ThaiPublica > คอลัมน์ > เสียงปืน ความรุนแรง และวิกฤติการณ์ความเป็นอิสระขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินเมียนมา

เสียงปืน ความรุนแรง และวิกฤติการณ์ความเป็นอิสระขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินเมียนมา

22 เมษายน 2021


ว่าที่ร้อยเอกปิติคุณ นิลถนอม

การประท้วงรัฐประหารในเมียนมา ที่มาภาพ : The Irrawaddy – Burmese Edition https://www.facebook.com/theirrawaddyburmese

เส้นทางประชาธิปไตยในเมียนมากำลังผลิบานและเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่สังคมโลกก็ต้องกลับมาจับตามองสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมาอีกครั้งหลังนายพลมิน อ่อง หล่าย ทำการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีการใช้กำลังปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง

องคาพยพต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ ธุรกิจเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนทั่ว ตามแบบฉบับของการใช้อำนาจปิดปากผู้เห็นต่าง รวมถึงการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ

ไม่เว้นแม้แต่องค์กรตรวจเงินแผ่นดิน หรือ Supreme Audit Institution (SAI) ของเมียนมาที่เรียกว่า Office of the Auditor General of the Union of Myanmar (OAG) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศ

ดังที่ปรากฏว่ามีการปรับ Mr. U Maw Than ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นหัวหน้าสูงสุดของหน่วยงานออกจากตำแหน่ง!!!

โดยได้มีการแต่งตั้ง Dr. Kan Zaw อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายพลเต็ง เส่ง มาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งในคราวเดียวกันนี้มีการปรับตำแหน่งสำคัญระดับชาติในอีกหลายตำแหน่ง เช่น อัยการสูงสุด ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ภาพผู้ว่าการ OAG เมียนมา ในการประชุมสุดยอดผู้นำองค์กรตรวจเงินแผ่นดินอาเซียน เมื่อปี ค.ศ. 2019 (ลำดับที่ 2 จากขวา) ที่มาภาพ: https://www.audit.go.th/th/csr/event/2562-11-04-07-5th-aseansai-summit-2019-kuala-lampur-malaysia

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน OAG เมียนมาดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานองค์กรตรวจเงินแผ่นดินแห่งอาเซียน หรือ ASEAN Supreme Audit Institutions (ASEANSAI) ซึ่งมีสมาชิกรวม 10 ประเทศ และกำลังจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานต่อจาก Office of Auditor General of Malaysian Federation ของมาเลเซีย ในปลายปีนี้

OAG เมียนมามีส่วนสำคัญในการร่วมมือกับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินอื่นๆ ในเวทีระหว่างประเทศหลายโครงการ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน เช่น การพัฒนาคู่มือการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการตรวจสอบร่วม (cooperative audit) ในประเด็นการจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในลุ่มแม่น้ำโขง

การเปลี่ยนตัวผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของ OAG เมียนมาดังกล่าวย่อมส่งผลกับงานขององค์กร ทั้งในประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เรื่องนี้จึงถือได้ว่าเป็นประเด็นที่สั่นสะเทือนประชาคมองค์กรตรวจเงินแผ่นดินโลก ที่ต่างกังวลใจกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะองค์กร สตง. โลกหรือ International Organization of Supreme Audit Institutions (INTOSAI) ซึ่งมีสถานะพิเศษในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Economic and Social Council (ECOSOC) ทั้งนี้ INTOSAI มีสมาชิกทั้งหมด 193 องค์กรทั่วโลก ซึ่ง OAG เมียนมาก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย

ในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา หน่วยงานวิจัยและพัฒนาภายใต้ INTOSAI ที่มีชื่อว่า INTOSAI Development Initiatives (IDI) จึงได้มีแถลงการณ์ลงนามโดย Mr. Einar Gørrissen ผู้อำนวยการ IDI มีเนื้อความสรุปได้ว่า

IDI มีความกังวลและเป็นห่วงถึงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ รวมถึงความปลอดภัยของออดิเตอร์ และผลพวงที่ตามมาจากการเปลี่ยนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของ OAG เมียนมา และขอแสดงเจตจำนงในการสนับสนุนให้ OAG เมียนมามีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ต่อไป

สาเหตุที่ประชาคมองค์กรตรวจการแผ่นดินโลกเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นเร่งด่วนเนื่องจาก ต่างก็เห็นสอดคล้องกันว่าความเป็นอิสระขององค์กรตรวจสอบภาครัฐอย่างองค์กรตรวจเงินแผ่นดินถือเป็นปัญหา “คลาสสิก” ที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ไม่ว่าในยุคใดสมัยใด ถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เนื่องจากความเป็นอิสระนั้นถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย และจะเป็นหลักประกันที่ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมืออาชีพ เป็นกลาง เจออะไรก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ไม่มีใครที่จะมา “ชี้นกให้เป็นไม้” ได้

