ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามยกเลิกเพดานถือหุ้น 49% ของต่างชาติในธุรกิจตัวกลางชำระเงิน ลาวปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคล-ธุรกิจ

ASEAN Roundup เวียดนามยกเลิกเพดานถือหุ้น 49% ของต่างชาติในธุรกิจตัวกลางชำระเงิน ลาวปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคล-ธุรกิจ

16 กุมภาพันธ์ 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 กุมภาพันธ์ 2563

  • เวียดนามยกเลิกเพดานถือหุ้น 49% ของต่างชาติในธุรกิจตัวกลางชำระเงิน
  • เวียดนามเข้มเกณฑ์เอกชนออกหุ้นกู้คุ้มครองนักลงทุน
  • ลาวปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคล-ธุรกิจ
  • ลาวดันหลวงน้ำท่าศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ
  • เมียนมาปรับแก้ไขเกณฑ์ Contract Farmings
  • กัมพูชาส่งออกมาไทยโต 195%
  • กัมพูชาส่งเสริมบริหารโรงเรียนแบบใหม่รับยุคดิจิทัล
  • อินโดนีเซียทดสอบไบโอดีเซล B40 มีนาคมนี้
  • เวียดนามยกเลิกเพดานถือหุ้น 49% ของต่างชาติในธุรกิจตัวกลางชำระเงิน

    ที่มาภาพ: https://www.dealstreetasia.com/stories/vietnam-regulation-e-payment-174269/

    ธนาคารกลางเวียดนามได้เสนอ ยกเลิกเพดานการถือหุ้น 49% สำหรับนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจตัวกลางชำระเงิน โดยร่างสุดท้ายของหลักเกณฑ์จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายนนี้จะตัดเพดานการถือหุ้น 49% ของนักลงทุนต่างชาติออกไป

    ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางเห็นว่า การจำกัดเพดานการถือหุ้นของต่างชาติไว้ที่ 49% เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางการเงิน แต่จากการรับฟังความเห็นของหลายฝ่าย เห็นว่า การเป็นตัวกลางชำระเงินเป็นบริการใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัย การลงทุนของต่างชาติมีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจ นอกจากนี้ธุรกิจสตาร์ตอัพหลายแห่งมีต่างชาติลงทุนเกิน 49% อยู่แล้ว หากมีการจำกัดก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

    ธุรกิจบริการชำระเงินดิจิทัลและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการจำกัดเพดานการถือหุ้นไว้ที่ 49% โดยนาย ดัง ตันห์ ส่น หุ้นส่วนเบเกอร์และแมคเคนซี่ เห็นว่า ต้องมีการยกเลิกการจำกัดการถือหุ้น เพื่อสื่อสารออกไปว่าเวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับทุนต่างชาติ และภาคบริการการเงินของประเทศจะได้เรียนรู้จากตลาดที่พัฒนาแล้ว

    นาย เหงียม ตันห์ ส่น ผู้บริหารจากฝ่ายระบบชำระเงิน ธนาคารกลางเวียดนามเปิดเผยในปีที่แล้วว่า ผู้ให้บริการชำระเงินชั้นนำ 5 รายในเวียดนามซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์(e-wallet) รวมกัน 90% มีต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วน 30-90%

    หากยังคงเพดานการถือหุ้นของต่างชาติไว้ที่ 49% จะมีผลต่อหลายบริษัท เช่น โมโม(MoMo) ซึ่งมีต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 60% ได้แก่
    วอร์เบิร์ก พินคัส(Warburg Pincus) ผู้จัดการกองทุนระดับโลก กองทุนไพรเวทอิควิตี้สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(Standard Charterd’s Private Equity) ขณะที่ เพย์ยู (Payoo) ถือหุ้นโดย เอ็นทีที ดาต้า(NTT Data)ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งน่าจะเกิน 49%

    ปัจจุบันธนาคารกลางได้ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจรับชำระเงินให้กับ 32 บริษัท ได้แก่ MoMo ซาโลเพย์(ZaloPay) แห่งวีเอ็นจีกรุ๊ป( VNG) แอร์เพย์( AirPay)ของ ซีลิมิเต็ด(Sea Limited) เซนเพย์(SenPay) ในกลุ่มอีคอมเมิรซ์เซนโด(Sendo) และมันเพย์(Monpay)ของวิงกรุ๊ป(Vingroup)

