นายกฯ วอนสื่ออย่าเสนอข่าว “2 ป.” ลงพื้นที่ปาดหน้า ยันไม่ได้ผูกขาเขาไว้-ไปเวลาเดียวกันได้ไม่มีปัญหา แจงลงพื้นที่สุพรรณบุรี ช่วยชาวบ้าน 113 ราย ไร้ที่ทำกิน มติ ครม. ขอเงิน ปตท. 4,300 ล้านบาท ตรึงค่าไฟ 4 เดือน เพิ่มเงินสมทบ กอช. ดึงแรงงาน 19 ล้านคน ออมหลังเกษียณรับ 12,000 บาท/เดือน อนุมัติ 5,945 ล้านบาท จัดเลือกตั้ง ส.ส.
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการเดินทางไปตรวจราชการที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรีในช่วงบ่ายของวันนี้ว่า “เป็นหมายกำหนดการล่วงหน้าที่มีมาหลายวันแล้ว ทั้งนี้ เพื่อไปดูแลแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกันให้แก่เกษตรกร ไปในเวลาราชการ ซึ่งเป็นการทำงานตามกรอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ไม่ได้ไปเรื่องอื่นเลย”
วอนสื่ออย่าเสนอข่าว “2 ป.” ลงพื้นที่ปาดหน้า
ส่วนการลงพื้นที่จังหวัดชุมพรในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเปิดเวทีปราศรัยครั้งแรกในนามของพรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องของพรรค เดี๋ยวว่ากันอีกที”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็จะมีการลงพื้นที่ในจังหวัดเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “ใครจะไปก็ไปสิ แผ่นดินผืนนี้ใครจะไปไหน ก็ไปได้ไม่ใช่ หรือใครจะไปก่อนไปหลังก็ไม่เห็นมีปัญหา ผมไม่ได้ขัดข้อง เพราะฉะนั้นอย่าไปนำเสนอข่าวทำนองนี้เลย ผมว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น”
ถามว่า ตอนนี้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะพรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “แน่นอน ก็บทบาทของผมต้องเปลี่ยนตามวาระที่ไป อะไรที่เป็นเรื่องของรัฐบาลก็คือ ฐบาล ผมเป็นนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ดูแลคนทั้งประเทศทุกจังหวัดอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ติดตามแผนงานโครงการที่ทำไปแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร มีปัญหาตรงไหน ก็ไปแก้ตรงนั้น ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนของพรรคที่ต้องหาเสียง ก็ว่ากันไป ผมก็ต้องกำหนดบทบาทตัวเองให้ชัดเจน ก็เท่านั้นเอง”
ยันไม่ได้ผูกขาเขาไว้-ไปเวลาเดียวกันได้ไม่มีปัญหา
กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า พล.อ. ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้คนทั่วไปมองว่าเป็นการปาดหน้ากันนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “ผมไม่ได้ผูกขาเขาไว้ และท่านก็ไม่ได้ผูกขาผม ผมจะไปไหนก็ไปได้ หรือจะไปเวลาเดียวกันก็ได้ไม่มีปัญหา”
แจงลงพื้นที่สุพรรณบุรี ช่วยชาวบ้าน 113 ราย หาที่ทำกิน
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เวลา 15.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางถึงจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อตรวจราชการ
โดยเมื่อเดินทางถึง นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังพื้นที่ใช้ประโยชน์ ณ แปลงจัดสรร ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง เพื่อตรวจติดตามพื้นที่ทำกิน กรณีชาวบ้านไร้ที่ทำกิน 113 ราย ร้องเรียนการขอจัดที่ดินทำกินล่าช้า ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรม และเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ตามคำสั่งของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนประชาชนจำนวน 113 ราย ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนขอความช่วยเหลือเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินที่ล่าช้าที่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกลุ่มผู้ร้องเรียน พร้อมได้นำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้เร่งหาทางแก้ไขปัญหาคลี่คลายความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ไร้ที่ทำกินทั้ง 113 รายให้มีที่ทำกินโดยเร็ว
จากนั้นในเวลาประมาณ 16.00 น. นายกรัฐมนตรีจะพบปะกับประชาชนที่ได้รับจัดสรรพื้นที่ใช้ประโยชน์ ณ ห้องประชุม อบต. วังยาว ก่อนจะเดินทางกลับ โดยในเวลาประมาณ 17.35 น. จะเดินทางถึงสนามบินเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพฯ
มติ ครม. มีดังนี้
