ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > เจาะแผนผลิตกำลังคนป้อน EEC ปั้นคนอาชีวะรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี – จับคู่สถานศึกษากับเอกชนสร้าง “Partnership School”

เจาะแผนผลิตกำลังคนป้อน EEC ปั้นคนอาชีวะรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี – จับคู่สถานศึกษากับเอกชนสร้าง “Partnership School”

10 พฤศจิกายน 2018


โครงการพัฒนา EEC ช่วง 5 ปีแรก ที่มาภาพ: https://www.eeco.or.th/sites/default/files/EEC%20Information%20Board_0.pdf

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (East Economic Corridor – EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งการพัฒนาพื้นที่โดยในระยะแรกเน้นไปที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พร้อมกับการส่งเสริม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก 5 อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

กลุ่มที่สอง 5 อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ในเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) หรือ BOI สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกซึ่งมีแผนงานการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี ได้แต่งตั้ง ดร.วัชรินทร์ ศิริพานิช อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ EEC TOP เพื่อพัฒนากำลังแรงงานที่มีคุณภาพมารองรับการลงทุนที่จะเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป

เปิดแนวคิดผลิตคนผ่าน EEC Model

ดร.วัชรินทร์ ศิริพานิช ผู้อำนวยการ EEC TOP เปิดเผยว่า การสร้างกำลังแรงงานรองรับการลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจมุ่งตอบสนองนโยบายการพัฒนา 20 กลุ่มอุตสาหกรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 5 กลุ่มเดิมและ 5 กลุ่มใหม่หรือ new S-Curve โดยแบ่งการสร้างคนเป็น 2 ระดับ คือ ระดับอาชีวะใช้รูปแบบสัตหีบโมเดล ส่วนระดับมหาวิทยาลัยใช้สูตร 2+2 ซึ่ง 2 ตัวแรกหมายถึงเมื่อเรียนจบอาชีวะประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้วมาเรียนต่อประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) และ 2 ตัวหลังคือการมาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลังจากจบระดับ ปวส.

ในส่วนของมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับอาชีวะเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีระยะสั้นให้กับกลุ่มนักศึกษาที่จบระดับปริญญาตรีร่วม 4 แสนกว่าคนแต่ยังไม่มีงานทำ เพื่อให้เข้าสู่ระบบอาชีพของอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC การเสริมความรู้ใช้เวลา 3-6 เดือนเรียนเป็น Module

นอกจากจัดการศึกษาระบบปกติและการฝึกอบรมระยะสั้นแล้ว ยังได้ดำเนินการอีกด้านหนึ่งควบคู่กันไปด้วย คือ การเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับคนงานในสถานประกอบการ เพราะในระยะต่อไปภาคอุตสาหกรรมจะก้าวสู่ยุค 4.0 ฉะนั้นต้องสร้างคนรับระบบ 4.0 เช่น ความรู้ด้านระบบ Automation

ดร.วัชรินทร์กล่าวว่า การสร้างคนในระดับอาชีวะศึกษารองรับ EEC ได้ยึดการพัฒนาตามสัตหีบโมเดล ซึ่งเป็นการจัดการอาชีวศึกษารูปแบบหนึ่ง ที่ได้ริเริ่มใช้กับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเป็นที่แรกและที่เดียวเมื่อหลายปีก่อน เพื่อพัฒนาแรงงานป้อนให้กับสถานประกอบการในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมชลบุรี ระยอง และในปีหน้าจะขยายสัตหีบโมเดลไปสู่สถานศึกษาในภาคอื่นของประเทศมากขึ้น

สัตหีบโมเดลเป็นโครงการสร้างคนให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยมีสถานประกอบการที่รู้ความต้องการกำลังคนของตนเองเข้ามาเป็นภาคีในการจัดการการศึกษา ตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร กำหนดวิชาที่ต้องเรียน วิชาที่ไม่เรียน รวมทั้งจัดให้มีการสอนในสถานประกอบการด้วย เพื่อให้เด็กใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่โรงงานเป็น

