ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่ออังกฤษรับกรรมที่ตนก่อ!!

เมื่ออังกฤษรับกรรมที่ตนก่อ!!

16 มีนาคม 2023


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_III#/media/File:20151104_OH_H1013410_0003_(22461157447).jpg

ราชสำนักอังกฤษได้ประกาศว่าวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม ศกนี้ จะเป็นมหามงคลที่กษัตริย์พระองค์ใหม่คือพระเจ้าชาลส์ที่สามจะขึ้นครองราชบัลลังก์ พร้อมกับการสถาปนาพระชายาคือนางคามิลลาขึ้นเป็นพระราชินี ของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอังกฤษ พระราชพิธีจะเกิดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) พระราชพิธีนี้เป็นรัฐพิธีที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งทางรัฐบาลอังกฤษเป็นเจ้าภาพ เชิญผู้นำประเทศทั่วโลก ทูตานุทูตของประเทศต่างๆ ที่มีสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดสดไปทั่วโลก ให้สมเกียรติและศักดิ์ศรีของมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ ผู้ชนะสงครามโลกทั้งสองครั้งและเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกได้เคยเห็นมา เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอังกฤษ ทางรัฐบาลจึงประกาศรับสมัครจิตอาสาผู้ที่จะทำหน้าที่ดึงเชือกตีระฆังตามโบสถ์ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในโบสถ์แต่ละแห่งมีหอระฆังซึ่งมีสายโยงลงมายาวเกือบร้อยฟุตเพื่อให้ผู้ทำหน้าที่ดึงเชือกแต่ลงคนนั้นดึงพร้อมๆ กัน ให้เสียงระฆังนั้นดังไปทั่วทั้งประเทศเพื่อเป็นเกียรติแก่พิธีมหามงคลนี้ การที่พระราชาขึ้นครองราชย์แต่ละครั้งนั้นเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เป็นการเปลี่ยนแผ่นดินซึ่งในชีวิตคนคนหนึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

ครั้งหนึ่งจักรวรรดิอังกฤษ (The British Empire) ประกอบด้วยอาณาจักร อาณานิคม ดินแดนในอารักขา ดินแดนในอาณัติสัญญาและเขตปกครองอื่นๆ ที่ปกครองหรือบริหารโดยสหราชอาณาจักร (The United Kingdoms) เริ่มต้นจากการครอบครองในต่างประเทศและสถานีการค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยอังกฤษระหว่างปลายศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 18 เมื่อถึงจุดสูงสุด จักรวรรดิอังกฤษแห่งนี้ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นมหาอำนาจระดับแนวหน้าของโลกมาเป็นเวลากว่าสองศตวรรษ

ในปี พ.ศ. 2456 จักรวรรดิอังกฤษปกครองประชากรกว่า 412 ล้านคน คิดเป็นจำนวน 23% ของประชากรโลกในขณะนั้น และในปี พ.ศ. 2463 ครอบคลุมพื้นที่ 35.5 ล้าน ตร.กม. (13.7 ล้าน ตร.ไมล์) หรือ 24% ของพื้นที่ดินทั้งหมดของโลก ด้วยเหตุนี้ มรดกทางรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ภาษาและวัฒนธรรมจึงแพร่หลาย เมื่อถึงจุดสูงสุดของอำนาจ มันถูกอธิบายว่าเป็น “อาณาจักรที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” เนื่องจากดวงอาทิตย์ส่องแสงบนดินแดนอย่างน้อยหนึ่งแห่งเสมอ