ขอเงิน ปตท. 4,300 ล้านบาท ตรึงค่าไฟ 4 เดือน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงอยู่ กรอบวงเงิน 7,500 ล้านบาท สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน โดยจะใช้แหล่งเงินจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะมาจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉินประมาณ 3,200 ล้านบาท และส่วนที่ 2 เป็นเงินสนับสนุนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีก 4,300 ล้านบาท โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ในพื้นที่ของ กฟน. และ กฟภ. ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2566 โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
- ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า จำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่า Ft เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์/หน่วย
- ผู้ใช้ไฟฟ้า ระหว่าง 151 – 300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า จำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วยโดยมีผลต่างค่า Ft เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์/หน่วย
ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 19.66 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,500 ล้านบาท หรือประมาณ 1,868.06 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 มีนาคม 2565 และ 19 เมษายน 2565) เห็นชอบมาตรการด้านราคาค่าไฟฟ้า โดยการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่พฤษภาคม – สิงหาคม 65 โดยวงเงิน 1,724.90 ล้านบาท และ มติคณะรัฐมนตรี (13 กันยายน 2565) เห็นชอบช่วยเหลือ ค่า Ft แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือนระยะเวลา 4 เดือน (เดือนกันยายน- ธันวาคม 65) วงเงิน 9,128.4120 ล้านบาท ด้วย ทำให้รัฐบาลได้ช่วยค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นไปแล้ว 18,353.362 ล้านบาท
เคาะ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” เปิดลงทะเบียน ก.พ.นี้
นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,946,434,800 บาท เพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงินรวม 2,016,000,000 บาท และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย วงเงิน 1,930,434,800 บาท ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งภาคแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 11 ล้านคน ทั้งนี้ คาดว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 12,539 ล้านบาท
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
1. โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงินรวม 2,016 ล้านบาท โดยมีแนวทางในการดำเนินงานดังนี้
-
1.1 การลงทะเบียนใช้สิทธิเข้าโรงแรมที่พักจำนวนห้องพัก 560,000 สิทธิ์/ห้อง รัฐสนับสนุนร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/คืน สูงสุด 5 ห้อง
1.2 คูปองอาหาร/ท่องเที่ยว (e-voucher) 600 บาท/วัน
1.3 พื้นที่ดำเนินการ : ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
1.4 ระยะเวลาดำเนินการ : เดือนกุมภาพันธ์- กันยายน 2566
1.5 ผู้รับประโยชน์จากโครงการ : ประชาชนไทยที่เข้าร่วมโครงการและใช้สิทธิ และผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวที่เข้าร่วม
สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com พร้อมติดตั้งเป๋าตัง โดยต้องจองห้องพักล่วงหน้าก่อนเดินทาง 7 วัน ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิจำนวน 5 สิทธิ สำหรับประชาชนที่เคยใช้สิทธิแล้ว สามารถกดให้ความยินยอม consent ในระบบได้ เลย โดย 5 สิทธิดังกล่าว ไม่นับรวมสิทธิที่ใช้แล้วในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคล เช่นเดียวกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการที่มุ่งให้เกิดการใช้จ่ายและการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการบรรเทาภาระของประชาชน คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนการกำหนดวันที่ชัดเจนจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้ โครงการ ฯ ยังมีแนวทางป้องกันการทุจริต : ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดให้มีระบบแสดงจำนวนห้องพักของแต่ละโรงแรม/ที่พัก หากมีการจองเกินจำนวนห้องที่แจ้งไว้ ระบบจะสามารถจำกัดการจองได้ โดยมอบให้ ททท. สำนักงานสาขาในประเทศ เป็นผู้ดำเนินการ และเพื่อป้องกันการขึ้นราคาห้องพักเกินจริง จึงให้มีการระบุในแบบฟอร์มยินยอม (consent) ให้ชัดเจน หากโรงแรมที่พักเจตนาขึ้นราคาห้องพักเกินจริง สามารถเอาผิดเรียกเงินคืน และระงับการจ่ายได้ รวมทั้งต้องได้รับโทษถึงการตัดสิทธิในการเข้าร่วมทุกโครงการของรัฐบาล รวมทั้งจะมีระบบสแกนใบหน้าของผู้ใช้สิทธิในการเช็คอินเข้าพักและการใช้ e-voucher เพื่อป้องกันการใช้บัตรประชาชนผู้อื่นสวมสิทธิ
2. โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยกับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น วงเงินรวม 1,930.4348 ล้านบาท โดยมีแนวทางการดำเนินกิจกรรมดังนี้
-
2.1 การกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยจากต่างประเทศ โดยเน้นการนำเสนอ Soft Power ผ่าน Digital Market และกิจกรรมทางการตลาด
2.2 กระตุ้นท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) ให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวบ่อยครั้งขึ้น
2.3 การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เผยแพร่และสร้างกระแสการเดินทางภายในประเทศ ภายใต้แคมเปน Amazing Thailand, Amazing New Chapters
2.4 การยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว
สำหรับพื้นที่ดำเนินการ คือ จังหวัดทั่วประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์- กันยายน 2566 ซึ่งเป้าหมายของโครงการฯ เพื่อช่วยผลักดันและสนับสนุนการสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2.38 ล้านล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการอยู่ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลสงกรานต์ และวันหยุดต่อเนื่องจากนักขัตฤกษ์ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และสิงหาคม ช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับประเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นการช่วงชิงโอกาสในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่รุนแรงและมาตรการเดินทางระหว่างประเทศไม่มีข้อจำกัดด้วย
เพิ่มเงินสมทบ กอช.ดึงแรงงาน 19 ล้านคน ออมหลังเกษียณรับ 12,000 บาท/เดือน
นายอนุชา กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสม และเงินสมทบ พ.ศ. …. ปรับเพิ่มให้สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับสมาชิกในอัตราที่กำหนดตามช่วงอายุไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การจ่ายเงินสะสมสูงสุดของสมาชิก ขั้นต่ำ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (จากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2558 เดิมขั้นต่ำ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี) ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 16,800 บาท
2. การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาล
- สมาชิกอายุไม่เกิน 30 ปี บริบูรณ์ ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 600 บาทต่อปี)
- สมาชิกอายุเกิน 30 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 50 ปีบริบูรณ์ ในอัตราร้อยละ 80 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 960 บาทต่อปี
- สมาชิกอายุเกิน 50 ปีบริบูรณ์ ในอัตราร้อยละ 100 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม การเพิ่มจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบ เป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ประมาณ 19 ล้านคนทั่วประเทศ ให้เข้าร่วมกองทุน ซึ่งเป็นการออมร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน รวมทั้งกระตุ้นสมาชิก กอช. เพิ่มการออม สร้างความมั่นคงในอนาคตให้สมาชิกมีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง ยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัยในอัตราที่เพิ่มขึ้น ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรียังเน้นเป้าหมายของกองทุนฯ มุ่ง ให้การดูแลบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใดๆ อย่างเช่น เกษตรกร โดยหวังให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังมีรายได้ในการดำรงชีวิตในยามชรา ซึ่งในปี 2566 มีสมาชิก กอช. ประมาณ 2,575,000 คน
อนึ่ง กระทรวงการคลัง ยังประเมินว่า จำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม โดยเงินบำนาญที่คาดว่าจะได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในบัญชีประกอบด้วยเงินสะสมของสมาชิก เงินสมทบจากรัฐ และผลตอบแทนจากการนำเงินดังกล่าวไปลงทุน
อนุมัติ 5,945 ล้านบาท จัดเลือกตั้ง ส.ส.
