ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup Vinfast บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเวียดนามบุกสหรัฐฯ วางแผน IPO ใน 2 ปี

ASEAN Roundup Vinfast บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเวียดนามบุกสหรัฐฯ วางแผน IPO ใน 2 ปี

21 พฤศจิกายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2564

  • Vinfast บริษัทรถยนต์เวียดนามบุกสหรัฐฯ วางแผน IPO ใน 2 ปี
  • จังหวัดบั๊กซางเวียดนามเน้นดึงโครงการลงทุนไฮเทค
  • กัมพูชา FTA กับจีนมีผลบังคับใช้ม.ค.ปีหน้า
  • ลาวเริ่มผลิตยาเม็ดรักษาโควิดธ.ค.นี้
  • อินโดนีเซีย ยกเครื่องระบบภาษี รับโลกยุคใหม่
  • Vinfast บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเวียดนามบุกสหรัฐฯ วางแผน IPO ใน 2 ปี

    VinFast เปิดตัวSUV รุ่น VF e35 และ VF e36 ที่งาน Los Angeles Auto Show เมื่อ17 พ.ย. ที่มาภาพ:https://electrek.co/2021/11/18/vinfast-launches-two-evs-announces-us-hq-and-manufacturing-in-2024/

    VinFast ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเวียดนาม วางแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐภายใน 2 ปีข้างหน้า นับเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตและใช้ประโยชน์จากความตื่นตัวของนักลงทุนในการระดมเงิน ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทกล่าว กับสำนักข่าวรอยเตอร์

    VinFast ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Vingroup Jsc ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีแผนจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากการให้สัมภาษณ์ของ Michael Lohscheller ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระดับโลก

    “แน่นอนว่าเราพิจารณาทางเลือกต่างๆ แต่เราจะออก IPO ในสหรัฐอเมริกาในอีก 1 หรือ 2 ปีข้างหน้าด้วย” อดีตผู้บริหาร Volkswagen และ Opel ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ VinFast ในเดือนกรกฎาคมกล่าว

    Lohscheller กล่าวว่า บริษัทซึ่งมีโรงงานผลิตรถยนต์ในเวียดนาม มองว่าการผลิตในสหรัฐฯ เป็น “การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ … เพราะการจัดส่งรถยนต์และรถยนต์ไปทั่วโลกไม่ใช่เป้าหมายระยะยาว”

    “เราต้องการทำทุกอย่างในพื้นที่” เขากล่าว

    VinFast เปิดตัวรถไฟฟ้าเอนกประสงค์(SUV) 2 รุ่น ได้แก่ VF e35 และ VF e36 ที่งาน Los Angeles Auto Show เมื่อวันพุธ(17 พ.ย.)
    บริษัทจะเริ่มเปิดรับจองรถเอสยูวีไฟฟ้าในตลาดสหรัฐอเมริกา ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2565 และคาดว่าจะเริ่มส่งมอบได้ในไตรมาสที่สี่ของปีเดียวกัน

    นอกจากนี้ VinFast ยังประกาศว่า จะจัดตั้งสำนักงานใหญ่ที่ลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา เพื่อตอกย้ำเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก โดยมีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวนำ

    สำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ของบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่ Playa Vista ซึ่งเป็นย่านที่รู้จักกันในชื่อ “Silicon Beach” และเต็มไปด้วยบริษัทเทคโนโลยีในลอสแองเจลิส

    Eric Garcetti นายกเทศมนตรีนครลอสแองเจลิส กล่าวว่า “เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับ VinFast เข้ามาในเมืองของเรา เพราะเรายังคงเป็นผู้นำทางไปสู่อนาคตการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อกันดีขึ้น สะอาดขึ้น และยั่งยืนมากขึ้น”

    สำนักงานใหญ่มีพื้นที่มากกว่า 15,000 ตารางฟุต (1,393 ตารางเมตร) และมีพื้นที่รองรับการขยายได้

    VinFast จะจัดตั้งทีมผู้บริหารและจ้างพนักงานมากกว่า 400 คนที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคในลอสแองเจลิสภายในไม่กี่ปีข้างหน้า
    นอกจากสำนักงานใหญ่ของบริษัทในลอสแองเจลิสแล้ว VinFast ยังลงทุนในสำนักงานภูมิภาค คอลเซ็นเตอร์ และเครือข่ายหน้าร้าน เพื่อเปิดตัวแบรนด์และผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าชาวอเมริกัน