    เวียดนามเข้มเกณฑ์เอกชนออกหุ้นกู้คุ้มครองนักลงทุน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-to-tighten-corporate-bond-regulations-4053010.html

    กระทรวงการคลังของเวียดนามกำลังพิจารณาที่จะ ปรับกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้ระดมทุนของภาคเอกชนให้เข้มงวดขึ้นเพื่อคุ้มครองนักลงทุน

    การระดมทุนของภาคเอกชนด้วยการออกตราสารหนี้มีมากขึ้น มีการเสนอขายนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง และหลายครั้งมีการระดมทุนสูงเกินทุนไปหลายเท่า ดังนั้นกระทรวงการคลังอาจจะพิจารณากำหนดอัตราส่วนการออกตราสารหนี้เทียบกับทุนของผู้ออก

    ตลาดหลักทรัพย์ฮานอยให้ข้อมูลว่า รอบ 11 เดือนของปี 2019 มีเอกชนออกตราสารหนี้ 177 ราย โดยที่ 28 รายออกตราสารหนี้เกินส่วนของทุนไปมากกว่า 3 เท่า ขณะที่ 6 รายออกตราสารหนี้เกินทุนไป 100 เท่า และอีก 11 รายออกตราสารหนี้สูงกว่าทุน 50 เท่า

    กระทรวงการคลังเห็นว่า หลายบริษัทไม่ระบุวัตถุประสงค์ของการออกหุ้นกู้ ซึ่งการที่นักลงทุนไม่มีข้อมูลถือว่ามีความเสี่ยง

    ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงกำหนดเกณฑ์การระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้เสนอขายนักลงทุนแบบเจาะจงว่า ไม่ควรเกิน 3 เท่าของทุน และการออกหุ้นกู้ระดมทุนครั้งต่อไปต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อไม่ให้ธุรกิจระดมทุนจากนักลงทุนจำนวนมากแม้เป็นการเสนอขายแบบเจาะจง และคาดหวังให้ธุรกิจระดมทุนจากประชาชนทั่วไปเพื่อความโปร่งใส รวมทั้งต้องการให้อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ต่ำกว่า 20%

    มูลค่าการออกหุ้นกู้ของเอกชนในปี 2018 เพิ่มขึ้น 25% เป็น 280 ล้านล้านด่องหรือ 12 พันล้านดอลลาร์

    ลาวปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคล-ธุรกิจ

    ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ สปป.ลาวจะเริ่มใช้ อัตราภาษีเงินได้ใหม่สำหรับธุรกิจและบุคคลทั่วไป เพื่อจูงใจให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ภาษีมากขึ้นและเพิ่มความสามารถในการผลิต

    โครงสร้างภาษีใหม่นี้จะใช้แทนโครงสร้างภาษีเดิมที่เริ่มใช้ในปี 2015 โดยจะลดอัตราภาษีสำหรับกำไรให้กับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดใหญ่ในทุกประเภท และเป็นระบบแบบอัตราภาษีก้าวหน้า ซึ่งมีผลให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงมาก และลดระยะการยื่นภาษีลดจาก 4 ครั้งต่อปีเป็น 2 ครั้งต่อปี

    กฎหมายภาษีใหม่นี้ได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติในเดือนมิถุนายน 2019 ซึ่งควบคู่กับ กฎหมายบริหารภาษี กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม และกฎหมายสรรพสามิต ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ภาษี การประเมินภาษี การบริหารภาษี และการตรวจสอบภาษีในลาว

    ลาวดันหลวงน้ำท่าศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ

    ที่มาภาพ: http://annx.asianews.network/content/luang-namtha-set-become-international-business-centre-113785

    รัฐบาลสปป.ลาวมีแผนที่จะยกระดับหลวงน้ำทา เมืองสำคัญทางตอนเหนือซึ่งมีพรมแดนติดกับจีนให้เป็น ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคด้านการคมนาคมและการขนส่ง โดยจะลงทุนสร้างท่าเรือบก(dry port)

    รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อที่จะยกระดับความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

    หลวงน้ำทามีศักยภาพที่จะก้าวสู่ศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศด้วยที่ตั้งที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับเมืองอื่นในลาว เพราะอยู่บนระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ พร้อมรถไฟวิ่งบนส้นทาง 414 กิโลเมตรจากจีนเข้าลาวที่จุดตรวจชายแดนบ่อเต็น ในหลวงน้ำทา

