ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป…. Governance คือ ความไว้วางใจลูกค้า(ที่)ยั่งยืน

ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป…. Governance คือ ความไว้วางใจลูกค้า(ที่)ยั่งยืน

4 พฤศจิกายน 2022


ซีรีส์ข่าวสร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

ทิสโก้ ถือเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่อยู่ในไทยมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี เริ่มจากการจัดตั้งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ แห่งแรกในประเทศไทย ก่อนยกฐานะขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ ในชื่อ “ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)” จากนั้นได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง โดยตั้ง บริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มและมีธนาคารทิสโก้ บริษัทการเงินที่ถือหุ้นอยู่ในเครือ

นอกจากเป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญในระบบการเงินและเศรษฐกิจ ด้วยการริเริ่มการพัฒนาใหม่ๆในภาคตลาดทุน เช่น การคำนวณดัชนีราคาหุ้นทิสโก้ (TISCO Price Index) ดัชนีราคาหุ้นตัวแรกของไทย ให้บริการเช่าซื้อและบริการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นแห่งแรกในประเทศไทยแล้ว ยังมีบทบาทด้านสังคม ด้วยการก่อตั้งมูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศลเพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์

บริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด(มหาชน)หรือ กลุ่มทิสโก้ ให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน มีการวางนโยบายในการผลักดันและบูรณาการการพัฒนาความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานในองค์กร ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance : ESG)

ส่งผลให้ได้รับรางวัลด้านบรรษัทภิบาลในปี 2544 เป็นปีแรกและปีต่อๆมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด บริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ได้รับรางวัล Rising Star Sustainability Awards ในฐานะที่บริษัทจดทะเบียน ที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในภาพรวมโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ในงาน SET Awards 2022 จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร

อีกด้านหนึ่งกลุ่มทิสโก้ยังมีชื่อเสียงจากการสนับสนุนงานศิลปะร่วมสมัย ตั้งแต่ศิลปินยังไม่โด่งดัง ยังไม่เป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่ง นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เล่าถึงมุมมองและยอมรับว่า “บุคคลทั่วไปอาจจะรู้จักกลุ่มทิสโก้จากการสะสมงานศิลปะ ตั้งแต่สมัยคุณศิวะพร ทรรทรานนท์ ผู้บริหารสูงสุดคนไทยคนแรก จนเป็นที่ยอมรับจากคนในวงการว่าเป็นการสะสมศิลปะ ที่สามารถบ่งบอกถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงนั้นๆของสังคมไทยได้ไปในตัว และขณะนี้ทิสโก้มีการประเมินมูลค่างานศิลปะที่ได้สะสมมา โดยเชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ art collectors คนสำคัญ ผู้จัดประมูลงานศิลป์ มาเป็นคนกลางประเมินราคา ไม่ใช่เพื่อผลทางบัญชี เพราะเราไม่ได้บันทึกเป็น asset แต่เพื่อยกระดับศิลปินในเมืองไทย ยกย่องงานที่มีคุณค่า ตัวอย่างที่เราเห็นงานศิลปะในต่างประเทศนั้น เมื่องานมีคุณค่า ราคามากขึ้น คุณภาพชีวิตศิลปินก็ดีมากขึ้นไปด้วย ซึ่งงานศิลป์ก็เป็นอีกแขนงหนึ่ง ที่เป็น soft power ช่วยภาพรวมของประเทศได้ด้วย”

เริ่มจาก CSR มาสู่ความยั่งยืนบนฐานความเชี่ยวชาญ

ไทยพับลิก้าเริ่มการสนทนาว่า เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่า กลุ่มทิสโก้อยู่บนเส้นทางแห่งความยั่งยืนมานับตั้งแต่ก่อตั้ง ด้วยบทบาทต่อเศรษฐกิจ และสังคมในหลายมิติ นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ทิสโก้ ได้พัฒนากิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR(Corporate Social Responsibility) ) จากเดิมเป็นงานที่ร่วมๆช่วยกันรับผิดชอบโดยจะมีแผนกหนึ่งที่ดูแลโดยตรง ดูเหมือนเป็นงานฝากของแผนก CSR ตอนนี้กลายมาเป็นงานหลักที่ต้องเริ่ม

“เมื่อมีแนวคิดนี้ขึ้นมา ก็มาดูว่าภายในทิสโก้จะช่วยทำอะไรได้บ้าง มีการคุยกับทีมผู้บริหารว่า องค์กรไหน หรือบุคคลใดก็ตามจะประสบความสำเร็จ จะมีวง 3 วงมา intersect เข้าด้วยกันจะเป็นองค์กรที่ยั่งยืนได้ วงที่หนึ่ง คือ องค์กรมีความเชี่ยวชาญหรือมีความชำนาญด้านนั้นเป็นอย่างดี หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีความเก่งในเรื่องนั้น วงที่สอง คือ สังคมต้องการในสิ่งเหล่านั้น และวง passion คือ เรามี passion ในเรื่องที่ต้องการแก้ไข แก้โจทย์อย่างไร คือมีฉันทะ มีความรักในสิ่งเหล่านั้น ถ้าเรามีความรักในสิ่งที่เราทำและเราทำได้ดีและตอบโจทย์สังคมได้ จะเป็นองค์กรที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”