    การตัดสินใจของ VinFast ในการตั้งสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ในแคลิฟอร์เนีย ส่วนหนึ่งเกิดจากที่สำนักงานผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียได้คืนภาษีมูลค่า 20.5 ล้านดอลลาร์ให้

    รัฐบาลแคลิฟอร์เนียได้เผยแพร่ประกาศเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน อันเนื่องจากการลงทุนของ VinFast มากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ในช่วงเริ่มต้นในแคลิฟอร์เนีย ทำให้เกิดการจ้างงานใหม่เต็มเวลามากกว่า 1,000 ตำแหน่งทั่วทั้งรัฐ

  • VinFast จากเวียดนาม อีกสีสันหนึ่งในตลาดรถยนต์ลาว
  • จังหวัดบั๊กซางเวียดนามเน้นดึงโครงการลงทุนไฮเทค

    จังหวัดบั๊กซาง ทางตอนเหนือของเวียดนาม จะเลือกดึงดูดการลงทุนในโครงการต่างๆ โดยจะเน้นไปที่โครงการไฮเทค โครงการขนาดใหญ่และโครงการที่ผลิตสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของโลก และมีผลดีต่องบประมาณรัฐ ตลอดจนมีผลต่อสวัสดิการสังคม

    นายเล อันห์ เดือง ประธานคณะกรรมการประชาชนของจังหวัดกล่าวว่า ตั้งแต่นี้ไปจนถึงปี 2568 จังหวัดมีเป้าหมายที่จะดึงการลงทุน ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้มข้น ยกระดับประสิทธิผล มีคุณภาพมีประวสิทธิภาพ และลดการใช้ใช้ทรัพยากรและพลังงาน

    จังหวัดคาดว่า โครงการลงทุนในจังหวัดจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นใน GDP เป็น 60-62% ภายในปี 2568 และเป็น 66-68% ภายในปี 2573 โดยมีการลงทุนราว 246 ล้านล้านด่องในช่วงปี 2564-2568 และเพิ่มเป็น 613 ล้านล้านด่อง ช่วงปี 2569-2573

    ในขณะเดียวกัน คาดว่าจะเก็บเงินเข้างบประมาณจากโครงการเหล่านี้เพิ่มขึ้น 17% แต่ละปีเป็น 5.75 ล้านล้านด่องในปี 2568 หรือมีสัดส่วน 38.3% ของงบประมาณโดยรวมของจังหวัด และจะเพิ่มขึ้น 12.6 ล้านล้านด่องในปี 2573 คิดเป็น 52.7%

    สำหรับโครงการที่ตั้งอย่นอกเขตอุตาหกรรมและคลัสเตอร์ จังหวัดบักซางจะพิจารณาเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่

    จังหวัดจะให้ความสำคัญกับโครงการที่ผลิตสินค้าที่แข่งขันได้ในห่วงโซ่อุปทานโลกเช่น อิเล็กทรอนิคส์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ อุปกรณ์ และเครื่องจักร

    ทางด้านการค้าและบริการ จากตอนนี้ไปจนถึงปี 2573 จังหวัดบั๊กซางจะดึงโครงการลงทุนในพื้นที่เมือง ศูนย์กลางธุรกิจของจังหวัด ตลาดค้าปลีก โรงแรมระดับไฮเอนด์ บันเทิง โลจิสติกส์ การเงิน ธนาคาร เฮลธ์แคร์และประกันภัย และรีสอร์ทในพื้นที่ใกล้เคียง

    เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดึงดูดการลงทุน บั๊กซางจะจัดสรรทรัพยากรลงไปเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม

    ในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ บักซางดึงการลงทุนได้กว่า 871 ล้านดอลลาร์ โครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจังหวัดเดือนแรกของปีนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

    ปัจจุบัน บักซางดึงโครงการในประเทศกว่า 1,300 โครงการมูลค่า 93.7 ล้านล้านด่อง และโครงการ FDI มากกว่า 480 โครงการมูลค่าประมาณ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บักซางยังมีมาตรการเพื่อเดินหน้าโครงการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564

