ThaiPublica > คอลัมน์ > ออกพรรษาปีนี้ชาวพุทธควรเรียนรู้อะไร?

ออกพรรษาปีนี้ชาวพุทธควรเรียนรู้อะไร?

8 ตุลาคม 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

การเข้าพรรษาเป็นเรื่องสำคัญในประเพณีไทย ตลอดสามเดือนพระภิกษุที่จำพรรษาได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก และอาจารย์กับศิษย์ และเมื่อก่อนถึงวันออกพรรษาหนึ่งวันคือวันปวารณา ซึ่งเปิดโอกาสให้ภิกษุตักเตือนกันและกันได้โดยไม่คำนึงถึงอาวุโส แม้ว่าจะบวชได้เพียงพรรษาเดียวก็สามารถตักเตือนภิกษุที่อาวุโสหรือกระทั่งพระอุปัชฌาย์ของตนเองก็ได้เช่นกัน ตลอดสามเดือนจึงเป็นเรื่องการเรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตร่วมกันในทุกมิติ

สถานการณ์โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความตึงเครียดจากภัยสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จีนกับสหรัฐอเมริกา อิหร่านกับอิสราเอล ความตึงเครียดทางการทหารเหล่านี้สามารถปะทุกขึ้นมาเป็นสงครามขนาดใหญ่หรือแม้แต่สงครามโลกครั้งที่สามได้ง่ายๆ หากประเทศมหาอำนาจเดินหมากพลาดเพียงตาเดียว

การสร้างสันติภาพให้มั่นคงในหมู่ชาวโลกจึงเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ. 2565 นี้ และสิ่งที่แน่นอนที่สุดคือพลังจากศาสนาในการสร้างสันติภาพที่มั่นคงแก่ชาวโลก โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์

เป้าหมายอันสูงสุดนี้ไม่มีศาสนาใดศาสนาหนึ่งในโลกที่จะกระทำให้สำเร็จได้ แต่ต้องอาศัยการสานเสวนาสันติภาพของศาสนาทั้งหลายในโลกนี้

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกศาสนาหนึ่งซึ่งมีอายุกว่า 2,500 ปี และเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นศาสนาแห่งสันติ ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของคำสอนในพระไตรปิฎกที่สามารถไปยกอ้างให้ทำความรุนแรงใดๆ เลย แต่เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ในปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนในโลกเพียง 500 ล้านคนเท่านั้น เพื่อสร้างสันติภาพถาวรแก่ชาวโลก ชาวพุทธจึงควรเรียนรู้ทักษะที่จะสานเสวนากับศาสนาอื่นด้วย และศาสนาที่เหมาะสมที่สุดคือคริสต์ศาสนา เพราะเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดทั่วโลก โดยมีนิกายที่ใหญ่ที่สุดคือโรมันคาทอลิก ซึ่งมีศาสนิกชนที่นับถือถึง 1,329 ล้านคน มีนครวาติกันในกรุงโรมเป็นศูนย์กลาง มีองค์สันตะปาปาเป็นประมุขสูงสุด

สถานของนครวาติกันนั้นเท่ากับประเทศๆ หนึ่ง มีธนาคารเป็นของตนเอง มีระบบไปรษณีย์เป็นของตนเอง มีกระทรวงประชาสัมพันธ์ของตนเอง และออกอากาศในภาษาต่างๆ ทั่วโลก มีระบบการบริหารงานที่เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพมากกว่าทุกศาสนา สืบทอดกันมานับพันปีตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยมโรมันยังเรืองอำนาจ ทหารสวิสที่เข้ามารับใช้ในนครวาติกันนั้นล้วนแต่เป็นทายาทของชาวสวิสที่นับถือโรมันคาทอลิกซึ่งพิทักษ์องค์สันตะปาปามาหลายร้อยปี ไม่ใช่ใครๆ จะเข้ามาเป็นได้ และทุกครั้งที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของโลก องค์สันตะปาปาจะมีพระดำรัสชี้ทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านั้นมาตลอด เท่ากับว่าพระองค์ท่านเป็นตัวแทนของคุณธรรม จริยธรรม และสันติภาพของชาวโลกทั้งปวงในสังคมยุคใหม่ตลอดมา

