ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ปมส่วนต่างเงินอุดหนุน 6.8 หมื่นล้าน

“รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ปมส่วนต่างเงินอุดหนุน 6.8 หมื่นล้าน

24 ตุลาคม 2022


ศึกชิงสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปี หลังจากเกิดปมพิพาทกันระหว่างการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจ้าของโครงการ กับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BTSC” ผู้ประมูลงาน จากการประมูล รอบแรก รฟม.เปิดขายซองประกวดราคาไปแล้วมาเปลี่ยนกติกาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลกันภายหลัง ทำให้การประมูลรอบแรกต้องล้มลง นำไปสู่การเปิดประมูลรอบที่ 2 ปรับเพิ่มหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูล ทั้งคุณสมบัติและเทคนิคให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นจนผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอการประมูลรอบแรก ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในรอบที่ 2 ได้ จนกลายเป็นคดีมหากาพย์ ฟ้องร้องกันที่ศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตามอีกอย่างน้อย 4 คดี ยังไม่มีทีท่าจะจบลงอย่างไร

ที่มาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ก่อนเข้าสู่ประเด็นที่เป็นปัญหาข้อพิพาทกัน ขอย้อนกลับไปดูที่มาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2553 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งในแผนดังกล่าวโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรวมอยู่ด้วย แต่มาเริ่มลงมือทำกันอย่างจริงจังในช่วงปลายปี 2558 ที่ประชุม ครม.วันที่ 8 ธันวาคม 2558 มีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยแบ่งโครงการออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนแรก เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซีกตะวันออก เริ่มจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ไปจนถึงสถานีสุวินทวงศ์ มีนบุรี โครงการซีกนี้รัฐลงทุนเองทั้งหมด โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบฯมาเวนคืนที่ดิน รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งกู้เงินให้ รฟม. จ้างเอกชน เข้ามาลงทุนออกแบบก่อสร้างทางรถไฟ , สถานียกระดับและใต้ดิน 17 สถานี รวมระยะทางทั้งสิ้น 22.5 กิโลเมตร กำหนดระยะเวลาก่อสร้างเสร็จเรียกร้อย เปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2567

ส่วนที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซีกตะวันตก เริ่มจากสถานีบางขุนนนท์ บริเวณตลิ่งชันไปสิ้นสุดที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โครงการซีกนี้ที่ประชุม ครม.ให้ใช้วิธีคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งต่อมาที่ประชุม ครม. วันที่ 28 มกราคม 2563 ได้มีอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-สุวินทวงศ์ โดยใช้รูปแบบการร่วมลงทุน หรือที่เรียกว่า “PPP Net Cost” ตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเสนอ (คณะกรรมการ PPP) โดยในเบื้องต้นให้ รฟม.รับผิดชอบค่าเวนคืนที่ดิน ส่วนเอกชนที่ผ่านการคัดเลือก ต้องลงทุนออกแบบและก่อสร้างรางรถไฟ สถานีไฟฟ้าใต้ดินตลอดทั้งสายจำนวน 11 สถานี รวมระยะทาง 13.4 กิโลเมตร รวมทั้งลงทุนจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า , ขบวนรถไฟ และซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง (ซีกตะวันออกและตะวันตก) ไปก่อนและ รฟม.ทยอยจ่ายคืนให้ในภายหลัง โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนจะได้รับสัมปทานจากเดินรถตลอดทั้งสาย (ทั้งซีกตะวันออกและซีกตะวันตก) เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ รฟม.เปิดให้มีการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออกอย่างเป็นทางการไปจนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการร่วมลงทุน ซึ่งตามแผนเดิมนั้นกำหนดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569

เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภาคแรก

หลังจาก ครม.ผ่านความเห็นชอบและอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเรียกร้อย รฟม.ก็มาแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนฯ พ.ศ. 2562 เปิดรับฟังความเห็นภาคเอกชน หรือ ที่เรียก “Market Sounding” นำข้อมูลที่ได้มาใช้ประกอบการยกร่างเงื่อนไขการประมูล TOR กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน (RFP) ไปจนถึงเรื่องการยกร่างสัญญาการร่วมลงทุน จนกระทั่งคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ได้ข้อสรุปและผ่านความเห็นชอบ ให้ใช้ข้อเสนอทางการเงิน หรือ ผลตอนแทน เป็นเกณฑ์ตัดสินคัดเลือกผู้ชนะการประมูลในเวลาต่อมา โดยมีหลักการง่ายๆ คือ ภาคเอกชนรายใดเสนอผลตอนแทนให้แก่รัฐสูงสุด หรือ ขอรับเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างจากรัฐน้อยที่สุด เป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนข้อเสนอทางด้านคุณสมบัติ กับข้อเสนอทางด้านเทคนิคเอาแค่ผ่านเท่านั้น ไม่มีคะแนน

วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 รฟม.ออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซีกตะวันตก พร้อมเงื่อนไขการการประมูล TOR หรือ “Request For Proposal: RFP” เปิดขายซองประกวดราคาตั้งแต่วันที่ 10-24 กรกฎาคม 2563 ยื่นซองประกวดราคาวันที่ 23 กันยายน 2563

ITD ชง รฟม.ขอเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกใหม่ หลังขายซองแล้ว

ปรากฎว่า บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ITD” ทำหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกส่งถึงนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2563 และฉบับที่ 2 ส่งถึงนายประภาศ คงเอียด อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สศร.) ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ทั้ง 2 ฉบับมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน คือ “ไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้”

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดทั้งสาย งานก่อสร้างมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะต้องขุดอุโมงค์ และสถานีผ่านพื้นที่ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีโบราณสถาน และสถานที่สำคัญ ๆหลายแห่ง รวมทั้งต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จึงต้องใช้เทคนิคการออกแบบทางวิศวกรรม และวิธีการก่อสร้างชั้นสูง ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในด้านต่าง ๆ… รวมทั้งการจัดหาระบบรถไฟฟ้า และการบริหารจัดการเดินรถ ก็ต้องมีประสิทธิภาพเป็นตามมาตรฐานสากล และมีความปลอดภัยสูงสุด จึงไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างปกติ แต่เป็นการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ทางบริษัท ITD จึงขอให้ รฟม. และสำนักรัฐฯ พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอ เพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกให้มีความเหมาะสม ชัดเจน ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ทำหนังสือตอบข้อหารือผู้ว่าการ รฟม.ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ว่ากรณีที่ ITD ขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูลว่า “เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ปี 2562 จึงขอแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อ รฟม. เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป”

แก้เกณฑ์ใหม่ เน้นเทคนิค 30% – ราคา 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดชนะ

วันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ครั้งที่ 13/2563 มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอของเอกชนใหม่ ให้สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่องรายละเอียดร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุนปี 2563 จึงกำหนดเกณฑ์การประเมินใหม่ โดยให้นำคะแนนทางด้านเทคนิคซึ่งมีน้ำหนักอยู่ที่ 30% มารวมกับคะแนนข้อเสนอด้านราคาซึ่งมีน้ำหนัก 70% ผู้ประมูลรายไหนได้คะแนนรวมสูงสุด เป็นผู้ชนะ ซึ่งแตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตรงที่ว่าการพิจารณาซองคุณสมบัติและซองเทคนิคแค่ผ่าน หรือ ไม่ผ่านเท่านั้น ถ้าไม่ผ่าน ก็คือ “ตกรอบ” ไม่มีสิทธิเสนอราคา

จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือก ฯได้มีมติให้ขยายเวลายื่นซองออกไปอีก 45 วัน จากเดิมกำหนดยื่นซองวันที่ 23 กันยายน 2563 เลื่อนไปเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มาซื้อซองทุกรายได้มีเวลาในการเตรียมตัวในการจัดทำข้อเสนอทางด้านเทคนิคและราคามากขึ้น

BTSC ร้องศาลปกครอง เปลี่ยนกติกาคัดเลือกผู้ชนะไม่ชอบ กม.

การที่ รฟม.เปลี่ยนแปลงกติกา หรือ เปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูล ภายหลังจากที่ขายซองประกวดราคาไปแล้ว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปมขัดแย้ง วันที่ 17 กันยายน 2563 บริษัท BTSC ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะฉบับใหม่ พร้อมกับกล่าวหาคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และ รฟม.แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองสั่งคุ้มครองการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกแบบใหม่ของ รฟม.เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ทาง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ระงับคำสั่งของศาลปกครองกลางที่สั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว

จนกระทั่งมาถึงกำหนดวันยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 (เลื่อนจากวันที่ 23 กันยายน 2563 ) มีผู้มายื่นซองข้อเสนอ 2 ราย คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) , บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) แต่ รฟม.ก็ไม่ได้ดำเนินเปิดซองประกวดราคาแต่อย่างใด เพราะอยู่ระหว่างรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลปกครอง

รฟม.ประกาศล้มประมูลรถไฟสายสีส้ม-BTSC ไม่รับซองประมูลคืน

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 มีมติยกเลิกการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คืนเอกสารข้อเสนอ พร้อมคืนเงินค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้ผู้ยื่นซองทั้ง 2 ราย เพื่อเตรียมเปิดประมูลใหม่ โดยผู้ที่ซื้อซองเอกสาร RFP เดิมมีสิทธิขอรับเอกสาร RFP ใหม่ โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าซื้อซองเอกสารใหม่อีก ปรากฏว่าทางกลุ่ม BTSC ไม่ได้ไปขอรับซองข้อเสนอคืนแต่อย่างใด

BTSC ร้องศาลปกครอง ยกเลิกประมูลไม่ชอบ กม.