บริษัทที่เข้าร่วมโครงการสัตหีบโมเดลจะรับเด็กเข้าไปทำงานก่อนเริ่มเรียน โดยคัดเลือกเด็กด้วยการสอบข้อเขียนสอบสัมภาษณ์ เด็กที่ผ่านการคัดเลือกถือเป็นพนักงานของโรงงาน แต่ฝากเรียนกับวิทยาลัย เด็กที่จะเข้าโครงการสัตหีบโมเดลต้องมีคะแนนเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป

ดร.วัชรินทร์ ศิริพานิช ผู้อำนวยการ EEC TOP

สัตหีบโมเดลมี 3 แผนการเรียน แผนแรกระยะยาวเรียน 5 ปี หรือ L-Plan รับเด็กจากมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าเรียนระดับ ปวช. จนจบระดับ ปวส. ซึ่งใน 5 ปีนี้เด็กจะต้องเรียนที่วิทยาลัยกับสถานประกอบการอย่างละครึ่งหนึ่ง

แผนที่สอง M-Plan เรียน 3 ปี นำเด็ก ปวช. ปีที่ 3 เข้าโครงการ เรียนต่อ ปวส. อีก 2 ปี จึงเรียนที่วิทยาลัย 1.5 ปี และฝึกที่โรงงาน 1.5 ปี ส่วนแผนที่สาม S-Plan เป็นระยะเร่งด่วน เด็กจบ ปวช. มาเรียนต่อ ปวส. 2 ปี เรียนที่วิทยาลัย 1 ปี และอยู่ที่โรงงาน 1 ปี แต่ไม่ได้จำกัดรูปแบบไว้ตายตัว

  • “ดร.วัชรินทร์ ศิริพานิช” อาชีวะต้นแบบ “สัตหีบโมเดล” สร้างคน “made to order” ยกระดับสู่ EEC Model
  • เพื่อให้การพัฒนากำลังคนมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เนื่องจากจะนำไปใช้กับสถานศึกษาอื่นที่เป็นภาคเครือข่ายด้วย EEC TOP จึงได้ยกระดับสัตหีบโมเดลขึ้นเป็น EEC Model

    EEC โมเดล มี 3 องค์ประกอบ คือ 1) อบรมครูผู้สอน มีหลายโครงการที่จะอบอรม และมีความร่วมมือกับเครือข่ายจำนวนมาก 2) Certify การรับมาตรฐาน เด็กที่จะจบการโครงการนี้ต้องสอนให้ได้มาตรฐาน โดย EEC TOP จะเป็นผู้รับรองมาตรฐาน และ 3) ร่วมมือกับบีโอไอ ที่จะสนับสนุนสถานประกอบการเข้ามา รวมทั้งจะช่วยในการจับคู่สถานศึกษากับสถานประกอบการ

    การพัฒนาครูอาจารย์สายสามัญมุ่งให้ตอบรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC โดยแบ่งการดำเนินการเป็นระยะๆ เช่น ส่งไปเรียนต่อ จัดอบรมเรื่องใหม่ซึ่งมีทั้ง EEC TOP ดำเนินการเองและร่วมกับบริษัทต่างประเทศ ซึ่งด้านการพัฒนาครูได้ร่วมกับสถาบัน KENAN แห่งเอเชีย ซึ่งตั้ง EEC Hub ที่ชลบุรี พัฒนาด้าน STEM (Science, Technology, Engineering Mathematics) เป็นระยะแรก เพื่อให้คิดเป็นสร้างสรรค์ได้ STEM เป็นการพัฒนาการเรียนการสอนของครู ระยะต่อไปจะนำ STEM เข้ามาสอนในสายอาชีพ และมีวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเป็นศูนย์ที่ร่วมมือกับ KENAN ด้านอาชีวะ

