรงพยาบาลเลยนะ เคยไปรักษาตอนกระโดดร่มสมัยโน้น เจ็บกระดูกคอหน่อยๆ ก็ไปนอนให้หมอดู 2-3 วัน ซึ่งยาฆ่าเชื้อนั้นต้องให้ทุกวัน…ก็ระวังตัว ไม่เป็นอะไรมั้ง หมอบอกว่าไม่เป็นอะไรหรอก เพียงแต่ระมัดระวัง อย่าตรากตรำ อย่าใช้มือมากนัก ให้พักแขนไว้หน่อยนะจ๊ะขอบคุณที่เป็นห่วง”

    แจงเหตุลงพื้นที่ – อยากเยี่ยม ปชช.

    ถามอีกว่า จะกระทบกับภารกิจทางการเมืองหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า ไม่กระทบ การเมืองก็คือการเมือง ราชการก็ราชการ ตนก็ทำทั้งราชการ และการเมือง จึงไม่แตกต่างกันมาก เพียงแต่ต้องไปพบประชาชนด้วย ที่ไหนไปได้ก็ไป เพียงแต่ต้องระมัดระวังตัวเองด้วย

    “ก็ขอบคุณประชาชน เวลาไปหาก็มาเจอกันเยอะ แต่ต้องระมัดระวังหน่อย ก็อยากไปเยี่ยมไปเยือนอยู่แล้ว” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ซ้อมเซ็นเอกสาร ยันสวยกว่าเดิม

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ถ้าร่างกายหายดี ก็สามารถถอดเฝือกสัปดาห์นี้ ถ้าไม่ดี ก็สัปดาห์หน้า ให้แผลมันปิด ไม่เช่นนั้นเชื้อโรคมันเข้าไปข้างใน ก็ทำความสะอาดทุกวัน ส่วนการเซ็นหนังสือนั้น ก็เซ็นได้ ความจริงซ้อมเซ็นมาแล้ว วันนี้เซ็นสวยกว่าเดิมนะ

    เมื่อถามว่าที่มีการทดลองเซ็นได้มีการเตรียมไว้ เพื่อเซ็นในการยุบสภาด้วยหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่ต้องลอง เพราะบางอย่างต้องเซ็น นายกรัฐมนตรี ต้องเซ็นทุกเรื่อง คราวก่อนไปโรงพยาบาล ก็เซ็นไม่ได้ เพราะมันล็อกอยู่ เรามีกฎหมาย การลงนามด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ นายกรัฐมนตรี อ่านทุกเรื่อง 40 กว่าเรื่อง ติ๊กไว้ และลงนามอิเล็กทรอนิกส์ไป เมื่อมาทำเนียบรัฐบาลแล้วก็เซ็นด้วยตัวเอง”

    เผยยุบสภาใกล้เข้ามาทุกที หารือพรรคร่วมแล้ว

    พลเอกประยุทธ์ ยังตอบเรื่องการยุบสภาว่า การยุบสภาก็ใกล้งวดลงทุกที แต่ทั้งนี้ ไม่ได้ตอบว่าอีกกี่วัน โดยตอบสั้นๆ เพียง “ยังไม่รู้ จำไม่ได้อยู่”

    ถามอีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับบรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและแกนนำหรือยัง พลเอกประยุทธ์ บอกว่า “ได้พูดคุยกันแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร ท่านก็บอกว่าแล้วแต่”

    ชี้ ครม.สัปดาห์หน้ามีวาระพิจารณาหลายเรื่อง

    ถามอีกว่า สัปดาห์หน้าจะเป็นการประชุม ครม.ในรูปแบบสมบูรณ์ครั้งสุดท้ายหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ยังเป็นอยู่นะ..คิดว่า มีเรื่องอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ทั้งเรื่องเก่า เรื่องใหม่ที่ยังติดค้างอยู่ เพราะประชาชนเดือดร้อน อยากแก้ให้ได้มากที่สุด”

    ปัดข่าว “รทสช.-ปชป.” ขัดแย้งกัน

    นอกจากนี้ ยังมีคำถามกรณีที่ ม.จ. จุลเจิม ยุคล โพสต์ข้อความอย่าดึงฟ้ามาเล่น และอย่าเอามือไปปิดพระอาทิตย์ เหมือนบางพรรคการเมือง และได้พูดคุยกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่ โดย พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่ได้คุย เป็นสิทธิของท่าน ใครจะคุยกันก็คุยกัน คนรู้จักทำไมคุยกันไม่ได้เล่า อย่ามองในแง่ไม่ดีทุกอย่าง คนเราเจอก็ต้องคุยกัน เวลาไปไหนมาไหน คนคุยกับผม ผมก็คุยกับทุกคนนั่นแหละ ทำไมต้องมองว่าฉันต้องคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็แล้วแต่ เพราะเราไม่ได้อยู่ร่วมในการคุยด้วยจะรู้ได้ไง แต่ท่านก็บอกว่าไม่มีอะไรกัน ทักทายกันธรรมดา ผู้ใหญ่คุยกัน”

    ผู้สื่อข่าว ถามถึงการกระทบกระทั่งกันในการหาเสียงระหว่างพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยพลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ไม่เห็นมีอะไร ผมถามท่าน เมื่อกี้ท่านก็บอกไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน เอาไปพาดพิงกันไปกันมา ก็มีเรื่องกันได้ ผมถามหัวหน้าพรรคว่ามีไหม ท่านบอกว่าไม่มี ก็จบ เอาหล่ะไม่ย้อนกลับ ไม่เอาๆ เนาะ โอเคนะจ๊ะ”

    ขอบคุณ รมต.ทุกคนเป็นห่วงอาการมือเจ็บ

    นายอนุชา รายงานว่า วันนี้ก่อนการประชุม ครม. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคน ที่แสดงความเป็นห่วง ช่วงที่นายกรัฐมนตรี เข้ารักษามือขวาที่โรงพยาบาล แต่วันนี้สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ และเซ็นเอกสารได้ ทั้งนี้ยังต้องใช้เวลาหนึ่งในการรักษาอาการ เนื่องจากได้มีการผ่าตัดมือขวา

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ , ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    จัดงบฯ 3,191 ล้าน ลดค่าไฟบ้านไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติวงเงิน 3,191,740,000 ล้านบาท ให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เพื่อให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยเป็นกรอบวงเงินของการไฟฟ้านครหลวงจำนวน 517,950,000 บาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 2,673,790,000 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบในการลดภาระค่าครองชีพให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกลุ่มเปราะบาง

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือ เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

    เว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์-เรือไฟฟ้า

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ เรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของกิจการยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนด้วย

    ทั้งนี้ ของที่ได้รับการยกเว้นอากรศุลกากร ได้แก่ ของและส่วนประกอบของ ของที่นำเข้าเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รวม 9 รายการ ดังนี้ 1) แบตเตอรี่ (battery) 2) มอเตอร์ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (traction motor) 3) คอมเพรสเซอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 4) ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) 5) ระบบควบคุมการขับขี่ 6) ออนบอร์ดชาร์ทเจอร์ (on-board charger) 7) ดี ซี/ดีซี คอนเวอร์เตอร์ (DC/DC converter) 8) อินเวอร์เตอร์ (inverter) รวมถึง พีซียู อินเวอร์เตอร์ PCU inverter 9) รีดักชัน เกียร์ ( reduction gear)