จากหลักนี้ก็มาประเมินดูว่า องค์กรนี้ถนัดเรื่องอะไร สิ่งที่ทิสโก้ถนัดมากที่สุด คือ การบริหารจัดการเรื่องเงินทอง เช่น การบริหารจัดการให้กับลูกค้ามั่งคั่ง หรือ private banking ทิสโก้ถือเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งแรกของไทย ที่นำนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ Investment Banking หรือ Corporate Finance ต่างๆ การนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การระดมทุนในหลายๆ รูปแบบ สิ่งเหล่านี้ทิสโก้ทำเป็นรายแรกในเมืองไทย หรือลูกค้าระดับกลางในการบริหารหนี้สิน ทรัพย์สินต่าง ๆ ทิสโก้ก็มีความชำนาญ หรือระยะหลังจะมีลูกค้ารายย่อยมากขึ้น ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รวมถึงโจทย์ใหญ่ของสังคม คือ ภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่ต้องเข้ามาช่วยจัดการจัดการ การให้ความรู้ทางการเงิน การวางแผนทางการเงิน เกษียณอายุ ที่ทิสโก้เป็นรายแรกที่ทำระบบเงินออมระยะยาวเพื่อการเกษียณ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำมาก่อนจะมีกฎหมายบังคับใช้

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้

กลุ่มทิสโก้ได้นำความถนัดเหล่านี้ มาวางกรอบว่า ปัจจุบันโลกเอาเรื่อง ESG เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อน ก็ต้องดูว่าจะช่วยแต่ละกรอบได้อย่างไรบ้าง และเห็นว่าธุรกิจสร้างคุณค่า ต้องวัฒนาสู่สังคม ทิสโก้ต้องสร้างคุณค่า วัฒนาสู่สังคม เช่นกัน เริ่มจาก สิ่งแวดล้อม เรื่อง climate change ที่ตื่นตัวกันทั้งโลก การให้สินเชื่อต่างๆ เช่นสินเชื่อรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานสีเขียว พลังงานหมุนเวียน ทิสโก้จะสนับสนุนให้มากขึ้น รวมถึงธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ อีวี ทุกประเภท

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ปัจจุบันพอร์ตลูกค้าองค์กรมีสัดส่วน 20% ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 หรือ 25% จะเป็นธุรกิจของกลุ่มที่สนับสนุนลูกค้ากลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์รูฟท็อป พลังงานจากแสงอาทิตย์ จากลม จากน้ำ เป็นต้น หรือเช่าซื้อรถยนต์ ปัจจุบันก็มี 5-7% ที่ปล่อยให้กับรถทั่วๆ ไป แต่พอมีการพัฒนารถอีวี สัดส่วนก็เพิ่มเป็น 25% หรือ 1 ใน 4 ของรถ battery EV ในไทย นอกจากนี้ ยังร่วมกับบริษัทประกันภัยในการให้ความคุ้มครอง ซึ่งการประกันรถยนต์ประเภทใหม่ ๆ บริษัทประกันจะระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะแบตเตอรี่อีวีมีราคาเป็นหลักแสนบาท แต่ก็พยายามส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจนี้เกิดได้

“ผมคิดว่ากระแส ESG ตอนนี้จุดติดทั้งประเทศแล้ว ทุกคนถ้าต้องการลงทุนเพิ่มเติมให้เป็น green มากขึ้น ทิสโก้ยินดีสนับสนุนเต็มที่ จะเกาะตามกันไปกับลูกค้าเป็นหลัก ยอมรับว่าสัดส่วนลูกค้ากลุ่มนี้สูงกว่าสถาบันการเงินหลายแห่ง เพราะลูกค้าองค์กรของทิสโก้อาจจะมีไม่มากนัก แต่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทิสโก้เน้น ต้องการทำเป็นพิเศษ โดยลูกค้าองค์กรของทิสโก้มี 2 กลุ่มใหญ่ที่ชำนาญเป็นพิเศษ คือ อสังหาริมทรัพย์และพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน หลายแห่งต้องการเติบโต ก็เข้าไปช่วยลูกค้าได้เป็นพิเศษ หรือแม้แต่สายการผลิตต่าง ๆ มีพื้นที่ที่ดี ต้องการเงินทุนในการเปลี่ยนหลังคา ทำโซลาร์รูฟท็อป เราก็ไปสนับสนุน แม่ว่าจุดคุ้มทุนบางโครงการจะใช้เวลายาวนาน ก็สนับสนุนเต็มที่ และเชื่อว่า ความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป สัดส่วนสินเชื่อกลุ่มนี้จะสูงขึ้นตามไปด้วย”

เน้นปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ลูกค้าต้องปลดภาระได้

ในด้านสังคม ปัญหาใหญ่ที่สุดเวลานี้ของไทย คือหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงมากถึง 90% ของ GDP จากการสำรวจพบว่า คนที่วางแผนทางการเงินเพื่อเกษียณอายุมีความพร้อมแค่ไหน พบว่ามีคนไทยเพียง 18% เท่านั้น ที่มีความพร้อม

“ผมเองอยู่ในสมาคมธนาคารไทย มีการแบ่งงานกันทำ ในส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ทิสโก้ ก็เข้าไปร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการแก้หนี้ครัวเรือน ฉะนั้น แนวคิดการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ปกติการปล่อยสินเชื่อ ทุกคนจะสร้างเป้าหมายการเติบโตค่อนข้างมาก แต่ในการเติบโตของทิสโก้ เราเน้นว่า เมื่อปล่อยสินเชื่อแล้ว ลูกค้าต้องปลดภาระต่างๆ ได้”

