ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันเอาอยู่ ชี้แรงงานกลับภูมิลำเนาน้อย-มติ ครม.เยียวยา “ก่อสร้าง-ร้านอาหาร” คนละ 3,000 บาท

นายกฯ ยันเอาอยู่ ชี้แรงงานกลับภูมิลำเนาน้อย-มติ ครม.เยียวยา “ก่อสร้าง-ร้านอาหาร” คนละ 3,000 บาท

29 มิถุนายน 2021


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ ยันเอาอยู่ ชี้แรงงานกลับภูมิลำเนาน้อย-เผย “โนวาแวกซ์” ยังอยู่ระหว่างพิจารณา-ยืนยันส่งมอบวัคซีนได้ตามแผน-มติ ครม.เยียวยา “ก่อสร้าง-ร้านอาหาร” คนละ 3,000 บาท-ปรับโครงการ Soft Loan ช่วย “ท่องเที่ยว-ค้าส่งค้าปลีก-ธุรกิจบันเทิง”-คาดญี่ปุ่นส่ง “แอสตร้าฯ” 1.05 ล้านโดสถึงไทยต้น ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ซึ่งในวันนี้นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

ยันเอาอยู่ ชี้แรงงานกลับภูมิลำเนาเล็กน้อย

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการการปิดไซต์งานที่ทำให้มีแรงงานส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา และได้สร้างความกังวลกับประชาชนในพื้นที่ ว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ประชุมกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้รับการยืนยันจากภาคเอกชนว่าแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนามีเพียงจำนวนไม่กี่สิบคนเท่านั้นจากจำนวน 800-900 คน ซึ่งการใช้คำว่าเพิ่งตัดกลางอาจไม่ใช่ลักษณะนั้นทั้งหมด

“และหลังจากที่กระทรวงแรงงานมีมาตรการเยียวยาต่างๆ ยังมีการเข้าไปควบคุมดูแลโดยฝ่ายความมั่นคงในเรื่องของอาหารการกิน ความเป็นอยู่ การเข้าไปตรวจในทุกๆ 5 วันเพื่อที่จะจ่ายเงินสดให้แก่แรงงาน โดยจะมีการเข้าไปเช็ครายชื่อทุกๆ วันพร้อมกับผู้ประกอบการ และจะมีการประสานงานระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างสมาคมภัตตาคารอาหารเพื่อช่วยดูแลเรื่องของอาหารการกินให้กับผู้ที่อยู่ในแคมป์คนงานทั้งหมด”

นอกจากนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ต่างจังหวัดได้มีการประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อประสานพื้นที่ในส่วนของจังหวัดนั้นๆ ให้พิจารณาเรื่องที่จะให้ความสำคัญกับผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการประกาศไว้ใน 10 จังหวัด

“การเดินทางกลับไปจะมีการพิจารณาจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลในพื้นที่ จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลา 1-2 วันที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดได้ทยอยประกาศว่า หากมีมาจาก 10 จังหวัดที่มีการยกระดับเป็นพื้นที่ควบคุมเข้มงวดจะต้องมีการกับตัวภายในบ้าน 14 วัน และจะต้องมีการรายงานตัวต่อผู้นำชุมชน อสม. หรือโรงพยาบาลประจำตำบล”

หวัง ปชช.เข้าใจมาตรการสกัดโควิดฯ

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีถึงมาตรการของรัฐบาล ที่จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในปัจจุบันสูงขึ้นแตะ 4,000-5,000 คนลดลง โดยได้กล่าวย้ำถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ ที่ประกาศออกมาทั้งสิ้นใน 10 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และในส่วนของจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นาธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้มีมาตรการต่างๆ เช่น การงดนั่งรับประทานอาหารในร้าน งดกิจกรรม นิทรรศการต่างๆ หรือกิจกรรมในโรงแรม หรือลดละยะเวลาเปิด-ปิด ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า

