ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมเพื่อนบ้านของอินเดีย “ปากีสถาน-ศรีลังกา” จึงเกิดวิกฤติพร้อมกัน?

ทำไมเพื่อนบ้านของอินเดีย “ปากีสถาน-ศรีลังกา” จึงเกิดวิกฤติพร้อมกัน?

23 เมษายน 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

นายอิมราน ข่าน ที่มาภาพ : https://www.dw.com/en/why-pakistans-political-crisis-goes-beyond-early-elections/a-61353531

ในขณะที่ประเทศอินเดียบรรยากาศทางการเมืองสงบ ไม่มีทั้งภัยธรรมชาติและภัยก่อการร้าย นักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์ว่าในปี พ.ศ. 2565 นี้อินเดียจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 9.1% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.6% ในขณะที่สหรัฐอเมริกาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5.2% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.7% (สูงสุดในรอบสี่สิบปี) ส่วนจีนจะมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 5.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.42% ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของอินเดียคือปากีสถานกำลังเผชิญวิกฤติทางการเมือง และศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤติทางการเมืองและเศรฐกิจครั้งที่ใหญ่ที่สุดนับจากที่ได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ

ปากีสถานนับว่ายังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอยู่คือ 4% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 13% (สูงที่สุดในรอบสองปี) ขณะนี้วิกฤติทางการเมืองของปากีสถานลุกลามออกไปทุกหย่อมหญ้า ประชาชนนับแสนออกมาเดินขบวน เมื่อรัฐสภาของปากีสถานลงมติไม่ไว้วางใจนายอิมราน ข่าน ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา 4 ปี ซึ่งเขาได้ดำเนินนโยบายที่สำคัญๆ หลายประการด้วยกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออินเดียผนวกแคว้นแคชเมียร์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย การแพร่ระบาดของ COVID-19 ปัญหาคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการ และสิ่งที่สำคัญคือการกระชับความสัมพันธ์กับทั้งจีนและรัสเซีย โดยเขาได้เดินทางไปร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งสวนทางกับการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกากับประเทศในยุโรป และยังได้เดินทางไปพบกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่รัสเชียส่งกองทัพเข้าไปรุกรานยูเครน

ในวันที่ 3 เมษายน 2565 ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้โจมตีนโยบายการบริหารงานของเขา ซึ่งนำมาสู่การยื่นของลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งปากีสถานปกครองด้วยรัฐบาลผสมหลายฝ่ายมาตลอด และที่น่าสนใจคือไม่เคยมีนายกรัฐมตรีคนใดอยู่ครบเทอมแม้แต่คนเดียว และเป็นประเทศที่กองทัพบกมีอำนาจในการบริหารอย่างมาก ผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศได้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเท่านั้น สิ่งที่
นายอิมราน ข่าน ได้กระทำคือการไม่ยอมก้มหัวให้กับกองทัพบก ทั้งๆ ที่กองทัพบกเป็นผู้ที่สนับสนุนให้เขาได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ จนในที่สุดพรรคการเมืองของเขาเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในปากีสถาน และกองทัพบกของปากีสถานนั้นยืนหยัดอยู่กับสหรัฐอเมริกาตลอดมา อาวุธยุโทปกรณ์ต่างๆ ของปากีสถานล้วนแล้วแต่ซื้อจากอเมริกาทั้งสิ้น

ข้อโต้แย้งของนายอิมราน ข่าน คือ ประเทศอภิมหาอำนาจขนาดใหญ่ต้องการกำจัดเขาออก โดยมีจดหมายฉบับหนึ่งที่เขายกขึ้นให้ประชาชนและรัฐสภาได้เห็น (แต่ไม่ได้อ่านให้ฟัง) ซึ่งเขาอ้างว่ามาจากข้าราชการระดับสูงของประเทศอภิมหาอำนาจนั้น ในระยะแรก
นายคาซิม ข่าน สุรี (Qasim Khan Suri) รองประธานรัฐสภาฟังเหตุผลของนายข่าน และไม่ยอมรับมติที่พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อจะลงมติไม่ไว้วางใจ โดยประกาศยุติการประชุมแล้วเดินออกจากที่ประชุมไปในทันที ทำให้เกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญญเกิดขึ้นทันควัน ผู้นำฝ่ายค้านไม่พอใจการกระทำของรองประธานสภาอย่างมาก จึงเข้าชื่อร่วมกันยืนเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญของปากีสถานให้ตัดสินในเรื่องนี้ ส่วนนายอิมราน ข่าน ขอให้ประธานาธิบดียุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องจากผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และภายหลังจากการไต่สวนได้มีมติ 5-0 ตัดสินว่าการที่รองประธานสภาไม่รับมติของฝ่ายค้านนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจนายข่านได้