    บักซางได้ออกแบบพื้นที่เฉพาะรองรับโครงการในสาขาต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว บริการ พื้นที่ในเมือง โลจิสติกส์ ความบันเทิง และการดูแลสุขภาพ โดยโครงการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะต้องลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในเขตที่กำหนด และจะให้ความสำคัญกับโครงการที่ผลิตคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง อุปกรณ์เสริมกึ่งตัวนำและอุปกรณ์เสริมสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน โทรศัพท์มือถือ และผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกและมีส่วนในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก

    โครงการลงทุนแต่ละประเภทจะต้องลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็น โครงการเสื้อผ้า โครงการไฟฟ้าและการผลิต และโครงการเกษตรป่าไม้และการแปรรูปอาหาร ในด้านการเกษตร จะสนับสนุนการลงทุนในโครงการเกษตรสีเขียวขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีระดับสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    ในภาคการค้าและบริการ จังหวัดมีเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุนในการพัฒนาพื้นที่บริการ ในเมือง เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติ เขตเมือง ศูนย์กลางการค้า โรงแรมระดับไฮเอนด์ และศูนย์รวมความบันเทิง ตลอดจนโครงการด้านโลจิสติกส์ การเงิน ประกันภัย และการดูแลสุขภาพจะได้รับการพัฒนาในเมืองบักซาง ขณะที่รีสอร์ทจะพัฒนาในพื้นที่รอบนอก

    นอกจากนี้ บักซาง ยังจะส่งเสริมให้นักลงทุนพัฒนาโครงการด้านการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดในชนบท เครือข่ายค้าปลีกและค้าส่ง รีสอร์ทและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศูนย์กีฬาและความบันเทิง และพื้นที่โรงแรมระดับไฮเอนด์ในเมืองบักซาง

    เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของแต่ละภูมิภาค ในปี 2564 และปีต่อๆไป บักซางจะมุ่งเน้นดึงโครงการลงทุนในแต่ละภูมิภาค ยึดตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1A และเมืองบักซาง

    กัมพูชา FTA กับจีนมีผลบังคับใช้ม.ค.ปีหน้า

    นายกรัฐมนตรี กัมพูชา ประชุมร่วมกับนากรัฐมนตรีจีน วันที่ 15 พ.ย. 2564
    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/pm-china-fta-enters-force-jan

    กัมพูชาและจีนได้ตกลงที่จะ บังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชา-จีน (CCFTA)ในเดือนมกราคม และให้คำมั่นอีกครั้งที่จะเพิ่มการค้าเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากการเปิดเผยของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน

    นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ในการประชุมผ่านระบบออนไลน์กับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน เพื่อแสวงหาแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ

    สมเด็จฮุนเซนชื่นชมจีนที่บรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตามตัวเลขที่รายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีอัตราการเติบโตสูงสุดกว่าเกือบทุกประเทศ

    นายหลี่ให้คำมั่นว่า จะผลักดันกลไกร่วมและแผนงานระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อจัดทำและเจรจาโควตาสำหรับการนำเข้าข้าวกัมพูชาและสินค้าเกษตรอื่นๆ ไปยังจีนโดยตรง

    นายเพ็ญ สุวิเชษฐ์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวว่า เพื่อให้ CCFTA มีผลบังคับใช้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องลงนามในหนังสือแจ้งร่วม เพื่อชี้ว่าขั้นตอนภายในของตนได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

    นายเพ็ญยังชี้ว่า การจัดทำการแจ้งเตือนฝ่ายกัมพูชานั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งได้ส่งร่างเอกสารไปยังจีนแล้ว อีกทั้งยืนยันว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมตามแผนที่วางไว้

    “กระทรวงพาณิชย์หวังว่าปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศจะยังคงเติบโตต่อไปหลังจากข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกจากกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นอีก”

    นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่า แม้จีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชามาอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มที่จะครองตำแหน่งในอนาคตอันใกล้ แต่ CCFTA ก็เป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศ

    นายเฮง คาดหวังให้กัมพูชาทำข้อตกลงที่ใกล้เคียงกันกับประเทศหุ้นส่วนระดับภูมิภาคและระดับโลก

    กัมพูชาได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่ทะเยอทะยานในการเป็นประเทศ “รายได้ปานกลางระดับสูง” ภายในปี 2573 และเศรษฐกิจที่ “มีรายได้สูง” ภายในปี 2593 ตามที่ธนาคารโลกกำหนด การกำหนดสถานะอย่างเป็นทางการสถานะใดสถานะหนึ่งโดยทั่วไป ส่งผลให้มีการถอนชื่อออกจากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)และสิทธิพิเศษที่คล้ายกันที่ได้รับจากคู่ค้า

