ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > “Julien Vincent” Shareholder Activist ออสเตรเลีย รณรงค์ 4 แบงก์ใหญ่ยุติสนับสนุนโครงการถ่านหิน

“Julien Vincent” Shareholder Activist ออสเตรเลีย รณรงค์ 4 แบงก์ใหญ่ยุติสนับสนุนโครงการถ่านหิน

28 พฤษภาคม 2022


ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับเงินทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

จูเลียน วินเซนต์ (Julien Vincent) ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว (shareholder activist) รายสำคัญ ยังคงพุ่งเป้าไปที่กลไกทางการเงินที่สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล[1] หลังจากได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize หรือที่รู้จักกันว่า Green Nobel จากความสำเร็จในการชักชวนให้ธนาคาร บริษัทประกัน และกองทุนบำเหน็จบำนาญ เลิกสนับสนุนทางการเงินโครงการถ่านหิน

จูเลียน วินเซนต์ ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวชาวออสเตรเลีย ได้รับรางวัลระดับโลกจากความสำเร็จด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้า จากมูลนิธิ Goldman Environmental Foundation ที่ได้ประกาศผู้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี 2022[2] เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2022 ซึ่งเป็นรางวัลที่สำคัญที่สุดสำหรับนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้า

จูเลียนเป็นผู้นำการรณรงค์ระดับรากหญ้า ที่ประสบความสำเร็จในการยุติการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการถ่านหินในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ โดยบรรลุข้อตกลงกับธนาคารที่ใหญ่ที่สุดสี่แห่งของประเทศที่จะยุติการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการถ่านหินภายในปี 2030 การเคลื่อนไหวของจูเลียนส่งผลให้บริษัทประกันภัยรายใหญ่ของออสเตรเลียตกลงที่จะยุติการรับประกันโครงการถ่านหินใหม่

การจัดระเบียบของจูเลียนทำให้เกิดภูมิทัศน์ทางการเงินที่ท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมถ่านหินของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการลดเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change

จูเลียน วัย 41 ปี เป็นนักสู้ที่หลงใหลสิ่งแวดล้อมในออสเตรเลียและในภูมิภาคอื่นๆ แม้ในช่วงที่ยังเป็นเด็ก จูเลียนหลงใหลในสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ จึงได้ศึกษาด้านภูมิอากาศวิทยาในระดับวิทยาลัย หลังจากสะสมประสบการณ์จาก Oxfam และ Greenpeace ก็ได้ก่อตั้ง Market Forces ขึ้นในปี 2013 เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดเป้าหมายไปที่ธนาคาร และกลไกทางการเงินที่มีส่วนช่วยในการสกัด กลั่น และส่งออกถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ

จูเลียน กับ Market Forces และ 350.org ได้จัดกิจกรรม “divestment days”[3] รณรงค์ให้ลูกค้าธนาคารทั้งหมดปิดบัญชีพร้อมกัน รวมถึงการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ

ออสเตรเลียเจอผล Climate Change หนัก

ในออสเตรเลีย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีผลกระทบมาก เกิดเหตุการณ์ที่สภาพอากาศมีความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และไฟป่า ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับทั้งพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและในเมือง เพียงแค่ปี 2019 และ 2020 ไฟป่าขนาดใหญ่ (megafires) ได้เผาผลาญพื้นที่ไปกว่า 24 ล้านเฮกตาร์ (59 ล้านเอเคอร์) รวมถึงพื้นที่ป่าเขตอบอุ่นของออสเตรเลียส่วนใหญ่ และสัตว์มากกว่าสามพันล้านตัวตายหรือพลัดถิ่น อีกทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 800 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซรายปีโดยเฉลี่ยทั่วทั้งทวีป

ขณะเดียวกัน แนวปะการัง Great Barrier Reef ในมหาสมุทรกว้างใหญ่ขนาด 135,000 ตารางไมล์ที่มีปะการังมากกว่า 450 สายพันธุ์ ถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากอุณหภูมิและระดับความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นของมหาสมุทร ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2020 แนวปะการังเผชิญกับภาวะฟอกขาวเป็นวงกว้างมากที่สุด โดยมีความยาวถึง 1,400 ไมล์ เป็นการฟอกขาวครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมากมายทั่วโลก แต่ถ่านหินเป็นตัวการรายใหญ่ที่สุด และเป็นอุตสาหกรรมที่ทรงอิทธิพลในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า ออสเตรเลียมีปริมาณถ่านหินสำรองใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็น 29% ของการส่งออกถ่านหินทั้งหมดทั่วโลก โดยมีเมืองนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นท่าเรือส่งออกถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โดยปกติ อุตสาหกรรมถ่านหินของออสเตรเลียต้องพึ่งพาธนาคารหลัก 4 แห่งของประเทศ ได้แก่ Commonwealth, Westpac, ANZ และ NAB ซึ่งเป็นผู้ให้กู้รายสำคัญสำหรับการดำเนินงาน ทั้ง 4 สถาบันการเงินนี้ครอง 80% ของตลาดสินเชื่อรวมของออสเตรเลีย