    รวมไปถึงการพัฒนาครูอาจารย์ด้าน Robotic โดยขณะนี้ได้หารือกับบริษัทมิตซูบิชิที่กำลังจัดตั้งโรงงาน e-factory ใช้หุ่นยนต์ทำงาน เพราะเชื่อว่าในอีก 5 ปีหุ่นยนต์และเทคโนโลยี AI จะเข้ามาแทนแรงงานมากขึ้น

    EEC TOP วางแผนว่า ต่อไปครูผู้สอนจะไม่ได้ทำหน้าที่สอนในสถานศึกษาอย่างเดียว แต่จะต้องไปทำงานในโรงงานด้วย เพื่อได้พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี ซึ่งวางแผนว่าจะตั้งโรงซ่อมอากาศยาน 1 โรงที่อู่ตะเภา เพื่อให้ครูอาจารย์นำเด็กไปฝึกได้ ขณะนี้มีอาจารย์ที่มีความรู้ด้านนี้และผ่านการรับรองจาก EASA เข้าร่วมโครงการด้วย

    “เงินเดือนอาชีพรับซ่อมเครื่องบินเดือนละ 3 แสน แต่อาจารย์ได้เงินเดือน 5 หมื่น ดังนั้น อาจารย์ที่เข้าโครงการสามารถรับงานซ่อมเป็นชิ้นงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และสามารถนำเด็กไปฝึกที่โรงซ่อมได้เขาถึงจะอยู่ได้ และสิ้นปีจะได้รับโบนัสอีกด้วย ถ้าให้เขาสอนอย่างเดียว การสร้างคนตามไม่ทันเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว เครื่องบินก็เปลี่ยนเร็ว”

    ด้านการซ่อมอากาศยาน ขณะนี้มีสถานศึกษาบางแห่งจัดให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการซ่อมเครื่องบิน และมีบางสายการบินก็ต้องการคน EEC TOP ก็ได้ทำหน้าที่จับคู่ให้

    นอกจากนี้มีกลุ่ม SCG ที่ต้องการกำลังคนในสาขาแมคคาทรอนิกส์ EEC TOP ก็จับคู่สถานศึกษาให้ ขณะนี้มีบริษัทที่ร่วมมือกันราว 60 บริษัท และกำลังจะมีบริษัทด้านการเกษตรเข้ามา รวมไปถึงบริษัทที่กำลังจะลงทุนด้านอาหารแช่แข็งก็แจ้งความประสงค์ว่าต้องการกำลังคน

    “โมเดลนี้ต้องทำกับสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงอุดมศึกษา ขณะเดียวกันต้องดูว่า เด็กที่จบมาแล้วตกงานให้มีอาชีพ topup เป็น module แต่ร่วมสร้างหลักสูตรกับสถานการณ์ประกอบการ และสถานศึกษา เช่น ด้านพาณิชย์นาวี ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และหน่วยงานรัฐ มาดูแลมาตรฐาน ต้องสร้างกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการให้ได้”

    จับมือ 12 สถานศึกษาเครือข่าย

    EEC TOP ไม่ได้ทำทุกเรื่องแต่อาศัยเครือข่ายที่เป็นสถานศึกษา ขณะนี้นำร่องกับ 12 สถานศึกษาที่สังกัดระบบราชการ และมีภาคเอกชนเข้าร่วมอีกส่วนหนึ่ง แต่เครือข่าย 12 สถานศึกษาปัจจุบันผลิตคนไม่พอต่อความต้องการ เพราะแต่ละสาขาแต่ละอาชีพมีความต้องการแรงงานแต่ละปีในระดับไม่ต่ำกว่าหมื่นคน ในอนาคตก็ต้องขยายไปสถานศึกษาในภาคอื่นของประเทศเพื่อสร้างคนเข้าสู่ EEC

