ThaiPublica > คอลัมน์ > ตะวันออกกลางกำลังจะลุกเป็นไฟ?

ตะวันออกกลางกำลังจะลุกเป็นไฟ?

8 มกราคม 2023


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

นายเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ที่มาภาพ : https://twitter.com/netanyahu

ในที่สุดรัฐบาลชุดที่ 37 ของอิสราเอลคือคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันได้ก่อตั้งขึ้นสำเร็จเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2565 หลังจากการเลือกตั้งสภาเนสเซ็ตของอิสราเอล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เป็นรัฐบาลผสมประกอบด้วย 6 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคลิคุด (Likud), พรรคยูไนเต็ดโตราห์จูดาอิสซึม (United Torah Judaism), พรรคซาส์ (Shas), พรรคศาสนาไซออนิสต์ (Religious Zionist Party), พรรคโตซมา เยฮูดิต (Otzma Yehudit) และ พรรคโนอัม (Noam) โดยมีนายเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอลเป็นครั้งที่หก

ทั้งหมดเป็นพรรคฝ่ายขวาจัด นำโดย เบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้นำสายเหยี่ยวของอิสราเอล อาจเรียกได้ว่าเป็นค่ายชาตินิยมสุดโต่ง โดยรวมทั้งหกพรรคได้ที่นั่งในสภา 64 ที่นั่ง จากทั้งหมด 120 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งสภาเนสเซ็ต ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลผสมเดิมที่นำโดยนายยาอีร์ ลาปิด ได้ 51 ที่นั่ง เสียงข้างมากชุดใหม่ได้รับการอธิบายอย่างหลากหลายว่าเป็นรัฐบาลฝ่ายขวาที่สุดในประวัติศาสตร์อิสราเอล และได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่เคร่งศาสนามากที่สุด

หลังจากการเลือกตั้งไม่นานนายยาอีร์ ลาปิด ได้ทราบว่าคะแนนของพรรคตนเป็นรอง และเขาได้กลายเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็ยอมจำนนต่อนายเบนจามิน เนทันยาฮู และโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีและอวยพรให้เขาโชคดี “เพื่อประชาชนชาวอิสราเอล” ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พิธีสาบานตนของสมาชิกสภาเนสเซ็ตชุดที่ 25 ที่เพิ่งได้รับเลือกจัดขึ้นในช่วงเปิดการประชุม การลงคะแนนเสียงเพื่อแต่งตั้งประธานสภาเนสเซ็ตคนใหม่ซึ่งมักจะดำเนินการในช่วงเปิดสมัยประชุม และการสาบานตนของสมาชิกคณะรัฐมนตรีถูกเลื่อนออกไป

เนื่องจากการเจรจาร่วมกันอย่างต่อเนื่องยังไม่บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับตำแหน่งเหล่านี้ การต่อรองเก้าอี้ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ของอิสราเอลใช้เวลาเดือนครึ่ง และสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2566 และภารกิจแรกของรัฐบาลชุดนี้คือยิงจรวจเข้าถล่มโจมตีสถานบินนานาชาติในกรุงดามัสกัสของซีเรียจนต้องปิดใช้การไม่ได้ ด้วยเหตุผลว่าเป็นที่สงสัยว่าซีเรียได้สะสมโดรนที่สร้างในอิหร่านไว้นั่น นอกจากทรัพย์สินของซีเรียเสียหายแล้วการโจมตีครั้งนี้ทำให้ทหารของกองทัพซีเรียเสียชีวิตทันที่สองนาย

ตามข้อตกลงที่ลงนามระหว่างพรรคลิคุดและพันธมิตรร่วมแต่ละราย และหลักการแนวปฏิบัติที่เผยแพร่ของรัฐบาลที่เข้ามาใหม่ ลำดับความสำคัญที่ระบุไว้คือการต่อสู้กับค่าครองชีพ เพิ่มอำนาจแก่ชาวยิวที่เคร่งศาสนา เพิ่มเติมเหนือบริการของรัฐให้ชาวยิวทั่วไป ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่รวมถึงกฎหมาย เพื่อลดการควบคุมตุลาการเกี่ยวกับอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ และขยายการตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) และพิจารณานโยบายผนวกเขตเวสต์แบงก์ให้ชาวยิวเข้าไปตั้งนิคมของตนเองมากยิ่งขึ้น