ที่มาภาพ: https://www.goldmanprize.org/recipient/julien-vincent/

พุ่งเป้าถ่านหิน สถาบันการเงินรายตัว

จูเลียนดำเนินการผ่าน Market Forces มุ่งไปที่ถ่านหินซึ่งเป็นตัวการหลักต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในออสเตรเลีย โดยได้พัฒนากลยุทธ์ในการวิจัยและวิเคราะห์อย่างเข้มงวด ผสมผสานกับการดำเนินการโดยตรง และการมีส่วนร่วมกับสถาบันการเงินที่สนับสนุนทางการเงินแก่การลงทุนถ่านหิน

แนวทางของ Market Forces ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่จูเลียนและเพื่อนร่วมงานได้เข้าพบกับผู้บริหารด้านการเงินด้วยตัวเอง และเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ยกเลิกการสนับสนุนทางการคืนเงินแก่อุตสาหกรรมถ่านหิน โดยนำเสนอข้อมูลที่ละเอียดรอบด้านเกี่ยวกับความเสี่ยงและต้นทุนของการลงทุนถ่านหิน ในขณะเดียวกัน ก็ให้อำนาจพนักงานที่เกี่ยวข้องทำการรณรงค์ผ่าน Facebook และ LinkedIn รวมทั้งลงโฆษณาแบบเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์และป้ายโฆษณาใกล้กับสถาบันการเงิน รวมทั้งร่วมมือกับกลุ่มผู้สนับสนุน เช่น 350.org, Greenpeace และ SEED ทำการประท้วงที่สำนักงานใหญ่ของธนาคาร

ในการหารือกับผู้บริหารสถาบันการเงิน จูเลียนใช้การโต้แย้งด้วยข้อมูลทางการเงิน (ถ่านหินที่ลงทุนไปจะกลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า) ผสมเข้ากับความเชื่อส่วนตัว (คำนึงถึงอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป) และเมื่อพุ่งเป้าไปที่นโยบายการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมถ่านหิน จูเลียนจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ถือหุ้น ส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการยุติการลงทุนในถ่านหินผ่านการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี

ในปี 2016 จูเลียนและ Market Forces ร่วมมือกับ 350.org ได้จัดกิจกรรม “divestment days” ทั่วออสเตรเลีย โดยลูกค้าธนาคารกลุ่มหนึ่งได้ไปสาขาของธนาคารที่สนับสนุน เพื่อปิดบัญชีจำนวนมาก พร้อมตัดบัตรธนาคาร และโพสต์วิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ทำบนโซเชียลมีเดีย กิจกรรมดังกล่าวได้กลายกิจกรรมประจำปีในเดือนตุลาคมเพื่อสร้างแรงกดดันให้ธนาคารยุติการสนับสนุนถ่านหิน ในขณะเดียวกัน จูเลียนก็ได้เน้นย้ำถึงความไม่จริงใจของสถาบันการเงินที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนข้อตกลงปารีส (Paris Climate Accord) แต่ยังคงลงทุนในถ่านหิน

การรณรงค์ของ Market Forces ค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้น ไปถึงการถอนเงินออกจากสถาบันที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย กองทุนบำเหน็จบำนาญ และบริษัทประกันภัยบ้านและรถยนต์ที่รับประกันและ/หรือลงทุนในถ่านหิน

หลังจากกดดันอย่างต่อเนื่อง การประท้วงแบบเจาะจงเป้าหมาย และการมีส่วนร่วมโดยตรงกับผู้บริหาร ก็เริ่มประสบความสำเร็จ ในเดือนมีนาคม 2019 QBE Insurance Group ประกาศว่าจะหยุดรับประกันโครงการถ่านหินใหม่และยุติการรับประกันถ่านหินภายในปี 2030 ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน Suncorp ให้คำมั่นว่าจะไม่รับประกันโครงการถ่านหินใหม่และเลิกรับประกันโครงการที่ดำเนินการอยู่ภายในปี 2025 ด้วยความมุ่งมั่น ขณะนี้ไม่มีบริษัทประกันใดในออสเตรเลียที่ยินดีรับประกันโครงการถ่านหินใหม่

