ThaiPublica > เกาะกระแส > ยังไม่ฟันธง ส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาล รธน. ยันไม่กระทบโรดแมป – มติ ครม. อนุมัติรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้าน

ยังไม่ฟันธง ส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาล รธน. ยันไม่กระทบโรดแมป – มติ ครม. อนุมัติรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้าน

28 มีนาคม 2018


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน หลังจากการตอบคำถามสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีมีการทดสอบรัฐมนตรีให้ท่องหนังสือจินดามณีคนละ 1 บท ว่า มีคนท่องให้ฟัง มีร้อยกว่าบท พร้อมย้อนถามสื่อมวลชนว่า ท่องได้กันหรือไม่ ตนนั้นท่องมาตั้งแต่เด็กแล้ว อยากให้นำสิ่งเหล่านี้ไปขับเคลื่อนกับประชาชนและประชาสังคม ให้หันมาสนใจบทกวีและบทกลอนที่ได้รังสรรค์ความคิดออกมา อยากให้คนไทยภูมิใจว่ามีภาษาของเราเองและมีจินดามณีเป็นหนังสือเรียนเล่มแรกในเรื่องโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน อยากให้อ่านหนังสือจินดามณีด้วย ไม่ใช่อ่านเพียงเรื่องบุพเพสันนิวาส

ก่อนเดินออกจากตึกบัญชาการ พล.อ. ประยุทธ์ได้กล่าวกลอนของสุนทรภู่ ในนิราศภูเขาทอง ตอนหนึ่งว่า “ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย” ขณะที่ผู้สื่อข่าวยังคงพยายามซักถามประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเลียนเสียงแม่ปริกหนึ่งในตัวละครบุพเพสันนิวาส ว่า “ฉันละเกลียดจริงๆ กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นั่นไงเสียงยายปริกไงถามแล้ว”

ยังไม่ฟัน ส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาล รธน. – ยันไม่กระทบโรดแมป

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. …. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าว่า วันนี้รัฐบาลได้รับร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวมาแล้ว และเรายังมีเวลาในการพิจารณา ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยยังมีเวลาจนถึงวันที่ 12 เมษายน 2561

“วันนี้ก็ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบตามขั้นตอนปกติอยู่ ว่าควรจะต้องมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม กำหนดการเลือกตั้งก็ยังคงอยู่ภายใต้โรดแมป แต่หากจะมีการยื่นเรื่องให้ตีความก็จะไม่น่าจะช้าเกินไป ขอเวลาให้ศาลฯ รับเรื่องเหล่านี้ไป เพราะกฎหมายลูกเป็นประเด็นสำคัญ ก็ขอให้ช่วยรัฐบาลดูแลให้อยู่ในกรอบของโรดแมปด้วย ซึ่งรัฐบาลยังยืนยันในโรดแมปของเราอยู่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นความเห็นของแต่ละฝ่าย ที่ผ่านมาอาจจะมีเจตนาดีและหวังเพื่อว่าจะให้เร็วขึ้นตามที่กระแสสังคมต้องการ แต่พอมีปัญหามากๆ ตนเองก็ไม่อยากนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะไม่ต้องการให้มีปัญหาในช่วงขั้นตอนดังกล่าว โดยร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้มีปัญหาอยู่ 2 จุด คือ ปัญหาการไปช่วยเหลือผู้พิการในการกาสิทธิเลือกตั้งแล้วให้ถือว่าเป็นการลงคะแนนลับ และเรื่องที่มีการกล่าวหาว่าไปละเมิดสิทธิกรณีห้ามข้าราชการการเมืองไปเลือกตั้งเมืองเป็นการตัดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น ถ้าใครเห็นว่ามีการไปละเมิดสิทธิตัวเองในการเป็นข้าราชการก็สามารถฟ้องได้ภายหลัง ซึ่งสิ่งสำคัญที่ตนระมัดระวังมากที่สุดคือทำอย่างไรให้ไม่มีปัญหาในขั้นตอนการขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยลงมา เรื่องนี้จะมีความขัดแย้งกันไม่ได้ ก็ขอให้เข้าใจรัฐบาลด้วย

“แล้วก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะโยนทุกอย่างขึ้นไป หรือปัดความรับผิดชอบไปที่อื่น รัฐบาลนี้ไม่ทำเช่นนั้นแน่นอน จะต้องแก้ปัญหาระดับนี้ให้ได้ก่อน และผมก็ยืนยันอยู่แล้วว่าจะไม่ให้มีการกระทบกับโรดแมป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องเคยข้องใจหรือไม่ว่าการเขียนกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งล้วนแต่เป็นมืออรหันต์ แต่วันนี้กลับทำให้เกิดข้อสงสัยได้ในหลายประเด็น ว่า เป็นการพิจารณาของทั้งสภา มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นกลไกของกฎหมายและการออกกฎหมาย ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องดีที่มีความขัดแย้ง ไม่ใช่คล้อยตามกันไปหมดทุกเรื่อง ก็ไปว่ากันมา รัฐบาลก็มีหน้าที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามที่กำหนด ก็สุดแต่ว่าจะทำได้อย่างไร รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้ว

เมื่อถามว่า สรุปแล้วจะส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ตีศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่เสร็จและยังไม่ได้พูดกันว่าจะยื่นหรือไม่ยื่น กำลังพิจารณาร่วมกันอยู่ ถ้ามีความเห็นชอบร่วมกันก็ไปพิจารณาร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร วันนี้จะเสนอให้ตีความหรือไม่ยังไม่รู้ ยังมีเวลา แต่ตนได้บอกไปแล้วว่าไม่ว่าจะยื่นตีความหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของโรดแมปด้วย