นโยบายที่สนับสนุนชาวยิวเข้าไปตั้งนิคมในเขตเวสต์แบงก์นี้จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวปาเลสไตน์ยิ่งขึ้นไปอีก กองทัพอิสราเอลครอบครองมาตั้งแต่สงครามหกวันในปี พ.ศ. 2510 ได้แก่ ดินแดนที่เรียกว่าฉนวนกาซา (Gaza Strip) ที่ยึดมาจากอิยิปต์ ที่ราบสูงโกลาน (Golan Height) ที่ยึดมาจากซีเรีย และพื้นที่เวสต์แบงก์ ที่ยึดจากจอร์แดนรวมทั้งฝากตะวันออกของกรุงเยรูซาเลมอีกด้วย ดินแดนทั้งสามแห่งนี้อยู่นอกเหนือจากพรมแดนที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็นพื้นที่ของอิสราเอล ในปัจจุบันชาวปาเลสไตน์กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในดินแดนที่ตนเองเกิด นโยบายของรัฐบาลใหม่ของอิสราเอลคือการสนับสนุนให้ชาวยิวเข้าไปตั้งรกรากเพิ่มเติมในดินแดนเหล่านี้

ปัจจุบันรัฐบาลอิสราเอลได้ประกาศให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวง เป็นที่ตั้งของรัฐสภา ทำเนียบนายกรัฐมนตรี และได้รับการรับรองโดยสหรัฐอเมริกาในสมัยที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ซึ่งทับซ้อนกับชาวปาเลสไตน์ที่ถือว่ากรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของตนและยิวคือผู้รุกราน ตามรากศัพท์ “เยรูซาเลม” แปลว่า “นครแห่งสันติภาพ” และเป็นที่แสวงบุญของผู้ที่นับถือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกันของสามศาสนา อันได้แก่ ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ศูนย์กลางเมืองเก่าของเยรูซาเลมนี้คือ โดมทอง (Dome of the Rock) และมัสยิดอัลอักศอ ซึ่งเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสามศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาอิสลามถือว่ามัสยิดแห่งนี้เป็นที่แสวงบุญที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับสามรองจากนครมักกะฮ์ และเมดินาในซาอุดีอาระเบีย

ปัจจุบันพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่ในความดูแลของประเทศจอร์แดน โดยรอบมีหอคอยที่ตำรวจอิสราเอลเข้าเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง ประวัติศาสตร์ของจอร์แดนเชื่อกันว่ากษัตริย์ของราชวงศ์นี้สืบเชื่อสายมาจากท่านนบีมูฮัมหมัด และกษัตริย์จอร์แดนเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาอิสลาม แต่เหตุการณ์ความรุนแรงนับครั้งไม่ถ้วนเกิดขึ้นในมัสยิดแห่งนี้

ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 1 ถูกมือปืนชาวปาเลสไตน์ยิงสังหารพระองค์ 3 นัดขณะเสด็จเข้าไปในมัสยิด เจ้าชายฮุสเซนหลานชายของเขาอยู่เคียงข้างพระองค์ และถูกยิงด้วย แต่โชคดีที่ว่าเหรียญที่เจ้าชายฮุสเซนสวมอยู่ที่หน้าอกเบี่ยงเบนวิถีกระสุนออกไป หนึ่งในกระสุนปืนที่ยิงนั้นยังคงฝังอยู่ในเสาทองเหลืองต้นหนึ่งในมัสยิตอัลอักศอแห่งนี้ ซึ่งผู้ดูแลมัสยิดแห่งนี้ยังคงรักษาให้อยู่ในลักษณะเดิมมาจนถึงทุกวันนี้

วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512 เกิดไฟไหม้โดยผู้มาเยือนจากออสเตรเลียชื่อเดนิส ไมเคิล โรฮาน คริสเตียนผู้เผยแพร่ศาสนาซึ่งหวังว่าการเผามัสยิดอัลอักซอจะเร่งการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซู เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว การประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศอิสลามจัดขึ้นที่เมืองราบัตในปีเดียวกันนั้น โดยมีกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบีย กษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบียในขณะนั้นเป็นเจ้าภาพ เหตุเพลิงไหม้อัลอักศอครั้งนั้นถือเป็นหนึ่งในตัวเร่งให้เกิดองค์การการประชุมอิสลาม (OIC ปัจจุบันคือองค์การความร่วมมืออิสลาม)