    เส้นทางนี้จะกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเมือง ขณะที่การก่อสร้างรถไฟมูลค่า 5.986 พันล้านดอลลาร์จะเสร็จสิ้นในปี 2021 และเมื่อเริ่มเดินรถ การเดินจากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็นจะใช้เวลาเพียงไม่ถึง 3 ชั่วโมง เทียบกับการใช้เวลา 3 วันโดยรถยนต์

    นายบุนส่ง แก้วมนีวง ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมหลวงน้ำทา เปิดเผยในงานพบปะครั้งแรกของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมหลวงน้ำทากับนักธุรกิจไทยภายในงานแสดงสินค้านานาชาติซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายเวียงจันทน์-คุนหมิงเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2015 เมื่อลาวฉลองครบรอบก่อตั้งสาธารณรัฐ 40 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ ซึ่งเชื่อมคุนหมิง ของจีนกับสิงคโปร์ ผ่านลาว ไทยและมาเลเซีย

    นายบุนส่งกล่าวว่า หลวงน้ำทาเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจากเมียนมาเชื่อมมายังเวียดนามและระหว่างไทยกับเวียดนามซึ่งจะลดระยะเวลาในการเดินทางลงได้มาก ซึ่งเป็นโอกาสที่จะลงทุนเพื่อให้บริการแก่นักเดินทางจากประเทศเหล่านี้

    ถนนสาย R3 เชื่อมจีน ลาว และไทยผ่าน บ่อแก้วและหลวงน้ำทาในลาวได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว เส้นทางนี้ช่วยผู้ประกอบการขนสินค้าไปมาระหว่างไทย ลาวและจีน และถือว่าเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค อีกทั้งรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบ แผนยุทธสาสตร์พัฒนาการคมนาคมและโลจิสติกส์ไปแล้วในปี 2015

    สปป.ลาว เป็นสมาชิกคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติด้านท่าเรือบก (United Nations Economic and Social Commission for Asia Pacific for Dry Ports) ซึ่งได้กำหนด 9 จุดให้เป็นศูนย์รวมโลจิสติกส์ในประเทศได้แก่ ห้วยไซย ในบ่อแก้ว นาเตยในหลวงน้ำทา ไซยในอุดมไซย หลวงพระบาง ท่านาแล้งในเวียงจันทน์ หลักซาวในบอลิคำไซย ท่าแขกในคำม่วน เซโนในสะหวันนะเขต และวังเต่า ในจำปาสัก

    นายบุนส่งกล่าวว่า หลวงน้ำทาเป็นเมืองเล็กมีพื้นที่ 9,191 ตารางกิโลเมตร โดยที่ 85% เป็นภูเขา ประกอบด้วย 5 อำเภอ มีประชากรรวม 189,000 คนจาก 17 ชนเผ่าซึ่งมีวัฒนธรรมและขนบประเพณีของตนเอง หลวงน้ำทามีพรมแดนติดกับจีนทางทิศเหนือ ทิศตะวันตกติดกับเมียนมา ทิศใต้ติดกับบ่อแก้ว และทิศตะวันออกติดอุมดมไซย

    โครงสร้างพื้นฐานในหลวงน้ำทาได้พัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งสนามบิน ถนน ไฟฟ้า ระบบน้ำ โรงเรียน โรงพยาบาลและโรงแรม รวมไปถึงสถานที่สาธารณะต่างๆ

    ในปี 2019 หลวงน้ำทามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 8.8% และมีรายได้ประชากรต่อหัว 1,700 ดอลลาร์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งเลี้ยงสัตว์ ปลูกอ้อย ข้าว มันสำปะหลัง และแตงโม พืชเกษตรที่นิยมปลูกมาก คือ ยางพารา โดยมีพื้นที่ปลูกยางมากกว่า 36,000 เฮกตาร์และผลิตยางได้มากกว่า 73,000 ตันต่อปี

    ในปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าหลวงน้ำทามากกว่า 743,000 คนผ่านจุดผ่านแดนบ่อเต็นกับจีน หลวงน้ำทามีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เดินทางได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศน้ำทา(Nam Ha National Protected Area) ที่ทอดยาวจากชายแดนจีนเข้ามาตัวเมือง ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 222,400 เฮกตาร์หรือคิดเป็น 24% ของเมือง มีแม่น้ำและลำธารกว่า 12 สายไหลผ่าน ในปี 2003 พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศน้ำทาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพราะมีพืชและสัตว์กว่า 300 สายพันธ์