ในทุกเทศกาลสำคัญของคริสต์ศาสนา ได้แก่ วันคริสตมาสและวันอีสเตอร์ สมเด็จพระสันตะปาปามีธรรมเนียมที่จะประทานพระดำรัสเพื่อเป็นเข็มทิศแก่ชาวโลกและผู้นำประเทศไปปฏิบัติให้ถูกต้อง อำนาจของนครวาติกันจึงมีทั้งอำนาจของศาสนจักรและอาณาจักรรวมอยู่ด้วยกันอย่างที่ไม่สามารถแยกจากกันได้

อุบัติการของพระเยซูคริสต์นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง จากพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีชื่อว่า “ยาห์เวห์” (ซึ่งมักเรียกกันผิดๆ มานานว่า ยะโฮวา) ผู้ปกป้องคุ้มครองคุ้มครองเฉพาะชาวยิวเท่านั้นจากการกดขี่และภัยอันตรายจากผู้มีอำนาจในศาสนาอื่น กลายเป็นพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นองค์แห่งความรักความเมตตาปราณีของประชาชนทั้งโลก คริสต์ศาสนาต่อมาได้รับการยอมรับเป็นศาสนาของจักรพรรดิโรมัน จนรุ่งเรืองอย่างที่สุดในสมัยปัจจุบัน ตำแหน่งของสมเด็จพระสันตะปาปานั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พอนทิฟ (pontiff) ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางในอาณาจักรโรมัน ผู้มีหน้าที่ประสานสามัคคีแก่ขุนนางคนอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นแก่อาณาจักรนั่นเอง

คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกนี้ได้รับการปฏิรูปมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคกลางที่องค์สันตะปาปามีอำนาจเหนือกษัตริย์ทุกพระองค์ในยุโรป เป็นตัวแทนพระผู้เป็นเจ้าบนพื้นพิภพ สามารถสั่งให้พระราชาแว่นแคว้นต่างๆ ระดมกำลังทหารออกรบในสงครามครูเสดหลายระลอกเพื่อแย่งชิงนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเลมจากการครอบครองของชาวมุสลิมเป็นระยะเวลายาวนานเกือบสองร้อยปี (พ.ศ. 1638-1834) ซึ่งนับว่าเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คริสต์ศาสนายังเป็นเงื่อนไขและแรงขับเคลื่อนการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกเพื่อเผยแผ่ศาสนาไปยังส่วนต่างๆ ของทวีปเอเชียและแอฟริกาอีกด้วย

คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกนั้นมีสังคายนาใหญ่ๆ 2 ครั้งที่นครวาติกัน เรียกกันว่า วาติกันเคาน์ซิลครั้งที่หนึ่ง (The First Vatican Council) และวาติกันเคาน์ซิลครั้งที่สอง (The Second Vatican Council) โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

วาติกันเคาน์ซิลครั้งที่หนึ่งนั้นจัดขึ้นโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2411 หลังจากช่วงเวลาแห่งการวางแผนและเตรียมการซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2411 เพื่อตอบสนองต่ออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของลัทธิเหตุผลนิยม อนาธิปไตย ลัทธิคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม เสรีนิยม และวัตถุนิยม เป้าหมายหลักอีกประการของสภาคือการกำหนดอำนาจและบทบาทของพระสันตะปาปาให้ชัดเจน

ส่วนการสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง เป็นสภาสากลแห่งที่ 21 ของนิกายโรมันคาทอลิก สภาได้ประชุมกันที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรมเป็นเวลาสี่ช่วง แต่ละช่วงกินเวลาระหว่าง 8 ถึง 12 สัปดาห์ ในฤดูใบไม้ร่วงของแต่ละช่วงปี พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2508 การเตรียมตัวสำหรับสภาใช้เวลาสามปีตั้งแต่ฤดูร้อน 2502 ถึงฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ. 2505 สภาเปิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2505

