ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. อัดเงินกู้ช่วย “เกษตรกร-เอสเอ็มอี” 1 แสนล้าน นายกฯ แจงขอแก้ รธน. แค่เว้นใช้บางมาตราช่วงเฉพาะกิจ

ครม. อัดเงินกู้ช่วย “เกษตรกร-เอสเอ็มอี” 1 แสนล้าน นายกฯ แจงขอแก้ รธน. แค่เว้นใช้บางมาตราช่วงเฉพาะกิจ

24 กุมภาพันธ์ 2016


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

หลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์โดยการจำกัดคำถามของสื่อมวลชนครั้งแรก ภายหลังการประชุม ครม.

“ประยุทธ์” แจงชงแก้ รธน. แต่กำหนดบทเฉพาะกาล เว้นใช้บางมาตราช่วงเฉพาะกิจ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์เรื่องข้อเสนอของ ครม. ที่ยื่นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ให้ปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจ หลังเลือกตั้ง ส.ส. แล้วค่อยเข้าสู่ช่วงปกติหลังจากนั้น ว่า ถ้าพูดว่าเป็น 2 ขยัก คนอาจจะงง ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ มีแค่ฉบับเดียว เป็นเพียงการขอให้กำหนดบทเฉพาะกาลในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อให้การปฏิรูปสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง อาทิ ส.ว.ชุดแรก จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งของกลุ่มอาชีพหรือไม่ โดยเมื่อเวลาผ่านไประยะเวลาหนึ่ง อาจจะ 5 ปี เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยกลับไปใช้บทบัญญัติตามปกติ

เมื่อถามว่า ในช่วงเวลาเฉพาะกิจจำเป็นจะต้องมี คสช. อยู่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “จะอยู่ทำไม ข้อเสนอของ ครม. เมื่อเราเสนอไปแล้ว จะใช้วิธีการหรือกลไกใดก็เป็นเรื่องที่ กรธ. จะไปพิจารณากันเอาเอง แต่ผมไม่จำเป็นต้องอยู่”

เมื่อถามถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เสนอตัวเจรจากับรัฐบาล คสช. เพื่อให้ประเทศชาติสามารถเดินหน้าต่อไปได้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ท่าทีของตนต่อกรณีนายทักษิณ จะยึดกฎหมายเป็นหลัก และไม่ขอมองว่ามีเบื้องหลังอะไร

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในการจัดทำข้อเสนอของ ครม. ต่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ก่อน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หากจะให้เนื้อหาเป็นสากลเลยตั้งแต่ต้น อาจทำให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้รัฐธรรมนูญมีความไม่เป็นสากลในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยอาจใส่ไว้ในหมวดปฏิรูปหรือไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งสิ่งที่ ครม. เสนอไปเป็นเพียงแนวทาง ส่วนจะปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ กรธ. ต้องไปคิดเอาเอง คงจะไม่สามารถไปลงในรายละเอียดได้ แต่ควรจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ทำให้เกิดความระแวง เช่น การกำหนดให้จัดตั้งองค์กรพิเศษอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ขึ้นมา

ครม. อัดเงินกู้ช่วย “เกษตรกร-เอสเอ็มอี” 1 แสนล้าน

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่น่าสนใจ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบสนับสนุนเงินกู้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 3 มาตรการ รวมวงเงิน 100,500 ล้านบาท

– ครม. เห็นชอบมาตรการช่วยผู้ประสบภัยแล้งและเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกร โดยมี 3 มาตรการย่อย ตามที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอขึ้นมา ประกอบด้วย 1. เงินกู้ฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำ ให้กับลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่ประสบภัยแล้งได้นำไปใช้จ่าย โดยจะให้กู้คนละไม่เกิน 12,000 บาท คาดว่าจะมีผู้ที่ได้ประโยชน์ 5 แสนราย 2. เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 72,000 ล้านบาท เพื่อให้แต่ละตำบลจัดตั้ง SMEs เพื่อการเกษตร สำหรับนำสินค้าเกษตรไปสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะปลูกแล้วส่งให้พ่อค้าคนกลางไปขายเพียงอย่างเดียว และ 3. เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีปลูกพืช วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยจะให้กลุ่มเกษตรกรกู้ กลุ่มละไม่เกิน 3 ล้านบาท คาดว่าจะมีผู้ได้ประโยชน์ 1 แสนราย

