
ในปีที่แล้วที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก อังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงมากอันดับต้นๆ ของโลกถูกวิจารณ์อย่างหนักต่อการรับมือกับการระบาด แต่เมื่อต้องมีการฉีดวัคซีน การจัดการกลับทำได้ดีตรงข้ามกับการตอบสนองการแพร่กระจายของไวรัส
อังกฤษยืนแถวหน้าของโลกในเรื่องฉีดวัคซีน และวันที่ 8 ธันวาคม 2020 อังกฤษกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ประวัติศาสตร์การฉีดวัคซีนของสหราชอาณาจักรได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2020 ตรงกับวัน (Victory in Europe Day: V-Day) โดยคุณยายชาวอังกฤษชื่อ มาร์กาเรต คีแนน อายุ 90 ปี กลายเป็นบุคคลแรกของโลกที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่โรงพยาบาลท้องถิ่นในมืองโคเวนทรี เวสต์มิดแลนส์ นับตั้งแต่นั้นจำนวนประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ประชาชนมากกว่าครึ่งในสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้ว
ประชากรมากกว่าครึ่งในอังกฤษได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกแล้วข้อมูลจาก Our World in Data พบว่า ณ วันที่ 29 เมษายน 2564 อังกฤษเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากอิสราเอล

นายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ กล่าวว่า เขา “ดีใจอย่างยิ่ง” ที่บรรลุเป้าหมายที่ “ยอดเยี่ยม” โดยเสริมว่า “โครงการการฉีดวัคซีนนี้เป็นทางออกของเราจากการระบาดครั้งใหญ่นี้ มันช่วยชีวิตคนได้อย่างชัดเจน”
ประมาณ 95% ของประชาชนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปรับวัคซีนโดสแรกแล้ว ในขณะที่ 92% ของคนที่มีความเสี่ยงสูงทางคลินิกจากโควิด-19 ก็ได้รับวัคซีนเช่นกัน
การวัคซีนที่ได้ดำเนินการไปแล้วทำให้จำนวนการติดเชื้อลดลง จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในสหราชอาณาจักรลดลงจากระดับสุดในเดือนมกราคม โดยวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเท็ค (Pfizer-BioNTech) หรืออ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-AstraZeneca) เพียงเข็มเดียวดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการการติดเชื้อได้
การฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งในเข็มแรกทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาลดลง 2 ใน 3 และมีประสิทธิภาพ 74% ในการป้องกันอาการการติดเชื้อ หลังจากฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ผู้ป่วยทั้งหมดลดลง 70% และผู้ที่มีแนวโน้มจะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นลดลง 90%
โดยผู้เชี่ยวชาญยังคงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ของแอสตร้าเซนเนก้า แต่ก็ระบุว่าวัคซีนทั้ง 2 เข็มมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การศึกษาอื่นพบว่าการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 2 เข็มสามารถป้องกันไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวแรกที่ตรวจพบในเมืองเคนต์ได้
รัฐบาลได้ประกาศว่า การเสียชีวิตจากโควิดได้ลดลงสู่อันดับที่ 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดในอังกฤษเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยเป็นผลจากการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวสหราชอาณาจักรสามารถเดินทางไปพักร้อนในประเทศสเปน โปรตุเกส และกรีซได้ในหน้าร้อนนี้
ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าการได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็มก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในผู้สูงอายุชาวสหราชอาณาจักรได้มากถึง 98%
การวิเคราะห์ของ NHS จากการเข้ารักษาของผู้ป่วยจากการแพร่ระบาดแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนอาจจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเจ็บป่วยได้มากกว่าที่คิดไว้ก่อนหน้านี้
หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) เปิดเผยในเดือนที่แล้วว่า 3 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก ทำให้ความเสี่ยงจากการเข้ารักษาในโรงพยาบาลลดลงอย่างน้อย 80% ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป

เดินหน้าสู่ระยะที่สองของการฉีดวัคซีนกลุ่มอายุ 40-49 ปี
