ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ลาวเปิดโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์เข้ากัมพูชา

ASEAN Roundup ลาวเปิดโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์เข้ากัมพูชา

8 มกราคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-7 มกราคม 2566

  • ลาวเปิดโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์เข้ากัมพูชา
  • สนามบินบ่อแก้วเริ่มให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2566
  • ลาวตั้งเป้าเศรษฐกิจเติบโต 4.5% ​​ในปี 2566
  • เวียดนามส่งออกข้าวทะลุ 7 ล้านตัน
  • กัมพูชาส่งออกข้าวกว่า 6 แสนตัน
  • วอลมาร์ทเล็งขยายธุรกิจร่วมกัมพูชา
  • อินโดนีเซียเตรียมตั้งตลาดคริปโทในปี 2566
  • ลาวเปิดโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์เข้ากัมพูชา

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_03_y23/freeContent/FreeConten2023_Champassak03.php

    แขวงจำปาสักทางตอนใต้ของลาวได้เปิดโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ที่เชื่อมสถานีไฟฟ้าย่อยที่บ้านหาด ในเมืองโขงติดกับชายแดนกัมพูชา

    นายทองพัด อินทะวง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานและบ่อแร่กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคพลังงานของลาว โดยเฉพาะในการจัดหาไฟฟ้าให้กับประชาชนในท้องถิ่นและนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ

    นายจันทะบูน สุกอาลุน ผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos-EDL) กล่าวว่า สายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์และสถานีเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไฟฟ้าแห่งแรกในลาวที่ดำเนินการในรูปแบบสัมปทานหรือ BOT (Build Operate and Transfer) โดยมีผู้ร่วมพัฒนา เป็นผู้สร้างและผู้ดำเนินการ

    Yunnan Energy Investment (HK) Co Ltd ได้ลงทุนมากกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐในโครงการ เมื่อคำนวณออกมากเป็นราคาต่อหน่วย ราคานี้เป็นราคาที่ต่ำที่สุดสำหรับ EDL

    สายส่งมีความยาวมากกว่า 200 กิโลเมตร เริ่มจากเมืองโขง ในแขวงจำปาสัก เข้าสู่เมืองสะหนามไซ เมืองพูวง แขวงอัตตะปือ จากนั้นเข้าเขตแดนและเชื่อมเข้ากับโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของประเทศกัมพูชา

    โครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าแห่งชาติซึ่งใช้เทคนิคที่ทันสมัยและมีมูลค่าการลงทุนสูง นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญในบริบทของยุทธศาสตร์ของประเทศในการส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชาตามกำหนด

    นายจันทะบูนกล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

    โรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งได้ถูกสร้างขึ้นในลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการเปลี่ยนประเทศให้เป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

    ในปี 2563 ลาวมีแหล่งพลังงาน 82 แหล่ง โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกันมากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ร้อยละ 80.4 มาจากไฟฟ้าพลังน้ำ และร้อยละ 18.6 มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประมาณร้อยละ 91.49 ของไฟฟ้าที่ใช้ในลาวมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และการ
    กระจายแหล่งพลังงานจะทำให้ลาวมีความมั่นคงด้านพลังงาน

    ในช่วงปี 2564-2568 ลาวมีแผนที่จะผลิตไฟฟ้า 1,807 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าพลังน้ำคิดเป็นร้อยละ 57 ของไฟฟ้าทั้งหมด พลังงานถ่านหินร้อยละ 19 และพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 24 ภายในปี 2573 ลาววางแผนจะผลิตไฟฟ้าอีก 5,559 เมกะวัตต์ โดยร้อยละ 77.59 จะมาจากพลังน้ำ และที่เหลือจะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และถ่านหิน

    สนามบินบ่อแก้วเริ่มให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2566

    สนามบินนานชาติบ่อแก้ว ที่ใกล้จะแล้วเสร็จ (ภาพเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2564)

    ในระหว่างการพูดคุยเกี่ยวกับความคืบหน้าของการก่อสร้างสนามบินบ่อแก้ว นายพูน คำพา ได้เปิดเผยกับ ดร.สิทธิปัฐพ์ มงคลอภิบาลกุล ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานและความปลอดภัย ท่าอากาศยาน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ว่า มีแผนขยายขนาดสนามบินจากปัจจุบัน 3,200 เมตร เป็น 4,000 เมตร ซึ่งหลังจากการขนาดแล้ว สนามบินนานาชาติบ่อแก้วจะมีขนาดใหญ่กว่าสนามบินนานาชาติวัตไตของเวียงจันทน์