– หลังจาก ครม. เคยมีมติสนับสนุนให้ SMEs จัดทำบัญชีเดียว ไปเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา ในวันนี้ ที่ประชุม ครม. ก็มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้ SMEs จัดทำบัญชีเดียว โดยให้ SMEs ที่จ้างนักศึกษาที่เรียนด้านบัญชี ทั้งอาชีวะและอุดมศึกษา มาช่วยสอนการจัดทำบัญชี สามารถนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาลดหย่อนภาษีได้ทั้ง 100% เนื่องจากที่ผ่านมา SMEs มักอ้างว่าไม่รู้วิธีในการลงบัญชี

– หลังจาก ครม. เคยมีมติเมื่อปี 2558 สนับสนุนแหล่งเงินกู้แก่ SMEs ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อให้ วงเงิน 5,000 ล้านบาทไป ซึ่งปรากฏว่ามีการกู้เงินไปจนครบจำนวนแล้ว มาวันนี้ ที่ประชุม ครม. ก็มีมติเพิ่มการค้ำประกันสินเชื่อให้อีก วงเงิน 13,500 ล้านบาท โดย SMEs ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะค้ำประกันให้รายละไม่เกิน 200,000 บาท เชื่อว่าจะทำให้ SMES ที่ไม่มีเงินทุนสามารถเดินต่อได้

เห็นชอบข้อตกลง ASEAN+3 ตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉิน

พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้นำความตกลงองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) และข้อเสนอของประเทศไทยในการจัดตั้ง “สำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉิน” ของอาเซียนบวกสาม พร้อมกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม พ.ศ. …. นำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

“สาระสำคัญของความตกลงนี้คือการจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาภาวะการขาดแคลนอาหารในกรณีเกิดภัยพิบัติ รวมถึงความยากจนในประเทศสมาชิก” พล.ต. วีรชน กล่าว

อนุมัติงบกลาง 2.9 พันล้าน ช่วยเกษตรกร

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเบิกจ่ายงบกลาง เพื่อดำเนินโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2558/59 ระยะที่ 2 ครั้งที่ 2 จำนวน 4,937 โครงการ รวมวงเงิน 2,967 ล้านบาท

วันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันสำหรับการใช้งบประมาณเหลื่อมปีงบประมาณ 2555-2557 หลังจากที่เคยขยายระยะเวลาจากเดิม ภายในเดือนกันยายน 2558 มาเป็นเดือนธันวาคม 2558 แต่เนื่องจากยังเหลือโครงการที่ผ่านการประมูลเรียบร้อยแล้ว แต่ยังทำสัญญาไม่แล้วเสร็จอีก 3,697 ล้านบาท จึงขยายระยะเวลาให้เป็นครั้งสุดท้าย ภายในเดือนมีนาคม 2559

ขยายเวลา zoning ร้านเหล้าใกล้สถานศึกษาทั่วประเทศ อีก 180 วัน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการดำเนินงานความคืบหน้าผลการจัดระเบียบสังคม โดยเฉพาะการจัดโซนนิ่งสถานบริการรอบสถานศึกษา ที่ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้มีการจัดโซนนิ่งสถานบริการรอบสถานศึกษา ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา อาชีวะ และมัธยมศึกษา แล้วเสร็จไปแล้ว 67 จังหวัด จากทั้งหมด 77 จังหวัด จึงขอขยายระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จอีก 180 วัน ซึ่งที่ประชุม ครม. ก็มีมติเห็นชอบ

สำหรับมาตรการดังกล่าว นอกจากการจัดโซนนิ่งสถานบริการรอบสถานศึกษาแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ ด้วย อาทิ ตรวจสอบใบอนุญาตของสถานบริการ โดยที่ผ่านมามีการเพิกถอนใบอนุญาตสถานบริการที่ออกมาโดยไม่ถูกต้อง 121 ราย จากที่ตรวจสอบทั้งหมดกว่า 1 หมื่นแห่ง, มีการสำรวจพื้นที่กิจกรรมเชิงบวกและดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือป่าวประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน, สำรวจจำนวนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา พร้อมจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดระเบียบสังคม และจัดให้มีมาตรการในการดูแลเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้ทั่วถึง เป็นต้น