“ซึ่งทั้งหมดคงต้องหวังว่าประชาชนคงจะเข้าใจในเรื่องของการที่จะต้องดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ เพื่อที่จะให้การแพร่ระบาดสามารถอยู่ในการควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เผยผลสอบสวนโรค พบผู้ป่วยติดเชื้อจากการรับประทานอาหารในร้าน

นายอนุชาตอบแทนนายกรัฐมนตรีถึงคำถามกรณีการปิดร้านอาหารแม้ไม่ใช่กลุ่มคลัสเตอร์ ว่า เนื่องจากทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการผ่อนคลายให้ประชาชนสามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารได้ก่อนหน้านี้นั้น เมื่อมีการสอบส่วนโรคพบสถิติว่า เกิดผู้ติดเชื้อจากการรับประทานอาหาร หรือระหว่างที่ไปร้านอาหารอยู่พอสมควร จากการที่ต้องถอดหน้ากากอนามัย เมื่อพูดคุยกันบนโต๊ะอาหาร รวมถึงบางกรณีมีการดื่มแอลกอฮอล์ และได้นำเชื้อกลับไปสู่ครอบครัว

“แม้จะมีการห้ามแล้วเรื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจับกุมตามร้านอาหารไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ทั้งนี้คงไม่สามารถให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมได้ทั้งหมด จึงคิดว่าการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยคณะที่ปรึกษาทางด้านสาธารณสุขของนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีมาตรการที่เข้มงวดในเรื่องของการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านใน 6 จังหวัดที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมด ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่มีมาตรการเข้มข้นขึ้นจะทำให้มาตรการทั้งหมดนั้นได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนและจะทำให้ตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่องในเร็ววันนี้”

ต่อคำถามถึง มาตรการช่วยเหลือศิลปิน ฟรีแลนซ์ ลูกจ้างพนักงานของสถานประกอบการ สถานบันเทิง นายอนุชากล่าวว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการพูดคุยกับทีมเศรษฐกิจแล้ว โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาในเรื่องของการที่จะมีมาตรการออกเยียวยาให้เร็วที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน

ยืนยันส่งมอบวัคซีนได้ตามแผน

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีที่มีหลายจังหวัดระงับการฉีดวัคซีนให้กับบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคกลุ่มเสี่ยงโรค โดยแจ้งว่าวัคซีนมีไม่เพียงพอ จนเกิดการตั้งคำถามมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะแต่ละเดือนมีการแจ้งว่าจะมีการนำเข้าวัคซีนจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ว่า ขอยืนยันว่าในส่วนที่ได้มีการเจรจาทางด้านผู้ผลิต เช่น แอสตร้าเซนเนก้า ยังคงยืนยันที่จะส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยในจำนวนเป้าหมายเดิมที่ได้มีการเจรจากันไว้ที่ 61 ล้านโดส

ซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้มีการยืนยันแล้วว่าจะมีการส่งมอบจำนวน 6 ล้านโดส ก็ยังเป็นไปตามกำหนดการเดิมที่ได้มีการพูดคุยกันไว้เช่นเดียวกัน ในวัคซีนอื่นก็จะมีการเพิ่มเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในส่วนของซิโนแวค ก็ได้รับการยืนยันจากจีนแล้วว่าจะมีเพิ่มเติมเข้ามา หรือเมื่อสักครู่คณะรัฐมนตรีก็ได้รับทราบว่าทางญี่ปุ่นจะมีการส่งวัคซีนให้กับไทยจำนวน 1.05 ล้านโดส ให้กับประเทศไทยภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ นอกเหนือจากนั้นก็จะมีวัคซีนอื่นเข้ามาเพิ่มเติมตามที่ได้รับอนุญาตอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน

“ในส่วนของที่จะมีการฉีดให้กับผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคกลุ่มเสี่ยง นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญโดยได้แจ้งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการ โดยให้จัดลำดับความสำคัญให้ผู้ลงทะเบียนในหมอพร้อมซึ่ง วันนี้มีอยู่ประมาณเกือบ 6 ล้านคนได้รับการฉีดตามกำหนดการเดิมโดยเร็วที่สุดตามจำนวนวัคซีนที่เข้ามา ซึ่งยอดสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 จนถึง 28 มิถุนายน 2564 มีผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 9.43 ล้านโดส”