โดยมีโปรแกรม debt consolidation หรือการปรับโครงสร้างหนี้โดยการรวมหนี้ เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยแพง มาเป็นดอกเบี้ยถูก โปรแกรมนี้เกิดจากการที่ทิสโก้ช่วยเหลือพนักงานทิสโก้เอง เพราะเห็นว่าพนักงานมีปัญหาในเรื่องการใช้จ่าย และภาระหนี้ หลักๆ เกิดจากการแยกไม่ออกระหว่าง need กับ want อะไรเป็นสิ่งจำเป็น อะไรคือสิ่งที่ต้องการ ชอบก็รูดบัตรเครดิตแล้วมาผ่อนในภายหลัง แม้จะมีการให้ดูแลพนักงานดีระดับหนึ่ง แต่ก็มีพนักงานที่มีภาระหนี้ที่เกิดจากส่วนตัวหรือภาระครอบครัว ทิสโก้ก็ให้รวมหนี้แล้วให้สินเชื่อสวัสดิการไป ปรากฎว่ากว่า 98-99% ปลดหนี้จากดอกเบี้ยแพงมาเป็นดอกเบี้ยถูก แล้วบริษัทก็รีไฟแนนซ์ให้

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า เมื่อเห็นว่าได้ผลดี ก็อยากจะช่วยเหลือจึงขยายไปที่ลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็มีสินเชื่อสวัสดิการให้ โดยโมเดลนี้ไม่ใช่แค่รวมหนี้ แล้วก็ปลดหนี้ให้พนักงานเฉย ๆ เพราะอาจจะทำให้พนักงานมีช่องที่จะไปก่อหนี้ใหม่เพิ่มใหม่ได้ ก็จะไม่จบ ก็มีการควบคุมไม่ให้มีการก่อหนี้ใหม่ โดยจะต้องลงนามยอมรับการติดตามทุก 3-6 เดือนว่าไม่มีการสร้างหนี้ใหม่ผ่านการตรวจสอบจากเครดิตบูโร (NCB)

จากนั้นได้นำโมเดลนี้ไปแนะนำกับฝ่ายบุคคลของลูกค้าของทิสโก้ที่มีจำนวน 4,000 กว่าบริษัทที่กำลังทยอยทำอยู่ เป็นการสร้าง freedom platform มาแก้ไขหนี้ให้กับผู้ที่มาเป็นพันธมิตรกับเรา ลูกค้าของเรา หรือการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ บางแห่งจะให้สินเชื่อโดยหักเงินเดือนก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าแต่ละคนมีภาระหนี้ต่ออย่างไร คือไม่ได้ดูเงินเดือนที่เหลือว่าพอยังชีพหรือไม่การเป็นเจ้าหนี้อย่างรับผิดชอบด้วยต้องดูถึงจุดจบด้วย บางที่ดูเพียงหลักประกัน หรือหักเงินดือนก่อน ก็ปล่อยสินเชื่ออย่างเต็มที่ ก็แย่งกันปล่อย สุดท้ายลูกค้าก็ไม่รอด

“หลักการที่เราดูคือ เราค้าเงิน ไม่ต้องการค้าความกับลูกค้า ฉะนั้น ถ้าปล่อยไปแล้วไม่ควรเป็น NPL การเป็น NPL ควรเพราะเกิดสะดุดขึ้นมา ฉะนั้นการประเมินรายได้ ประเมินรายจ่าย ประเมินภาระหนี้ แล้วต้องเหลือพอเพียงต่อการดำรงชีพอยู่ นี่เป็นหลักการง่าย ๆ ของการปล่อยกู้อย่างมีความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้อยู่ใน DNA ของพนักงานทิสโก้ในการให้สินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าต่าง ๆ สุดท้าย เวลาปล่อยกู้แล้ว ของทิสโก้ต้องจบ หนี้ต้องลดลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีการปล่อยวงเงินโอดี แล้วแขวนเงินเอาไว้ คือปล่อยกู้แล้วสุดท้ายต้องมีจบ ไม่มีการ revolving กันตลอดไป สินเชื่อโครงการก็เช่นกันทุกอันต้องเป็นแบบนี้หมด ฉะนั้น ปรัชญาการปล่อยสินเชื่อ คือ ทำแล้ว เขาต้องไปสร้างประโยชน์ และหนี้ต้องจบได้อย่างเบ็ดเสร็จ”

นายศักดิ์ชัยเล่าว่า เมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือช่วงโรคโควิด-19 ระบาด พอมีหลักการนี้ ทำให้เวลาปล่อยสินเชื่อ หรือแก้หนี้ลูกหนี้ที่จบโดยเบ็ดเสร็จ คือ หลังจากปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ลูกค้ายังไม่สามารถผ่อนได้หมด ก็มีโครงการ คืนรถจบหนี้ ทิสโก้ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ทำ และอาจจะทำได้เพียงแห่งสองแห่งเท่านั้น เพราะถ้าปล่อยสินเชื่ออย่างไม่รับผิดชอบ วงเงินสูงมาก การคืนรถแล้วจบหนี้ สถาบันการเงินจะเกิดความสูญเสียค่อนข้างมาก แต่ถ้ากำหนดเงินดาวน์ที่เหมาะสม ความสูญเสียจะพอรับได้ รับความเสี่ยงได้ ไม่ต้องฟ้องร้องกับลูกหนี้ ลูกหนี้ที่คืนรถกลับมาจะกลายเป็นลูกหนี้ที่มาปิดบัญชีกับเรา และเขาก็ไปตั้งต้นชีวิตใหม่ได้ โครงการปิดไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีลูกค้าตลอดโครงการ 7,000-8,000 ราย ลูกหนี้กลุ่มนี้ถ้าแต่เดิมคิดให้เป็นหนี้เสีย เขาจะเข้าสู่ระบบเงินไม่ได้ หรือต้องไปตามฟ้องร้องต่อ ต้องขึ้นศาลอีก 7-8 พันคดี