ทว่าในปี พ.ศ. 2566 สหราชอาณาจักรนี้กำลังตกอยู่ในสภาวะทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพงอย่างที่ไม่เคยเป็นมากก่อนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง จากจักรวรรดิที่เคยมีอาณานิคมทั่วโลก ในปัจจุบันอังกฤษมิได้มีเมืองขึ้นและดินแดนในปกครองเหมือนเมื่อร้อยปีที่แล้ว และอังกฤษได้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในแต่ละวันมีการชุมนุมนัดหยุดงานของบุคลากรทางการแพทย์ ครูและพนักงานของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ แต่ละคน ออกมาเดินขบวนเรียกร้องการขึ้นเงินเดือน เพราะเหตุว่าสู้กับรายจ่ายไม่ไหว เพราะขณะนี้อังกฤษมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 8.8% หนำซ้ำสินค้าจำเป็นต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าไม่มีจำหน่าย ร้านรวงต่างๆ มีแต่ชั้นวางสินค้าแต่ไม่มีสินค้า ที่ร้ายไปกว่านั้นคือเด็กนักเรียนจำนวนถึง 4 ล้านคนของอังกฤษได้รับอาหารเพียงวันละสองมื้อเท่านั้น จนทางการต้องจัดการโครงการอาหารกลางวันให้นักเรียน ในกรุงลอนดอน (เป็นโครงการที่ลอกแบบมาจากอินเดีย) มีโครงการธนาคารอาหารให้คนยากจนในเมืองใหญ่ๆ และสถานการณ์ดูเหมือนจะย่ำแย่ลงทุกวัน บริเวณหน้าพระราชวังบักกิงแฮมมีประชาชนกลุ่มหนึ่งเดินขบวนชูป้ายให้อังกฤษยุบระบอบกษัตริย์อยู่ทุกวัน

ภายหลังจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 พาณิชยกรรมของอังกฤษมีปัญหามากขึ้น คนตกงานมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนัก ซ้ำร้ายปัญหาที่เกิดจากจากออกจากสหภาพยุโรป เพื่อที่ประเทศตนเองจะมีอิสระในการทำสนธิสัญญาทวิภาคีการค้ากับประเทศอื่นๆ นั้นกลับได้ผลเพียง 60% เท่านั้น การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจากอังกฤษกับสภาพยุโรปเกิดปัญหามากมายเพราะกฎหมายผ่านแดนมีปัญหา รถบรรทุกที่ลำเลียงอาหารและสินค้าจากยุโรปที่เคยผ่านพรมแดนสะดวก กลับต่อแถวกันยาวเหยียด เพราะต้องผ่านด่านเก็บภาษีใหม่

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมาย โดยการลักลอบเข้ามาทางทะเล เพื่อลี้ภัยสงครามหรือความอดอยากเป็นเรื่องใหญ่ จนทำให้ผู้อพยพเหล่านี้จมน้ำตายในช่องแคบอังกฤษเป็นจำนวนมาก อังกฤษจึงออกกฎหมายห้ามรับผู้อพยพ หากจับได้ก็จะไม่ให้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหมือนที่เคยได้กันมา แต่จะถูกห้ามเข้าประเทศตลอดชีวิต และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ การส่งตัวผู้อพยพไปยังค่ายกักกันที่ประเทศรวันดา ซึ่งเป็นมาตรการที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปและสหประชาชาติวิจารณ์อย่างรุนแรง

เมื่อสงครามรัสเซียยูเครนระเบิดขึ้น อังกฤษให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มตัว และได้ส่งยุทโธปกรณ์จำนวนมากให้ยูเครนตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายทางสงครามนั้นมีมูลค่าหลายพันล้านปอนด์ แม้จะไม่ใช่สงครามที่เกิดขึ้นกับประเทศตนเองก็ตาม ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจจึงถาโถมเข้ามาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_III#/media/File:Official_opening_of_the_Fourth_Assembly,_June_7_2011.jpg

อันที่จริงพระเจ้าชาลส์ที่สาม ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ทันทีเมื่อพระมารดา คือสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต เมื่อเวลา 15.10 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ (British Standard Time หรือ BST) ของวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 พระองค์ได้รับการประกาศให้เป็นกษัตริย์โดยรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรในวันเสาร์ที่ 10 กันยายน ซึ่งตามมาด้วยคำประกาศอื่นๆ อาณาจักรในเครือจักรภพ

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 รัฐบาลยังได้ประกาศให้วันหยุดชดเชยเพิ่มเติมในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 สองวันหลังจากพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวคำปฏิญาณราชาภิเษกเป็นสิ่งจำเป็นตามกฎหมาย การเจิม การส่งมอบลูกโลก และการขึ้นครองบัลลังก์ก็คาดว่าจะมีขึ้น เช่น พิธีการสรวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งจะถูกเคลื่อนย้ายจากหอคอยแห่งลอนดอนเพื่อปรับขนาดให้พอเหมาะกับพระเศียรของกษัตริย์พระองค์ใหม่ จะมีการเคลื่อนย้ายศิลาแห่งสโคนจากห้องมงกุฎของปราสาทเอดินบะระไปยังลอนดอนเพื่อพิธีราชาภิเษกของชาลส์ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ เคลื่อนย้ายกลับสู่ปราสาทหลังพิธี คามิลลา พระชายาของชาลส์ จะได้รับการสวมมงกุฎร่วมกับเขาในฐานะมเหสี และมีศักดิ์และสิทธิ์เสมอด้วยพระราชินีของอังฤษที่ผ่านมาทุกพระองค์