“เดี๋ยวก็จะหาว่าผมไปถ่วงเวลา เป็นทฤษฎีสมคบคิด มันไม่ใช่ พวกคุณไปคิดกันเองนั่นแหละ พวกคุณสมคบคิดกันเอง ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วรัฐบาลจะทำอะไรได้ รัฐบาลก็ต้องเดินหน้าไปตามกรอบเวลาที่กำหนดและตามกฎหมายที่มีอยู่ ผมไม่ได้ต้องการที่จะไปลากยาวอะไรทั้งสิ้น ส่วนเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะได้อย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว ถ้าท่านอยากเลือกตั้ง ก็เลือกตั้งกันเข้ามา จะเลือกได้คนดีหรือเปล่า แล้วอย่ามาโทษรัฐบาลนี้ว่าเลือกตั้งแล้วก็ได้คนไม่ดีเข้ามาอีก เพราะผมไม่ได้เป็นคนเลือกตั้งรัฐบาลกับเขา” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ที่เขียนกฎหมายไม่ได้เขียนกฎหมายแล้วมีปัญหา เพียงแต่เขาก็มีความคิดเห็นของเขา กรธ. ก็มีเสียงข้างมากและข้างน้อย ทุกคนก็ต้องฟังว่าเสียงเหล่านั้นเป็นอย่างไร เมื่อมติเป็นไปตามเสียงข้างมาก ก็แสดงว่าเสียงข้างน้อยไม่เห็นชอบ ก็ต้องมาดูว่าในประเด็นนี้จะมีปัญหาอะไรในวันหน้าหรือไม่ ตนถึงได้บอกว่า ทำอย่างไรร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ร่าง ในวันข้างหน้าจะไม่เกิดปัญหาการฟ้องร้องขึ้นมา ไม่เช่นนั้นก็จะวุ่นกันไปหมด ทำไมไปห่วงแต่การเลือกตั้ง ไม่สนใจหรือกฎหมายเขาว่าอย่างไร ทุกคนก็หวังดีกันทั้งนั้น ไม่ใช่จะไปเข้าข้างใคร เพราะถ้าเข้าข้างใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งป่านนี้จบไปนานแล้ว วันนี้จึงต้องไปพิเคราะห์ว่ากฎหมายจะมีผลกระทบในวันข้างหน้าหรือไม่ ไม่ใช่เลือกตั้งไปแล้วก็ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกันอีก แล้วจะทำอย่างไร ถ้ามันผิดแล้วทุกอย่างมันฟาวล์ทั้งหมดหรือ แล้วจะให้ตนรับผิดชอบอีกหรืออย่างไร

ปัดตอบเลือกพรรคนั่งนายกฯ คนนอก – ขอเป็นตัวเลือกสุดท้าย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงท่าทีของตัวเองในการยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกฯ คนนอกหลังเลือกตั้ง จะชัดเจนได้เมื่อใด ว่า ตนยังไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้ ถามมาหลายครั้งแล้ว โดยตามกติกาเมื่อพรรคการเมืองเสนอมาตนก็รับได้พรรคเดียว ซึ่งตนก็ยังไม่รู้ว่าจะดูพรรคไหน แต่จะพิจารณาจากนโยบายพรรค เวลายังมีก็ค่อยๆ พิจารณาไป จะรับหรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะตนก็ยังไม่รู้จะอยู่ตรงไหนเหมือนกัน วันนี้ขอทำงานไปก่อน หลายโครงการกำลังขับเคลื่อน ไม่ใช่เพื่อหวังผลทางการเมือง

“จริงๆ แล้วผมอยากให้ไปเสนอชื่อคนอื่นดูก่อน ไม่มีหรืออย่างไร ถ้ามีก็ไปขอคนอื่นดูก่อน แล้วค่อยมาพูดกับผม ไม่ใช่เอาผมเป็นตัวตั้ง ผมไม่ใช่คนเก่งดีเลิศประเสริฐศรีคนเดียวเมื่อไหร่ ไปหาคนอื่นก่อนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้วค่อยมาหาตน เดี๋ยวจะหาว่าตนอยากเป็น เดี๋ยวก็มีเรื่องอีก” นายกฯ กล่าว

ต่อคำถามว่า ในขณะนี้สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะไม่เป็นโมฆะ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกมาชัดเจน ไม่มีปัญหา การเลือกตั้งก็ไม่โมฆะ ซึ่งตนกำลังทำไม่ให้เป็นโมฆะอยู่

เมื่อถามย้ำว่า ฉะนั้น พูดได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะต้องไม่เป็นโมฆะ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมพูดไม่ได้ มันอยู่ที่คนทุกคน อยู่ที่สื่อด้วย ไม่ใช่อะไรก็นายกฯ ถ้าผมทำคนเดียวคงไม่ยากขนาดนี้หรอก แต่มันก็ไม่ได้ นายกฯ ไม่ใช่ผู้วิเศษ ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษ ฟังเพลงสิเข้าใจไหม”

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีควรจะชัดเจนเรื่องนี้ก่อนพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศใช้หรือไม่ว่าจะรับเสนอชื่อเป็นนายกฯ คนนอกหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะคนอื่นยังมีอยู่ไปหาก่อน ยังไม่รู้ว่าจะเป็นคนนอกคนใน ยังไม่รู้เลย  หลายเรื่องที่รัฐบาลทำ เมื่อเลือกตั้งแล้วเขาไม่มาทำ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ตนคงรับผิดชอบให้ไม่ได้ เพราะเป็นการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

ต่อคำถามว่าทำไมโรดแมปเลือกตั้งถึงดูแกว่งไปแกว่งมา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่แกว่งเพราะพวกสื่อแกว่งกันไปเอง

จ่อตรวจสอบพรรคการเมืองชักใย นศ.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเริ่มเคลื่อนไหวฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากมาย เพราะรู้ว่าเป็นคนกลุ่มเดิมและมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นด้วย ซึ่งอาจมีการสนับสนุนมากจากภายนอกบ้างอะไรบ้าง ตนคิดว่าไม่ใช่เจตนาบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะมีผู้บริสุทธิ์ร่วมกลุ่มเพราะหวังดี มันก็มีอยู่