อังกฤษก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2 ของโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลได้บรรลุเป้าหมายระยะที่ 1 ของโครงการฉีดวัคซีน ที่ได้ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ คือ คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและมีความเสี่ยงครบทุกคนก่อนวันที่ 15 เมษายน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สัดส่วน 99% ของผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส
โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยง 4 กลุ่มแรกได้แก่ 1) ผู้อยู่อาศัยในสถานดูแลสำหรับผู้สูงอายุและพนักงานที่ทำงานในสถานดูแลสำหรับผู้สูงอายุ 2) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและดูแลสังคมระดับแนวหน้า 3) บุคคลที่มีความเสี่ยงอย่างมากทางคลินิก 4) กลุ่มที่มีโรคประจำตัว
นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างมากในเวลาไม่ถึง 8 เดือนหลังจากเริ่มการฉีดวัคซีน และจากที่กำหนดไว้ว่าจะเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง การเร่งฉีดวัคซีนทำให้เกิดความหวังที่จะยกเลิกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดได้เร็วขึ้น
รัฐบาลตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนโควิดให้กับผู้ใหญ่ทุกคนภายในเดือนกรกฎาคม โดยหวังว่าจะช่วยให้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโรดแมปของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กล่าวว่า “ผมอยากจะขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนซึ่งได้ช่วยชีวิตคนมาแล้วหลายพันคน”
“ตอนนี้เราจะเดินหน้าด้วยความสำเร็จในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และจะมุ่งไปสู่เป้าหมายที่จะให้วัคซีนกับผู้ใหญ่ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้”
นายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ กล่าวในรัฐสภาว่า “ผมรู้สึกดีใจที่ทั่วสหราชอาณาจักร เราได้บรรลุเป้าหมายที่จะให้วัคซีนกับทุกคนที่อยู่ใน 9 กลุ่มแรกก่อนกำหนดในวันที่ 15 เมษายน”
“ขณะนี้ประชาชนมากกว่า 32 ล้านคนได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วและกำลังจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ผู้ใหญ่ทุกคนภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม
“ผมสามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการว่าจากวันนี้ไปเราได้ส่งคำเชิญที่จะให้วัคซีนกับบุคคลที่มีอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป และหลังจากนั้นเราจะดำเนินการให้วัคซีนกับทุกคนที่อายุเกิน 40 ปีตามลำดับ”
การฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนที่เหลือราว 21 ล้านคนจากนี้ไปจะมุ่งไปที่กลุ่มที่มีอายุ 45-49 ปี กลุ่มอายุ 42 ปีขึ้นไปในอังกฤษ กลุ่มที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปในไอร์แลนด์เหนือ กลุ่มที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปในสก็อตแลนด์ และกลุ่มที่มี 40 ปีขึ้นไปในแคว้นเวลส์ ที่ได้รับการเชิญชวนให้จองคิว
การให้บริการจองของ NHS จะเปิดให้ผู้มีอายุ 45 ถึง 49 ปีในอังกฤษ มีขึ้นในวันที่ 13 เมษายน 2021
เจาะแผนการฉีดวัคซีน
เป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนโควิดให้กับผู้ใหญ่ทุกคนภายในเดือนกรกฎาคมมีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จ เมื่อประเมินจากอัตราการฉีดวัคซีนได้เฉลี่ย 2.9 ล้านโดสต่อสัปดาห์ และมีแนวโน้มที่ผู้ใหญ่ทุกคนในอังกฤษจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มภายในปลายเดือนกันยายน
ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมีจำนวน 14 ล้านคน
ปัจจุบันการฉีดวัคซีนเข็มแรกต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 119,000 โดส ลดลงจาก 500,000 โดสต่อวันในกลางเดือนมีนาคม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้กับบางกลุ่ม โดยการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มีจำนวนเฉลี่ย 407,000 โดสต่อวัน
การบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ประชาชน มาจากการวางแผนฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมใน 4 ด้าน คือ การจัดหาวัคซีน (supply) การจัดลำดับความสำคัญ (prioritisation) สถานที่ฉีด (places) และกำลังคน (people)