จากนั้น รฟม.ก็ไปยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ และขอจำหน่ายคดีต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตามที่ รฟม.ร้องขอ ทางกลุ่มบริษัท BTS จึงไปฟ้องศาลปกครองกลาง เป็นคดีที่ 2 กล่าวหาผู้ว่าการ รฟม.มีคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งไปฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวหาคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และผู้ว่าการ รฟม.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนใน RFP ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีที่ 3

ศาลปกครองยกฟ้อง แต่วินิจฉัย-ปรับเกณฑ์การคัดเลือก ไม่ชอบด้วยกม.

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ BTSC ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และรฟม. กรณีที่ไปเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งในคำพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลได้วินิจฉัยว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนดังกล่าว (REP) ถือเป็น “คำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอบแรก จบลงด้วยการยกเลิกงานประมูล โดยประเด็นข้อพิพาทตรงที่การแก้ไขกติกา หรือ ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูล ภายหลังจากที่ รฟม.ขายซองประกวดราคาไปแล้ว นำไปสู่คดีพิพาทกันที่ศาลปกครองกลาง 2 คดี และที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯอีก 1 คดี

  • แก้ TOR ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผิดกฎหมาย-ขัดมติ ครม.หรือไม่?
  • เปิดคำพิพากษา ศาลปกครองยกฟ้องคดีแก้ TOR ประมูล ‘รถไฟฟ้า สายสีส้ม’
  • เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภาค 2

    คราวนี้มาต่อกันที่ภาค 2 รฟม.เริ่มกลับมาทำกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก เป็นครั้ง 2 โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนในระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 – 6 มีนาคม 2565 รวมทั้งจัดพิธีลงนามข้อตดลงคุณธรรม (Integrity Pact) ในวันที่ 4 เมษายน 2565 โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ 6 คน ได้แก่ นายอนันต์ เกษเกษมสุข ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร นางสาวอรสา จินาวัฒน์ นายชาญชัย พงศ์ภัสสร นายกิตติเดช ฉันทังกูล และนายการุณ เลาหรัชตนันท์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน , ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนไปจนถึงขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน

    BTSC วืด ยื่นซองประมูลไม่ได้ หลัง รฟม.เพิ่มเกณฑ์คัดเลือกใหม่

    จากนั้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 รฟม.ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 โดยเปิดขายซองประกวดราคาในระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 – วันที่ 10 มิถุนายน 2565 กำหนดยื่นซองข้อเสนอ 27 กรกฎาคม 2565 มีผู้สนใจเข้ามาซื้อซองทั้งหมด 14 ราย แต่พอไปเปิดดูหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน พบว่า รฟม.มีการปรับหลักเกณฑ์การให้คะแนนด้านเทคนิคให้สูงขึ้น โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อเป็นไม่น้อยกว่า 85% เปรียบเทียบกับการประมูลครั้งแรกกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 80% และผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้คะแนนรวมทุกหัวข้อไม่น้อยกว่า 90% จากเดิมกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 85% ถึงจะถือว่าผ่านการประเมินด้านเทคนิค

    นอกจากนี้ยังกำหนดประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอในการก่อสร้างงานโยธา ต้องเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐที่แล้วเสร็จ (สร้างเสร็จเรียบร้อย) ภายในระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภท เป็นอย่างน้อย อันได้แก่ งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ , งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน หรือ ยกระดับ และงานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่ 3 แบบไม่ใช้หินโรยทาง ซึ่งแตกต่างจากการประมูลครั้งแรก ผลงานการก่อสร้างงานโยธาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ แต่อยู่ระหว่างการดำเนินงานมีการตรวจรับและเบิกจ่ายเงินแต่ละงวดงานมาใช้ในการยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกแทนได้

    ปรากฏว่า ทางกลุ่ม BTS และพันธมิตร ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลงานนี้ได้ เพราะไม่มีประสบการณ์งานโยธาครบทั้ง 3 ประเภทตามที่ TOR กำหนด โดยเฉพาะผลงานการออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะที่แล้วเสร็จ

    ศาลปกครองพิพากษา ล้มประมูลรอบแรก ไม่ชอบ กม.