    ดร.วัชรินทร์กล่าวถึง การขยายการผลิตกำลังคนออกไปยังสถานศึกษาอื่นนอกพื้นที่ EEC ว่า ปัจจุบันวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศมีกว่า 900 แห่ง แต่แรงงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ EEC มาจากทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 70-80% ดังนั้นการฝึกคนก็ต้องใช้สถานศึกษาในพื้นที่ภาคอีสานผลิตกำลังคนให้ ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานศึกษามีความชำนาญด้านใด ตอนนี้ EEC TOP วางแผนขยายไปยังภาคอีสานและภาคเหนือ

    “หน้าที่เราคือไปนำสถานประกอบการไปยังพื้นที่นั้น เช่น อาชีวะที่บุรีรัมย์เก่งเรื่องหุ่นยนต์ เราก็ต้องเอาบริษัทไปที่นั่น ไปสอน ส่วนวิธีการก็กำหนดได้ตามความเหมาะสม วิศวกรบริษัทอาจจะสอนที่นั่น 1 เดือน หรือ 3 เดือน เด็กก็ต้องไม่ขาดเรียนเลย หลังจากนั้นเด็กก็มาทำงานที่พื้นที่ EEC แต่หากสถานประกอบการไหนไม่สามารถส่งคนไปได้ ก็ให้ครูอาจารย์เดินทางมาฝึกที่โรงงานแทน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้นำเด็กจากอาชีวะในภาคอีสานมาฝึกงานกับโรงแรมที่พัทยา”

    EEC TOP ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ทั้งจากสถานประกอบการและสถาน ศึกษา แต่ด้านใดที่ไม่มีสถานประกอบการที่สนใจ หรือสถานศึกษาที่ไม่ได้มีการเรียนการสอน EEC TOP จะรับผิดชอบเอง เช่น ด้านอากาศยาน ต้องทำเอง อาจจะมีพันธมิตรร่วม คาดว่าเวลาอีก 1 ปี แผนทุกอย่างจะเสร็จ รวมทั้งกำลังปรับปรุงหลักสูตรพัฒนาแรงงานร่วมกับศูนย์พัฒนาแรงงานชลบุรี และได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ

    EEC มีข้อมูลความต้องการของสถานประกอบการ สามารถผลิตกำลังแรงงานรองรับได้ทันที เช่น ด้านอากาศยาน ไม่ได้มีความต้องการช่างซ่อมเพียงอย่างเดียว แต่มีด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ช่างทั่วไปที่ทำหน้าที่เป็นลูกมือช่างที่เชี่ยวชาญ และยังมีข้อมูลสถานศึกษา จึงสามารถจับคู่สถานประกอบการให้ตรงกับสถานศึกษาได้

    การสร้างคนให้รองรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ต้องดำเนินการอีกมาก โดยในเดือนหน้าจะมีการเปิดสอนด้านการเดินรถไฟความเร็วสูงที่จะเดินรถในอีก 3 ปีข้างหน้า การสร้างคนต้องเริ่มทันที เพราะต่อไปไทยต้องซ่อมรถไฟความเร็วสูงได้

    ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมเหล่านี้จะขยายตัวมากขึ้น คนไทยจะต้องพัฒนาตัวเองในอาชีพเหล่านี้ให้ได้ ให้ทำงานด้านเทคโนโลยีให้ได้ นี่คือเรื่องใหญ่ของประเทศ ต้องสร้างทักษะใหม่ให้ได้ แม้แต่ด้านภาษาก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา เพราะต่อไปสนามบินอู่ตะเภาเปิดใช้งานเต็มที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางปีละ 60 ล้านคน ต้องสร้างคนรองรับ เฉพาะสนามบินอู่ตะเภาการสร้างคนก็เป็นเรื่องใหญ่ อุตสาหกรรมการซ่อมเครื่องบินไทยมีคนน้อยมาก

