ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการนายจ้างสีขาวยื่นจม.เปิดผนึก ชี้ปมใหญ่ต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 2.1ล้านคนไม่ทัน 13 ก.พ.นี้

โครงการนายจ้างสีขาวยื่นจม.เปิดผนึก ชี้ปมใหญ่ต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 2.1ล้านคนไม่ทัน 13 ก.พ.นี้

6 กุมภาพันธ์ 2023


ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว : โครงการนายจ้างสีขาวฯ https://www.facebook.com/GEFW2020

กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว (โครงการนายจ้างสีขาว) ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีที่รัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบในเรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีแนวทางในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในสองกลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ และการอนุญาตให้ทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยกลุ่มนี้มีมาตรการให้ขยายระยะเวลาการได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยไปอีกสองปี หลังจากวันที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุด โดยเป็นไปตามเงื่อนไขของช่วงเวลาในการตรวจลงตราวีซ่า

2.อีกกลุ่มหนึ่งคือแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการจดทะเบียนขออนุญาตทำงาน ให้แล้วเสร็จและต่อใบอนุญาตทำงานอีกครั้ง โดยจะต้องดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่การขออนุญาตทำงาน การขอตรวจลงตราวีซ่า รวมทั้งการต่อใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ในราชอาณาจักร (ต่อวีซ่า) โดยมีแรงงานต่างด้าวที่จะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีนี้มากกว่า 2.1 ล้านคน

จากตัวเลขประมาณการณ์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 มีแรงงานต่างด้าวที่ดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานไปแล้วเพียง 7 แสนคนโดยประมาณหรือคิดเป็นเพียง 33 % ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่จะต้องยื่นต่อใบอนุญาตทำงานให้ทัน 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือไม่ถึง 2 สัปดาห์ จึงมีความเสี่ยงที่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวจำนวนมากจะไม่สามารถต่อใบอนุญาตทำงานได้ทัน และทำให้กลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายและจ้างแรงงานผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น ทางกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว จึงได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกเพื่อนำเสนอปัญหาและข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานเพื่อให้มีการเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตามเอกสารที่แนบ

……

จดหมายเปิดผนึกเรื่องปัญหาการขึ้นทะเบียนและขอต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวตามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา

4 กุมภาพันธ์ 2566

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ปลัดกระทรวงแรงงาน
อธิบดีกรมการจัดหางาน

จากการที่มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบในเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีแนวทางในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ และการอนุญาตให้ทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

โดยกลุ่มนี้มีมาตรการให้ขยายระยะเวลาการได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยไปอีกสองปี หลังจากวันที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดโดยเป็นไปตามเงื่อนไขของช่วงเวลาในการการตรวจลงตราวีซ่า อีกกลุ่มหนึ่งคือแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการจดทะเบียนขออนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จและต่อใบอนุญาตทำงานอีกครั้ง โดยจะต้องดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่การขออนุญาตทำงาน การขอตรวจลงตราวีซ่า รวมทั้งการต่อใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ในราชอาณาจักร (ต่อวีซ่า)โดยมีแรงงานต่างด้าวที่จะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีนี้มากกว่า 2.1 ล้านคน ซึ่งจากตัวเลขประมาณการณ์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 มีแรงงานต่างด้าวที่ดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานไปแล้วเพียง 7 แสนคนโดยประมาณหรือคิดเป็นเพียง 33 % ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่จะต้องยื่นต่อใบอนุญาตทำงานให้ทัน 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือไม่ถึง 2 สัปดาห์

ปัญหาที่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวพบในกระบวนการดำเนินการจดทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2565ที่พบแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

  • ปัญหาความล่าช้าและความซับซ้อนของกระบวนการจดทะเบียนและต่อใบอนุญาต ทำงานตามมติครม.
  • 1. แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกลุ่มมติ 5 ก.ค. ยังจองคิวตรวจอัตลักษณ์ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือศูนย์บริการของตม.ไม่
    ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการเปิดจองคิวออนไลน์และไปขอรับการตรวจที่ศูนย์บริการซึ่งมีศูนย์รองรับการดำเนินการเพียงศูนย์เดียวและมีแรงงานต่างด้าวที่ต้องเข้าไปดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า 1 แสนราย มีระยะเวลาดำเนินการเพียง 4 เดือน ดังนั้นเฉลี่ยแล้วจะมีแรงงานต่างด้าวที่ต้องเข้าไปดำเนินการตรวจอัตลักษณ์มากกว่า 900 คนต่อวันทำให้ยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้จนครบขั้นตอน

    2.พบปัญหาแรงงานต่างด้าวยังไม่มีข้อมูลในระบบฐานข้อมูลออนไลน์ของกรมการจัดหางานทำให้นายจ้างยังไม่สามารถขอต่อใบอนุญาตทำงานในระบบออนไลน์ได้ซึ่งบางส่วนเกิดการไม่ได้บันทึกข้อมูลการขอต่อใบอนุญาตทำงานเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล

    3.ข้อมูลการจดทะเบียนขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวและนายจ้างผิดพลาด โดยที่นายจ้างยังไม่สามารถขอแก้ไขข้อมูลในใบอนุญาตทำงานที่ลงทะเบียนยื่นขออนุญาตทำงาน หรือขอต่อใบอนุญาตทำงานโดยมีข้อมูลผิดพลาดทั้งที่เกิดจากการลงข้อมูลผิดพลาดเล็กน้อย (เช่น
    คำนำหน้านาม รูปของแรงงานต่างด้าวที่ผิดสัดส่วน หรือผิดตำแหน่ง) ความผิดพลาดของระบบออนไลน์ในช่วงมีการปรับปรุงระบบออนไลน์
    และข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนกับหนังสือเดินทางที่ได้รับไม่ตรงกันแม้จะเป็นข้อมูลเล็กน้อยหรือข้อมูลที่ได้รับรองจากประเทศต้นทาง

    โดยให้ทางจัดหางานในพื้นที่ให้เหตุผลว่าระบบปิดแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้มีผลกระทบเมื่อไปตรวจลงตราวีซ่าและข้อมูลในใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทางไม่ตรงกัน ทำให้ตม.ต้องให้สำนักงานจัดหางานแก้ไขให้ถูกต้องก่อนถึงตรวจลงตราได้

    4. กลุ่มจดทะเบียนมติ 5 ก.ค. 2565 ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานและบางส่วนยังไม่ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตทำงานส่งผลให้ยังไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนอื่นต่อได้ ในขณะที่นายจ้างจำนวนมากร้องเรียนว่าในกรณีที่ดำเนินการผ่านบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (บนจ.)ได้รับใบอนุญาตทำงานแล้ว

    5.แนวปฏิบัติในการดำเนินการของสำนักงานจัดหางานในพื้นที่มีความแตกต่างกัน ขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนหรือไม่มีกลไกการแก้ไขปัญหาที่เอื้อสำหรับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว เช่น การแจ้งเข้าทำงานของแรงงานต่างด้าว เพื่อเปลี่ยนย้ายนายจ้างซึ่งต้องทำให้เสร็จก่อนการขอต่อใบอนุญาตทำงาน ความล่าช้าในการแก้ปัญหาและการดำเนินการทำให้การขอต่อใบอนุญาตทำงานทำได้ล่าช้าปัญหาการออกเอกสารหนังสือเดินทาง และCI ของประเทศต้นทาง

    1. แรงงานสัญชาติลาว และกัมพูชาที่ต้องเดินทางกลับไปทำหนังสือเดินทางที่ประเทศต้นทางยังมีปัญหาเรื่องหนังสือรับรองการเดินทาง (ใบเหลือง) จากสถานทูต โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สถานทูตว่าหนังสือรับรองใช้ได้เฉพาะขาออกเท่านั้นไม่สามารถนำมาแสดงเมื่อเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยอีกทำให้เมื่อทำหนังสือเดินทางเสร็จแล้วและเดินทางกลับเข้าประเทศด่านตรวจคนเข้าเมอง (ตม.) จะตีเป็นท่องเที่ยวหรือผ่อนผันการตรวจลงตรา (ผผ.30) ให้ซึ่งทำให้ไม่สามารถยื่นตีวีซ่าประเภทแรงงาน (non-LA) ตามมติครม.ได้