“เมื่อมีแกนนำอะไรต่างๆ ก็ต้องตรวจสอบว่าเชื่อมโยงพรรคการเมืองใดหรือไม่ในการละเมิดกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลในเรื่องพรรคการเมืองด้วยในอนาคต ฉะนั้น จะเตรียมการตรวจสอบทางลึกอยู่ ไม่ได้ไปปิดกั้น เพียงแต่ขอให้เขาเข้าใจว่าวันนี้บ้านเมืองต้องการอะไร หากอยากจะเลือกตั้ง เราก็จะให้มีการเลือกตั้ง ระยะเวลาก็ออกมาหมดแล้ว กฎหมายก็ออกมาแล้ว แล้วจะเร่งเลือกตั้งได้อย่างไร แสดงว่ามีจุดประสงค์อย่างหรือเปล่าผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”

“และข้อสำคัญเท่าที่ทราบตอนนี้ ประชาชนอื่นๆ ที่เขาเดือดร้อนกำลังจะร้องทุกข์กล่าวโทษมา ผมไม่อยากให้เด็กเหล่านี้ต้องไปติดคดีความแล้วกลับมาโทษรัฐบาลอีก สิ่งอันตรายมันจะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อมีคนมาประท้วงแต่คนไม่เห็นด้วยก็มีอยู่ ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะทำอย่างไร จะบานปลายเหมือนเดิมอีก ฉะนั้น ขอให้เลิกเถอะ เพราะการจัดม็อบฝ่าฝืนคำสั่ง เมื่อมีคำสั่งขนาดนี้ยังฝ่าฝืนกันขนาดนี้ วันหน้าจะเกิดอะไรขึ้นผมไม่แน่ใจ ไม่ใช่ผมมาขู่ หลายคนบอกว่าผมมาพูดในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่มันก็เริ่มจากตรงนี้ทุกที ทุกครั้งไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

คสช. ชง ครม. เข้มมาตรการต้านโกง – โยก 14 ตำรวจค้ามนุษย์ ประเดิม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุจะมีการใช้มาตรา 44 กับข้าราชการที่ทุจริตในกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ในที่ประชุม คสช. ตนให้แนวทางในเรื่องการพิจารณาบทลงโทษการทุจริตที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น โดย คสช. ได้ออกมาตรการต่อต้าน ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตให้กับรัฐบาลเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญเสนอมาตรการให้รัฐบาลปฏิบัติ ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบตาม คสช. โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) เมื่อมีการร้องเรียนการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ ขอให้หน่วยงานราชการโดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ เริ่มต้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงทันทีภายใน 7 วันนับแต่ได้รับข้อมูลและดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

2) หากพบข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้พอเชื่อได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ให้หัวหน้าหน่วยงานราชการดังกล่าวพิจารณาการดำเนินการ ปรับย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปดำรงตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว หากเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงอาจหมุนเวียนอยู่ในกระทรวงเดิม แต่หากเป็นเรื่องที่มีความร้ายแรงหรือหากยังอยู่ในกระทรวงเดิม อาจส่งผลต่อพยานหลักฐาน ให้ปรับย้ายออกจากกระทรวงเดิมไปหน่วยงานอื่น เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งรองรับตำแหน่งข้าราชการระดับสูง 100 ตำแหน่ง ขณะที่พนักงานในรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรมหาชน จำนวน 50 ตำแหน่ง

3) หากมีกำลังพลในการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่เพียงพอ ให้สามารถร้องขอมาที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ โดยสำนักฯ จะส่งข้าราชการที่มีระดับสูงกว่าข้าราชการที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว มาช่วยดำเนินการ

4) หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลักฐานชัดเจนจนสามารถชี้มูลความผิดได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการนั้นดำเนินการทางวินัยทันทีโดยไม่ต้องรอผลคดีอาญา และหากมีข้อมูลที่สามารถส่งให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สามารถรับไปดำเนินการทางคดีอาญาได้ ขอให้ดำเนินการโดยทันที

5) หากพบว่ามีความผิดทางวินัยร้ายแรงหรือ ทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่ไม่ถึงขั้นปลดออกหรือไล่ออก ให้หน่วยงานต้นสังกัดปรับย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่น และห้ามปรับย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งสูงกว่าเดิมในระยะเวลา 3 ปี เพื่อป้องกันมิให้กลับมาคิดบัญชีแค้นกับพยาน

6) พยานต้องได้รับมาตรการการคุ้มครอง แต่ต้องมีการพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่ามีความเหมาะสมที่จะได้รับการคุ้มครองให้เป็นพยานหรือไม่ เนื่องจากบางกรณีพยานเองอาจมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย แต่อาจจะไม่ได้เป็นผู้กระทำหลักและมีหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้อง แบบนี้ต้องกันไว้เป็นพยานได้ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าพยานคนใดมีความจงใจให้ข้อมูลบิดเบือนจนทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบจะต้องถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดเช่นกัน

“หากพบว่าผิดจริงจะมีการดำเนินการทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางแพ่ง เช่น กรณีการทุจริตเงินผู้ไร้ที่พึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือกรณีของกระทรวงศึกษาธิการ มีคณะอนุกรรมการสามัญ (อ.ก.พ.) ประจำส่วนราชการระดับกระทรวงดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจจะให้ออกจากราชการไว้ก่อนก็ได้ ส่วนกรณีโทษไม่ถึงขั้นไล่ออกก็กำหนดแล้วว่าห้ามปรับย้ายสูงขึ้น หรือให้คงตำแหน่งเดิม หรือเทียบเท่าเดิม ขึ้นบัญชีไว้ 3 ปี ทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการพลเรือน และรัฐวิสาหกิจ ไม่เช่นนั้นจะไม่กลัวกัน ไม่ใช่พอตรวจสอบเสร็จก็กลับมาใหม่อีกต่อไปนี้ไม่ให้แล้ว ส่วนอีกเรื่องคือการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลไม่ตรงตามนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเกียร์ว่าง วันนี้จะเข้มงวดทั้งหมด ไม่เช่นนั้นสื่อและสังคมไม่ไว้วางใจและปัญหาจะกลับมาที่รัฐบาลอีก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามว่าสรุปแล้วมีการออกมาตรา 44 แก้ปัญหาทุจริตกองทุนเสมาฯ หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช้มาตรา 44 เพราะมีกฎหมายอยู่แล้วเพียงแต่เข้มงวดขึ้น โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนที่กล่าวไปข้างต้น สำหรับกรณีการทุจริตกองทุนเสมาฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

