ThaiPublica > คอลัมน์ > อานุภาพของปัญญาประดิษฐ์ : เราจะตกงานกันหมดจริงหรือ?

อานุภาพของปัญญาประดิษฐ์ : เราจะตกงานกันหมดจริงหรือ?

31 มีนาคม 2020


ว่าที่ร้อยเอกปิติคุณ นิลถนอม

หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์

เช้านี้ผมตื่นขึ้นมาหลังเสียงนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่หยิบเครื่องเพื่อปิดเสียง สายตาก็เหลือบเห็นหน้าจอมีคำแจ้งเตือนจาก Google Map ว่าจากบ้านไปที่ทำงานวันนี้ผมจะใช้เวลามากขึ้นอีก 10 นาทีจากปกติ เพราะการจราจรติดขัดมากกว่าทุกวัน และหลังจากเปิดแอพพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์ก็พบโฆษณาขึ้นมาว่าท่านสนใจยังจะไปนครพนมหรือไม่เป็นผลพวงมาจากการที่ผมเคยค้นหาไฟลท์บินและโรงแรมไปเมื่อ 2 วันก่อน

ระหว่างวันขณะนั่งทำงาน นาฬิกาข้อมือก็สั่นเตือนว่าผมนั่งนานเกินไปแล้ว ควรจะลุกเดินบ้าง ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้ถูกเก็บบันทึกไว้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลและเชื่อมโยงไปยังโทรศัพท์มือถือ และระบบจะประมวลผลให้ไม่ว่าจะเป็นรายวันรายเดือนหรือรายปีทำให้รู้ว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเต้นหัวใจเต้นเป็นอย่างไร สุขภาพดีแค่ไหน

แม้แต่ในช่วงค่ำที่ผมได้เปิดคอนเสิร์ตวงโปรดดู ระบบก็แนะนำขึ้นมาว่าท่านน่าจะชอบวงดนตรีอีกวงที่โชว์อยู่ที่หน้าจอนี้ ซึ่งวงที่ระบบแนะนำนี้ผมไม่เคยรู้จักชื่อมาก่อนเลย แต่พอลองเปิดดูปรากฏว่าเข้าท่า ทำไมมันช่างรู้จริตเรา รู้จิตรู้ใจเรา บางทีมากกว่าตัวเราเสียอีก รู้ดีจนน่ากลัว

มีใครจับตาดูพวกเราอยู่หรือไม่ มีพนักงานบริษัทไหนจับตาดูเราอยู่ จริงๆแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence ที่เราเรียกกันสั้นๆว่า AI นี่เองที่อยู่เบื้องหลัง มิใช่มนุษย์ปุถุชนที่มีเนื้อหนังอย่างพวกเรา

ระบบพวกนี้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากวิถีชีวิตประจำวันที่เราใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในการทำธุรกรรมต่างๆ ซื้อของ ฟังเพลง ตลอดจนการค้นหาข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการทำธุรกิจของพวกเขา เรียกได้ว่าหมดยุคของการจ้างคนมาแจกแบบสอบถามเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคแบบสมัยก่อนแล้ว

อาจกล่าวสรุปได้เต็มปากว่า ในปัจจุบันนั้น ข้อมูลของมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่มีอยู่มากมายมหาศาลนั้น ระบบ AI, Machine Learning และ Deep learning สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของคนได้อย่างแม่นยำ และมักจะรู้ใจเราเสียเหลือเกิน เพราะ AI เหล่านี้วิเคราะห์ข้อมูลของเราจริงๆ ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ “มโน” หรือ “ทึกทัก” ขึ้นมาเอง แถมยังทำงานกันโดยไม่เหน็ดเหนื่อย และไม่เคยแม้แต่ง่วงนอน

นอกจากภาคธุรกิจแล้ว ในยุคที่ข้อมูลมีค่าประหนึ่งน้ำมันดิบแห่งโลกศตวรรษที่ 21 อย่างทุกวันนี้ แทบทุกวงการได้นำ AI มาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูล ทั้งในด้านการแพทย์ การบริหารราชการ และด้านอื่นๆ AI จึงถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่

ในอดีตเศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบธรรมชาติหรือแรงงานคนที่เรียกว่า Material-based economy ดังนั้นการได้ครอบครองแหล่งวัตถุดิบ เช่น น้ำมัน แรงงาน หรือดินแดน ย่อมแสดงถึงอำนาจทางเศรษฐกิจที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมาจากสิ่งเหล่านั้นได้ ในอดีตการทำสงครามเพื่อแย่งชิงสิ่งต่างๆเหล่านี้จึงเกิดขึ้นให้เห็นอย่างเนืองๆ