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ทรงให้มีการประชุมเพราะทรงรู้สึกว่าศาสนจักรจำเป็นต้อง “ปฏิรูป” เพื่อเชื่อมต่อกับผู้คนในศตวรรษที่ 20 ในโลกที่มีการแบ่งแยกทางโลกมากขึ้น แนวทางปฏิบัติบางอย่างของศาสนจักรจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง และต้องนำเสนอการสอนในลักษณะที่พวกเขาจะเข้าใจและเข้าใจได้ ผู้เข้าร่วมสภาหลายคนเห็นใจในเรื่องนี้ ได้เสนอการพัฒนาที่สำคัญในหลักคำสอนและการปฏิบัติ ทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างกว้างขวางในพิธีกรรมทางศาสนา บาทหลวงไม่จำเป็นต้องสวดเป็นภาษาละตินอีกต่อไป ชาวคาทอลิกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม การเจริญจิตภาวนา และร่วมสานเสวนากับศาสนิกได้ทุกศาสนา โดยไม่มีข้อห้ามอีกต่อไป วิธีใหม่ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนากับโลก กับลัทธินอกศาสนา ศาสนาที่ไม่ใช่คริสต์ สู่เสรีภาพทางศาสนา ซึ่งนักวิชาการเรียกการสังคายนาครั้งนี้ว่า “งานทางศาสนาที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20”

ส่วนความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนานั้นมีความเป็นมาที่สลับซับซ้อนจนชาวพุทธทั่วไปคาดไม่ถึง แม้ว่าความเชื่อจะแตกต่างกันอย่างมากก็ตาม ในศตวรรษที่ 19 เมื่อนักเทววิทยาในกรุงวาติกันทราบถึงพระพุทธศาสนาก็รู้สึกตื่นเต้นกันอย่างมาก ด้วยทราบว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีพระผู้สร้างสรรพสิ่ง มีแต่พระธรรมวินัยอันเป็นสรณะที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพบูชา อีกทั้งมีระบบคำสอนที่ทั้งลึกซึ้งทั้งสลับซับซ้อน และขณะเดียวกันก็สามารถทำให้ชัดเจนได้ง่ายๆ อย่างเป็นระบบโดยไม่ต้องมีพระผู้เป็นเจ้าอยู่เลย

และในทางตรงกันข้าม หากมีพระผู้เป็นเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ระบบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นจะพังครืนลงมา แต่ในทางตรงข้ามในคริสต์ศาสนานั้นหากไม่มีพระผู้เป็นเจ้าระบบคำสอนทั้งหมดจะพินาศลงไปเช่นกัน

การค้นพบพระพุทธศาสนาและระบบของพระธรรมนั้นเป็นสิ่งที่น่าทึ่งอย่างมากสำหรับนักวิชาการในคริสต์ศาสนา ว่าเป็นศาสนาที่ไม่น่าเป็นไปได้ พุทธศาสนาทุกนิกาย ไม่ว่าเถรวาท มหายาน หรือวัชรยาน มีระบบคำสอนที่มีดุลภาพหลายมิติอันได้แก่ ดุลภาพระหว่างความคิดกับอารมณ์ (intelligence and emotion), ดุลภาพระหว่างอำนาจกับคุณธรรม (power and virtue), ดุลภาพระหว่างสิทธิและหน้าที่ (rights and duties), ดุลภาพระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม (individual and society), ดุลภาพระหว่างภาคทฤษฎีกับปฏิบัติ (precepts and practices) ดุลภาพเหล่านี้เป็นส่วนที่ชาวพุทธรู้จักกันในนามของทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว สาระหลายแห่งในพระไตรปิฎกยังตรงกับคัมภีร์ไบเบิลอีกด้วย เช่น ในทีฆนิกายอัคคัญญสูตรอันว่าด้วยกำเนิดของโลกนั้น โลกเสื่อมลงจากที่อาภัสสราพรหมลงมา “กิน” ง้วนดินที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจนในที่สุดร่างกายที่มีรัศมีงดงามค่อยๆ ริบหรี่ลงพร้อมๆ กับกายที่หนักมากยิ่งขึ้นจนเหาะออกไปจากโลกนี้ไม่ได้ ส่วนในคัมภีร์ไบเบิล อาดัมกับอีวาโดนลูซิเฟอร์แปลงตัวเป็นงูหลอกให้ “กิน” ผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้ผิดชอบชั่วดีที่พระผู้เป็นเจ้าห้ามเอาไว้ ในทำนองเดียวกัน ในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมโลกขนาดใหญ่ เหมือนกับในอัคคัญญสูตรที่โลกเต็มไปด้วยน้ำเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ระบุถึงเทศนาของพระเยซูคริสต์ ว่าด้วยจริยธรรมของมนุษย์อันเป็นที่รู้จักกันในนามของ Sermon on the Mount มีสาระใกล้เคียงกับสีฆโลวาทะสูตร และในพระคัมภีร์ไบเบิลได้มีบทสนทนาระหว่างพระเยซูกับหญิงชาวซามาริตัน (ซึ่งเป็นชนเผ่ากลุ่มน้อยที่ชาวยิวดูถูก) คล้ายกับบทสนทนาระหว่างพระอานนท์กับนางทาสี เหตุการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นข้างบ่อน้ำ ทั้งพระเยซูและพระอานนท์