รัฐบาลวางแผนโครงการการฉีดวัคซีนโดยมอบหมายให้กระทรวงธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรม (Department for Business, Energy & Industrial Strategy: BEIS) และคณะทำงานด้านวัคซีน (Vaccine Task Force: VTF) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาและวิจัยและพัฒนาวัคซีน ส่วนการกระจายและฉีดวัคซีนเป็นหน้าที่ของกรมอนามัยและบริการสังคม (Department of Health and Social Care)โดยทำงานร่วมกับ ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service:NHS) โดยที่ NHS Improvement และ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) ประสานงานการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมสถานที่ฉีดวัคซีนทุกเครือข่าย ทั้งโรงพยาบาล แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป(General Pratitioners: GPs) และร้านขายยา ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ต้องทำงานสอดคล้องกัน
ในเดือนธันวาคม นายกรัฐมนตรีบอริส ได้แต่งตั้งให้นายนาดิม ซาฮาวี เป็นรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะที่นายกรัฐมนตรีและนายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลในภาพรวม
รัฐบาลได้เผยแพร่แผนกระจายวัคซีนไว้บนเว็บไซต์ ในวันที่ 13 มกราคม ดังนี้
ด้านจัดหาวัคซีน (Supply)
ปัจจุบัน อังกฤษอนุญาตให้ใช้วัคซีนจากผู้ผลิต 3 รายคือ ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค, ออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าและโมเดอร์นา ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก และทั้ง 3 ยี่ห้อนี้ต้องฉีด 2 เข็ม
อังกฤษได้อนุมัติวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ในวันที่ 2 ธันวาคม 2020 และเป็นวัคซีนรายแรกของโลกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคมได้อนุมัติวัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ส่วนวัคซีนโมเดอร์นาได้รับการอนุมัติในต้นเดือนมกราคม 2021 และคาดว่าจะอนุมัติวัคซีนรายอื่นในไตรมาสแรกของปี
ก่อนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิดนั้นรัฐบาลอังกฤษได้จัดสรรงบ 120 ล้านปอนด์ไว้แล้วสำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ ในช่วงปี 2016-2021 ตามคำแนะนำของ UK Vaccines Research and Development Network (UKVN) และ UKVN ได้สนับสนุนเงิน 1.87 ล้านปอนด์ให้มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับโรค MERS ซึ่งเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งของไวรัสโคโรนา แต่เมื่อไวรัสโควิดระบาดการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโรค MERS ได้ปรับมาเป็นการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แทน ในเดือนกุมภาพันธ์
ในเดือนเมษายนรัฐบาลได้ประกาศสนับสนุนเงินอีก 20 ล้านปอนด์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเริ่มการทดลองทางคลีนิกทันที และในเดือนเดียวกันรัฐบาลได้จัดตั้ง VTF ขึ้นเพื่อประชาชนได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการทดลองไปพร้อมกับระหว่างยังทำการทดลองเพื่อไม่ต้องเสียเวลาคอยข้อมูลหลังจากการทดลองเสร็จสิ้น
VTF ได้จัดหาวัคซีนหลายยี่ห้อเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและเน้นไปที่วัคซีนที่จะออกมาใช้ได้ก่อนเป็นอย่างแรก สามารถผลิตในปริมาณมากและผลิตที่อังกฤษ ส่งมอบได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

เคท บิงแฮม อดีตประธานคณะทำงานด้านวัคซีนระบุว่า แนวทางการจัดหาวัคซีนมุ่งไปที่ความเร็วในการพัฒนามากกว่าการให้ความสำคัญกับต้นทุน
VTF ได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนไว้แล้ว 367 ล้านโดสจากผู้พัฒนาจำนวน 7 ราย ซึ่งรวม 100 ล้านโดสของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า และ 40 ล้านโดสของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนของทั้ง 2 บริษัทนี้ โดยได้สั่งซื้อล่วงหน้าก่อนที่จะมีการอนุมัติให้ใช้เพื่อให้มีวัคซีนไว้เนิ่นๆ อีกทั้งได้สั่งวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในจำนวนที่เพียงพอต่อจำนวนประชากร และหากวัคซีนชนิดอื่นได้รับการอนุมัติ ปริมาณวัคซีนของอังกฤษก็จะเพิ่มขึ้นอีกมาก
วัคซีนทั้งหมดที่ถูกใช้ในสหราชอาณาจักรได้ผ่านการทดลองทางคลินิกและเป็นไปตามมาตรฐานความด้านปลอดภัย ด้านประสิทธิภาพและด้านคุณภาพที่เข้มงวดของ MHRA โดยวัคซีนโมเดอร์นาได้นำไปใช้วันที่ 13 เมษายน 2021 มากกว่า 20 แห่ง
นอกจากนี้ MHRA กำลังดำเนินการตรวจสอบเพื่อประเมินวัคซีนแจนเซน และโนวาแวกซ์