    นายเฮงกล่าวว่า “ถ้าเราจะไม่มี EBA (การค้าทุกอย่างยกเว้นอาวุธ) หรือ GSP จากสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป เราอาจขอให้รัฐบาลเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา”

    “ยิ่งมีข้อตกลงมากเท่าไหร่ เรามีโอกาสที่มากขึ้นสำหรับการพัฒนาการผลิตและการส่งออก”

    นายฮอง วานัก ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของ Royal Academy of Cambodia เชื่อว่าแม้การมีข้อตกลงมากขึ้นเป็น “เรื่องดี” แต่กังวลเกี่ยวกับการเสนอขายสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการค้าของประเทศ

    “จุดที่ยากคือปัญหาสินค้าโภคภัณฑ์ การมีชนิดของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของ ประเทศคู่ค้า ในกัมพูชา ผลิตภัณฑ์และสินค้ายังคงมีจำกัด และไม่ตรงกับความต้องการเพื่อการส่งออก”

    กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนมีมูลค่าเกือบ 7.968 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่า 38.36% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ในเดือนมกราคม-กันยายน การส่งออกมีมูลค่า 1.093 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 52.74% เมื่อเทียบเป็นรายปี และนำเข้า 6.875 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 36.32% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563

    สภาแห่งชาติลาวผ่าน 11 กฎหมายใหม่และฉบับแก้ไข

    ที่มาภาพ: http://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=63204&fbclid=IwAR2aR85PB7tklyduPxBauq8QMPLJ5P7MRRLsjiH14igGl0igsVudD_P4hvc

    การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2 ของสภานิติบัญญัติครั้งที่ 9 ของรัฐสภา ได้อนุมัติกฎหมายใหม่และแก้ไข 11 ฉบับ

    กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขนส่ง,กฎหมายว่าด้วยพรมแดนประเทศ, กฎหมายเทคโนโลยีขั้นสูง, กฎหมายการสำรวจ การวัดผล และการทำแผนที่, กฎหมายว่าด้วยรัฐบาล, กฎหมายโทรคมนาคม, กฎหมายการควบคุมยาสูบ, กฎหมายงบประมาณแผ่นดิน ,กฎหมายมรดก, กฎว่าด้วยการออกกฎหมาย, และการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล

    “การนำกฎหมายทั้ง 11 ฉบับมาใช้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการดำเนินการตามแผน 5 ปีฉบับใหม่ ความสำเร็จนี้มีส่วนอย่างมากต่อการปรับปรุงการบริหารจัดการของรัฐและการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศของเรา” รองประธานสภาแห่งชาติ นายจะเลิน เยียเปาเฮอ กล่าวเมื่อวันที่ 16 พ.ย.

    ลาวเริ่มผลิตยาเม็ดรักษาโควิดธ.ค.นี้

    ที่มาภาพ:https://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lao227.php?fbclid=IwAR13AoVdaRDYy1Ny-F7sJJVgQLBeepm-9dCykHHNA0lfYCs9_Q00gERnN4A

    กระทรวงสาธารณสุขลาวอนุมัติให้โรงงานเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจแห่งที่ 3 ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ยาเม็ดใช้รับประทานในการรักษาโรคโควิด-19

    ดร.พูคง ชมมาลา รองกรรมการผู้จัดการของโรงงาน กล่าวว่า โรงงานจะเริ่มผลิตยาในเดือนธันวาคม และจะผลิตได้มากพอที่จะรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ประมาณ 1,000 คน ตามคำแนะนำของ บุนแฝง พูมมะไลสิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข

    “เราคาดว่าจะจัดหายานี้ให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 1,000 รายภายใต้โครงการนำร่องในขั้นต้น” ดร.พูคงกล่าว

    การใช้ยาใหม่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการต่อสู้กับการแพร่กระจายของโควิด โครงการนำร่องนี้มุ่งเป้าไปที่ผู้ที่มีอายุ 18-65 ปี ที่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง และอยู่ในระยะเริ่มต้นของโรค ผู้ที่จะใช้ยานี้ในการรักษาได้ ต้องไม่แสดงอาการของโรคปอดบวมหรือขาดออกซิเจน โดยจะได้รับยา เป็น เวลา 5 วัน ประเทศอื่น ๆ ที่ใช้โมลนูพิราเวียร์ให้ยาแก่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีและผู้ที่มีโรคประจำตัว

    เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หน่วยงานกำลังตรวจสอบประสิทธิภาพของ ยาโมลนูพิราเวียร์ ว่ามีประสิทธิภาพมากกว่ายารักษาโรคโควิดอื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นในรูปการฉีดวัคซีนหรือไม่

    การผลิตโมลนูพิราเวียร์ในลาวและโครงการนำร่องจะได้รับการตรวจสอบโดยองค์การอนามัยโลก

    โมลนูพิราเวียร์r ได้รับการพัฒนาเพื่อรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ จากมหาวิทยาลัยเอมอรีในสหรัฐอเมริกา จากนั้น บริษัท Ridgeback Biootherapeutics ซึ่งตั้งอยู่ในไมอามีก็เข้าซื้อกิจการ และต่อมาได้ร่วมมือกับ Merck & Co เพื่อพัฒนายาต่อเนื่อง

    อินโดนีเซีย ยกเครื่องระบบภาษี รับโลกยุคใหม่

    ที่มาภาพ: https://international-adviser.com/indonesia-to-increase-taxes-for-high-net-worth-individuals/

    รัฐสภาของอินโดนีเซียได้ออกกฎหมาย “Omnibus” ฉบับใหม่( ที่ได้รวมการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่ไม่เกี่ยวข้องกันให้เป็นฉบับเดียวหรือประมวลกฎหมาย) หรือที่เรียกว่ากฎหมายภาษี Harmonized Tax Law ซึ่งได้แก้ไขภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยังได้นำภาษีฉบับใหม่คือภาษีคาร์บอนมาใช้กับโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย

    เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 สภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซียได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติภาษีฉบับใหม่( RUU HPP) (เดิมเรียกว่ากฎหมายภาษีแก้ไขเพิ่มเติม) HPP เป็น “กฎหมาย omnibus” ฉบับที่สองของรัฐบาล “กฎหมาย omnibus” ฉบับแรกซึ่งมุ่งเน้นที่การสร้างงานได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน

    HPP เป็นฐานการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอินโดนีเซียจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยตาม HPP รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 4.85% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ สิ้นปี 2565 (ลดลงจากประมาณการ 5.8% สำหรับปีปัจจุบัน) HPP ยังตั้งเป้าที่จะลดการขาดดุลงบประมาณลงมาที่ 3% ของ GDP ภายในปี 2566 (มีการยกเลิกเพดานชั่วคราวในปี 2563 เพื่อรองรับการใช้จ่ายมากกว่าพันล้านดอลลาร์สำหรับมาตรการเยียวยาโควิด)

    HPP ครอบคลุมภาษีคาร์บอน ซึ่งจะเรียกเก็บอย่างน้อย 30 รูเปียะห์ต่อกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ธุรกิจที่ดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินน่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการในอินโดนีเซีย

    ภาษีคาร์บอนจะถูกกำหนดตามราคาตลาด โดยมีอัตราขั้นต่ำ 30 รูเปียะห์ต่อกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งลดลงครึ่งหนึ่งจากที่เสนอครั้งแรก

    HPP ยังกำหนดให้มีการจัดทำแผนงานเพื่อสร้างกลไกการค้าคาร์บอนในอินโดนีเซียภายในปี 2568 ตลอดจนกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงปารีส ที่อินโดนีเซียให้สัตยาบันผ่านกฎหมายฉบับที่ 16 ของปี 2549

    แม้ผู้ผลิตคาร์บอนจะถูกเรียกเก็บภาษีคาร์บอน แต่ต้นทุนอาจถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคผ่านราคาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า บุคคลและนิติบุคคลที่ซื้อสินค้าและบริการที่ปล่อยคาร์บอนในการผลิตในอินโดนีเซียอาจต้องแบกรับภาษีคาร์บอนในเชิงเศรษฐกิจ

    อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินพลังความร้อนรายใหญ่ที่สุดและเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 8 ของโลก

    HPP ยังปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 11% ในวันที่ 1 เมษายน 2565 และเพิ่มเป็น 12% ภายในวันที่ 1 มกราคม 2568