หลักการที่ทำทั้งหมดถ้าตอบโจทย์สังคมได้ สุดท้ายตัวเราก็ได้ด้วย ถ้าเรามองภาพจนกระทั่งสุดสายในการทำธุรกิจและปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ ถ้าไม่รับผิดชอบปล่อยกู้ 2 เท่า 3 เท่า โครงการดี ๆ อย่างนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ผลที่บริษัทได้ คือ สิ่งแรกสามารถแก้หนี้ได้จบเบ็ดเสร็จ ต่อมา การทำแบบนี้ได้เราต้องมีการประเมินความเสี่ยงว่า บริษัทรับได้เท่าไหร่ ลูกหนี้ประเภทไหนที่ให้เข้าโครงการ โครงการนี้ให้ลูกหนี้ที่ผ่อนมาก่อนอย่างน้อย 12 เดือนถึงจะเข้าได้ ผ่อนได้ 3 เดือนเอารถไปขับแล้วมาคืน แบบนี้ไม่เข้าข่าย คือต้องดีไซน์โปรแกรมที่ไม่ทำให้เกิด moral hazard หรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

ส่วนความสูญเสีย นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ทิสโก้มีข้อมูลย้อนหลังเป็นสิบปีตั้งแต่ปล่อยกู้เช่าซื้อว่ารถที่ยึดมาจะมีเสียหายคันละเท่าไหร่ แล้วนำมาคำนวณว่าบริษัทรับความเสี่ยงได้แค่ไหน มีการออกโปรแกรมเป็นระยะ ๆ แล้วก็ประเมินผล สูตรนี้แทนที่จะเป็น NPLค้างอยู่ในพอร์ต พอคืนปุ๊บ ก็จบ แล้วปิดบัญชี ทำให้เอ็นพีแอลของทิสโก้ ที่ช่วงเกิดโควิดสูงขึ้นไปถึง 3% กว่า แต่พอจบโครงการ ก็บริหารให้ NPL ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว เหลือ 2.08% ต่ำกว่าก่อนเกิดโควิดด้วยซ้ำ ขณะที่ระบบสถาบันการเงิน NPL สูงกว่าก่อนเกิดโควิด เพราะสภาพคล่องของลูกหนี้เหือดหายไป และ NPL ยังไม่กลับไปสู่สภาวะปกติ โดยธปท. ยังมีการใช้กฎเกณฑ์ในการผ่อนปรนต่าง ๆ อยู่ ขณะที่ทิสโก้มีสินเชื่อประเภทหนี้ 70% และพอมีโครงการนี้ขึ้น และทำอย่างมีหลักการที่ดี ทำให้เราช่วยลูกค้าได้ NPL จึงต่ำสุดในระบบ และต้นทุนก็ลดลงไป ไม่ต้องไปจ้างคนยึดรถ ติดตามลูกหนี้

อีกโจทย์หนึ่งที่ทิสโก้ เห็นคือ สภาพคล่องในตลาดผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า ร้านค้าต่าง ๆ หรือแม้แต่บุคคลธรรมดา ค่อนข้างแห้งเหือดไปพอสมควร นักท่องเที่ยวยังมาไม่เต็มที่ เงินออมถูกใช้ไปเกือบหมด ฉะนั้น ธุรกิจ สมหวัง เงินสั่งได้ ที่เป็นไมโครไฟแนนซ์ของทิสโก้ มีสาขากระจายไปทั่วประเทศ เดิมเปิดสาขาเพิ่มปีละ 50 แห่งเพื่ออำนวยสินเชื่อในชุมชนต่างจังหวัด และชะลอตัวไปในช่วงโควิด ปีนี้เร่งขยายอีก 100 สาขา จาก 350 แห่งก็เพิ่มเป็น 450 แห่งในปีนี้ และปีต่อไปก็จะเร่งเพิ่มอีก 100-150 แห่ง หรือ 200 แห่งต่อปีภายใน 5 ปีข้างหน้า เพราะเห็นว่า คนที่เป็นเจ้าของรถยนต์และมอเตอร์ไซค์มีจำนวนมาก จากข้อมูลที่จดทะเบียน มอเตอร์ไซค์ มี 20 ล้านคัน รถยนต์ประมาณ 17-18 ล้านคันทั้งรถเก๋ง รถบรรทุก รถกระบะ

แต่หลายคนไม่รู้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นหลักประกันได้ หลายรายเข้ามาแข่งในตลาดนี้ แต่ที่ปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรมมีไม่มาก จึงเปิดสาขาในแหล่งชุมชนให้มากขึ้น ฉะนั้น คนที่จ่ายดอกเบี้ยแพง ๆ กู้นอกระบบ ทิสโก้จะนำแบรนด์ สมหวัง เงินสั่งได้ เข้าไปในชุมชน แล้วปล่อยสินเชื่อ แต่ก่อนที่ได้รับสินเชื่อ ลูกค้าต้องเล่นเกมบิงโก หรือเกมเขาวงกตว่าจะปลดจากหนี้ได้อย่างไร หนี้ดี หนี้ไม่ดีเป็นอย่างไร ภาระหนี้ควรเป็นอย่างไร เพื่อให้คนเข้าใจเรื่องหนี้ให้มากขึ้น และปลดหนี้ได้มากขึ้น เป็นการให้ความรู้การเงินพื้นฐานไปในตัว