    เงื่อนไขการได้รับการยกเว้นอากร ต้องเป็นของที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มีหนังสือรับรองจากสถาบันยานยนต์ว่าเป็นของหรือส่วนประกอบของของสำหรับนำมาเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ และต้องนำไปใช้ประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่นำเข้าของ หากมีเหตุขัดข้องสามารถขอขยายระยะเวลาการผลิตได้อีกไม่เกิน 6 เดือน สำหรับของที่ได้รับการยกเว้นอากรหากไม่สามารถหรือไม่ได้นำไปใช้ประกอบหรือผลิต ภายในเวลาที่กำหนดให้ผู้นำเข้าของเข้าส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรหรือชำระอากรโดยถือเป็นสภาพของของ ราคาและอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่นำของเข้า

    ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ารัฐอาจจะสูญเสียรายได้จากอากรขาเข้าโดยเฉลี่ยประมาณ 3,143 ล้านบาทต่อปี แต่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคด้วย

    ยกเว้นภาษีเงินได้ “บริษัท – หจก.” รับเงินอุดหนุนซื้อรถ EV

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่) พ.ศ. …. (การยกเว้นเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์) เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุน และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้นในอนาคต

    สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

    • ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
    • สิทธิประโยชน์ : ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น
    • เงื่อนไข : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด อาทิ เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรเขตประกอบการเสรี เป็นผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
    • วันที่มีผลบังคับใช้ : ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    กระทรวงการคลัง รายงานว่า มาตรการนี้ไม่อยู่ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ แต่ได้ประมาณการจากการจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2568 จำนวน 43,000 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะสูญเสียประมาณ 8,600 ล้านบาท แต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีความต้องการการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและทำให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะทำให้มีการจ้างงานและการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้น

    มอบ “LTR Visa” ดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติทำงานไทย

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายของผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ภายใต้การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย Long – Term Resident Visa (LTR Visa) โดยเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมขนส่ง และโลจิสติกส์ 2) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 3) ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และ 4) อุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยชาวต่างชาติขอรับการรับรองคุณสมบัติฯ ซึ่งต้องทำงาน โดยใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง ใน 9 ด้าน เช่น การวิจัย และพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเทคโนโลยีเป้าหมาย(เช่นเทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับอาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษา การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ในการประกอบธุรกิจ การบริการด้านระงับข้อพิพาท

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ไทย ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธาน มีอำนาจในการประกาศกำหนดเพิ่ม ลด หรือปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ ตามความเหมาะสม เพื่อลดเวลาในการดำเนินการ และสามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงสู่ประเทศไทยได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายของ LTR Visa ใหม่ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล และชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน ที่ได้รับ LTR Visa สามารถทำกิจกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในไทยได้ในระยะยาวด้วย

    เพิ่มเบี้ย อสม. – อสส. เป็น 2,000 บาท/เดือน

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จากเดิมเดือนละ 1,000 บาทต่อคน เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566) พร้อมมอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานอนามัย กรุงเทพมหานคร ตั้งคำของบประมาณ ประจำปีของรายการการจ่ายเงินค่าป่วยการให้แก่อสม.และอสส. ในส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป

    ปัจจุบัน อสม.และ อสส. มีภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสุขภาพ ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ ระบาดของโรคโควิด – 19 ในระยะ Post-Pandemic ในชุมชน จำนวน 4 งาน ได้แก่ (1) คัดกรองเพื่อประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน 9 ด้าน (2) สร้างความรอบรู้ และให้บริการดูแลสุขภาพตามสภาพปัญหาในแต่ละด้าน และประสานภาคีเครือข่ายดูแล ผู้สูงอายุให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (3) ปฏิบัติงานในระยะ Post-Pandemic ของโรคโควิด – 19 และ (4) ติดตามผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดในระบบสมัครใจบำบัด

    ปัจจุบันมี อสม. จำนวน 1,075,163 คน และ อสส. จำนวน 15,000 คน คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ จำนวน 13,081 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลต้องดูแลบุคลากร คนทำงานทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องพัฒนาทุกระบบให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นด้วย

    จัดงบฯ 8,171 ล้าน ให้ อปท. 67 จว. ซ่อมถนน-แหล่งกักเก็บน้ำ

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติวงเงิน 8,171,598,800 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง/ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน แหล่งกักเก็บน้ำ หรือสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย จำนวน 2,765 โครงการ ใน 67 จังหวัด ครอบคลุมทั้งในระดับ อบจ. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และอบต. มีมติอนุมัติวงเงิน 8,171,598,800 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง/ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน แหล่งกักเก็บน้ำ หรือ สิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย จำนวน 2,765 โครงก

    กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สำรวจข้อมูลถนน แหล่งกักเก็บน้ำ หรือสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย หรือที่มีความประสงค์ที่จะดำเนินการก่อสร้าง/ปรับปรุง ซ่อมแซม ให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ซ่อมแซมถนนลาดยางแอสฟัลห์ติกคอนกรีต (ยางมะตอย) ปรับปรุงถนนลูกรัง การก่อสร้างแนวป้องกันตลิ่งซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่ง ขุดลอกคลอง/หนอง/ลำห้วย/ ซ่อมแซมฝายน้ำล้น/ อาคารน้ำล้น ติดตั้งโครมไฟฟ้าถนนแอลอีดีติด ตั้งโซล่าเซลล์เป็นต้น ทั้งนี้ นอกจากเป็นการช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย รวมทั้งยังแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนด้วย

    ต่ออายุสินเชื่อเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี 2.5 แสนล้าน อีก 1 ปี

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติขยายระยะเวลาอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ วงเงิน 250,000 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปี เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจภายใต้ (1) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อให้ความช่วยเหลือและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 แต่ยังประกอบธุรกิจและมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูธุรกิจ และ (2) มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว เพื่อเป็นแหล่งทุนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่มีความพร้อมและต้องการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อรองรับบริบทใหม่และการเปิดประเทศหลังสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด -19

    คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบ รับโอนวงเงินคงเหลือของมาตรการรับโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ (วงเงิน 100,000 ล้านบาท) หลังสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 9 เมษายน 2566 นี้ เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำหลักประกันมาเข้าโครงการ ฯ โดยคาดว่าจะมีวงเงินคงเหลือสูงสุดจำนวน 29,000 ล้านบาท มารวมไว้เป็นวงเงินภายใต้มาตรการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ จากที่คาดว่าจะคงเหลือ 32,500 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 61,500 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้มาตรการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ยืดหยุ่น ช่วยฟื้นตัวของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน หรือที่มีหนี้เดิมค้างชำระ อยู่ในการปรับโครงสร้างหนี้ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน

    อนุมัติ 875 ล้าน ลดต้นทุนผลิต “ข้าวรักษ์โลก”

