ThaiPublica > คอลัมน์ > แนวทางป้องกันทุจริตในร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่

แนวทางป้องกันทุจริตในร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่

15 ธันวาคม 2015


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public procurement) นับเป็นกระบวนการสำคัญในการขับเคลื่อนงบประมาณรายจ่ายเพื่อพัฒนาประเทศ แม้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างจะมีขั้นตอนและกลไกควบคุมตรวจสอบที่รัดกุมอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (Corruption in public procurement) ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาจึงพยายามปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ทันสมัย โปร่งใสและใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งในราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว1

ร่างกฎหมายฉบับนี้บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุไว้ชัดเจน โดยหนึ่งในเหตุผลที่ปรากฏในคำอธิบายร่างกฎหมาย คือ เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

น่าสนใจว่า กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้นมาภายใต้บริบทของปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งดูเหมือนยากที่เยียวยาแก้ไข หากยังขาดซึ่งมาตรการหรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ป้องกันพฤติกรรมการทุจริต

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลยุคนั้นตั้งใจจะยกระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ให้เป็นร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ…

…แต่ร่างดังกล่าวก็เป็นอันต้องตกไป ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังคงต้องปฏิบัติตามระเบียบพัสดุมานานกว่า 20 ปี

จนกระทั่งร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับล่าสุดที่กำลังจะตราเป็นพระราชบัญญัติได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว ทำให้แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างมีความชัดเจนและรัดกุมมากขึ้นเช่นเดียวกับหลายประเทศที่มี Public Procurement Act

โครงสร้างของร่างกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 130 มาตรา แบ่งเป็น 15 หมวด รวมบทเฉพาะกาล

ประเด็นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในการป้องกันปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง สรุปได้เป็น 4 ประเด็น ได้แก่
(1) การสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
(2) กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง
(3) การป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
และ (4) การลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

(1)การสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเกี่ยวข้องกับการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยในมาตรา 11 อธิบายเรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างและให้ประกาศเผยแพร่ในเว็บไซด์ของกรมบัญชีกลางและหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้การจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างจะทำให้ผู้สนใจที่จะติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภายในท้องถิ่นทราบว่าปีงบประมาณนั้น หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอะไรบ้าง

ในหมวดที่ 4 มาตรา 46-50 ของร่างได้เพิ่มบทบาทให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยเฉพาะการให้กรมบัญชีกลางประกาศเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ซึ่งมาตรานับเป็นแนวทางสำคัญในการช่วยป้องกันการทุจริตนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยรัฐช่วยประชาชนลดต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการติดตามตรวจสอบโครงการสำคัญ ๆ ต่อไปได้

ในมาตรา 96 บัญญัติให้หน่วยงานรัฐประกาศเผยแพร่สาระสำคัญหรือข้อตกลงที่ได้ลงนามแล้ว รวมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาในเว็บไซด์ของกรมบัญชีกลางและหน่วยงานรัฐ การเผยแพร่สาระสำคัญของสัญญาสอดคล้องกับหลักการเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและภาคประชาชนในการตรวจสอบสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่อาจมีเรื่องร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใส

(2)กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง

ร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและบทบาทภาคประชาชนโดยบัญญัติเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไว้ในหมวดที่ 2 (มาตรา 15-18) โดยมาตรา 16 จัดให้นำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับภาคประชาชนในการติดตาม สังเกตการณ์ ตรวจสอบโครงการสำคัญของรัฐ

ข้อตกลงคุณธรรม หรือ IP เป็นเครื่องมือที่ถูกเสนอโดย Transparency International ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

แนวคิดเรื่อง IP ในร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง บัญญัติให้ผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าสังเกตการณ์ติดตามตรวจสอบและรายงานความผิดปกติหรือพฤติกรรมการที่น่าเชื่อได้ว่าอาจเกิดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการความร่วมมือการป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.)

การเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างนั้นเป็นการลดต้นทุนการป้องกันการทุจริตโดยอาศัยภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐ โดยรัฐทำหน้าที่จัดหาเครื่องมือและให้อำนาจกับภาคประชาชนในกระบวนการมีส่วนร่วมตรวจสอบ

(3)การป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

นอกเหนือจากการบัญญัติเรื่องความโปร่งใส การตรวจสอบได้ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแล้ว ร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องการป้องกันการทุจริตอย่างมาก โดยบัญญัติการทำหน้าที่ของ คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต หรือ ค.ป.ท. ไว้ในหมวดที่ 3 ส่วนที่ 4 มาตรา 37-40

คณะกรรมการชุดนี้จะมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ การคัดเลือกโครงการที่จะเข้าร่วมป้องกันการทุจริต รวมถึงการจัดทำรายงานอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และให้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์ของกรมบัญชีกลาง

การบัญญัติให้มีคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตมากที่สุด

ค.ป.ท. จึงนับเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาช่วยภาคประชาชนให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกการป้องกันกานทุจริตได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ในอนาคตบทบาทของ ค.ป.ท.น่าจะถูกจับตามากขึ้นโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในป้องกันการทุจริตโครงการจัดซื้อจ้างขนาดใหญ่ของรัฐ

(4)การลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง

ร่างกฎหมายบัญญัติบทกำหนดโทษไว้ในหมวด 15 มาตรา 118-119 ซึ่งสาระสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่ร้ฐที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษตามกฎหมายที่กำหนดไว้ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี ปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท)

ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติบทลงโทษในกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง บทลงโทษนับเป็นการลดแรงจูงใจไม่ให้เกิดการกระทำผิดหรือทุจริตซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มต้นทุนทุจริตให้กับผู้ที่คิดจะกระทำผิด

ท้ายที่สุด เมื่อร่างกฎหมายถูกตราเป็นพระราชบัญญัติโดยสมบูรณ์แล้ว คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่า กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างฉบับแรกของประเทศไทยจะสามารถป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสมดังเจตนารมณ์หรือไม่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น …ก็คงต้องขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยว่าจะเคร่งครัดกับการใช้กฎหมายนี้เพื่อป้องกันการทุจริตอย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด

หมายเหตุ : 1 โปรดดูร่างที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 1734/2558 ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดร่างกฎหมายดังกล่าวได้ทางเว็บไซด์ Gprocurement