เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายบุคลากรที่ทำงานด้านความยั่งยืน ในโครงการ SET ESG Experts Pool จัดสัมมนา “SET ESG Professionals Forum” ขึ้นครั้งแรก มุ่งหวังยกระดับคุณภาพบุคลากรในตลาดทุนและคนรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพด้านความยั่งยืน โดยเชิญผู้บริหารรวมถึงคนในแวดวงธุรกิจด้านความยั่งยืน ฉายภาพความเปลี่ยนแปลง การปรับโครงสร้างและความรู้ความชำนาญบุคลากร เพื่อรับมือกับกระแส ESG และร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์การทำงานในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน
สำหรับในช่วงการเสวนา ESG Professional Wanted: สร้างคนแบบไหนตอบโจทย์ ESG รศ. ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ประธานหลักสูตร Managing for Sustainability (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ขณะนี้ CMMU มองเรื่องการสร้างบุคคลากรที่มีทั้งแผนเร่งด่วนและแผนระยะยาว แผนเร่งด่วนเพราะมีความต้องการคนที่มีทั้งทักษะและสมรรถนะ เช่น เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ซึ่งต้องให้ความรู้คนเฉพาะทาง ความรู้เฉพาะอย่าง ในการคำนวณ หรือการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น โดยมีหลักสูตรระดับปริญญาโท เพราะมองว่าผู้เรียนน่าจะบูรณาการ ESG ทักษะแรก ที่ต้องมี คือ system thinking ในการมอง ESG อย่างเป็นระบบ ปรากฏว่าไม่มีใครมาสมัครเรียน ไม่มีใครเข้าใจว่าเรียนอะไร ก็ต้องทำความเข้าใจ แต่กระนั้น ในระยะสั้นยังไม่น่ากังวลใจ เพราะหลายสถาบันเริ่มเปิดการเรียนการสอนแล้ว แต่ระยะยาวน่าเป็นห่วง เพราะทุกองค์กรตอนนี้ใช้บุคคลากรภายในในการทำ ESG แต่ขณะนี้ ESG เป็นวิถีชีวิต ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเรียนคณะอะไร หมอ นักดนตรี นักการเมือง ครู จะไม่รู้เรื่อง ESG ไม่ได้ มันเป็นการใช้ชีวิต เป็นการทำงานแล้ว
“ถ้าคนทั้งประเทศมองได้แบบนี้จะรอดในอนาคต ในมหาวิทยาลัย ก็ต้องเริ่มที่อาจารย์ผู้สอน แล้วดึงภาคีธุรกิจมาช่วย ถ้าแยกกันสอนในแต่ละคณะจะไม่รอด ในระยะยาวจึงต้องเตรียมคนที่มีทัศนคติที่ชัดเจนว่า ทำไมเรื่อง ESG ต้องบูรณาการให้เข้ากับคนทุกแผนก และทุกองค์กร และทำให้ทุกคนเข้าใจได้ นี่เป็นโจทย์ที่มหาวิทยาลัยต้องตีให้แตก เช่น คนที่เรียนด้านบริหาร คิดว่าอยากเป็นนักบริหาร นักกลยุทธ์ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ตอนนี้ต้องบริหารส่วนรวม และให้บุคคลากรในองค์กรเข้าใจด้วย เป็นต้น”
นายอภิชาติ ขันธวิธิ managing director บริษัท คิว เจน คอนซัลเเทนท์ จำกัด (QGEN Consultant) และเจ้าของเพจ HR – The Next Gen กล่าวว่า เรื่อง ESG สิ่งที่ต้องดู คือ ESG ขององค์กรนั้นๆ คืออะไร แล้วมาดูว่าความรู้ความสามารถ ทัศนคติอะไรที่จะทำให้งานสำเร็จ บางครั้งอาจเป็นทักษะเดิมที่มีอยู่ บางครั้งเป็นทักษะใหม่เพิ่มขึ้นมา แล้วมาดูว่าต้องสรรหาบุคลาอย่างไร สรรหาจากภายในองค์กรเอง หรือต้องดึงคนนอกเข้ามา เพื่อมาทำ ESG และต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา
นายอภิชาติกล่าวว่า เวลามีเรื่องใหม่เข้ามา จะมีจุดเช็ก 4 ด้านในการบริหารจัดการ คือ เมื่อเราให้ ESG เป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง ก็ต้องดูว่า กระบวนการ ESG เป็นกระบวนการใหม่หรือกระบวนการเดิม ซึ่งจะทำให้รู้ว่าต้องมีการเปลี่ยนกระบวนการความรู้ความสามารถหรือไม่ หรือไม่ต้องเปลี่ยน กระบวนการเดิม วิธีการเดิม ถ้าต้องเปลี่ยนก็ต้องรู้ว่าจะหาทักษะนั้นมาจากไหน
ต่อมา คือ โครงสร้างในการขับเคลื่อน ที่อาจจะต้องมีหน่วยงาน ESG เฉพาะเจาะจง และอาจจะต้องมีซีอีโอเป็นผู้ขับเคลื่อน บางองค์กรใช้คณะกรรมการ
อีกด้าน คือ ระบบ จะใช้ระบบหรือเทคโนโลยีใด เช่น lean ก็เป็นระบบหนึ่ง และระบบหรือเทคโนโลยีที่เอามาใช้ ทุกคนในองค์กรเข้าถึงได้หรือไม่ ต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่