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก BCG Model ภายใต้กรอบวงเงิน 874,832,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตร ตามแผนความต้องการของศูนย์ข้าวชุมชน 292 ศูนย์ เป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ 58,400 ไร่ และพื้นที่ให้บริการ 60 ล้านไร่ โดยปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกข้าว เน้นการทำนาแบบประณีต คือ การใช้ระบบชีวมวล ชีวภาพ และจุลินทรีย์ที่ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ส่งเสริมการทำนาแบบยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร

    สำหรับพื้นที่ และขอบเขตการดำเนินการพื้นที่ผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี อยู่ในกลุ่มของศูนย์ข้าวชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว จำนวน 292 ศูนย์ ในพื้นที่ 74 จังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่มีความพร้อมในการดำเนินงานตามเงื่อนไขของโครงการฯ โดยดำเนินการศูนย์ละ 200 ไร่ เพื่อปลูกข้าวรักษ์โลก ซึ่งมีรูปแบบการเกษตรแบบยั่งยืน ไม่มีการเผาฟาง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูข้าว มีการจัดการศัตรูข้าวด้วยการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรและสารชีวภัณฑ์ มีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรและเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ลดความเสียหายอันเกิดจากศัตรูข้าวหรือกิจกรรมการทำนา และเพิ่มศักยภาพในการผลิตข้าวคุณภาพดีปลอดสารพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ส่งผลดีต่อสุขภาพและรายได้ของเกษตรกรที่จะเพิ่มขึ้น

    เงื่อนไขคุณสมบัติของศูนย์ข้าวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1) เป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวแล้วเสนอความต้องการขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามเงื่อนไข 2) เป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ประเภทนิติบุคคล 3) เป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่มีความพร้อมในการผลิตข้าวคุณภาพดีได้มาตรฐาน ลด ละเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว และ 4) ศูนย์ข้าวชุมชน ที่ขอรับการสนับสนุนโครงการฯ ต้องดำเนินโครงการและกิจกรรมที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ๆ ภายใต้แผนงาน/โครงการ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของส่วนราชการอื่น ๆ

    นายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร โดยต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เกิดส่วนต่างระหว่างต้นทุนและราคาขาย เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีการส่งเสริมการผลิตข้าวรักษ์โลกในหลายพื้นที่แล้ว และได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี

    ขยายเวลาลดหย่อนภาษีจ้างคนพ้นโทษทำงานอีก 4 ปี

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนัก กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษออกไปอีก 4 ปี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (4 ปีภาษี) จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานอย่างต่อเนื่อง

    มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษนี้ บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้พ้นโทษเฉพาะที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2568

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า แม้มาตรการทางภาษีดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 705 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 176.25 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษได้มีงานทำหลังได้รับการปล่อยตัว จำนวน 39,000 คน สามารถประกอบอาชีพโดยสุจริตหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ

    กู้เสริมสภาพคล่องโรงรับจำนำรัฐ 300 ล้าน

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติการกู้เงิน เพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 300 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและรองรับธุรกรรมการให้บริการรับจำนำแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ วงเงินกู้ดังกล่าวได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 แล้ว

    ความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้ สำนักงานธนานุเคราะห์ได้ประมาณการทางการเงินในปีงบประมาณ 2566 และคาดการณ์ว่าจะมีผลประกอบการหรือกำไรสุทธิลดลงจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 89.55 ล้านบาท เนื่องจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ เศรษฐกิจโลก ความผันผวนของ ราคาทองคำ และการเปิดสาขาใหม่ จำนวน 2 สาขา เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินกิจการมีสภาพคล่องทางเงิน สำนักงานธนานุเคราะห์จึงจำเป็นต้องกู้เงินดังกล่าว

    ยกเว้น VAT ขาย “โทเคนดิจิทัล” เพิ่มทางเลือกระดมทุน

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษี (รายได้จากการขายลบต้นทุน) อันเนื่องมาจากการขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่เสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป (ย้อนหลังไปถึงวันที่พระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับ) เพื่อให้มาตรการภาษีของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเท่าเทียมกับมาตรการภาษีของหลักทรัพย์ และส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการระดมทุน ทั้งนี้ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) คือ โทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ โดยผู้ถือโทเคนเพื่อการลงทุน จะได้ผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนแบ่งของกำไรและส่วนแบ่งรายได้

    ร่างพระราชกฤษฎีกามีสาระสำคัญ ดังนี้

    1. ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ คือ (1)บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนต่อประชาชน (ในตลาดแรก) และ(2)บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ในตลาดรอง)

    2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี

      (1) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษีอันเนื่องมาจากการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ออกเสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ตลาดแรก) ทั้งนี้ กรณีโทเคนดิจิทัลที่ออกเสนอขายต่อประชาชนมีลักษณะของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนและโทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์อื่น ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีข้างต้นเฉพาะกรณีที่สามารถแยกส่วนของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และโทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์อื่นออกจากกันได้เท่านั้น

      (2) ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ตลาดรอง)

    3.ระยะเวลาบังคับใช้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป (ย้อนหลังไปถึงวันที่พระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับ)

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากฎหมายฉบับนี้ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เพิ่มเติมจากการระดมทุนด้วยเครื่องมือแบบดั้งเดิม เช่น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร และหุ้นกู้ อันจะส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน และการจ้างงานในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง ยังส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนได้มากขึ้นในระยะยาว โดยมาจากการเติบโตของผู้ประกอบธุรกิจและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ใช้โทเคนเพื่อการลงทุนเป็นเครื่องมือในการระดมทุนในประเทศไทย

    ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2566 ถึงปี 2567 จะมีการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 128,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 25,600 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 8,960 ล้านบาท ดังนั้น ประมาณการการสูญเสียรายได้ของภาครัฐ ในช่วง 2 ปี ที่ สำนักงาน ก.ล.ต. คาดการณ์รวมภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 35,279 ล้านบาท

    เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2564/65 ตันละ 1,106 บาท

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เป็นรายเขต 9 เขต โดยมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

      1. ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เฉลี่ยทั่วประเทศในอัตรา ตันอ้อยละ 1,106.40 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.
      2. อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 66.38 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
      3. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิต ปี 2564/2565 เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 474.17 บาทต่อตันอ้อย

    ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2564/2565 อยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จึงไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้แก่โรงงาน ส่วนโรงงานน้ำตาลนำส่งเงินส่วนต่างรายได้สุทธิที่ได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายในอัตราตันอ้อยละ 10 บาท ให้แก่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตามมาตรา 57 พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527

    ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.ให้อำนาจ ธปท.กำกับ-ตรวจสอบลีสซิ่ง

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของการทำธุรกรรมเช่าซื้อ เป็นการเช่าซื้อรถยนต์ และการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และเป็นการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ แม้การทำธุรกรรมดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่เป็นเพียงการทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน กำหนดรายละเอียดเนื้อหาของสัญญาเช่าซื้อ โดยเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของสัญญามาตรฐานและเรื่องทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้ควบคุมไปถึงอัตราดอกเบี้ย ทำให้ธุรกิจการให้เช่าซื้อเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ลูกค้าบางรายไม่สามารถชำระหนี้ได้จนเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น โดยไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 มียอดหนี้คงค้างธุรกิจการเช่าซื้อ และการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวม 1.8 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 12.3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งประเทศ

    ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงจนเกินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ครม.จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 พ.ศ. …. เพื่อให้มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อและการให้เช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดแนวทางให้เกิดความเท่าเทียมในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจต่อไป

    ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีสาระสำคัญแบ่งเป็น 4 หมวด ดังนี้

      1. การกำกับผู้ประกอบธุรกิจ อาทิ (1) ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งข้อมูลและแสดงรายละเอียดการคำนวณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ ส่วนลด และข้อมูลอื่นๆ ให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งรายงานต่อ ธปท. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดย ธปท. มีอำนาจประกาศกำหนดวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการรายปี ให้ผู้ประกอบธุรกิจถือปฏิบัติได้ (2) ธปท.ประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามในเรื่องต่อไปนี้ เช่น การทำนิติกรรมสัญญากับประชาชน โดยกำหนดเนื้อหาสาระ วิธีการคำนวณผลประโยชน์ หรือแบบสัญญา

      2. การตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจ ธปท. มีอำนาจแต่งตั้งพนักงาน ธปท. หรือ บุคคลภายนอกเป็นผู้ตรวจการ เพื่อตรวจสอบกิจการสินทรัพย์และหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนลูกหนี้ และบุคคลที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบธุรกิจนั้น โดยผู้ตรวจการที่ ธปท. แต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ เช่น (1) สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจ (2) เข้าไปตรวจสอบในสถานที่ประกอบธุรกิจ (3) ยึด หรือ อายัดทรัพย์สิน เอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด (4) ตรวจสอบการดำเนินงานในสถานที่ประกอบการของลูกหนี้

      3. การแก้ไขการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ กรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามร่างพระราชกฤษฎีนี้ ให้ ธปท.มีหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบธุรกิจ หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ระงับการกระทำอันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม หรือมีคำสั่งห้ามกระทำการ

      4. บทกำหนดโทษ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามร่างพระราชกฤษฎีนี้ ต้องระวางโทษปรับตามที่กำหนด หากไม่ได้มีการฟ้องต่อศาลภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ ธปท. พบการกระทำผิดหรือภายใน 5 ปี นับแต่วันกระทาผิด ถือเป็นอันขาดอายุความ

    ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ร่างพระราชกฤษฎีฉบับนี้ จะเป็นการยกระดับธุรกิจเช่าซื้อและการให้เช่าแบบลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้มีมาตรฐานและเป็นการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจทางการเงิน ซึ่งมุ่งเน้นจัดการหนี้ครัวเรือนของประเทศไม่ให้ผู้บริโภคก่อหนี้สินจนเกินตัวโดยไม่จำเป็น และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการมากยิ่งขึ้น

    ขยายเวลาลดหย่อนภาษี บริจาคเงินกองทุนนวตกรรมอีก 3 ปี

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลามาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ เพื่อขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (ระยะที่ 3) พ.ศ. 2566-2568 (รวม 3 ปีภาษี)

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564-2565 กระทรวงการคลังได้มีมาตรการภาษีโดยเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักลดหย่อน หรือ หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือรายจ่ายที่บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน ได้แก่ (1) กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา (2) กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข (3) กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (4) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุนจำนวน 3,803 ราย จำนวนเงินบริจาครวมประมาณ 8.6 ล้านบาท

    ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

      1. สิทธิประโยชน์ คือ ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน

      2. ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของเงินที่ได้จ่ายตามกรณีที่กำหนดไว้แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น และกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่เมื่อรวมคำนวณกับรายจ่ายที่กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจานวนสองเท่าของรายจ่ายแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา

    “การพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลานี้ เพื่อสนับสนุนการระดมทุนจากภาคเอกชนและผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ออกระเบียบร่วมทุนเอกชน ต่อยอดผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการ ซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการร่วมลงทุนในโครงการที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ประกาศกำหนด สามารถร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณประโยชน์ ได้

    ร่างระเบียบฯ ดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

      1. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่ (1) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (2) หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมตามที่สภานโยบายฯกำหนด และ (3) หน่วยงานอื่นของรัฐตามที่สภานโยบายฯ กำหนด

      2. วัตถุประสงค์การร่วมลงทุน เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ แบ่งออกเป็น 2 ข้อ คือ (1) สร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือ เชิงสาธารณประโยชน์ และ (2) สร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน หรือสร้างให้เกิดธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่

      3. รูปแบบการร่วมลงทุน 4 รูปแบบ คือ (1) ร่วมลงทุนกับเอกชนจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (2) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน (3) รูปแบบอื่นนอกจาก (1) และ (2) ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานเจ้าของโครงการ และ (4) หน่วยงานเจ้าของโครงการอาจจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนให้ดำเนินการร่วมลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือบริษัท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ได้

      4. วิธีการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน 2 วิธี คือ (1) คัดเลือกจากเอกชนอย่างน้อยสามรายที่เข้ายื่นข้อเสนอร่วมลงทุน โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือก 1) มีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับเอกชนทุกรายที่เข้ายื่นข้อเสนอและ 2) เอกชน ที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติ ประสบการณ์ ความพร้อม และความสามารถในการเข้าร่วมลงทุนเหมาะสมตามเกณฑ์ ที่กำหนด และ (2) ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเชิญชวนเฉพาะเอกชนซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ

      5. การพิจารณาอนุมัติโครงการร่วมลงทุน ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติโครงการร่วมลงทุนพิจารณาความสอดคล้องของนโยบายการร่วมลงทุน ข้อเสนอและเงื่อนไขการร่วมลงทุน และความเป็นไปได้ทางธุรกิจ แผนธุรกิจ และแผนการจัดการความเสี่ยง รวมถึงความพร้อมของผู้ร่วมทุนและประสบการณ์

    “ที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นส่งเสริมด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะเน้นให้ผลงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณประโยชน์ได้จริง และพยายามดำเนินการส่งเสริมให้มีมาตรการในการส่งเสริมให้งานวิจัยและนวัตกรรมที่สอดคล้องตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการ รวมถึงแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการสร้างและกระจายประโยชน์ในภาพรวมให้แก่ประเทศได้มากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ สร้างวัด

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบพิจารณาอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1เอ ตามมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 15 ไร่ เพื่อจัดตั้งวัดอนาลโยทิพยาราม ต.สันป่าม่วง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ตามมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 14-3-46 ไร่ เพื่อจัดตั้งวัดบ้านห้วยน้าผัก (ที่พักสงฆ์เทิดพระเกียรติสิรินธร) ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า วัดอนาลโยทิพยาราม มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม เป็นสถานที่สำคัญเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาว จ.พะเยา และพุทธศาสนิกชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั่วไป มีการเปิดอบรมปฏิบัติธรรม รวมทั้งเป็นศูนย์พัฒนาจิตประจำ จ.พะเยา และให้ความร่วมมือกับคณะสงฆ์และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในการใช้สถานที่ของวัดเพื่อจัดประชุม อบรม สัมมนาต่าง ๆ ตลอดมา ได้รับประกาศ ศธ. เรื่องตั้งวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2530 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2531 มีสิ่งปลูกสร้าง เช่น (1) อุโบสถไม้สักทองศิลปะล้านนา ด้านหลังเป็นพระเจดีย์ประดิษฐานพระประธาน (2) พระรัตนเจดีย์ 5 พระองค์ (3) พระวิหารหมื่นปี (ศิลปะล้านนา) (4) วิหารพญาเจืองธรรมมิกราช (ศิลปะไทลื้อ) (5) วิหารพญางาเมือง (ศิลปะไทลื้อ) (6) วิหารพระพุทธชินราช (7) วิหารพระแก้วมรกต (8) หอสวดมนต์ (9) พระพุทธเมตตานภาวิสุทธิมงคล (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภาเป็นผู้สร้างถวายเจ้าประคุณ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานพระนาม) (10) หอธรรม (11) ศาลาปฏิบัติธรรม (12) กุฏิพระสงฆ์ 20 หลัง และ (13) บ้านพักรับรองผู้มาปฏิบัติธรรม 12 หลัง

