ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี : Connect the Dot สู่สังคม ESG

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี : Connect the Dot สู่สังคม ESG

25 มีนาคม 2022


    ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

สินค้ารักษ์โลกฉลาก SCG Green Choice

กลุ่มเอสซีจีเป็นอีกตัวอย่างของบริษัทที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาความยั่งยืน ด้วยสถานการณ์โลกปัจจุบันกลับยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ การเผชิญวิกฤติในวงกว้างและหลากหลาย ทั้งโรคระบาด สงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี ล่าสุดเอสซีจีได้ประกาศยกระดับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (sustainable development) ของธุรกิจ สู่ ESG 4 Plus ได้แก่ 1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 109 ในปี 2564 ที่ผ่านมา

สำหรับ Cement & Green Solution Business ภายใต้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ของเอสซีจี ได้วางแนวทางดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องและเชื่อมต่อ ESG 4 Plus ของกลุ่มเอสซีจี เพื่อมุ่งสู่ “Net Zero Cement & Concrete 2050” และยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หรือ Green Construction

“จากแนวทาง ESG 4 Plus เราต่อยอดและเชื่อมโยงกับธุรกิจในด้านต่างๆ แต่เรื่องสำคัญอย่างมาก คือความร่วมมือ เพราะการที่จะเดินไปสู่สังคม ESG ในปัจจุบัน ต้อง connect the dot ร่วมมือกันกับทุกภาคส่วน เพราะเรื่องเดียวกัน หากร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เราสามารถผลักดันให้เกิด speed และ scale ที่จะมี impact ต่อส่วนรวมและประเทศชาติได้” นายชนะ ภูมี Vice President Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าว

ผลักดัน Green Construction ผ่านผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ

กลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ของเอสซีจี มุ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในกระบวนการ การดำเนินธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 ขณะเดียวกันเทคโนโลยีจะเป็นส่วนผลักดันให้ธุรกิจปูนซีเมนต์เกิด digital construction ที่ได้มาตรฐานระดับโลก โดยมี 3 กลยุทธ์หลัก คือ

    1) Cement and Concrete ที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
    2) Green Solutions ที่เน้นการนำเทคโนโลยี และดิจิทัลต่างๆ เข้ามาใช้ในการบริหารโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการก่อสร้าง
    3) Green Circularity ที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยแนวทางการ Turn Waste to Value”

แนวทางการขับเคลื่อนตามกลยุทธ์ เช่น มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (low carbon product) เช่น ปูนงานโครงสร้างสูตรไฮบริด นวัตกรรมปูนซีเมนต์รักษ์โลก ด้วยมาตรฐานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก รายแรกของไทย ที่มีการนำเชื้อเพลิงชีวมวล (biomass) และลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตได้ถึง 0.05 ตันคาร์บอนต่อปูน 1 ตัน

“เรามีสินค้าที่ประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยคาร์บอนได้ออกไซด์ได้ถึง 6 แสนตันต่อปี โดยไฮบริดซีเมนต์ ซึ่งเป็นซีเมนต์คุณภาพดี ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ รวมทั้งได้ยกเลิกปูนถุงพอร์ตแลนด์ ซีเมนต์ เปลี่ยนมาเป็นไฮบริดซีเมนต์ทั้งหมดในการผลิตทั้งประเทศ” นายชนะกล่าว

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ CPAC Low Carbon Concrete ซึ่งเป็นคอนกรีตที่พัฒนาให้ปล่อยคาร์บอนลดลง และมีความร้อนที่เกิดขึ้นน้อยลง ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตได้ถึง 17 กิโลกรัมคาร์บอนต่อคอนกรีต 1 คิว ทดแทนปลูกต้นไม้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในด้านการพัฒนานวัตกรรมสินค้า ได้มีการนำวัตถุดิบคุณภาพสูง เช่น CPAC Ultracrete (คอนกรีตสมรรถนะสูง) และ Mortar for 3D Printing เข้ามาใช้ในโครงการก่อสร้างเพื่อช่วยให้ประหยัดการใช้ทรัพยากรได้

นอกจากนี้จะผลักดันการหมุนเวียนทรัพยากรและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ให้นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือ turn waste to value ตลอดจนประสานงาน ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อก้าวสู่ Green Construction

นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

เทคโนโลยี BIM ยกระดับงานก่อสร้างที่ “เป็นธรรม”