    แม้เพิ่มขึ้นอย่างมีสาระสำคัญ แต่อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของอินโดนีเซียก็ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงจีน (13%) ฟิลิปปินส์ (12%) และอินเดีย (18%) อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของอินโดนีเซียยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 14.5%

    นอกเหนือจากการเพิ่มอัตราภาษีแล้ว HPP ยังยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มบางรายการที่เคยใช้กับอาหารหลักที่คนบริโภค รวมไปถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา อย่างไรก็ตาม การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะยังคงอยู่สำหรับความจำเป็นหลักอื่นๆ

    HPP ยังมีแนวทางใหม่ในการนิรโทษกรรมทางภาษี (“โครงการเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจของผู้เสียภาษี”) โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจผู้เสียภาษีให้เปิดเผยความมั่งคั่งของตนต่อหน่วยงานด้านภาษีของอินโดนีเซียโดยสมัครใจ โครงการนี้เป็นการนิรโทษกรรมรอบที่ 2 นับจากการประกาศครั้งแรกในปี 2559

    การนิรโทษกรรมที่ประกาศใหม่มีระยะเวลา 6 เดือนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2565 จะอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมเปิดเผยทรัพย์สินที่ได้มาก่อนปี 2559 แต่ไม่ได้รายงาน ซึ่งเมื่อรายงานแล้ว ก็จะจัดประเภทสินทรัพย์ว่า เป็นรายได้เพิ่มเติมและเรียกเก็บภาษี ในอัตราระหว่าง 6%-11% ของมูลค่าทรัพย์สิน อัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับว่าสินทรัพย์ถูกนำกลับไปลงทุนในโครงการแปรรูปทรัพยากรหรือพลังงานหมุนเวียนในอินโดนีเซียและ/หรือในพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซียหรือไม่ อีกทั้งจะขึ้นอยู่กับว่าทรัพย์สินถูกนำกลับมายังอินโดนีเซียจากเขตปกครองอื่นหรือไม่ (ซึ่งในกรณีนี้จะใช้อัตราที่ต่ำกว่า)

    ผู้เสียภาษีที่รายงานทรัพย์สินที่ปกปิดไว้ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2559 -2563 สามารถแยกการรายงานเพื่อกลับเข้าสู่ระบบภาษีอินโดนีเซีย และชำระในอัตรภาษีระหว่าง 12%- 18% ได้

    การนิรโทษกรรมทางภาษีรอบแรกของอินโดนีเซียทำรายได้เข้ารัฐประมาณ 147 ล้านล้านรูเปียะห์ในปี 2560 คาดว่าการนิรโทษกรรมรอบที่ 2 นี้จะมีจำนวนใกล้เคียงกัน

    HPP กลับไม่ลดภาษีนิติบุคคลตามที่ประกาศในปีที่แล้ว ดังนั้น อัตราภาษีนิติบุคคลของอินโดนีเซียในปัจจุบันจะยังคงอยู่ที่ 22% ซึ่งอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 22% ของอินโดนีเซียในปัจจุบันนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป 22.17% ของประเทศในอาเซียน และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 24.17% สำหรับกลุ่มประเทศ G20

    แม้การคงอัตราภาษีจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย แต่ HPP ไม่ได้นำข้อเสนอของรัฐบาลในการเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำสำหรับบริษัทที่รายงานผลขาดทุนในบางกรณี ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นมิตรต่อธุรกิจและจะเพิ่มความมั่นใจทางภาษีให้กับหลายบริษัท

    HPP จะรวมฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับระบบการบริหารภาษีอากร ผู้เสียภาษีจะสามารถใช้หมายเลขประจำตัวประชาชน (NIK) แทนที่หมายเลขประจำตัว (NPWP) เพื่อความสะดวกในกระบวนการชำระภาษี และยังจะช่วยหน่วยงานในการขยายฐานภาษีและปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี

    HPP ยังแก้ไขกระบวนการคัดค้านและอุทธรณ์ภาษีในศาลภาษีอากร รวมถึงการอนุญาตให้ผู้เสียภาษีที่อยู่ในการสอบสวนจัดการกับคดีของตนโดยชำระภาษีคงค้างให้กับหน่วยงานกำกับดูแลภาษีที่เกี่ยวข้อง