    เมียนมาปรับแก้ไขเกณฑ์ Contract Farmings

    ที่มาภาพ : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-govt-sets-rules-contract-farming.html

    กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์และชลประทานได้ประกาศกฎใหม่สำหรับ ระบบการเกษตรแบบพันธสัญญา หรือ contract farming เพื่อส่งเสริมภาคการเกษตรของเมียนมา

    อู เย ถิ่นห์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การที่ปรับกฎเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้นเพื่อให้เกษตรกรได้ผลประโยชน์จากการทำข้อตกลงกับบริษัทเอกชน

    “เราต้องการให้เกษตรทุกคนพี่งพาตนเองได้ เราต้องการลดกระบวนการหลายอย่าง เช่น การซื้อสารเคมีเกษตรด้วยเงินเชื่อ และจ่ายหนี้คืนหลังฤดูเก็บเกี่ยว”

    หลักเกณฑ์ใหม่ที่ร่างขึ้นหลังจากการหารือของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สภาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วยบทที่ว่าด้วยเกษตรกร 9 บท บทที่ว่าด้วยธุรกิจเกษตร 10 บทและว่าด้วยภาครัฐ 9 บท

    หลักเกณฑ์ที่เกษตรกรต้องปฏิบัติคือต้องมีใบอนุญาตใช้ที่ดิน ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มอย่างน้อย 5 คน และควรรู้ว่าในสัญญาครอบคลุมอะไรบ้าง

    สำหรับหลักเกณฑ์สำหรับธุรกิจ เจ้าของกิจการ และหุ้นส่วน ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นครอบคลุมการให้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ กำหนดราคาที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย และมีระบบบันทึก หากเกษตรกรประสบกับพืชผลเสียหายจากภัยธรรมชาติ ต้องมีการเจรจาสัญญาใหม่

    ส่วนภาครัฐนั้นจะต้องดูแลการทำสัญญาให้สอดคล้องกับกฎหมาย การให้ความรู้และการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่างๆ การรับประกันพืชผล

    วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงเกณฑ์คอนแทรก ฟาร์มมิ่ง เพื่อต้องการลดภาระหนี้ให้เกษตรกร และดึงดูดการลงทุนในภาคเกษตรให้มากขึ้น

    “ปัจจุบันนี้ คอนแทรกฟาร์มมิ่ง เป็นการตกลงของบุคคลระหว่างเกษตรกรกับบริษัท จึงต้องทำให้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อเกษตรกรจะได้รู้ว่าควรจะปลูกพืชอะไร และปลูกอย่างไร รวมทั้งประเมินต้นทุน”อู เย ถิ่นห์ กล่าว

    อู เย มิน อ่อง จากสมาพันธ์ข้าวเมียนมาให้ความเห็นว่า ตราบใดที่สัญญายังบังคับใช้ได้ ก็ไม่ควรที่จะเป็นปัญหา ข้อตกลงนั้นต้องบังคับใช้ได้

    โก เมียว วิน ชาวนาในพินมานา เมืองหลวงเนปิดอร์ กังวลต่อการระบบการทำงานแบบเป็นกลุ่ม โดยกล่าวว่า”เราชอบที่ทำงานแบบหนึ่งต่อหนึ่ง เกษตรกรหนึ่งรายกับหนึ่ง แต่ตอนนี้ต้องรับผิดชอบคนอื่นในกลุ่มด้วย”

    ภาคเกษตรมีสัดส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจของเมียนมาราว 38% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(gross national product)

    กัมพูชาส่งออกมาไทยโต 195%

    https://www.khmertimeskh.com/50689838/cambodias-exports-to-thailand-increase-by-195-in-2019
    กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาเปิดเผยข้อมูลว่า การส่งออกของกัมพูชามาไทยในปี 2019 มีมูลค่า 2.27 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 195% จากปี 2018 ขณะที่นำเข้าสินค้าจากไทยรวมมูลค่า 7.1 พันล้านดอลลาร์ลดลง 6%

    นายแสง เธ โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า รัฐบาลพยายามลดการขาดดุลการค้ากับไทย แต่การส่งออกของกัมพูชามาไทย ยังมีมูลค่าน้อยกว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปกัมพูชา อย่างไรก็ตามการส่งออกของกัมพูชามาไทยก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม และการที่มูลค่าส่งออกสินค้ามาไทยเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ก็นับว่าได้ผลระดับหนึ่ง