นายชนะกล่าวว่า ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ของเอสซีจี เน้นการพัฒนาโซลูชันเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Solution) และการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการก่อสร้าง ได้แก่

“CPAC Drone Solution” โซลูชันที่ตอบโจทย์การสำรวจหน้างาน มีผู้เชี่ยวชาญนำข้อมูลมาวิเคราะห์และออกแบบผังโครงการ เพื่อลดเวลาสำรวจ และลดความผิดพลาดในการก่อสร้าง

“CPAC BIM” หรือ Building Information Modeling เทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยสร้างความแม่นยำในการออกแบบ ส่งเสริมการทำงานร่วมกันแบบ Collaborative Platform ให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าของงาน สถาปนิก ผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อม ให้เห็นภาพเดียวกัน

“CPAC 3D Printing Solution” เทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นรูปแบบ 3 มิติ ที่สร้างสรรค์การออกแบบได้หลากหลาย รวดเร็ว ประหยัดแรงงาน ลดเวลา ควบคุมต้นทุน และช่วยลดเศษวัสดุในไซต์งานก่อสร้าง

BIM เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยตั้งแต่วางแผนการก่อสร้าง การออกแบบ และเลือกวัสดุ คำนวณการใช้พลังงาน การจัดการด้านเวลา ตลอดจนการสำรวจหน้างานแบบเสมือนจริง โดยใช้เทคโนโลยี VR Walk Through และการทำงานบน Collaboration Platform ที่ช่วยให้ทั้งผู้ออกแบบ สถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา รวมทั้งเจ้าของงาน เห็นภาพงานโครงสร้าง งานสถาปัตย์ และงานระบบ ผ่านโมเดล 3 มิติ ได้ในเวลาเดียวกันก่อนการก่อสร้างจริง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

“เราใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนตามแนวทางที่เราวางไว้ และให้ความสำคัญในเชิงลึกค่อนข้างมาก ได้มีการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งการวางแผน smart design คือการออกแบบให้ประหยัด ขณะที่เทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ๆ เช่น prefab จะช่วยลดคนที่ในไซต์ก่อสร้าง และทำให้ไซต์สะอาดเป็นมิตรกับชุมชน “นายชนะกล่าว

“อันนี้เป็น newest curve ของเรา ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำ green construction solution จากความมุ่งมั่นที่เราจะเป็นคนกลาง ทำให้ระบบนิเวศ connect the dot เพื่อนำองค์ความรู้จากคนอื่นหรือเราเอง มาเติมเต็มและต่อยอดให้งานก่อสร้างมี waste น้อยลง”

นายชนะอธิบายว่า “จากการที่ใช้ digital construction ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างลด “waste” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ระยะเวลาในการก่อสร้างที่สั้นลง ต้นทุนที่ไม่ได้ใช้ประมาณ 20% ต้นทุนดอกเบี้ยระหว่างดำเนินการ และ sunk cost ต่างๆ ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเศษวัสดุเพียงอย่างเดียว ตลอดจนของที่ซื้อมากเกินไป รวมทั้งค่าที่ปรึกษา”

นี่คือเทคโนโลยีที่ cross กัน ทำให้ทุกคนมาเชื่อมต่อกันได้ ทั้งผู้พัฒนาโครงการ ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา แม้ที่ผ่านมาได้พยายามทำอยู่แล้ว แต่ขาดจุดร่วมในการเห็นข้อมูลและนำมาสอดประสานกัน เพราะระบบที่แตกต่างกัน แต่จากนี้ไปโครงการที่ ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจีมีส่วนร่วม จะทำให้ waste จากการก่อสร้างลดลงจาก 20%

“โครงการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น โครงการขนาดใหญ่ ใช้สินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ นำเศษวัสดุกลับไปใช้ใหม่ เช่น เมื่อตัดหัวเข็มในการทำเสาทิ้ง เราก็นำหัวเข็มที่ตัดออกไป ไปทำงาน cut and fill ไปถม หรือย่อย เอาเศษหิน ทราย นำกลับมาใช้ รวมไปถึงการวางผังระบบขนส่งภายในโครงการ เราใช้โดรนบินเสร็จแล้ววางเลย์เอาต์ คำนวณการเคลื่อนย้ายของระหว่างการก่อสร้างโครงการควรจะเป็นแบบไหน ด้วยเทคโนโลยี BIM ทำให้ต้นทุนในการบริหารไซต์งานลดลง ยกระดับการก่อสร้าง ”

