ThaiPublica > คอลัมน์ > ค่าแรงขั้นต่ำ: โจทย์ที่ต้องตั้งใหม่

ค่าแรงขั้นต่ำ: โจทย์ที่ต้องตั้งใหม่

30 ตุลาคม 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

SWEATSHOP: Dead Cheap Fashion

SWEATSHOP: Dead Cheap Fashion เป็นรายการเรียลลิตี้ขนาด 5 ตอน ความยาวตอนละประมาณ 10 นาที เผยแพร่บนเว็บไซต์ Aftenposten aptv.no ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายการโทรทัศน์ออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ Aftenposten ในประเทศนอร์เวย์

เนื้อหาของรายการ SWEATSHOP: Dead Cheap Fashion เป็นการพาวัยรุ่นหนุ่มสาวชาวนอร์เวย์ผู้ชื่นชอบการซื้อเสื้อผ้า 3 คน คือ ฟรีดา (Frida), แอนนิเคน (Anniken) และลุดวิก (Ludwig) ไปพบเจอกับ “ชีวิต” ของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศกัมพูชา (ที่เราเรียกกันติดปากว่าเขมร) โดยทั้งสามจะต้องกินอย่างเขา อยู่อย่างเขา ทำงานอย่างเขา และได้ค่าแรงอย่างเขา

เมื่อไปถึง คืนแรก วัยรุ่นทั้งสามต้องพักที่บ้านของ “สกตี” (Sokty) สาวโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในกัมพูชาอายุ 25 ปี ผู้ต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ มีรายได้เดือนละประมาณ 4,700 บาท ใช้จ่ายค่าห้องรวมกับค่าน้ำค่าไฟประมาณเดือนละ 1,800 บาท เป็นค่าที่พักประมาณ 1,080 บาท น้ำไฟรวมกันประมาณ 720 บาท เท่ากับว่าเหลือเงินใช้ประมาณเดือนละ 2,900 บาท (ตัวเลขดังกล่าวคำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันคือประมาณ 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งตอนที่ผมได้ดูครั้งแรกนี่ ตอนนั้นยังประมาณ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตัวเลขจะดูน่ากลัวกว่านี้มาก)

“ห้องน้ำเราใหญ่กว่าบ้านเธอทั้งหลัง” แอนนิเคน หนึ่งในวัยรุ่นทั้งสามว่าอย่างนั้น

ณ ร้านเสื้อผ้าแบรนด์ดังแบรนด์หนึ่ง สกตีบอกว่าเธอเคยเย็บเสื้อแจ็กเก็ตแบบเดียวกับที่ขายในร้านนั้น (อันนี้ก็ต้องเผื่อใจไว้นะครับว่าที่เธอเคยเย็บอาจไม่ใช่ของแบรนด์นั้นก็ได้) แต่เธอไม่มีปัญญาจะซื้อมัน เพราะราคานั้นเท่ากับค่าแรงของเธอทั้งปี

ในวันต่อมา ทั้งสามต้องทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแบบที่สกตีทำ โดยได้ค่าแรงคนละประมาณ 108 บาท และวันต่อไป แม้จะได้นอนในโรงแรม แต่เพื่อความสมจริงในการเข้าถึงชีวิตของแรงงานที่ได้รับค่าแรงจำนวนเท่านี้ ที่ค่าแรงไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อเลี้ยงตัวเอง แต่ยังต้องดูแลครอบครัว ทั้งสามจะต้องใช้ค่าแรงที่ได้มารวม 3 คน ประมาณ 324 บาท ในการทำอาหารสำหรับเลี้ยงคน 10 คน (ตัวเอง สกตีกับเพื่อน และทีมงานถ่ายทำรายการ) นอกจากนี้ ทางรายการยังยึดเอาแปรงสีฟันและยาสีฟันจากทั้งสามไปด้วย เพื่อเพิ่มความเข้าถึงในด้านของการต้องใช้ค่าแรงจำนวนนี้ในการซื้อสิ่งของจำเป็น

แรงงาน: ชีวิตนอกราคา

โดยทั่วไป เมื่อมองไปที่สินค้าชิ้นหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการขับเคี่ยวกันระหว่างราคาของสินค้าที่เราอยากซื้อกับอำนาจซื้อที่เรามีอยู่ในมือ มีเงินเท่าไร ซื้อได้ไหม ซื้อแล้วเหลือพอกินหรือไม่ ซื้อไปแล้วจะต้องใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ปลายเดือนตั้งแต่ต้นเดือนไหม หรือสำหรับเหล่าพ่อบ้านใจกล้าก็อาจจะเป็น กวางน้อยที่บ้าน (เมีย) จะยอมให้ซื้อไหม