เมื่อชาลส์แต่งงานกับเธอในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการประกาศโดยสำนักพระราชวังว่าไม่ได้ตั้งใจให้คามิลลารับตำแหน่งราชินีเมื่อเขาขึ้นครองราชย์ อย่างไรก็ตาม พระเจ้าชาลส์ทรงปรารถนาให้พระนางทรงมีบรรดาศักดิ์และสวมมงกุฎเคียงข้างพระองค์มานานมากแล้ว และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 ทรงเพิ่มความความนิยมในตัวของว่าที่พระมเหสี โดยทรงประกาศว่า เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่สามขึ้นครองราชย์ นางคามิลลาจะขึ้นเป็นพระราชินี และจะมีพิธีสวมมงกุฎในฐานะพระราชินีของอังกฤษ

เพชรโคห์อินัวร์ (Koh-i-Noor) ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Koh-i-Noor#/media/File:Replica_of_the_Koh-i-Noor_(cropped).jpg

ในปีพ.ศ. 2566 รัฐบาลอังกฤษเบิกงบประมาณแผ่นดินเพื่อจัดพิธีบรมราชาภิเษกทั้งหมด รัฐบาลจึงเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเชิญราชอาคันตุกะ ซึ่งจะรวมถึงสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้แทนรัฐสภา เชื้อพระวงศ์และประมุขต่างประเทศ หลังพิธีพระเจ้าชาร์ลส์ที่สามและพระราชินีคามิลลา และคาดว่าทั้งสองพระองค์จะปรากฏตัวที่ระเบียงพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อแสดงบทบาททางประวัติศาสตร์หรือพิธีการในพิธีบรมราชาภิเษก ขณะเดียวกันองค์กรต่อต้านราชาธิปไตยและส่งเสริมให้อังกฤษปกครองแบบสาธารณรัฐได้ประกาศแผนการที่จะประท้วงในช่วงก่อนพิธีและมีการเดินขบวนต่อต้านราชวงศ์หน้าวังบักกิงแฮมตลอดมา

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 มีการคาดเดาในสื่ออังกฤษว่า เพชรโคห์อินัวร์ (Koh-i-Noor) ซึ่งปัจจุบันประดับอยู่บนมงกุฎของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบท พระราชมารดา อาจจะถูกนำมาสวมใส่ในพิธีราชาภิเษกครั้งนี้

ปัญหาจึงเกิดขึ้นทันที โดยนายราเกช ซิงห์ (Rakesh Singh) นักการเมืองชาวอินเดีย อ้างว่าการใช้อัญมณีซึ่งได้มาในช่วงการปกครองของอังกฤษ จะเป็นสัญลักษณ์ของ “มรดกตกทอดของลัทธิล่าอาณานิคม” และ “การแสวงประโยชน์จากอินเดีย” โคห์อินัวร์มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอีกในสื่อมวลชนของอินเดีย

คำว่า Koh-i-Noor มีที่มาจากภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ‘ภูเขาแห่งแสงสว่าง’ บางครั้งสะกดด้วยคำว่า Kohinoor และ Koh-i-Nur เป็นหนึ่งในเพชรเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีน้ำหนักถึง 105.6 กะรัต (21.12 ก.) ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมงกุฎเพชรแห่งสหราชอาณาจักร โดยประดับอยู่บนมงกุฎของพระราชินีเอลิซาเบทที่สอง ซึ่งพระองค์รับเป็นมรดกตกทอดมาจากพระราชมารดาของพระองค์ และปัจจุบันเปิดแสดงให้ประชาชนเข้าชมอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London)