ที่สำคัญเทคโนโลยี BIM ช่วยทำให้การก่อสร้างมีความเป็นธรรมมากขึ้น ที่ผ่านมาการก่อสร้างเวลามีปัญหาเกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการแก้ไข บางครั้งผู้รับเหมาไม่ได้รับเงินจากการแก้งาน หรืออาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่เทคโนโลยี BIM ช่วยให้มีการแก้งานน้อย เพราะทำให้เห็นภาพการก่อสร้างในทุกแง่มุม และเมื่อเห็นแบบตรงกัน ทำให้ไม่มีการแก้ไขแบบหรือแก้ไขการก่อสร้างมาก รวมไปถึงทำให้มีเศษวัสดุน้อยลงอีกด้วย

“digital construction ต่างจากการทำงานแบบเดิม ตรงที่เป็น ระยะจริง dimension จริง ไม่ใช่ 3 มิติแบบเดิม และทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่ ทำให้ทุกคนเห็นว่าแต่ละชิ้นงานที่นำมาประกอบมีส่วนไหนบ้างที่ไปติดขัดอย่างไร ทุกคนสามารถเห็นตั้งแต่ต้น การร่วมมือก็จะสามารถทำงานสอดประสานกัน ช่วย waste ในส่วนต่างๆลง”

เทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นรูปแบบ 3 มิติ สวยงาม ประหยัดเวลา ลดเศษวัสดุงานก่อสร้าง

Turn Waste to Value ใช้พลังงานทางเลือก

ในส่วนของกระบวนการผลิต ได้ใช้พลังงานทางเลือก (renewable energy) และเชื้อเพลิงทดแทน (alternative fuel) เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้ง solar farming และ solar floating

นายชนะเล่าว่า เมื่อ 15-10 ปีก่อน ได้ใช้ลมร้อนที่เหลือออกจากปล่อง มาผลิตเป็นไฟฟ้า เรียกว่า WHG หรือ waste heat generation ทำให้สามารถลดการพึ่งพิงไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าได้ 120 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้ยังได้นำคาร์บอนที่ดักจับได้จาก WHG ขายเป็นคาร์บอนเครดิตอีกด้วย จากนั้นได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานโซลาร์ประมาณ 7-8 ปี ลดการพึ่งพิงได้อีก 97 เมกะวัตต์ ส่งผลให้โดยรวมผลิตไฟฟ้าใช้เองประมาณเกือบ 200 เมกะวัตต์ ช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอน

ส่วนพลังงานความร้อน มีการนำชีวมวลมาใช้เนื่องจากมีโรงงานกระจายทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ภาคใต้ มีชีวมวลจำนวนมาก ได้แก่ กะลาปาล์ม ขี้เลื่อย แกลบ ต้นปาล์ม

“เมื่อใช้เยอะ ก็มีโรงไฟฟ้าไปตั้ง เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นคนจุดประกายให้ประเทศขับเคลื่อนไปในแนวทางนี้ เราก็ขยับมาใช้ตัวที่ยากขึ้น เราเคยใช้ต้นปาล์ม แล้วเอาไปย่อย แต่ข้อเสียต้นปาล์มคือความชื้นเยอะ แต่ก็มีเทคโนโลยี dryer ขจัดความชื้นเข้าไปช่วย” นายชนะกล่าว

สิ้นปี 2564 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ประมาณ 30% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 40-50% ภายในสิ้นปีสำหรับธุรกิจซีเมนต์ในประเทศ พร้อมกับการลดการใช้ถ่านหินลง

นอกจากนี้ ยังเน้นให้มีการหมุนเวียนทรัพยากรและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น โครงการรับซื้อเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรในเขตภาคเหนือ เพื่อลดการเผา ช่วยลดฝุ่น PM2.5

นายชนะกล่าวว่า ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่พัฒนาอย่างดี ทำให้เมื่อนำปูนไปส่งมอบตามจุดกระจายสินค้าต่างๆ หรือโรงงานในพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เที่ยวกลับสามารถขนชีวมวลและวัสดุเหลือใช้จากแต่ละที่กลับเข้ามาด้วย เช่น นำฟางข้าวจากอำเภอเสนา อยุธยา มาอัดเป็นก้อนเพื่อใช้เป็นพลังงาน หรือเศษจากไร่อ้อย นำกลับมาผลิตไฟฟ้าชีวมวล แทนที่เกษตรกรจะเผาทิ้งกลายเป็นฝุ่น PM 2.5

รวมไปถึงยังมีจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าทางภาคเหนือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่โรงงานปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้คนในชุมชนกว่า 300 คนมีรายได้เพิ่มขึ้น

“แนวทางนี้เป็นเรื่อง green circularity เป็นการมององค์รวมของการพัฒนาประเทศ เพื่อทำเรื่อง waste management ของประเทศ สอดคล้องกับธุรกิจซีเมนต์ เพราะมีหม้อเผาที่มีอุณหภูมิสูง ขณะที่ green construction solution สามารถนำ waste จากการก่อสร้างมารีไซเคิล และนำกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการทำเหมืองแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green mining) โดยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น drone และ technology mine-site เข้ามาใช้ในการวางแผนการผลิต รวมทั้ง การปรับใช้รถบรรทุกหินปูนขนาด 60 ตัน ชนิดไฟฟ้า ในเหมืองปูนเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่โรงงานปูนซิเมนต์ไทย ทุ่งสง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลพิษ ปลอดฝุ่น PM2.5 สอดคล้องกับแนวทางอุตสาหกรรมเหมืองแร่สีเขียว

“เรามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ค่อนข้างมาก ตั้งแต่การทำเหมือง แบบ green mining มีการใช้โดรนบินสำรวจและใช้ดิจิทัลกำหนดจุดระเบิด ใช้โดรนขึ้นไปบินเพื่อดูว่าจุดที่เรากำหนดมีการระเบิดออกมามีประสิทธิภาพสูง ไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น รวมไปถึงขนาดของวัสดุออกมาเหมาะสมกับกระบวนการขั้นต่อไป มีการนำใช้รถบรรทุกไฟฟ้า น้ำหนักบรรทุก 60 ตัน เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำ EV มาวิ่งในเหมือง”

อัดฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล

ดูแลสังคมชุมชนรอบโรงงาน

นายชนะกล่าวถึงการดำเนินการสังคมว่า ได้มีการดูแลสังคมรอบโรงงานมานานแล้วบนหลักการที่ว่าโรงงานอยู่ที่ไหนชุมชนสังคมรอบโรงงานต้องเป็นสีเขียว ต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี

“เราดูแลชุมชนสังคมรอบโรงงานเป็นอย่างดี เราพยายาม engage ให้พนักงานเข้าไปช่วยเหลือชุมชน สมัยก่อนเรามีโครงการ One Sale One Project หรือ OSOP มีโครงการ One Village กิจกรรมต่างๆกับ CSR ตอนหลังยกระดับเป็น CSV คือ creating share value การสร้างประโยชน์ร่วมระหว่างเรากับชุมชน”

การดูแลชุมชนสังคมรอบโรงงาน หรือ S ใน SD ที่ยกระดับมาเป็น ESG อาจจะมองในมุมของการทำให้สิ่งแวดล้อม ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ปัจจุบันหล่อหลอมรวมเป็นไม่ใช่เฉพาะสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนที่แยกกัน แต่บูรณาการทำให้เกิดความกินดีอยู่ดี มีการเชื่อมต่อมีการสร้างอาชีพ หรือ creating share value หมายถึงสิ่งที่ชุมชนมาทำประโยชน์ร่วมกันเอสซีจี ซึ่งชุมชนจะได้ในส่วนของ wealth และไม่ใช่การบริจาค แต่เน้นการสร้างคน เพื่อให้คนเหล่านั้นสร้างต่อที่จะให้อยู่อย่างยั่งยืน

“S คือ wealth ของชุมชนที่จะกินดีอยู่ดี ตัวอย่างที่เราทำให้ชุมชน คือ ชุมชนบ้านสา ที่มีการทำฝาย มีสระรวม มีการทำเป็นเกษตรประณีต มีการทำข้าวหอม ชุมชนที่เราทำงานร่วมด้วยก็มีดูแลเรื่องน้ำ ให้เขามีน้ำใช้ ไปจนถึงนำผลิตภัณฑ์เกษตรมาจำหน่าย สิ่งเหล่านี้เมื่อทำร่วมกันแล้วชาวบ้านเกิดประโยชน์ โรงงานที่อยู่ในชุมชนเหล่านี้เข้มแข็ง”