ในปี พ.ศ. 2515 หลังเกิดไฟไหม้อีกครั้งหนึ่ง โดมถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยคอนกรีตและหุ้มด้วยอะลูมิเนียมอะโนไดซ์ แทนที่แผ่นงานอีนาเมลแบบมียางตะกั่วแบบเดิม ในปี พ.ศ. 2526 ฝาครอบด้านนอกอะลูมิเนียมถูกแทนที่ด้วยตะกั่วเพื่อให้ตรงกับการออกแบบดั้งเดิม

ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ขบวนการชาวยูดายคลั่งศาสนาหลายกลุ่ม ได้พยายามหลายครั้งที่จะระเบิด มัสยิดอัลอักซอ และโดมทอง (Dome of the Rock) หลายครั้ง คนเหล่านี้มีความเชื่อว่าการระเบิดมัสยิดที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองนี้จะทำให้เกิดการตื่นตัวทางจิตวิญญาณทั่วอิสราเอล และจะแก้ปัญหาทั้งหมดของชาวยิวทั่วโลกได้ พวกเขายังหวังว่าจะสร้างวิหารแห่งเยรูซาเลมแห่งที่สามบนที่ตั้งของมัสยิดนี้ ติดๆ กับโดมทองนั้นคือพิพิธภัณฑ์ของมัสยิด ซึ่งรวมรวมเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผู้รุกรานชาวยิวประทุษร้ายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ เสื้อผ้าของชาวยิวผู้รุกรานและเสียชีวิตที่ยังมีคราบเลือดติดอยู่ถูกนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างเปิดเผย

ใต้โดมทองนี้คือแท่งหินก้อนมหึมาซึ่งเชื่อกันว่า อับราฮัม (อาหรับอ่านว่า อิบราฮิม) ได้นำลูกชายของตนเพื่อเตรียมบูชายัญต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเมื่อเขาจะลงมือฆ่าลูกชายของเขาจริงๆ ก็มีพระสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าดังขึ้นว่า “หยุด! ข้าเพียงต้องการลองใจเจ้าเท่านั้น บริเวณใกล้เคียงนั้นมีแพะอยู่ตัวหนึ่ง ให้ใช้แพะตัวนั้นมาบูชายัญแทนลูกชายของเจ้า” ตามที่ปรากฏหลักฐานในพระคัมภีร์เก่า (Old Testament) แต่ชาวมุสลิมมีความเชื่อเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อครั้งพระนบีมูฮัมหมัดทรงพระชนม์อยู่นั้น ในคืนวันหนึ่งได้ขี่ม้าชื่อว่า “สายฟ้า” จากเมืองเมดินามายืนบนหินก้อนเดียวกันนี้ และขึ้นไปปรากฏตัวบนสวรรค์เข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งกายเนื้อ เหนือหินก้อนนี้เป็นโดมทองซึ่งมีลวดลายที่งดงามละเอียดประณีตอย่างยิ่ง และเป็นมรดกโลกชิ้นสำคัญขององค์การยูเนสโก

หากมองเมื่อมองข้ามกำแพงมัสยิดแห่งนี้ลงไปเบื้องล่างคือกำแพงน้ำตา (The Wailing Wall) อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว เข้าสวดมนต์ภาวนาถึงพระผู้เป็นเจ้าของตน เป็นบริเวณที่ชาวยิวที่เคร่งศาสนาเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าได้มากที่สุด เพราะกำแพงแห่งนี้ชาวยิวเชื่อกันว่าเป็นกำแพงของวิหารที่สองที่กษัตริย์ดาวิดได้สร้างไว้และถูกชาวโรมันทำลายลงเมื่อ ค.ศ. 70 กำแพงน้ำตานั้นคือกำแพงวิหารที่สองของชาวยิว