ลูกค้าสมหวังเงินสั่งได้ต้องเล่นเกมบิงโกแบบทดสอบทางการเงิน

นำโจทย์ของสังคมแปลงเป็นแนวปฏิบัติ

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ปัญหาสังคมอีกโจทย์ คือ การที่ประเทศไทยเริ่มมีอัตราการเกิดน้อยกว่าคนตายในปี 2564 เป็นปีแรก ปัญหาเกิดจากคนเกิดน้อยลง และคนตายมากขึ้น แต่ที่เห็นคือ สาเหตุการตายที่สูงเป็นอันดับที่ 5 คืออุบัติเหตุ ซึ่งไม่ควรจะมากขนาดนี้ และยังติดอันดับต้น ๆ ของโลก ทิสโก้เห็นว่าเป็นปัญหาสังคมปัญหาหนึ่งที่น่าจะเข้าไปมีส่วนช่วย เพราะทิสโก้ปล่อยสินเชื่อ เรื่องล้อ เรื่องทะเบียนรถ และ 80% ที่ตายเกิดจากอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ โดยมีเพียง 40% ที่มีประกันให้ความคุ้มครอง และทิสโก้มีธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิตด้วย ฉะนั้น การเข้าสู่แหล่งชุมชน การให้ความรู้เรื่องขับขี่ปลอดภัย การนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัย ประกันชีวิต เหล่านี้ร่วมกับการปล่อยสินเชื่อที่ดี เพราะซื้อประกันแล้วก็ไม่อยากให้เกิดการเคลม ก็มีหลักสูตรขับขี่ปลอดภัย เป็นจุดที่จะเริ่มมากขึ้นปีหน้า

นอกจากนี้ ยังมีบางผลิตภัณฑ์ที่ดีไซน์มา เมื่อปี 2560 ทิสโก้ไปซื้อสินเชื่อรายย่อยจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งในสินเชื่อที่อยู่อาศัย(mortgage loan) มีผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า mortgage saver เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี ก็นำมาให้บริการต่อ คือดูจากลูกค้าต้องจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ย ที่เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ เงินต้น อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาที่ผ่อน ทุกรายจะแข่งขันเชิงอัตราดอกเบี้ย หรือปล่อยกู้ให้ยาว แต่ไม่มีรายใดแข่งที่เงินต้น สิ่งที่ทิสโก้ทำใน mortgage saver คือในส่วนเงินต้น ถ้าลูกค้าเอาเงินมาโปะได้เร็ว ก็จะหมดหนี้ได้เร็ว แต่คนก็รู้สึกว่าถ้าโปะไปแล้วเกิดขาดสภาพคล่องจะทำอย่างไร ก็เลยดีไซน์โปรดักส์ขึ้นมา เงินที่โปะ สามารถถอนออกมาได้ คล้ายเป็นวงเงินสำรอง แต่จะถอนออกมาได้ในวงเงินที่ไม่เกินจากค่างวดที่ควรจะเป็น โดยทิสโก้ให้โปะได้ถึง 50% เป็นบัญชีที่มีสภาพคล่อง ถอนออกมาได้ ฉะนั้น การดีไซน์ผลิตภัณฑ์ การนำเสนอให้กับลูกค้า จะพยายามมีนวัตกรรมที่ทำให้หนี้ของลูกค้าหมดได้เร็วที่สุด

“ด้วยความที่เราบริหารเป็นกลุ่มลูกค้าทิสโก้ ไม่ได้แยกเป็นธนาคาร บล. หรือบลจ. แม้ว่าแต่ละนิติบุคคลจะทำธุรกิจตามใบอนุญาต ตามกฎเกณฑ์ของทางการ แต่ principle หลักเกิดจากทิสโก้ที่อยู่ด้วยกัน เราเป็นกลุ่มการเงินที่อยู่ด้วยกันมาตลอด เพราะฉะนั้น เวลาทำงานจนถึงปัจจุบัน พนักงานทิสโก้จะอยู่กันเป็นกลุ่ม นโยบายด้านบุคคลากรทั้งหมด (HR Policy) ก็ยังเป็นกลุ่มเดียวกัน ไม่ได้แยกว่า ธนาคารทิสโก้ บล.ทิสโก้ การบริหารเป็นกลุ่มอย่างนี้ ทำให้ดูแลลูกค้าเป็นกลุ่มด้วย เวลาดำเนินนโยบายอะไรบางอย่างขึ้นมาจะต้องร่วมมือกันทั้งหมด”

ยกตัวอย่างลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดูแลโดยบลจ.ทิสโก้ แต่เวลาให้สินเชื่อต้องให้จากธนาคาร ภายใต้ freedom platform ที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อให้กลุ่มลูกค้าบลจ.มาเป็นลูกค้าธนาคารภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act หรือ PDPA) สามารถให้ความช่วยเหลือ ประเมินศักยภาพหนี้ของลูกค้าได้ และพยายามรวมหนี้ให้สินเชื่อสวัสดิการไป คือ ทำอย่างไรให้คนเป็นไทได้เร็วขึ้น ก็มีระบบการออม ปลดหนี้ปุ๊บก็มีการออมต่อ ลงทุนต่อ สมมติ คำนวณแล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เขาได้หลังเกษียณแค่ 3 ล้านบาท แต่ถ้าในครอบครัวต้องใช้เงิน 10 ล้านบาท แปลว่าเขาขาดไป 7 ล้านบาท ก็จะแนะนำว่าเขาต้องออมเพิ่มอย่างไร สิ่งเหล่านี้ คือ ความรู้ทางการเงิน การวางแผนทางการเงิน ผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่ในตลาด พยายามนำเสนอ