    2. แรงงานสัญชาติพม่า ที่ถือหนังสือเดินทางเล่มสีแดงปัจจุบันพบว่าทางสถานทูตยังไม่เปิดให้จองเพื่อขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ โดยเปิดให้เฉพาะหนังสือเดินทางที่หมดอายุช่วงปี 2020-21 เท่านั้น ทำให้คนที่หนังสือเดินทางจะหมดในปี 2022 เป็นต้นไปยังทำไม่ได้ และจะทำให้ต่อวีซ่าไม่ทัน นอกจากนั้นแล้ว ยังพบว่ากลุ่มที่ยื่นขอคิวได้แต่ระยะเวลานัดรับหนังสือเดินทางในปัจจุบันจะได้รับหลังเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้ไม่สามารถขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานและวีซ่าตามมติคณะรัฐมนตรีได้ทัน

    3.แรงงานกลุ่มที่จะต้องทำหนังสือแสดงตน หรือ CI สำหรับกลุ่มมติ 20 ส.ค. 4 ส.ค 29 ธค -13 ก.ค. 28 ก.ย. และ 5 ก.ค. ที่ไม่มี CI เดิม (ทั้งกลุ่มที่ยังไม่มี CI เลยหรือเคยมีหนังสือเดินทางเล่มแดง แต่ไม่สามารถทำเล่มใหม่ได้ทัน) ยังจองคิวในระบบของเคาน์เตอร์เซอร์วิสไม่ได้ ทำให้มีแนวโน้มว่าจะทำดำเนินการขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไม่ทัน 13 ก.พ. 2566

  • ปัญหาการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพของสถานพยาบาล
  • 1. ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯยังไม่รับตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพสำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้างที่จะต้องต่อใบอนุญาตทำงานหลัง 13 ก.พ. 2566 เนื่องจากยังมีความสับสนของการดำเนินการตามมติ 5 ก.ค. 2565 โดยยังขายประกันสุขภาพให้ถึงวันที่ 13 ก.พ.2566 เท่านั้น ทำให้นายจ้างและแรงงานไม่สามารถยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานในระบบออนไลน์ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขการต่อใบอนุญาตทำงานในระบบออนไลน์ว่าจะต้องมีหลักฐานการมีประกันสุขภาพไม่ต่ำกว่าวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จึงจะดำเนินการต่อได้

    2.รพ.กำหนดคิวนัดตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพต่อสัปดาห์และต่อครั้งจำนวนน้อย ทำให้กลุ่ม 5 ก.ค. 2565 ยังนัดตรวจตามเงื่อนไขการส่งเอกสารได้ไม่ได้ และยังพบว่าสถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวยังมีความไม่เข้าใจต่อการดำเนินการตามมติครม. 5 ก.ค. 2565

    3. พบว่าบางสถานพยาบาลมีการขอเอกสารแบบคำขออนุญาตทำงาน/แบบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว และแบบคำขอต่อใบ อนุญาตทำงาน (แบบบต.48 และบต,50)ไปแสดงกับโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ นอกจากนั้นยังพบว่ามีการขอเอกสารดังกล่าวในขั้นตอนการตรวจลงตราวีซ่า หรือจัดทำบัตรชมพู แม้แรงงานจะมีใบอนุญาตทำงานเล่มสีน้ำเงินไปแสดงให้แล้วก็ตาม โดยให้นายจ้างและแรงงานจะต้องไปขอเอกสารบต.48 หรือบต.50 จากสำนักงานจัดหางานอีกครั้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่นายจ้างโดยไม่จำเป็น