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ตำรวจอิสราเอลบุกเข้าไปในมัสยิดอัลอักซอเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยึดเยรูซาเล็มในปี พ.ศ. 2510 ซึ่ง เชค อัซซาม อัล-คาติบ ผู้อำนวยการอิสลามที่รับผิดชอบมัสยิดแห่งนี้ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนไว้ก่อนว่าอิสราเอลจะทำ ‘การโจมตีอัลอักศอ’ และเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นจริง และเมื่อรัฐบาลของนายเบนจามิน เนทันยาฮู เกิดวิกฤติในปี พ.ศ. 2564 เขาได้สั่งให้กำลังตำรวจอิสราเอลเข้าปิดล้อมมัสยิดแห่งนี้ในวันสุดท้ายของการถือศีลอดของชาวมุสลิมที่กำลังทำพิธีละหมาดอยู่จนทำให้เกิดความรุนแรงและการจลาจลขึ้น ผู้ที่รับประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนี้คือนายเนทันยาฮูซึ่งกำลังถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและถูกกล่าวหาว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงและใช้อำนาจในทางมิชอบ

ที่มาภาพ : https://timesofindia.indiatimes.com/world/middle-east/israeli-missile-strikes-put-damascus-airport-out-of-service/articleshow/96670233.cms

ภายหลังจากที่ทหารอิสราเอลใช้จรวดโจมตีท่าอากาศยานนานาชาติที่กรุงดามัสกัสได้เพียงวันเดียว เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลได้เดินเข้าไปในมัสยิดอัลอักศอแห่งนี้พร้อมผู้คุ้มกันจำนวนมาก โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แม้จะใช้เวลาเพียง 13 นาทีในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ก็ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนมากเห็นว่าเป็นการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง เป็นลางไม่ดีสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างชาวอาหรับกับอิสราเอลที่ตกต่ำลงถึงขีดสุด

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากระหว่างยิวกับอาหรับคือ กษัตริย์ฮุสเซน บิน ตาลัล (Hussein bin Talal) ประสูติในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 – 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 เป็นกษัตริย์แห่งจอร์แดนตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2495 จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2542 ในฐานะสมาชิกของราชวงศ์ฮัชไมต์ พระราชวงศ์ของจอร์แดนตั้งแต่ปี 2464 กษัตริย์ฮุสเซนเป็นทายาทสายตรงรุ่นที่ 40 ของพระศาสดานบีมูฮัมหมัด

กษัตริย์ฮุสเซนเกิดที่กรุงอัมมานโดยเป็นพระราชโอรสองค์โตของทาลาล บิน อับดุลลาห์ และเซน อัล-ชาราฟ บินต์ จามิลตาลัล เป็นทายาทของบิดาของเขาเอง กษัตริย์อับดุลลาห์ที่หนึ่ง(Abdullah I. Hussein) เริ่มการศึกษาในอัมมานและศึกษาต่อในต่างประเทศ หลังจากเจ้าชายฮุสเซนขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี พ.ศ.2494 เจ้าชายฮุสเซนได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัชทายาท รัฐสภาจอร์แดนบีบบังคับให้พระราชบิดาสละราชสมบัติในอีกหนึ่งปีต่อมาเนื่องจากอาการป่วยเรื้อรังของพระองค์ และมีการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกระทั่ง เมื่อพระองค์บรรลุนิติภาวะ พระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 17 พรรษาในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ฮุสเซนทรงอภิเษกสมรสถึง 4 ครั้ง และมีบุตรธิดา 11 คน รวมทั้งกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน

กษัตริย์ฮุสเซนซึ่งเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ทรงเริ่มการปกครองด้วยสิ่งที่พระองค์เรียกว่า “การทดลองกับเสรีภาพ” ทำให้ในปี พ.ศ. 2499 มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเพียงแห่งเดียวในประวัติศาสตร์ของจอร์แดน ไม่กี่เดือนหลังจากการทดลอง ทรงบังคับให้รัฐบาลลาออก ทรงประกาศกฎอัยการศึก และยุบพรรคการเมืองทั้งหมด จอร์แดนเข้าทำสงครามกับอิสราเอลสามครั้งภายใต้การนำของกษัตริย์ฮุสเซน ซึ่งรวมถึงสงครามหกวันในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งจบลงด้วยการสูญเสียดินแดนเวสต์แบงก์ของจอร์แดนทั้งหมด

