รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
หนังสือ The Age of Surveillance Capitalism (ยุคทุนนิยมสอดแนม) ของ Shoshana Zuboff จาก Harvard Business School ได้รับเลือกจากสื่อต่างๆให้เป็นหนังสือธุรกิจแห่งปี 2019 เนื่องจากเป็นหนังสือที่วิเคราะห์ถึงพัฒนาการของระบบทุนนิยมในยุคดิจิทัล ที่ ผู้เขียนใช้คำว่า “ทุนนิยมสอดแนม” ซึ่งมีความหมายว่า ข้อมูลส่วนตัวของเราแต่ละคน กำลังกลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง
ทุนนิยมสอดแนมคือ ความพยายามของบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค ที่อาศัยข้อมูลส่วนตัวของคนเรา เพื่อคาดการณ์และควบคุมพฤติกรรมของเราแต่ละคน อย่างเช่น กรณีของบริษัทวิจัย Cambridge Analytica ที่รวบรวมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวของคนที่ใช้งาน Facebook กว่า 50 ล้านคน โดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากคนที่เป็นเจ้าของข้อมูล การใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้โซเชียลมีเดียดังกล่าว มีส่วนช่วยให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ในปี 2016
ระบบทุนนิยมสอดแนม
Shoshana Zuboff ให้ความหมายของ “ทุนนิยมสอดแนม” ว่าคือ “แบบแผนใหม่ทางเศรษฐกิจ ที่ประสบการณ์ของมนุษย์เรา เป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ได้แบบฟรีๆ โดยจะถูกเปลี่ยนให้กลายมาเป็นข้อมูลด้านพฤติกรรม” ข้อมูลส่วนตัวจึงกลายเป็นทรัพยากรมีค่า ทั้ง Google และ Facebook สามารถสร้างกำไรได้หลายพันล้านดอลลาร์ ที่เกิดจากการประมวลข้อมูล และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในแต่ละวันของคนเรา
ในปี 1439 เมื่อ Johannes Gutenberg ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในเวลานั้น ไม่มีใครทราบชัดเจนหรือคาดคิดว่า เครื่องพิมพ์และสิ่งพิมพ์จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคม เทคโนโลยีดิจิทัลก็มีสภาพเช่นเดียวกัน นักวิเคราะห์พยายามคาดการณ์ผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมีต่อสังคม แต่ก็ยังไม่มีใครชี้ได้แน่ชัดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว
หนังสือ The Age of Surveillance Capitalism จึงให้ภาพรวมผลกระทบของระบบดิจิทัลที่มีต่อคนเรา และตัวบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Facebook คือภาพสะท้อนการพัฒนาในรูปแบบใหม่ของระบบทุนนิยม Google เป็นบริษัทแรกที่ประดิษฐ์ “ทุนนิยมสอดแนม” ขึ้นมา และต่อมาก็แพร่ระบาดไป Facebook และ Microsoft เหมือนกับที่บริษัท General Motors เป็นองค์กรที่ประดิษฐ์ “ทุนนิยมบริหารจัดการ” (Managerial Capitalism) ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในยุคทุนนิยมการผลิตแบบมวลมาก (mass production)
Google ตั้งขึ้นมาในปี 1998 และต่อมาก็ครอบครองตลาด search engine ในอินเตอร์เน็ต ในระยะแรก Google ยังไม่เน้นเรื่องการหารายได้จากโฆษณา และก็ยังไม่รู้วิธีการที่ชัดเจนในการหากำไร แต่จากการดำเนินงาน ทำให้ Google เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ คือข้อมูลที่ได้จากการค้นหาของคนที่ใช้บริการ ข้อมูลนี้สามารถนับมาปรับปรุงระบบการค้นหา และการเพิ่มบริการใหม่ๆ ทำให้สามารถดึงดูดคนมาใช้งานมากขึ้น
โอกาสทางธุรกิจของ Google เกิดขึ้นในปี 2002 เมื่อข้อมูลของผู้ใช้งาน สามารถนำมาสร้างเป็นประวัติสั้นเรื่อง นิสัยและความสนใจคนใช้งาน หรือ Profile ทำให้ Google สามารถใช้โฆษณาที่ส่งตรงไปยังผู้ใช้งานเป็นรายคน สอดคล้องกับหลักการที่ว่า หัวใจของโฆษณา คือ การโฆษณาให้ตรงกับเป้าหมาย
เพราะเหตุนี้ แทนที่คนใช้งานจะมีฐานะเป็นลูกค้าของ Google แต่คนใช้งานกลับกลายเป็นแหล่งให้วัตถุดิบแก่ Google ด้วย Shoshana Zuboff เรียกสิ่งนี้ว่า “ส่วนเกินทางพฤติกรรม” (behavioral surplus) ที่เรียกส่วนที่เกิน ก็เพราะเป็นข้อมูลที่เกินความต้องการของ Google ในการที่จะนำมาปรับปรุงการบริการ จากความสามารถของ Google ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาใช้พยากรณ์ว่า คนใช้งานจะทำอะไรในตอนนี้ หรือในเร็วๆนี้ หรือในอีกไม่นานนี้
การพยากรณ์หรือคาดการณ์ได้ว่า คนเรากำลังจะซื้ออะไร ถือเป็นกุญแจสำคัญของการโฆษณาส่งเสริมการขาย แต่การพยากรณ์พฤติกรรมของคนเรา ยังมีคุณค่าและประโยชน์อย่างมากในอีกหลายๆด้าน เช่น การประกันชีวิต หรือการไปลงคะแนนเสียงการเลือกตั้ง เป็นต้น