“ประเด็นคือทำไมอยู่นานนัก แต่เขาบอกว่ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว คราวนี้ก็ต้องไปสอบว่าใช่หรือไม่ใช่ถึงใครก็ถึงคนนั้น รัฐบาลก็เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบให้เร็วขึ้น เอาหน่วยงานภายนอกไปตรวจสอบด้วย มีทั้ง ศอตช., ป.ป.ช., ป.ป.ท, ปปง. และในส่วนของกระทรวงก็มี อ.ก.พ. ดำเนินการอยู่ และถ้าจำเป็นก็มีมาตรา 44 ประเด็นสำคัญผู้ที่มีความมัวหมองในเรื่องทุจริตหรือเรื่องอื่นทุกกรณีที่มีผลกระทบอย่างการค้ามนุษย์อะไรต่างๆ เราจะไม่มีการปรับย้าย 3 ปี ถ้ามีคดีอาญาก็เอาออกไป ให้จริงจังยิ่งขึ้น วันนี้ตัวอย่างอันแรกข้าราชการของตำรวจอาจจะเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ ระดับ พ.ต.อ. ลงมา 14 ราย ย้ายมาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และจะพิจารณาต่อว่าจะให้ออกจากราชการหรือไม่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า เชื่อหรือไม่ว่าผู้ที่ทุจริตกองทุนเสมาฯ ดำเนินการเพียงคนเดียว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องเชื่อด้วยหลักฐาน โอนเงินไปที่ใคร ถ้าไม่มีหลักฐานแล้วตนจะไปเชื่อใคร หลักฐานมีเพียงอย่างเดียวว่ามีเงินขาดหายไปจากบัญชีตรงนี้โอนเข้าไป 20 บัญชี ก็ไปดูมาอย่างไร บางทีไม่มีชื่อเจ้าของบัญชีก็ต้องไปสอบต่อจากกระบวนการธนาคารที่เป็นคนโอนเงิน มันสอบได้อีกไกลแต่ขั้นตอนแรกคนแรกโดนก่อน

เผยใช้คำตัดสินศาลปกครองวางแนวแก้วิกฤติทีวีดิจิทัล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการออกคำสั่ง ตามมาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ว่า ต้องหามาตรการที่เหมาะสม ยังไม่ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น โดยต้องคำนึงว่าจะดูแลอย่างไรในเรื่องเศรษฐกิจทางด้านนี้ และจะดูแลอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม แต่ทั้งนี้จะยึดถือคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้นเป็นบรรทัดฐานว่าจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป

“ยังมีข้อมูลไม่มีข้อมูลชัดเจนจะช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไรให้มีความเหมาะสม เพราะต้องพิจารณาถึงปัจจัยการดำเนินธุรกิจ การเยียวยา ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจเอง และความเสี่ยงในการลงทุน อีกทั้งคำนึงถึงการประมูลคลื่นในอนาคตต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างเช่นปัจจุบันนี้ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน โดยยังมีเวลาพิจารณาอยู่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันเจรจาสันติสุขฯ ยึด รธน. ไม่ทำให้เสียเปรียบ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายมาราปาตานี ออกมาแสดงความมั่นใจในรัฐบาลทหารมากกว่ารัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุย คิดว่าเป็นสัญญาณที่ดี ว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มีความก้าวหน้าไปตามลำดับ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับข้อตกลงของคู่เจรจาไทยมีหลักการของไทยอยู่แล้ว ว่าจะถือเจตนาไว้แค่นั้นอย่างไร

“นโยบายของรัฐบาลต้องการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เป็นคนโดยสมบูรณ์ เรามีมาตรการหลายอย่าง ทั้งโครงการพาคนกลับบ้านการใช้กระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าทุกคนมีเจตนาดีและหวังดีก็ต้องกลับออกมาร่วมกันทำงาน มาหากลไกขับเคลื่อนให้เป็นไปตามที่ทุกคนต้องการ อย่างวันนี้ก็มีการหารือในระดับพื้นที่ทุกส่วน ไม่ใช่พูดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของคณะกรรมการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่เหลือไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุย เป็นเรื่องการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดบรรยากาศในการพูดคุย ซึ่งการพูดคุยก็ต้องมีฝ่ายเห็นต่างและฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลต้องยืนยันกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก จะไม่ทำให้อะไรให้เสียเปรียบ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามกรณีแกนนำมาราปาตานี ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทของแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งสวนทางกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ ที่มี พล.อ. อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องแม่ทัพภาคที่ 4 ตนได้กำชับไปแล้ว แม่ทัพภาคที่ 4 อยู่ในบทบาทการสร้างสภาวะแวดล้อมให้ปลอดภัย ส่วนเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนา การเจรจา เป็นเรื่องของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ฝ่ายความมั่นคง ของกระทรวงกลาโหม และเรื่องของคณะพูดคุยที่พูดในกรอบของรัฐบาลที่มีการกำหนดชัดเจน อย่าไปพูดจนเสียหาย