    “สำหรับโครงการจัดตั้งวัดบ้านห้วยน้าผัก (ที่พักสงฆ์เทิดพระเกียรติสิรินธร) ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย จะมีมีสิ่งปลูกสร้าง เช่น กุฏิพระ ที่พักสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาฉัน โรงครัว ห้องน้า โรงปั่นไฟ โรงน้ำร้อน โรงเก็บของ โรงรถ โรงเก็บพัสดุ โรงซ่อม และโรงเก็บฟืน รวมพื้นที่ใช้สอยของอาคารโครงการเท่ากับ 505.95 ตารางเมตร เป็นโครงการจัดตั้งขึ้นเพื่อความมั่นคงของประเทศในพื้นที่รอยตะเข็บชายแดนระหว่างไทย – ลาว ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่รัฐบาลได้จัดตั้งหมู่บ้านห้วยน้ำผักเป็นชุมชนคล้ายทหารเพื่อความมั่นคงเมื่อปี 2532 เพื่อแสดงอาณาเขตของประเทศให้ชัดเจน และมีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ที่รวมถึงการจัดตั้งวัดและโรงเรียน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการฯ ได้เป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎรในพื้นที่เพื่อความมั่นคง เพื่อความร่มเย็นผาสุกทางจิตใจตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งเป็นสาขาของวัดป่าบ้านตาด (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ตั้งแต่ปี 2536 และคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมในการประชุมครั้งที่ 3/2564 วันที่ 21 มิถุนายน 2564 มีมติเห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ทุ่ม 16 ล้าน กวาดล้างแหล่งผลิต – เครือข่ายยาเสพติด ประเทศเพื่อนบ้าน

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบโครงการเสริมสร้าง และยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการยุติแหล่งผลิตยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อร่วมกันควบคุมและสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำโครงการฯ ภายใต้เอกสารข้อตกลง (Letter of Agreement : LoA) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและการควบคุมยาเสพติดระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. กับหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสกัดกั้นยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางภายนอกประเทศมิให้เข้าสู่แหล่งผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและสกัดกั้นยาเสพติดจากแหล่งผลิตที่จะออกสู่ไทยและประเทศอื่นๆ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการลดผลกระทบต่อสถานการณ์ยาเสพติดภายในไทยโดยตรง โดยในห้วงปี 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมคดีรายสำคัญและตรวจยึดยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ได้รวม 1,093 คดี ผู้ต้องหา 1,885 ราย ยาบ้า 593.6 ล้านเม็ด ไอซ์ 23.5 ตัน กัญชา 27.9 ตัน เฮโรอีน 1.2 ตัน เอ็กซ์ตาซี 1.98 ล้านเม็ด คีตามีน 8.5 ตัน นอกจากนี้ยังสามารถลดทอนศักยภาพการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำได้อย่างเป็นรูปธรรมสามารถตรวจยึดสารตั้งต้นได้ 130 กิโลกรัม และเคมีภัณฑ์ 335.4 ตัน

    โครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการยุติแหล่งผลิตยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน 2566 ด้วยงบประมาณจำนวน 16 ล้านบาท สำหรับประเทศเมียนมา 3.85 ล้านบาท ลาว 5.46 ล้านบาท กัมพูชา 2.69 ล้านบาท และเวียดนาม 4 ล้านบาท โดยรายละเอียดโครงการฯ สรุปได้ดังนี้

      1. วัตถุประสงค์ 4 ด้านหลัก คือ 1.เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการสกัดกั้น ปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 2.เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนามให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน 3.เพื่อพัฒนาบุคลากรและระบบการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และ 4.เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการร่วมกันควบคุมปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
      2. กรอบการดำเนินการ 5 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมการปราบปราม และสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ โดยชุดปราบปรามของประเทศเพื่อนบ้านตามจุดตรวจ จุดสกัด ตามเส้นทางคมนาคมแนวชายแดนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น 2.การสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ และการบำรุงรักษาเครื่องมือ เพื่อเพิ่มและพัฒนาศักยภาพของชุดปฏิบัติการปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติด 3.การพัฒนาการเสริมสร้างศักยภาพ โดยการฝึกอบรมบุคลากรและเจ้าหน้าที่เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบทบาทไทยในการดำเนินการเชิงรุกซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการแก้ไขปัญหายาเสพติด 4.การป้องกันยาเสพติด โดยส่งเสริมหมู่บ้านคู่ขนาน/หมู่บ้านสีขาวตามแนวชายแดน ไทย – ลาว/ไทย – กัมพูชา เพื่อควบคุมสกัดกั้นและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทำให้บ้านคู่ขนานปลอดจากปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ เช่น การลักลอบ ค้ายาเสพติด ค้าสิ่งผิดกฎหมาย ในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ และ 5.การบริหารการจัดการ และการดำเนินการศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (ศูนย์ประสานงานฯ) ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง 4 ประเทศในแนวทางเดียวกัน พัฒนาระบบฐานข้อมูลและการรายงานผลความคืบหน้าในการปฏิบัติงานร่วมกัน

    “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้าต่อเนื่องโครงการนี้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในโครงการเชิงยุทธศาสตร์ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในประเทศประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยนอกจากจะช่วยยกระดับปฏิบัติการด้านการข่าวและการสืบสวนสอบสวนทำให้การแพร่ระบาดของยาเสพติดลดลงแล้วยังจะส่งผลให้ชุดปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศเพื่อนบ้านมีศักยภาพในการทำลายแหล่งผลิต สกัดกั้น และปราบปรามการลักลอบผลิต ค้า และลำเลียงยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น เป็นยุทธศาสตร์เพิ่มความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ลดหย่อนภาษีบริจาคเงินหนุนกีฬาต่อ 2 ปี

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ…. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา) โดยมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ แก่ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬา ให้แก่ 1)การกีฬาแห่งประเทศไทย 2) คณะกรรมการกีฬาจังหวัด 3) สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด 4) สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” (เช่น สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬามวลสากลแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เป็นต้น) หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และ 5) กรมพลศึกษา

    โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินบริจาค ในกรณีบุคคลธรรมดาเมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นจำนวน 2 เท่าแล้ว จะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน ส่วนกรณีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายบริจาคอื่นแล้วจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสิทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์และเพื่อการศึกษา