ตำนานว่าด้วยประวัติที่มาของเพชรเม็ดนี้ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก แต่มีบันทึกว่า น้ำหนักดั้งเดิมของเพชรเม็ดนี้คือ 186 กะรัตเก่า (191 กะรัตหรือ 38.2 กรัม) เพชรเม็ดนี้ถูกเปลี่ยนมือจากมหาราชาของแคว้นหนึ่งไปสู่อีกแคว้นหนึ่ง จนในที่สุดบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษยึดมา และนำมาถวายให้แก่สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียหลังจากการผนวกแคว้นปัญจาบอยู่ภายใต้อาณัติของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษในปี พ.ศ. 2392 ซึ่งเมื่อถูกนำมาถึงอังกฤษทางราชสำนักของอังกฤษได้ว่าจ้างช่างเจียระไนเพชรตัดเพชรเม็ดนี้ให้เล็กลง เพื่อเพิ่มความงดงามของเพชรเม็ดนี้ ให้เหมาะสมกับการนำไปประดับบนมงกุฎของพระราชินีและเชื้อพระวงศ์ระดับสูงที่เป็นสตรีเท่านั้น

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Koh-i-Noor#/media/File:Queen_Mary’s_Crown.png

ดังนั้น หากพิจารณาตามจารีตประเพณีของราชวงศ์อังกฤษนั้น พระราชินีคามิลลาเป็นมีสิทธิที่จะผู้รับช่วงสวมมงกุฎที่ประดับด้วยเพชรโคห์อินัวร์นี้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนไปอย่างมาก อังกฤษไม่ใช่มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมเหมือนเมื่อร้อยปีก่อน บ้านเมืองวุ่นวาย และอินเดียมิได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอีกต่อไป แถมที่อังกฤษยังต้องพึ่งพาอินเดียอีกหลายด้าน ไม่ว่าความมั่นคงทางอาหาร การสร้างงานในอังกฤษ

จึงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในสื่อของอังกฤษว่า พระราชนินีพระองค์ใหม่สมควรที่จะสวมมงกุฎที่พระดับด้วยเพชรโคห์อินัวร์หรือไม่?

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เพชรโคห์อินัวร์ประดับอยู่บนมงกุฎของสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา พระมเหสีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งเคยสวมมงกุฎให้กับเธอในพิธีบรมราชาภิเษกในปี พ.ศ. 2445 เพชรดังกล่าวถูกถ่ายโอนไปยังมงกุฎของสมเด็จพระราชินีแมรีในปี พ.ศ. 2454 และในที่สุดก็ถึงมงกุฎของสมเด็จพระราชินีนาถในปี พ.ศ. 2480 เมื่อพระราชมารดาสิ้นพระชนม์ลงในปีพ.ศ. 2565 มงกุฎนี้จะถูกวางไว้บนโลงศพของพระองค์ แต่ภายหลังสำนักพระราชวังประกาศว่าในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่สามในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 จะไม่มีเพชรโคห์อินัวร์บนมงกุฎของพระราชินีพระองค์ใหม่ โดยไม่ชี้แจงเหตุผล แต่เป็นที่คาดเดาได้ว่ารัฐบาลอังกฤษในปัจจุบันไม่ต้องการสร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้นกับชาวอินเดีย

อินเดียไม่เคยลืมเพชรโคห์อินัวร์เม็ดนี้เลย เห็นได้จากที่ในปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลอินเดียเรียกร้องให้อังกฤษคืนเพชรโคห์อินัวร์ทันทีที่อินเดียได้รับเอกราช และเมื่อไม่สำเร็จ รัฐบาลอินเดียจึงยื่นคำขอครั้งที่สองตามมาในปี พ.ศ. 2496 ซึ่งเป็นปีแห่งพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบทที่ 2 แต่ละครั้ง รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว และกล่าวว่าความเป็นเจ้าของไม่สามารถต่อรองได้

ในปี พ.ศ. 2543 สมาชิกรัฐสภาอินเดียหลายคนได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้นำเพชรโคห์อินัวร์กลับคืนสู่อินเดีย โดยอ้างว่าเพชรดังกล่าวถูกนำไปอย่างผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่อังกฤษกล่าวว่า การกล่าวอ้างหลายอย่างหมายความว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุเจ้าของเดิมของเพชรโคห์อินัวร์ และเพชรดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมรดกของอังกฤษมากว่า 150 ปี