เผย “โนวาแวกซ์” ยังอยู่ระหว่างพิจารณาจัดหา

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีที่ซิโนแวคอาจป้องกันโควิดฯ สายพันธุ์อื่นๆ ได้ไม่ดีพอ รัฐบาลจะมีการทบทวนการนำเข้าวัคซีนชนิดนี้อย่างไร และเป็นไปได้ไหมว่าจะมีการจัดหาวัคซีนชนิดอื่นเข้ามา ว่า นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยและหารือกับที่ปรึกษาทางด้านสาธารณสุขแล้วในส่วนต่างๆ ที่จะต้องนำเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำวัคซีนนอกเหนือจากแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค หรือวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทย นายกรัฐมนตรีได้รับฟังจากคณะที่ปรึกษาทางด้านสาธารณสุข เพื่อพิจารณาจัดการการบริหารวัคซีนใหม่ๆ ออกมา เพื่อให้ทันท่วงทีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีในกรณีที่ผู้ฉีดวัคซีนแล้วยังพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้ออยู่ ในปัจจุบันจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อเนื่องอย่างไร ว่า ปัจจุบันวัคซีนต่างๆ ทางแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้ให้ความเห็นไปว่า อยากให้ทุกคนได้ฉีดวัคซีนที่ได้จัดหามา หรือวัคซีนทางเลือกที่หน่วยงานอื่นได้จัดหามา โดยสามารถที่จะรับวัคซีนได้ตามจุดต่างๆ ตามที่ลงทะเบียนไว้ โดยไม่ต้องรอวัคซีนที่จะเข้ามาใหม่ เนื่องจากการฉีดวัคซีนในปัจจุบันนั้นมีความชัดเจนที่จะทำให้เกิดภูมิในร่างกายอยู่แล้ว ทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วจะช่วยลดการติดเชื้ออย่างรุนแรงและลดโอกาสเสียชีวิตลง

ต่อคำถามถึง “วัคซีนโนวาแวกซ์” ที่มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพดี รัฐบาลจะเจรจาจัดหาวัคซีนชนิดนี้เพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากมีหลายประเทศเริ่มหันมาสนใจวัคซีนชนิดนี้กันแล้ว นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่าคณะที่ปรึกษาทางด้านสาธารณสุขกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดอยู่

ขอความร่วมมือเอกชน Work from Home ต่อ

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีกระแสโจมตีรัฐบาลในโซเชียลมีเดีย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งจากการล้มเหลวในการแก้ปัญหาโควิดฯ นั้นจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่อย่างไร ว่า ในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาข้อเสนอต่างจากกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางแพทย์ ผู้ประกอบการเอกชน และรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อหยุดการแพร่ระบาด และหยุดจำนวนผู้ป่วยไม่ให้เพิ่มมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีรับฟังและพยายามที่จะประเมินสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ด้านความเป็นอยู่ประชาชนก็จะมีการพูดคุยกับทีมเศรษฐกิจด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้ดูว่าในส่วนใดจะมีความเหมาะสมอย่างไร สำหรับแก้ปัญหาการแพร่ระบาดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

นายอนุชาตอบคำถามแทนนยกรัฐมนตรีถึงกรณีที่มีเอกชนหลายบริษัทเลิกใช้มาตรการ work from home ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในกรณีนี้ จึงอยากขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้พิจารณาให้พนักงานได้ work from home ดังเช่นในช่วงก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ในส่วนของราชการเองนายกรัฐมนตรีได้กำชับไปให้ยังคงใช้มาตรการเดิมกับพนักงานราชการในสังกัดต่างๆ ต่อไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้น

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)