ในคริสต์ศาสนายังมีนักปราชญ์ผู้หนึ่งชื่อติตัส ฟลาเวียส เคลเมนส์ (Titus Flavius Clemens) ผู้เป็นที่รู้จักกันในนามของ เคลมองต์แห่ง อเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในราว ปี พ.ศ. 693-758 เป็นนักศาสนศาสตร์และปราชญ์ คริสเตียนผู้สอนที่โรงเรียน Catechetic School of Alexandria เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศาสนจักร (church father) เมื่อเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เขาเป็นคนมีการศึกษาและคุ้นเคยกับปรัชญาและวรรณคดีกรีกคลาสสิก ผลงานหลักสามชิ้นของเขาแสดงให้เห็น เคลมองต์ได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีกโบราณในระดับที่มากกว่านักคิดคริสเตียนคนอื่นๆ ในสมัยของเขา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลโตและสโตอิก ในงานชิ้นหนึ่งของเขา เขาโต้แย้งว่าปรัชญากรีกมีต้นกำเนิดในหมู่ผู้ที่ไม่ใช่ชาวกรีกและเป็นนักปราชญ์คนแรกที่ได้กล่าวถึง “สมณะโคดม” ศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา

แม้ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นกว่า 1,500 ปี สันตะปาปาพระองค์หนึ่งได้สถาปนาให้บุคคลที่ชื่อว่าโจซีฟัส เป็นนักบุญชื่อ Saint Josephus ซึ่งมีประวัติว่าเป็นเจ้าชายพระองค์หนึ่งที่ออกบวชทิ้งลูกชายและภรรยาเป็นบรรพชิตแสวงหาความหลุดพ้นและออกโปรดโดยการแสดงธรรมประชาชนทั่วไป ต่อมาจึงเป็นที่ทราบภายหลังกว่า Saint Josephus นั้นไม่ใช่ใครเลยนอกจากพระโพธิสัตว์ คือพระพุทธเจ้านั่นเอง คำว่าโจซีฟัส อันที่จริงแล้วมาจากคำว่า “โพธิสัตว์” ตรงตัว จึงมาทราบกันว่าชุมชนชาวคริสเตียนนั้นรู้จักพระพุทธเจ้ามานานแล้วแต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร

ยิ่งไปกว่านั้นคำว่า Messiah ซึ่งในภาษาฮีบรูหมายถึงผู้ที่เป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าที่จะเสด็จมายังโลกมนุษย์ก่อนวันสิ้นโลกนั้น มาจากคำว่า Maitreya ในภาษาสันสกฤตหรือ Metteyya ในภาษาบาลีอันเป็นชื่อของพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ห้าที่คนไทยรู้จักกันในนามของพระศรีอริยเมตไตรยนั่นเอง ซึ่งชาวพุทธเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์สุดท้ายที่จะอุบัติขึ้นก่อนวันสิ้นโลก จะเป็นพระพุทธเจ้าที่มีบารมีมากที่สุดพระองค์หนึ่ง และจะโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ให้ตรัสรู้ธรรมเกือบหมดทั้งโลกนั่นเอง ซึ่งผู้นับถือศาสนายูดายกำลังรอการมาของ Messiah เช่นเดียวกันกับชาวพุทธที่รอการอุบัติขึ้นของพระเมตไตรยพุทธเจ้านั่นเอง

ส่วนในศาสนาอิสลามเชื่อกันว่าพระศาสดานบีมูฮัมหมัด คือ Messiah เป็นศาสดาที่พระผู้เป็นเจ้าส่งมาโปรดชาวโลกก่อนวันสิ้นโลกนั่นเอง และยิ่งไปกว่านั้นมหาปรินิพพานสูตรเป็นวรรณกรรมทางศาสนาชิ้นแรกที่ระบุถึงการจาริกแสวงบุญ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในคริสต์ศาสนาและศาสนาอิสลาม

จึงเห็นได้ว่าจารีตประเพณีและความเชื่อเหล่านี้เกิดในศาสนาที่มีกำเนิดห่างไกลกัน และในช่วงเวลาที่ห่างกันแต่ละศาสนาประมาณ 500 ปี แต่เนื่องจากเกิดจากการสื่อสารในดินแดนที่ต่อเนื่องกัน ความเชื่อและความคิดจึงถ่ายทอดกันมาตลอด จากอินเดียไปสู่ตะวันออกกลาง

ส่วนในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น นักบวชคาทอลิก นิกายเยซูอิต จากประเทศฝรั่งเศส ได้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมากและพยายามที่จะทำให้คนไทยรู้ว่าการเป็นนักบวชในคริสต์ศาสนานั้นเป็นอย่างไร เช่น การสวมจีวรสีเหลืองแล้วออกบิณฑบาตตอนเช้า มีวัตรปฏิบัติเหมือนพระภิกษุไทย ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีศัพท์ทางวิชาการว่า enculturation นำโดยนักบวชคณะเยซูอิต และเคยได้ผลดีในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมาแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับตรงกันข้าม ชาวพุทธไทยรู้สึกโกรธแค้น ยอมรับไม่ได้ที่จะให้นักบวชต่างศาสนาครองจีวร ด้วยความเคารพในจีวรว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะครองจีวรได้นั้นต้องเป็นผู้ที่ได้รับการบรรพชาอุปสมบทอย่างถูกต้องเท่านั้น จนทำให้พระเพทราชาผู้เป็นบิดาและขุนหลวงศรศักดิ์ผู้เป็นลูกชายเกิดความไม่พอใจ วางแผนการยึดอำนาจในวัด และทำได้สำเร็จปราบดาภิเษกตั้งราชวงศ์ “บ้านพลูหลวง” ขึ้น นักบวชเหล่านี้ทั้งหมดถูกเนรเทศ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (Constantin Falcon) ถูกประหาร นำมาสู่ความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามอย่างมากกับประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ตั้งแต่นั้นมา

ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธกับโรมันคาทอลิกเริ่มดีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ผู้ทรงแตกฉานภาษาอังกฤษ ทรงโปรดให้บาทหลวงปาลากัวจากฝรั่งเศสเข้าเฝ้าได้โดยไม่ต้องหมอบกราบ และให้นั่งบนเก้าอี้เสมอกันสนทนาธรรมกับพระองค์ ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ จนถึงสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ห้า ทรงสนับสนุนให้นักบวชหมอสอนศาสนาสร้างโรงเรียนได้โดยอิสระ มีโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนมาร์แตเดอี โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เป็นต้น กิจการของโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะนอกจากสอนศีลธรรมให้เยาวชนไทยเป็นคนดีแล้วยังสอนภาษาต่างประเทศ ผลิตคนสำคัญๆ ของประเทศเป็นอย่างมาก