    นายพูนกล่าวว่า สนามบินจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 500,000 คนต่อปีเมื่อเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม และหลังจากการขยายเสร็จแล้ว สนามบินจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2 ล้านคนต่อปี

    สนามบินนานาชาติบ่อแก้วตั้งอยู่ห่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อแก้ว 5 กิโลเมตร และห่างจากเขตห้วยทรายของบ่อแก้ว 60 กิโลเมตร

    นายพูนกล่าวว่า ปัจจุบันสนามบินจ้างคนงานในพื้นที่ 300 คน เพื่อมอบโอกาสการจ้างงานให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา

    แนวคิดทางสถาปัตยกรรมของสนามบินมีต้นแบบมาจากหงส์และปีก โดยมีกระจกรูปทรงสวยงามอยู่ตรงกลางซึ่งมีความหมายว่า “บ่อแก้ว” ซึ่งหมายถึงบ่อน้ำแก้ว เสาโครงสร้างแต่ละต้นก็มีรูปร่างเหมือนดอกงิ้วเช่นกัน

    ปีกด้านหนึ่งของสนามบินจะรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ส่วนอีกด้านจะรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ

    การก่อสร้างสนามบินบ่อแก้วเริ่มต้นในปี 2563 และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การก่อสร้างจึงล่าช้าและจะแล้วเสร็จในต้นปี 2566

    ลาวตั้งเป้าเศรษฐกิจเติบโต 4.5% ​​ในปี 2566

    ที่มาภาพ: https://www.golaos.tours/top-3-vibrant-markets-laos/
    สมัชชาแห่งชาติ (NA) ได้ให้ความเห็นชอบ เป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 4.5​​ในปี 2566 ตามที่รัฐบาลเสนอ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยภาคการเกษตรซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่นร้อยละ 34.2 ของ GDP จะเติบโตที่ร้อยละ 5 ภาคบริการที่มีสัดส่วนร้อยละ 37.5 ของ GDP คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.7 ในขณะที่การจัดเก็บภาษีเงินได้และภาษีจากการซื้อขายสินค้าซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 11.1 ของ GDP คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3

    มูลค่าของ GDP คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 234,160 พันล้านกีบภายในสิ้นปีนี้ โดย GDP ต่อหัวอยู่ที่ 1,625 เหรียญสหรัฐฯ และรายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) ต่อหัวอยู่ที่ 1,534 เหรียญสหรัฐฯ

    นายทานตา คงพาลี รองประธานคณะกรรมาธิการวางแผน การเงิน และการตรวจสอบของสมัชชาแห่งชาติได้ชี้ถึงความสำเร็จที่สำคัญของรัฐบาลในช่วงปี 2565 และความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าในปี 2566

    “สมัชชาแห่งชาติของเราตระหนักดีว่า การดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลสำหรับปี 2565 มีขึ้นในช่วงเวลาที่ลาวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและการระบาดใหญ่ของโควิด-19” เขากล่าว

    “เศรษฐกิจของลาวตลอดทั้งปี 2565 คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.4 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 4.5 ​​ที่ได้รับความเห็นชอบจาก NA”
    นายทานตาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งควบคุมอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจลาวและวิถีชีวิตของประชาชน

    นายคำเจน วงโพสี รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเพดานไม่เกินร้อยละ 9 ในปี 2566

    ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน
    อัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบเป็นรายปีพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ที่ร้อยละ 38.46 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.75 ในเดือนตุลาคม

    นายคำเจนกล่าวว่า ปริมาณ M2 หรือเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 และรับประกันว่าจะมีเงินตราต่างประเทศสำรองเพียงพอสำหรับการซื้อสินค้านำเข้าเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

    รัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลจะพยายามรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และดูแลให้เงินกีบที่อ่อนค่าลงจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และไม่เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมากเกินไป

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เงินกีบของลาวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หนี้สาธารณะที่เป็นหนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากลาวต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระหนี้ของประเทศ

    ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GNI)ต่อหัวสูงถึงเพียง 1,729 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าอัตราที่ 2,358 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป้าหมายที่ได้รับการเห็นชอบจาก NA ทั้งนี้ GNI ต่อหัวลดลงจาก 2,161 เหรียญสหรัฐในปี 2563 และ 2,004 เหรียญสหรัฐในปี 2564 เนื่องจากการเงินกีบของลาวอ่อนค่า

    เวียดนามส่งออกข้าวทะลุ 7 ล้านตัน

    ที่มาภาพ: https://interaksyon.philstar.com/politics-issues/2021/11/24/205243/philippines-temporarily-limits-rice-imports-from-vietnam/
    เวียดนามส่งออกข้าวเกือบ 7.2 ล้านตันรวมมูลค่า 3.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว รวมถึงการขนส่งจำนวนมากไปยังตลาดที่มีความต้องการ เช่น ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (EU)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท Le Minh Hoan กล่าวว่า ยอดขาย เป็นสัญญาณว่าข้าวเวียดนามมีคุณภาพดีขึ้นตั้งแต่การเลือกพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกและการกำหนดมาตรฐานให้ตรงตามความต้องการของแต่ละตลาด

    ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น Trung An Hi-tech Farming JSC และ Loc Troi Group ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาว จึงได้ร่วมมือกับเกษตรกรและสหกรณ์ในเขตอุตสาหกรรมวัตถุดิบ เพื่อให้อุปทานข้าวมีคุณภาพและมีเสถียรภาพ

    รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม Do Ha Nam กล่าวว่า ต้องขอบคุณดอกมะลิและเวียดนามชนะตลาดหลายแห่งและเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดที่มีความต้องการ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เป็นผลจากข้าวหอมมะลิและข้าวคุณภาพสูง หลายบริษัทได้รับคำสั่งซื้อจนถึงเดือนเมษายนหรือแม้กระทั่งไตรมาสที่สามของปีนี้

    VFA คาดการณ์ว่า ผู้ส่งออกข้าวในประเทศมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจนในปีนี้ เพราะราคาข้าวที่สูงขึ้น และมีอุปสงค์มากจากจีน ฟิลิปปินส์ และแอฟริกา ขณะที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ได้ตัดสินใจคงภาษีนำเข้าไว้ที่ 35% ในปีนี้ ส่วนผู้นำเข้าข้าวจากเวียดนามรายใหญ่อันดับสอง คือ จีน นั้นจะยกเลิกนโยบายปลอดโควิดและเปิดพรมแดนกับเวียดนามอีกครั้ง

    กัมพูชาส่งออกข้าวกว่า 6 แสนตัน

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/positive-signals-for-rice-exports-in-2023/246674.vnp

    กัมพูชาส่งออกข้าวสารจำนวน 637,004 ตันในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.23เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยร้อยละ 45.34 ส่งไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง หรือมาเก๊า จากรายงานฉบับใหม่ของสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) องค์กรอุตสาหกรรมข้าวชั้นนำของกัมพูชา

    เมื่อแยกออกตามประเภทแล้ว ข้าวหอมระดับพรีเมียมคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ถึง 277,739 ตัน ตามมาด้วยข้าวหอม Sen Kra’op (179,070 ตัน) ข้าวขาว (153,428 ตัน) ข้าวนึ่ง (15,781 ตัน) ข้าวอินทรีย์ (10,963 ตัน) และข้าวเหนียว (23 ตัน) ).

    ผู้ส่งออกทั้งหมด 61 รายจัดส่งข้าวสารไปยังเขตปกคราอง 59 แห่ง โดยตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊ารวมกันมีปริมาณมากที่สุด 288,830 ตัน ตามมาด้วยปลายทาง 25 แห่งในสหภาพยุโรป (221,504 ตัน) 4 แห่งในอาเซียน (64,733 ตัน) ) และที่อื่น ๆ อีก 27 แห่ง (61,937 ตัน)

    รายงานระบุว่า การส่งออกข้าวเปลือกของกัมพูชาในปี 2565 มีมูลค่ารวม 414.29 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ปีที่แล้วมีการส่งออกข้าวเปลือก 3,477,886 ตัน มูลค่า 841.09 ล้านดอลลาร์ ไปยังเวียดนามโดยเฉพาะ