    พร้อมกับให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่หน่วยรับบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาด้วย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การบริจาคจะต้องดำเนินการผ่านระบบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพกร ตั้งแต่ 1 ม.ค. 66-31 ธ.ค. 67 รวม 2 ปีภาษี โดยกระทรวงการคลังได้ประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับแล้วคาดว่ามาตรการภาษีนี้จะมีผลให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงปีละ 1 ล้านบาท 2 ปี ภาษีรวม 2 ล้านบาท แต่คาดว่าหน่วยรับบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาจะได้รับบริจาคปีละประมาณ 8 ล้านบาทเศษ และเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการกีฬาของประเทศอย่างต่อเนื่อง และเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐในด้านการกีฬาได้อีกทางหนึ่ง

    ทั้งนี้ ครม.ยังได้มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขับเคลื่อนสร้างการรับรู้และความเข้าใจมาตรการภาษีแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงสนับสนุนหน่วยรับบริจาคให้ใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพกรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคต่อไป

    ออกสลากการกุศล 3 โครงการ 921 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้มีการออกสลากการกุศล เพื่อสนับสนุนโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการสลากการกุศล จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 921.45 ล้านบาท

    สำหรับการพิจารณาให้ออกสลากการกุศลเพิ่มเติมครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนให้หน่วยงานสามารถออกสลากการกุศลเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ ได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณรัฐอีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติกรอบให้หน่วยงานต่างๆ สามารถออกสลากการกุศลได้รวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท และให้ให้กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการฯ ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการสลากการกุศลของหน่วยงานต่างๆ ก่อนเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอ ครม.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ภายใต้กรอบวงเงินที่ ครม. ได้กำหนดให้หน่วยงานได้รับอนุมัติให้ออกสลากการกุลไปแล้ว 16 โครงการ วงเงินรวม 8,239.93 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการเห็นชอบครั้งนรี้แล้วจะรวมเป็น 19 โครงการ วงเงินรวม 9,161.38 ล้านบาท

    สำหรับ 3 โครงการที่ได้รับความเห็นชอบให้ออกสลากการกุศลได้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) โครงการขยายพื้นที่บริการ เพิ่มศักยภาพการให้บริการรักษาพยาบาลและการรองรับโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วงเงิน 604.19 ล้านบาท 2) โครงการศูนย์นวัตกรรมด้านการแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ของโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ วงเงิน 67.26 ล้านบาท และ 3)โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมต่อต้านการทุจริตแห่งประเทศไทย ของมูลนิธิต่อต้านการทุจริตแห่งประเทศ วงเงิน 250 ล้านบาท

    ไฟเขียว ทอท.ร่วมทุนเอกชน สร้างลานจอด – คลังสินค้า สนามบินสุวรรณภูมิ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 3 และโครงการให้บริการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 3 ตามหลักการที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว

    สำหรับความจำเป็นในการดำเนินการทั้ง 2 โครงการข้างต้น เนื่องด้วย ทอท. ได้วิเคราะห์สภาพการให้บริการทั้งลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ และคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วพบว่า ระดับการให้บริการของผู้ประกอบการปัจจุบันใกล้เต็มขีดความสามารถและจะไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอเมื่อปริมาณเที่ยวบินกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด19 ภายในปี 2567

    โดยปัจจุบัน ทอท. ได้ให้สิทธิการประกอบกิจการ ในส่วนของบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ แก่ผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (สิ้นสุดสัญญาปี 2583) และบริษัท กรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (สิ้นสุดสัญญาปี 2569) ส่วนการให้บริการผู้โดยสาร มีผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ บริษัทการบินไทยฯ (สิ้นสุดสัญญาปี 2583) บริษัทกรุงเทพเวิลด์ไวด์ และบริษัท ลุฟท์ฮันซ่า เซอร์วิส(ไทยแลนด์) ซึ่ง 2 รายหลังนี้สิ้นสุดสัญญาเมื่อปี 2564 แต่ ทอท. ได้ว่าจ้างให้ดำเนินการชั่วคราวอยู่ ส่วนการให้บริการคลังสินค้า มีผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่ บริษัท การบินไทยฯ (สิ้นสุดสัญญาปี 2583) และ บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด(สิ้นสุดสัญญาปี 2569)

    นอกจากนี้ ด้วยสถานะของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการให้บริการ ประกอบกับระยะเวลาการให้สิทธิประกอบกิจการของบริษัท เวิลด์ไวด์ และบริษัท ดับบลิวเอฟ ใกล้ถึงกำหนดสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2569 อาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของการให้บริการหาหไม่สามารถสรรหาผู้ให้บริการ รายที่ 3 ทั้งในกรณีของบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ และบริการคลังสินค้า

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นฯ รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนจะใช้รูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบในการจัดหาที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการและกำกับดูแลติดตามตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานของเอกชน ส่วนเอกชนมีหน้าที่ในการจัดหาเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง จัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการให้บริการตามมาตรฐาน บริหารจัดการโครงการตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ ทอท. กำหนด สำหรับเงินลงทุนตามโครงการจะมาจากเอกชนทั้งหมด จำนวน 29,390.76 ล้านบาท แยกเป็นค่าลงทุนในสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ 1,608.76 และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 27,782.01 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 25 ปี มีขอบเขตการดำเนินงาน ในกลุ่มบริการหลักของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น อาทิ บริการอุปกรณ์สนับสนุนอากาศยาน การขนถ่ายเคลื่อนย้ายกระเป๋า สัมภาระ สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ ขนถ่ายและเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและลูกเรือ และกลุ่มบริการอื่นๆ โดยแผนงานของโครงการ มีดังนี้ เดือนมิ.ย.-ก.ค. 2566 ประกาศเชิญชวนเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน, เดือนเม.ย.-พ.ค. 2567 คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาข้อเสนอของเอกชน, เดือนก.พ.2568 ลงนามในสัญญาร่วมลงทุน, เดือนมี.ค.68-ก.พ.2569 ออกแบบและก่อสร้าง และเริ่มเปิดให้บริการในเดือนมี.ค. 2569

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของโครงการให้บริการคลังสินค้าฯ จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนแบบ PPP Net Cost เช่นเดียวกัน ภาครัฐรับผิดชอบในการจัดหาที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการและกำกับดูแลการดำเนินการของเอกชน ส่วนเอกชนมีหน้าที่จัดหาเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างสิ่งปลูกจ้าง จัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ บำรุงรักษา บริหารจัดการโครงการคลังสินค้าตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ ทอท.กำหนด เงินลงทุนตามโครงการมาจากเอกชนทั้งหมด 37,914.56 ล้านบาท แยกเป็น ค่าลงทุน ในสิ่งปลูกสร้างอุปกรณ์และระบบ รวม 1,318.38 ล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษา 36,596.18 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 25 ปี ขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมทั้งคลังสินค้าขาเข้า คลังสินค้าขาออก คลังสินค้าถ่ายลำ สินค้าเน่าเสียง่าย สินค้าเร่งด่วนและสินค้าอีคอมเมิร์ซ โดยมีแผนดำเนินงานตามโครงการ ดังนี้ เดือนมิ.ย.-ก.ค. 2566 ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและร่างสัญญาร่วมลงทุน, เดือนเม.ย.-พ.ค.2567 คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาข้อเสนอของเอกชน, เดือนก.พ. 2568 ลงนามสัญญาร่วมลงทุน, เดือนมี.ค.68-ก.พ.70 ออกแบบและก่อสร้าง และเริ่มเปิดให้บริการในเดือนมี.ค. 2570 เป็นต้นไป