ขณะเดียวกัน ประชาชนที่เห็นด้วยกับพรรคฝ่ายค้านเดินลงถนนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ ในขณะที่ในสภา ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลโต้เถียงกันอย่างรุนแรง จนในที่สุดนำมาสู่การลงมติ และนายอิมราน ข่าน ไม่ได้รับเสียงเพียงพอ ในวันที่ 11 เมษายน รัฐสภาจึงได้มีมติให้ผู้นำฝ่ายค้านคือนายเชห์บาซ ชารีฟ (Shehbaz Sharif) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในขณะที่ ส.ส.พรรคของนายอิมราน ข่าน ประท้วงโดยการเดินออกจากห้องประชุมทั้งหมด

ผู้สนับสนุน Imran Khan ร้องเพลงสโลแกนระหว่างการชุมนุมในกรุงอิสลามาบัด ที่มาภาพ : https://www.aljazeera.com/news/2022/4/5/how-pakistan-political-crisis-could-play-out-in-coming-days

วิกฤติทางการเมืองมิได้จบเพียงเท่านั้น นายอิมราน ข่าน ประกาศต่อสู้โดยประกาศให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับเขาลงถนนประท้วง และให้ประธานาธิบดียุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในระยะแรกผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายสำนักแสดงความคิดเห็นว่าไม่น่าจะมีประชาชนที่เห็นด้วยกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ และเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองนั้นจบลงแล้ว

ตรงกันข้าม ชาวปากีสถานนับล้านลงถนนเพราะเห็นด้วยกับนายอิมราน ข่าน และเห็นว่าเขาถูกประเทศมหาอำนาจกลั่นแกล้ง เพราะเขานำประเทศเข้าไปฝักใฝ่จีนกับรัสเซีย ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอเมริกา ประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนายอิมราน ข่าน เกิดการปะทะกันจนเป็นเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ทำให้เกิดความไม่สงบแผ่ไปทั่วประเทศ รัฐบาลผสมของนายเชห์บาซ ชารีฟ ไม่น่าจะมีอายุอยู่ได้นาน

นายอิมราน ข่าน นั้นเป็นคนหน้าตาดี สูงสง่า มาจากครอบครัวที่มั่งคั่ง เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเป็นกัปตันทีมคริกเก็ตของปากีสถาน มีผลงานนำทีมสู่ชัยชนะสร้างชื่อเสียงทางกีฬาคริกเก็ตให้กับประเทศมาอย่างมาก มีผลงานสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ช่วยเหลือคนยากจน และได้รับการสนับสนุนจากนายพลหลายคนในกองทัพบก แต่นายอิมราน ข่าน ได้ฝืนกระทำสิ่งต้องห้ามในธรรมเนียมการเมืองของปากีสถาน คือ การวิจารณ์อเมริกา ตีจากผู้นำทางทหาร และนำประเทศไปฝักใฝ่จีนกลับรัสเซีย ซึ่งทางโลกตะวันตกตราหน้าว่าเป็นผู้ร้าย โดยเฉพาะจีน

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกควาดาร์ (Gwada) ซึ่งอยู่ในเมืองบาโลชิสถาน (Balochistan) ชายฝั่งทะเลอาหรับต่อกับมหาสุมทรอินเดีย ท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้เชื่อมต่อกับระบบข่นส่งทางรางขนาดใหญ่ของจีน และยังมีที่จอดพิเศษลอยตัวอยู่ห่างออกจากฝั่ง สำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกสำหรับจีน มีประสิทธิภาพขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณถึง 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากอิหร่านต่อท่อตรงสู่ประเทศจีน และจีนได้ใช้เงินมูลค่าถึง 757 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการนี้ไปแล้ว