วัคซีนไฟเซอร์ที่สหราชอาณาจักรได้รับตัวแรกมาจากแหล่งผลิตในเบลเยียม ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าผลิตจากหลายที่ในอังกฤษ และโมเดอร์นา ได้จากการผลิตในสวิตเซอร์แลนด์และสเปน ผ่านเบลเยียม
ทั้งนี้ อังกฤษจะได้รับวัคซีนอย่างน้อยจากผู้ผลิต 3 ราย ภายในปีนี้หากได้รับอนุมัติ ได้แก่ โนวาแวกซ์ บริษัทสหรัฐฯ ซึ่งผลิตในทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ วาลเนวา จากบริษัทฝรั่งเศสซึ่งผลิตในสกอตแลนด์ และแจนเซนบริษัทในเครือจอห์นสันแอนด์จอห์นสันผลิตในเนเธอร์แลนด์
แนวทางการจัดหาวัคซีนของอังกฤษนับว่าประสบผลสำเร็จ เพราะได้รับวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติได้อย่างรวดเร็ว
โดยการให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานการผลิตพัฒนาอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการผลิตวัคซีนได้ถึง 3 ชนิดในอังกฤษ และยังป้องกันการขาดวัคซีนได้อีกด้วย ดังจะเห็นจากกรณีสหภาพยุโรปกำลังประสบปัญหาในการจัดหาวัคซีนกับแอสตร้าเซนเนก้า
ในการทำสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้าของอังกฤษ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาวัคซีนได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน โดยสัญญาของอังกฤษมีคำมั่นของแอสตร้าเซนเนก้าว่าห่วงโซ่อุปทานของอังกฤษ “จะเหมาะสมและเพียงพอ” สำหรับปริมาณที่อังกฤษสั่งซื้อ หากห่วงโซ่อุปทานไม่เพียงพอ ณ จุดใดก็ตาม แอสตร้าเซนเนก้า จะต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาดด้วยการจัดมาจากที่อื่นๆ ในเครือข่ายทั่วโลก
ล่าสุดอังกฤษได้สั่งซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์เพิ่มอีก 60 ล้านโดส

การจัดลำดับความสำคัญ (Prioritisation)
โดยที่ คณะกรรมการวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (Joint Committee on Vaccination and Immunisation: JCVI) ให้ความเห็นว่าเป้าหมายหลักของโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 คือ การป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 และการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ดูแลสังคมและระบบสุขภาพ จึงแนะนำว่า ทั้งวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดให้กับผู้ที่อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงวัยก่อน จากนั้นจึงจะฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในแนวหน้า และเจ้าหน้าที่ดูแลสังคม และฉีดให้ประชากรที่เหลือตามลำดับอายุและปัจจัยเสี่ยงทางคลินิก
หลังจากศึกษาข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ JCVI ได้ข้อสรุปว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกสร้างภูมิคุ้มกันภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีนจากโรคโควิด-19 วัคซีนเข็มที่สองมีความสำคัญต่อการป้องกันอย่างต่อเนื่องและขยายระยะเวลาออกไป และการป้องกันเบื้องต้นส่วนใหญ่จากโรคทางคลินิกเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก
ผู้บริหารหน่วยงานด้านการแพทย์ 4 แห่งมีความเห็นตรงกับ JCVI ว่า ในสถานการณ์การระบาดใหญ่นี้การฉีดวัคซีนให้กับคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีความสำคัญ เพื่อการปกป้องผู้ที่มีความเสี่ยงจำนวนมากที่สุดภายในเวลาที่สั้นที่สุด ในทางปฏิบัติหมายความว่าวัคซีนทั้งสองชนิดจะได้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่สองภายในเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนและได้รับการป้องกันภายใน 12 สัปดาห์ข้างหน้า
จัดลำดับกลุ่มเข้ารับการฉีด
ในเดือนธันวาคม รัฐบาลได้ประกาศการจัดลำดับกลุ่มประชาชนที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนว่ามีทั้งหมด 9 กลุ่มตามคำแนะนำของ JCVI โดยจะเริ่มจากกลุ่มที่มีความเปราะบางสูงสุด และไล่ลงมาตามอายุและความเสี่ยง ประกอบด้วย
1) ผู้อยู่อาศัยในสถานดูแลสำหรับผู้สูงอายุและพนักงานที่ทำงานในสถานดูแลสำหรับผู้สูงอายุ
2) ผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปทุกคนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและดูแลสังคมที่ปฏิบัติงานในแนวหน้า
3) ผู้ที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป
4) ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปและบุคคลที่มีความเสี่ยงอย่างมากทางคลินิก (ไม่รวมสตรีมีครรภ์และผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี)
5) ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