คนทั่วไปพอจะเข้าใจถึงวิธีดำเนินงาน หรือโมเดลธุรกิจของยักษ์ใหญ่ไฮเทค อย่างเช่น Google, Facebook หรือ Amazon แต่ความเข้าใจที่ขาดหายไปคือ บริบทหรือนิเวศทางธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ หนังสือ The Age of Surveillance Capitalism ได้มาช่วยเติมช่องว่างของความเข้าใจที่ขาดหายดังกล่าวนี้ ทำคนเราสามารถนำเอาธุรกิจอย่าง Google หรือ Facebook เข้ามาอยู่ในบริบทเศรษฐกิจที่กว้างออกไป
Shoshana Zuboff ชี้ให้เห็นว่า ในการใช้งาน Google หรือ Facebook คนทั่วไปมักจะคิดว่า เรากำลังติดต่อสัมพันธ์กับระบบอัลกอริทึม (Algorithm) แต่ Shoshana Zuboff กล่าวว่า จริงๆแล้ว สิ่งที่คนในปัจจุบันเผชิญอยู่คือ ขั้นตอนล่าสุดของวิวัฒนาการระบบทุนนิยม ที่มีมาอย่างยาวนาน เริ่มต้นจากระบบการผลิตสินค้า พัฒนาสู่ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ทุนนิยมบริหารจัดการ ทุนนิยมการเงิน และล่าสุด คือทุนนิยมสอดแนม ที่ตรวจจับพฤติกรรมของคนใช้งาน
ทุนนิยมอุตสาหกรรมสร้างกำไรจากการใช้ประโยชน์กับทรัพยากรและแรงงาน ส่วนทุนนิยมสอดแนมสร้างกำไรจากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของคนเรา ที่เกิดจากการใช้งานอินเตอร์เน็ต การใช้แอปพลิเคชั่น และการบริโภคแบบดิจิทัล ข้อมูลส่วนตัวดังกล่าว ทำให้ธุรกิจประมวลผลได้ว่า เราคือใคร เราต้องการอะไร และเรามีแนวโน้มจะทำอะไร ทุนนิยมสอดแนมไม่ได้ทำแค่การเก็บข้อมูลพฤติกรรมของคนเรา แต่ยังต้องการมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมคนเรา เช่น การส่งข้อความโฆษณาสู่กลุ่มเป้าหมาย การชักจูงคนเราให้ไปร่วมงาน หรือการไปลงคะแนนให้ผู้สมัครเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง
การรับผิดของอัลกอริทึม
ส่วนบทความชื่อ The New Master of the Universe ของ foreignaffairs.com ให้ความเห็นว่า นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชื่อ Karl Polanyi เคยกล่าวไว้ในหนังสือคลาสสิคชื่อ The Great Transformation ว่า เรื่องราวของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ประกอบด้วยกระแสการเคลื่อนไหว 2 อย่าง คือ การขยายตลาดกว้างออกไป และการสร้างข้อจำกัดและควบคุมต่อกลไกตลาด
ในศตวรรษที่ 18 และ 19 เมื่อข้อจำกัดเรื่องการค้าถูกยกเลิกไป ที่ดิน แรงงาน และเงินทุน กลายเป็นสินค้า แต่การที่ระบบทุนนิยมไม่ถูกจำกัดควบคุม ก่อผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สังคมจึงเริ่มสร้างข้อจำกัดต่อกลไกตลาด หนังสือ the Age of Surveillance Capitalism ได้ชี้ให้เห็นว่า ทุนนิยมได้ขยายปริมณฑลใหม่ของตลาด ไปสู่ “ประสบการณ์ของมนุษย์ ที่เป็นวัตถุดิบนำมาสกัดออกมาเป็นข้อมูล นำมาสร้างเป็นคำพยากรณ์ และการนำไปขาย”
การแพร่หลายของระบบคอมพิวเตอร์ ไปยังทุกๆส่วนของชีวิต และอินเตอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ ทำให้การสกัดข้อมูลจากประสบการณ์มนุษย์ กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เรากำลังอยู่ในโลก ที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ด้านเครือข่าย ที่สามารถยึดกุมกิจกรรมของเรา ในด้านการสื่อสาร การเคลื่อนไหว พฤติกรรม และความสัมพันธ์ของคน รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกของตัวเรา
แต่จนถึงปัจจุบัน ทุนนิยมสอดแนมสามารถหลุดรอดจากการถูกจำกัดและการถูกควบคุม แบบที่ Karl Polanyi ได้เคยกล่าวไว้ว่าเป็นอีกกระแสหนึ่งของทุนนิยม เพราะทุนนิยมสอดแนมมีรูปแบบธุรกิจในยุคดิจิทัล ที่ให้บริการฟรี คนใช้งานก็ไม่ต่อต้าน เพราะสามารถใช้บริการได้โดยไม่เสียเงิน และคนใช้งานเองก็ชอบที่ข้อมูลถูกออกแบบมาให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง
Shoshana Zuboff ยอมรับว่า การควบคุมยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจ ในยุคทุนนิยมสอดแนม ไม่ใช่เรื่องง่าย โลกเราจึงตกอยู่ในสภาพคล้ายๆกับ ต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ประเทศชั้นนำทั้งหลายอาจตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา เพื่อตรวจสอบดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ “ความรับผิดของอัลกอริทึม”
แต่ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมไฮเทคกลายเป็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจ สหรัฐฯคงจะไม่จำกัดควบคุมบริษัทไฮเทคของตัวเองแล้วทำให้บริษัทของจีนกลายเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์
เอกสารประกอบ
The Age of Surveillance Capitalism, Shoshana Zuboff, PublicAffairs, 2019.
The New Master of the Universe, Paul Starr, foreignaffairs.com.