    แม้ว่า CRF จะไม่มีตัวเลขการเปลี่ยนแปลงเทียบปีต่อปี แต่การส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังจีนในปี 2565 อาจลดลงร้อยละ 6.74 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยใช้ตัวเลขปี 2564 ที่ 309,709 ตัน

    เมื่อวันที่ 5 มกราคม Andy Lay Chhun Hour ประธานและซีอีโอของกลุ่มบริษัท City Rice Import Export Co Ltd ระบุว่า การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังจีนที่ลดลง เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและปริมาณสำรองส่วนเกินธัญพืชอีกมาก จากแห่ซื้อด้วยความกังวลเรื่องโควิด-19

    Chhun Hour ยังชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มีผลต่อเสถียรภาพของเงินหยวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ส่งผลให้ราคาข้าวสารนำเข้าที่ขายในตลาดจีนสูงขึ้น

    นอกจากนี้ การผลิตพันธุ์ข้าวหอมที่เป็นที่นิยมในจีนก็ “ลดลงอย่างรวดเร็ว” ในไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งยิ่งมีผลต่อการส่งออกไปอีก โดย City Rice Import Export ซึ่งเป็นบริษัทโรงสีข้าวรายใหญ่ในจังหวัดพระตะบอง ส่งออกข้าวสารประมาณ 102,000 ตันในปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ไปยังจีนและยุโรป

    Chhun Hour ถูกมองว่าเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการมีส่วนร่วมของข้าวผกาลำดวนในการประชุมข้าวโลกของ TRT (The Rice Trader) ที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งผกาลำดวนได้รับรางวัลข้าวยอดเยี่ยมโลกเป็นปีที่ 5

    ผกาลำดวนเป็นข้าวหอมมะลิเมล็ดยาวชนิดหนึ่งที่กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของผู้ซื้อจากต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในพันธุ์ที่ส่งออกภายใต้เครื่องหมายรับรอง “Angkor Malys”

    Chhun Hour กล่าวว่า City Rice Import Export ซึ่งเป็นบริษัทโรงสีข้าวรายใหญ่ในจังหวัดพระตะบอง ส่งออกข้าวสารประมาณ 102,000 ตันในปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 16% ส่วนใหญ่ไปยังจีนและยุโรป

    ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มกราคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร นายดิธ ธีนา กล่าวย้ำถึงการเรียกร้องให้ปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตที่ส่งออก เพื่อให้ได้ราคาที่สูงขึ้นในตลาดต่างประเทศและจะได้กำไรมากขึ้น โดยเสนอความคิดริเริ่มทางการตลาดที่ปรับให้เหมาะกับผู้ชมต่างประเทศ

    ในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลจัดสรรเงินเพิ่มอีก 10 ล้านดอลลาร์สำหรับเงินกู้พิเศษ ซึ่งรวมเป็น 93 ล้านดอลลาร์ สำหรับโรงสีข้าวเพื่อซื้อข้าวเปลือกเพิ่มในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะจากชาวนาในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งราคาจะลดลงแรงเป็นพิเศษในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว

    กระทรวงเกษตรรายงานว่า ปีที่แล้ว กัมพูชาส่งออกข้าวสีและข้าวเปลือก 617,069 ตันและ 3.527 ล้านตันตามลำดับ ทำรายได้ 527.594 ล้านดอลลาร์และ 631.408 ล้านดอลลาร์

    วอลมาร์ทเล็งขยายธุรกิจร่วมกัมพูชา

    ที่มาภาพ: https://corporate.walmart.com/about
    วอลมาร์ท(Walmart) บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของโลกตั้งใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศักยภาพทางการค้าและการลงทุนของกัมพูชา ซึ่งอาจขยายธุรกิจโดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในอนาคต

    ในการประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 5 มกราคมกับนายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ Anbinh Phan ตัวแทนของวอลมาร์ท กล่าวชมเชยรัฐบาลกัมพูชาที่ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ เและได้แสดงความยินดีกับกระทรวงพาณิชย์ที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรี RCEP กัมพูชา-จีน และกัมพูชา-เกาหลี

    นอกจากนี้ยังกล่าวว่า วอลมาร์ทตั้งใจที่จะขยายธุรกิจและเสริมสร้างความร่วมมือ การลงทุน และกิจกรรมทางธุรกิจในกัมพูชา ซึ่งจะช่วยสร้างงานให้กับชาวกัมพูชา โดยเฉพาะผู้หญิง รวมทั้งกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความยากจน

    “เรายังคงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีกับผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ และภาคการเกษตรของกัมพูชา บริษัทวางแผนที่จะขยายการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศกัมพูชาเพื่อช่วยยกระดับโกาสในการทำงานและการดำรงชีพของชาวกัมพูชา”

    วอลมาร์ท เป็นผู้นำในการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์การเดินทาง และผลิตภัณฑ์ความบันเทิงตามฤดูกาล ในอนาคตวอลมาร์ทวางแผนที่จะส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์อาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเฟอร์นิเจอร์จากกัมพูชา โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องได้มาตรฐานสากล

    นายสอระสัก ยินดีกับความตั้งใจของวอลมาร์ท ที่ต้องการความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ในการขยายธุรกิจ และชื่นชมคำสั่งซื้อเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเดินทางในปัจจุบันของวอลมาร์ท

    “ความตั้งใจของวอลมาร์ทที่จะซื้อสินค้ากัมพูชาเพิ่มขึ้นนั้น กระทรวงได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สำคัญ”

    คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่การสร้างงาน การลดความยากจน และการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา กระทรวงฯ จะยังคงทำงานร่วมกับวอล มาร์ท ภาคเอกชนอื่นๆ และสถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรจากกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ

    สมาคมสินค้าสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย รองเท้า และการเดินทางในกัมพูชา (TAFTAC) กล่าวว่า วอลมาร์ทเป็นผู้ซื้อเสื้อผ้ารายใหญ่ 1 ใน 10 อันดับแรกของกัมพูชา สมาคมรองเท้ากัมพูชายังยืนยันว่า วอลมาร์ทเป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของผู้ซื้อรองเท้าจากกัมพูชา

    วอลมาร์ทก่อตั้งขึ้นในปี 2505 เป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา บริษัทมีพนักงาน 2.3 ล้านคนและดำเนินงานใน 24 ประเทศ

    ข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาแสดงให้เห็นว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่ามากกว่า 8,217 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกาเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และอุปกรณ์การเดินทาง

    อินโดนีเซียเตรียมตั้งตลาดคริปโทในปี 2566

    ที่มาภาพ: https://coinlive.me/indonesia-wants-to-open-a-national-cryptocurrency-exchange-29155.html
    การจัดตั้งแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะปรับเปลี่ยนการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบจากหน่วยงานด้านสินค้าโภคภัณฑ์ไปเป็นหน่วยงานด้านหลักทรัพย์

    ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกฎระเบียบของ crypto อินโดนีเซียจะจัดตั้งตลาดซื้อขายคริปโทในปี 2566 โดยมีแผนที่จะเปิดตัวก่อนที่จะมีการผองถ่ายอำนาจการกำกับดูแลจากหน่วยงานสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหน่วยงานด้านหลักทรัพย์

    เมื่อวันที่ 4 มกราคม Didid Noordiatmoko หัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของอินโดนีเซีย (Bappepti) กล่าวว่า ควรมีการจัดตั้งตลาดซื้อขายคริปโทในปีนี้ และส่วนหนึ่งก็เป็นการปฏิรูปทางการเงินในวงกว้างที่เริ่มในเดือนธันวาคม 2565

    ตามแผนการปฏิรูป ในอีกสองปีข้างหน้า การกำกับดูแลคริปโทจะโยกออกจาก Bappebti ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก โดยมี Financial Services Authority (FSA)เป็นผู้รับช่วงต่อ

    ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมภาคการเงิน (The Financial Sector Development and Reinforcement bill-P2SK) ได้รับการรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม เพื่อให้กลายเป็นกฎหมายอ้างอิงหลักในภาคบริการทางการเงิน

    อินโดนีเซียกำหนดคำสั่งห้ามการชำระเงินด้วยคริปโทในทุกกรณีตั้งแต่ปี 2560 แต่การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่ยังคงถูกกฎหมายในประเทศ ในวันแรกของเดือนมกราคม มูลค่าของธุรกรรมคริปโทในประเทศลดลงครึ่งหนึ่งของปี 2565 จาก 859.4 ล้านล้านรูเปียะห์ (55 ล้านดอลลาร์) เป็น 296.66 ล้านล้าน (19 ล้านดอลลาร์)