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง จำนวน 5,945,161,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็นค่าใช้จ่าย ดังนี้
-
1. รายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ดำเนินการโดยสำนักงาน กกต. จำนวน 5,104,546,750 บาท อาทิ ภารกิจในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภารกิจเตรียมความพร้อมบุคลากร วิทยากร และเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกระดับ รวมทั้งภารกิจจัดการเลือกตั้งกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการลงคะแนน/เลือกตั้งใหม่/ แทนตำแหน่งที่ว่าง
-
2. รายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการโดยหน่วยงานสนับสนุน ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ รวม 10 หน่วยงาน วงเงิน 840,614,250 บาท อาทิ ภารกิจสนับสนุนการควบคุมและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักร โดยกระทรวงการต่างประเทศ ภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภารกิจสนับสนุนการรณรงค์เผยแพร่ความรู้การเลือกตั้ง โดยกระทรวงศึกษาธิการ ภารกิจขนส่งบัตรเลือกตั้งและวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้ง หนังสือแจ้งเจ้าบ้านและอื่นๆ โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากอายุของสภาผู้แทนราษฎรว่า จะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ
ยกเว้นภาษีลงทุนอสังหาฯ ผ่าน “กองทรัสต์” ถึงสิ้นปี’67
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เช่น ผลตอบแทนที่ได้จากค่าเช่าน้อยลง ภาคเอกชนจึงต้องการนำกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แปลงสภาพไปเป็นกองทรัสต์ ทำให้ช่วยลดต้นทุนและลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และ ยกร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
-
1. มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว โดยดำเนินการยุบกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง1) แล้วแปลงสภาพเป็นกองทรัสต์ ซึ่งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีระยะเวลาดำเนินการโอนทรัพย์สินให้กองทรัสต์ นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
-
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม ดังนี้ มาตรการทางภาษี ประกอบด้วย 1)ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นใบทรัสต์ อันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์ (ปัจจุบันภาษีอัตราร้อยละ 0-35) 2) ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สำหรับมูลค่าของฐานภาษีรายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการโอน หรือก่อทรัพย์สิทธิ หรือสิทธิใดๆ ในทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์ (ปัจจุบัน ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 3.3 และอากรแสตมป์ร้อยละ 0.5) ส่วนมาตรการค่าธรรมเนียม คือ กำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด ประเภทมีทุนทรัพย์ อันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์ ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน เหลือร้อยละ 0.01 แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (ปัจจุบัน มีค่าธรรมเนียมในการโอนร้อยละ 2)
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดิน ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับ คือ 1.ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์สำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์ พ.ศ. …. และ 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารชุดสำหรับการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์ พ.ศ. …. เสนอ ครม. พิจารณาต่อไป เพื่อรองรับมาตรการด้านค่าธรรมเนียมตามร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นี้ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ทางภาษีประมาณ 3,500 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 3,092 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และภาครัฐยังสามารถจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ หลังจากแปลงสภาพเป็นกองทรัสต์ได้เพิ่มขึ้น โดยจะมีธุรกรรมที่มีการขยายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม เช่น การโอนอสังหาริมทรัพย์ การจำนองอสังหาริมทรัพย์ และการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ผ่าน พ.ร.ก.ปราบอาชญกรรมออนไลน์
ดร.รัชดา กล่าวว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพมีการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงิน ผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยายตัวรวดเร็วและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 ตุลาคม 2565 มีคดีออนไลน์เกิดขึ้นกว่า 114,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 22,000 ล้านบาท เฉลี่ย 800 คดีต่อวัน อีกทั้ง ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ สามารถระงับการทำธุรกรรมใดๆ ที่ต้องสงสัยว่าเป็นธุรกรรมที่กระทำผิดทางอาญา โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีผู้อื่นที่อยู่ในขบวนการเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า บัญชีม้า ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระงับการทำธุรกรรมหรืออายัดเงินได้ทันท่วงที
ดังนั้น ครม. จึงมีมติอนุมัติร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. …. เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างเร่งด่วน ร่างพระราชกำหนดนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่หลอกลวงประชาชนให้โอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และลงโทษผู้ที่เปิดบัญชีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาใช้ในการกระทำความผิดอาญา โดยมีรายละเอียด อาทิ
-
1. กำหนดให้มีกลไก “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกำหนดหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน
2. สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล
3. ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้
4. สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเท่าที่จำเป็น เกี่ยวกับข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ข้อความสั้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกัน
5. ขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรม อาทิ
-
5.1 กรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงาน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรม แล้วแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมต่อไปทันทีเป็นการชั่วคราว หากตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุสงสัย ให้สามารถดำเนินการทำธุรกรรมต่อไปได้