    ปี 2018 การค้าของทั้งสองประเทศมีมูลค่า 8.38 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นจาก 6.18 พันล้านดอลลาร์ในปี 2017 กัมพูชาและนายกรัฐมนตรีของไทยตกลงร่วมกันในปี 2015 ที่จะส่งเสริมการค้าของทั้งสองประเทศให้มีมูลค่า 15 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020

    กัมพูชาส่งเสริมบริหารโรงเรียนแบบใหม่รับยุคดิจิทัล

    https://www.khmertimeskh.com/50689591/new-generation-school-to-expand-nationwide

    กระทรวงศึกษาธิการของกัมพูชามีแผนที่จะขยาย การบริหารจัดการโรงเรียนแบบใหม่ที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน หรือ School Based-Management ให้ขยายวงออกไปครอบคลุมโรงเรียนรัฐทั่วประเทศภายในปี 2030 ภายใต้วิสัยทัศน์ส่งเสริมการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล

    นายดี กัมพูลี โฆษก กระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยในการแถลงข่าวว่า รูปแบบบริหารจัดการโรงเรียนแบบใหม่ได้นำไปใช้กับโรงเรียนประถมและมัธยมแล้ว 11 แห่งในเมืองหลวงและหลายจังหวัด ภายใต้ความริเริ่ม 2019-2023 และกำลังจะขยายโครงการไปโรงเรียนอื่น

    “เรามีหลายรูปแบบ เช่น SBM เราได้เริ่มนำร่องกับ 100 โรงเรียนและจะขยายไปทุกระดับชั้นการศึกษา และยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้สู่รูปแบบโรงเรียนทางเลือก หรือ NGS(Next generation sequencing) แต่ต้องพิจารณางบประมาณและกำลังคนก่อน”

    โรงเรียนทางเลือก หมายถึง โรงเรียนที่แตกต่างไปจากโรงเรียนรูปแบบเดิมๆของรัฐ ที่สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระมีเสรีภาพ ได้รับเงินจากสาธารณะ ดำเนินการโดยครู พันธมิตร หรือชุมชน ซึ่งมีข้อตกลงการปฏิบัติในรายละเอียดตามที่ได้ให้กับรัฐบาลลหรือองค์กรบริหารท้องถิ่น

    นายฮาง ชวน นะรน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวในการเปิดตัวโรงเรียนทางเลือกระดับมัธยมพระยุคลธร ในพนมเปญว่า โครงการนี้เน้นไปที่การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ เพื่อเตรียมนักเรียนให้สอดรับกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 และการจ้างงาน

    ปัจจุบันมีโรงเรียนรัฐจำนวน 13,300 แห่งและมีนักเรียนกว่า 3 ล้านคน มีครูและเจ้าหน้าที่กว่า 120,000 คน

    สำหรับการผลักดันโรงเรียนทางเลือกนั้น นายกัมพูลี กล่าวว่า มาจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาครู ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การปฏิรูปสำหรับยุค 4.0

    อินโดนีเซียทดสอบไบโอดีเซล B40 มีนาคมนี้

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/02/11/indonesia-to-start-trial-use-of-40-percent-biodiesel-b40-fuel-in-march-association.html

    อินโดนีเซียเริ่มทำการทดสอบไบโอดีเซล 40% หรือ B40 ในเดือนมีนาคมหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการใช้ไบโอดีเซล 30% หรือ B30 จากการเปิดเผยของสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลอินโดนีเซีย (Indonesian Biodiesel Producers Association:APROBI)

    นายตูมังกอร์ ประธาน APROBI กล่าวว่า การทดสอบ B40 ในเดือนมีนาคม สอดคล้องกับแผนของประธานาธิบดีโจโก วิโดโดที่จะใช้ไบโอดีเซล B40 เต็มรูปแบบในเดือนมกราคม 2021

    ไบโอดีเซล B40 เป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากการนำน้ำมันปาล์ม มาทำปฏิกิริยาทางเคมีได้เป็นสารเอสเทอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเกรดที่ใช้กันปัจจุบันในสัดส่วน 40%

    รัฐบาลต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มในไบโอดีเซล เพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อการขาดดุลการค้าของประเทศ

    สำหรับการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B30 ประสบความสำเร็จอย่างดีหลังจากนำมาใช้เชิงพาณิชย์เดือนมกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าการผลิต B30 จะใช้น้ำมันปาล์ม 9.6 ล้านกิโลลิตรในปีนี้