ส่วนพื้นที่ปลอดภัยจะสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ จะมีโอกาสเห็นก่อนที่รัฐบาลนี้จะหมดวาระหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เรา และเราเองก็ต้องการความปลอดภัยอยู่แล้ว เร็วเท่าไร่ยิ่งดี แต่ขึ้นอยู่กับอีกฝ่ายว่าจะสามารถรับรองได้หรือไม่ หากรับรองแล้วจะมั่นใจได้หรือไม่ว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะรัฐบาลจะไม่เป็นผู้เปิดฉากใช้ความรุนแรง ไม่ได้ต้องการให้ใครบาดเจ็บทั้งสิ้น ต้องเป็นห่วงทหาร พลเรือนที่ทำงานอยู่ข้างล่างบ้าง ทำอะไรก็ตามอย่าให้เหมือนกับต่อสู้กับรัฐบาล มันไม่ใช่ นโยบายรัฐบาลนี้นิ่งอยู่แล้ว รัฐบาลเป็นคนแก้เรื่องนี้ ไม่ได้ไปแก้จากที่ไหน และจะไม่ส่งผลอะไรกับรัฐบาลหน้า ขึ้นอยู่ว่าเลือกใครเข้ามา และไม่ใช่เฉพาะเรื่องพูดคุยยังมีอีกหลายเรื่อง

สั่ง พณ. ตรวจสอบ รถเร่ Big C – ลุยตรวจรถโดยสาร เข้มสงกรานต์ปลอดภัย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ห้างค้าปลีกรายใหญ่ (Big C) ทดลองทำรถกระบะขายปลีก เจาะตลาดชุมชน ว่า ได้สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ไปตรวจสอบแล้วว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะรัฐบาลมีมาตรการคุ้มครองผู้ค้าปลีกรายย่อย จึงต้องดูว่าขัดแย้งกันหรือไม่ เพราะรัฐบาลอาจถูกเล่นงานประเด็นนี้ว่าทำให้เสียรายได้ จึงต้องพิจารณาทางกฎหมายและดูหนทางที่เหมาะสม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวไปถึงเทศกาลสงกรานต์ โดยขอให้เป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัยในปีนี้ และใช้น้ำอย่างมีคุณค่าใช้น้ำอย่างประหยัด อย่าใช้เพื่อความสนุกสนานแต่เพียงอย่างเดียว

เรื่องการเดินทางในช่วงสงกรานต์ตนนั้นเคยระบุไปแล้วว่าจะไม่เน้นเฉพาะเทศกาล แต่ให้ความสำคัญกับการเดินทางของประชาชนทั้งปี ได้สั่งการไปแล้ว ให้มีชุดตรวจไปดำเนินการตรวจสภาพยานพาหนะของผู้ให้บริการรถโดยสารต่างๆ พร้อมทั้งตรวจสารเสพติดของพลขับ รถทุกคันจะต้องทยอยดำเนินการตรวจสอบนับแต่วันนี้เป็นต้นไป หากตรวจพบรถดังกล่าวจะถูกขึ้นบัญชีไว้ และให้หยุดดำเนินการจนกว่าจะปรับปรุงให้ผ่านการตรวจสอบได้

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา-ซ้าย)

อนุมัติรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน – 224,544.36 ล้านบาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามอู่ตะเภา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกรุงเทพกับอีอีซี โดยรายละเอียดโครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน

1) ส่วนของระบบขนส่งทางรถไฟ มีระยะทาง 220 กิโลเมตร 15 สถานี แบ่งเป็นส่วนพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิเดิม 8 สถานี, ดอนเมือง-พญาไท 2 สถานี และกรุงเทพฯ-สนามบินอู่ตะเภา 5 สถานี โดยในส่วนภายในกรุงเทพฯ จะเดินรถรูปแบบเดิมที่ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่หลังออกจากกรุงเทพฯ จะเป็นรถไฟความเร็วสูง โดยใช้ระเวลาเดินทางจากต้นทางไปปลายทาง 45 นาที และหากจอดทุกสถานีจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตันในปัจจุบัน และศูนย์ซ่อมบำรุงในบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ คิดค่าโดยสารจากมักกะสัน-พัทยา 270 บาทต่อเที่ยว และจากมักกะสัน-สนามบินอู่ตะเภา 330 บาทต่อเที่ยว ในอนาคตมีแนวคิดที่จะขยายเส้นออกไปผ่านระยองจนถึงตราด ซึ่งทำให้การพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูงมีความเหมาะสม โดยคาดว่า ณ ปี 2566 ที่เปิดให้บริการจะมีปริมาณผู้โดยสาร 147,000 คนต่อวัน

2) ส่วนของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและผู้โดยสารและการดำเนินการทางพาณิชย์ แบ่งเป็นบริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ขนาดพื้นที่รวม 150 ไร่ และบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ เป็นที่ดินว่างเปล่าของ รฟท. รวมทั้งสิ้น 175 ไร่ โดยทั้ง 2 แห่งจะใช้รูปแบบการเช่า 50 ปีในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว

มูลค่าลงทุนของโครงการทั้งหมด 224,544.36 ล้านบาท แบ่งเป็น

1) เงินลงทุนระบบขนส่งทางรถไฟ 168,718 ล้านบาท ได้แก่ ค่าเวนคืนที่ดิน 3,570.29 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธาและงานวางราง 113,303.88 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธาร่วมสำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนที่ต้องเพิ่มเติม 7,210.67 ล้านบาท, ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรถไฟ 24,712 ล้านบาท, ค่าขบวนรถไฟฟ้า 15,491.32 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมและตรวจสอบ 4,429.84 ล้านบาท

2) เงินลงทุนการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของรถไฟ 45,155.27 ล้านบาท ได้แก่ ค่างานพัฒนาบริเวณสถานีรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน 40,193.26 ล้านบาท, ค่างานพัฒนาบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา 3,513.01 ล้านบาท, ค่าสาธารณูปโภค ปรับปรุงจราจร ทางเข้าออก และปรับปรุงสะพานล้อเลื่อนบริเวณมักกะสัน 1,449 ล้านบาท