สุดท้าย คือ คนที่เกี่ยวข้อง
ถ้ามองครบ 4 ด้านนี้ก็จะรู้ว่า การขับเคลื่อนมีความท้าทายอะไรบ้าง
นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความตระหนักรู้กับคนในองค์กรว่า องค์กรใส่ใจเรื่อง ESG และนิยาม ESG ไว้อย่างนี้ แต่ถ้าพนักงานทุกคนอธิบายเรื่อง ESG ไปคนละเรื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนจะใช้ประสบการณ์ตัวเองทำ สุดท้ายผลลัพธ์จะไม่รวมศูนย์ จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ได้ ต่อมา คือ สร้างให้เกิดความเข้าใจว่า อะไรใช่ ESG อะไรไม่ใช่ ESG พอลงมือทำจะได้ถูกต้อง สาม คือ ความยอมรับ ทุกคนต้องยอมรับก่อนว่า ESG มีประโยชน์ หลายครั้งเรามักจะล้ำหน้าไป ทำ ESG แล้วองค์กรได้อะไร ชุมชนได้อะไร โลกได้อะไร แต่จุดเริ่มต้องตัวเขาได้อะไร ให้เขาเห็นก่อนว่าถ้าทำแล้วเขาได้อะไร เช่น ทำงานเสร็จเร็วขึ้นหรือไม่ ไม่ต้องแก้กลับไปกลับมา เขาจะยินดีทำงาน สุดท้าย คือ ตัวกระตุ้น บางแห่งใช้แรงจูงใจ ให้รางวัล สุดท้าย จะวนกลับมาที่ตัวพนักงานว่าเขาขาดอะไร ต้องพัฒนาด้านไหน เพื่อทำงานให้กับองค์กรได้
ด้านภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเรื่อง ESG นั้น สิ่งที่ต้องสร้าง คือ ความเข้าใจ และมีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน การสร้างความเข้าใจ เป็นการสร้างกับพนักงานทั้งในและสาขาในต่างประเทศ สร้างความเข้าใจกับพนักงานในปัจจุบันและที่จะรับใหม่ และเริ่มจาก ESG ต้องเป็นกลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องทำให้สำเร็จและมีความจำเป็นต่อการอยู่รอดขององค์กร เวลากลยุทธ์ชัดเจน ทุกอย่างที่ลงมาจะชัดเจนและมีผลกระทบค่อนข้างมาก และได้รับความใส่ใจจากทุกฝ่าย ส่วนพนักงาน ทุกฝ่ายจะได้รับการสนับสนุนให้ลงไปคลุกคลีในทุกพื้นที่ที่มีโครงการ เรามีบริษัทลูก 200 กว่าแห่งมีโครงการเยอะมาก พนักงานจะมีประสบการณ์โดยตรงกับเกี่ยวกับ ESG ระยะแรกต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษามาทำเชิงกลยุทธ์และออกแบบโปรแกรม แต่ในรายละเอียดบริษัทต้องทำเอง จากนั้นมีการตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นขับเคลื่อนโดยใช้คนใน และมีที่ปรึกษามาช่วย และกระจายยุทธศาสตร์นี้ออกไปหน่วยงานนี้จะทำงานกับทุกระดับในองค์กร ตั้งแต่ฝ่ายบริหาร จนไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ให้มีความพร้อมในการไปสู่เป้าหมาย net zero ในปี 2050
ส่วนดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากซาบีน่าไม่ได้เป็นองค์กรที่ใหญ่มาก และมีความเชื่อในเรื่องทำให้เกิดจริง จึงริ่มจากการวางนโยบายก่อน และทำนานตั้งแต่ปี 2551 ใช้เครื่องมือ lean enterprise (การปรับการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการลดกระบวนการทำงานที่ไม่สร้างมูลค่า พร้อมความสามารถในการปรับตัวเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง) เป็นแกนในการดำเนินธุรกิจ กระบวนการเหล่านี้ทำให้บริษัทได้รับรางวัลหลายรางวัล และทำให้พนักงานเข้าใจ มีส่วนร่วมมากขึ้น และที่เริ่มในปีนี้คือ การตั้งเป้าเรื่อง ESG เพราะมองว่าเป็นเรื่องทุกคนแล้ว จึงควรเป็นความตระหนักรู้ของทุกคนไม่เฉพาะพนักงานซาบีน่า และไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือเป็นภาระ เพราะเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ทำมาก่อน คือ lean ต่อมาเป็น kaisen เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่า ESG ไม่ใช่ภาระ แต่จะสร้างเขาให้เป็นคน ESG จากเดิมที่เขาทำงานเร็วขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง ก็จะมีอีกมุมที่คิด เช่น เรื่องคาร์บอน จะลดอย่างไร ลดได้ด้วยการลดขยะฝังกลบ การลดขยะฝังกลบก็ต้องแยกขยะ หรือรีไซเคิล ทำผ่านโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ และนำ ESG เข้าไปผสมผสาน โดยเป็นการขับเคลื่อนจากระดับประธานกรรมการบริหาร หรือซีอีโอของบริษัท