ThaiPublica > คอลัมน์ > การปลดคนงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสหรัฐฯ น่ากลัวหรือไม่ ?

การปลดคนงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสหรัฐฯ น่ากลัวหรือไม่ ?

10 มีนาคม 2023


ศุกพิณรัศ วงศ์สินศิริกุล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และเกริกเกียรติ พรหมมินทร์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินข่าวการปลดคนงานในสหรัฐฯ บ่อยครั้งและต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับผลประกอบการที่แย่ลง โดยตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2022 บริษัทเทคโนโลยีใหญ่หลายแห่งได้มีการปลดคนงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเดือน ม.ค. 2023 ที่ผ่านมา บริษัทกลุ่มนี้มีการปลดคนงานมากถึง 106,950 คน (รูปที่ 1) รวมถึงล่าสุด Dell Disney Yahoo Udemy และ Zoom ประกาศปลดคนงานเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร (non-farm payroll) ของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 2023 ล่าสุดกลับสูงกว่าที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์คาดมากถึงเกือบ 3 เท่า โดยพบว่าการจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้นมากถึง 517,000 คน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 7 เดือน ประกอบกับข้อมูลอัตราการว่างงานล่าสุดเดือน ม.ค. 2023 อยู่ที่ 3.4% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 53 ปี นอกจากนี้ จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานยังคงอยู่ใกล้เคียงระดับปกติก่อนโควิด จึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่า เหตุใดบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ประกาศเลิกจ้างจำนวนมาก แต่ตลาดแรงงานโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง? บทความนี้จึงพยายามไขข้อสงสัยดังกล่าว ซึ่งสามารถสรุปได้ 4 ข้อดังนี้

เหตุผลที่ 1: อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เริ่มปรับลดการจ้างงานให้เข้าสู่แนวโน้มปกติ หลังจากได้เพิ่มการจ้างงานจำนวนมากในช่วงโควิด อย่างไรก็ดี ระดับการจ้างงานในปัจจุบันยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิดมาก

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมาปี 2020-2021 มีความต้องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์ การทำงานที่บ้าน และการใช้ cloud data เป็นต้น ทำให้บริษัทเทคโนโลยีจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลาย ความต้องการใช้เทคโนโลยีจึงลดลงกลับมาเป็นปกติ (normalization) มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เทคโนโลยียังคงสูงกว่าก่อนโควิดซึ่งเป็นระดับปกติใหม่ (new normal) เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจและพฤติกรรมคนในโลกหลังโควิดเปลี่ยนไปมาก นอกจากนี้ ค่าจ้างและต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งประกาศปลดคนงานบางส่วนออกหลังจากเร่งจ้างงานไปมากก่อนหน้า แต่ที่สำคัญ คือ จำนวนคนงานในบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ยังอยู่ในแนวโน้มที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิดทั้งระดับและอัตราเพิ่ม (รูปที่ 2)

เหตุผลที่ 2: การจ้างงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการจ้างงานทั้งหมด

สัดส่วนคนงานในบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 3.2% ของการจ้างงานทั้งหมด (หรือประมาณ 4.9 ล้านคน) ดังนั้น การเคลื่อนย้ายแรงงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจึงไม่ได้กระทบต่อตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในภาพรวมมากนัก

เหตุผลที่ 3: แม้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะมีการปลดคนงานจำนวนมาก แต่ก็มีการจ้างงานใหม่ทดแทนแรงงานที่ถูกปลดไปจำนวนหนึ่ง

ในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ จะมีการปลดคนงานจำนวนมาก แต่การจ้างงานสุทธิในอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงเป็นบวก (รูปที่ 3) เนื่องจากยังมีการจ้างงานใหม่ทดแทนแรงงานที่ถูกปลดไป ทำให้จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนว่า แรงงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสามารถหางานใหม่ได้ง่าย เนื่องจากเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ม.ค. 2023 ก็ยังไม่น่ากังวลนัก แม้ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีประกาศปลดคนงานมากถึง 106,950 คน แต่การจ้างงานสุทธิในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีลดลงเพียง 5,300 คน

อย่างไรก็ดีการจ้างงานสุทธิในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในเดือน ม.ค. 2023 ที่ลดลงนี้ เป็นการปรับลดลงครั้งแรกตั้งแต่ มี.ค. 2021 ซึ่งต้องติดตามว่าในระยะต่อไปการจ้างงานสุทธิจะลดลงต่อเนื่องหรือไม่

เหตุผลที่ 4: แม้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะปลดคนงาน แต่อุตสาหกรรมอื่นๆ ยังมีความต้องการจ้างงานอยู่ สะท้อนภาพใหญ่ของตลาดแรงงานที่กำลังปรับเข้าสู่สมดุลระหว่างภาคสินค้าและบริการ

