
ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
ตามที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยว่า ทอท. เตรียมนำร่าง TOR โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ในเดือนมกราคม 2562 และคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2562 นั้น
ทางสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้นำประเด็นดังกล่าวนี้ไปสอบถามนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ว่า ทอท. ได้เสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณาหรือยัง
ต่อประเด็นนี้นายประภาศกล่าวว่า ที่ผ่านมา ทอท. ยังไม่ได้นำเสนอโครงการดังกล่าวนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ PPP เลย กรณีที่มีข่าว ทอท. เตรียมเสนอร่าง TOR ดังกล่าวต่อที่ประชุมบอร์ด ทอท. ช่วงเดือนมกราคม 2562 นั้น เข้าใจว่าเรื่องนี้ยังเป็นแค่แนวทางหนึ่งของ ทอท. เท่านั้น ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ได้กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดในกฎหมายฉบับนี้ (กฎหมาย PPP) ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการให้เอกชนใช้ทรัพย์สินหรือให้เช่าพื้นที่ต่อ ซึ่งแตกต่างจาก ร่างพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยกฎหมาย PPP ฉบับใหม่จะไม่ครอบคลุมถึงเรื่องการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินของหน่วยงานหรือการให้เช่าต่อ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย PPP ตนเข้าใจว่า ทอท. น่าจะเปิดประมูลโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ภายหลังกฎหมาย PPP ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว
“แม้ ทอท. จะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุ หากมีการดำเนินโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนในกิจการที่เกี่ยวกับการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 ซึ่งแตกต่างจากร่างกฎหมาย PPP ฉบับใหม่ ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่มีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงกรณีการใช้ทรัพย์สินหรือให้เช่าต่อ ดังนั้น ในกรณีการให้เช่าหรือใช้ทรัพย์สิน จึงไม่ต้องปฏิบัติตามร่างกฎหมาย PPP ฉบับนี้ การนำเสนอโครงการและการอนุมัติจึงเป็นอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และระเบียบของหน่วยงานนั้น” นายประภาศกล่าว
ส่วนความคืบหน้าในกระบวนการผ่านร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฉบับใหม่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนใดนั้น นายประภาศกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล หลังจากที่ประชุม ครม. วันที่ 13 ธันวาคม 2561 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาตินัดพิเศษ พิจารณาวาระแรกในวันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2561 เวลา 13.00 น. คาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาของ สนช. และมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
สำหรับเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เนื่องจากกฎหมายร่วมลงทุนฯ ที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันกำหนดขอบเขตโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐไว้อย่างกว้างขวาง ทำให้โครงการร่วมลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะต้องปฏิบัติตามกระบวนการตามที่กำหนดในกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 7 กำหนดว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้กับการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ยกเว้นการให้สัมปทานตามกฎหมายปิโตรเลียม และการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่” ทำให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างเอกชนกับรัฐทุกโครงการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดใน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ กล่าวคือ โครงการขนาดเล็กที่มีมูลค่าการลงทุนต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ โดยรัฐมนตรีกระทรวงต้นสังกัดเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ, โครงการขนาดกลางที่มีมูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท กลุ่มนี้จะมีการใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่า โครงการร่วมลงทุนประเภทใด ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน ประกาศว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ หรือต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556
ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดขอบเขตของโครงการที่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น กระทรวงการคลังจึงนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขกฎหมายร่วมทุนฯ ฉบับเดิม โดยปรับปรุงบทบัญญัติในมาตรา 7 ใหม่ กำหนดให้โครงการร่วมลงทุนที่เกี่ยวกับจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะต้องปฏิบัติตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แต่ไม่รวมถึงโครงการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินของรัฐ
สำหรับโครงการร่วมลงทุนที่อยู่ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ ยังแบ่งการดำเนินโครงการออกเป็น 2 ระดับ คือ 1) โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ (ร่างมาตรา 8) และ 2) โครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 9)