ดังนั้นจึงเป็นภาพชินตาในหนังสือประวัติศาสตร์ที่ประเทศชนะสงครามย่อมกวาดต้อนผู้คน “เทครัว” กลับเข้าไปยังดินแดนของตนเพื่อนำไปใช้แรงงานหรือที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” หรือแม้แต่ไม่ได้กวาดต้อนมาแต่มีสิทธิ์และอำนาจเหนือในการมี “ใบบอก” ไปยังเมืองประเทศราชนั้นๆ เพื่อให้ส่งกำลังคนมาใช้แรงงานหรือร่วมรบเมื่อยามจำเป็น เพราะในยุคโบราณ Man power คืออำนาจทางเศรษฐกิจ

ต่างจากในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจยุคใหม่ขับเคลื่อนโดยข้อมูลข่าวสาร และมีความรู้ ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลักที่เรียกว่า Knowledge หรือ creative-based economy ประเทศที่พัฒนาสิ่งต่างๆเหล่านี้ไปไกลแล้วจึงมองข้ามทัศนคติเก่าๆที่ต้องการครอบครอง หากแต่มุ่งพัฒนาหรือดึงบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในศตวรรษที่ 21 ให้ได้เป็นพอ AI จึงเข้ามามีบทบาทใน knowledge-based economy โดยจะเห็นได้ว่าความสามารถของ AI ขยายไปจนถึงการสร้างสรรค์งานในฐานะนักประพันธ์เพลง และนักเขียนแล้ว ดังปรากฎข่าวว่าศาลจีนตัดสินให้งานเขียนของ AI เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ รวมถึงเมื่อปลายปีที่แล้ว มีข่าวถึงขั้น ซิมโฟนีหมายเลข 10 ที่บีโธเฟนยังแต่งไม่เสร็จ ปัญญาประดิษฐ์ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการ “ประพันธ์” ให้จบแล้ว

มาถึงตรงนี้มีคำถามสำคัญคือในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ ความสามารถของ AI ที่แซงหน้ามนุษย์ข้างต้น จะส่งผลทำให้คนตกงานกันเกือบทุกสาขาอาชีพจริงหรือ? ในเมื่อ AI ก้าวเข้ามาทำหน้าที่แทนคนในหลายๆอย่าง เป็นถึงขั้นที่เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดบริหารในบางบริษัทก็มีให้เห็นแล้ว ดังกรณีของ Deep Knowledge Ventures นอกจากนี้หลายคนคงสะดุ้งทันทีเมื่อเห็นข่าวที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าในภูมิภาคอาเซียนจะได้รับผลกระทบจาก AI ส่งผลให้มีคนตกงานมากถึงจำนวน 200-300 ล้านคน ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะทำอย่างไรดี ในสถานการณ์แบบนี้?

ที่มา: https://50skyshades.com/news/personalities/aviation-pioneers-who-are-they-alexander-graham-bell

เราควรจะรับมือกับสิ่งนี้โดยไม่ตระหนกจนเกินไปครับ เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นแม้จะกลืนกินบางสิ่งไป แต่มันก็นำมาซึ่ง “โอกาส” ในทุกๆครั้ง ดังที่ Alexander Graham bell เคยกล่าวไว้ว่าเมื่อประตูบานหนึ่งปิด ประตูอีกบานจะเปิดเสมอ เราไม่ควรจะเสียเวลารำพึงรำพันว่าทำไมประตูถึงปิดเพราะจะเสียเวลาที่จะหันไปดูประตูที่กำลังเปิดอยู่อีกบาน

ผู้เขียนจำได้ว่าในอดีตที่ผ่านมามีอาชีพที่เกิดขึ้นและสูญหายไป เป็นวัฏจักรอยู่หลายครั้งหลายครา อาชีพใหม่ๆมักเกิดขึ้นพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเสมอ เช่นเมื่อราว 20 ปีก่อน โทรศัพท์มือถือเริ่มแพร่หลาย และมีค่าโทรทางไกลในราคาที่ประหยัดกว่าโทรศัพท์พื้นฐาน แต่ราคาเครื่องยังคงแพงอยู่ จึงมีการตั้งโต๊ะนำโทรศัพท์มือถือมาให้ผู้ใช้บริการได้โทรทางไกลกลับต่างจังหวัดกันตามซอยเล็กซอยน้อยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ราวเกือบ 20 ปีก่อนมีการตั้งโต๊ะนำโทรศัพท์มือถือมาเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้โทรทางไกล ซึ่งค่าบริการถูกกว่าการใช้โทรศัพท์หยอดตู้หรือโทรศัพท์บ้าน

