เราจะก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างไร ใครบ้างที่ก้าวล้ำไปแล้ว
เรามีเวลาไม่มากและต้องออกแรงกันมากมายเพื่อการเปลี่ยนสังคมของเราให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่ธรรมชาติจะดูดซับได้และอยู่ในขอบเขตที่โลกรับได้
หลายประเทศได้เริ่มและเร่งปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การผลิต การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำแล้ว มาดูตัวอย่างของประเทศที่มุ่งมั่นจริงจังในเรื่องนี้กัน
สวีเดนตั้งเป้ารัฐปลอดฟอสซิลแห่งแรกของโลกด้วย Smart City
สวีเดน ประกาศเป้าหมายจะเป็นรัฐสวัสดิการปลอดฟอสซิลแห่งแรกของโลก จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์ภายในปี 2588
แนวทางของสวีเดนคือ มุ่งสู่ Smart City รัฐบาลสวีเดนริเริ่มพร้อมพัฒนาแพลตฟอร์ม Smart City Sweden ที่ปัจจุบันมี 120 แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่สรุปจากประสบการณ์ และยังมีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทประมาณ 700 แห่งที่มีส่วนร่วม
Smart City Sweden ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ และภาคอุตสาหกรรม เพราะเชื่อว่าความร่วมมือจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจและธุรกิจยังเติบโตไปพร้อมกัน
Smart City ของสวีเดน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองที่มีการสื่อสารที่ดี ให้ผู้คนมีอาหารที่เพียงพอ มีคนดูแลจัดการขยะ มีน้ำคุณภาพดี ระบบบำบัดน้ำเสีย มีไฟฟ้าที่เข้าถึงทุกคน อีกทั้งยังมีการยกระดับความมีระเบียบวินัยของคน
Smart City แบ่งการดำเนินงานออกเป็น ด้านพลังงาน (Energy), สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม (Climate and Environment), การสัญจร (Mobility) ,การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ (Digitalisation),การออกแบบชุมชนเมือง(Urban Planning) และความยั่งยืนของสังคม(Social Sustainability)
-
1)การผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ โดยมีชีวมวลเป็นแหล่งพลังงานอันดับหนึ่ง อีกทั้งมีการลงทุนอย่างมากในกังหันลม เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าในปี 2050
2) ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน มีการใช้ระบบ Smart Grid หรือ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพราะพลังงงานจากหลายแหล่ง ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา พลังงานจากกังหันลมขนาดเล็ก รวมทั้งแปลงขยะกลับไปเป็นพลังงานด้วยนวัตกรรม
3) ระบบทำความร้อนและความเย็นตามเขตพื้นที่ ที่บูรณาการและพัฒนามากที่สุด จนอยู่แถวหน้าของโลก ด้วยการแปลงความร้อนเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม ใต้ดิน หรือที่อยู่อาศัย พลังงานที่ใช้แล้ว นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการความร้อนและความเย็นในแต่ละเขตในเมือง,มีการนำก๊าซชีวมวลที่ได้จากการโรงบำบัดน้ำเสียมาใช้เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และมีการผลิตก๊าซชีวมวลเพื่อนำมาใช้ในการย่อยขยะอาการจากโรงงาน ครัวเรือนและร้านอาหาร
4) ปัจจุบัน Smart City แปลงขยะไปเป็นพลังงาน มีกฎหมายว่าด้วยการกำจัดขยะโดยเฉพาะ และมุ่งสร้างการตระหนักและรับรู้ในหมู่ประชาชน เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายการกำจัดขยะ
ส่วนด้านน้ำ
สวีเดนทุ่มเทให้กับการวิจัยเรื่องน้ำอย่างมากใน 2 ด้านหลัก คือน้ำเสียและน้ำสำหรับการบริโภค จึงเน้นการจัดการน้ำให้น้ำบาดาลที่มีคุณภาพดี รักษาแหล่งน้ำในทะเลสาปและลำธาร ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง
สวีเดนมุ่งมั่นนำเสนอโซลูชั่นที่ทันสมัยในทุกรูปแบบการสัญจร นอกจากเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว ยังทุ่มเททรัพยากรให้กับการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและขับเคลื่อนอัตโนมัติ แบตเตอรี่ โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ และเซลล์เชื้อเพลิงไปใช้ ทุกวันนี้สวีเดนมีรถบรรทุกที่ไม่ใช้ฟอสซิลวิ่งบนถนนแล้ว
นอกจากนี้รัฐบาลยังส่งเสริมการใช้จักรยาน ใช้เทคโนโลยี Geofence ควบคุมรถให้อยู่ในพื้นที่เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ส่งเสริมการใช้รถโดยสารสาธารณะ
Digitalisation เป็นรากฐานของ smart city ที่ช่วยแก้ไขปัญหาในหลายด้าน เช่น การดูแลรักษาความปลอดภัยของเมือง การมีบทบาทในด้านการศึกษา การขนส่ง เป็นต้น
Smart City คำนึงถึงความหนาแน่นของประชากร สถานที่ต่างๆ ระยะทางในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการจัดให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่ในการออกกำลังกาย เพื่อให้เป็นเมืองที่ผู้คนมีสุขภาพดี ความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สาธารณะ บริการจากภาครัฐ เป็นต้น
ความเป็นเมืองที่ขยายตัวมีผลบวกในหลายด้านเช่น เชื่อมโยงผู้คน ลดความยากจนและเสริมการพัฒนาของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีแรงกดดันให้เมืองต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน สวีเดนจึงมีการออกแบบชุมชนเมืองใหม่ โดยให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้เมืองอย่างที่ประชาชนต้องการ คือมีพื้นที่เขียวมากขึ้น มีพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย ร้านอาหาร นำระบบทำความร้อนความเย็น อินเตอร์เน็ต สายไฟฟ้า ระบบกำจัดของเสียลงอยู่ใต้อาคารที่อยู่อาศัย เป็นการรวมศูนย์ระบบสาธารณูปโภคไว้ด้วยกันที่สะดวกต่อการซ่อมบำรุง โดยไม่สร้างความลำบากให้กับประชาชน ซึ่งส่งผลให้เมืองมีคุณภาพอากาศที่ดี สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย เป็นสังคมเมืองที่ยั่งยืน
ลอนดอนเลือกเส้นทาง Accelerated Green pathway
ในปี 2562 สภาสามัญชนหรือสภาผู้แทนอังกฤษได้ลงมติเห็นชอบให้ ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change และด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่ต้องลงคะแนน และถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศภาวะฉุกเฉินด้าน Climate Change
ในปี 2565 สหราชอาณาจักรตั้งเป้าหมายใหม่ในกฎหมายเพื่อลดการปล่อยมลพิษ 78% ภายในปี 2578 อีกทั้ง Carbon Budget ฉบับที่ 6 ซึ่งจะรวมสัดส่วนการปล่อยมลพิษการบินระหว่างประเทศและมลพิษจากการเดินเรือ ของสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก และจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงปี 2576 ถึง 2580 ทำให้สหราชอาณาจักรยังคงเดินหน้าตามแนวทางที่จะยุติการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะเดียวกันมหานครลอนดอน ตั้งเป้าที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ป็นศูนย์ภายในปี 2573 โดยนายซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีลอนดอน เลือกแนวทางที่ได้จากการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำการศึกษา
แนวทางนี้เรียกว่า Accelerated Green pathway ซึ่งนายข่านชี้ว่า เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับลอนดอน และมีความสมดุลระหว่างเป้าหมายกับความสามารถในการดำเนินการ
ไม่ว่าเมืองใดใช้แนวทางอะไร ที่สำคัญเราต้องสร้างเสริมสังคมคาร์บอนต่ำนี้ให้กับครอบครัว เพื่อน ผู้ที่อยู่รอบตัวเรา ร่วมมือกันเพื่อจะได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ และโลกใบนี้อย่างยั่งยืน