6) ผู้ใหญ่อายุ 16 ถึง 65 ปีในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือด เช่น ลูคีเมีย ผู้เป็นโรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม โรคหัวใจ โรคตับ โรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด โรคไต ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น
7) ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
8) ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
9) ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
10) ประชากรที่เหลือ (ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดภายหลัง)
ในวันที่ 11 มกราคม DHSC ได้ประกาศแผนการกระจายวัคซีนและกลุ่มเป้าหมายที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดย
1) ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีความเปราะบางสูงสุด 4 กลุ่มแรกที่มีจำนวนประมาณ 15 ล้านคนในสหราชอาณาจักรภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์
• ผู้อยู่อาศัยในสถานดูแลสำหรับผู้สูงอายุและพนักงานที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุ
• ผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปทุกคน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและดูแลสังคมที่ปฏิบัติงานในแนวหน้า
• ผู้ที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป
• ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปและบุคคลที่มีความเสี่ยงอย่างมากทางคลินิก
2) ฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่เปราะบางรองลงไปซึ่งมีจำนวนประมาณ 17 ล้านคนในสหราชอาณาจักร ภายในกลางเดือนเมษายน
3) ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ใหญ่ที่เหลือในสหราชอาณาจักรภายในปลายฤดูใบไม้ร่วง
ปัจจุบัน โดยเฉลี่ยในอังกฤษกลุ่มคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนแล้ว 95% ส่วนสกอตแลนด์กลุ่มคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปในสัดส่วน 98% ได้รับวัคซีนเข็มแรก ส่วนในเวลส์กลุ่มคนที่อายุ 50 ปีขึ้นที่ได้นับวัคซีนเข็มแรกมีสัดส่วน 92% และในไอร์แลนด์เหนือมีสัดส่วน 89%
โครงการฉีดวัคซีนของรัฐบาลกำลังคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและจะบรรลุเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนโควิดให้กับผู้ใหญ่ทุกคนภายในเดือนกรกฎาคม

สถานที่ (Places)
เป้าหมายของรัฐบาลคือการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนใน 4 กลุ่มประชากรตามคำแนะนำของ JCVI ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จึงได้จัดวางเครือข่ายของสถานที่ฉีดวัคซีนเพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณวัคซีนที่คาดหวังและเพื่อให้มั่นใจได้ว่าประชากรทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัย
สถานที่ฉีดวัคซีนมี 3 ประเภท
1) ศูนย์ฉีดวัคซีนโดยใช้สถานที่ขนาดใหญ่ เช่น สนามฟุตบอล และเข้าถึงได้โดยการจองทั่วประเทศ
2) โรงพยาบาลศูนย์ โดยใช้ผู้ให้บริการที่อยู่ในระบบ NHS ทั่วประเทศ
3) บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยสถานที่ เช่น มัสยิด ศูนย์ชุมชน ที่นำโดยทีมเวชปฏิบัติทั่วไปที่ทำงานร่วมกัน ในเครือข่ายบริการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และทีมเภสัชกรรมที่มีอยู่แล้วผ่านร้านขายยาในชุมชน
ด้วยรูปแบบที่มีการผสมผสานนี้จะช่วยให้ผู้คนในแต่ละกลุ่มอายุในชุมชนและครัวเรือนที่แตกต่างกันได้รับวัคซีนในวิธีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ ปัจจุบัน 96% ของประชากรในอังกฤษอยู่ห่างจากสถานที่บริการวัคซีนไม่เกิน 10 ไมล์ ภายในสิ้นเดือนมกราคมทุกคนจะอาศัยอยู่ห่างจากศูนย์ฉีดวัคซีนไม่เกิน 10 ไมล์ ส่วนในพื้นที่ชนบทการฉีดวัคซีนจะเป็นหน่วยเคลื่อนที่
เครือข่ายสถานที่ฉีดวัคซีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยภายในสิ้นเดือนมกราคมคาดว่า จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างน้อย 2 ล้านคนต่อสัปดาห์ ด้วยการจัดตั้ง โรงพยาบาลศูนย์ 206 แห่ง ศูนย์บริการฉีดวัคซีนชุมชน 1,200 แห่ง (รวมเครือข่ายบริการปฐมภูมิ ร้านขายชุมชน และการออกพื้นที่เพื่อไปฉีดผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาศูนย์ได้) และตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนอีก 50 แห่ง