    ก่อนที่จะถึงกำหนดเปิดรับซองข้อเสนอจากผู้ประมูลงาน วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ศาลปกครองกลาง พิพากษา “เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และประกาศของ รฟม. กรณียกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ครั้งแรก) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” รฟม.ก็ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง

    รฟม.เดินหน้าเปิดซองประกวดราคา

    ถึงกำหนดวันยื่นซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 มีผู้มายื่นข้อเสนอ 2 ราย คือ 1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BEM” 2. กลุ่ม ITD ประกอบด้วยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ Incheon Transit Corporation บริษัทเดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ ส่วนบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BTSC” ไม่ได้มายื่นซองประมูล แต่ไปร้องศาลปกครองกลาง ขอทุเลาการบังคับใช้ หรือ ยกเลิก TOR และ RFP การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเอกสารการคัดเลือกเอกชนดังกล่าว อาจเข้าข่ายกีดกันการแข่งขัน ทำให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งแรก ไม่สามารถเข้าการประมูลในครั้งที่ 2 ได้

    รฟม.ตรวจคุณสมบัติ-เทคนิค “BEM-ITD” ผ่านฉลุย

    วันที่ 1 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 เปิดซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ (ซองที่ 1) ของ BEM แล้ว ITD ใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติกว่า 20 วัน รฟม.ประกาศให้ผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่มผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 วันรุ่งขึ้น รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ก็เปิดซองข้อเสนอทางด้านเทคนิค (ซองที่ 2)

    เปิดซองราคา BEM ให้ผลประโยชน์ตอนแทนรัฐสูงสุด

    ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ก็ประกาศให้ผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่ม เป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค ในวันเดียวกันนั้น รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ก็เปิดซองข้อเสนอที่ 3 เป็นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอนแทน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ซองราคา” พบกลุ่มบริษัท BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท ส่วนกลุ่ม ITD เสนอผลประโยชน์สุทธิ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขผลประโยชน์สุทธินั้น คำนวณมาจากเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ประมูลงานเสนอให้แก่ รฟม. หักลบด้วยยอดการขอรับเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธาจาก รฟม. หมายความว่า หากผู้ประมูลงานรายใดเสนอผลประโยชน์สุทธิมีตัวเลขติดลบน้อย ก็จะทำให้ รฟม.จ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด

    BTSC กางราคาเทียบ พบประมูลรอบ 2 แพงกว่ารอบแรก 6.8 หมื่นล้าน?

    หลังจากที่เรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวขึ้นมา วันที่ 9 กันยายน 2565 บริษัท BTSC ทำหนังสือถึง รฟม. ขอรับซองเอกสารการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2563 คืนในวันที่ 12 กันนายน 2565 โดยบริษัท BTSC นำซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนซองที่ 3 ที่เคยยื่นไว้กับคณะกรรมการคัดเลือก ฯ เมื่อปี 2563 มาเปิดให้สื่อมวลชนดู โดยการประมูลครั้งนั้น กลุ่ม BTSC เสนอผลประโยชน์สุทธิ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ -9,675.02 ล้านบาท ขณะที่กลุ่ม BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน -78,287.95 ล้านบาท หรือ พูดง่าย ๆ การขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาจาก รฟม.ครั้งที่ 2 มีตัวเลขแตกต่างจากการประมูลรอบแรกถึง 68,612.93 ล้านบาท ทำให้ รฟม.ออกมาชี้แจงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ไม่ได้พิจารณาเฉพาะข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอนแทนเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติและเทคนิคด้วย วันที่ 16 กันยายน 2565 รฟม.ประกาศให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างเป็นทางการ


    หลังจากกลุ่ม BTSC ไปเบิกซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ซองราคา” ที่เคยยื่นไว้กับ รฟม.เมื่อปี 2563 ออกมากางเปรียบเทียบภายใต้หลักเดียวกัน คือข้อเสนอผลประโยชน์สุทธิ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้สังคมสงสัย และมีคำถามตามมาว่างานประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีสม รอบที่ 2 นี้ ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างแพงกว่าการประมูลรอบแรกถึง 68,612 ล้านบาท จริงหรือ? กดดันไปยังรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบการประมูลครั้งนี้ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาต่อรองราคา เพื่อนำเสนอบอร์ด รฟม. และครม.ผ่านความเห็นชอบ ก่อนนัดวันเซ็นสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มกับ BEM จะไปต่อได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่ประชาชนผู้ใช้บริการต้องติดตามกันต่อไป…

  • ACT จี้รัฐสอบปมส่วนต่างประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 6.8 หมื่นล้าน
  • ป้ายคำ :