ซึ่งเมื่อทำหน้าที่ได้ ก็ย่อมเป็นหลักประกันที่ทำให้ประชาชนสามารถวางใจได้ว่ามีผู้ติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของทุกคน ที่จะทำหน้าที่แบบ “กัดไม่ปล่อย” และไม่มีมวยล้มต้มคนดูอย่างแน่นอน

INTOSAI ได้พัฒนาแนวทาง ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของชาติสมาชิกในประเด็นความเป็นอิสระมาตั้งแต่ก่อตั้ง เมื่อปี ค.ศ. 1953 ซึ่งพัฒนาออกมาเป็นเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ที่พูดถึงประเด็นความเป็นอิสระ คือ ปฏิญญาลิมา หรือ The Lima Declaration of Guidelines on Auditing Precepts (INTOSAI-P 1) ที่เสมือนหนึ่งเป็นแมกนา คาร์ตา หรือธรรมนูญขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลก และปฏิญญาเม็กซิโก หรือ The Mexico Declaration on Supreme Audit Institutions Independence (INTOSAI-P 10)

ในส่วนของปฏิญญาเม็กซิโกได้มีอรรถาธิบายว่า ความเป็นอิสระประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ 8 ประการด้วยกัน ได้แก่

    1. ความเป็นอิสระในทางกฎหมาย ที่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรอง
    2. ความเป็นอิสระของหัวหน้าองค์กร ในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง การเข้าสู่ตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง – กรณีของเมียนมาเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระในข้อนี้
    3. ความเป็นอิสระเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ โดยต้องมีหน้าที่และอำนาจที่เพียงพอเท่าที่จะทำหน้าที่ได้ รวมถึงความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจ
    4. ความเป็นอิสระในการเข้าถึงข้อมูล
    5. ความเป็นอิสระในการรายงานผลการตรวจสอบ
    6.ความเป็นอิสระในการกำหนดสาระสำคัญในรายงานผลการตรวจสอบ ตลอดจนกำหนดเวลาในการเผยแพร่รายงานฯ
    7. ความเป็นอิสระในการติดตามผลการดำเนินการของหน่วยรับตรวจว่าปฏิบัติตามข้อแนะนำขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่
    8. ความเป็นอิสระเกี่ยวกับงบประมาณ และการบริหาร รวมถึงการมีทรัพยากรที่เพียงพอทั้งบุคลากร วัสดุครุภัณฑ์ และเงินประมาณ
ภาพแสดงหลักการ 8 ประการซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักขององค์กรตรวจเงินแผ่นดิน ที่มาภาพ: https://sirc.idi.no/donors/donor-resource-kit/advocacy/what-is-sai-independence

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงออกถึงข้อกังวลที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ โดยเป็นความรับผิดชอบขององค์กร IDI แต่เพียงผู้เดียว เพื่อรักษาสถานะของประชาคมองค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกไว้ว่ามิได้เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก

Cicero เคยกล่าวไว้ว่าเมื่อเสียงปืนดังขึ้นกฎหมายย่อมเงียบลง (Inter arma enim silent lēgēs) แต่ในคราวนี้เห็นได้ว่าแม้เสียงปืนดังขึ้น แต่เสียงประชาชนก็ยังดังกึกก้องอยู่เช่นกัน ถือเป็นภาพที่น่าชื่นชมในความรักประชาธิปไตยของประชาชนเมียนมา ในขณะเดียวกันก็หดหู่ใจกับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายไปในทิศทางใด ได้แต่หวังว่าอย่าได้มีเหตุรุนแรง และหวังว่าเมียนมาจะกลับมาสู่เส้นทางประชาธิปไตยได้ในเร็ววันครับ

เอกสารประกอบการเขียน
https://www.mmtimes.com/news/myanmar-military-appoints-additions-key-personnel.html

https://www.audit.go.th/th/csr/event/2562-11-04-07-5th-aseansai-summit-2019-kuala-lampur-malaysia

https://thaipublica.org/2020/11/pitikhun-nilthanom-10/

https://www.idi.no/news/sai-independence/idi-statement-myanmar

https://www.idi.no/elibrary/independent-sais/1191-idi-statement-on-myanmar-march-10-2021/file

https://www.idi.no/work-streams/independent-sais/siram

https://www.issai.org/pronouncements/intosai-p-1-the-lima-declaration/

https://www.issai.org/pronouncements/intosai-p-10-mexico-declaration-on-sai-independence/

https://sirc.idi.no/donors/donor-resource-kit/advocacy/what-is-sai-independence