โครงการนี้อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทของจีน เมื่อพัฒนาเต็มรูปแบบท่าเรือแห่งนี้จะเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าของจีนตรงเข้ายุโรป โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา จีนได้มีสัญญาผูกพันกับรัฐบาลปากีสถาน ได้จัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลายบริษัทเพื่อรองรับโครงการขนาดยักษ์ที่นี่ และมีทั้งโรงเรียนสอนวิชาการวิศวกรรมศาสตร์และช่างกลเพื่อมาทำงานที่เมืองท่านี้ โดยจีนได้เข้ามาบริหารจัดการท่าเรือน้ำลึกนี้แล้วอย่างเต็มรูปแบบ สร้างตำแหน่งงานจำนวนมากแก่คนรุ่นหนุ่มสาวของปากีสถาน ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนายอิมราน ข่าน สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงแก่สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ตราบใดที่นายอิมราน ข่าน ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ตราบนั้นผลประโยชน์มหาศาลของจีนจึงเป็นที่รับประกันได้ และจีนจะไม่ปล่อยให้นายอิมราน ข่าน ต่อสู้ตามลำพังอย่างแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้น นายอิมราน ข่าน ไม่ยอมประณามรัสเซียที่ส่งกองทัพไปบุกยูเครน และยังหันมาสรรเสริญนโยบาย “เป็นกลาง” ของอินเดียเสียอีก เป็นเรื่องที่สร้างความขัดเคืองให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างมาก เหตุผลที่นายอิมราน ข่าน ประกาศกับประชาชนว่าสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงรัฐบาลของเขา และให้ ส.ส. ขายชาติจำนวนหนึ่งลงมติปลดเขาออกจากตำแหน่งจึงฟังขึ้นอย่างยิ่ง วิกฤติการณ์ครั้งนี้ยังไม่สงบ และมีโอกาสที่จะลุกลามต่อไปได้อย่างมาก

วิกฤติศรีลังกา หนี้สินท่วมท้น

ผู้ประท้วงวิ่งหนีขณะที่ตำรวจใช้กระสุนแก๊สน้ำตาสลายพวกเขาระหว่างการประท้วงนอกบ้านพักของประธานาธิบดีศรีลังกาในเขตชานเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ที่มาภาพ : https://indianexpress.com/article/explained/sri-lanka-economic-crisis-explained-7849208/

วิกฤติที่เกิดขึ้นกับปากีสถานนั้นยังไม่ถึงเศษเสี้ยวของวิกฤติที่เกิดขึ้นกับศรีลังกาในขณะนี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับประเทศนี้ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งเกิดสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด หนี้สินของประเทศท่วมท้น ข้าวยากหมากแพงกันทั้งประเทศ น้ำมันไม่มีเพียงพอที่จะขายให้ประชาชน รัฐบาลต้องปิดสถานทูตหลายแห่งเพราะไม่มีเงินจ่ายให้คณะทูตและข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศ

การประท้วงเริ่มขึ้นประปรายตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งปั๊มน้ำมันไม่มีน้ำมันดีเซลขายให้ประชาชน ชาวบ้านต้องต่อคิวเข้าแถวกันเพื่อซื้อน้ำมันจากปั๊ม คนตายไปถึง 4 คนเพราะต้องยืนตากแดดนานหลายชั่วโมง จนเกิดการจลาจลขึ้นตามปั๊มน้ำมันหลายแห่ง รัฐต้องสั่งการให้ทหารพร้อมอาวุธเข้าไปกำกับดูแลตามปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ การประท้วงลุกลามไปทั่วประเทศจนทำให้ คณะรัฐมนตรีทั้ง 26 คน ลาออกพร้อมกัน นักการเมืองที่ลาออกจำนวนหนึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งเดิม ในขณะที่นายกรัฐมนตรีประกาศเชิญชวนให้พรรคฝ่ายค้านส่งตัวแทนเข้ามาร่วมตั้งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลแห่งชาติ (ไม่มีฝ่ายค้าน) เพื่อแก้วิฤติครั้งนี้ แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เล่นด้วย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่ จำทำให้ประชาชนนับล้านออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้พี่น้องตระกูลราชปักษาลาออก แต่ทั้งสองพี่น้อง (คนน้องเป็นประธานาธิบดี ส่วนคนพี่เป็นนายกรัฐมนตรี) ดื้อแพ่งไม่ยอมลาออก ทั้งคู่ยังคงยึดเก้าอี้ของตนอย่างเหนียวแน่น

  • วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกามาถึงจุดต่ำสุด ผลพวงจากการเติบโตที่ควบคุมไม่อยู่
  • วิกฤติการณ์ในศรีลังกาครั้งนี้มีรากลึก และซับซ้อนกว่าที่เกิดขึ้นในปากีสถานหลายเท่า เริ่มตั้งแต่เมื่ออังกฤษให้อิสรภาพกับศรีลังกา รัฐบาลอังกฤษเขียนรัฐธรรมนูญที่มีปัญหามากทิ้งไว้ให้กับประเทศเกาะแห่งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับ “สิทธิมนุษยชน” และความเท่าเทียมกันของชาวศรีลังกาโดยมิได้นำพาต่อมิติทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมเลย

    ตัวอย่างสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การที่คณะสงฆ์เข้ามีส่วนในการเมืองทุกระดับอย่างเปิดเผย เนื่องจากภิกษุก็คือประชาชนคนหนึ่ง นอกจากจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแต่ละครั้งแล้ว พระคุณเจ้ายังใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญก่อตั้งพรรคการเมืองอีกด้วย เป็นพรรคที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายรองรับ และลงชิงชัยในการเลือกตั้งของประเทศในทุกระดับ พรรคของคณะสงฆ์ศรีลังกานั้นเป็นพรรคการเมืองใหญ่อันดับสาม และเมื่อความเชื่อทางศาสนาผนวกเข้ากับความรักชาติ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ “ลัทธิคลั่งทั้งชาติและคลั่งทั้งศาสนา”

    รัฐธรรมนูญของศรีลังกาได้ผ่านการแก้ไขมาถึง 20 ครั้งด้วยกัน การแก้ไขครั้งสำคัญครั้งหนึ่งคือการกำหนดให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาประจำชาติ เพราะชาวสิงหลเป็นประชากรส่วนใหญ่ (ประมาณ 70%) ชาวสิงหลเกือบทั้งหมดนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท ในวันรุ่งขึ้นหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จขบวนการก่อการร้ายพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเกิดขึ้นทันที่ เพราะชาวทมิฬ (ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู) มีความรู้สึกว่าเผ่าพันธุ์ของเขาเป็นประชากรชั้นสอง ต้องการแบ่งแยกดินแดนไม่ขึ้นกับศรีลังกา

    การก่อการร้ายของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนั้นรุนแรง มีทั้งการวางระเบิดตามสถานที่ราชการหลายแห่งในกรุงโคลัมโบ การระเบิดฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องแทบไม่เว้นแต่ละวัน ประชาชนนับหมื่นเสียชีวิต พยัคฆ์ทมิฬอีแลมนี้ได้รับการสนับสนุนทางเงินทองและอาวุธจากชาวทมิฬด้วยกันในอินเดีย จนรัฐบาลศรีลังกาต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอินเดีย นายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ได้ลงมาเล่นเรื่องนี้ด้วยตนเอง และในที่สุดต้องมาจบชีวิตของตนลงในวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 เพราะการระเบิดฆ่าตัวตายของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ทำทีว่านำพวงมาลัยมาคล้องให้ ซึ่งการ์ดของท่านนายกจึงปล่อยให้เข้ามาประชิดตัวเพราะเห็นว่าเป็นเด็กหญิง

    การปราบปรามขบวนการพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนั้นมิใช่เรื่องง่ายเลย แม้ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ให้ระบุว่า “ภาษาทมิฬ” เป็นภาษาประจำชาติด้วยขบวนการนี้ก็มิได้หมดไป จนในที่สุดนำมาสู่การปราบปรมครั้งใหญ่ กองทัพศรีลังกาได้ระดมสรรพกำลังปิดล้อมพยัคฆ์ทมิฬอย่างเข้มข้นถึงแหลมจาฟน่าทางตอนเหนือของเกาะ และได้สังหารสมาชิกขบวนการนี้อย่างหมดสิ้นในปี พ.ศ. 2554 ทางรัฐบาลเองได้ออกมาประกาศต่อชาวโลกว่าศรีลังกาปลอดจากพยัคฆ์ทมิฬ สถานการณ์ทุกอย่างเข้าสู่ความเป็นปกติแล้ว หลังจากสภาวะสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 26 ปี นักท่องเที่ยวจึงได้หลั่งไหลเข้ามายังประเทศมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือเกิดวีรบุรุษของชาติผู้ปราบกบฏพยัคฆ์ทมิฬ นั่นคือนายมหิทรา ราชปักษา ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์ทั้งประเทศ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ตระกูลราชปักษามีชื่อเสียงราวกับเป็นอีกราชวงศ์หนึ่งของศรีลังกา พี่น้องตระกูลราชปักษาจึงเข้ามาบริหารประเทศในคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมามีครอบครัวราชปักษาถึง 5 คน คุมกระทรวงสำคัญๆ ต่างๆ ทั้งแผ่นดิน รับผิดชอบงบประมาณแผ่นดินรวมกันแล้วถึง 75% รัฐบาลของราชปักษาจึงเข้าใกล้ระบอบการปกครอง “สมบูรณาญาสิทธิราช” โดยแท้