โดยที่เครือข่ายสถานที่ฉีดวัคซีนที่กระจายทำให้แจกจ่ายวัคซีนความท้าทายมาก ต้องการจัดแบ่งวัคซีน แต่ต้องไม่ให้ศูนย์ใดศูนย์หนึ่งประสบปัญหาวัคซีนหมดหรือใช้ไม่ได้ จึงต้องมีการวางแผนและการจัดการสต็อกอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำตัวแทนจำหน่ายยาที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมงานเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถจัดส่งวัคซีนได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ มีการระดมสรรพกำลังของทุกส่วนในระบบการดูแลสุขภาพเพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุดโดยเร็วที่สุด และเครือข่ายนี้จะยังขยายออกไปตามความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน ที่มีเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่ทุกคนในปลายฤดูใบไม้ร่วงนี้ อีกทั้งแนวทางนี้ยังคำนึงถึงความครอบคลุม ความไม่เท่าเทียม การจัดการกับความกังวลของแต่ละคน รวมทั้งเงื่อนไขทางการแพทย์ อายุ และเชื้อชาติ
ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น รัฐบาลทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เครือข่ายอาสาสมัคร เวทีความร่วมมือ ชุมชน เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วย เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนได้รับคำแนะนำและข้อมูลที่สามารถเข้าใจได้ และการดำเนินการในท้องถิ่นนั้น ต้องรองรับการมีส่วนร่วมในชุมชนทั้งหมด ตลอดจนหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานด้านสาธารณสุขมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
เว็บไซต์ NHS มีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ประชาชนจะได้รับการติดต่อให้มาฉีดวัคซีน การเตรียมตัวและกระบวนการทั้งหมดจนถึงการติดตามผล เพราะต้องการให้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปตอบรับมาฉีดวัคซีน โควิด-19 เมื่อถึงเวลา

กำลังคน (People)
หัวใจสำคัญของโครงการคือ คนทำงาน ผู้นำ NHS ในพื้นที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรของ NHS ทั้งระบบ หน่วยงานท้องถิ่น พันธมิตรด้านสุขภาพและการดูแลสังคม และอาสาสมัครเพื่อสร้างทีมงาน และมีศูนย์กลางอยู่ที่เจ้าหน้าที่ NHS ในโรงพยาบาล สถานพยาบาลปฐมภูมิและชุมชน นอกจากนี้ยังมีการรับอาสาสมัครวัคซีนเพิ่ม 80,000 คน ที่ต้องรับการฝึกอบรมเพิ่มเติม คนกลุ่มนี้มีทักษะจากเป็นอาสาสมัครผ่านโครงการ NHS Bring Back ผู้ที่ทำงานนอก NHS เช่น ในโครงการ St John’s Ambulance และพยาบาลอิสระและผู้ให้บริการด้านอาชีวอนามัย
กำลังคนที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำงานร่วมกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาล เภสัชกรและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ และมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่มีประสบการณ์และทักษะสำคัญที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อรองรับบริการฉีดวัคซีนได้ เช่น ลูกเรือในห้องโดยสารได้รับการคัดเลือกและฝึกอบรมให้ทำงานร่วมกับ NHS ในสถานที่ฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ยังต้องใช้คนที่ทำงานสนับสนุนเพื่อให้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น งานสนับสนุนด้านการบริหาร โลจิสติกส์ ผู้ปฐมพยาบาล ตลอดจนผู้ที่สามารถจดบันทึกและจัดการกับสต็อกได้
แซฟรอน คอร์เดอรีย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายผู้ให้บริการของ NHS กล่าวว่า เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครได้ทำงานที่ “เหลือเชื่อ” และว่า “มันเป็นความสำเร็จที่น่าอัศจรรย์ที่ตอนนี้ครึ่งหนึ่งของประชากรในสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 เข็ม”
“ในเวลาไม่ถึง 5 เดือน เจ้าหน้าที่แถวหน้าของ NHS ในความไว้วางใจและการดูแลเบื้องต้น และอาสาสมัครได้ทำงานที่น่าทึ่งจากการให้วัคซีนเข็มแรกมากกว่า 33 ล้านโดสและเข็มที่ 2 มากกว่า 11 ล้านโดส”
“เรารู้สึกขอบคุณและติดหนี้บุญคุณพวกเขา เราได้ดำเนินการขั้นตอนที่สำคัญไปแล้ว แต่ยังคงอีกยาวไกลกว่าจะไปถึงเป้าหมายต่อไปที่จะให้ผู้ใหญ่ทุกคนได้รับวัคซีนเข็มแรกภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม”
โครงการการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นการดำเนินการแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งอังกฤษจัดการกับความท้าทายนี้ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศอื่นๆ สามารถเรียนรู้จากอังกฤษได้