3) มูลค่าสิทธิการบริหารรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 10,670.09 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) รูปแบบ Net Cost มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งเอกชนจะต้องแบ่งรายได้ให้กับรัฐตามที่ตกลงกันและเป็นผู้รับความเสี่ยงเกี่ยวกับรายได้ค่าโดยสารและปริมาณผู้โดยสารทั้งหมด โดยเอกชนจะต้องลงทุนด้านงานออกแบบ งานก่อสร้างโยธา งานเดินรถ งานการพัฒนาที่ดิน และงานบำรุงรักษา โดยส่วนงานระบบขนส่งทางรถไฟจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทันที ก่อนที่จะให้ดำเนินการต่อไป ขณะที่ส่วนของการพัฒนาพื้นที่ฯ จะให้โอนภายหลังสิ้นสุดสัมปทาน นอกจากนี้ เอกชนจะต้องรับผิดชอบค่าสิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ วงเงิน 10,671.09 ล้านบาท เพื่อรับโอนสิทธิดังกล่าวจาก รฟท. ในปัจจุบัน และค่าเช่าที่ดินสำหรับพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีมักกะสันและสถานีศรีราชา 50 ปี วงเงิน 52,337 ล้านบาท

ขณะที่รัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่าเวนคืนที่ดิน วงเงิน 3,570 ล้านบาท และกำหนดเงินร่วมลงทุนกับเอกชนไม่เกิน 119,425 ล้านบาท แบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยในการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนเอกชนสามารถเสนอขอรับเงินร่วมลงทุนจำนวนที่น้อยกว่านี้ได้ นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติให้รัฐบาลรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ที่มีอยู่ของ รฟท. 22,558.06 ล้านบาท

สำหรับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการอยู่ที่ 14.19% มีมูลค่าปัจจุบัน 50,898 ล้านบาท (ณ อัตราคิดลด 12%) และมีผลตอบแทนทางการเงินที่ 4.2% มีมูลค่าปัจจุบันที่ 77,769 ล้านบาท (ณ อัตราคิดลด 5%) และสำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะจัดทำร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อหาผู้ประมูลโครงการ และจะเสนอเข้า ครม. อีกครั้ง

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติประกาศให้พื้นที่ในเส้นทางจากสนามบินดอนเมือง-สุดเขตกรุงเทพฯ รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอีอีซีเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการภายใต้กรอบกฎหมายเดียวกันได้ โดยมีระยะทางยาวประมาณ 60 กิโลเมตร พื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ แบ่งเป็น 1) พื้นที่เขตทางรถไฟรอบราง ประมาณ 40-80 เมตร ตั้งแต่สนามบินดอนเมือง-สถานีสุวรรณภูมิ 60 กิโลเมตร 2) พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เฉพาะส่วนชานชาลาและรางที่เกี่ยวข้อง 3) พื้นที่สถานีมักกะสันและสุวรรณภูมิ

อนุมัติ 3,500 ล้านบาท จับมือญี่ปุ่นพัฒนาศักยภาพคน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติโครงการเพิ่มศักยภาพกำลังคนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค ส่วนรายละเอียดโครงการที่ดำเนินการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมผู้สำเร็จอาชีวศึกษาในทุกระดับให้มีศักยภาพและขีดความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และทันต่อเทคโนโลยีการประกอบอาชีพที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ พัฒนาสถานศึกษาต้นแบบในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ ที่มีคุณภาพสำหรับการขยายผลต่อไป และเพื่อสนับสนุนการต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S Curve) การเติมอุตสาหกรรมอนาคต (New S Curve) และตอบสนองการพัฒนาประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0

โครงการดังกล่าวจะดำเนินการทั้งสิ้น 10 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2571 วงเงิน 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ 800 ล้านบาท และเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) 2,700 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.3% ต่อปี โดย JICA มีข้อเสนอแนะที่จะมาพร้อมกับเงินกู้ เช่น จัดตั้งสถานศึกษาที่มีความเป็นเฉพาะทางในการผลิตช่างเทคนิคและนักเทคโนโลยีระดับพรีเมียมด้วยหลักสูตรต่อเนื่อง 5 ปี ระดับ ปวช. และ ปวส. โดยมีเครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย มีทุนการศึกษาไปศึกษาที่ญี่ปุ่นสำหรับนักศึกษา 3,000 ทุนและครู 500 ทุน มีการขยายผลการพัฒนาหลักสูตรด้วยความร่วมมือกับสถานประกอบการของญี่ปุ่นที่มาทำธุรกิจในไทย มีการจัดตั้งศูนย์ผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนอาชีวศึกษาและ Career Development Center เป็นต้น

อัดฉีดหมู่บ้านละ 200,000 บาท โครงการไทยนิยมยั่งยืน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. เห็นชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตาม “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” วงเงิน 20,000 ล้านบาทจากงบกลางปี 150,000 ล้านบาทที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้ โดยวันนี้จะเป็นการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยให้จัดสรรเงินอุดหนุนให้หมู่บ้านกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 83,271 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 โครงการ จำนวน 200,000 บาทต่อหมู่บ้าน วงเงินรวม 16,474.2 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้านจะต้องจัดทำโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน (เมษายน-กรกฎาคม 2561) หลังจากอนุมัติแล้วจะโอนเข้าบัญชีของกองทุนหมู่บ้านโดยตรง

ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน เช่น โครงการสร้างรายได้ให้กับประชาชน โครงการที่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โครงการยกระดับหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต โครงการที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ นอกจากนี้ พื้นที่ดำเนินโครงการจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการดำเนินการทันทีและไม่ติดข้อกฎหมายอื่นๆ เช่น พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือพื้นที่รกร้าง เป็นต้น

