ThaiPublica > เกาะกระแส > Lifelong Learning สร้างทักษะรับ Digital Future (ตอน 1): กำหนดเส้นทางอาชีพ

Lifelong Learning สร้างทักษะรับ Digital Future (ตอน 1): กำหนดเส้นทางอาชีพ

1 พฤษภาคม 2018


ภายใต้ภาวะที่สภาพการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป หลายภาคธุรกิจต้องการบุคลากรที่มีความรู้มีทักษะแบบใหม่เข้าทำงาน แต่กลับประสบปัญหาในการหาแรงงานที่มีทักษะที่ตรงกับความต้องการ เพื่อการเติบโตของธุรกิจในโลกอนาคต

ปัญหาดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงงานไม่สามารถจะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจาก technological disruption ได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดการเรียนรู้ ขาดทักษะใหม่ ที่มีความจำเป็น เพื่อความสำเร็จในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคมโลกยุคใหม่ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก ด้วยพลังของเทคโนโลยีและกระแสโลกาภิวัตน์

การเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้ทั้งแรงงานและธุรกิจรักษาขีดความสามารถไว้ได้ในโลกยุคใหม่ Lifelong Learning ยังเป็นรากฐานของสังคม ธุรกิจ และเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนโฉมให้เข้มแข็ง

ปัจจุบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะโลกได้เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ อุตสาหกรรม 4.0 เป็นผลจากการที่ระบบอินเทอร์เน็ตใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลายด้านในการผลิต โดยเฉพาะเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่กำลังพูดถึงกันมาก และทำให้เกิดห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains) ที่รูปแบบและกระบวนการผลิตสินค้าของโลกได้เปลี่ยนไปสู่การกระจายการผลิตออกเป็นส่วนๆ ตามประเทศต่างๆ ในโลก ก่อนที่จะนำมาประกอบเป็นตัวสินค้า

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งล่าสุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการแข่งขันของอุตสาหกรรมสูงขึ้น ที่จะต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และต้องตอบสนองให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

งานถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร/AI

ในปี 2013 มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้จัดทำรายงานวิจัยเรื่อง The Future of Employment: How Susceptible Are Jobs to Computerisation? วิเคราะห์ว่าภายในปี 2033 ที่สหรัฐฯ แรงงานจะหายไปประมาณ 50% ขณะที่อังกฤษนั้นแรงงานในสัดส่วน 35% มีความเสี่ยงสูงต่อการที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร (Automation)

รายงานวิจัยได้นำเสนอผลกระทบจากเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน รวมไปถึงความเสี่ยงของภาคธุรกิจที่มีโอกาสสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อแรงงาน และยังประเมินว่าตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทุกวันนี้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโลกมากยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2008 เสียอีก

รายงาน Automation, skills use and training จาก OECD ที่เผยแพร่ต้นเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ประเมินผลในลักษณะเดียวกับรายงานวิจัยออกซ์ฟอร์ด เพียงแต่ประเมินผลกระทบน้อยกว่า โดยคาดว่าแรงงานในสหรัฐฯ ในสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้นที่จะหายไป และแรงงานในสัดส่วน 12% มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI

รายงานวิจัยของ OECD ยังวิเคราะห์ถึงความแตกต่างของลักษณะงานไว้ด้วย เช่น ลักษณะงานของวิศวกร ที่ขึ้นอยู่กับโครงการที่นายจ้างจะได้งานมา ซึ่งหมายความว่าวิศวกรจำนวนหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรมากกว่าแรงงานในวิชาชีพอื่นที่มีตำแหน่งที่เท่ากัน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า มีหลายปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อการแทนที่ด้วยเครื่องจักร ยกตัวอย่าง งานนั้นมีความจำเป็นที่จะใช้คนทำหรือไม่ เช่น งานด้านการสร้างสรรค์ การสร้างความสัมพันธ์กับสังคม

รายงานวิจัยพบว่า ความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี AI ลดลงตามระดับการศึกษาของแรงงานที่เพิ่มขึ้น ทักษะต่างๆ ที่สามารถวัดได้ รวมทั้งระดับค่าจ้าง โดยสรุปว่า การนำเครื่องจักรมาใช้มากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับทักษะและเทคโนโลยี AI จะกระทบแรงงานที่ทักษะต่ำมากกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยการนำเครื่องจักรมาใช้ในยุคที่แล้วเพียงใด

รายงานยังพบว่า ความเสี่ยงที่จะงานถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี AI จะมีมากขึ้นในกลุ่มอายุ 13-19 ปี และจะมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี AI ในงานแบบดั้งเดิมที่มีแรงงานกลุ่มวัยหนุ่มสาว รวมทั้งยังประเมินว่าแรงงานวัยหนุ่มสาวนี้จะหางานได้ยากขึ้น เพราะงานในระดับเริ่มต้นในธุรกิจค้าปลีก กับ Personal care มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรมากกว่างานที่ต้องอาศัยประสบการณ์ส่วนบุคคล

รายงานของ OECD จัดทำขึ้นด้วยการเก็บข้อมูลจากการสำรวจใน 32 ประเทศสมาชิก เพื่อที่จะให้ภาพรวมของแรงงานในปัจจุบันและผลกระทบของ Automation ที่มีต่อทั่วโลก ทั้งนี้พบว่า แรงงานในสัดส่วนประมาณ 14% จากประเทศที่ทำการสำรวจมีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI หรือประมาณ 66 ล้านแรงงานทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีแรงงานอีก 32% จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในงานที่ทำ เป็นผลจากการเพิ่มการใช้เครื่องจักรในอนาคตอันใกล้