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทิสโก้มองโจทย์หลัก ๆ คือ ปัญหาสังคมมีอะไรบ้าง แล้วเอาปัญหาสังคมนั้นนำไปสู่แนวปฎิบัติ และการทำธุรกิจ แล้วให้ความรู้กับคนไปด้วยกัน ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้ธุรกิจกับสังคมไปด้วยกัน จากตอนต้นที่ใช้คำว่า “ธุรกิจสร้างคุณค่า ต้องวัฒนาสู่สังคม” นี่เป็นหัวใจหนึ่งของ sustainable development ที่เราจะขับเคลื่อนไป และกรอบกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่พูดถึง ไม่ใช่งานฝาก เป็นงานหลัก จะทำให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปได้อย่างต่อเนื่อง

ทิสโก้เร่งสร้างนักวางแผนการเงินรุ่นใหม่  สู่ผู้ให้บริการสินเชื่อมืออาชีพ  
ทิสโก้หยิบยกประเด็นเรื่องความรู้ทางการเงิน ขึ้นมาเป็นโจทย์ใหญ่ในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาการขาดทักษะทางการเงินในสังคมเป็นเวลากว่า 9 ปีแล้ว ด้วยความเชื่อที่ว่า การจัดการทางการเงินที่ดีย่อมนำไปสู่การมีชีวิตที่ดี โดยโครงการให้ความรู้ทางการเงินของทิสโก้ที่ผ่านมาและที่กำลังดำเนินการอยู่ในปีนี้  ได้แก่ กิจกรรมรู้ไว้เข้าใจหนี้  ฉลาดเก็บฉลาดใช้ ซีรีส์ชุมชนสมหวังหมู่ 8 ค่ายการเงินเยาวชนธนาคารทิสโก้ ชมรมเครือข่ายค่ายการเงินฯ  และโปรแกรมร่วมกับสมาคมธนาคารไทยในโครงการคนไทยยุคใหม่ใส่ใจเรื่องเงิน ซึ่งเนื้อหาหลักสูตรและรูปแบบในแต่ละกิจกรรมได้มีการจัดทำและพัฒนาให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และตลอด 9 ปีที่ผ่านมา มีผู้ได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวน 9.3 แสนคน

ในปี 2565 นี้ ทิสโก้ริเริ่ม “ค่ายสมหวัง สร้างโอกาส” กิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินเชิงปฏิบัติการที่ขยายไปสู่กลุ่มประชาชนวัยทำงาน โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อสร้างนักวางแผนการเงินรุ่นใหม่ สู่การเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อมืออาชีพ  ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และเล็งเห็นว่า ธุรกิจสมหวังฯ เป็นธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน ผู้ให้บริการสินเชื่อมืออาชีพจะต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการ ช่วยแก้ปัญหาของประชาชนในชุมชนหรือลูกค้าในเชิงที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง  อีกทั้งการนำความรู้ไปปรับใช้กับตนเอง ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งกับตนเอง และคนใกล้ชิดด้วย

 

Governance คือความไว้วางใจจากลูกค้า

สำหรับเรื่องธรรมาภิบาล Governance นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ทิสโก้คำนึงตั้งแต่ตั้งบริษัท ซึ่งก่อนจะมีเรื่องธรรมาภิบาล เช่น การขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interest) ในฐานะที่เป็นผู้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้า เรื่องนี้จะถูกเขียนไว้ในกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และทำให้ทิสโก้ได้ CG rating ในระดับต้น ๆ มาตลอด เพราะ

ในฐานะสถาบันการเงินสิ่งนี้สำคัญที่สุดสำหรับลูกค้าที่นำเงินมาให้ทิสโก้บริหาร เรื่องธรรมาภิบาลจึงเป็นเรื่องระดับต้น ๆ ที่บริษัทต้องทำ หรือการที่ธปท. ออก market conduct ในการสื่อสารกับลูกค้า ทิสโก้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระอะไร จะดีตรงที่ยกมาตรฐานต่าง ๆ ขึ้นมามากขึ้น

นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า รากฐานสำคัญที่ทำให้ทิสโก้ที่เติบโตโดยมีความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง คือ ความสามารถในการปรับตัว ทิสโก้มีความเป็นพลวัตอย่างมากกับเศรษฐกิจ ตอนเข้ามาที่ทิสโก้ใหม่ ๆ ลูกค้ารายย่อยมีประมาณ 20% ของพอร์ต แต่ตอนนี้กลับกัน เป็นการปรับตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ วันที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง พอร์ตสินเชื่อรายใหญ่และรายย่อยมีอย่างละครึ่ง เป็นไปตามการปรับตัวและวงจรเศรษฐกิจ

“ส่วนเรื่องธรรมาภิบาลถือเป็นหัวใจตอนต้นเลยว่า ถ้าเราทำธุรกิจการเงิน สิ่งที่ทำให้ทิสโก้เดินต่อได้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น แต่เป็นคนฝากเงินที่ไว้วางใจเอาเงินมาให้เราปล่อยสินเชื่อ ทุกธนาคารเงินที่ปล่อยสินเชื่อมาจากเงินฝากทั้งนั้น เงินจากเงินทุนต่อให้ BIS สูงสุด ตอนนี้ทิสโก้จะมีเงินทุนสูงสุด 25% เงินกองทุนขั้นที่ 1 มี 20% ก็ตาม ก็ต้องพึ่งเงินฝาก ต้องทำตัวให้คนฝากเงินไว้ใจ ต้องซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือ มีการบริหารพอร์ตสินเชื่อให้มี NPL ไม่สูง บริหารสภาพคล่องที่ดี มีความรู้ทางการเงินที่ดี”

