ThaiPublica > คอลัมน์ > การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

30 พฤศจิกายน 2022


สุพริศร์ สุวรรณิก [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในห้วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) มีความรุนแรงกว่าที่เราได้เคยพบเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อเนื่อง สภาพอากาศที่แปรปรวนขึ้น และภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น1 นอกเหนือจากผลเสียต่อสุขภาพและชีวิตแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สร้างความวิตกกังวลในหลายภาคส่วนทั่วโลก ผ่านผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มีอยู่หลายช่องทางด้วยกัน เช่น ทำให้ผลผลิตต่อหัวลดลงโดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมาไม่ตรงตามฤดูกาลจากภาวะโลกร้อน กระบวนการผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของทรัพย์สินต่าง ๆ จากภัยพิบัติ หรือแม้กระทั่งนโยบายนำเข้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องการเฉพาะสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกให้จำเป็นต้องปรับตัว

ผลกระทบเหล่านี้อาจมีความรุนแรงไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่และแต่ละประเทศ งานวิจัยหลายชิ้นพอจะสรุปให้เห็นได้ว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวไม่สูงนักและมีภูมิอากาศร้อนชื้นมักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงกว่า2 ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว เนื่องจากเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น พื้นที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม มีแรงงานในภาคเกษตรสูงถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งภาคเกษตรกรรมมีความอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

บทความนี้จึงชวนท่านผู้อ่านสำรวจผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในภาพรวมระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยอ้างอิงจากงานวิจัย Jirophat, Manopimoke and Suwanik (2022) ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรก ๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาค งานวิจัยนี้ศึกษาถึงความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk)3 ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ดัชนี SPEI (Standardized Precipitation Evapotranspiration Index) เป็นตัววัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และวัดผลกระทบที่มีต่อผลผลิตและเงินเฟ้อทั้งในภาพรวมและในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกัน4

ทั้งนี้ SPEI เป็นตัววัดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำสะสม (cumulative water supply) ในธรรมชาติ ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิของแต่ละพื้นที่ สามารถใช้สะท้อนความผิดปกติของปริมาณน้ำสะสมเทียบกับค่าปกติในระยะยาว ค่า SPEI ที่ติดลบบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ขณะที่หาก SPEI เป็นบวก หมายถึงอากาศที่ค่อนข้างชื้น จากฝนตกมากกว่าปกติหรืออุณหภูมิลดลงกว่าปกติ ในการศึกษานี้ เราใช้ค่าดัชนี SPEI แบ่งสภาพภูมิอากาศออกตามความรุนแรง (ตารางที่ 1) และศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง (extremity effect) ต่อผลผลิตและราคา เช่น ราคาผลผลิตทางการเกษตรจะปรับสูงขึ้นอย่างไรเมื่อเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งอย่างรุนแรง เทียบกับกรณีที่สภาพภูมิอากาศแห้งแล้งไม่รุนแรงนัก เป็นต้น

ข้อมูล SPEI นั้นสามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยได้ค่อนข้างดี เช่น สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต การเกิดสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งอย่างรุนแรง (extremely dry) ต่อเนื่อง รวมถึงเหตุการณ์สำคัญในอดีตอย่างมหาอุทกภัยปี 2554 (2011) ที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SPEI ปรับตัวสูงขึ้นมาก (รูปที่ 1)

ที่มา: https://spei.csic.es

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

บทความนี้จะขอหยิบยกข้อค้นพบสำคัญบางส่วนจากงานวิจัยมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลทางลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่สร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าเกษตรเป็นพิเศษ
  • กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบทางลบ เช่น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ5 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่แห้งแล้งขึ้นหรือชื้นขึ้น โดยให้ขนาดของการเปลี่ยนแปลงใกล้เคียงกับการเกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ในช่วงปี 2562-2563 (2019–2020) จะมีผลให้การเติบโตของผลผลิตภาคการเกษตรลดลงทันที 0.75% ขณะที่ภาคการผลิตจะทยอยได้รับผลกระทบ โดยมีการเติบโตลดลงสูงสุดที่ 0.6% หลังจากผ่านไปแล้ว 3 ไตรมาส อย่างไรก็ดี มีกิจกรรมในบางภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบทางบวกหลังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาคการก่อสร้าง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ หลังเกิดภัยพิบัติ หรือ สภาพอากาศที่ฝนตกน้อยลง ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้มากขึ้น

    ด้านราคาสินค้าและบริการ แม้ในภาพรวมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อราคาสินค้าและบริการจะค่อนข้างจำกัด แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดย่อยพบว่า ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรจะได้รับแรงกดดันทางด้านราคาจากอุปทานของสินค้าเกษตรที่ลดลง เช่น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในหมวดผักเพิ่มขึ้น 1.5%

  • ผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ มีขนาดใหญ่ขึ้น และยาวนานขึ้น เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรง

  • ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นประมาณ 3 เท่า ในช่วงที่สภาพภูมิอากาศแห้งแล้งขึ้นอย่างรุนแรง เทียบกับสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งไม่รุนแรงนัก6 ส่วนราคาสินค้าเกษตร หากเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงทั้งในกรณีชื้นขึ้นและแห้งแล้งขึ้น จะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประมาณ 2 เท่าและยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่รุนแรงนัก

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบแตกต่างกันในระดับจังหวัด
  • จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำได้รับผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำได้รับผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูง คิดเป็น 0.74% สอดคล้องกับงานศึกษาหลาย ๆ งานก่อนหน้า ซึ่งพบว่าผู้มีรายได้น้อยมีความสามารถในการปรับตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลายจากภัยพิบัติส่งผลในทางลบต่อความเป็นอยู่และโอกาสของผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างยิ่ง

    นำมาสู่ความท้าทายของผู้ดำเนินนโยบาย

    จากผลกระทบทางลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตของประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะเกษตรกรรม อาจจะได้รับผลกระทบสูง ขณะที่จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำถือเป็นจังหวัดที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าภาคส่วนทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมกัน และสร้างความท้าทายให้กับผู้ดำเนินนโยบายในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงและยั่งยืน

    นอกจากนี้ ด้วยสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มผันผวนขึ้นและส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร ย่อมสร้างความท้าทายต่อผู้ดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะธนาคารกลางในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ มีหลักการและน่าเชื่อถือ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคข้างหน้าที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแต่จะสูงขึ้น

    หมายเหตุ :
    1.อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 2017 U.S. Climate Science Special Report
    2.ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Dell et al. (2012) และ Acevedo et al. (2018)
    3.โดยทั่วไป งานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจ ได้จำแนกความเสี่ยงออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) ความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) คือ อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐานที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป (ภาวะโลกร้อน) กับแบบเฉียบพลัน (ภัยพิบัติ) และ 2) ความเสี่ยงทางการเปลี่ยนผ่าน (transition risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแง่ของนโยบาย กฎเกณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น นโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่กล่าวข้างต้น
    4.หากผู้อ่านสนใจแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เพื่อทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สวิสา นฎา และสุรศักดิ์ (2565)
    5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในส่วนนี้ ใช้การเปลี่ยนแปลงของดัชนี SPEI แบบ time scale 6 เดือน ขนาด 1 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานโดยไม่คำนึงถึงทิศทาง (การเปลี่ยนแปลงของค่าสัมบูรณ์ของดัชนี SPEI)
    6.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง คือระดับรุนแรงและรุนแรงเป็นพิเศษ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่รุนแรงนัก คือ ระดับปานกลางและอย่างมาก ตามตารางที่ 1

    *ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์