คำชี้แจง: การวิเคราะห์ต่อไปนี้ เป็นการเปรียบเทียบภาวะตลาดแรงงานในปัจจุบันกับช่วงก่อนโควิด และแนวโน้มช่วงก่อนโควิด (pre-covid trend) ซึ่งคำนวณจากข้อมูลในช่วง 2014-2019 โดยแนวโน้มช่วงก่อนโควิดนี้เป็นเพียงแนวทาง (guideline) แบบง่ายๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานในปัจจุบันอยู่ที่จุดไหน โดยสมมติให้โครงสร้างตลาดแรงงานเป็นแบบเดิมเหมือนช่วงก่อนโควิด ถึงแม้ว่าโครงสร้างตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในโลกหลังโควิดได้เปลี่ยนแปลงไปในบางมิติ เช่น การใช้เทคโนโลยี การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และรูปแบบการทำงานเป็นต้น ซึ่งจะกลายเป็นโครงสร้างในภาวะปกติใหม่ (new normal) แต่การปรับเข้าสู่โครงสร้างใหม่คาดว่าจะค่อยเป็นค่อยไปและยังไม่ต่างจากแนวโน้มเดิมนักในระยะสั้น

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดในปี 2020 สัดส่วนการอุปโภคภาคบริการต่อภาคสินค้าของสหรัฐฯ ลดลงอย่างมาก ตามรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวและกิจกรรมนอกบ้านที่ลดลง (รูปที่ 4) ซึ่งปกติสัดส่วนการอุปโภคภาคบริการต่อภาคสินค้าของสหรัฐฯ จะค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนนี้เฉลี่ยในช่วง 5 ปีก่อนโควิดอยู่ที่ 68.2% โดยในปัจจุบันการอุปโภคภาคบริการของครัวเรือนในสหรัฐฯ ยังไม่กลับเข้าใกล้ภาวะปกติ สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว และการเดินทางออกนอกบ้านยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ (รูปที่ 5) เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การค้า และการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น แต่มีแนวโน้มกลับเข้าสู่สมดุลระหว่างภาคสินค้าและบริการมากขึ้น

แนวโน้มการจ้างงานสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคบริการเช่นกัน ในปัจจุบันระดับการจ้างงานโดยรวมในสหรัฐฯ สามารถกลับขึ้นมาสูงกว่าระดับก่อนโควิดได้แล้ว (รูปที่ 6) แต่ยังต่ำกว่าระดับแนวโน้มก่อนโควิด (เส้นประสีแดงในรูปที่ 6) แม้โลกหลังโควิดจะลดสัดส่วนการพึ่งพาแรงงานเพราะมีการปรับไปใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ภาคบริการยังจำเป็นต้องใช้แรงงานเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวให้กลับไปสู่ระดับปกติใหม่ เนื่องจากกิจกรรมในภาคบริการส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labor intensive) ดังนั้น การจ้างงานในสหรัฐฯ ยังสามารถเพิ่มสูงขึ้นได้อีก โดยอุตสาหกรรมที่มียังมีระดับการจ้างงานในปัจจุบันน้อยกว่าแนวโน้มก่อนโควิด (รูปที่ 7) ได้แก่ การบริการอื่นๆ โรงแรม ร้านอาหาร การศึกษา การค้า และการบริการสุขภาพ โดยเฉพาะงานบริการในโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งคาดว่า เพราะเป็นอาชีพที่เสี่ยงสูงจากการติดเชื้อโควิด คนจึงหลีกเลี่ยงทำงานในอุตสาหกรรมนี้

โดยเราเริ่มเห็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยเฉพาะเดือน ม.ค. 2023 ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากถึง 517,000 คนนั้น หลักๆ มาจากการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 128,000 คน การบริการสุขภาพ (โดยเฉพาะงานบริการในโรงพยาบาล) 79,200 คน การศึกษา 77,800 คน และการค้า 41,400 คน เป็นต้น สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่ขยับเข้าใกล้แนวโน้มก่อนโควิดมากขึ้น แต่จะไม่กลับไปสู่โครงสร้างเดิม (new normalization)

โดยสรุป การปลดคนงานระลอกนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไม่น่ากลัว เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมยังแข็งแกร่งและยังมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น ในระยะถัดไป โครงสร้างตลาดแรงงานในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่โครงสร้างในภาวะปกติ

(normalization) มากขึ้น แม้ว่าอาจจะไม่กลับไปเหมือนโครงสร้างก่อนโควิด โดยเริ่มเห็นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการโรงแรม ร้านอาหาร การศึกษา การค้า และการบริการสุขภาพ (ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีระดับการจ้างงานในปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับแนวโน้มก่อนโควิดมาก) ขณะที่เริ่มเห็นการจ้างงานที่ลดลงบ้างในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีระดับการจ้างงานในปัจจุบันสูงกว่าระดับแนวโน้มก่อนโควิดมาก)

อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังเผชิญกับภาวะตึงตัวในบางอุตสาหกรรม เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งไม่อยากกลับไปทำงานเดิมเพราะต้องการความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลาและสถานที่มากขึ้น รวมทั้งต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการติดโรคโควิดโดยปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์บางรายมีมุมมองว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง และตึงตัวในบางอุตสาหกรรม อาจสร้างแรงผลักดันค่าจ้างและเงินเฟ้อให้ไม่สามารถปรับลดลงได้เร็ว และอาจทำให้ FED ยังคงใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย