ThaiPublica > เกาะกระแส > ปี 2566 คนกรุงฯ ได้ใช้รถไฟฟ้าสายไหนบ้าง?

ปี 2566 คนกรุงฯ ได้ใช้รถไฟฟ้าสายไหนบ้าง?

2 มกราคม 2023


อัปเดตการก่อสร้างรถไฟฟ้าฟหลากสีของ รฟม. ปี2566 คนกรุงเทพฯ ชานเมืองจะได้ใช้รถไฟฟ้าอย่างน้อย 2 สาย “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” และ “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” เปิดให้บริการ ไม่เกินไตรมาส 3 ของปี 2566 พร้อมปักหมุด ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผนงาน) การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

อีกไม่นานการเดินทางของคนกรุงเทพฯ จะสะดวกสบายมากขึ้น เพราะปี 2566 รถไฟฟ้าอย่างน้อย 2 สาย คือ “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” และ “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” จะให้บริการประชาชนช่วงลาดพร้าว-สำโรง และแคราย-มีนบุรี คาดว่าไม่เกินไตรมาส 3 ปี 2566

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผนงาน) การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รถไฟฟ้าในโครงข่ายของ รฟม. ที่จะเปิดให้บริการในปี 2566 มี 2 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงตั้งแต่ลาดพร้าว-สำโรง จำนวน 23 สถานี ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดียว (monorail) ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% โดยดำเนินการในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนสัญญาเดียว คือ ผู้รับสัมปทานดำเนินการก่อสร้างระบบโยธาและงานระบบรถไฟฟ้า โดยบริษัท EBM (Eastern Bangkok Monorail) คาดว่าสายสีเหลืองจะเปิดใช้บริการประมาณไตรมาส 3 ของปี 2566

ส่วนสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นโครงการรถไฟฟ้าลักษณะเดียวกัน คือ ระบบรถไฟฟ้ารางเดียวหรือ monorail ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี ดำเนินการโดย NBM หรือ Northern Bangkok Monorail ปัจจุบันก่อสร้างได้ 94% คาดว่าจะเปิดใช้บริการได้ประมาณไตรมาส 3 ปี 2566 เช่นกัน

“สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระบบรถไฟฟ้าจะเป็น monorail มีรูปร่างเพรียวบาง เล็กกระชับ เพื่อเป็นระบบฟีดเดอร์ขนคนไปสู่ระบบหลัก คาดว่าทั้งสองเส้นทางจะเปิดใช้บริการประมาณครึ่งปี 2566 ไม่เกินไตรมาส 3 แต่ยังไม่ลงตัวว่าจะเปิดเดินรถเดือนไหน”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีส่วนต่อขยายเพิ่มช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี (บริเวณสระน้ำ) จำนวน 3 สถานี ระยะทางรวม 2.8 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการปี 2568

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกคาดเริ่มก่อสร้างปี’66

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของ รฟม. ประกอบด้วยรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยรถไฟฟ้าสายสีส้มแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงศูนย์วัฒนธรรม– บางขุนนนท์ ระยะทาง 13 .4 กิโลเมตร และช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร

นายสาโรจน์กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)ฝั่งก่อสร้างงานโยธาดำเนินการไปกว่า 98.48 % ใกล้แล้วเสร็จ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในลักษณะ PPP NET และเอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาของโครงการไม่รวมงานระบบไฟฟ้า แต่เนื่องจากการร่วมลงทุนกับเอกชน รถไฟฟ้าสายสีส้มรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วง ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเพียงการก่อสร้างงานโยธาทำให้การจัดประมูลสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม– บางขุนนนท์ ต้องดำเนินการทั้งงานก่อสร้างโยธา และงานระบบรถไฟฟ้าตลอดทั้งสายสีส้ม

โดยที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค 2565 รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุนระหวางรัฐและเอกชน ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และในวันที่ 27 ก.ค.2565 มีบริษัทเอกชนยื่นเสนอ 2 รายคือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) BEM และ ITD Group โดยประกาศผลการคัดเลือกเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 และบริษัทที่ชนะการประมูลคือ BEM

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอยู่ระหว่าการตรวจสอบสัญญาตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งหากอัยการตรวจสอบสัญญาแล้วเสร็จและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี บริษัทเอกชนสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการ่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568

“สายสีส้มรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม– บางขุนนนท์ อยู่ระหว่างอัยการสูงสุดตรวจสอบสัญญาคาดว่าหลังจากนั้นผ่าน ครม.ก็น่าจะสามารถก่อสร้างได้”

นายสาโรจน์ระบุว่า ลักษณะการวิ่งของรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกและตะวันตกจะวิ่งเหนือใต้ ซ้ายไปขวา -ขวาไปซ้ายโดยครึ่งตะวันตกคือจากศูนย์วัตนธรรมจุดเดียวกันวิ่งไปทางตะวันตกไปถึงบางขุนนนท์ และวิ่งจากศูนย์วัฒนธรรมไปมีนบุรี ซึ่งผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม– บางขุนนนท์ จะต้องดำเนินการ 2 ส่วนคือ งานโยธาและเดินรถไฟฟ้าตลอดเส้นทางสัญญาระยะเวลา 30 ปี