    การที่ไม่สามารถขอตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพจากโรงพยาบาลของรัฐได้ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากไม่สามารถยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานได้ เนื่องจากระบบการขอต่อใบอนุญาตทำงานผ่านระบบออนไลน์ของกรมการจัดหางานได้กำหนดเงื่อนไขให้ต้องส่งหลักฐานการมีประกันสุขภาพตามเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะต้องมีสิทธิคุ้มครองตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ถึง 15 พฤษภาคม 2556 เป็นอย่างน้อย ทำให้มีแนวโน้มว่าแรงงานต่างด้าวในกิจการที่ไม่เข้าประกันสังคมตามกฎหมายจำนวนมากกว่าสี่แสนคนอาจจะยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานไม่ทันและส่งผลต่อการใช้บริการนายหน้าที่ทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้นกลายเป็นภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว ซึ่งในปัจจุบันกรมการจัดหางานยังไม่มีนโยบบายและมาตรการใด ๆที่จะควบคุมการดำเนินการของนายหน้า ความล่าช้าและการขาดแนวทางเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาการยื่นต่อใบอนุญาตทำงาน อาจจะส่งผลกระทบต่อแรงงานต่างด้าวจำนวนมากกว่าล้านคนอาจจะยื่นขออนุญาตทำงานไม่ทันและกลายเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งระบบ รวมทั้งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากมาตรการและนโยบายของรัฐ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและผลกระทบต่อนายจ้างและแรงงานต่างด้าว

  • ในขั้นตอนของการต่อใบอนุญาตทำงาน ทางกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว
  • มีข้อเสนอดังนี้

    1. กรมการจัดหางานควรดำเนินการให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าว สามารถยื่นต่อใบอนุญาตทำงานในระบบออนไลน์ไปก่อนและจัดส่งหลักฐานประกันสุขภาพในภายหลังโดยเพิ่มช่องส่งเอกสารประกันสุขภาพในภายหลังในระบบการขอต่อใบอนุญาตทำงาน เช่นเดียวกับมาตรการที่ให้ส่งหลักฐานการตรวจลงตราวีซ่าภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

    2. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรมีมาตรการขยายเวลาการขอต่อใบอนุญาตทำงานออกไปก่อนอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่ติดปัญหาอันเกิดจากเงื่อนไขและข้อจำกัดของภาครัฐได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานได้ทัน

    3.กรมการจัดหางานควรกำหนดแนวทางการในการเร่งแก้ไขปัญหาการไม่พบข้อมูลของคนต่างด้าวในระบบฐานข้อมูลการอนุญาตทำงาน
    และปัญหาข้อมูลของแรงงานต่างด้าวและนายจ้างในระบบฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้องโดยเร่งด่วนโดยควรจัดให้มีระบบที่สามารถยื่นแก้ไขข้อมูลและเพิ่มเติมข้อมูลทั้งโดยตัวนายจ้าง และสำนักงานจัดหางานในพื้นที่โดยตรง

    4.กรมการจัดหางานควรเร่งอนุมัติการยื่นขออนุญาตทำงานและการขอต่อใบอนุญาตทำงานให้มีความรวดเร็วมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเอกสารใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวรวมจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่นายข้าง
    ป้องกันปัญหาการใช้นายหน้าที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงขึ้นจนเกิดเหตุอันสมควร

    5. กรมการจัดหางานควรเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจและวางมาตรการในการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานไม่ทันตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี

    6. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรเร่งหารือกับประเทศต้นทางเพื่อกำหนดแนวทางในการออกหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางให้รวดเร็ว ลดเงื่อนไขที่จะเป็นภาระในการดำเนินการและค่าใช้จ่ายให้แก่แรงงานต่างด้าวและนายจ้างทางกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว

    หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงแรงงานและกรมการจัดหางานจะเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบต่อนายจ้างและแรงงานต่างด้าวอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีก่อนเงื่อนไขการดำเนินของตามมติคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาแก้ไขอย่างเร่งด่วน

    ขอแสดงความนับถือ
    กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว (โครงการนายจ้างสีขาว)

    ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว : โครงการนายจ้างสีขาวฯ https://www.facebook.com/GEFW2020