    ส่วนการพัฒนาการท่องเที่ยวแนวใหม่มีสถานประกอบการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมให้ ตลอดจนการพัฒนาคนด้านพาณิชย์นาวีให้มากขึ้น เพราะด้านนี้ยังต้องการกำลังคนจำนวนมาก ต่อไปเมื่อมีการเปิดใช้งานท่าเรือ ซึ่งเป็นท่าเรือที่รองรับทั้งด้านการท่องเที่ยวการขนส่งสินค้า ต้องพัฒนาคนให้ทัน

    ขณะนี้เด็กเข้าโครงการ EEC Model ระยะแรกแล้ว 1,000 คน และคาดว่าปีการศึกษาหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 3,000 คน ขณะนี้มีการร่วมมือกับทั้งสถานศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน เพราะ EEC TOP เปิดกว้างในการพัฒนาคน

    ความร่วมมือกับสถานศึกษานี้ยังครอบคลุมไปถึงการเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีระยะสั้นให้กับกลุ่มนักศึกษาที่จบระดับปริญญาตรีร่วม 4 แสนกว่าคนแต่ยังไม่มีงานทำ โดยขณะนี้กำลังจัดทำหลักสูตรการอบรมเป็นโมดูลให้สอดคล้องกับการพัฒนาในโครงการสำคัญ เช่น ด้านพาณิชย์นาวี ที่กำลังหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตร วิทยาเขตศรีราชา และมีหน่วยงานรัฐมาดูแลมาตรฐาน

    ตั้ง Partnership School พัฒนาเกษตรใหม่กับกลุ่มซีพี

    EEC TOP ได้กำหนดให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี เป็นที่ตั้งศูนย์รับรองมาตรฐาน ศูนย์ฝึกอบรมและการเรียนรู้เทคโนโลยี AI และ Robotic ครบวงจร และให้วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยี

    นายกฤชพนธ์ ท่าม่วง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มซีพีในการลงทุนโครงการด้านชีวภาพ เช่น ไบโอเทคโนโลยี การเกษตรเทคโนโลยี เกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเชิงสุขภาพ ซึ่งตรงกับที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรีได้มีการเรียนการสอนอยู่แล้ว แต่เครื่องมืออุปกรณ์มีไม่มากและไม่ทันสมัยเท่ากับของเอกชน

    นายกฤชพนธ์ ท่าม่วง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี

    ความร่วมมือกับซีพีอยู่ในรูปประชารัฐภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาเกษตรสมัยใหม่ มีหุ่นยนต์และแขนกลมาใช้ รวมทั้งการเกษตรชีวภาพ ในลักษณะ Partnership School ที่เปิดให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการบริหาร บริษัทต้องการให้โรงเรียนเป็นแบบไหน ผลิตคนแบบไหน บริษัทเข้ามาลงทุนให้

    Partnership School ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรีจะเป็นโรงเรียนนำร่อง ด้วยความร่วมมือของเครือซีพี โดยทรูจะเข้ามาตั้งศูนย์เทคโนโลยีด้าน AI ทั้งหมด เพื่อให้การเกษตรที่นี่พัฒนาเป็นเกษตรอุตสาหกรรม การเกษตรเชิงท่องเที่ยว และการเกษตรชีวภาพ และจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร โซนที่เกี่ยวกับการเกษตรจะเป็นเกษตรสุขภาพและชีวภาพ

    “ตอนนี้ Partnership School เริ่มแล้ว คิดว่าภายใน 2 ปีจะต้องเสร็จ จะได้เห็นเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นต้นแบบของการผลิต และเปิดกว้างรับผู้ที่สนใจมาเข้ารับการอบรมไม่ว่าจะเป็นเกษตร หรือประชาชนทั่วไป หรือนักเรียน ผู้ที่สนใจการแปรรูปอาหาร ก็เข้ามาได้ ซึ่งการอบรมมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว เลือกได้ตามความต้องการและความสนใจ”

    วิธีการพัฒนาที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรีเน้นเชิงชีวภาพและสุขภาพ ต่างจากวิทยาลัย เทคนิคสัตหีบที่เน้นเทคโนโลยีเพราะเป็นการพัฒนาศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้ EEC TOP ที่เป็นศูนย์พัฒนาผลิตกำลังคนครอบคลุมทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรม

    “เทคนิตสัตหีบ” ต้นแบบป้อนคนอาชีวะสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี

    สำหรับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบซึ่งรับผิดชอบด้านการพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยี ดร.วัชรินทร์เล่าว่า วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบก่อตั้งตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐออสเตรีย โดยรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐออสเตรียให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เครื่องจักร เครื่องมือ และคณะผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการติดตั้งการทำงานของเครื่องจักรกล และการฝึกอบรมนักเรียน นักศึกษา ส่วนรัฐบาลไทยเป็นผู้จัดหาที่ดินทำการก่อสร้างอาคารเรียน โรงฝึกงาน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ

    ในช่วงแรก วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบจัดตั้งขึ้นในสถานะโรงเรียนเทคนิคสัตหีบ (ทส.) และใช้ชื่อภาษา อังกฤษ ว่า THAI-AUSTRIAN TECHNICAL ต่อมาได้ยกระดับเป็นวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในปีการศึกษา 2539 วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ได้รับเลือกให้เป็นสถานศึกษาดีเด่น ปี พ.ศ. 2548 ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานศึกษาที่ทำหน้าที่ในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายอาชีวศึกษานานาชาติของภาคตะวันออก และปีเดียวกันได้รับยกย่องให้เป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาต้นแบบ (Super Model) แห่งเดียว ประเภทวิทยาลัยเทคนิค ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ปัจจุบันวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบติดอันดับ 1 ใน 5 ของอาชีวศึกษาทั่วประเทศ

    ดร.วัชรินทร์กล่าวว่า ไม่ได้กังวลว่าภาพลักษณ์เด็กอาชีวะที่มักจะทำร้ายกันระหว่างสถาบันจะมีผลต่อการพัฒนากำลังคนรองรับ EEC เนื่องจากเด็กอาชีวะที่ตีกันอยู่ในกรุงเทพมหานคร และมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับอาชีวะทั่วประเทศ

    “เด็กเทคนิคสัตหีบไปแข่งงานกลึงได้ที่ 1 ระดับโลก ตอนนี้เด็กคนนี้เงินเดือนเป็นแสน และที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ในช่วงที่ผมทำหน้าที่ผู้อำนวยการ ผมกำหนดระเบียบชัดเจน ใครตีกันผมไล่ออก และกำหนดว่าต้องเรียนให้ได้เกรด 2.5 ขึ้นไปถึงจะเข้าโครงการสัตหีบโมเดลได้ และต้องสอบข้อเขียน สอบปฏิบัติ สอบสัมภาษณ์ หากบริษัทมารับที่โรงเรียนก็ต้องสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ตามที่บริษัทกำหนด” ดร.วัชรินทร์กล่าว

    วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบห่างจากตัวอำเภอ 20 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 80 กิโลเมตร แต่มีเด็กมาเรียนถึงกว่า 6,000 คน ปัจจุบันเปิดสอน 30 สาขาวิชา โดยเป็น 20 สาขาวิชาเดิม และสาขาวิชาเฉพาะทางอีก 10 สาขา เช่น ช่างเขียนแบบเครื่องกล ช่างเครื่องมือวัดฯ ช่างแมคคาทรอนิกส์ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างกลโรงงาน ช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อมโลหะ การโรงแรม คณะวิชาสามัญ แผนกวิชาพื้นฐาน เทคโนโลยีพื้นฐาน คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และแผนกการบัญชี

    ดร.วัชรินทร์กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวะหากได้รับความร่วมมือจากเอกชนก็จะทำให้การเรียนการสอนสร้างเด็กที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยขณะนี้มีการผลิตเด็กสายช่างกลมากที่สุด ร่วม 1,000 คน

    สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้มีโอกาสเยี่ยมชมการเรียนการสอนที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สาขาวิชาแรก คือ แผนกแมคคาทรอนิกส์ ขณะที่นักศึกษา 2 กลุ่มที่ฝึกงานกับบริษัท SCG และ BMW กำลังเรียนภาค ปฏิบัติกับหุ่นยนต์แขนกล

    นายสมบัติ อินยิน หัวหน้าแผนกแมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเปิดเผยว่า สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์เปิดการสอนมา 15 ปีแล้ว แต่เริ่มได้รับความนิยมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูง ขณะนี้มีเด็กเรียนทั้งระดับ ปวช. และ ปวส. จำนวน 150 คน ต้องเรียนรวมกันในห้องปฏิบัติการเดียวกันเพราะเป็นวิชาเดียวกัน ประกอบกับวิทยาลัยมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และงบประมาณ ส่วนการทำงานร่วมกับบริษัทนั้นได้ร่วมกันหารือแผนการฝึกเด็ก เนื่องจากเด็กจะใช้เวลาเรียนเป็นส่วนใหญ่ และฝึก 1 ภาคเรียน ยกเว้นการฝึกวิชาชีพที่ใช้เวลา 1 ปี

    นายสมบัติ อินยิน หัวหน้าแผนกแมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ

    “เราเน้นการให้เด็กมีประสบการณ์เสริมจากการเรียนปกติ และมาตรฐานการฝึกวิชาชีพของบริษัทที่นำมาใช้กับเด็กเราก็เท่าเทียมกับระดับสากล เพราะเป็นมาตรฐานที่ใช้กับทุกประเทศที่บริษัทมีธุรกิจ อย่างเช่น BMW เมื่อเด็กจบก็จะได้ใบรับรอง ส่วน SCG ก็มีการฝึกเด็กผ่าน SCG Model School มานานแล้วมีมาตรฐานสูง”

    นายสุทธิพงษ์ เสรีศรีสง่า นักศึกษาระดับชั้น ปวส. ปี 2 เปิดเผยว่า ได้เข้าโครงการสัตหีบโมเดลมา 2 ปีแล้ว เป็นการเรียนในวิทยาลัย 1 ปี ฝึกงาน 1 ปี ขณะนี้กำลังฝึกงานแผนพลาสติกมาได้ 6 เดือนแล้วกับกลุ่มบริษัท SCG ได้เรียนรู้การหลอมท่อพลาสติก โดยนำเม็ดพลาสติกจากเครือ SCG มาหลอมและส่งเข้าโรงงาน ซึ่งที่โรงงานได้มีโอกาสทำงานกับหุ่นยนต์

    “ผมเลือกมาเรียนอาชีวะ เพราะผมไม่อยากเรียนสายสามัญ ม.4-ม.6 รู้สึกว่าชีวิตติดลูปเกินไป มีวิทย์ คณิต สอบและเข้ามหาวิทยาลัย รู้สึกว่าไม่ใช่ผม ผมก็เลยมาเรียนที่นี่หลังจบ ม.3 และผมชอบเพราะเจอวิชาใหม่ ไม่ต้องเรียนวิชาแคลคูลัส แต่ได้เรียนวิชาแขนกล ถ้าเรียนมหาวิทยาลัยผมก็จะไม่รู้เลยว่าแขนกลทำอะไร ได้ลงมือทำ เรียนสายสามัญได้แต่ทฤษฎี แต่ที่นี่ได้ทั้งทฤษฎีและเรียนของจริง รวมทั้งการเข้าโครงการฝึกงานได้เงินก็ช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านด้วย” นายสุทธิพงษ์กล่าว