รถไฟฟ้า รฟม. เตรียมระบบ กทม. ปี 2571

ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง นายสาโรจน์บอกว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ ซึ่งวิ่งระหว่างสถานีบางซื่อจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้า รฟม. สายสีน้ำเงินซึ่งเปิดบริการไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะวิ่งผ่านเกียกกาย-สามเสน ลงไปด้านล่างของ กทม. ไปสิ้นสุดที่ราษฎร์บูรณะ บริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษก ระยะทาว 23.6 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้างและหาผู้คัดเลือกเอกชนมารับสัมปทาน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนธันวาคมปี 2570

นอกจากนี้ ยังมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง โดยจะมีลักษณะเป็นรถไฟฟ้ารางเดียว monorail แต่ยังไม่ขออนุมัติจาก ครม. โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะวิ่งจากแคราย ซึ่งเป็นสถานีใหญ่เป็นจุดสิ้นสุดของรถไฟฟ้า 3 สี คือ สายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีน้ำตาล โดยจะวิ่งจากแคราย-งามวงศ์วาน-ม.เกษตร -เกษตรนวมินทร์ ยาวไปจนถึงลำสาลี

“รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะทำคู่ขนานกับการทางพิเศษในช่วงถนนเกษตรนวมินทร์ ประมาณ 6-7 กิโลเมตร โดยสายสีน้ำตาลจะวิ่งใต้ทางด่วนพิเศษ คาดว่าจะสามารถดำเนินเปิดใช้บริการได้ประมาณ 2571”

กำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 14-42 บาท

ส่วนการกำหนดค่าโดยสาร นายสาโรจน์ระบุว่า ราคาค่าโดยสารได้กำหนดไว้แล้วในวันทำสัญญาสัมปทาน โดยการปรับราคาให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ และจะมีการปรับทุก 2 ปี โดยคาดว่าราคาน่าจะใกล้เคียงกับราคาปัจจุบันคือเริ่ม 14 บาทไปจนถึง 42 บาท

“สูตรการปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าในสัญญาสัมปทานจะคิดตามอัตราเงินเฟ้อ ที่ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะใช้เอาเงินเฟ้อตัวฐานในการปรับกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เช่น ปีที่หนึ่ง ราคา 14 บาท ปีที่สองและสาม จะดูเงินเฟ้อในปีที่สามซึ่งเป็นกลไกคร่าวๆ ของค่าโดยสารรถไฟฟ้าในทุกเส้น”

ส่วนการกำหนดค่าแรกเข้าครั้งเดียว นายสาโรจน์กล่าวว่า รฟม. มีค่าแรกเข้าครั้งเดียวอยู่แล้วหากเดินทางในโครงข่ายของรถไฟฟ้า รฟม. โดยยังไม่แตะออกจากสถานี แต่หากจะกำหนดค่าแรกเข้าครั้งเดียวร่วมกับโครงข่ายอื่น เช่น บีทีเอส อาจจะต้องเป็นเรื่องนโยบายที่จะมาพิจารณา เพราะ รฟม. เป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้บริการเท่านั้น

ขณะที่การใช้บัตรโดยสารใบเดียว นายสาโรจน์กล่าวว่า ในส่วน รฟม. ได้ดำเนินการอยู่แล้ว คือบัตรโดยสาร EMV เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่สามารถใช้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ ขสมก. พร้อมทั้งชำระค่าบริการสินค้า และพัฒนาการใช้บริการของผู้ใช้บริการที่จอดรถยนต์ โดยสามารถดูข้อมูลที่จอดว่างแบบเรียลไทม์

อย่างไรก็ตาม การใช้บัตรโดยสารร่วมใบเดียวกับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของโครงสร้างข่ายของ รฟม. นายสาโรจน์กล่าวว่า อาจจะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับนโยบาย แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้รับสัมปทานแต่ละเส้นทางมีสัญญาที่แตกต่างกัน และมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารเอาไว้ในสัญญาอยู่แล้ว

”มันจะเกิดขึ้นได้ แต่ว่าไม่ง่ายนัก เพราะว่ารถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทางมีผู้บริหารจัดการโดยผู้รับสัมปทานหลายราย และแต่ละรายมีสัญญาของตัวเอง และมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารอยู่แล้ว ซึ่งหากจะเกิดขึ้นได้ กระทรวงคมนาคมหรือกรมรางอาจจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ซึ่งเกินอำนาจของ รฟม. เนื่องจากเป็นเพียงผู้ให้บริการรายหนึ่งเช่นเดียวกับบีทีเอสและการรถไฟแห่งประเทศไทย”

ส่วนปัญหากรณีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มติ ครม. ได้โอนทรัพย์สินและหนี้สินของ รฟม. ไปให้ กทม. ดำเนินการ แต่ กทม. อาจจะพิจารณาขอให้โอนกลับมาให้ รฟม. ดำเนินการนั้น นายสาโรจน์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร รฟม. ก็พร้อมดำเนินการตามนั้น