เห็นชอบแนวทางจัดการแรงงานต่างด้าว ปี 59

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเรื่องแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ใน 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ใน 2 ประเด็น 1. ขยายระยะเวลาการให้แรงงานต่างด้าวที่เคยทำงานมาในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย และถือบัตรชมพู (บัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย) หรือบัตรที่ประเทศต้นทางออกให้ สามารถทำงานต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 2. ส่วนแรงงานที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว ให้ต่ออายุได้ครั้งละ 2 ปี รวมไม่เกิน 4 ครั้ง หรือ 8 ปี

“ส่วนข้อเสนอให้ยกระดับสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงาน มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการเองได้อยู่แล้ว” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

รับทราบประเมินค่าใช้จ่ายจัดตั้งศาลยุติธรรม

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานของคณะทำงานที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เป็นประธาน ที่ประเมินผลกระทบของการจัดตั้งศาลยุติธรรมในพื้นที่ต่างๆ ต่อหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ทั้งกรมราชทัณฑ์ กรมควบคุมความประพฤติ และกรมบังคับคดี ซึ่งผลการประเมินปรากฏว่า ในการจัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นมา 1 แห่ง จะต้องเพิ่มอัตรากำลังพลใน 3 กรมดังกล่าวของ ยธ. ถึง 105 คน นอกจากนี้ ยังต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกราว 250 ล้านบาท โดยผลการสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ทราบถึงอัตรากำลังและงบประมาณที่จะต้องใช้สำหรับการจัดตั้งศาลยุติธรรมขึ้นมา 1 แห่ง ซึ่งในปี 2556-2558 มีการจัดตั้งขึ้นมา 4 แห่ง และในปี 2559 จะมีการจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง

วันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ …. โดยสาระสำคัญก็คือการกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารศาลปกครอง (ก.บ.ศป.) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรกิจในศาลปกครอง ทั้งนี้ ให้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานถ้อยคำ ก่อนเสนอให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาให้ความเห็นต่อไป

ตั้ง “ยอดยุทธ” ประธานบอร์ด รฟม. – “อารีพงศ์” ประธานบอร์ด กฟผ.

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนหลายตำแหน่ง อาทิ นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม จากผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, น.ส.วรรณสิริ โมรากุล รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นอธิบดีกรมการท่องเที่ยว, นางธิดา จงก้องเกียรติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นรองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจและกรรมการองค์กรอิสระหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 5 คน โดยมี พล.อ. ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน, คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวม 10 คน โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เป็นประธาน, นายปฏิคม วงษ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), น.ส.รัชนีกร สรสิริ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวม 6 คน, กรรมการอื่นในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รวม 4 คน, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า รวม 12 คน ฯลฯ

ประกาศคุมเข้มนำเข้า “เครื่องพิมพ์สามมิติ”

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ที่ประชุม ครม. วันเดียวกัน ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ เพื่อควบคุมการนำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ เนื่องจาก พณ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องพิมพ์สามมิติ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางบวก คือ ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ วิศวกรรม และออกแบบผลิตภัณฑ์ และทางลบ คือ นำไปใช้ผลิตวัตถุที่ผิดกฎหมายและวัตถุอันตราย เช่น อาวุธปืน จึงสมควรที่จะออกประกาศนี้มาใช้บังคับ

สำหรับแนวทางการควบคุมการนำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ มี 3 ขั้นตอน 1. ให้ผู้ต้องการจะนำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติไปขึ้นทะเบียนไว้ที่กรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย 2. ให้ผู้นำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติไปจดแจ้งการนำเข้าก่อนวันที่นำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติกับกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย และนำใบจดแจ้งไปแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการนำเข้า และ 3. รายงานการนำเข้า การครอบครอง และการจำหน่ายจ่ายโอนเครื่องพิมพ์สามมิติต่อกรมการค้าต่างประเทศ