ในเดือนสิงหาคม 2019 Commonwealth Bank ให้คำมั่นที่จะยุติการลงทุนถ่านหินภายในปี 2030 ในเดือนพฤษภาคม 2020 Westpac ได้ทำข้อตกลงเช่นเดียวกัน ตามด้วย ANZ ในเดือนตุลาคม 2020 และ NAB ในเดือนพฤศจิกายน 2021

จูเลียนและเพื่อนร่วมงานได้ทำให้ภูมิทัศน์การลงทุนในถ่านหินของออสเตรเลียเปลี่ยนโฉม โดย 4 ธนาคาร และ 3 บริษัทประกันยุติการสนับสนุนการลงทุนในโครงการถ่านหินใหม่

การผสมผสานการวิจัยที่เข้มข้นของจูเลียน และการรณรงค์กดดันจากสาธารณชนได้ตั้งเป้าไปที่ถ่านหินซึ่งเป็นสาเหตุต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุด ด้วยการตัดเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารใหญ่ๆ และการรับประกันจากบริษัทประกัน การรณรงค์ของของเขาทำให้อุตสาหกรรมถ่านหินของออสเตรเลียตกต่ำ

ที่มาภาพ: https://www.yancoal.com.au/page/en/assets/mine-sites/hunter-valley-operations/#carousel-item-1

เพิ่มพลังผู้ถือหุ้น-รณรงค์ให้มีส่วนร่วม

หลังจากได้รับรางวัล จูเลียนเปิดเผยความรู้สึก[4]ว่า รางวัลนี้ไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาพิเศษสำหรับตัวเขาเองเท่านั้น แต่ยังพิเศษสำหรับ Market Forces ทีมงาน ผู้สนับสนุน และทุกคนที่ดำเนินการเพื่อหันเหการเงินและการลงทุนออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

รางวัล Goldman Environmental Prize ได้มีการมอบรางวัลมา 33 ปีแล้ว และปีนี้เป็นครั้งที่ 6 ที่มอบให้กับชาวออสเตรเลีย นับจากครั้งแรกในปี 1990 ที่บ็อบ บราวน์ ได้รับรางวัลจากการรณรงค์ปกป้องแม่น้ำแฟรงคลินจากการเขื่อนกั้นน้ำ

มีชาวออสเตรเลียหลายคนได้รับรางวัลนี้ ตั้งแต่ผู้ที่รณรงค์ปกป้องเกาะเฟรเซอร์จากการทำเหมืองทรายและการตัดไม้ทำลายป่า ไปจนถึงผู้ที่ต่อต้านการทิ้งขยะนิวเคลียร์และเหมืองยูเรเนียมจาบิลูกา และผู้รับรางวัลนี้รายล่าสุดคือ เวนดี โบว์แมน ซึ่งต่อต้าน Yancoal ที่ต้องการสร้างเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ในบริเวณฮันเตอร์วัลเลย์

จูเลียนเล่าว่า เมื่อเริ่มก่อตั้ง Market Forces นั้นมีเหมืองขนาดใหญ่ 9 แห่งในลุ่มน้ำกาลิลี ซึ่งหลายแห่งยังคงอยู่ มีเพียงเหมือง Carmichael แห่งเดียวของ Adani ที่ผลิตถ่านหินได้ในปริมาณที่น้อยที่สุด แต่ปัจจุบันมีบริษัท 112 แห่งที่ปฏิเสธที่จะร่วมงานหรือจัดหาเงินทุนทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับโครงการส่งออกถ่านหินของ Carmichael และในอีกหลายราย และนำไปสู่นโยบายที่ไม่สนับสนุนการทำเหมืองถ่านหินหรือพลังงานถ่านหินในวงกว้างมากขึ้น

การทำงานของ Market Forces พอจะแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง แนวทางแรก คือ การเป็นตัวแทนหรือส่งเสริมผู้ถือหุ้นให้ใช้สิทธิของตัวเอง ใช้พลังผู้ถือหุ้นเพื่อการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการดำเนินงานของบริษัท ผ่านกลไกประชุมสามัญประจำปี โดยเปิดให้ส่วนร่วมผ่านเว็บไซต์ ด้วยการให้คลิกว่าเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไหน บริษัทต่างชาติหรือบริษัทออสเตรเลีย ที่อยากให้ Market Foces มีส่วนช่วยในการดึงบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมประเด็นสิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แนวทางที่สองคือออกแคมเปญ ซึ่งปัจจุบันมีการรณรงค์ 4 เคมเปญหลัก คือ Is your Bank investing in dirty fossil fuels?, What future is your super funding?, Insuring a safe climate? และ Your taxes funding fossil fuels? ตลอดจนยังเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแต่ละแคมเปญผ่านเว็บไซต์