ราวเกือบ 20 ปีก่อนมีการตั้งโต๊ะนำโทรศัพท์มือถือมาเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้โทรทางไกล ซึ่งค่าบริการถูกกว่าการใช้โทรศัพท์หยอดตู้หรือโทรศัพท์บ้าน
ที่มา: https://www.facebook.com/wanwaansiam/posts/366705047388226

จากโทรศัพท์มือถือที่ใช้โทรหากันในยุคนั้น มาถึงยุคปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือเป็นทุกอย่างและสามารถสื่อสารถึงกันได้ด้วยแอพลิเคชั่นแชทต่างๆ จนฟังค์ชั่นโทรศัพท์นั้นเราแทบจะไม่ได้ใช้กันแล้ว อาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนานี้ ที่เห็นชัดเจนคือแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารผ่านตัวกลางคือคนขับมอเตอร์ไซค์ ที่ “พีคสุด” คือพัฒนาไปจนถึงขนาดที่สามารถสั่งอาหารในแอปพลิเคชันโดยให้ผู้ให้บริการไปถวายพระที่วัด และให้ video call กลับมาที่ผู้ใช้บริการเพื่อรับพรจากพระสงฆ์อีกด้วย

เราจึงเห็นได้ชัดเจนว่าที่ผ่านมาในการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งนั้นโอกาสใหม่ๆจะเกิดขึ้นเสมอ เพียงแต่ว่าเราต้องปรับตัวให้ทัน และวิเคราะห์ว่าต้องปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาอะไรเพื่อที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ให้ได้

เว็บไซต์ LinkedIn ได้เก็บข้อมูลอาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และได้เผยแพร่ LinkedIn’s 2020 Emerging Jobs Report โดยอาชีพ ๓ ลำดับแรก คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence specialist) (อัตราการขยายตัว 74%) วิศวกรหุ่นยนต์ (Robotic Engineer) (อัตราขยายตัว 40%) และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) (อัตราขยายตัว 37%) นี่คือโจทย์ใหญ่ของภาครัฐที่จะต้องออกแบบหลักสูตรการศึกษา และพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับสภาวะของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป

เรื่องของการพัฒนาตลาดแรงงานนั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรตรวจเงินแผ่นดินที่เรียกว่า U.S. Government Accountability Office หรือ GAO เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของกระทรวงแรงงาน (U.S. Department of Labor) โดยเฉพาะสำนักสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics หรือ BLS) ว่าได้มีการเก็บข้อมูลสถิติเพื่อประเมินผลกระทบของ AI ที่มีต่อการจ้างงานหรือไม่ เพียงไร และเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็น เพื่อต่อสู้กับความท้าทายดังกล่าวหรือไม่

GAO ใช้ทีมตรวจสอบที่ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือตั้งแต่ภาคการศึกษา การมีงานทำ และความมั่นคงของรายได้ (education, employment and income security) โดยผลการตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Audit) พบว่า AI, หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีเกิดใหม่ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการในวงกว้าง จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ในสถานประกอบการและการสัมภาษณ์พบว่าแรงงานได้รับผลกระทบในหลากหลายด้าน จากการลดการจ้างงานลง บ้างก็ย้ายแรงงานบางส่วนไปทำหน้าที่ใหม่ บางแห่งจ้างแรงงานเพิ่มเติมบางส่วนเนื่องจากต้องการผู้ที่มีทักษะใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายและโอกาสของแรงงานชาวอเมริกัน

แต่ฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ในประเด็นข้างต้นยังไม่ได้มีการอธิบายถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นเพราะเหตุใดบ้าง และไม่เป็นระบบ ทำให้ยากต่อการประเมินว่าเทคโนโลยีเกิดใหม่ส่งผลกระทบกับการจ้างงานแค่ไหน เพียงใด ทำให้ไม่มีเครื่องมือที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะแรงงานให้เหมาะกับอนาคตได้ GAO จึงได้เสนอแนะให้กระทรวงแรงงานพัฒนาระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามผลกระทบของเทคโนโลยีเกิดใหม่ต่อตลาดแรงงานต่อไป ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ยอมรับข้อเสนอแนะดังกล่าว

กรณี GAO นั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามที่องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกมุ่งมั่นในการเสนอแนะรัฐบาลในแต่ละประเทศให้พร้อมรับมือและบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างแข็งขัน แต่ในขณะเดียวกันองค์กรตรวจเงินแผ่นดินเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากกระแสดังกล่าวเช่นกัน เพราะแม้ในบางแห่งได้มีการนำ AI มาใช้ในการสนับสนุนงานตรวจสอบบ้างแล้ว รวมถึงพยายามพัฒนาบุคลากรให้มี mindset และทักษะที่สามารถนำ AI ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ แต่ก็พบว่าบางแห่งก็ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนะคติของผู้ตรวจสอบหรือ Auditor ให้เท่าทันกับบริบทปัจจุบันได้

ในเรื่องนี้มี กรณีศึกษาขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินบราซิล (Tribunal de Contas da União หรือ TCU) ที่งานวิจัยตีพิมพ์ว่าผู้ตรวจสอบหรือ Auditor ใน TCU ได้ใช้ประโยชน์จาก AI ในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หลังจากที่ TCU นำ AI ที่ตั้งชื่อว่า ALICE, ADELE, MONICA, and SOFIA มาใช้ในองค์กรเพื่อจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data และประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า จากการตอบแบบสอบถามของ Auditor จำนวน 60 คนทั่วประเทศ การสัมภาษณ์หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านข้อมูลหรือ Chief Data Officer 1 คน นักพัฒนาระบบ IT 3 คน และ Audit Manager จำนวน 5 คน พบว่าการนำ AI ข้างต้นมาใช้นั้นยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก Auditors เห็นว่า AI ไม่มีประโยชน์มากพอ อย่างไรก็ตามมีอีกส่วนที่เห็นประโยชน์ แต่ก็ยังไม่มีความรู้ในการนำไปใช้งาน Auditor เลยยังคงยึดติดกับเครื่องมือดั้งเดิมอย่างโปรแกรมพื้นฐาน แทนที่จะใช้นวัตรกรรมใหม่ ทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนางานด้านการป้องกันการทุจริตไปเลย

งานวิจัยพบว่า Auditor ส่วนใหญ่ของ TCU ยังไม่เห็นประโยชน์ในการนำ AI มาใช้ ที่มา: https://www.researchgate.net

ในที่ประชุมใหญ่ขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินโลก หรือ International Congress of Supreme Audit Institutions เมื่อปีที่แล้วได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว จึงได้มีมติรับ “ปฎิญญามอสโก” หรือ Moscow Declaration ร่วมกัน โดยเนื้อหาของเอกสารดังกล่าวส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงการนำประโยชน์ของเทคโนลีเกิดใหม่มาใช้ ตลอดจนต้องพัฒนา Auditor ให้เป็นผู้ตรวจสอบแห่งอนาคต หรือ “Auditor of the Future” ที่มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลและใช้ประโยชน์จาก AI ให้ได้ (employ data analytics and artificial intelligence tools) ตลอดจนการสร้างนวัตรกรรมในการตรวจสอบใหม่ๆด้วย ซึ่งปฏิญญาฉบับนี้ถือเป็นเข็มทิศนำทางขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินสมาชิกทั่วโลกจำนวน 193 องค์กร ในการก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วน

ภาพหน้าปก “ปฏิญญามอสโก” ที่มา : https://www.intosai.org

นอกจากนี้ในการประชุมคราวเดียวกัน ที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยผลกระทบของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่องานตรวจสอบหรือ The Working Group on Impacts of Science and Technology on Auditing (WGISTA) เพื่อเฝ้าระวังและผลักดันให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา เพื่อที่จะทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

ไม่มีใครที่จะหลบหลีกผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือหน่วยงานตรวจสอบ การปรับตัวจะทำให้พวกเราก้าวย่างผ่านไปได้ ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ เพราะโอกาสมีอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าเราจะคว้ามันไว้หรือไม่ เท่านั้นเอง

ข้อมูลอ้างอิง

https://futurism.com/the-byte/ai-completing-beethovens-unfinished-symphony?fbclid=IwAR3aiyDlV1AFnlrNvpt7Nl_FRkyORT0WwP1fi4xwa36zzXAeNiq11s_ykyk

https://asia.nikkei.com/Business/Artificial-intelligence-gets-a-seat-in-the-boardroom

https://www.innnews.co.th/economy/news_423241/

https://50skyshades.com/news/personalities/aviation-pioneers-who-are-they-alexander-graham-bell

https://www.facebook.com/wanwaansiam/posts/366705047388226

https://blog.linkedin.com/2019/december/10/the-jobs-of-tomorrow-linkedins-2020-emerging-jobs-report

https://www.gao.gov/products/GAO-19-257?utm_source=blog&utm_medium=social&utm_campaign=watchblog

https://www.researchgate.net/publication/337604086_Artificial_Ladies_against_corruption_searching_for_legitimacy_at_the_Brazilian_Supreme_Audit_Institution

https://www.intosai.org/fileadmin/downloads/news_centre/events/congress/accords_declarations/EN_23_Moscow_Decl_300919.pdf

http://intosaijournal.org/wgista/