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเหมืองให้กลายเป็นแหล่งน้ำเพื่อชุมชน ภายหลังจากการเสร็จสิ้นการทำเหมืองอีกด้วย

ตั้ง ESG Director Connect the Dot จับมือภายในขยายสู่ภายนอก

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังได้ตั้งผู้บริหาร ESG ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อน ESG โดยตรง โดยนายชนะกล่าวว่า “หลังจากที่เอสซีจี มีนโยบายเรื่อง ESG ทำให้ focusและขอบเขตมีมากขึ้น แต่ยังยึดกรอบ ESG 4 plus คือร่วมผลักดัน net zero ตามนโยบายและการ go green ทั้งในโรงงานและนอกโรงงาน ชุมชนรอบๆ และ lean เหลื่อมล้ำ

ส่วนงาน ESG มีภาระกิจสำคัญที่สุดคือ การทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกๆ หน่วยงาน ดึงมาทำงานร่วมกันเป็นภาพใหญ่ ในการที่จะผลักดันเรื่องเหล่านี้ รวมไปถึง การนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามา พร้อมกับการวางแผน วางกรอบ นโยบายการทำงาน แล้วส่งแผนงานให้หน่วยงานในระดับภูมิภาค ควบคู่ไปกับการติดตามโรดแมปของประเทศ

ESG จะผนวก ไปในทุกๆ กลยุทธ์ของบริษัท สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงคนข้างใน ในการดำเนินการ และชักชวนคนภายนอก ทั้งภาคราชการ วิชาการมาร่วมกัน เพราะบางครั้งการวัดผลการดำเนินการบางอย่างอาจจะต้องมีการประเมินและรับรองตัวเลขให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การปลูกป่าที่มุ่งสู่ง net zero ต้นไม้ที่จะดูดซับคาร์บอนทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ได้น้ำกลับมา ขณะเดียวกันชุมชนได้ประโยชน์จากการมีอาชีพ จากการที่ส่งเสริมให้ดูแลป่า ปลูกป่า ร่วมมือกับภาคราชการ ซึ่งนับว่าเป็น stakeholder ที่เกี่ยวข้อง

ESG plus ย้ำความร่วมมือ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เอสซีจีมีการทำงานเป็นทีม จึงเริ่มจากประสานภายในองค์กรก่อน ในทุกสายธุรกิจ เพราะถือว่า สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันสามารถประสานงานเชื่อมต่อการทำงานกันได้หมด จากเดิมแต่ละสายงานดำเนินการแยกกัน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่งผลให้ตอบสนองและบริการลูกค้าได้ทุกที่ จึงเกิดประโยชน์สูงสุด

“ก่อนที่จะเราจะไปร่วมมือกับคนข้างนอก เราต้องย้ำความร่วมมือกับธุรกิจภายในกันเองก่อน แล้วขยายสู่ภายนอก”

นายชนะกล่าวว่า การพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างต่อเนื่องฝังอยู่ในกระบวนการทำงานขององค์กร ตั้งแต่ที่ยังไม่ได้เรียกว่า ESG โดยสิ่งที่ทำคือการดูแลสิ่งแวดล้อม และได้ประโยชน์จากประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง ได้พัฒนาบุคลากรมาอย่างต่อเนื่อง

“บุคลากรของเรามีความคุ้นชินและมีมุมมองเป็นทางบวกกับเรื่องเหล่านี้และต่อยอดไปที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ เมื่อเสนอให้ปรับเปลี่ยนบางเรื่องที่มีประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ เราก็จะสามารถเป็นตัวอย่างให้ได้”

รถบรรทุกงานเหมืองแร่ ชนิดไฟฟ้า ขนาดบรรทุก 60 ตัน

โลกหมุนเร็วคือความท้าทาย

อย่างไรก็ตามนายชนะกล่าวว่า การดำเนินธุรกิจด้วย ESG แม้จะอยู่ใน DNA ขององค์กร แต่ก็มีความยากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องมีการพัฒนาองค์กรความรู้ของบุคลากรให้เท่าทัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญและให้แนวทางมาตลอด ดังจะเห็นว่าเรื่องใหม่ ๆ หลายเรื่อง เอสซีจีเริ่มดำเนินการไปก่อนหลายองค์กร แต่เป็นผลจากการติดตามและเตรียมการแต่ละเรื่องมาระยะหนึ่ง และเตรียมการอย่างมาก