แต่ในปี พ.ศ. 2513 กษัตริย์ฮุสเซนกลับลำขับไล่นักสู้ชาวปาเลสไตน์ออกจากจอร์แดน หลังจากที่ทรงเห็นว่าพวกเขาคุกคามความมั่นคงของประเทศในสิ่งที่รู้จักกันในชื่อกันยาทมิฬ (Black September) ในจอร์แดน กษัตริย์ฮุสเซนทรงยกเลิกความสัมพันธ์ระหว่างจอร์แดนกับเวสต์แบงก์ในปี พ.ศ. 2531 หลังจากที่องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์แต่เพียงผู้เดียว พระองค์ยกเลิกกฎอัยการศึกและนำการเลือกตั้งกลับมาใช้ใหม่ในปี พ.ศ. 2532 เมื่อการจลาจลเนื่องจากการขึ้นราคาแพร่กระจายในภาคใต้ของจอร์แดน ในปี พ.ศ. 2537 พระองค์กลายเป็นประมุขแห่งรัฐอาหรับคนที่สองที่ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล

ในช่วงที่กษัตริย์ฮุสเซนเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ในปี พ.ศ. 2496 จอร์แดนเป็นประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ในขณะนั้น และเป็นผู้ดูแลเขตเวสต์แบงก์ ประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติน้อย และประชากรผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จำนวนมากเป็นผลมาจากสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี พ.ศ. 2491 กษัตริย์ฮุสเซนทรงนำประเทศผ่านสี่ทศวรรษอันปั่นป่วนของความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอลและสงครามเย็น ประสบความสำเร็จในการสร้างสมดุลให้กับแรงกดดันจากกลุ่มชาตินิยมอาหรับ อิสลามิสต์ สหภาพโซเวียต ประเทศตะวันตก และอิสราเอล เปลี่ยนจอร์แดนเมื่อสิ้นสุดการครองราชย์ 46 ปีของพระองค์ เป็นรัฐสมัยใหม่ที่มั่นคง

หลังจากปี พ.ศ. 2510 ทรงพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ทรงทำหน้าที่เป็นตัวกลางประนีประนอมระหว่างคู่แข่งต่างๆ ในตะวันออกกลาง และถูกมองว่าเป็นผู้สร้างสันติของภูมิภาค เขาได้รับความเคารพในการให้อภัยผู้เห็นต่างทางการเมืองและฝ่ายตรงข้าม และให้ตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลแก่พวกเขา กษัตริย์ฮุสเซนซึ่งรอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารและแผนการโค่นล้มเขาหลายสิบครั้ง เป็นผู้นำที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในภูมิภาคนี้ พระองค์สวรรค์คตเมื่อพระชนมายุได้ 63 ชันษาด้วยโรคมะเร็งในปี พ.ศ. 2542 และลูกชายคนโตของเขาคืออับดุลลาห์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์

เจ้าชายอับดุลลาห์ที่สอง บินอัลฮุสเซน (Abdullah II bin Al-Hussein) ประสูติ 30 มกราคม พ.ศ. 2505 เป็นโอรสของกษัตริย์แห่งจอร์แดน เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 พระองค์ทรงเป็นสมาชิกของ ราชวงศ์ฮัชไมต์ซึ่งปกครองราชวงศ์จอร์แดนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 และถือเป็นทายาทสายตรงรุ่นที่ 41 ของผู้เผยพระวจนะอิสลามมูฮัมหมัด