นอกจากนี้ ทิสโก้ได้ให้บริการที่ปรึกษา advisory ต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ลูกค้าที่ฝากเงินอย่างเดียว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่พึ่งพาดอกเบี้ยคงไม่พอ ต้องกระจายไปสู่การลงทุน บริการ advisory ทำให้ลูกค้ามั่นใจว่า แค่ฝากเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการกระจายไปสู่การลงทุนที่ลูกค้ารับได้ ได้ผลตอบแทนต่อเนื่อง ฉะนั้น พนักงานทิสโก้ทุกสาขามีใบอนุญาตครบ และให้คำแนะนำในมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา ทั้งเรื่องเงินฝาก เงินลงทุน แม้จะมีสาขาไม่มาก แต่ 50 สาขาก็มากพอที่จะให้บริการทุกจุดได้

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ทิสโก้มี advisory service ที่มีมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา ที่ต้องมีใบอนุญาตและความรู้ที่ซับซ้อนพอสมควร และ advisory service จากนี้ไปจะเพิ่มเรื่อง smart retirement planning บริการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณอายุ รวมถึงการคุ้มครองความเสี่ยง เช่น ประกันสุขภาพ ปัจจุบันคนขายประกันชีวิต จะเน้นการเสียชีวิตแล้วคนรุ่นหลังได้เงินคุ้มครอง แต่ปัจจุบันคนอายุยืนขึ้นจึงได้ดีไซน์ living benefit (ประกันบำนาญ)ต่าง ๆ

“ทิสโก้ไม่มีบริษัทประกันภัย ประกันชีวิตของตัวเอง แต่ใช้ open architecture คัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดจากพาร์ทเนอร์ของเรามานำเสนอให้ลูกค้าเลือก ความคล่องตัวจากการใช้ open architecture มานำเสนอความต้องการของลูกค้า ทำให้มั่นใจว่า แนวคิดการเอาลูกค้าเป็นตัวตั้งน่าจะทำให้ลูกค้าเงินฝากได้ผลประโยชน์สูงสุด เป็นการให้บริการครบวงจร และทำให้ลูกค้าอยู่กับเราอย่างยาวนาน”

สำหรับมุมผู้ถือหุ้น นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า โดยทั่วไปผู้ถือหุ้นจะคำนึง 2 เรื่อง คือเงินปันผล และราคาหุ้น ในเรื่องเงินปันผล อัตราผลตอบแทนเงินปันผล( dividend yield) ย้อนหลังไปหลายปี ทิสโก้ถือว่ามีอัตราปันผลสูงสุดในกลุ่มธนาคาร โดยโครงสร้างปัจจุบัน จะมี บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในธนาคารทิสโก้ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ปี 2564 ที่ผ่านมา เมื่อเกิดการระบาดของโควิด ธปท.สั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายปันผลเกินกว่า 50% ของกำไร ฉะนั้นธนาคารหลายแห่งจะจ่ายปันผลได้ไม่มาก แต่ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป แม้จะได้เงินปันผลจากธนาคารทิสโก้เพียงครึ่งเดียว แต่ก็มีบล.และบลจ. ที่มีผลประกอบการที่ดีก็จ่ายปันผลมาบริษัทแม่ ทำให้บริษัทแม่จ่ายปันผลได้สูงถึง 80% อัตราเงินปันผลต่อหุ้นปีที่ผ่านมาสูงสุดในระบบสถาบันการเงิน ก็เชื่อว่าผู้ถือหุ้นน่าจะพอใจ ถือว่าเป็นบริษัทที่ทำกำไรต่อหุ้นได้สูงในระบบ ROE ปีที่แล้ว 16.8% ส่วน 9 เดือนแรกของปีนี่อยู่ที่ 17.6% ขณะที่ค่าเฉลี่ยระบบธนาคารอยู่ที่ 7-9%

นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า การทำอะไรอย่างมีหลักการ มี principle base ในทุกเรื่องที่ตัดสินใจ ผู้บริหารและพนักงานทุกเห็นทิศทางเดียวกัน ตอบโจทย์สังคม ตอบโจทย์ลูกค้า มีหลักการในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ก็เป็นองค์กรที่ยั่งยืนต่อไปได้อย่างแท้จริง โดยไม่ได้เอากระแสโลก หรือทำตามแฟชั่น โดยดูว่าองค์กรของเราถนัดเรื่องอะไร ทำอะไรที่ตอบโจทย์ได้ มี passion ในเรื่องนั้น จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ บางคนอาจมองกระแสดิจิทัลต่าง ๆ เราก็จะดูว่า ดิจิทัลจะช่วยลูกค้าได้อย่างไร แต่ไม่ข้ามไลน์ไปเป็น Tech company ที่เกินกว่าความชำนาญของทิสโก้มากเกินไป