    ท่าเรือ Hambantota ศรีลังกา ที่มาภาพ : http://www.hipg.lk/media-centre/news

    สิ่งที่ทำให้ศรีลังกาเหมือนกับปากีสถานคือ ทั้งคู่อยู่ในโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ของจีน แต่เดิมนั้นรัฐบาลศรีลังกามีแผนที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่เมืองฮัมบันโตตา (Hambantota) ด้วยวัตถุประสงค์ในเบื้องต้นคือเพื่อลดความคับคั่งของท่าเรือกรุงโคลัมโบ แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นที่ตั้งของที่เก็บน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ พร้อมโรงกลั่น โรงงานแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดขนาดใหญ่ มีความสามารถที่จะรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ปีละหลายพันลำ และจะสร้างรายได้อย่างมโหฬารให้กับศรีลังกา โครงการนี้ถูกวางแผนต่างๆ ไว้จนเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2546 โดยจะแบ่งออกเป็นเฟสต่างๆ สามเฟส มีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

    ในปีเดียวกันนั้นประธานาธิบดีมหิทธา ราชปักษาได้นำโครงการนี้มาทบทวนใหม่และเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลทั้งหมด (โครงการนี้จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นท่าเรือราชปักษา) ซึ่งบริษัทที่ชนะการประมูลครั้งนั้นคือบริษัทของจีน ต่อจากนั้นมาจีนได้เข้ามามีบทบาท มากขึ้นๆ เรื่อยๆ และปล่อยเงินกู้จำนวนมากให้แก่รัฐบาลศรีลังกา เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% แต่ระบบการตรวจสอบการฉ้อราษฎร์บังหลวงของศรีลังการนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก การคอร์รัปชันมีในทุกระดับจนในที่สุดรัฐบาลศรีลังกาอยู่ในสภาวะ “หนี้ท่วม” ท่าเรือที่ยิ่งใหญ่นี้ต้องให้บริษัทของจีนมาดำเนินกิจการทั้งหมดเป็นระยะเวลาถึง 99 ปี

    สื่อมวลชนตะวันตกวิเคราะห์ว่าจีนมีแผนการเข้ายึดครองท่าเรือแห่งนี้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น ได้เข้าวิ่งเต้นเชิญนักการเมืองและข้าราชการต่างๆ ของศรีลังกาไปดูงานในจีน ยื่นข้อเสนอที่สวยหรูดูดีกับทั้งสองฝ่าย แล้วค่อยๆ ปล่อยเงินกู้กับรัฐบาลศรีลังกามากขึ้นๆ จนอยู่ในสภาวะ “หนี้ท่วม” นักการเมืองและข้าราชการเหล่านั้นรับการ “หยอดน้ำมัน” จากธนาคารและหน่วยงานของจีนกันทั่วหน้า จนท่าเรือสำคัญแห่งนี้ตกเป็นของจีนในที่สุด เพราะเหตุว่านอกจากที่ท่าเรือแห่งนี้อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางการพานิชย์นาวีแล้วยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางการทหารอีกด้วย

    ท่าเรื่องแห่งนี้สามารถทำให้จีนควบคุมเส้นทางการเดินเรือทั้งหมดในมหาสมุทรอินเดีย และย่อมเป็นฐานทัพเรือที่สำคัญของจีน และเมื่อประกอบกับท่าเรือน้ำลึกในปากีสถานแล้ว เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าแสนยานุภาพทางทะเลของจีนจะคุมทุกตารางนิ้วของมหาสมุทรอินเดีย และชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ และยุโรปสะพรึงกลัวอย่างมาก

    เป็นที่น่าสนใจที่ว่าในขณะที่เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในศรีลังกาจนเป็นเหตุให้ทั้งประเทศเป็นอัมพาต โครงการพัฒนาท่าเรือราชปักษานี้ยังรุดหน้าต่อไปทั้งวันทั้งคืน มิได้ถูกกระทบกระเทือนไปด้วยเลยแม้แต่น้อย

    ศรีลังกากู้เงินจากจีนมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่มาภาพ : https://phys.org/news/2018-09-china-silk-road-debt.html

    ประเทศไทยก็ไม่แตกต่างไปจากศรีลังกาและปากีสถานเลย อยู่ในแผนการสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นที่หมายปองของทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ยังมีโชคดีที่รัฐบาลไทยมีโครงการท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) มีทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือน้ำลึก และระบบขนส่งทางราง บริหารโดยรัฐบาลไทยเอง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในอัตรา 3.5-4.0% ในขณะที่เงินเฟ้อ 5.28% ซึ่งอยู่ในระดับปานกลางไม่หวือหวา

    แต่ชาวไทยก็ไม่อาจไว้วางใจใดๆ ได้กับประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดใหญ่ของ COVID-19 และวิกฤติการณ์ในยูเครน การประคองสถานการณ์ทางการเมืองไม่ให้กระเพื่อมในระยะนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เศรษฐกิจจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นเอง ดูตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองของอินเดียในขณะนี้ก็แล้วกัน!!!