    เพิ่ม “Molnupiravir” ในบัญชียา UCEP Plus

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต [กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด19] หรือ หลักเกณฑ์ UCEP Plus (ฉบับที่3) โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ UCEP Plus และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 65 เป็นต้นมา เพื่อเพิ่มรายการยาต้านไวรัสโควิด19 ในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ ค่ายา จำนวน 1 รายการ ได้แก่ รายการการยาต้านไวรัส Molnupiravir 200 mg ในอัตรา 15 บาท/เม็ด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติเป็นต้นไป

    ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาสามารถจำหน่ายยา Molnupiravir ให้แก่โรงพยาบาลเอกชนได้แล้ว จึงสามารถกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายที่แน่นอนสำหรับยา Molnupiravir ในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายหลักเกณฑ์ UCEP Plus ได้

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า หลังการเพิ่มรายการยาข้างต้นแล้ว จะทำให้รายการยาต้านไวรัสโควิด19 ในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP Plus มี 2 รายการ ได้แก่ Favipiravia 200 mg ราคา 14.50 บาทต่อหน่วย (รายการเดิม) และ Molnupiravir 200 mg ราคา 15 บาทต่อหน่วย(เพิ่มเติมครั้งนี้)

    ส่วนกรณียาต้านไวรัส 3 รายการ ได้แก่ Remdesivir, Nirmatrelvir/Ritonavir และ Tixagevimab/Cilgavimab(Long-acting Antibody) ให้เบิกยาหรืออัตราค่าใช้จ่ายจากกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กองทนุของผู้มีสิทธิแต่ละกองทุนกำหนดแล้วแต่กรณี

    เวนคืนที่ดินสร้างถนนเข้าสนามบินอู่ตะเภา

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสำนักท้อน และตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข34 (บางวัว) ทางแยกเข้าชลบุรี ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ทางแยกเข้าพัทยาและทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข3 (บ้านอำเภอ) และทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

    โดยการออกพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ ดำเนินการเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด ซึ่งให้เริ่มเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ และพระราชกฤษฎีกาฯ นี้มีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การดำเนินโครงการซึ่งมีการกำหนดที่ดินที่จะเวนคืนครั้งนี้ เป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางหลวงพิเศษหมายเลข7 เพื่อเชื่อมต่อเข้าสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ ประกอบด้วยที่ดิน 20 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 3 ราย พืชผลต้นไม้ 20 ราย รวมค่าทดแทนในการเวนคืนรวมเป็นเงินงบประมาณ 107.7 ล้านบาท

    สำหรับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 นี้ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมให้สมบูรณ์ เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งจากรุงเทพฯ และปริมณฑลไปสู่ภาคตะวันออก ส่งเสริมการให้บริการของโครงการสนามบินอู่ตะเภาเพื่อยกระดับสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่3 ในพื้นที่ต่อเนื่องกับกรุงเทพฯ รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเมืองการบินภาคตะวันออก อันจะทำให้การพัฒนาอีอีซีกลายเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจที่สำคัญของประเทศ

    ทั้งนี้ กรมการปกครองได้สำรวจแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ฯ แล้ว และสำนักงบประมาณได้แจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กรมทางหลวงสำหรับดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

    รับทราบผลงาน รฟม. – ความคืบหน้างานก่อสร้างรถไฟฟ้า 4 สาย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและแผนงานในอนาคต ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

    ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 65 (ต.ค.2564-ก.ย.2565) รฟม. มีรายได้รวม 15,600.30 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 14,282.67 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,317.63 ล้านบาท สำหรับปี 2566 รฟม. มีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากธุรกิจหลักและธุรกิจต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 5 จากปี 2565

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านผลการให้บริการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง สายเฉลิมรัชมงคล(สายสีน้ำเงิน) มีผู้โดยสารเฉลี่ย 226,834 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.58 ความถึงพอใจของผู้ใช้บริการระดับมาก-มากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 89.52 (เป้าหมายร้อยละ 87) ส่วนเป้าหมายปี 2566 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 232,000 คน-เที่ยว/วัน ความพึงพอใจระดับมาก-มากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 85 สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) มีผู้โดยสารเฉลี่ย 38,802 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.47 ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการระดับมากถึงมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 89.62 (เป้าหมายร้อยละ 88) ปี 2566 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 39,772คน-เที่ยว/วัน ความพึงพอใจระดับมาก-มากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 85 โดย รฟม.มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการประกอบด้วย โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 โครงการ ได้แก่

      1) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง งานโธยาฯ ก้าวหน้าร้อยละ 96.79 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.35) คาดว่าจะเปิดบริการเดือน ธ.ค. 2566

      2) รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี การก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถก้าวหน้าร้อยละ 93.04 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 2.74) คาดว่าจะเปิดบริการเดือนมิ.ย. 2567

      3) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การก่อสร้างงานโยธา ก้าวหน้าร้อยละ 98.31(เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.77) งานผลิตและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถ ก้าวหน้าร้อยละ 21.25 (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดบริการเดือนธ.ค. 2568 และ

      4) สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) งานก่อสร้างโยธาฯ ก้าวหน้าร้อยละ 27.53 (เร็วกว่าแผน ร้อยละ 1.82) คาดว่าจะเปิดบริการ ธ.ค. 2570 สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคามี 1 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ คาดว่าจะเปิดบริการ พ.ค. 2571

    นอกจากนี้ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการกศึกษาและวิเคราะห์โครงการซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจาก ครม. ในปีงบประมาณ 2567-69 จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต, รถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่, รถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา, รถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม) นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาระบบเชื่อมต่อเพื่อสนับสนุนการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น การพัฒนาระบบจอดรถอัตโนมัติ (Smart Parking) ด้วย

    กู้ปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอายุเกิน 1 ปี 1.2 ล้านล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลที่มีระยะเวลาชำระหนี้เกิน 12 เดือน ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

    ในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564-ก.ย. 2565) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้กู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลวงเงินรวม 1,204,030.54 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87 ของวงเงินตามแผนบริหารหนี้ประจำปีงบประมาณ 2565 (1,384,703.45 ล้านบาท) จากวงเงินกู้ดังกล่าว เป็นวงเงินกู้ระยะเวลาชำระหนี้เกิน 12 เดือน รวม 643,305.23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53 ของวงเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เป็นการบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล เพื่อลดการกระจุกตัวของหนี้ระยะสั้น โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้คงค้างของรัฐมีจำนวนรวม 9,163,673 ล้านบาท เป็นหนี้ระยะสั้น(ไม่เกิน1ปี) 561,315.67 ล้านบาท (ร้อยละ 6.13) และหนี้ระยะยาว (1ปีขึ้นไป) จำนวน 8,602,357.33 ล้านบาท (ร้อยละ 93.87) มีอายุเฉลี่ยของหนี้อยู่ที่ 9 ปี 1 เดือน