กษัตริย์อับดุลลาห์ที่สองเกิดที่กรุงอัมมาน โดยเป็นลูกคนแรกของกษัตริย์ฮุสเซนกับมเหสีองค์ที่สอง เจ้าหญิงมูนา ในฐานะลูกชายคนโตของกษัตริย์ อับดุลลาห์เป็นรัชทายาทจนกระทั่งกษัตริย์ฮุสเซนโอนตำแหน่งรัชทายาทจากเจ้าชายฮัสซัน พระเจ้าอาของเจ้าชายอับดุลลาห์ในปี พ.ศ. 2508 เจ้าชายอับดุลลาห์เริ่มเรียนที่อัมมาน และศึกษาต่อในต่างประเทศ เขาเริ่มอาชีพทหารในปี พ.ศ. 2523 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมในกองทัพจอร์แดน ต่อมารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยรบพิเศษของประเทศในปี พ.ศ. 2537 และในที่สุดก็ได้เป็นนายพลในปี พ.ศ. 2541 ในปี พ.ศ. 2536 อับดุลลาห์แต่งงานกับราเนีย อัล-ยัสซิน มีบุตรด้วยกันสี่คน ได้แก่ มกุฎราชกุมารฮุสเซน เจ้าหญิงอิมาน เจ้าหญิงซัลมา และเจ้าชายฮาเชม ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่พระราชบิดาของพระองค์จะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2542 กษัตริย์ฮุสเซนได้ตั้งชื่อลูกชายคนโตของเขาว่าอับดุลลาห์ให้เป็นรัชทายาทโดยตรง และกษัตริย์อับดุลลาห์ก็สืบราชบัลลังก์ต่อมาจนถึงทุกวันนี้

กษัตริย์อับดุลลาห์ซึ่งเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้เปิดเสรีเศรษฐกิจเมื่อเขาขึ้นครองบัลลังก์ และการปฏิรูปของเขานำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจซึ่งดำเนินต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2551 ในช่วงปีถัดมา เศรษฐกิจของจอร์แดนประสบกับความยากลำบากเนื่องจากต้องรับมือกับผลกระทบของภาวะถดถอยครั้งใหญ่และการล้นออกจากอาหรับสปริง รวมถึงการตัดจำหน่ายน้ำมันและการล่มสลายของการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

ในปี พ.ศ. 2554 การประท้วงขนาดใหญ่ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปปะทุขึ้นในโลกอาหรับ การประท้วงหลายครั้งนำไปสู่สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ แต่กษัตริย์อับดุลลาห์ทรงปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศโดยการเปลี่ยนรัฐบาลและเสนอให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ควบคุมเสรีภาพของประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยมีผู้แทนตามสัดส่วนได้รับการแนะนำต่อรัฐสภาจอร์แดนในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเขากล่าวว่าในที่สุดจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลรัฐสภา การปฏิรูปเกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งเกิดจากความไม่มั่นคงในภูมิภาค รวมถึงการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวน 1.4 ล้านคน เข้าสู่ประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และการเกิดขึ้นของรัฐอิสลามแห่งอิรักและไอซิส (ISIS)

ในปัจจุบันกษัตริย์อับดุลลาห์ทรงมีชื่อเสียงทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติจากการรักษาเสถียรภาพของจอร์แดน และเป็นที่รู้จักจากการส่งเสริมการสนทนาระหว่างศาสนาและความเข้าใจในระดับปานกลางเกี่ยวกับอิสลาม เขาเป็นผู้นำชาวอาหรับที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2559 พระองค์ได้รับการยกย่องจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์อิสลามแห่งราชวงศ์ให้เป็นมุสลิมที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก และในปี พ.ศ. 2565 อยู่ในอันดับที่ 5 และในปี พ.ศ. 2566 กษัตริย์อับดุลลาห์เป็นผู้ดูแลสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมและชาวคริสต์ในเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นตำแหน่งของราชวงศ์ในฐานะผู้พิทักษ์ศาสนาอิสลามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467

กษัตริย์อับดุลลาห์ในฐานะที่เป็นผู้ปกป้องศาสนาอิสลามเป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากพระนบีมูฮัมหมัด ย่อมไม่ทรงพอพระทัยกับนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ของอิสราเอลซึ่งมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับชาวอาหรับเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวปาเลสไตน์ โลกมุสลิมจะทำอย่างไรกับนโยบายที่ก้าวร้าวอย่าสุดขั้วของนายเบนจามิน เนทันยาฮู และรัฐบาลที่เคร่งศาสนาแบบสุดโต่งของเขา

ประสบการจากประวัติศาสตร์โลกนับครั้งไม่ถ้วนที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่ความรักชาติผนวกกับลัทธิคลั่งศาสนา เมื่อนั้นสงครามใหญ่เกิดขึ้นทุกครั้ง!!!