อนึ่ง โครงการดังกล่าวนำไปใช้กับโครงการดังต่อไปนี้

    1) ห้ามนำงบประมาณไปต่อยอดเงินกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชน หรือในลักษณะกองทุนหมุนเวียน
    2) ห้ามนำงบประมาณไปดำเนินโครงการ/กิจกรรม โดยวิธีหารเฉลี่ยหรือแบ่งเงิน สิ่งของ ให้กับประชาชนหรือครัวเรือนในหมู่บ้าน/ชุมชน
    3) ห้ามแจกจ่ายเป็นเงินหรือสิ่งของให้กับประชาชนหรือครัวเรือนในหมู่บ้าน/ชุมชน
    4) ห้ามนำไปใช้ในลักษณะให้ประชาชนกู้ยืม
    5) ห้ามดำเนินโครงการฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน การจัดนิทรรศการ
    6) ไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนแผนงานโครงการ/กิจกรรมของส่วนราชการ/หน่วยงาน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อจะดำเนินการในพื้นที่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 หรือในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
    7) ห้ามมิให้ดำเนินการที่เป็นสิ่งก่อสร้างในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับการอนุญาตตามระเบียบกฎหมายก่อนดำเนินโครงการ
    8) ห้ามก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม เกี่ยวกับศาสนสถาน สถานศึกษา/สถานที่ของทางราชการ ยกเว้น การดำเนินโครงการโดยใช้พื้นที่ภายในบริเวณศาสนสถาน สถานศึกษา/สถานที่ของทางราชการเป็นที่ตั้งโครงการที่เป็นสาธารณประโยชน์และได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จากผู้มีอำนาจในสถานที่นั้นๆ ก่อน
    9) ห้ามดำเนินโครงการในที่สาธารณประโยชน์ ยกเว้น ซ่อมแซมสาธารณประโยชน์ที่มีอยู่แล้วในที่สาธารณประโยชน์ หรือโครงการที่เป็นการดูแลป้องกันที่สาธารณประโยชน์
    10) ห้ามจัดทำโครงการซื้อครุภัณฑ์ เว้นแต่เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์จำเป็นเพื่อประกอบโครงการและจะต้องจัดทำแผนการใช้งาน บำรุงรักษา และมีคณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน หรือคณะกรรมการกลุ่ม หรือคณะกรรมการบริหารโครงการรับผิดชอบที่ชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
    11) ห้ามจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะประเภทใช้เครื่องยนต์หรือเครื่องไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร (เช่น วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น) กล้องวงจรปิด แผงโซลาร์เซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) วัสดุครุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้วและเครื่องออกกำลังกานที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

แก้กฎหมายที่ดินราชพัสดุ บังคับต้องรายงานทุก 2 ปี

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติ ร่างพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ได้แก่ 1) เพิ่มเติมคำนิยามให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยรวมที่ดินภายนอกราชอาณาจักร เช่น สถานทูต 2) กำหนดข้อยกเว้นอสังหาริมทรัพย์ที่มิใช่ที่ราชพัสดุ เช่น ที่รกร้าง ที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ฯลฯ 3) แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ โดยเพิ่มกรรมการอีก 3 ท่านที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 4) กำหนดวิธีการของการโอนกรรมสิทธิ์ของที่ราชพัสดุ ที่ราชพัสดุอื่น และที่ราชพัสดุซึ่งตั้งอยู่นอกราชอาณาจักรไทย โดยต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรัดกุม 5) กำหนดให้กระทรวงการคลังมีหน้าที่ปกครอง ดูแล บำรุงรักษา และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุทั้งที่อยู่ในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักร และการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่ไม่ถือเป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP และ 6) เพิ่มเติมบทกำหนดโทษในกรณีที่บุคคลเข้าไปในที่ราชพัสดุที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยที่ดินที่น้อยกว่า 50 ไร่มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่มากกว่า 50 ไร่ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การกำหนดให้การจัดหาประโยชน์ไม่ต้องเข้าคณะกรรมการร่วมทุน เพราะบางครั้งเป็นเพียงโครงการที่ไม่มีความซับซ้อน เช่น การเช่าที่ การเข้าที่ประชุมก็จะทำให้มีขั้นตอนที่ไม่จำเป็น แต่ในกรณีที่ซับซ้อนมากขึ้นมีการพัฒนาที่ดินต่างๆ ก็ยังคงต้องเข้าคณะกรรมการร่วมทุนพิจารณาเหมือนเดิม ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินราชพัสดุจะต้องทำรายงานมาที่กรมธนารักษ์ทุก 2 ปี เพื่อให้ติดตามการใช้งานได้ แต่เบื้องต้นวันนี้ ครม. ยังไม่ได้หารือเกี่ยวกับการนำที่ดินไปใช้ผิดประเภทหรือไม่ใช้งาน แต่คิดว่าหากต้องทำรายงานคิดว่าอนาคตแนวทางก็คงต้องนำไปใช้ให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นก็ต้องรายงานเท็จ ซึ่งจะมีความผิดอยู่ดี” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

แก้กฎหมายโอนอำนาจให้กรมธนารักษ์ ประเมินที่ดินทุก 4 ปี

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. …. เป็นการนำเนื้อหาในหมวด 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ (มาตรา 105-105 อัฏฐ) มาบัญญัติเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง มีสาระสำคัญตั้งแต่ กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และคณะกรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สินประจำจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศใช้บัญชีกำหนดมูลค่าประเมินของทรัพย์สิน กำหนดสิทธิคัดค้านของเจ้าของที่ดินในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน กำหนดอำนาจในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และกำหนดให้กรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน กรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สินประจำจังหวัด และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

“การออกกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากเดิมการประเมินมูลค่าที่ดินเป็นหน้าที่ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ต่อมาย้ายมาอยู่กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งจนถึงบัดนี้ไม่ได้มีการออกกฎหมายใหม่ แต่ใช้หลักเกณฑ์กฎหมายเดิมของกรมที่ดิน จึงปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกัน ในรายละเอียดจะมีการกำหนดให้ประเมินที่ดินทุก 4 ปีใช้ในวันที่ 1 มกราคม และต้นเผยแพร่ให้ประชาชนเตรียมตัวและตรวจสอบความถูกต้องก่อนหน้า 30 วัน ซึ่งการประเมินนี้ก็จะใช้เป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับภาษีหรือมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของรัฐต่อไป” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