เคาะเยียวยา “ก่อสร้าง-ร้านอาหาร-โรงแรม” คนละ 3,000 บาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 25 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ แบ่งประเภทกิจการเป็นก่อสร้าง ที่พักแรม อาหาร ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ รวมไปถึงกิจการซ่อม เช่น ร้านซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรีและกีฬา รวมไปถึงกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยมีระยะเวลาการช่วยเหลือ 1 เดือน

ส่วนผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่มีลูกจ้างเข้าเกณฑ์มาตรา 33 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคน สูงสุดไม่เกิน 200 คน หรือไม่เกิน 600,000 บาท กรณีที่ผู้ประกอบการไม่มีลูกจ้างจะต้องไปลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงินภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท

นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามแผนที่กำหนดไว้ช่วงกรกฎาคมถึงธันวาคม 2564 ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3, โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

นอกจากนี้ยังกำหนดให้กระทรวงแรงงานประสานความร่วมมือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ ในอนาคต

  • มติครม.กู้ 5,000 ล้าน เยียวยา “ร้านอาหาร-ก่อสร้าง-สถานบันเทิง” คนละ 3,000 บาท
  • ปรับโครงการ Soft Loan ช่วย “ท่องเที่ยว-ค้าส่งค้าปลีก-ธุรกิจบันเทิง”

    นายอนุชากล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ รายละเอียด ดังนี้

    1. ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564 รับผิดชอบโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
    2. ปรับปรุงโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย โดยธนาคารออมสิน ได้แก่ (1) ขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี (2) ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี (3) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564
    3. ปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs “มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว” โดยธนาคารออมสิน ได้แก่
      • ขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการฯ ครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น หรือผู้ประกอบการในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ตามที่ธนาคารออมสินเห็นสมควร
      • ปรับปรุงหลักเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อรายกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล จากเดิมพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562) เป็นพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562 หรือปี 2563 แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า)
      • ปรับปรุงการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินจากเดิมไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า-ออก ที่ดินที่มีบ่อน้ำหรือถูกขุดหน้าดิน ที่ดินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นต้น เป็นไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่องตามที่ธนาคารออกสินกำหนด
      • ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564

    แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจแล้ว 1.3 หมื่นราย กว่า 4 หมื่นล้าน

    นายอนุชากล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินงานสถาบันการเงินเฉพาะกิจกับมาตรการพักชำระหนี้ของ SFIs มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ และ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ

    ด้านมาตรการพักชำระหนี้ ความช่วยเหลือลูกหนี้รวมทั้งสิ้น 7.56 ล้านราย วงเงิน 3.46 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 3.23 ล้านราย วงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 3.21 ล้านราย วงเงิน 1.18 ล้านล้านบาท และธุรกิจ 21,310 ราย วงเงิน 87,948 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงิน 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

    นายอนุชากล่าวถึงผลการดำเนินงานจาก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 13,435 ราย วงเงินรวม 40,764 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 209,236 ล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 7 ราย วงเงิน 922 ล้านบาท

    แจงความคืบหน้าแผนส่งเสริม SMEs

    นายอนุชากล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ด้านมาตรการสินเชื่อ รายละเอียด ดังนี้

    ธนาคารออมสิน ได้แก่ (1) สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,831 ล้านบาท (2) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือ SMEs ภาคท่องเที่ยว วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,855 ล้านบาท (3) สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงินกู้บุคคลธรรมดารายละไม่เกิน 10 ล้านบาท นิติบุคคลรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 6,873 ล้านบาท (4) สินเชื่อ DxD เพื่อคู่ค้า Department Store เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับคู่ค้าหรือผู้เช่าร้านค้า วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 2,000 ล้านบาท และ (5) มาตรการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ วงเงินคงเหลือ 16,000 ล้านบาท

    ธ.ก.ส. ได้แก่ สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินคงเหลือ 42,252 ล้านบาท

    ธสน. สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 572 ล้านบาท, สินเชื่อส่งออกสุขสุด วงเงินกู้สูงสุดรายละ 1.5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 358 ล้านบาท และสินเชื่อ Global อุ่นใจ วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท

    ธอท. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับธุรกิจรายย่อย และธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น สินเชื่อมุสลิมและสินเชื่อสนับสนุนชายแดนภาคใต้รายย่อย วงเงินกู้สูงสุดรายละ 20 ล้านบาท และสินเชื่อเสริมสร้างธุรกิจรายย่อยมุสลิม วงเงินกู้สูงสุดรายละ 200,000 บาท

    ธพว. ได้แก่ สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดารายละ 1 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคลรายละ 3 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 3,144 ล้านบาท, สินเชื่อจ่ายดีมีเติม วงเงินกู้สูงสุดรายละ 15 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 1,978 ล้านบาท, สินเชื่อ Local Economy Loan วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 7,712 ล้านบาท

    บสย.ค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS 9) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 101,276 ล้านบาท, โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneursระยะที่ 4 (Micro 4) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 500,000 บาท วงเงินคงเหลือ 18,364 ล้านบาท

    ยกเลิก 27 ก.ค. 2564 เป็นวันหยุดพิเศษ-เลี่ยงเดินทางข้าม จว.

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกวันหยุดพิเศษในวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2564 ตามที่เคยมีมติไปแล้วเมื่อ 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งในครั้งนั้น รัฐบาลต้องการให้ประชาชนได้มีวันหยุดยาว 5 วันติดต่อกัน จะได้มีการเดินทางและท่องเที่ยวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับช่วงวันหยุดดังกล่าวประกอบด้วยวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2564 เป็นวันอาสาฬบูชา วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2564 เป็นวันเข้าพรรษา วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2564 เป็นวันหยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชา และวันพุธที่ 28 กรกฎาคม 2564 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

    แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันนี้ เป็นที่น่ากังวลในหลายพื้นที่ มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือจากประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด ครม.จึงเห็นชอบให้ยกเลิกวันหยุดพิเศษดังกล่าว

    ทั้งนี้ ครม. ยังได้กำชับให้หน่วยงานราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้องให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในเรื่องของการยกเลิก การเปลี่ยนตั๋วเดินทาง และการจองที่พัก แก่ประชาชนที่วางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้าแล้ว

    คาดญี่ปุ่นส่ง “แอสตร้าฯ” 1.05 ล้านโดสถึงไทยต้น ก.ค.นี้

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนการบริจาคซีนป้องกันโรคโควิดฯ ของฝ่ายไทย เพื่อรับมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิดฯ ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จากรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวน 1.05 ล้านโดส โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีขึ้นในบ่ายวันนี้ และจะสามารถส่งมอบได้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้

    สำหรับสาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระบุให้รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็น ดังนี้

    1. นำวัคซีนโควิด-19 ไปใช้อย่างเหมาะสมและเป็นการเฉพาะ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของไทย โดยห้ามใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านการทหาร
    2. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ยกเว้นรัฐบาลของทั้งสองประเทศจะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้ ซึ่งครั้งนี้ ไทยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งจากญี่ปุ่น ประมาณ 10-99 ล้านเยน หรือ 2.9-28.7 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุข มีงบประมาณรองรับส่วนนี้ไว้แล้ว
    3. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เมื่อได้รับการร้องขอ
    4. ไม่ส่งต่อวัคซีนโควิด-19 ให้แก่บุคคล หน่วยงาน รัฐบาลอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นการล่วงหน้า
    5. รายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ ข้อกำหนด และเงื่อนไขเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนจะจัดทำโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐบาลญี่ปุ่น คือ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ และหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐบาลไทย คือกระทรวงสาธารณสุข

    “ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณในไมตรีจิตและความห่วงใยของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีงามมาเป็นเวลานาน และการส่งมอบมอบวัคซีนโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นไปตามการส่งส่งเสริมแนวคิด Free and Open Indo-Pacific ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และไทย”

    เพิ่มหลักการร่าง กม.NGO ต่อต้านการฟอกเงิน

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ตามที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 อนุมัติหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือผลกำไรมาแบ่งปันกัน และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) นำไปประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมาย และเปิดรับความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาอีกครั้ง