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 ขณะเยือนอินเดีย เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรกล่าวถึงการคืนเพชรว่า “มันคือ จะต้องอยู่ต่อไป” ในการเยือนครั้งต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 เขากล่าวว่า “พวกเขาไม่ได้เพชรเม็ดนั้นคืน” ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรมอินเดียระบุว่าจะใช้ “ความพยายามทุกวิถีทาง” เพื่อจัดเตรียมการส่งคืนโคอิ-นัวร์กลับมาสู่อินเดียให้จงได้

อินเดียในปี พ.ศ. 2566 ไม่เหมือนกับอินเดียในยุคพระนางเจ้าวิกตอเรียหรืออินเดียเมื่อยี่สิบปีมาแล้ว เพราะอินเดียในยุคนี้เป็นประเทศในกลุ่ม G-20 และเป็นประเทศที่คาดว่ามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 7.2% ในปีนี้และอัตราเงินเฟื้อเพียง 4.73% อินเดียยังเป็นขั้วอำนาจทางการเมืองและกลาโหมอันดับต้นๆ ของเอเชียเป็นประเทศที่ผลิตยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ รถถัง ฯลฯ

ในเดือนมีนาคมนี้อินเดียสั่งซื้อเครื่องบิน Airbus และ Boing จากสหภาพยุโรป และสหรัฐเป็นจำนวนถึง 471 ลำ สร้างงานจำนวนมากให้เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกา เป็นการสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์การบินของโลก เกิดการว่าจ้างงานใหม่ในอังกฤษหลายแสนตำแหน่ง ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่อังกฤษยังต้องพึ่งพาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ การป้องกันประเทศ และ 50% ของประชากรอินเดียนั้นอายุต่ำกว่า 30 ปี เงินรูปีของอินเดียกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แทนเงินดอลลาร์มากขึ้นทุกที ไม่ว่าธนาคารในรัสเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือเยอรมนี ประชาชนสามารถเปิดบัญชีของตนโดยใช้เงินรูปีอินเดียได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนมาเป็นเงินสกุลของประเทศนั้นๆ

การที่อังกฤษคืนสมบัติของชาติคืนแก่ประเทศต้นทางนั้น มิใช่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในปี พ.ศ. 2565 พิพิธภัณฑ์กลาสโกว์ในสกอตแลนด์ได้ตกลงส่งคืนโบราณวัตถุ 7 ชิ้นที่ถูกขโมยไปยังอินเดียคืนให้รัฐบาลอินเดีย และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้ส่งมอบเครื่องประดับโบราณที่ถูกขโมยมาจากกัมพูชาระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมืองเมื่อสามสิบปีก่อน คืนให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ และทางการกัมพูชาได้นำออกแสดงให้ประชาชนได้ชมจนถึงปัจจุบันนี้ สมบัติเหล่านี้สาธารณชนกัมพูชาไม่เคยเห็นมาก่อนเลย

การส่งมอบเพชรโคห์อินัวร์กลับมาสู่อินเดียนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เสียเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่อังกฤษจะต้องพึ่งพาอินเดียอีกเพียงใด สิ่งที่ราชวงศ์วินเซอร์ต้องระวังคืออย่าให้ชาวอินเดียเห็นเพชรเม็ดนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ อย่าให้เพชรโคห์อินัวร์ปรากฏในพระราชพิธีนี้เป็นการดีที่สุด ผลที่จะเกิดขึ้นคือพระราชินีองค์ใหม่ของอังกฤษจะไม่ได้เกียรติยศดังเช่นพระราชินีองค์ก่อนๆ ของอังกฤษ

เรื่องราวของเพชรโคห์อินัวร์ย่อมไม่จบลงเพียงเท่านี้เป็นแน่ เมื่อนายกรัฐมนตรีของอังกฤษคือ นายริชชี ซูนัก ซึ่งมีเชื่อสายอินเดียโดยตรง และเป้าประสงค์ของเขาชัดเจนที่ว่า ต้องสร้างความน่าเชื่อถือในความเข้มแข็งของตนให้เป็นที่ปรากฏก่อนสิ้นปีนี้ให้จงได้ เพราะในปี พ.ศ. 2567 ที่จะมาถึง เขาจะต้องเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมชิงชัยการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ ซึ่งโอกาสที่จะชนะนั้นริบหรี่เหลือเกิน