“ความยากอยู่ตรง speed มากกว่า เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงหมุนค่อนข้างเร็ว อย่าง energy transition เราก็พูดมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นอีกอันหนึ่งที่ทำให้เรามีความชัดเจน มีความได้เปรียบเวลามีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปค่อนข้างไว โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือคาร์บอน จะเห็นว่าเมื่อมีการยกเลิกใช้เชิ้อเพลิงฟอสซิล เราก็มีองค์ความรู้อยู่บ้างพอสมควรในการที่จะเข้า ค่อย ๆ ดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์ดีได้ต่อเนื่อง”

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภค แม้ผู้บริโภคเข้าใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ยังไม่ยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น ดังนั้น ธุรกิจซีเมนต์จึงไม่ได้ปรับราคาปูนซีเมนต์ไฮบริดที่พัฒนาขึ้น

“เรื่องนี้ต้องใช้เวลา อย่างไฮบริดซีเมนต์เราทำมาตั้งแต่ ปี 2013 ก็เลิกผลิตปูนช้างแดง ปูนถุงใช้เวลาขนาดนั้นเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความยอมรับ เราก็เป็นผู้นำที่จะเลิกทำปูนถุงช้างแดงในประเทศไทยทั้งหมด ผมคิดว่าในอนาคต รัฐบาลเองมีเป้าหมายตามที่ประกาศใน COP26 คิดว่าถ้าเราช่วยกัน ภาครัฐและเอกชน และเราพร้อม ผู้บริโภคในที่สุดก็จะยอมรับเอง” นายชนะกล่าว

ความท้าทายอีกด้านคือ กฎระเบียบของภาครัฐ ที่ยังไม่รองรับการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการก่อสร้าง ทั้งที่การใช้เทคโนโลยีจะช่วยยกระดับการก่อสร้าง ลดการใช้วัสดุ ลดการใช้เหล็ก ลดการใช้แรงงาน มีการแก้งานน้อย สิ่งสำคัญที่จะทำให้นี้เกิดขึ้นเร็วคือ ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี BIM วิธีการก่อสร้างแบบนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับก่อสร้าง ประเทศไทยยังไม่มาตรฐานก่อสร้างหรือ building code การใช้เทคโนโลยีนี้ในการทำงานค่อนข้างจะติดปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน แม้ก่อสร้างได้ แต่ไม่ได้ก่อสร้างตามระเบียบที่ราชการอนุมัติ จึงต้องมีวิธีการที่ช่วยลูกค้า หรือแม้แต่เทคโนโลยี 3D printing ที่สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ เช่น ร้านกาแฟ ที่สามารถสร้างได้ โดยไม่ต้องใช้เสาหรือคาน แต่มาตรฐานก่อสร้างไทยโดยกฎหมายระบุว่าต้องมีระบบเสา ระบบคาน ทั้งๆ ที่การสร้างจาก print ตัวโครงสร้างยึดโยงอยู่ได้

ใน construction value chain ซึ่งมีทั้งก่อนการก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้างและหลังการก่อสร้าง ธุรกิจซีเมนต์และและผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจีพยายามเชื่อมต่อด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มช่วยให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้ ตั้งแต่การเลือกสินค้า การออกแบบที่เป็น smart design หรือ green design มีการก่อสร้างที่เป็นไปตามแบบ โดยที่ไม่ต้องมีการทุบทิ้งหรือแก้งาน และสุดท้ายการส่งมอบได้ตามแบบ

“ถ้าเราทำแบบนี้ได้จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการก่อสร้าง ทุกคนจะได้ประโยชน์แบบ win-win หมด นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ เพราะการ turn waste to value ใน construction ก็คือแนวคิดและบริหารทั้ง supplychain”

“เราต้องไปคุยกับหน่วยงาน เพราะเห็นว่าแทนที่จะออกเป็นมาตรฐาน มอก. สำหรับสินค้าแต่ละรายการ ควรออกมาเป็น code ของระบบงานก่อสร้างของประเทศ ซึ่งก็จะได้ทั้ง waste to value และสมรรถนะของตัวอาคาร” นายชนะกล่าว