5.2 กรณีได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรมและแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 48ชั่วโมง และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นภายในเวลา 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง
6. การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน สามารถแจ้งผ่านทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ กรณีแจ้งทางโทรศัพท์ให้ผู้ระงับการทำธุรกรรมบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
7. กำหนดบทลงโทษ แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
-
7.1 ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
7.2 ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมให้รับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบทั้งหมดทุกประเด็นเสียก่อน เพื่อให้การตรวจพิจารณาร่างพระราชกำหนดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคุ้มครองและปกป้องประชาชนจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ ทั้งนี้ ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
ต่อมาตรการภาษีหนุนเอกชนใช้ “e-Tax” ถึงสิ้นปี’68
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ออกไปอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อ 31 ธันวาคม 2565) โดยออกเป็นร่างกฎหมาย รวม 2 ฉบับ คือ 1.ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ 2.ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Withholding Tax ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหักและนำส่งภาษีผ่านระบบ e-Withholding Tax มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ปี 2565 มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยมีผู้ประกอบการใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.34 เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายผ่านระบบ e-Withholding Tax เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 83.63 เมื่อเทียบกับปี 2564
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ มีดังนี้
-
ฉบับแรก ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ เป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป ซึ่งเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้ 1)ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในระบบใบกากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) เช่น การจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 2)ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในระบบภาษี หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เช่น การจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้นำส่งภาษี 3)ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการระบบใบกากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) และระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) จากผู้ให้บริการ เช่น ค่าบริการของผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือค่าบริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
-
ฉบับที่สอง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ มีสาระสำคัญ เป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) โดยนิติบุคคล (ไม่รวมมูลนิธิหรือสมาคม) และบุคคลธรรมดา จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่มีอัตราร้อยละ 5 ร้อยละ 3 และร้อยละ 2 ลดเหลือร้อยละ 1 (จากเดิมที่ลดร้อยละ 2) สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์นี้ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 20 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ 1)ส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Withholding Tax อย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย 2) ลดต้นทุนการจัดทำ การจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการเสียภาษีของภาคเอกชน และ 3) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e – Withholding Tax) จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น ปีละประมาณ 9,800 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจต่อไป
ตั้งนิคมอุตฯ ใน EEC – ลำพูน 2 โครงการ มูลค่า 6 พันล้าน
ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการลงทุนจัดซื้อที่ดินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดลำพูน รวม 2 โครงการ ดังนี้
-
1. โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,385 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากรายได้และเงินสะสมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งหมด โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลสำนักทอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม มีเนื้อที่ประมาณ 1,482 ไร่ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ เป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่น คาดว่าพื้นที่จะถูกขายหรือให้เช่าหมดภายใน 5 ปี หลังก่อสร้างเสร็จ ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 13,920 คน และเกิดผลผลิตรวมให้กับประเทศในสาขาต่างๆ มากถึง 1,542.34 ล้านบาท
-
2. โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดลำพูน มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,160 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากรายได้และเงินสะสมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งหมด โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลมะเขือแจ้ และตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและคลังสินค้า มีเนื้อที่ประมาณ 653 ไร่ และที่ดินถนนทางเข้าประมาณ 25 ไร่ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม แปรรูปอาหาร และ Bio Technology สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ เป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่นเช่นกัน คาดว่าพื้นที่จะถูกขายหรือให้เช่าหมดภายใน 5 ปี หลังก่อสร้างเสร็จ ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 8,415 คน และเกิดผลผลิตรวมให้กับประเทสในสาขาต่างๆ มากถึง 277.85 ล้านบาท
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ควรมีแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถซื้อที่ดินจากเอกชนได้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งอาจพิจารณาทบทวนรูปแบบการลงทุนใหม่ โดยเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่กับการพัฒนาขยายพื้นที่ในนิคมอตุสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เดิมได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป
อนุมัติ 686 ล้าน พัฒนาเครือข่ายดูแลสุขภาพจิต ปชช.
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต กรอบวงเงิน 686.07 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 – 2570 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีบุคลากรด้านสุขภาพจิตรวม 5,946 คน (คิดเป็น 8.99 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก) และแต่ละปีจะผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตได้ 488 คนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริการประชาชน
โครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และยกระดับคุณภาพบริการสุขภาพจิตให้ประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล โครงการนี้มีเป้าหมาย คือ เพิ่มกำลังคนด้านสุขภาพจิต จำนวน 2,950 คน แบ่งเป็น 1.ด้านจิตแพทย์ทั่วไป 150 คน 2.ด้านพยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวช 1,500 คน 3.ด้านพยาบาลเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช 100 คน 4.ด้านนักจิตวิทยาคลินิก 400 คน 5.ด้านนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช 400 คน 6.ด้านนักกิจกรรมบำบัดจิตเวช 250 คน 7.ด้านเภสัชกรจิตเวช 150 คน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 – 2570 ส่วนวิธีการดำเนินโครงการ อาทิ 1.ประสานความร่วมมือกับสภาวิชาชีพ สถาบันฝึกอบรมของทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อจัดทำแผนร่วมกัน โดยพัฒนาบุคลากรเดิมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น 2.พัฒนาศักยภาพสถานบริการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มหน่วยผลิตบุคลากรจิตเวชจากต้นทุนที่มีอยู่ และ 3.ติดตามประเมินผลการพัฒนาบุคลากรแต่ละสาขาและระบบบริการจิตเวชและยาเสพติด
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ 1.สามารถเพิ่มการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตของไทยได้ปีละ 590 คน รวม 2,950 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี 2.โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ มีสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิตเพียงพอต่อการจัดบริการให้ประชาชนในทุกอำเภอ 3.ประชาชนที่มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ก่อความรุนแรง ได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพใกล้บ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ก่อความรุนแรงในชุมชน และ 4.ผู้ป่วยจิตเวชสามารถเข้าถึงบริการจิตเวชอย่างต่อเนื่อง
เห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ.ปี’67 วงเงิน 7,985 ล้านบาท
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำเสนอ ซึ่งประกอบไปด้วย 9 แผนงาน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
-
1. นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น วิจัยและพัฒนาร่วมกับพันธมิตรและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติต่างๆ กรอบวงเงินงบประมาณ 267.50 ล้านบาท
2. พัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (ปฐมวัย-ภาคบังคับ) เช่น พัฒนาระบบคัดกรองและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในครัวเรือนยากจนที่สุดร้อยละ 15 ล่างของประเทศเพื่อให้เข้าถึงการเรียนรู้ การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบ มีเงื่อนไขสำหรับ(นักเรียนทุนเสมอภาค โดยผลักดันให้มีการปรับอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน รวมทั้งติดตามนักเรียนเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา กรอบวงเงินงบประมาณ 5,359.05 ล้านบาท
3. พัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ เช่น พัฒนากลไกและสร้างเครือข่ายโรงเรียนเชิงพื้นที่ในระดับจังหวัดให้เป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษา กรอบวงเงินงบประมาณ 280 ล้านบาท
4. จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้/สังเคราะห์ข้อมูลระหว่างคณะทำงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ กรอบวงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท
5. พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เช่น ส่งเสริมนักเรียนยากจนพิเศษและครูตำรวจตระเวนชายแดนประจำการพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในวิชาชีพครูได้เรียนครูและกลับไปเป็นครูยังภูมิลำเนาของตนเอง กรอบวงเงินงบประมาณ 394.11 ล้านบาท
6. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ เช่น สนับสนุนเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อในสายอาชีพที่เสมอภาคกับเยาวชนทุกคน กรอบวงเงินงบประมาณ 1,025.92 ล้านบาท
7. ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชน และประชากรวัยแรงงานนอกระบบ เช่น ส่งเสริมให้ได้รับโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถจนมีทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพตามศักยภาพ กรอบวงเงินงบประมาณ 251 ล้านบาท
8. สื่อสารความรู้และระดมความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เช่น สนับสนุนให้เกิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ กรอบวงเงินงบประมาณ 46.50 ล้านบาท
9. บริหารและพัฒนาระบบงาน โดยพัฒนาระบบตามแผนดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยลดภาระงานเชิงปริมาณ เกิดความแม่นยำ ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดเชิงปฏิบัติงาน กรอบวงเงินงบประมาณ 291.71 ล้านบาท
“ผลผลิตที่สำคัญที่มีผลต่อประชาชน และประเทศของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่สำคัญ ประการแรก เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาสได้รับการอุดหนุนเงิน เพื่อบรรเทาอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2,636,304 คน/ครั้ง ประการที่ 2 เยาวชนและแรงงานนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือตามความจำเป็นหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่เหมาะสม และประการที่ 3 ครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษาได้รับการพัฒนาคุณภาพทั่วถึง” นางสาวทิพานัน กล่าว