    ซึ่งในวันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบเพิ่มเติมหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of terrorism: AML/CFT) จำนวน 8 ข้อ ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ

    สำหรับสาเหตุที่ต้องเพิ่มเติมหลักการร่างกฎหมายในครั้งนี้ เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Group on Money Laundering: APG) ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล (AML/CFT) โดยผลการประเมินความสอดคล้องด้านกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรของไทยรอบที่ 3 มีความสอดคล้องเพียงบางส่วน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไร ในส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จำนวน 8 ประเด็น ประกอบด้วย

    1. การจดทะเบียนและการเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน เนื่องจากปัจจุบันยังมีองค์กรไม่แสวงหากาไรจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียน และการลงโทษยังไม่เหมาะสม
    2. การเก็บรักษาข้อมูลวัตถุประสงค์ของกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุม และการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากไม่ชัดเจนว่ามีข้อมูลดังกล่าวและสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้
    3. การจัดทางบการเงินประจำปีที่แยกรายละเอียดของรายรับและรายจ่าย เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างประเทศ
    4. การควบคุมการใช้เงินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจการตรวจสอบของนายทะเบียน รวมถึงการตรวจสอบบัญชีเป็นไปอย่างครบถ้วนและการใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
    5. มาตรการยืนยันตัวตนผู้รับประโยชน์และการจัดเก็บเอกสารแสดงตนของผู้บริจาค เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว และไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนในการรับบริจาคจากต่างประเทศ
    6. การเก็บรักษารายการธุรกรรมอย่างน้อย 5 ปี และการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว
    7. บทลงโทษที่มีประสิทธิผล ได้สัดส่วน และมีผลยับยั้งการกระทำผิด เนื่องจากการลงโทษยังขาดในด้านประสิทธิผล ความเหมาะสม และมีผลยับยั้งการกระทำผิดขององค์กรไม่แสวงหากำไร
    8. การให้ข้อมูลองค์กรไม่แสวงหากำไรกับหน่วยงานต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจเปิดเผยข้อมูลองค์กรไม่แสวงหากำไรกับหน่วยงานต่างประเทศ และไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไรกับต่างประเทศ

    นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า หากประเทศไทยไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล (AML/CFT) อาจส่งผลให้ไทยไม่ผ่านการประเมินรอบที่ 4 ในปี 2568 และอาจถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องติดตามและรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เมื่อ สคก. ได้ดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว จะมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง

    ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้เจ้าของโรงงานถึง 9 มิ.ย.2565

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงานปี 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ซึ่งมีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า และคนงานไม่เกิน 50 คน และจำพวกที่ 3 หรือมีเครื่องจักรเกิน 50แรงม้าและคนงานเกินกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ ทุกขนาดเป็นเวลา 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2564 ถึง 9 มิถุนายน 2565

    ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 272 ล้านบาท โดยโรงงานจำพวกที่ 2 มีจำนวน 3,021 แห่ง มีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม 2.6ล้านบาท และโรงงานจำพวกที่ 3 จำนวน 56,010 แห่ง รายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม 269.5 ล้านบาท

    แต่จะเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการโรงงาน อันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเพื่อเป็นการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป

    ต่อเวลามาตรการภาษี หนุนลงทุน จว.ชายแดนใต้ถึงสิ้นปี’66

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติการขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 6 มาตรการ จากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจ เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 0.1 ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเหลือร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิ ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรบการขายอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.1 เป็นต้น

    มาตรการที่ 2 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า มาตรการที่ 3 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการ โดยสามารถนำมาหักรายจ่ายการลงทุนในทรัพย์สินได้ 2 เท่า มาตรการที่ 4 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (new startup) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ new startup เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี มาตรการที่ 5 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกพื้นที่ไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมิน และมาตรการที่ 6 มาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกพื้นที่กับกิจการที่มีศักยภาพในท้องที่ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นได้ 2 เท่า

    ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ประมาณการสูญเสียรายได้จาก 6 มาตรการ ประมาณปีละ 2,250 ล้านบาท แต่จะมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับประกอบด้วย เพิ่มสภาพคล่องให้แก่สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ลดต้นทุนในการประกอบกิจการ, สร้างความเชื่อมั่นและช่วยรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการ, สนับสนุนการค้าและการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ส่งเสริมการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่บุคลากร และกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การให้บริการ รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานในจังหวัดชายแดนใต้

    ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ผลิตภัณฑ์อุต ฯถึงสิ้นเม.ย.2565

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง

    โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการประสบกับภาวะรายได้ตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

    สำหรับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 64.8 ล้านบาท และการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 20 ล้านบาท

    ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จะเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการ จากภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อเป็นการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐต้องสูญเสียไป

    ขยายเวลายกเว้นภาษี บริจาคเงินแก้ปัญหาโควิด ฯอีก 1 ปี

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร สำหรับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-donation) ของกรมสรรพากร และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการสำหรับการบริจาคสินค้า ให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ซึ่งสิ้นสุดมาตรการไปเมื่อวันที 5 มีนาคม 2564 โดยการขยายเวลารอบนี้มีผลตั้งแต่การบริจาคในวันที่ 6 มีนาคม 2564-5 มีนาคม 2565 หรือขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี

    ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5 ล้านบาท แต่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 และทำให้เกิดพลังสามัคคีในประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ด้วย

    สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ในส่วนของบุคคลธรรมดากำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

    มาตรการดังกล่าวในรอบที่ผ่านมาช่วงวันที่ 5 มีนาคม 2563 ถึง 5 มีนาคม 2564 มีผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาจำนวน 53 ราย ยอดบริจาคจำนวน 3.96 ล้านบาท และผู้บริจาคที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจำนวน 64 ราย ยอดบริจาคจำนวน 22.07 ล้านบาท ซึ่ง สปน. ได้นำเงินบริจาคดังกล่าวไปใช้ในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 102 ราย

    ต่ออายุหนังสือคนประจำเรือต่างด้าวอีก 1 ปี

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ซึ่งเป็นการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 31มีนาคม 2563 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่หนังสือคนประจำเรือเดิมสิ้นอายุ โดยแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานบนเรือประมงต่อไป จะต้องยื่นคำขอตามระยะเวลาที่กรมประมงประกาศกำหนด

    ขณะเดียวกัน ครม. ยังได้อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการยกเว้นข้อห้ามไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นการกำหนดยกเว้นให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติที่หนังสือคนประจำเรือมีระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรสามารถมายื่นขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเลได้

    ทั้งนี้ ครม. ได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ กรมประมงทำหน้าที่ต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ, กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพให้และครอบคลุมถึงการตรวจโรคโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าว, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดทำสัญญาจ้างและตรวจสอบสัญญาจ้างของคนต่างด้าว,สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่คนต่างด้าว และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล และกรมการปกครอง ต่ออายุบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือบัตรสีชมพู

    ปรับหลักเกณฑ์เบิกค่ารักษาผู้ป่วยโควิด ฯ

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นการปรับปรุงรายละเอียดของฉบับก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง รวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น และไม่ครอบคลุมถึงบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายบางรายการที่มีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19

    สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้ ค่าห้องและค่าอาหารทั้งหอผู้ป่วยวิกฤติและห้องแยกโรควันละ 6,250 บาท, ค่าบริการพยาบาลทั่วไปไอซียูวันละ 7,400 บาท, ค่าบริการแพทย์ขณะส่งผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลครั้งละ 2,000 บาท, ค่ารถยนต์รับส่งต่อผู้ป่วยจากบ้านหรือโรงแรมไป-กลับครั้งละ 875 บาท, ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดโรคชุดละ 13,750 บาท เพิ่มข้อความ “ยา Remdesivir 100 mg inj. ให้เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข” เป็นต้น

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เพิ่มเติม