โดยในแคมเปญ Is your Bank investing in dirty fossil fuels? ให้เลือกคลิกว่าจะบอกแบงก์ให้หยุดสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล (Tell them to stop) หรือแค่ยื่นหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Put them on notice)

นอกจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเพื่อออกเสียงลงคะแนนแล้ว Market Forces ยังให้ข้อมูลในเว็บไซต์ว่า มีธนาคารรายใดบ้างที่ให้การสนับสนุนบริษัทถ่านหินแต่ละราย และยอดสินเชื่อรวมเป็นอย่างไร และธนาคารไหนที่ยังไม่ประกาศยุติการสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทถ่านหิน

ที่มาภาพ: https://www.marketforces.org.au/corporate-japan-faces-record-number-of-climate-shareholder-resolutions/

จับมือเครือข่ายข้ามชาติ

จูเลียน และ Market Forces ยังคงทำงานกันอย่างไม่หยุดยั้ง โดยขณะนี้ตั้งเป้าไปที่บริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น[5] ที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากออสเตรเลีย โดยจูเลียนกำลังร่วมมือกับ Kimiko Hirata ชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัล Goldman Prize ในปี 2021 และ Kiko Network

เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมาผู้ถือหุ้น ซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคมหรือตัวแทน เช่น Market Forces, 350.org Japan, Friends of the Earth Japan, Kiko Network และ Rainforest Action Network ได้ประกาศวาระแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ 4 ข้อที่มุ่งเป้าไปที่ SMBC Group, Mitsubishi Corporation และ TEPCO และ Chubu Electric และรวมถึง JERA ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน 50:50

การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากโครงการพลังงาน LNG 10 แห่ง ตลอดอายุการใช้งานรวมกันของ JERA, TEPCO, Chubu Electric, Mitsubishi Corporation และ SMBC Group (17.8 กิกะวัตต์) มีประมาณ 1.2 พันล้านตันคาร์บอน คิดเป็นสองเท่าของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของญี่ปุ่นในปี 2030 ภายใต้ NDCs เพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

ขณะที่การยื่นข้อเสนอของ Market Forces ต่อบริษัทใหญ่เหล่านี้ยังต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะรู้ผล แต่ Market Forces ประสบความสำเร็จในหลายกรณี ล่าสุดการรณรงค์ที่ Market Forces ประสานพลังประชาชน มีผลให้ดอยช์แบงก์ถอนตัวจากการมีส่วนในการออกตราสารหนี้ของ Whitehaven Coal[6]

รายงานของสื่อในเยอรมนีระบุว่า ดอยช์แบงก์ได้ถอนตัวจากการมีส่วนร่วมในการออกตราสารหนี้ Whitehaven Coal หลังจากการรณรงค์ที่ขับเคลื่อนโดยประชาชนซึ่งประสานงานโดย Market Forces ชุมชนและภาคประชาสังคมในทั้งออสเตรเลียและเยอรมนี

การตัดสินใจของดอยช์แบงก์ที่ถอนตัวจากการออกตราสารหนี้ของ Whitehaven ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับการรณรงค์ของ Market Forces ในการทำให้ Whitehaven ต้องระงับการสร้างเหมืองถ่านหินใหม่อีก 3 แห่ง

Market Forces เริ่มรณรงค์ในเดือนตุลาคม 2021 หลังมีรายงานว่า ดอยช์แบงก์เตรียมจะโรดโชว์ตราสารหนี้ของ Whitehaven ที่ต้องการระดมเงินราว 1 พันล้านออสเตรเลีย รวมทั้งการสำรวจความต้องการซื้อ (book building) ด้วยการทำการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ในเยอรมนีที่ขึ้นชื่อว่ากัดไม่ปล่อย 2 ฉบับ ส่งผลให้ผู้ที่สนับสนุนแคมเปญนี้เขียนจดหมายไปยังดอยช์แบงก์ โดยมีส่วนหนึ่งส่งตรงไปยังซีอีโอ และอีกจำนวนมากไปแสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลของธนาคาร

นอกจากนี้ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี (annual general meeting — AGM) ของดอยช์แบงก์จะเริ่มขึ้น Market Forces ได้รับคำแนะนำทางกฎหมายที่ยืนยันว่าดอยช์แบงก์อาจจะฝ่าฝืนนโยบายภายในเรื่องการไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหิน (exclusion policy) ในการเป็นที่ปรึกษาออกตราสารหนี้ของให้กับ Whitehaven ตามมาด้วยถ้อยแถลงของผู้ถือหุ้นในเอกสารการประชุม AGM ของ Deutsche Bank ยิ่งดึงความสนใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับ Whitehaven มากขึ้น และด้วยแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น ดอยช์แบงก์จึงถอนตัวออกจากการเป็นที่ปรึกษาในการออกตราสารหนี้ หลังจากการประสานงานรณรงค์ร่วมกันของกลุ่มนักเคลื่อนไหวของทั้งสองประเทศมาร่วม 8 เดือน

แม้ดอยช์แบงก์ยกเลิกการเป็นที่ปรึกษาในการออกตราสารหนี้ของ Whitehaven แต่ยังคงเป็นเจ้าหนี้ Whitehaven ซึ่งส่งสัญญานจะรีไฟแแนนซ์หนี้ภายในปีนี้

นโยบายของดอยช์แบงก์ในการไม่สนับสนุนทางการเงินแก่เหมืองถ่านหินแห่งใหม่ และลดการให้สินเชื่อถ่านหินเป็นศูนย์ภายในปี 2568 น่าจะทำให้ดอยช์แบงก์ไม่มีส่วนร่วมในการรีไฟแนนซ์นี้ แต่จากการที่เคยรับดูแลการออกตราสาหนี้ของ Whitehaven มาแล้วจึงไม่วางใจว่าธนาคารจะปฏิบัติตามนโยบายได้ Market Forces จะจับตาดูดอยช์แบงก์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ระบุไว้ในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ

ในขณะเดียวกัน ธนาคารหลักอื่นๆ ที่ยังคงเป็นเจ้าหนี้ของ Whitehaven จากการร่วมให้กู้ ก็มีอยู่ในออสเตรเลีย จีน และญี่ปุ่น ธนาคารของออสเตรเลีย ทั้ง NAB และ Westpac มีบทบาทสำคัญ โดยร่วมกันจัดหาเงินทุนมากกว่า 20% ในปี 2020 และช่วยจัดในการดึงธนาคารอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม

Market Forces จะเพิ่มความกดดันให้กับ NAB และ Westpac ในปีนี้ เพื่อให้ถอนตัวออกจากการสนับสนุน Whitehaven โดยเรียกร้องให้คนทั่วไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของแผนการของ Market Forces ในการจัดการกับธนาคารในออสเตรเลียได้ จากการสัมมนาที่จะขึ้นผ่านเว็บไซต์ในวันที่ 31 พฤษภาคม นี้

ก่อนหน้านี้ Market Forces ได้กดดัน Whitehaven ให้เลิกกิจการ[7]และนำเงินมาคืนผู้ถือหุ้นผ่านการยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นปี 2563 จากผู้ถือหุ้นกว่า 100 รายโดยชี้ว่าอุตสาหกรรมถ่านหินอนาคตไม่สดใสและถ่านหินจะเป็นสินทรัพย์ด้อยค่าเพราะโลกกำลังเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ข้อเสนอนี้ได้รับการคะแนนจากผู้ถือหุ้นไม่ถึง 5% ขณะที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยังสนับสนุนการทำธุรกิจถ่านหินต่อไปอย่างท่วมท้น[8]

อ้างอิง
[1]7News.com 2022.Australian activist wins ‘Green Nobel’ https://7news.com.au/business/australian-activist-wins-green-nobel-c-6940495
[2]Goldman Prize.org 2022.https://www.goldmanprize.org/
[3]wbur 2022. Goldman Prize winner Julien Vincent on the link between banks and climate change.https://www.wbur.org/hereandnow/2022/05/25/julien-vincent-goldman-prize
[4] Market Forces. https://www.marketforces.org.au/market-forces-founder-julien-vincent-receives-goldman-environmental-prize/#
[5] Market Forces 2022.Corporate Japan faces record number of climate shareholder resolutions.https://www.marketforces.org.au/corporate-japan-faces-record-number-of-climate-shareholder-resolutions/
[6] Market Forces2022. Win! Deutsche Bank abandons Whitehaven Coal’s bond issue. https://www.marketforces.org.au/win-deutsche-bank-abandons-whitehaven-coals-bond-issue/
[7]abc news 2020. Investors are trying to shut down fossil fuel companies from the inside — this is what they’re doing. https://www.abc.net.au/news/2020-08-13/shareholder-fossil-fuel-resolution-whitehaven-coal/12546830
[8] abc news.2020.Whitehaven Coal shareholders overwhelmingly reject push to wind up coal operations. https://www.abc.net.au/news/2020-10-22/whitehaven-coal-rejects-push-to-wind-up-coal-operations/12785816