การสานเสวนาทางศาสนาระหว่างพุทธกับคาทอลิกนั้นมิได้ราบรื่นเสมอไป แต่เริ่มมีปัญหาในปี พ.ศ. 2525 ได้เกิดข่าวแพร่สะพัดไปในหมู่ชาวพุทธไทยว่าคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกพยายามที่จะเข้ามากลืนประเทศไทย โดยใช้วิธีการเสวนาระหว่างศาสนา และปลอมปนทางวัฒนธรรมเหมือนดังที่เกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์ที่สอนวิชาปรัชญาและพระพุทธศาสนาที่เคยเป็นนักบวชมาแล้วได้รับบัตรสนเท่ห์ มีโทรศัพท์ลึกลับขู่จะทำร้ายทั้งตนเองและครอบครัว จนต้องหลบๆ ซ่อนๆ เกิดการก่อตั้งศูนย์พิทักษ์พุทธ ณ วัดราชาธิวาสฯ โดยมองเห็นว่าศาสนาอื่นเป็นศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก จนทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น-ปอลที่สอง (John-Paul II) ต้องเสด็จมาประเทศไทย เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธฯ ทำความเข้าใจกับประชาชนไทย ในขณะเดียวกัน ชาวพุทธไทย จำนวนมากประท้วงโดยการแห่งรูปหล่อของหลวงปู่แหวนรอบสนามหลวง เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญโดยระบุว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” แต่กระนั้น ความบาดหมางระหว่างชาวพุทธไทยและคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความบาดหมางในครั้งนั้นยังคงอยู่ในใจของชาวพุทธไทยมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบนั้นมีอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งของประเทศ แต่ทว่าผู้ที่สอนนั้นเป็นชาวพุทธหลักสูตรจึงเป็นไปเพื่อยกย่องพระพุทธศาสนาให้สูงเด่นเหนือศาสนาทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายเถรวาทย่อมเก่าแก่และถูกต้องกว่าทุกนิกายไม่ว่ามหายานหรือวัชรยานเสมอและเถรวาทในประเทศไทยย่อมดีกว่าทุกประเทศในโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น Oxford, Harvard, Princeton, Manchester Universities ซึ่งให้ศาสนิกผู้เชี่ยวชาญในศาสนานั้นๆ สอนในมุมมองของตน

ในสถานการณ์โลกที่เมฆหมอกของสงครามกำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ การเสวนาระหว่างศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ดี มีคุณเป็นการส่งเสริมสันติภาพและภารดรภาพกับโลกและไม่มีโทษแต่ประการใด การศึกษาคัมภีร์ของศาสนาอื่นจะยิ่งทำให้เข้าใจศาสนาของตนดีมากยิ่งขึ้น การเสวนาระหว่างศาสนานั้นไม่ใช่อยู่ในรูปแบบของการพูดคุยกันอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการใช้ชีวิตร่วมกัน (dialogue of life) และช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำของประชาชนทั่วโลก ทั้งการประกอบอาชีพ การศึกษา สิทธิมนุษยชน การสร้างสันติภาพในรูปแบบต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาให้กับศาสนิกของทุกศาสนาอีกด้วย

โดยที่ผู้นำศาสนามีความเคารพซึ่งกันและกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นกัลยาณมิตรให้กันและกันอย่างจริงใจ โดยไม่ต้องพึ่งพาองค์กรภาครัฐใดๆ ทั้งสิ้น อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการสานเสวนาทางศาสนานี้คือความใจกว้างที่จะเปิดรับความคิดใหม่ๆ ในมุมมองใหม่ๆ เมื่อศาสนาที่มีความเชื่อที่แตกต่างกันสามารถมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองร่วมกันได้ ชาวโลกส่วนใหญ่ย่อมมีความอุ่นใจและเห็นทางออกของการสร้างสันติภาพร่วมกัน — นี่แหละคือโจทย์สำคัญสำหรับคณะสงฆ์ไทยในวันออกพรรษาในปีนี้