ไม่มีแรงงานอยู่ในนั้น…

ดังนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้จากรายการ SWEATSHOP: Dead Cheap Fashion ก็คือ การได้ลงลึกไปในสินค้าหนึ่งชิ้น ได้เห็นว่าในราคาที่ผู้ซื้อสักคนจ่ายได้หรือจ่ายไม่ได้นั้นมีชีวิตทั้งชีวิตของคนอื่นอยู่อีกหนึ่งคนเป็นอย่างน้อย สินค้าชิ้นหนึ่งจึงเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างตัวเรากับแรงงานผู้ทำการผลิต ทุกการซื้อของคือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับแรงงานเหล่านั้น และมีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในสภาพแบบสกตี หรือในสภาพแบบที่ฟรีดา, แอนนิเคน และลุดวิก ได้เข้าไปลองมีชีวิตแบบนั้นในช่วงเวลาหนึ่ง ทำงานในสภาพการทำงานที่ไม่เป็นมิตรกับร่างกายและจิตใจ วันหยุดเป็นคำที่ฟังแล้วเข้าใจความหมายแต่ไม่รู้จักว่าคืออะไรในชีวิตจริง ได้ค่าแรงในปริมาณที่แทบไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การใช้จ่ายที่ต่อให้รู้จักอดก็ยังไม่อาจพบกับคำว่าออม โลกที่ความฝันถึงชีวิตดีๆ ถูกกลืนหายไปในความอดทนจนเคยชิน

หากพูดถึงที่สุด รายการนี้ได้พาไปพบกับรูปธรรมของคำบางคำที่เราต่างได้ยินจนคุ้นชิน แต่อาจไม่เคยเห็นหรือกระทั่งสัมผัสกับตัวจนเข้าไปถีงหัวใจ ดังที่ลุดวิกให้สัมภาษณ์ในตอนหนึ่งว่า “ทุกคนบอกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม (unfair) ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าความไม่ยุติธรรมเป็นยังไง”

เราไม่เคยสวมรองเท้าของคนอื่น

ผมเคยนั่งกินส้มตำอยู่หน้าคอนโดมีเนียมหรูหราแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท ที่มีรถยุโรปราคาแพงระยับรวมไปถึงซูเปอร์คาร์วิ่งเข้าออกคันแล้วคันเล่า ผมนั่งมองด้วยความรู้สึกว่า สิ่งที่เหมือนกันมากๆ ระหว่างคนจนมากๆ กับคนรวยมากๆ ก็คือ เมื่อมองเข้าไปแล้ว ผมไม่เข้าใจว่าโลกของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ก่อร่างและดำเนินไปในลักษณะใด

แนวคิดหนึ่งในการสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมก็คือ “ผ้าคลุมหน้าแห่งความไม่รู้” (veil of ignorance) ของจอห์น รอว์ลส์ (John Rawls) นักปรัชญาการเมืองและศีลธรรมชาวอเมริกัน ที่เป็นไปในทำนองว่า การที่สถาบันซึ่งสามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกคนในสังคมจะถือกำเนิดขึ้นได้นั้น ทุกคนในสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสถาบันโดยเสนอผลประโยชน์อันควรเป็นโดยละทิ้งว่าตัวเองเป็นใครและคนที่กำลังร่วมแลกเปลี่ยนนั้นเป็นใคร หรือก็คือเสนอผลประโยชน์อันเชื่อว่าดีที่จะยุติธรรมที่สุดต่อทุกคนในสังคมออกไปโดยไม่เอาสถานะทางสังคมของตัวเองและคนอื่นมาเกี่ยวข้องเป็นที่ตั้ง