รายงานพบว่า ความเสี่ยงของการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยงานในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษและกลุ่มประเทศนอร์ดิกจะใช้เครื่องจักรน้อยกว่าประทศในยุโรปตะวันออก ยุโรปใต้ เยอรมนี ชิลี และญี่ปุ่น และอังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องจักรแทนคนในระดับต่ำ

Lifelong Learning กำหนดเส้นทางอาชีพ

โลกของการทำงานกำลังเปลี่ยนโฉมทุกอาชีพและทุกอุตสาหกรรม มีทั้งการเติบโตและหดตัวในอัตราที่น่าตระหนก และทักษะที่จำเป็นซึ่งแรงงานต้องเพิ่มเติมหรือตามให้ทันในเกือบทุกงานกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความรู้โดยเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 13 เดือน

นอกจากนี้ยังมี 2 ปัจจัยที่มีผลต่อแรงงานไปพร้อมๆ กัน คือ หนึ่ง การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี AI ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่แรงงานมากขึ้น ไม่เพียงแรงงานที่ทำงานในโรงงานและแรงงานที่เป็นพนักงานบริษัทหรือพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้ความรู้ในการทำงานเช่นกัน สอง การเกิดขึ้นของ Gig Economy (ระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยงานชนิดที่เป็น part time/ชั่วคราว/freelance/self-employed หรืองานที่รับมาจากคนอื่นอีกต่อเป็น outsource กล่าวโดยสรุปก็คือไม่ใช่งานประจำแบบเป็นลูกจ้างดังที่เคยเป็นกันมา) ที่มีให้ความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเปลี่ยนแปลงไป เพราะมีการจ้างงานแบบสัญญาจ้างมากขึ้น ในงานที่เดิมเคยใช้พนักงานประจำ

แรงงานไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดต่างกังวลว่าจะยังคงมีการว่าจ้างให้ทำงานต่อไปอีกหรือไม่ และอาชีพในอนาคตจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจแรงงานสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ผ่าน รายงาน The State of American Jobs จัดทำโดย Pew Research Center พบว่า 87% ของแรงงานเชื่อว่า การเทรนนิ่งและพัฒนาทักษะใหม่ตลอดชีวิตการทำงานมีความจำเป็นสำหรับพวกเขา เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานได้ทัน และยังเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรืออาชีพ

การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจมีผลต่อที่ทำงาน ที่มาภาพ: http://www.pewsocialtrends.org/2016/10/06/the-state-of-american-jobs/

ผลการสำรวจพบว่าแรงงานผู้ใหญ่ระบุว่า การยกระดับตัวเองต้องทำต่อเนื่อง โดยมากกว่า 54% ของแรงงานตอบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการเทรนนิ่งและพัฒนาทักษะใหม่ตลอดชีวิตการทำงาน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของที่ทำงานได้ทัน

จำเป็นที่จะต้องมีการเทรนนิ่งและพัฒนาทักษะใหม่ตลอดชีวิตการทำงาน ที่มาภาพ: http://www.pewsocialtrends.org/2016/10/06/the-state-of-american-jobs/

ขณะที่ 35% ของแรงงานซึ่งมีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป บอกว่าพวกเขาไม่มีการศึกษาการเทรนนิ่งที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าในงาน อย่างไรก็ตาม มีแรงงานจำนวนมากที่ได้เริ่มรับการเทรนนิ่งไปแล้ว ไม่ว่าจะเริ่มด้วยตัวเองหรือตามที่บริษัทกำหนดให้ทำ โดยที่ 45% ของแรงงานผู้ใหญ่ให้ข้อมูลว่า ต้องรับการเทรนนิ่งเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานในรอบ 12 เดือน

ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทักษะ ที่มาภาพ: http://www.pewsocialtrends.org/2016/10/06/the-state-of-american-jobs/

แรงงานส่วนใหญ่ 72% ยังให้คำตอบว่า การเตรียมตัวและความสำเร็จในหน้าที่การงานในยุคใหม่ ต้องเป็นความรับผิดชอบของแรงงานโดยตรง ที่จะต้องแสวงหาการเรียนรู้ ทักษะที่เหมาะสมกับงาน เพื่อความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่มีจำนวนที่เหลือว่า ต้องเป็นความรับผิดชอบของบริษัทนายจ้างบ้าง ของรัฐบาลบ้าง

โดยรวมแล้ว ผลสำรวจและข้อมูลการจ้างงานพบว่า แรงงานสหรัฐฯ ต่างพร้อมที่จะปรับตัวให้รับกับความเป็นจริงของตลาดแรงงาน ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงานพบว่า งานในกลุ่มที่มีการเติบโตสูงต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านสังคม การวิเคราะห์ และความสามารถทางเทคโนโลยี และตั้งแต่ปี 1980 ความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การสื่อสาร การบริหารจัดการ เพิ่มขึ้นจาก 49 ล้านคนเป็น 90 ล้านคน

การจ้างงานแรงงานที่มีทักษะใหม่เพิ่มขึ้น ที่มาภาพ: http://www.pewsocialtrends.org/2016/10/06/the-state-of-american-jobs/

เรียบเรียงจาก
BBC,Forbes,straitstimes,IT Skills Initiative,scale