อนุมัติ 1,421 ล้านบาท หนุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนข้าว

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติ อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560/61 ภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร: ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงิน 1,400 ล้านบาท รวมทั้งงบดำเนินการอีก 21 ล้านบาท เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องด้วยการส่งเสริมให้ปลูกทดแทนในพื้นที่ที่เหมาะสมกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้งหลังการทำนา ซึ่งนอกจากจะเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดสม่ำเสมอ ไม่กระจุกตัว สร้างเสถียรภาพต่อวงจรการผลิตในอุตสาหกรรม เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า และช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หมุนเวียนในระบบปลูกข้าว

สำหรับรายละเอียดโครงการจะดำเนินการในพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลางสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้งทดแทนพื้นที่นาปรัง พื้นที่ 700,000 ไร่ เกษตรกร 47,000 ราย ใน 31 จังหวัด โดยคุณสมบัติเกษตรกรจะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นหัวหน้าครัวเรือนในทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีความประสงค์เข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจที่จะเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนาในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และเหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา รายละไม่เกิน 15 ไร่ โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,000 บาท

ปรับเกณฑ์จ่ายค่าแรงงานประมงเป็น “รายเดือน”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า  ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานให้เบ็ดเสร็จ โดยร่างดังกล่าวได้มีการปรับกำหนดค่าจ้าง ให้มีการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเป็นรายเดือน โดยลูกจ้างแรงงานประมงจะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดไว้ โดยคูณด้วย 30 วันเพื่อจ่ายเป็นรายเดือน

“เดิมผู้ประกอบการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเลมีความไม่แน่นอน บ้างเป็นรายวัน บ้างรายชั่วโมง บ้างรายเดือน แต่ในครั้งนี้ต้องการให้แรงงานประมงมีรายได้ชัดเจน จึงกำหนดเกณฑ์เวลาการจ่ายค่าจ่างใหม่ โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างการทำงานในวันหยุดที่เป็นวันนักขัตฤกษ์ผ่านบัญชีธนาคารของลูกจ้าง และต้องออกค่าใช้จ่ายในการโอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้าง เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ไม่ให้เกิดการโกงค่าแรงในวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่าง” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้นายจ้างที่ทำการประมงในทะเลนอกน่านน้ำไทยจัดให้มีอุปกรณ์สื่อสารให้ลูกจ้างแรงงานประมงติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายในครอบครัวได้ในระหว่างที่ออกทะเล ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐบาลต้องการไม่ให้แรงงานประมงถูกกดขี่ข่มเหง สามารถที่บอกเรื่องราวเดือดร้อนให้กับเจ้าหน้าที่และครอบครัวได้

โดยทุกกรณีมีผลบังคับใช้หลังประกาศร่างกฎกระทรวง ยกเว้นในกรณีการจ่ายค่าจ้างในวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้มีผลหลังประกาศแล้ว 45 วัน เพื่อให้นายจ้างมีเวลาตระเตรียมเรื่องการเปิดบัญชีลูกจ้างให้ทันตามกำหนดเวลา

ต่อเวลาแรงงานต่างด้าวพิสูจน์สัญชาติ ถึง 30 มิ.ย. นี้

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการปรับเพิ่มระยะเวลาการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการตรวจลงตรา ประทับตราให้อยู่ในราชอาณาจักร ขออนุญาตทำงาน และจัดทำ ปรับปรุงทะเบียนประวัติให้แก่แรงงานต่างด้าวตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ แต่ได้มีการยื่นเรื่องขอจัดทำและปรับปรุงทะเบียนประวัติไว้กับกรมการจัดหางานแล้วภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เพื่อดำเนินการให้ครบขั้นตอนจนถึงการตรวจลงตราและประทับตรา เพื่อให้สามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศได้ถึง 31 มีนาคม 2563

อนึ่งปัจจุบัน มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ต้องดำเนินการที่ศูนย์ OSS จำนวน 1,687,473 คน ดำเนินการแล้วจำนวน 727,902 คน เหลืออีก 959,571 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีบางส่วนที่ยังดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอนที่จะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ซึ่งกระทรวงแรงงานประเมินว่าเจ้าหน้าที่คงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันภายในเวลาที่กำหนด และอาจส่งผลให้แรงงานต่างด้าวไม่สามารถอาศัยและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย และส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวได้

ไฟเขียวแรงาน 3 สัญชาติ กลับบ้านฉลองสงกรานต์ ถึง 30 เม.ย.

พ.อ. อธิสิทธ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้พิจารณาผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ทำงานในประเทศไทย ประเภทกรรมกร รับใช้ในบ้าน ช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล และผู้ประสานงานด้านภาษา สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน – 30 เมษายน 2561และกลับเข้ามาในประเทศไทยช่วงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพ้นเวลาที่กำหนดไว้แล้วจะดำเนินการตามกฎหมายปกติ โดยแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผัน ได้แก่ 1) กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู และผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 18 ปี โดยบัตรฯ จะต้องยังไม่หมดอายุการทำงาน หรือต้องไม่หมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน 2561 และ 2) กลุ่มที่ถือหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวแล้ว ที่ไม่สิ้นสุดการได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย รวมถึงผู้ติดตามที่เป็นบุตรอายุไม่เกิน 18 ปี ที่ถือเอกสารข้างต้นด้วย

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติเหมือนปีที่ผ่านมาซึ่งมีการปฏิบัติเช่นนี้มาแล้ว เช่น ให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ออกหนังสือรับรองให้แรงงานต่างด้าวที่กล่าวไปข้างต้น ให้มีการรายงานผลการเดินทางให้กระทรวงแรงงานทราบ รวมถึงสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ให้ใช้อำนาจในตำแหน่งไม่ชอบ หรือทำความผิด หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น รวมถึงให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามเฝ้าระวังโรคที่อาจจะติดมาจากแรงงานต่างด้าวในช่วงเวลาดังกล่าว” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว