ThaiPublica > เกาะกระแส > เวที “อยู่รอด และยั่งยืนหลังโควิด” (ตอนจบ) : ‘วิรไท สันติประภพ’ แนะร่วมสร้างภูมิคุ้มกันฐานรากรับวิกฤติที่ยั่งยืน

เวที “อยู่รอด และยั่งยืนหลังโควิด” (ตอนจบ) : ‘วิรไท สันติประภพ’ แนะร่วมสร้างภูมิคุ้มกันฐานรากรับวิกฤติที่ยั่งยืน

16 มกราคม 2022


(ซ้าย) ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ (ขวา) ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ

ต่อจากตอนที่ 1เวที “อยู่รอด และยั่งยืนหลังโควิด” (ตอนที่ 1) โควิด-19 เปลี่ยนชีวิต “งานใหม่ ชีวิตใหม่ ในโลกใหม่”

12 มกราคม 2565 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “อยู่รอด และยั่งยืน หลังโควิด” สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทย และเป็นแนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างฐานราก สร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนอยู่อย่างยั่งยืน รับมือกับโลกที่ซับซ้อนตามบริบทของพื้นที่ โดยมีดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุยกับศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ

ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “อยู่รอด และยั่งยืน หลังโควิด” ภายใต้หัวข้อ “ใครจะอยู่รอดในสังคม แล้วจะอยู่รอดอย่างไรที่ยั่งยืน” ว่า ประเทศไทยเคยเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 จนกระทั่งวิกฤติล่าสุดคือโควิด-19 โดยวิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความผันผวนทางด้านการเงิน โลกข้างหน้าจะเผชิญกับความผันผวนสูง

“เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการอยู่รอดคือความสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในลักษณะเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง และมีการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการรับมือความผันผวนในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายระดับ”

ดร.วิรไท กล่าวต่อว่า วิกฤติโควิดในครั้งนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยหลายล้านคนจากในเมืองกลับสู่ชนบทเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะแรงงานจากภาคบริการ เหตุการณ์เช่นนี้ตรงกันข้ามกับช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 ที่เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานจากชนบทเข้าเมืองจำนวนมาก ทำให้ภาคชนบทอ่อนแอเนื่องจากมีเพียงแรงงานผู้สูงอายุและเด็ก ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้รายสูงระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง

ดร.วิรไท มองว่าโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้แรงงานเหล่านี้อยู่ในชนบทได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกลไกด้านการเปลี่ยนแปลง สร้างพลังและความเข้มแข็งให้สังคมในชนบท และต้องเข้าใจปัญหาสังคมชนบทไทยซึ่งเป็นสังคมโหว่กลาง กล่าวคือมีปู่ย่าตายายและเด็ก ส่วนพ่อแม่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

ดังนั้น ภาครัฐควรให้โอกาสสร้างความเข้มแข็งให้ชนบท โดยหาทางสนับสนุนให้แรงงานที่เคลื่อนย้ายกลับสู่ชนบทจากผลกระทบของวิกฤติโควิดในครั้งนี้ ให้สามารถคงอยู่ในชนบทได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน เพราะแรงงานที่กลับไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ และรู้จักใช้เทคโนโลยี

ทั้งนี้ ดร.วิรไท มองว่าประเทศไทยสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ชนบทได้ ด้วยการให้ความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น โดยการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐในส่วนท้องถิ่นในการทำงานพัฒนา โดยคำนึงถึงบริบทในเชิงพื้นที่และควรเป็นการพัฒนาทั้งภาคการเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมควบคู่กันไปอย่างเกื้อหนุนกัน และรัฐท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระ ควรร่วมกันทำงานเพื่อสนับสนุนให้แรงงานที่กลับไปยังชนบทเป็น change agent ที่จะช่วยสร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้ประเทศได้ในอนาคต

“ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีการศึกษาที่เหมาะสมในภาวะวิกฤติและในอนาคต เพราะประชาชนต้องการการ reskill และ upskill ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป รัฐควรช่วย “อำนวยให้ประชาชนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต”

อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงงานจำนวนมากที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ทำให้ภาครัฐต้องเข้ามา ‘เยียวยา’ ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญในช่วงแรกของวิกฤติ ทว่าเมื่อวิกฤติดำเนินมาต่อเนื่องแล้วยังต้องเยียวยาแบบเดิมๆ เท่ากับว่านโยบายนั้นอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ตัวอย่างโครงการปิดทองหลังพระ โดยการร่วมมือกับท้องถิ่นและชุมชนเพื่อแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ ช่วยชุมชนให้อยู่อย่างยั่งยืน

ดร.วิรไท กล่าวต่อว่า ประชาชนไทยควรเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) จากความคิดพึ่งพาภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว เช่น การเยียวยาจากภาครัฐในวิกฤติโควิดเป็นสิ่งสำคัญในช่วงแรก ๆ ทว่าอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสมเมื่อวิกฤติดังกล่าวผ่านมาถึง 2 ปีแล้ว ทั้งนี้ รัฐสามารถสนับสนุนให้ประชาชนเริ่มพึ่งตนเองได้ด้วยการเน้นการกระจายอำนาจและให้อำนาจในการตัดสินใจไปอยู่ในมือของท้องถิ่น ประชาชน มากขึ้น

“แต่การช่วยเหลือไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ไม่ควรเป็นแนวคิดแบบรวมศูนย์หรือสั่งจากศูนย์กลาง หากสิ่งสำคัญคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจ เพราะท้องถิ่นเป็นผู้เข้าใจบริบทเชิงพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรที่ถูกกำหนดนโยบายโดยภาครัฐ จึงไม่ตอบโจทย์การพัฒนาทั้งด้านแรงงานและผลผลิต กลายเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง”

ดร.วิรไท ยกตัวอย่างเรื่องพืชสมุนไพรที่เป็นที่นิยมในวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยา-สมุนไพรหลายชนิดก็มีอยู่ในประเทศไทย ความท้าทายของภาครัฐคือทำอย่างให้เกษตรกรที่สนใจปลูกพืชเหล่านี้สามารถปลูกได้เร็ว มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงได้เหมาะสม ดังนั้นต้องให้น้ำหนักกับการพัฒนาท้องถิ่นในบริบทที่แตกต่างกันมากกว่านโยบายรวมศูนย์

“การจะสร้างอำนาจให้ท้องถิ่นได้ ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่กระบวนการตัดสินใจ งบประมาณ กระบวนการออกใบอนุญาตต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรทั่วประเทศสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว”

ดร.วิรไท กล่าวต่อว่า จากการที่ตนทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ใดที่ประชาชนมีความเข้มแข็งก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนา และหากได้รับการสนับสนุนที่ตรงจุด ตรงตามความต้องการของพื้นที่ โดยเฉพาะจากภาครัฐในระดับท้องถิ่น ก็จะทำให้การพัฒนานั้นสำเร็จลุล่วง

ดร.วิรไท ยังกล่าวถึงประเด็นฐานะการคลังของรัฐที่อ่อนแอลงมาก แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีวิกฤติการคลังเหมือนกับหลายประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานะการคลังประเทศไทยอ่อนแอลง นี่เป็นคำถามที่ภาครัฐต้องคิดต่อว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจของคนตัวเล็กตัวน้อยสามารถพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน

ท้ายที่สุด ดร.วิรไท มองว่า ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤติต่างๆ มาได้ในอดีตจากการน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องความพอเพียงที่มีหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล การมีภูมิคุ้มกัน และการตั้งอยู่บนฐานของคุณธรรม มีความอดทน มีวิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์ และการมีความรู้ และวิกฤติโควิดในครั้งนี้ทำให้ประชาชนไทยเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นถึงความสำคัญของการ “สร้างภูมิคุ้มกัน” เพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางโลกใหม่ที่มีความผันผวนสูง