    นายสุทธิพงษ์ เสรีศรีสง่า นักศึกษาระดับชั้น ปวส. ปี 2

    นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า การได้เรียนแขนกลก็ดีใจ เพราะไม่ใช่ทุกที่จะมีการสอน เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และตรงกับสิ่งที่ผมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ เพราะมีการใช้เทคโนโลยี ใช้คอมพิวเตอร์สั่งงาน

    การเรียนอาชีวะ ก็ทำให้เราเดินหน้าได้เพราะได้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ จึงไม่รู้สึกว่าขาดอะไรไป เรียนทฤษฎีไปด้วยปฏิบัติไปด้วย ทำให้มีความเข้าใจมากกว่า ส่วนการที่มองภาพลักษณ์เด็กอาชีวะไม่ดี ส่วนตัวไม่มีความรู้สึกอะไร แต่คิดว่าเป็นความคิดของคนรุ่นเก่า หลังจบ ปวส. จะได้ใบรับรองจาก SCG ซึ่งมีโอกาสที่จะได้ทำงานกับ SCG มาก

    นายพีรพัฒน์ ศรีเลิศ เข้าโครงการสัตหีบโมเดลกับ BMW เปิดเผยว่า การเลือกฝึกงานกับบริษัท BMW เพราะต้องการมีประสบการณ์กับบริษัทชั้นนำของโลก เมื่อมีโอกาสก็ต้องเข้าร่วม ประกอบกับเรียนได้เกรด 2.7 โดยจะต้องเรียนที่วิทยาลัย 3 เดือนและฝึกงาน 3 เดือน

    นายพีรพัฒน์ ศรีเลิศ นักเรียนโครงการสัตหีบโมเดล

    “ผมตั้งใจมาเรียนอาชีวะ เพราะอยากรู้ว่าเครื่องจักรเครื่องกล หุ่นยนต์ทำงานอย่างไร และสนุกกว่าสายสามัญเพราะเรียนทฤษฎีก็จริงแต่ได้เรียนปฏิบัติด้วย เจอในสิ่งที่เราสามารถจับต้องได้จริง และที่เลือกมาเรียนวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเพราะมีชื่อเสียง แม้จะไกลบ้านบ้าง”

    นายพีรพัฒน์กล่าวว่า ครอบครัวสนับสนุนให้เรียนอาชีวะเพราะฝึกงานก็ได้เงิน เรียนจบแล้วก็ยังได้ทำงานกับบริษัทอีก แต่บริษัทให้เลือกได้ว่าจะเรียนต่อหรือทำงานกับบริษัท ซึ่งการฝึกงานกับบริษัทจะได้ใบรับรอง การเรียนอาชีวะจบมามีงานทำแน่นอน เด็กที่จบมีความรู้ในด้านช่าง

    สำหรับสาขาวิชาที่สองที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้เยี่ยมชมคือแผนกเทคนิคการผลิต ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Siemens ในการดัดแปลงเครื่องมืออุปกรณ์ให้

    แผนกเทคนิคการผลิตมี 2 แห่งในประเทศ คือ วิทยาลัยเทคนิคโคราชกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เด็กจะต้องเข้ามาเรียนด้านนี้ก่อน เด็กจะเข้าใจการผลิตได้ต้องเข้าใจโปรแกรมก่อน เพราะแผนกนี้เป็นการย่อโรงงานมาให้เด็กได้เรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของเทคนิคการผลิตทั้งหมด โดยเริ่มจากคลังสินค้าไปสู่การผลิต เด็กที่เรียนจะต้องเรียนการเขียนโปรแกรมพื้นฐาน และสามารถต่อยอดการเรียนการทำงานได้ง่ายขึ้น แผนกนี้มีเครื่องมือการผลิตครบทุกด้าน มีหลากหลาย ทำให้เด็กได้เรียนรู้หลายด้าน และเด็กต้องสอบปฏิบัติกับการใช้เครื่องจริงตามขั้นตอนที่กำหนด จากนั้นมีการสอบการทำชิ้นงาน

    บรรยากาศการเรียนการสอนที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