ฟังดูแล้ว แนวคิดดังกล่าวช่างเป็นดินแดนในอุดมคติที่ยากจะไปถึงจนอาจถึงขั้นพูดได้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะความเป็นไปได้ที่คนเราจะเสนออะไรออกไปอย่างบริสุทธิ์ถึงเพียงนั้นคงเท่ากับศูนย์หรือถึงขั้นติดลบ (ใครทำได้ก็นิพพานละครับ ไม่มานั่งอยู่แถวนี้หรอก) แต่รายการอย่าง SWEATSHOP: Dead Cheap Fashion กลับทำให้ผมรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นไปได้อยู่บ้าง โดยเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้คนเราเสนออะไรที่มากมายกว่าประโยชน์ของตัวเองหรือทำให้ผลประโยชน์ของคนอื่นกลายเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมที่นอกจากคนอื่นแล้วตนเองก็ได้ประโยชน์ได้ขึ้นมา ก็คือการได้ลองไปยืนอยู่ในจุดที่ผู้ได้รับความอยุติธรรมใช้ชีวิตอยู่ดูบ้าง ไปสวมรองเท้าของเขา (in someone’s shoes) หรือที่บ้านเราก็พอมีสำนวนอย่าง “ใจเขาใจเรา” (ซึ่งดูไม่ค่อยเป็นจริงได้เพราะมักกลายเป็นคิดแทนผู้อื่นจากจุดยืนของตัวเองโดยไม่เคยไปยืนในจึดเดียวกับผู้อื่นที่ตนพูดถึงนั้น)

พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ไม่เคยตกอยู่ในความอยุติธรรม ย่อมยากจะเข้าใจว่าใบหน้าของความอยุติธรรมนั้นเป็นอย่างไร ใบหน้านั้นจ้องมองและกระทำกับคนเราอย่างไร

สะพานที่เชื่อมความเข้าใจในโลกของกันและกันระหว่างคนต่างชนชั้นขาดลงเพราะต่างฝ่ายต่างเติบโตมาบนโลกแวดล้อมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ค่าแรงขั้นต่ำ: โจทย์ที่ต้องตั้งใหม่

ปีศาจตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนเรา…ปีศาจที่ชื่อว่าค่าแรงขั้นต่ำ

สิ่งที่ผมรู้สึกเสมอก็คือ เมื่อใดที่แรงงานเสนอให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปราการด่านแรกที่พวกเขาต้องเผชิญไม่ใช่นายจ้างหรือรัฐบาล หากแต่คือทัศนคติของสังคม ที่เลือกเอามุมร้ายของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก โดยมักจะมีสูตรสำเร็จว่า การขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จนส่งผลใน 2 ทาง คือ 1. ราคาสินค้าสูงขึ้น 2. ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหว ต้องปิดกิจการไป หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลเสียกับตัวแรงงานผู้เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำเอง ทั้งในแง่ของการต้องซื้อของที่ราคาแพงขึ้น การตกงาน และการล่มสลายของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ก็ยังไพล่ไปบอกว่าแรงงานไม่รู้จักอดทน เห็นแก่ได้ ไม่ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หลงกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม ติดใจรสชาติประชานิยม ไม่รู้จักใช้ชีวิตพอเพียง เป็นพวกขี้เกียจ อยากสบาย แต่ใจร้อน สารพัดจะว่ากันไป

และความรู้สึกว่ารัฐบาลเอาใจนายทุนมากกว่าแรงงาน ก็มักเป็นจริงในใจของฝั่งแรงงานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสังคมที่เรียกร้องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกิดขึ้นในสังคมที่ปรารถนาให้คนมีความเห็นอกเห็นใจ เกิดขึ้นในสังคมที่พูดคำว่า “มนุษยธรรม” กันจนเปรอะปาก เกิดขึ้นในสังคมที่ถ้าคนทำเรื่อง “ดีๆ” แม้จะละเมิดกฎหมายก็ไม่ว่ากัน

ความน่ากลัวประการหนึ่งก็คือ หลายคนนั้นไม่ใช่ไม่รู้ว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นอัตราที่ไม่พอกินพอใช้ พวกเขารู้ แต่บอกว่าแรงงานควรจะต้องอดทนเสียสละเพื่อส่วนรวม หรือก็คือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

เมื่อไม่นานมานี้ มิตรสหายท่านหนึ่งที่เป็นอาจารย์และนักวิชาการได้่เสนอว่า บางที สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปกับการขับเคลื่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็คือ การตั้งโจทย์ใหม่ มองแรงงานเสียใหม่ คือไม่ใช่แค่เป็นปัจจัยการผลิตในสมการการผลิต แต่คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีเลือดเนื้อ ลมหายใจ อารมณ์ความรู้สึก และก็เหมือนทุกๆ คนคือปรารถนาจะมีชีวิตที่ดี

การตั้งโจทย์โดยยึดเอาการเข้าถึงชีวิตที่ดีของมนุษย์เป็นหลัก จากนั้นมาร่วมกันหาทางว่า เราจะทำอย่างไรให้แรงงานมีค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจก็เจริญเติบโตโดยไม่หยุดชะงักหรือถึงขั้นล่มสลาย อาจจะเป็นมุมมองที่ดีกับทุกคนมากกว่าการเอาการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง