ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯยันแก้ รธน.-ตั้ง คกก.สมานฉันท์-มติ ครม.สั่ง ปตท.สรุปปมก๊าซรั่วส่งพลังงานใน 60 วัน

นายกฯยันแก้ รธน.-ตั้ง คกก.สมานฉันท์-มติ ครม.สั่ง ปตท.สรุปปมก๊าซรั่วส่งพลังงานใน 60 วัน

28 ตุลาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ ชี้เจรจาคือทางออก ยืนยันแก้ รธน.-ตั้ง คกก.สมานฉันท์ วอนเชื่อใจกัน ชี้เจรจาคือทางออก – โอดเป็นนายกฯ ต้อง “อดทน-พูดเพราะ-ไม่โมโห”-มติ ครม.สั่ง ปตท.สรุปปมก๊าซรั่วส่งพลังงานใน 60 วัน-ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึงสิ้น พ.ย.นี้

เมื่อวันที่  28 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ชี้เจรจาคือทางออก – โอดเป็นนายกฯ ต้อง “อดทน-พูดเพราะ-ไม่โมโห”

ก่อนการตอบคำถามสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทักทายสื่อมวลชนว่า เห็นหน้าตลอดทั้งวันทั้งคืนได้พักผ่อนบ้างหรือไม่ พร้อมสอบถามผู้สื่อข่าวว่าดูถ่ายทอดสภาหรือไม่ หากดูแล้วคงไม่ต้องถามมากเพราะตนได้พูดไปหมดแล้วจะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป แต่สำหรับตนไม่เหนื่อย ไม่เคยเหนื่อยอยู่แล้ว

ต่อคำถามว่านายกฯ อยากจะพูดอะไรผ่านสื่อ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพูดไปทุกครั้งยืนยันไปหลายครั้งแล้ว สำหรับเมื่อคืนกับการประชุมรัฐสภา ตนจำเป็นต้องนำพาประเทศต่อไปให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ในทุกเรื่องโดยเฉพาะในเวลานี้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ

“ปัญหาการเมืองในครั้งนี้คงไม่ใช่ผมหรือรัฐบาลฝ่ายเดียว ทุกคนต้องร่วมในการหันหน้ามาเจรจาพูดคุยกัน ในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกันอย่างประนีประนอม ในฐานะที่เป็นสันติวิธีจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพราะนี่คือประเทศไทยและทุกคนคือคนไทย ผมไม่ได้เกลียดชังใครทั้งสิ้น ไม่ว่าใครว่าร้ายก็ตามผมฟังได้ผมก็ต้องอดทนเพราะเป็นนายกรัฐมนตรี ผมโมโหอะไรมากไม่ได้ เพราะว่าเป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีต้องอดทนต้องไม่โมโหไม่โกรธง่ายพูดจาให้ไพเราะ วันนี้ผมก็เพราะกว่าหลายๆ คนที่ได้ยินมาในขณะนี้”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวยืนยันต่อไปว่า ทางออกนั้นมีอยู่แล้ว ซึ่งตนขอให้เจอทางออกที่ว่านั้น และเชื่อมั่นว่าไม่มีปัญหาอะไรที่เราแก้ไม่ได้ ขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะต้องช่วยกันเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับประเทศของเรา ไม่ใช่แค่ตนคนเดียวแต่ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน พร้อมกันนี้ได้กล่าวขอบคุณนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภาทุกคนที่ทำการอภิปรายกันโดยสงบเรียบร้อย แม้จะมีเหตุไม่คาดคิดบางอย่างเกิดขึ้นบ้างก็ตาม

“แม้จะมีบางเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นบ้างอย่างเช่นที่ไม่เคยมีเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐสภาประเทศไทย อันนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนจะได้พิจารณาก็แล้วกันถึงความเหมาะสม สภาประเทศไทยไม่ควรจะเหมือนอย่างที่ต่างประเทศเขาทำ หลายอย่างก็เป็นพฤติกรรมที่ต่างประเทศมีแล้ว”

เดินหน้าแก้ รธน.-ตั้ง คกก.สมานฉันท์ วอนเชื่อใจกัน

พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ตนสรุปผลการประชุมสภาฯ ใน 2 วันที่ผ่านมา มีหลายอย่างที่ตนเห็นด้วย ซึ่งเรื่องสำคัญที่ตนเห็นด้วยคือ การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งได้ประกาศไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐสภาเมื่อเห็นชอบให้มีการแก้ไขตรงนี้ แต่ละอย่างต้องผ่านหลายกระบวนการรัฐสภา ก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปด้วย เพราะยังมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ จะตั้งกติกาใหม่ทันทีอย่างที่ต้องการไม่ได้ พร้อมกล่าวย้ำว่า เราอยู่ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ

“ผมเห็นด้วยในส่วนที่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนที่ว่าจะให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกนายกฯ หรือไม่เลือกนายกฯ ก็แล้วแต่ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ ถ้าจะไม่เลือกผมก็ได้ผมไม่ได้ขัดข้องอะไร เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันในรัฐสภา”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องหนึ่งที่สรุปได้จากการประชุมสภาฯ คือ การเสนอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาหาทางออก จากแนวทางที่เหลือในรัฐสภา ซึ่งตนได้หารือในที่ประชุม ครม. แล้ว คาดว่าทางรัฐสภาจะเป็นผู้จัดตั้งขึ้นมาจากหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้งในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส), ส.ว. และกลุ่มต่างๆ ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งตนขอให้การหารือนั้นเป็นไปโดยสงบและหาข้อสรุปออกมาให้ได้ ในลักษณะที่อยู่ในบริบทของการเมืองของประเทศไทย

เมื่อถามว่าขณะทำงานนี้จะถูกครอบงำหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าพูดอย่างนี้ไม่ได้จะต้องให้เกียรติสภาฯ เป็นความเห็นของสภาฯ เป็นความเห็นของ ส.ส. ผู้ทรงเกียรติเสนอขึ้นมาต่างคนต่างต้องเคารพซึ่งกันและกัน หากตั้งธงไว้เช่นนี้ก็ไม่ชอบกันหมด เป็นความไม่เชื่อใจกันไปหมด

“ขอให้ลองเชื่อใจกันสักครั้ง ถ้าไม่เชื่อใจเลยก็ทำอะไรไม่ได้หมด”

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกับนายกรัฐมนตรีในประเด็นคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าหลังจากนี้ประธานรัฐสภาจะสอบถามความเห็นจาก ส.ส. และ ส.ว. ว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ร่างที่ค้างอยู่ไปก่อน หรือจะรอร่างของไอลอว์ ซึ่งเป็นภาคประชาชนมาพิจารณาพร้อมกัน โดยหากรอร่างของไอลอว์ จะดำเนินการได้หลังวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป คาดว่าจะได้คำตอบเร็วๆ นี้

สำหรับคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ตนยังไม่ทราบว่าจะใช้ชื่ออะไร แต่ได้เสนอชื่อไปว่า คณะกรรรมการ 7 ฝ่าย ซึ่งจะมากหรือน้อยกว่านั้นก็ได้ และถือว่าเป็นคณะกรรมการที่ได้รับฉันทานุมัติจากที่ประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ

เมื่อถามว่าจะมีกรอบเวลาที่ชัดเจนหรือไม่ในการดำเนินการเรื่องนี้ นายจุรินทร์กล่าวว่า คิดว่าประธานรัฐสภาจะมอบให้คณะที่ปรึกษาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปทำต้นเรื่องมาและเชื่อว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการไม่นาน

เมื่อถามว่า มีการพูดถึงเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. ไม่มีการพูดเรื่องนี้โดยตรง เพียงแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันอภิปรายในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้หากมีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา คณะกรรมการชุดดังกล่าวสามารถหยิบยกเรื่องการทำประชามติไปหารือได้ อะไรที่เห็นพ้องก็นำไปดำเนินการต่อ แต่อะไรที่ยังเห็นต่างก็คุยกันต่อไปบนพื้นฐานความปราถนาดีต่อบ้านเมือง

เมื่อถามว่า คณะกรรมการ 7 ฝ่ายจะเป็นรูปธรรมชัดเจนได้เมื่อไหร่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะตอนนี้ถือว่าประธานรัฐสภาจะเป็นผู้รับไปดำเนินการ ต้องไปถามรายละเอียดจากประธาน

เมื่อถามว่า ข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่ายหากนักศึกษาไม่เข้าร่วม จะทำอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า ไม่อยากตีตนไปก่อน อยากให้มองในด้านบวกว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ

ย้ำ “เอ็นจีโอ” อยู่ไทย ต้องเคารพกฎหมายไทย

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงเรื่องท่าทีของต่างประเทศ หรือท่าทีของเอ็นจีโอต่างประเทศ ว่า ตนขอไม่ไปเกี่ยวข้อง ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นกิจการของแต่ละประเทศเท่านั้นเอง เขาก็มีกฎหมายของเขา เราก็ต้องดูว่ากิจกรรมใดอะไรที่มีปัญหาก็ต้องพูดคุยหารือว่า จะต้องไม่มีนัย ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มที่มันต่างกันออกไป ไม่ให้ส่งผลเสียหายต่อประเทศ

“หลายอย่างที่มีปัญหาของเราคือเรื่องการพัฒนาประเทศของเราในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ ที่บางทีเอ็นจีโอ เข้ามาทำให้กระบวนการของเราช้าลงในการทำประชาพิจารณ์ การทำประชามติ เอาคนภายนอกเข้ามาในพื้นที่มาแสดงความคิดเห็นต่อต้าน ซึ่งคนในพื้นที่ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่เสียหายวันนี้ก็ต้องหาวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม”

“ขอฝากไปทาง NGO ในประเทศไทยด้วยทั้งหมด เมื่อท่านอาศัยอยู่ในประเทศไทยทำงานในประเทศไทยก็ต้องช่วยประเทศไทยในการพัฒนาชาติบ้านเมือง เหมือนกับที่คนไทยไปอยู่ต่างประเทศทุกคนก็ต้องไปเสียภาษีที่นู่น ไปอยู่อาศัยที่นู่นกลายเป็นพลเมืองของประเทศนั้นไป ซึ่งต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้นๆ นี่เป็นเรื่องที่เป็นหลักการสำคัญของอาเซียน เป็นหลักการสำคัญของประเทศไทยด้วย”

ปัดตอบ “อยู่ยาว 4 ปี-ไม่รับข้อเสนอผู้ชุมนุม”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์ว่านายกฯ จะอยู่ครบวาระ 4 ปี แสดงว่าจะไม่รับข้อเสนอของผู้ชุมนุม ว่า “ทำไมตนถึงต้องตอบคำถามนี้ ตนเข้ามาด้วยอะไรก็ว่ากันไปหรือจะออกกันด้วยอะไรก็ไปว่ากันมา ตนไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต เพราะรัฐบาลไม่ได้หยุดแค่รัฐบาลของตนกระบวนการเลือกตั้งกระบวนการรัฐธรรมนูญต่างๆ มีอยู่แล้ว”

“จุรินทร์” ชงประกันรายได้“ข้าว-ยาง” เข้า ครม.สัปดาห์หน้า

นายจุรินทร์กล่าวถึงโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยระบุว่าขณะนี้ ครม. ได้มีมติให้ความเห็นชอบไปแล้ว 3 เรื่อง คือ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังคงเหลือข้าวกับยางพารา ซึ่งตนได้ลงนามเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ว่าขณะนี้ที่ยังไม่สามารถพิจารณาได้ เพราะต้องรอความเห็นจากกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้านำจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดภูเก็ตได้

ทั้งนี้ สถานการณ์ยางพาราขณะนี้ดีขึ้นมาก ตรวจสอบราคาล่าสุดที่ตลาดกลาง วันนี้ราคายางแผ่นรมควันราคาก็ไปถึงกว่า 80 บาท ขณะที่น้ำยางข้นราคาอยู่ที่ประมาณ 70 บาท ซึ่งตนเห็นว่าเป็นราคาที่ดี และเกษตรกรน่าจะพอใจ โดยเหตุปัจจัยสืบเนื่องจากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นและความต้องการของตลาดรถยนต์ที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการยางรถยนต์มีความต้องการเพิ่มขึ้นรวมทั้งสถานการณ์โควิดที่ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางมากขึ้น

“ฉะนั้นความต้องการใช้น้ำยางดิบไปผลิตก็มีมากขึ้นและที่สำคัญก็คือมาตรการที่ถูกต้องชัดเจนของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาในการไปเปิดตลาดยางในประเทศต่างๆ และขณะนี้กำลังเร่งรัดการส่งมอบ และการทำสัญญาเพิ่มเติมก็ช่วยให้ความต้องการที่จะเข้ามาซื้อยางเพื่อส่งออกมีเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้หลายปัจจัยก็ช่วยกันทำให้ราคายางในประเทศดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามถ้าถึงเวลาหนึ่งเกิดราคาตกลงมารัฐบาลก็ยังมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่จะเป็นตัวช่วยประกันรายได้ว่าอย่างน้อยยางแผ่นดิบก็จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท เป็นต้น”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

สั่ง ปตท.สรุปปมก๊าซรั่วส่งพลังงานใน 60 วัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานการเกิดเหตุก๊าซธรรมชาติรั่วและเพลิงไหม้ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อคู่ขนานเส้นที่ 2 บนบก ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และผู้บาดเจ็บ 66 ราย

เบื้องต้น ปตท. รายงานข้อสันนิษฐานพบว่ามีความเป็นไปได้อย่างน้อย 6 แนวทาง คือ (1) การผุกร่อนของท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (2) ความเสียหายของคุณสมบัติทางกลของท่อจากโรงงานหรือการก่อสร้าง (3) ความผิดปกติของระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงเหนือท่อ (4) ความผิดปกติของอุปกรณ์ตรวจวัดหรือควบคุมระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ (5) การเกิดการสไลด์หรือการทรุดตัวของดินทำให้ท่อเกิดความเสียหายฉับพลัน (6) การรุกล้ำระบบแนวเขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติโดยบุคคลที่ 3

นายอนุชา กล่าวว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว และแจ้งให้กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน รับทราบภายใน 60 วันนับจากวันที่เกิดเหตุ และแต่งตั้งคณะทำงานจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบรายงานดังกล่าว

อนุมัติกู้เงิน 111 ล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ 4 โครงการ

นายอนุชา กล่าวว่า ครม.อนุมัติ 4 โครงการ เสนอโดยคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ได้แก่

    1. โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันสู่ Oleochemical แบบครบวงจร ภายหลังผลกระทบโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ งบประมาณ 22,064,600 บาท เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐาน พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง และอบรมผู้ที่สนใจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร กระบี่ ระนอง และนครศรีธรรมราช ไม่น้อยกว่า 200 ราย
    2. โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานการให้บริการของบุคลากรท่องเที่ยวไทย เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา งบประมาณ 66,681,600 บาท
    3. โครงการพัฒนาเนินทรายงาม (Sand Dune) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตามเส้นทางท่องเที่ยว Scenic Route ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา งบประมาณ 19,126,300 บาท เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเนินทรายงาม (Sand Dune) อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศต้นแบบ
    4. โครงการต้นแบบเพื่อยกระดับการให้บริการของสถานประกอบการสู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) ตามวิถีการท่องเที่ยวแนวใหม่ (new normal tourism services) งบประมาณ 4,059,800 บาท

ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดกำหนดกรอบระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ตุลาคม 2563 ถึง กันยายน 2564 ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 111,932,300 ล้านบาท

เห็นชอบแผนพัฒนาบุคลากรภาครัฐ

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563–2565 และกำหนดแนวทางการพัฒนาใน 3 ประเด็น คือ (1) ระบบนิเวศในการทำงานที่สนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลากร (2) พัฒนากรอบทักษะรับยุคดิจิทัลและศตวรรษที่ 21 และ (3) ปลูกฝังบุคลากรภาครัฐให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล

นายอนุชา กล่าวว่า “ครม. ยังเห็นควรให้ใช้แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฯ ตั้งแต่บุคลากรแรกบรรจุจนถึงตำแหน่งประเภทบริหาร เนื่องจากทุกคนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบราชการเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ชงสภาฯผ่านร่างข้อตกลง “ไทย – อียู” พ.ย.นี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างไทยและสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรป และร่างหนังสือแลกเปลี่ยน (exchange of letter) ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักร รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ร่างเอกสารจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งจะเสนอต่อรัฐสภาภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยร่างทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญ ดังนี้

    1. ร่างความตกลงระหว่างไทยและสหภาพยุโรป เกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรป เป็นการจัดสรรปริมาณโควตาสินค้าที่มีโควตาภาษีที่สหภาพยุโรปให้แก่ไทย โดยการจัดสรรสัดส่วนใหม่จะไม่รวมปริมาณโควตาของสหราชอาณาจักร
    2. ร่างหนังสือแลกเปลี่ยน (exchange of letter) ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักร เป็นการจัดสรรปริมาณโควตาสินค้าที่มีโควตาภาษีที่สหราชอาณาจักรให้แก่ไทย โดยมีปริมาณโควตาเท่ากับสัดส่วนที่เหลือจากการจัดสรรของสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องลงนามเนื่องจากสหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 1 มกราคม 2564 กระทบต่อประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกสินค้า เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก เป็นต้น

ผ่านร่าง MOU “ไทย-จีน” ยกระดับนิติวิทยาศาสตร์

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงความมั่นคงของจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและความร่วมมือทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

สาระสำคัญของร่าง MOU ฉบับนี้แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่

1. การพัฒนาวิชาชีพ ผ่านการแลกเปลี่ยนบุคลากรและการฝึกอบรม

2. การพัฒนาเทคนิค เน้นการพัฒนาฐานข้อมูลไบโอเมตริกซ์และการตรวจเปรียบเทียบ รวมทั้ง มาตรฐานการตรวจด้านนิติวิทยาดิจิทัล (digital forensics)

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวอีกว่า หลังจากทั้งสองฝ่ายลงนาม MOU แล้วจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี และได้รับการต่ออายุอีก 5 ปี

อนุมัติร่าง MOU รับเงินช่วยเหลือกองทุน “แม่โขง-ล้านช้าง” 44 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง–ล้านช้าง (Mekong–Lancang Cooperation (MLC) Special Fund) ประจำปี 2563 ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย 1 ฉบับ และระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย 1 ฉบับ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เสนอ

ร่าง MOU ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้รับงบประมาณ 1,406,200 ล้านดอลลาร์ หรือ 43.93 ล้านบาท จากกองทุนพิเศษแม่โขง–ล้านช้าง ปี 2563 ในการดำเนินงาน 5 โครงการ ดังนี้

    1. โครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงอาหารสำหรับเกษตรกรรายย่อย วงเงิน 133,700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.18 ล้านบาท ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    2. โครงการส่งเสริมระบบการจัดการที่ดินเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนในอนุภูมิภาคแม่โขง–ล้านช้าง วงเงิน 91,300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.85 ล้านบาท ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    3. โครงการพัฒนาและส่งเสริมเครือข่ายหมอดิน เพื่อการจัดการที่ดินและเกษตรอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง วงเงิน 442,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 13.83 ล้านบาท ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    4. โครงการระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม วงเงิน 286,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8.93 ล้านบาท ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    5. โครงการสร้างโอกาสสำหรับการค้าข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง–ล้านช้าง จากการพัฒนาเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟ China–Pan Asia วงเงิน 452,600 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 14.14 ล้านบาท ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์

เห็นชอบแลกเปลี่ยนข้อมูล 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วย “การให้สารสนเทศด้านน้ำของแม่น้ำล้านช้างตลอดทั้งปีโดยจีนแก่ประเทศสมาชิกคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ (Joint Working Group on Water Resources: JWG) ของกรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง (Mekong–Lancang Cooperation: MLC)” และ “ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการแบ่งปันสารสนเทศความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำของกรอบแม่โขง-ล้านช้าง” โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการให้สารสนเทศด้านน้ำของแม่น้ำล้านช้างฯ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ และบรรเทาอุทกภัยและภัยพิบัติของประเทศในแถบแม่น้ำโขง

คณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำของฝ่ายจีนจะส่งข้อมูลด้านอุทกวิทยาเกี่ยวข้อมูลฝนและข้อมูลระดับน้ำของแม่น้ำล้านช้างตลอดปี ให้กับคณะทำงาน 5 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม วันละ 2 ครั้ง คือ 09.00 น. และ 21.00 น. (ตามเวลาปักกิ่ง) รวมถึงข้อมูลของที่สำรวจภายในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้แล้ว จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป เป็นเวลา 5 ปี และจะขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี

2. ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการแบ่งปันสารสนเทศฯ แพลตฟอร์มสนับสนุนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำแม่โขง-ล้านช้าง โดยประชาชนสามารถเข้าใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวได้

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า สมาชิกของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิกอีก 5 ประเทศ คือ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม แต่ที่ผ่านมายังไม่มีข้อตกลงข้อมูลด้านน้ำร่วมกัน

ไฟเขียวกฎกระทรวงฯ รับเรือสำราญ-ผ่อนผันตรวจลงตราหน้าด่าน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) ในกรณีของเรือสำราญและกีฬา (เรือยอตช์) เพื่อนำนักท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพเข้าสู่ประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม

โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวโดยเรือสำราญฯ ในประเทศไทย ในกลุ่มบุคคลผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ หรือผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือความเสี่ยงปานกลาง ตามการจัดกรลุ่มประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับการผ่อนคลายผู้ไม่มีสัญชาติไทย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
  • ยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิดฯ) และยินยอมกักตัวภายในเรือ ไม่น้อยกว่า 14 วัน
  • มีหลักฐานการเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อท่องเที่ยวโดยเรือสำราญฯ โดยแสดงการเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ หรือผู้โดยสาร
  • มีหลักฐานกรมธรรม์การทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองตรวจรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิดฯ ในวงเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงการทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุของไทย คุ้มครองตลอดระยะเวลาที่เข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนเงินประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้ป่วยนอก ไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และกรณีผู้ป่วนในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท
  • มีหลักฐานการชำระเงินล่วงหน้าในการเช่าจองสถานที่จอดเรือ
  • ปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่าว่าด้วยแนวปฏิบัติสำหรับเรือสำราญฯ ที่เข้ามาในน่านน้ำไทย

สำหรับบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาตามเกณฑ์ดังกล่าวจะมีสิทธิของรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว ประเภทพิเศษ STV โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราครั้งละ 2,000 บาท และได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และสามารถขอต่ออายุได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวได้ผ่อนผันให้ผู้เดินทางมากับเรือสำราญฯ ดังกล่าวก่อนประกาศนี้บังคับใช้ และกรณีที่เรือสำราญฯ จอดอยู่ในท่าเรือในประเทศไทยก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ให้มีสิทธิขอรับการตรวจลงตราประเภท STV ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองภายใน 30 วันหลังจากที่ประกาศนี้บังคับใช้

รับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช. แก้ทุจริตเงินอุดหนุนวัด 5 แนวทาง

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ทีประชุม ครม. รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(คณะกรรมการป.ป.ช.) กรณีการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณเงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยคณะกรรมการป.ป.ช.รายงานว่า เนื่องจากการตรวจสอบพบการทุจริตงบประมาณเงินอุดหนุนของ พศ. ซึ่งประกอบด้วยงบประมาณ 3 ประเภท ได้แก่ 1. งบประมาณเงินอุดหนุนปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด 2. งบประมาณเงินอุดหนุนการส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา และ 3. งบประมาณเงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้จากการศึกษา พบว่ากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเปิดช่องและเอื้อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบและเจ้าอาวาสในฐานะผู้แทนของวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2505 ไม่มีความรู้เพียงพอในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดินทำให้บุคคลบางกลุ่มใช้วัดเป็นเครื่องมือในการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อแสวงหาประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงในการทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำคำขอและจัดสรรงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณและการติดตามและประเมินผลรวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอ 5 แนวทางในการป้องกันการทุจริตเงินอุดหนุนวัดดังนี้

  1. ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูล รัฐบาลควรกำหนดให้บูรณาการและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดทำฐานข้อมูลของวัดเป็นวาระแห่งชาติ โดย พศ. ต้องมีระบบฐานข้อมูลกลางและนำข้อมูลเดิมจัดทำเป็นข้อมูลรูปแบบดิจิทัล
  2. ด้านกระบวนการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณ ให้ พศ. จัดทำคำของบประมาณด้านการก่อสร้างการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดเป็นงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และปรับปรุงคณะกรรมการพิจารณาคำขอและจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีบุคคลภายนอกร่วมด้วย เช่น ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
  3. ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ ให้ พศ. ประสานงานให้วัดหรือผู้ได้รับงบประมาณงบเงินอุดหนุน ต้องจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน และในการใช้จ่ายเงินของวัดไม่ควรเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนมีแผนการใช้จ่ายเงิน และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เบิกจ่ายของกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด
  4. ด้านการติดตามและประเมินผล พศ. ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานและวัตถุประสงค์ของโครงการ
  5. ด้านการแจ้งเบาะแส ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต พศ. ควรเป็นหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนและให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติตลอดจนสิทธิที่ได้รับในการแจ้งเบาะแสการทุจริต และกำหนดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน จากพระภิกษุและประชาชน และควรกำหนดกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนให้ชัดเจนและมีความรวดเร็ว

ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึงสิ้น พ.ย.นี้

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติขยายระยะเวลาพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุด 31 ตุลาคม 2563 ไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

โดยการเสนอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อคุมสถานการณ์โควิดฯ เพื่อให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีอำนาจในการควบคุมดูแล การแพร่ระบาดของโควิดฯ ในพื้นที่ต่างๆทั่วราชอาณาจักร ซึ่งการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วราชอาณาจักรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 8

อนึ่ง การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 1 วันที่ 26 มีนาคม–30 เมษายน 2563, ครั้งที่ 2 วันที่ 1 พฤษภาคม–31 พฤษภาคม 2563, ครั้งที่ 3 วันที่ 1 มิถุนายน–30 มิถุนายน 2563, ครั้งที่ 4 วันที่ 1 กรกฎาคม–31 กรกฎาคม 2563, ครั้งที่ 5 วันที่ 1 สิงหาคม–31 สิงหาคม 2563, ครั้งที่ 6 วันที่ 1 กันยายน–30 กันยายน 2563, ครั้งที่ 7 วันที่ 1 ตุลาคม–31 ตุลาคม 2563, ครั้งที่ 8 วันที่ 1 พฤศจิกายน–30 พฤศจิกายน 2563

รับทราบมาตรการรณรงค์ “ลอยกระทงวิถีใหม่ฯ”

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีลอยกระทง ปี 2563 ภายใต้แนวคิด “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิดฯ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก  ทำให้ปีนี้ การจัดงานเทศกาล การแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีในต่างประเทศ จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกิจกรรมให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดไวรัสโควิดฯ ของกระทรวงสาธารณสุข

พร้อมทั้งรณรงค์ใช้วัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายง่ายที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เช่น หยวกกล้วย กาบกล้วย ขนมปัง และใบเตย มาประดิษฐ์กระทง เพื่อร่วมกันรักษาสายน้ำและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรณรงค์ให้แต่ละครอบครัว กลุ่มประชาชน หน่วยงานใช้กระทง 1 ใบ ตามแนวทาง “1 ครอบครัว 1 กระทง” หรือ “1 หน่วยงาน 1 กระทง” ลดปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลอง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและภริยาพร้อมคณะรัฐมนตรี จะร่วมงานสืบสานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2563 “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ในวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. ณ คลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2563เพิ่มเติม