“หลักการเหล่านี้ ผลที่ได้คือ ลูกค้าอยู่กับเราได้อย่างยาวนาน ลูกค้าที่เรารับเข้ามา 1 ราย ก็ตั้งใจจะให้ลูกค้าอยู่กับเรายาว ๆ ฉะนั้น เราจะไม่ฟ้องร้องกับลูกค้า เราคัดลูกค้าดี ๆ มาตั้งแต่ต้นและอยู่ด้วยกันอย่างยาวนาน เมื่อลูกค้าอยู่กับเรายาว พนักงานก็มีใจให้กับลูกค้า พนักงานก็รู้ว่า คนจ่ายเงินให้พนักงานคือลูกค้า ก็ทำให้สามารถสร้างผลประกอบการที่ดีได้ เป็นบริษัทที่มีสูตรลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น พนักงานที่ชัดเจน กำไรที่ได้ แน่นอนรัฐบาลได้ไปก่อน 20% คือภาษีเงินได้ เรามีงบ CSR ที่ดูแลสังคมผ่านกรอบ ESG ที่เหลือระหว่างผู้ถือหุ้นกับพนักงานก็มีการแบ่งปันที่ชัดเจน พนักงานเราจึงมี sense of entrepreneurship หรือความเป็นเจ้าขององค์กร โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้น เพราะเขารู้ว่าเขามีส่วนแบ่งจากตัวนี้ โมเดลเหล่านี้เป็นสูตรที่ทำให้ key stakeholders ของทิสโก้ได้ผลประโยชน์”

การสนทนาเรื่องการดำเนินธุรกิจในแนวทาง ESG ของกลุ่มทิสโก้ ปิดท้ายที่การได้รับรางวัล Rising Star Sustainability Awards โดยนายศักดิ์ชัย กล่าวว่า การที่ได้รับรางวัลคาดว่ามาจากการดูแลลูกค้าในช่วงการระบาดของโควิด เพราะลูกค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือลูกค้าที่เป็นหนี้กับทิสโก้ ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่ทิสโก้มีมาตรการต่าง ๆ ปรับโครงสร้างหนี้ และแก้ไขปัญหาให้ลูกหนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งที่ทำมีผลอย่างมาก

“ลูกค้าของเราตอนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ความช่วยเหลือ มีถึง 30% ที่มาลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งถ้าทุกรายปรับโครงสร้างหนี้แล้วไม่สามารถผ่อนชำระต่อไปได้ สุดท้ายจะกลายเป็น NPL และถ้าในระบบมี NPL สูงถึง 30% จะอยู่กันไม่ได้ แต่การที่ทิสโก้ปรับโครงสร้างหนี้ ดูแลลูกหนี้จนกระทั่งสามารถชำระหนี้ได้หมด จบเบ็ดเสร็จ เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือลูกค้าได้ และมีช่องทางดิจิทัล ที่เรียกว่าเว็บบรรเทา เพื่อเปิดให้ลูกค้ามาลงทะเบียน และบรรเทาหนี้ต่าง ๆ ได้ ไม่ต้องเข้ามาที่สาขา เพราะหลังจากธปท.ประกาศให้ความช่วยเหลือ คนแห่เข้าสาขาหมด คิวยาว แล้วยังมีเรื่องการรักษาระยะห่างจากการระบาดของโควิด” นายศักดิ์ชัยกล่าว

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่ภูมิใจมาก คือโครงการขายประกัน เจอ จ่าย จบ มีการประเมินว่าจะทำให้เกิด moral hazard หลังจากเปิดตัวแล้วมีคนแห่มาซื้อเยอะขึ้น ทิสโก้ก็สั่งระงับหยุดขาย เพราะถ้าคนซื้อหวังจะติดโรคโควิด แล้วเอาเงินคนละ 5 หมื่นบาท 1 แสนบาท ค่าเบี้ยและอัตราการติดเชื้อแบบนั้น รู้ทันทีว่าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว ก็สั่งให้ยกเลิกหลังจากเปิดขายไม่กี่เดือน แม้ทิสโก้จะมีฐานะเป็นโบรกเกอร์ส่งธุรกิจให้บริษัทประกันจะได้รายได้ แต่ความเสี่ยงจะตกกับบริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิตที่ขายผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งก็เห็นแล้วว่าหลายบริษัทไม่สามารถอยู่ได้ ที่สำคัญคือ เกิด moral hazard ให้คนติดเชื้อมากขึ้น

“ผมว่าการคิดเหล่านี้ที่ไม่ได้มองกำไรอย่างเดียว ไม่ได้มองบริษัทเป็นตัวตั้ง และเอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง แต่มองสังคมด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้องค์กรยั่งยืนต่อได้ และเรื่องความยั่งยืนนั้นจะเขียนวิสัยทัศน์ หรือนโยบายให้ดีอย่างไรก็ได้ แต่สุดท้ายจะกลับมาที่หลักว่า เราทำอะไรได้ดี แล้วก็ passion ที่ต้องการช่วยเหลือสังคมต้องการอะไร และถ้าสังคมได้ เราได้ด้วย ก็จะเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง”

สุดท้าย นายศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่อง ESG แม้จะมีความตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ยังมีไม่มากพอ คือ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ต้องทำต่อไป ในด้านสิ่งแวดล้อมมีการจุดกระแสขึ้นมาได้ดีมาก โดยเฉพาะการที่รัฐบาลได้ไปลงนามใน COP26 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจ (Bio-Circular-Green Economy : เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) สิ่งเหล่านี้จุดกระแสขึ้นมาแล้ว และจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศ และภาคเกษตรคิดว่า ควรได้รับการดูแลมากกว่านี้ ถ้ามีการขับเคลื่อนให้ลงไปสู่คนหมู่มากได้ ก็จะได้ประโยชน์ที่มากขึ้นด้วย สิ่งที่ผมอยากให้ลดอีกอย่าง คือ การทุจริตคอร์รัปชั่น ที่คิดว่าประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนีชี้วัดยังไม่ดีขึ้น