อนุมัติ 1,514 ล้านบาท ให้ “ดีอีเอส” สร้างระบบคลาวด์สาธารณสุข
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย ตามที่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาคลาวด์ข้อมูลสุขภาพ สธ. เพื่อวางแผนร่วมกันและดำเนินการพัฒนาระบบบริการและระบบบริหารจัดการสุขภาพ เชื่อมโยงระบบการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่ออนาคต (Digitally connected health care system of the future) ให้ข้อมูลสุขภาพสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไร้รอยต่อและได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ หน่วยบริการสามารถจัดบริการให้เกิดการรักษาทุกที่ทุกเวลาแบบไร้รอยต่อ และได้ร่วมกันเสนอโครงการฯ เพื่อขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียม/พัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย (National Health Information Platform) สำหรับบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ และเพื่อเช่าใช้ระบบคลาวด์พื้นฐานเป็นแพลตฟอร์มกลางภายใต้การดูแลของภาครัฐ รองรับการบูรณาการข้อมูล และการเก็บข้อมูลในรูปแบบ Private Cloud มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นในการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งในกรอบวงเงิน 1,514.6172 ล้านบาทสำหรับระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) ซึ่งจะประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก คือ 1.การพัฒนาระบบบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ ครอบคลุมการจัดหาระบบซอฟต์แวร์ (Application Software) การจ้างพัฒนาระบบและการฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 1,129.3157 ล้านบาท และ 2.การจัดหาบริการระบบคลาวด์กลาง (Cloud Server) ครอบคลุมการเช่าคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข จำนวน 4,311 VM การเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่ม และการบริหารจัดการ Log และ Managed Security Service วงเงิน 385.3014 ล้านบาท ซึ่งจะมีแหล่งเงินงบประมาณจากงบประมาณ ปี 2566 งบกลางฯ จำนวน 553.8203 ล้านบาท และจำนวน 960.7969 ล้านบาทเป็นงบผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2567-2568
กรอบแนวคิดของระบบงาน คือ พัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงการให้บริการสุขภาพทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยมีระบบงานที่สำคัญประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
-
1. ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพสำหรับเขตสุขภาพ (MOPH Data Exchange Gateway) เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการภาครัฐในสังกัดอื่นๆ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ และเก็บข้อมูลทางสถิติงานบริการจัดการสุขภาพ สร้างรายงาน เพื่อใช้งาน การวางแผน พัฒนา จัดการทางกลยุทธ์ต่างๆ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลบริหารจัดการจากส่วนงานต่างๆ
-
2. ระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Central Data Exchange Service) เป็นตัวแทน (Proxy/Broker) ในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้ามหน่วยงานต่างๆ
-
3. พัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศกลาง เพื่อให้บริการผู้ป่วยนอก สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อการบันทึกข้อมูลสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูลในการรับ – ส่งต่อ และการส่งรายงานด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ แพลตฟอร์มสารสนเทศกลางจะเปิดโอกาสให้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากระบบสารสนเทศจากระดับปฐมภูมิ และระบบต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว
“รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพการบริการในหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ผ่านระบบดิจิทัลอย่างเป็นสากล เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะทำให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ รวม 901 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 9,000 แห่งเข้าใช้คลาวด์กลางด้านสาธารณสุข และทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างน้อย 4,500 แห่งเข้าใช้ระบบสารสนเทศเพื่อให้บริการผู้ป่วยนอกได้ ในกรณีฉุกเฉินแพทย์ผู้รักษาสามารถดูข้อมูลคนไข้เพื่อให้การรักษาชีวิตของคนไข้ได้อย่างรวดเร็วและยังรองรับการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นตามสิทธิของเจ้าของข้อมูลด้วย” นางสาวทิพานัน กล่าว
เสนออุทยาน “ภูพระบาท” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จาก UNESCO ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวัฒนธรรมของไทยเพราะพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจะช่วยให้สัดส่วนการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น และพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทไม่มีแผนงาน/โครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานอื่นที่จะกระทบต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
นางสาว ทิพานัน กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านเผือ จ.อุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 3,662 ไร่ ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ประมาณ 3,599 ไร่ และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ประมาณ 62 ไร่ มีหลักเกณฑ์ที่เข้าข่ายในการขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก 2 ข้อ คือ เกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม : เช่น สีมาหิน หรือภาพเขียนสีต่างๆ เป็นต้น และเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัดของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น หลักฐานการตัดแต่งหิน เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น
“ความโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท คือ มีความสำคัญด้านเป็นพื้นที่ที่พบหลักฐานการเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐาน เช่น ภาพเขียนสีตามเพิงหิน จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ โดยปรากฏวัฒนธรรมโดดเด่นที่เรียกว่า “สีมา” เป็นการปักเสาหินล้อมรอบเพิงหินจนกลายเป็นลานศักดิ์สิทธิ์หรือลานพิธี ซึ่งเป็นการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับเพิงหินสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อแบบพระพุทธศาสนาในการปักเสาหินเพื่อกำหนดพื้นที่ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา ซึ่งเป็นแหล่งเดียวที่ตั้งอยู่บนภูเขาและยังคงสภาพสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นางสาวทิพานัน กล่าว
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้มีการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท พ.ศ. 2565 – 2569 ซึ่งได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแผนดังกล่าวจะครอบคลุมการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ เป็นต้น นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น กรมศิลปากร กรมป่าไม้ จ.อุดรธานี ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแล้ว
“ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 6 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และยังมีมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่–ห้วยขาแข้ง ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจานที่ประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2564 ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ของไทยให้มีความสำคัญเป็นมรดกของโลก นอกจากนี้ยังมีเมืองโบราณศรีเทพที่อยู่ระหว่างเสนอชื่อเข้าสู่บัญชีแหล่งมรดกโลก ตามมติ ครม. วันที่ 19 มกราคม 2564” นางสาวทิพานัน กล่าว
ตั้ง “สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” นั่งประธานบอร์ด สนง.พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศฯ
ดร. รัชดา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/รับทราบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอแต่งตั้ง นายกฤษณ์ กระแสเวส ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ ต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบการต่อเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567
3. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ดังนี้
-
1. พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ประธานกรรมการ
2. นายเจษฎา ศิวรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
3. พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
4. นายภาณุ จันทร์เจียวใช้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5. นางรวีวรรณ ภูริเดช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
6. นายสมประสงค์ บุญยะชัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
7. นายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
4. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จำนวน 2 คน เพื่อแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้
-
1. นายวิบูลย์ สงวนพงศ์
2. นายมณฑล สุดประเสริฐ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2566 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
5. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายเกียรติภูมิ วงศ์รจิต เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการแพทย์และสาธารณสุข) ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน ทั้งนี้ ในครั้งต่อๆ ไป ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 (เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการตามกฎหมาย/กรรมการและผู้บริหารขององค์การมหาชน)
6. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงสาธารณสุข
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงสาธารณสุข [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 มกราคม 2559) ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวงแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงอย่างเป็นทางการ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ] เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการเปลี่ยนแปลงการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง [เดิม สธ. ได้มีคำสั่ง สธ. ที่ 1129/2562 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก สธ. ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2562 แต่งตั้ง (1) นายณรงค์ สายวงศ์ รองปลัด สธ. (2) นายรุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) และ (3) นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เป็น โฆษก สธ.] ดังนั้น เพื่อให้การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงาน สธ. เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สธ. จึงแต่งตั้งโฆษก สธ. ขึ้นใหม่ ซึ่ง สธ. ได้มีคำสั่ง สธ. ที่ 1607/2565 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก สธ. ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ด้วยแล้ว ดังรายนามต่อไปนี้
-
1. นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ.
2. นายณรงค์ สายวงศ์ รองปลัด สธ.
3. ร้อยตำรวจเอก รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับ สธ. (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ)
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 24 มกราคม 2566เพิ่มเติม