    กระทรวงการคลัง ระบุว่า สัดสวนหนี้ดังกล่าวเมื่อรวมกับเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐรับภาระอยู่ ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามตัวชี้วัดความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณระยะปานกลางในระยะ 5 ปีข้างหน้าได้

    สำหรับรายละเอียดการกู้ยืมเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่มีระยะเวลากำหนดชำระเกิน 12 เดือน วงเงิน 643,305.23 ล้านบาท มีดังนี้

      1) เงินกู้ชดเชยการขาดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ 332,467.17 ล้านบาท

      2) เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ 50,800 ล้านบาท

      3) เงินกู้มาเพื่อให้กู้ต่อ ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ 48,706.06 ล้านบาท

      4) เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 จำนวน 29,200 ล้านบาท

      5) เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่2 พ.ศ.2545 จำนวน 35,450 ล้านบาท

      6) เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรงวงการคลังกู้เพื่อฟื้นฟูและสร้างเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 16,682 ล้านบาท

      7) เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จำนวน 130,000 ล้านบาท

    แจงผลงาน 16 หน่วยงาน ทำโครงการจิตอาสาพระราชทาน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน ประจำเดือนต.ค.-ธ.ค.2565 ตามที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ โดย สปน. ระบุถึงรายงานของกระทรวงมหาดไทยถึงผลการลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทาน ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 7,004,562 คน จำแนกเป็นกรุงเทพมหานคร 459,756 คน ส่วนภูมิภาค 6,544,806 คน เป็นชาย 3,144,409 คน และหญิง 3,860,153 คน

    ระหว่างเดือนต.ค.-ธ.ค. 2565 มี 16 หน่วยงาน ได้จัดกิจกรรมจิตอาสารวมทั้งสิ้น 18,466 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,280,611 คน ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม,กระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำหรับกิจกรรมจิตอาสาทั้งหมด 18,466 ครั้ง แยกเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

      1) จิตอาสาพัฒนา 17,061 ครั้ง เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์และทำความสะอาดศาสนสถาน โรงเรียน สถานที่ราชการ การอำนวยความสะดวกประชาชน การบำเพ็ญประโยชน์ การบริจาคโลหิต มอบสิ่งของแก่ผู้ยากไร้ การปลูกต้องไม้พัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น

      2) จิตอาสาภัยพิบัติ 1,064 ครั้ง เช่น การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย วาตภัย และภัยหนาว การอบรมป้องกันอัคคีภัย

      3) จิตอาสาเฉพาะกิจ เช่น การอำนวยความสะดวกประชาชนที่เข้าร่วมในงานพระราชพิธี การจัดเตรียมสถานที่ร่วมพิธีเนื่องในวันสำคัญ การบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล

      4) วิทยากรจิตอาสา904 จำนวน 24 ครั้ง โดยเป็นการบรรยายความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่กิจกรรมจิตอาสา สถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทยและโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ

    เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน “ราษีไศล”

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการให้มีการจ่ายเงินชดเชยพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพเป็นกรณีพิเศษแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจาการก่อสร้างโครงการฝายราษีไศล ในเขตท้องที่จังหวัดสุรินทร์ที่มีรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษ ตามผลการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีราษฎรขอรับสิทธิการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนราษีไศลในเขตท้องที่จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 1,590 ราย วงเงิน 1,339.66 ล้านบาท

    ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร ครม.มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงิน เพื่อทำหน้าที่กำกับการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าทดแทน โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาตรวจสอบบุคคลที่มีสิทธิและควบการโอนจ่ายเงินให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามบัญชีผู้มีสิทธิ และกำหนดให้การจ่ายเงินให้จ่ายโดยวิธีการโอนเงินเข้าธนาคาร (จ่ายตรง) ตามบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิ หรือทายาทของบุคคลดังกล่าว

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การจ่ายเงินชดเชยพิเศษฯ ข้างต้นสืบเนื่องมาจากข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 ที่ประชาชน เช่น กลุ่มสมัชาคนจนได้ เริ่มเรียกร้องค่าชดเชย และตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้น ตามโครงการได้จ่ายค่าชดเชยแก่ราษฎรอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด คือศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และร้อยเอ็ด โดยจ่ายชดเชยแก่ราษฎรกรณีที่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินอัตราไร่ละ 32,000 บาท รวม 16,061 แปลง เนื้อที่ 68,738 ไร่ 1 งาน 6.46 ตารางวา รวมเงินชดเชยจ่ายแล้วทั้งสิ้น 2,271.61 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 กลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน และสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน ได้ยื่นเรื่องเรียกร้องต่อรัฐบาลเรียกร้องให้จัดสรรที่ดินแปลงอพยพให้แก่ราษฎรผู้เป็นเจ้าของหรือครองครองที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้รับเงินชดเชยที่เคยได้รับไร่ละ 32,000 บาทไปแล้ว แต่ตามหลักเกณฑ์กรมชลประทานจะจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรได้เฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เท่านั้น ฝายราษีไศลจึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จะสามารถจัดสรรที่ทำกินให้ตามข้อเรียกร้องได้ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติหลักการให้มีการจ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินเป็นกรณีพิเศษแทนการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรในครั้งนี้

    ตั้ง “โอภาส การย์กวินพงศ์” ประธานบอร์ดองค์การเภสัชฯ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐมีรายละเอียด ดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพาณิชย์ (นักวิชาการพาณิชย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ แต่งตั้ง นายพิชิต บุญสุด อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

    3. การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (ครั้งที่ 1) (กระทรวงพลังงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2566 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 6 เมษายน 2567

    4. การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ แทนประธานกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    5. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวม 6 คน ดังต่อไปนี้

      1. นายสมัย โชติสกุล เป็นประธานกรรมการ
      2. นายวรพนธ์ ตันติวันรัตน์ เป็นกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง
      3. นายเสน่ห์ สุขหล้า เป็นกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง
      4. นายนิคม เกษมปุระ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. นายกฤษฎา ชัยกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. นายอำนวย ภู่ระหงษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

    6. แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน จำนวน 7 คน ดังนี้

      1. นายสิงหเดช ชูอำนาจ
      2. นายสมบัติ นิเวศรัตน์
      3. นางสุภางค์ จันทวานิช
      4. นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
      5. นายบวรนันท์ ทองกัลยา
      6. นายพิชัย ซื่อมั่น
      7. นายเกษม มหัทธนทวี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

    7. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ จำนวน 9 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้

      1. นายเธียรชัย ณ นคร ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ
      2. ศาสตราจารย์นันทวัฒน์ บรมานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ
      3. นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ
      4. นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ
      5. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ
      6. นายเชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ
      7. พลเอก ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ
      8. นางสาวธิดารัธ ธนภรรคภวิน ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ
      9. นายสุวิช สุทธิประภา ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

    8. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม แทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม แทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ดังรายชื่อต่อไปนี้

      1. นายโอภาส การย์กวินพงศ์ (ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข) เป็นประธานกรรมการ
      2. นายสุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย (ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข) เป็นกรรมการ
      3.นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เป็นกรรมการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง คือเท่ากับวาระของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบันที่คงเหลืออยู่

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 7 มีนาคม 2566 เพิ่มเติม